หลังอภิปรายน่าจะมีอะไร?คำถาม‘มีและไม่มีเลือกตั้ง’ http://www.dailyworldtoday.com/newsblank.php?news_id=10162 มาถึงวันนี้คงมีการถกกันเป็นพิเศษ พิเศษในแง่ที่ว่าประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งจริงหรือไม่? ค่อนข้างแปลกที่หัวข้อนี้กลายเป็นวาระได้ แม้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพิ่งจะแถลงเสร็จสิ้นหมาดๆว่าจะยุบสภา ทั้งยังกำหนดไว้ในเดือนพฤษภาคม 2554 ซึ่งหมายถึงการจัดการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายนหรือต้นกรกฎาคม? ข้อสังเกตของกลุ่มที่เชื่อครึ่งและไม่เชื่อครึ่ง ฟังดูแล้วก็มีเหตุผลไม่น้อย ตั้งแต่มองว่าเหตุใดนายอภิสิทธิ์จึงช่างพร่ำพูดเกี่ยวกับการยุบสภาค่อนข้างจะถี่ยิบเสียจนเกินไป? อาการตรงนี้เองเป็นสิ่งน่าผิดสังเกต เพราะก่อนหน้านี้มีเหตุการณ์ครั้งแล้วครั้งเล่าซึ่งคนเขาเรียกร้องให้ “ยุบสภา” แต่นายอภิสิทธิ์ก็บ่ายเบี่ยงแถลงเป็นเหตุผลและข้ออ้างได้สารพัด ครั้นมาถึงยามนี้ดูเหมือนไม่ได้มีใครเรียกร้องเช่นนั้น แล้วเหตุใดถึงกระเหี้ยนกระหือรืออยากยุบสภาให้เร็วที่สุด! ข้อสังเกตเช่นนี้ทำให้เป็นเรื่องยากเหมือนกันที่จะเชื่อว่านายอภิสิทธิ์กำลังหมายถึงสิ่งที่ต้องการจริงๆกับคำพูดของเขา โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยคนนี้เต็มไปด้วยประวัติการณ์ของการใช้คำพูดที่พลิกไปพลิกมาอยู่ตลอดเวลา จนเกิดปัญหาระหว่างการพูดจริงกับการพูดเท็จ กลายเป็นเรื่องซึ่งแยกออกจากกันได้ยากนัก? ข้อสังเกตเกี่ยวกับ “พิรุธ” ในการยุบสภามีหลายประเด็นที่เรียงตัวให้เราต้องพิจารณาถึงความไม่เป็นปรกติเหล่านั้น? เริ่มจากพื้นฐานของการกำหนดเงื่อนเวลาเพื่อจัดการเลือกตั้งคงมีอยู่ 3 ลักษณะด้วยกัน ทางเลือกแรกคือการยุบสภาทันทีทันใด จากนั้นจัดให้มีการเลือกตั้งในเดือนเมษายน หากแต่เงื่อนเวลาตรงนี้ฝ่ายกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เห็นว่า “คงจะไม่ทัน” เงื่อนเวลาข้อที่สอง ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งภายหลังแก้กฎหมายลูกเสร็จสิ้นเสียก่อน...เงื่อนไขเวลาแบบสุดท้ายคือให้มีการยุบสภาในช่วงเวลาที่ใกล้หมดวาระอายุของรัฐบาล... แล้วสุดท้ายทั้งนายอภิสิทธิ์กับ กกต. ก็เห็นพ้องในเบื้องต้นสำหรับการจัดการเลือกตั้งในเดือนมิถุนายน...เมื่อมองจากเงื่อนไขของกฎหมายจึงเป็นไปได้ตั้งแต่วันที่ 26 มิถุนายน ไปจนไม่เกิน 3 กรกฎาคม 2554? ตรงนี้เกิดคำถามเหมือนกันว่าช่วงเวลานี้จะแก้ไขกฎหมายลูกได้ทันหรือเปล่า? กกต. ให้คำตอบว่า “จะเสนอกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรในช่วงเวลาของเดือนมีนาคมที่เหลือ” แต่ถ้าหากไม่ทันการแล้วมีความจำเป็นจริงๆที่จะต้องเลือกตั้ง คงต้องออกระเบียบตามมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ.. . เรื่องของมาตรา 7 ตามรัฐธรรมนูญ นับเป็นประเด็นที่น่าคิดว่าจะเป็นระเบียบอย่างไรของ กกต. อันนี้เป็นข้อพิจารณาที่คนรู้กฎหมายอาจคาดไม่ได้สำหรับการตีความในอนาคตของตุลาการทั้งหลาย ซึ่งเป็นไปได้ที่ระเบียบตามมาตรา 7 มีโอกาสกลายเป็น “กับดัก” ที่อาจถูกงัดมาใช้เมื่อทราบผลการเลือกตั้งซึ่งบังเอิญไม่เป็นไปตามธง ธงดังกล่าวกับระเบียบ ถ้าหาก กกต. จะออกมาเป็นเช่นนั้น ได้ถูก “บางฝ่าย” ตั้งเป็นข้อสังเกตเอาไว้ ซึ่งอาจมีผลเป็นปัญหาที่สามารถ “พลิกผลของการเลือกตั้ง” แม้กระทั่งลงท้ายแล้วสำหรับการเลือกตั้งที่ “เพื่อไทย” กลายเป็นพรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุดจะต้องผิดหวังได้...เป็นไปเพราะการตีความของคณะตุลาการภิวัฒน์ ท่านสามารถเล็งเห็นได้ถึงสารพัดการกระทำที่ผิดกฎหมายเลือกตั้ง แม้แต่การผิดหรือกระทำมิชอบโดย กกต. ทุกอย่างในประเทศนี้คงเป็นไปได้เสียแทบทั้งนั้น! ข้างต้นนั้นเรากล่าวถึงเงื่อนไขและเวลาถ้าจะเกิดการเลือกตั้งขึ้นมา แล้วก็ไม่รู้เหมือนกันถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นทั้ง “ก่อน-ระหว่าง-หลัง” การเลือกตั้งจะมีปรากฏการณ์ที่แปลกประหลาดหรือเปล่า โดยเฉพาะถ้าพรรคการเมืองในโอวาทของผู้บงการพ่ายแพ้ รับรองย่อมมีโอกาสสูงที่จะเกิดปรากฏการณ์อันแปลกประหลาด เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่สามารถคาดหมายกันได้ล่วงหน้า เพียงแต่ต้องเล็งให้ออกว่าหมากแต้มหรือหวยจะมีผลปรากฏออกมาอย่างไรเท่านั้นเอง? แน่นอนทีเดียวสำหรับการประกาศยุบสภาของนายอภิสิทธิ์ “คงมีเหตุผลเบื้องลึก” ซึ่งต้องเป็นแรงผลักดันที่ไม่ปรกติอย่างชัดเจน คนในพรรคประชาธิปัตย์เองก็เปิดเผยถึงสถานการณ์ความไม่ปรกติในช่วงเวลานี้ อาจต้องจับตามองเป็นพิเศษตั้งแต่ภายหลังเหตุการณ์อภิปรายไม่ไว้วางใจและถอดถอนรัฐมนตรีจบสิ้นลงไปแล้ว ในการวิเคราะห์ถึงสถานการณ์ที่ไม่ปรกติ เริ่มจากการวิเคราะห์จำแนกให้เห็นกลุ่มอำนาจที่เคลื่อนไหวอยู่ในสังคมปัจจุบัน โดยกลุ่มแรกสนับสนุนแนวคิดในการคืนอำนาจให้กับประชาชน กลุ่มที่สอง “ไม่ต้องการให้ยุบสภา” แต่อยากให้รัฐบาลดิ้นรนเพื่ออยู่จนครบวาระ สำหรับกลุ่มแนวความคิดที่สาม “ไม่ต้องการให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น” กลุ่มแนวคิดที่สามนี้ยังแยกย่อยความเห็นต่างในด้านยุทธวิธีอีกต่างหาก คือมีกลุ่มที่เรียกร้องให้เกิดการปฏิวัติรัฐประหารเพื่อล้างบางนักการเมืองและพรรคการเมืองที่มีอยู่ในระบบให้หมดเกลี้ยง (กลุ่มแนวคิดนี้อาจตั้งข้อสังเกตให้สอดคล้องได้กับแนวทางการเคลื่อนไหวของม็อบเสื้อเหลือง) ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นการวิเคราะห์และเปิดเผยของนายเทพไท เสนพงศ์ เห็นว่าเป็นกลุ่มที่จะล่อให้มีการปฏิวัติ จากนั้นก็จะมีการต่อต้านโดยใช้พลังมวลชน เพราะอยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างในเชิงระบอบ...ข้อนี้คงต้องไปประเมินกระแสข่าวและการวิเคราะห์ในแบบเทพไทดูเอาเองว่าเชื่อถือกันได้ขนาดไหน? เนื่องจากรายการวิเคราะห์หลายครั้งของ “เต๊บไต” มักหนีไม่พ้นการครอบหมวกให้กับพรรคเพื่อไทยและขบวนการของคนเสื้อแดง? อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สามารถฟันธงได้อย่างแน่นอนเห็นจะเป็นทรรศนะและความคิดของกลุ่มอิทธิพลในอำนาจบงการเบื้องหลังที่อยากผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในบ้านเมือง “ย่อมจะมีแตกแยกเป็นหลายกลุ่ม” นี่เป็นข้อมูลซึ่งน่าจะยืนยันได้ถึง “การมีปัญหาเรื่องเอกภาพทางความคิด” เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วน่าจะทำให้เชื่อได้ว่า “ชนชั้นนำและกลุ่มที่อยากกระทำรัฐประหาร” เห็นจะมีปัญหาปวดเศียรเวียนเกล้าอยู่ในตัวเองค่อนข้างมาก... โดยสมมุติฐานเช่นนี้จึงทำให้การผลักดันด้วยวิธีรุนแรง เช่น การผลักดันให้เกิดการปฏิวัติรัฐประหารเห็นจะไม่ใช่เรื่องอะไรที่คิดได้อย่างใจ...เป็นไปในทำนองคุณมีสิทธิที่จะคิด มีสิทธิที่จะฝันหรือหวัง หากแต่หนทางปฏิบัตินั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง? มีหลายคนที่เห็นด้วยกับการประกาศยุบสภาของนายอภิสิทธิ์น่าจะ “มีสิ่งซ่อนเร้นอยู่” เป็นไปได้ตั้งแต่ประกาศให้เป็นกันชนป้องกันรัฐประหารหรือหนีการรัฐประหาร กระทั่งอาจเป็น “ทางลวง” เพื่อให้สาธารณชนหลงเชื่อว่าจะมีการเลือกตั้ง แล้วเมื่อถึงที่สุดภายใต้ทฤษฎีสมคบคิดคงมีความพยายามที่จะแทรกแผนอื่นๆเข้ามา “เพื่อไม่ให้มีการเลือกตั้ง” บางคนอ่านเกมถึงการสร้างความรุนแรงซึ่งก็สร้างกันไม่ยากนัก จากนั้นก็ใช้บิดเป็นเงื่อนไขอื่นสำหรับแก้ปัญหา เป็นการสร้างข้ออ้างที่ชอบธรรมจนจำเป็นต้องเลื่อนระยะเวลาของการเลือกตั้งออกไปอีก... เทคนิคและสูตรเช่นนี้เป็นเรื่องถนัดของนายอภิสิทธิ์อยู่แล้ว แต่เมื่อเอามาใช้ในเที่ยวนี้ไม่รู้ยังจะได้ผลอีกหรือไม่ ประการสำคัญนั้น “คลื่นแทรกเหนือประชาธิปัตย์” ก็มีอยู่และพร้อมจะเข้าแทรกได้ตลอดเวลา โรคแทรกซ้อนตรงนี้บอกได้ยากเหมือนกัน “มันคืออะไรและใช้เทคนิคอย่างไร?” แม้นายอภิสิทธิ์จะไม่พึงใจก็พูดไม่ออกเหมือนกัน? ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 304 วันที่ 26 มีนาคม – 1 เมษายน พ.ศ. 2554 หน้า 11 คอลัมน์ คิดทวนเข็มนาฬิกา โดย บาเรือน จันทรขินะ* |
ดาวน์โหลดคลิ๊ปคนเสื้อแดง
วันจันทร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2554
วิกฤตการเมืองกับวิกฤตศาล? http://www.dailyworldtoday.com/newsblank.php?news_id=10159 นางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการพรรคการเมือง กล่าวในงานสัมมนาเชิงวิชาการเรื่อง “เลือกตั้งอย่างไรไม่ผิดกฎหมาย” ตอนหนึ่งว่า เราเคยพูดกันบ่อยว่าตุลาการภิวัฒน์ ศาลเป็นองค์กรที่มั่นคง ต้องไม่แตะต้องการเมือง แต่ขณะนี้เรากำลังดึงศาลเข้ามาสู่กระบวนการการเมือง ซึ่งการเมืองเป็นสิ่งต้องห้าม ทำให้ถูกการเมืองเล่นงาน เหมือนเช่นตัว กกต. ที่ถูกผลกระทบจากการเมืองทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังนั้น ส่วนตัวเห็นว่าเราควรแยกศาลออกมาจากการเมือง โดยการตั้งศาลการเมืองขึ้นมาพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมืองโดยเฉพาะ ซึ่งอยากให้มาจากนักการเมือง รวมถึงประชาชนด้วย ให้เลือกเข้ามาเพื่อมาตัดสินกันเอง น่าจะเป็นเรื่องที่ถูกต้องมากกว่า ดังนั้น ในอนาคตควรดึงศาลยุติธรรมออกมาจากการเมืองดีกว่า ไม่ควรให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมือง เช่น คดียุบพรรคไม่ควรให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเหมือนประเทศที่พัฒนาแล้ว นางสดศรียอมรับว่าไม่สบายใจเมื่อเรื่องยุบพรรคการเมืองเข้ามาสู่การพิจารณาของ กกต. แม้จะอยู่ในชั้นของนายทะเบียนพรรคการเมือง แต่ถ้านายทะเบียนพรรคการเมืองมีความเห็นให้ยุบพรรคก็ต้องนำเรื่องเข้าสู่ กกต. ว่าเห็นชอบให้ยุบพรรคหรือไม่ ซึ่งการยุบพรรคไม่ใช่เรื่องสนุก ทำให้หลายพรรคที่ตั้งมานานถูกยุบเพราะสะดุดเพียงแค่รายละเอียดกฎหมายเล็กๆน้อยๆเท่านั้น “เชื่อว่าการเลือกตั้งทั่วไปที่จะเกิดขึ้น แม้จะชนะไม่ได้ในการเลือกตั้ง แต่ชนะด้วยการยุบพรรค จึงคาดการณ์ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะได้เห็นวงจรนี้กลับมาอีกครั้ง ดิฉันไม่ใช่หมอดู แต่เรื่องแบบนี้จะกลับมา ซึ่งต้องถามว่าเป็นเรื่องที่ยุติธรรมไหมกับพรรคที่ตั้งมานานแต่กลับถูกสกัดโดยการยุบพรรค แทนที่จะใช้วิธีเลือกตั้งเป็นเครื่องชี้วัดประชาธิปไตย แต่ใช้กฎหมายเพื่อสกัดกั้นการเติบโตของพรรคการเมือง ถ้ายังใช้วิธีการยุบพรรคการเมืองเป็นปัจจัยหลักของการแพ้ชนะในการเข้าสู่อำนาจทางการเมืองเพื่อให้ได้จัดตั้งรัฐบาล ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง” ความเห็นของนางสดศรีไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มีหลายฝ่ายพยายามให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมานานแล้ว เพราะตั้งแต่มีการดึงตุลาการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ศาลยุติธรรมก็กลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองไปโดยปริยาย ยิ่งในสถานการณ์ที่ผ่านมาตั้งแต่มีการยุบพรรคไทยรักไทยและตามมาด้วยพรรคอื่นๆอีกหลายพรรค คงไม่มีใครปฏิเสธว่าเป็นหนึ่งในแนวความคิดของผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่ต้องการควบคุมพรรคการเมืองไม่ให้เข้มแข็งจนมีอำนาจมากเกินไป แม้แต่ปัจจุบันก็ยังมีแนวความคิดที่จะให้ควบคุมระบบการเมืองไทยในลักษณะการเมืองปิดไปอีกระยะหนึ่งเพื่อปฏิรูปการเมืองแบบไทยๆ อย่างที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ออกมาเรียกร้องล่าสุด ความคิดนี้จะผิดหรือถูก จะเป็นการหันหลังกลับไปสู่การใช้อำนาจเผด็จการแบบไทยๆอีกครั้งหรือไม่ แต่สิ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้เช่นกันคือพรรคการเมืองและนักการเมืองไทยคือหนึ่งในปัญหาบ้านเมือง แต่กองทัพและกลุ่มทุนหรือกลุ่มชนชั้นสูงเองก็เป็นปัญหาในฝังรากลึกในสังคมไทยมายาวนานหลายทศวรรษเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งในทางการเมืองและความเสื่อมถอยของระบอบประชาธิปไตยในขณะนี้ ไม่ว่าจะออกมาในรูปใดหากไม่มีความยุติธรรมอย่างเสมอภาคแล้วบ้านเมืองก็จะยังวนเวียนอยู่กับวิกฤตเดิมๆ แต่การเปลี่ยนแปลงจะยิ่งรุนแรงมากขึ้น ไม่ใช่แค่ใครก็ได้ที่กุมอำนาจกองทัพแล้วจะมาปฏิวัติรัฐประหารเหมือนในอดีต ความแตกแยกสุดขั้วของประชาชนจึงไม่ใช่เรื่องของคนเสื้อเหลืองและเสื้อแดง แต่เป็นเพราะการเสี้ยมและพยายามปลุกระดมมอมเมาของกลุ่มผู้มีอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นกองทัพ กลุ่มทุน กลุ่มชนชั้นสูง หรือนักการเมือง ล้วนแต่เป็นเงื่อนไขของวิกฤตชาติทั้งสิ้น แม้ประเทศไทยจะปิดประเทศก็ไม่สามารถใช้ฝ่ามือปิดสังคมโลกได้ เพราะประเทศไทยไม่สามารถอยู่โดดเดี่ยวในโลก การกอบกู้ชาติจึงต้องหยุดเงื่อนไขที่ทำให้เกิดวิกฤต และต้องปฏิรูปการเมืองตามระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบไทยๆภายใต้กองทัพและกลุ่มผู้มีอำนาจ ที่สำคัญจะต้องทำให้ระบอบประชาธิปไตยกลับคืนสู่ 3 อำนาจหลักคือ ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรมต้องกลับสู่ที่ตั้งตามปรกติ ไม่ใช่ถูกนำไปโยงใยหรือเป็นเครื่องมือต่างๆทางการเมือง ไม่ว่าจะในระบบและนอกระบบ การบังคับใช้กฎหมายต้องเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมอย่างแท้จริง ไม่ใช่กระบวนการยุติธรรม 2 มาตรฐานหรือหลายมาตรฐาน โดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่มีบทบัญญัติให้นำคดีทางการเมืองมาผ่านการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้ผลคำวินิจฉัยที่เกี่ยวกับคดีทางการเมืองถูกวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอดว่าให้คุณหรือให้โทษแก่กลุ่มการเมืองฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเป็นกรณีพิเศษหรือไม่ หรือถูกตั้งข้อสงสัยว่าเลือกปฏิบัติหรือสองมาตรฐานหรือไม่ โดยเฉพาะอำนาจขององค์กรอิสระที่มีเหนือ 3 อำนาจหลักตามรัฐธรรมนูญเสียอีก ทุกฝ่ายรู้ดีถึงจุดอ่อนและการสร้างกลไกของรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่เอาองค์กรอิสระมายึดโยงกับอำนาจตุลาการ เพื่อลดทอนอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติและบริหาร ทำให้องค์กรของศาลต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทางการเมือง ทั้งที่ทุกคดีควรถูกนำไปพิจารณาตามกระบวนการยุติธรรมปรกติ ไม่ว่าจะเป็นการยุบพรรคการเมือง การตัดสิทธิทางการเมือง การไม่รับรองผลการเลือกตั้ง การให้ใบเหลือง ใบแดง ฯลฯ องค์กรศาลยุติธรรมซึ่งเดิมอยู่ห่างจากการเมืองและไม่เคยทำหน้าที่ในคดีการเมืองมาก่อนกลับต้องมาทำหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับนักการเมืองทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา จึงทำให้เกิดความคลางแคลงใจ และเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ศาลยุติธรรมในลักษณะจาบจ้วงและสงสัยในความเป็นกลาง ความโปร่งใส และความสุจริตในการทำหน้าที่ วิกฤตการเมืองในขณะนี้จึงบ่อนทำลายสถานะตลอดจนความเชื่อถือและศรัทธาของศาลยุติธรรมและอำนาจตุลาการอย่างรุนแรงที่สุด แม้จะมีการตั้งศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองขึ้นมาพิจารณาคดีทางการเมืองและคดีที่เกี่ยวพันกับคดีทางปกครองก็ตาม ความเห็นของนางสดศรีที่ต้องการให้มีการตั้งศาลการเมืองจึงเป็นปัญหาใหญ่ซึ่งเกี่ยวข้องกับศาลยุติธรรม ซึ่งเคยมีการทักท้วงเพื่อขอมิให้มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญนำคดีการเมืองเข้าสู่ศาลยุติธรรม แต่ไม่ได้ผล เพราะรัฐธรรมนูญปี 2550 ยังใช้กระบวนการศาลยุติธรรมในการทำหน้าที่พิจารณาคดีทางการเมืองทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาอย่างกว้างขวาง จึงไม่แปลกที่ปัจจุบันศาลยุติธรรมจะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างเปิดเผย ไม่เกรงอกเกรงใจหรือมีความกลัวเช่นในอดีต หากต้องการกอบกู้วิกฤตศรัทธาในศาลยุติธรรมก็ต้องทำพร้อมๆกับการแก้ปัญหาวิกฤตการเมือง ต้องลดทอนอำนาจหรือยกเลิกองค์กรอิสระให้หมด เพื่อให้ 3 อำนาจอธิปไตยปรกติทำหน้าที่ตามกลไกในการถ่วงดุลและตรวจสอบซึ่งกันและกันเหมือนเดิม ประชาชนและทุกฝ่ายต้องร่วมกันสร้างระบอบประชาธิปไตยที่ไม่พิกลพิการ คือต้องไม่ใช้ “อัตตาธิปไตย” มากำหนดอย่างในขณะนี้ ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 304 วันที่ 26 มีนาคม – 1 เมษายน พ.ศ. 2554 หน้า 14 คอลัมน์ สามแยกสามแพร่ง โดย คุณศรี สามแยก* |
‘91 ศพ’ไม่มีคำตอบ http://www.dailyworldtoday.com/newsblank.php?news_id=10157 เบื้องหลังเบื้องลึกของการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่ผ่านมาคือการพูดถึงกระสุนปืนจำนวนมากที่เบิกมาจากคลังแสงของกองทัพบก ซึ่งจำนวนที่หายไปกับจำนวนศพของผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นเรื่องที่ไม่มีใครตอบได้ว่าเอาไปใช้อะไร และทหารกับรัฐบาลคิดกับคนเสื้อแดงอย่างไร เขาเป็นคนไทยหรือไม่ เรื่องแบบนี้ไม่มีใครตอบได้ พ.ต.ท.สมชาย เพศประเสริฐ ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการทหาร สภาผู้แทนราษฎร บอกชัดเจนถึงการเบิกจ่ายกระสุนปืนจากหน่วยคลังแสงสรรพาวุธทหารบก (คส.สพ.ทบ.) ซึ่งมีหลักฐานเป็นหนังสือ แต่ไม่สามารถเปิดเผยชื่อหน่วยงานได้ ในหนังสือดังกล่าวระบุว่ามีการเบิกจ่ายกระสุนปืนเพื่อใช้ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลตั้งแต่วันที่ 11 มี.ค. 2553 เบื้องต้นตามเอกสารบัญรายการ สป.5 สนับสนุน ศอฉ. หน่วย คส.สพ.ทบ. ลงวันที่ 20 ธ.ค. 2553 พบว่ามีการเบิกกระสุนปืนชนิดต่างๆ 9 รายการ เบิกจ่ายไปรวม 593,900 นัด แยกได้เป็น 1.กระสุนปืนลูกซอง เบอร์ 00 จำนวน 4,000 นัด 2.กระสุนปืนลูกซอง เบอร์ 00 ไม่มีเลขงาน 350,000 นัด 3.กระสุนปืนใช้กับเอ็ม 16 จำนวน 2,000 นัด 4.กระสุนปืนเอ็ม 16 ชนิด A2 ชนิดหัวเขียว 150,000 นัด 5.กระสุนปืนเอ็ม 16 ชนิดซ้อมรบ 10,000 นัด 6.กระสุนปืนเอ็ม 16 ชนิดเจาะเกราะ 8,500 นัด 7.กระสุนปืนสไนเปอร์ 3,000 นัด 8.กระสุนปืนเอ็ม 60 จำนวน 2,000 นัด และ 9.กระสุนที่ใช้กับปืน ปรย.88 จำนวน 50,000 นัด ขณะเดียวกันมีบัญชีสรุปรายการ สป.5 รับคืนจาก ศอฉ. จำนวน 2 ครั้ง รวมกระสุนปืนที่ส่งคืน 522,753 นัด ลงวันที่ 20 ธ.ค. 2553 จะสังเกตได้ว่ากระสุนที่ส่งคืนมี 522,753 นัด หายไปกว่า 70,000 นัด โดยไม่ทราบว่าเจ้าหน้าที่นำไปทำอะไร ซึ่งการเบิกจ่ายและส่งคืนนั้นเป็นการทำบัญชีย้อนหลัง คาดว่าน่าจะมีการทำบัญชีย้อนหลังอีกหลายฉบับ ที่สำคัญมีการเบิกกระสุนซุ่มยิงสำหรับปืนสไนเปอร์ อยากถามว่าทำไมต้องใช้ปืนสไนเปอร์สลายผู้ชุมนุม ทั้งที่คู่มือการปฏิบัติการในการสลายการชุมนุมต้องทำอย่างระมัดระวัง ขณะที่ น.ส.อรุณี ชำนาญยา ส.ส.พะเยา พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการสลายการชุมนุมของรัฐบาลว่า พี่น้องคนเสื้อแดงจากต่างจังหวัดเข้ามาเพื่อขอให้นายกฯคืนอำนาจให้กับประชาชนด้วยการเลือกตั้งใหม่โดยสันติวิธี แต่ทำไมรัฐบาลถึงยกระดับความรุนแรงในการสลายการชุมนุมด้วยคำว่า “ขอคืนพื้นที่” ด้วยกองกำลังติดอาวุธ ด้วยรถหุ้มเกราะ ที่สำคัญคำว่า “ผู้ก่อการร้าย” อยากให้เทียบกับความรุนแรงในภาคใต้ที่รัฐบาลยังใช้คำว่าผู้ก่อความไม่สงบในภาคใต้ที่ก่อเหตุระเบิดคาร์บอมบ์ ฆ่าพระ แต่เสื้อแดงกลับใช้คำว่าผู้ก่อการร้าย มีคนตาย 20 กว่าศพ เป็นภาพที่ฝังในใจของประชาชน รวมถึงทหารที่สูญเสียเพื่อนไป จนเกิดเหตุการณ์ที่ราชประสงค์ และการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เกิดการเสียชีวิตของ เสธ.แดง เผาบ่อนไก่ สีลม และที่ราชประสงค์ตาย 91 ศพ ติดคุกร่วม 300 คน เจ็บกว่า 2,000 คน วันนี้นายกฯตกอยู่ในที่นั่งลำบากจนยัดเยียดให้เสื้อแดงเป็นผู้ก่อการร้าย เพื่อปกปิดปกป้องความผิด นิรโทษกรรมตัวเอง มิฉะนั้นจะถูกข้อหาสั่งฆ่าประชาชนบนศาลโลกได้ อยากบอกว่าคำว่าผู้ก่อการร้ายใช้กับเสื้อแดงไม่ได้ เพราะเขามาชุมนุมทางการเมืองเท่านั้น มาให้นายกฯยุบสภาเลือกตั้งใหม่ แต่การสูญเสียเกิดจากการยกระดับความรุนแรงของนายกฯ เสื้อแดงไม่ได้ทำอันตรายร้ายแรงต่อร่างกายหรือเสรีภาพทางอาญาอะไร ไม่ได้ทำอะไรเสียหายร้ายแรงต่อระบบสาธารณะ ไม่ได้ปิดทำเนียบ สนามบิน เอ็นบีที การชุมนุมไม่ถือเป็นการก่อการร้าย ไม่น่าใช้คำนี้ ต้องกลับไปใช้คำนี้กับคนที่สั่งการสลายเสื้อแดง นายกฯตกที่นั่งลำบาก นั่งระหว่างเขาควายแล้ว ท่านหนีจากความกลัว จากคำว่าสั่งฆ่าประชาชน และยัดเยียดคำว่าผู้ก่อการร้ายต่อแกนนำ ประชาชน ลึกๆแล้วท่านคือผู้ก่อการร้ายเอง แม้จะพยายามสร้างภาพให้เกิดความปรองดอง แก้รัฐธรรมนูญ ประกาศยุบสภา แต่ก็สายไปแล้ว เพราะคำปรองดองไม่จริงใจ กลับเพิ่มความขัดแย้งขึ้นเรื่อยๆ ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 304 วันที่ 26 มีนาคม – 1 เมษายน พ.ศ. 2554 หน้า 20 คอลัมน์ คนการเมือง โดย วัฒนา อ่อนกำปัง* |
ประกาศยุบสภา http://www.dailyworldtoday.com/newsblank.php?news_id=10156 แม้ว่าสถานการณ์ทั่วโลกกำลังอยู่ระหว่างความเสี่ยงที่อาจเกิดสงครามระหว่างซีกโลกตะวันออกกับซีกโลกตะวันตกได้ทุกเวลา จากกรณีการโจมตีประเทศลิเบียของพันธมิตรจากซีกโลกตะวันตกก็ตาม แต่นั่นยังไกลเกินประเทศไทย ดังนั้น การยืนดูอยู่ห่างๆน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด... ***...สำหรับบ้านเราในขณะนี้ใกล้สู่โหมดการเลือกตั้งมากที่สุด หลังจากที่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ประกาศจะยุบสภาในวันที่ 3-10 พ.ค. 54 ไม่วันใดก็วันหนึ่ง จากนี้จึงต้องจับตาดูว่าจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่... ***...สิ่งที่ตามมาก็คือ การหลอกหลอนของเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสลายการชุมนุม การทุจริตคอร์รัปชัน ฯลฯ งานนี้บอกคำเดียวว่าเหนื่อยครับ... ***...แต่ที่ไม่เหนื่อยก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ที่ประกาศว่า ช่วงการเลือกตั้งเพื่อให้บ้านเมืองเข้าสู่กระบวนการทางประชาธิปไตย ทหารต้องเป็นกลาง จำไว้นะครับว่าพูดแบบนี้ เพราะหากเลือกตั้งจริงแล้วทหารเข้าข้างประชาธิปัตย์ละก็เจอประชาชนแน่ครับ... ***...มาแล้วหลังจากอยู่บ้านมานาน ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ อดีตรัฐมนตรีมหาดไทย ประกาศเข้าสู่การเมืองอีกครั้งด้วยการนั่งในตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาสันติ จะไปได้สักกี่น้ำไม่รู้ เพราะตอนอยู่ในการเมืองก็ไร้เพื่อน... ***...อีกคนก็ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. น้องชาย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ว่ากันว่างานนี้ขัดใจคนเป็นพี่น่าดู.... ***...ลาออกแล้ว ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง จาก ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย มีผลตั้งแต่ 23 มี.ค. นี้เป็นต้นไป ... ***...สาเหตุน้อยใจที่ถูก “เสี่ยอ๋อย” จาตุรนต์ ฉายแสง เตือนให้ยุติการอภิปรายหลังจากใช้เวลาไปนานกว่าที่ตกลงไว้ อีกทั้งต้องการใช้เวลาไปช่วยผู้สมัครหาเสียงเพื่อเตรียมการเลือกตั้ง... ***...นานๆมาทีมีประเด็นดีพอสมควร เมื่อครูใหญ่ สมคิด บาลไธสง ส.ส.หนองคาย พรรคเพื่อไทย บอกการจัดสรรงบประมาณของ มท. มีการจัดงบให้ อบจ. อย่างไม่เป็นธรรม โดยตัดงบจาก อบจ.หนองคายไปให้ อบจ.บึงกาฬ จึงอยากให้ สตง. และ ป.ป.ช. เข้าไปตรวจสอบด้วย... ***... เมื่อนั่งร้านใกล้พัง คนค้ำยันรำคาญเต็มทน ทำเอา “แม่นม” ที่ต้อง “อมทุกข์” อย่างสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ถึงกับใบ้กินเมื่อเจอยุทธศาสตร์ของ “บิ๊กจิ๋ว” พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ประธานที่ปรึกษาพรรคเพื่อไทย ที่ระบุว่าจะนำคนไทยที่ทิ้งแผ่นดินเพราะปัญหาการเมืองกลับมายังประเทศไทย ว่าให้ไปสอบถามเจ้าตัวเอง... ***...เสาร์ที่ 26 มี.ค. นี้คนเสื้อแดงอย่าพลาดงานคอนเสิร์ตคนเสื้อแดง นำทีมโดย 2 เกลอเก่า “เต้น” ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ “ตู่” จตุพร พรหมพันธุ์ และแกนนำคนเสื้อแดงคนสำคัญที่ต่างประเทศ ที่โบนันซ่า เขาใหญ่...* ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 304 วันที่ 26 มีนาคม – 1 เมษายน พ.ศ. 2554 หน้า 20 คอลัมน์ ถนนรัฐสภา โดย ทีมข่าวการเมือง* |
“ยุบสภา” http://www.dailyworldtoday.com/newsblank.php?news_id=10154 ฉบับประจำสัปดาห์นี้ “สารวัตรนนท์” เข้าเวรรายงานข่าวแวดวงยุทธจักรสีกากีเช่นเคย *** ช่วงนี้เหตุการณ์บ้านเมืองยังไม่สงบ ไม่รู้ว่าเดือนพฤษภาคมจะมีรายการ “ยุบสภา” ตามที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี พูดเอาไว้หรือเปล่า จะต้องมีการเลือกตั้งใหม่ การต่อสู้ทางการเมืองคงดุเดือดเลือดพล่าน ตำรวจผู้รักษากฎหมายต้องหนักมือในการรับสถานการณ์ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผบ.ตร. ตั้ง พล.ต.อ.ภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา รอง ผบ.ตร. รับผิดชอบดูแลติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด *** “2 มาตรฐานและแบ่งข้างเลือกสี” เป็นเรื่องที่ผู้คนในสังคมพูดกันมาก ยื้อกันมานานให้คาราคาซังเป็นปี คดีกลุ่มพันธมิตรฯสีเหลืองบุกสนามบินสุวรรณภูมิ โดย พล.ต.ท.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้ช่วย ผบ.ตร. ได้รับแต่งตั้งคนล่าสุดให้เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน สรุปสำนวนมีความเห็น “สั่งฟ้อง” ข้อหาก่อการร้าย ส่งให้ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผบ.ตร. เสนออัยการก่อนครบกำหนดอำนาจฝากขังผู้ต้องหา ล่าสุด ผบ.ตร. เสนอขึ้นไปยังอัยการแล้วมีความเห็น “สั่งฟ้อง” จาก 25 คน เหลือ 13 คนเท่านั้น งานนี้ไม่รู้ว่าจะออกหัวหรือก้อย ตัวใครตัวมันก็แล้วกัน *** สนองนโยบาย พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผบ.ตร. ควงแขน พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ รอง ผบ.ตร. สรุปผลการปราบปรามยาเสพติด ชื่นชม บช.ภาค 6 จับมากสุดยึดยาบ้า 2.6 ล้านเม็ด จี้นครบาลเกาะติดเครือข่ายค้ายาในคุก เช็กประวัติข้อมูลผู้ค้าเพื่อสกัดจับการขนส่งยาพื้นที่รอบนอก *** มีรายการขอเพิ่มรอง ผบก. ก็ได้ไปแล้ว ขยับขอเพิ่มโรงพักต่อ พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษก บช.น. บอกว่า พล.ต.ท.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบช.น. เสนอเรื่องถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติขอเพิ่มโรงพักในนครบาลอีก 10 สน. ยกระดับ สน. ที่รับผิดชอบทางน้ำ 4 แห่งให้หัวหน้าสถานีขึ้นเป็น ผกก. และเปิดรับสมัครตำรวจชั้นประทวนอีก 7,000 อัตรา *** วันก่อน พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รอง ผบ.ตร. ดูแลพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สั่งด่วน พล.ต.ท.ไพฑูรย์ ชูชัยยะ ผบช.ศชต. ตั้งชุดเฉพาะกิจไล่ล่าโจรใต้ปล้นร้านทองสุไหงโก-ลกฆ่า 3 ศพ มั่นใจเป็นฝีมือกลุ่มสนับสนุนการก่อความไม่สงบ *** งานนี้ ผบ.ตร. เป็นปลื้มกับ พล.ต.ท.เดชาวัต รามสมภพ ผบช.ภาค 3 และ พล.ต.ต.ประยนต์ ลาเสือ ผบก.สส.ภาค 3 ทลายแก๊งโจรกรรมพระพุทธรูปโบราณ ยึดของกลางพระพุทธรูปสมัยล้านนาอายุกว่า 500 ปี เป็นแก๊งใหญ่ ตระเวนลักพระพุทธรูปจาก 7 วัดดังทั่วประเทศส่งขายนอกประเทศ *** สตม. ยุคใหม่บริการด้วยใจ พล.ต.ท.วิบูลย์ บางท่าไม้ ผบช.สตม. ปลื้มงานบริการที่ พล.ต.ต.ปรีชา ธิมามนตรี ผบก.ตม.2 สั่งพิจารณายกเลิกค่าปรับหากนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นวีซ่าหมดอายุ เหตุเพราะบินกลับประเทศไม่ได้จากเหตุการณ์สึนามิ *** วันก่อน พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ ผบก.ป., พ.ต.อ.ชัชชม คล้ายคลึง รอง ผบก.ป. พร้อมพวกบุกเมืองเพชรฯทลายแก๊งเงินกู้นอกระบบรายใหญ่ รวบนายทุนพร้อมลูกสมุนเก็บดอกเบี้ยโหดร้อยละ 40 ต่อวัน *** อีกราย พล.ต.ต.เกียรติศักดิ์ อรุณศรีโสภณ ผบก.ภ.จว.ชัยนาท ระดมกวาดล้างพื้นที่ตามนโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับยาเสพติดและอาชญากรรมในพื้นที่ ยึดยาบ้าและอาวุธปืนได้จำนวนมาก *** ยังคงทำงานอย่างต่อเนื่อง พล.ต.ต.ฉัตรกนก เขียวแสงส่อง ผบก.ภ.จว.นครราชสีมา ร่วมกับ พ.ต.อ.วงษ์ศักดิ์ วงศ์สามี ผกก.สส.1 บก.สส.ภาค 3 รวบสาวหลอกดาวน์รถจากเต็นท์ทั่วภาคอีสานก่อนเชิดไปขายต่อประเทศเพื่อนบ้าน ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 304 วันที่ 26 มีนาคม – 1 เมษายน พ.ศ. 2554 หน้า 21 คอลัมน์ ถนนสีกากี โดย สารวัตรนนท์* |
เปิดเสนอแก้มาตรา112ลดโทษหมิ่นกษัตริย์-ราชินี-รัชทายาท-ตัวแทนพระองค์ http://www.dailyworldtoday.com/newsblank.php?news_id=10123 คณะนิติราษฎร์ นิติศาสตร์เพื่อราษฎร ชงข้อเสนอ 7 ข้อปรับปรุงแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 เรื่องหมิ่นสถาบันเบื้องสูง ให้แยกโทษความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ออกจากกัน โดยให้มีโทษลดหลั่นกันไปตามความเหมาะสมของสถานะ ลดโทษจำคุกให้สูงสุดไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 50,000 บาท ไม่กำหนดอัตราโทษขั้นต่ำ เพื่อเปิดให้ศาลใช้ดุลยพินิจให้เหมาะสมกับกรณี นอกจากนี้ยังเปิดช่องให้ยกเว้นโทษหากเป็นการแสดงความเห็นโดยสุจริต เพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ เพื่อธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ เพื่อประโยชน์ทางวิชาการ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ วันที่ 27 มี.ค. 2554 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ คณะนิติราษฎร์ นิติศาสตร์เพื่อราษฎร จัดให้มีการอภิปรายเรื่อง “กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” หลังการอภิปรายคณะนิติราษฎร์ฯได้เสนอแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มนุษย์มีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน ข้อเสนอระบุว่า มนุษย์ไม่ว่าจะชาติกำเนิดใด ดำรงตำแหน่งสถานะใด ย่อมมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีเสรีภาพ มีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน มีเหตุผล มีความสามารถอดทนอดกลั้นต่อความคิดเห็นที่แตกต่าง และในสังคมประชาธิปไตย เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นเสรีภาพที่จะขาดเสียมิได้ หากจะมีการจำกัดเสรีภาพดังกล่าว รัฐต้องกระทำเท่าที่จำเป็น และจะจำกัดจนถึงขนาดกระทบต่อสารัตถะแห่งเสรีภาพนั้นมิได้ กฎหมายไม่เหมาะสมหลายประการ กฎหมายเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มีความไม่เหมาะสมทั้งในแง่โครงสร้างของบทบัญญัติ อัตราโทษ และการบังคับใช้ ประกอบกับกฎหมายดังกล่าวไม่มีการยกเว้นความผิดในกรณีที่บุคคลติชม แสดงความคิดเห็น หรือแสดงข้อความใดโดยสุจริตเพื่อรักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญและการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อีกทั้งในปัจจุบันปรากฏชัดว่ากฎหมายดังกล่าวเปิดช่องให้บุคคลนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง หรือนำไปใช้โดยไม่สุจริตและไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย เพื่อรักษาไว้ซึ่งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ คณะนิติราษฎร์ฯจึงเห็นควรเสนอแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ดังนี้ เสนอยกเลิกมาตรา 112 ประการที่ 1 ให้ยกเลิกบทบัญญัติมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา มีเหตุผลคือ 1.มาตรา 112 ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันได้รับการบัญญัติขึ้นโดยคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 วันที่ 21 ต.ค. 2519 ซึ่งเป็น “กฎหมาย” ของคณะรัฐประหาร จึงขาดความชอบธรรมทางประชาธิปไตย 2.ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ฯเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของบทบัญญัติต่างๆในประมวลกฎหมายอาญาที่เกี่ยวข้องกับความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ จึงจำเป็นต้องยกเลิกบทบัญญัติมาตรา 112 ในลักษณะความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร เพื่อนำไปบัญญัติขึ้นใหม่เป็นลักษณะความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แก้ไขกฎหมายแยกประเภทความผิด ประการที่ 2 ตำแหน่งแห่งที่ของบทบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับเกียรติยศและชื่อเสียงของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มีข้อเสนอดังนี้ 1.เพิ่มเติมลักษณะความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ไว้ในประมวลกฎหมายอาญา 2.นำบทบัญญัติเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ไปบัญญัติไว้ในลักษณะอื่น หมิ่นประมาทไม่กระทบความมั่นคง มีเหตุผลสนับสนุนคือ ลักษณะของความผิด ความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ ไม่มีสภาพร้ายแรงถึงขนาดกระทบกระเทือนต่อการดำรงอยู่ ต่อบูรณภาพ และต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร แบ่งแยกการคุ้มครองตามสถานะ ประการที่ 3 ตำแหน่งที่ได้รับการคุ้มครองมีข้อเสนอคือ แบ่งแยกการคุ้มครองสำหรับตำแหน่งพระมหากษัตริย์ออกจากการคุ้มครองสำหรับตำแหน่งพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ดังนี้ มาตรา...“ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ต้องระวางโทษ...” มาตรา...“ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษ...” ให้สอดคล้องข้อกำหนดกฎหมายอื่น เหตุผลสนับสนุนข้อเสนอนี้คือ เพื่อให้สอดคล้องกับการแบ่งแยกการคุ้มครองระหว่างตำแหน่งพระมหากษัตริย์กับตำแหน่งพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในความผิดฐานอื่นๆ กล่าวคือ ความผิดฐานปลงพระชนม์พระมหากษัตริย์ (มาตรา 107), ความผิดฐานปลงพระชนม์พระราชินี รัชทายาท และความผิดฐานฆ่าผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (มาตรา 109), ความผิดฐานกระทำการประทุษร้ายพระมหากษัตริย์ (มาตรา 108), ความผิดฐานกระทำการประทุษร้ายพระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (มาตรา 110) ลดอัตราโทษสูงสุดจำคุก 3 ปี ประการที่ 4 เรื่องอัตราโทษ มีข้อเสนอดังนี้ 1.ไม่มีอัตราโทษขั้นต่ำ 2.ลดอัตราโทษให้เป็นจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ 3.ลดอัตราโทษให้เป็นจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ไม่กำหนดโทษขั้นต่ำ ให้ศาลใช้ดุลยพินิจ ข้อเสนอนี้มีเหตุผลสนับสนุนคือ 1.ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่มีการกำหนดอัตราโทษขั้นต่ำในความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ดังนั้น ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญจึงยิ่งไม่ควรมีการกำหนดอัตราโทษขั้นต่ำในความผิดฐานดังกล่าว 2.เปิดโอกาสให้ศาลได้ใช้ดุลยพินิจในการกำหนดโทษตามควรแก่กรณี 3.เป็นการคุ้มครองบุคคลในตำแหน่งพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ให้สมแก่สถานะแห่งตำแหน่ง จึงกำหนดให้มีอัตราโทษขั้นสูงที่สูงกว่าความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และเพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างความร้ายแรงของการกระทำอันเป็นความผิดกับโทษที่ผู้กระทำความผิดนั้นควรได้รับ อันเป็นไปตามหลักความพอสมควรแก่เหตุซึ่งได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญ จึงกำหนดให้มีอัตราโทษขั้นสูงลดลงจากเดิม 4.โดยเหตุที่พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งประมุขของรัฐ ซึ่งมีสถานะแตกต่างจากพระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จึงกำหนดอัตราโทษขั้นสูงให้แตกต่างกัน เปิดช่องให้ยกเว้นโทษได้ ประการที่ 5 เหตุยกเว้นความผิด มีข้อเสนอเพิ่มเติมเหตุยกเว้นความผิด ดังนี้ มาตรา...“ผู้ใดติชม แสดงความคิดเห็น หรือแสดงข้อความใดโดยสุจริต เพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ เพื่อธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ เพื่อประโยชน์ทางวิชาการ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ ผู้นั้นไม่มีความผิดตามมาตรา... และมาตรา...” เหตุผลสนับสนุนข้อเสนอคือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 45 รับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตเพื่อการดังกล่าว ไม่สมควรเป็นความผิดทางอาญา พิสูจน์ได้ไม่มีความผิด ประการที่ 6 เหตุยกเว้นโทษ มีข้อเสนอ เพิ่มเติมเหตุยกเว้นโทษ ดังนี้ มาตรา...“ความผิดฐานต่างๆในลักษณะนี้ ถ้าผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดพิสูจน์ได้ว่าข้อความนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ ถ้าข้อที่กล่าวหาว่าเป็นความผิดนั้นเป็นเรื่องความเป็นอยู่ส่วนพระองค์หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวแล้วแต่กรณี และการพิสูจน์นั้นไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน ห้ามมิให้พิสูจน์” เหตุผลสนับสนุนคือ แม้การกระทำนั้นเป็นความผิด แต่หากการกระทำนั้นเป็นการแสดงข้อความที่เป็นจริงและเป็นประโยชน์แก่ประชาชน ก็สมควรได้รับการยกเว้นโทษ ให้สำนักราชเลขาฯกล่าวโทษ ประการที่ 7 ผู้มีอำนาจกล่าวโทษ มีข้อเสนอดังนี้ 1.ห้ามบุคคลทั่วไปกล่าวโทษว่ามีการกระทำความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ 2.ให้สำนักราชเลขาธิการเป็นผู้กล่าวโทษว่ามีการกระทำความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เหตุผลสนับสนุนข้อเสนอคือ 1.เพื่อมิให้บุคคลทั่วไปนำบทบัญญัติดังกล่าวมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองหรือนำไปใช้โดยไม่สุจริต 2.โดยเหตุที่สำนักราชเลขาธิการเป็นหน่วยงานของรัฐ มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการเลขานุการในพระองค์พระมหากษัตริย์ จึงสมควรให้ทำหน้าที่ปกป้องพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ผู้ร่วมลงชื่อสนับสนุนข้อเสนอทั้ง 7 ประการ ประกอบด้วย รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อ.ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล นายธีระ สุธีวรางกูร น.ส.สาวตรี สุขศรี และนายปิยบุตร แสงกนกกุล ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะนิติราษฎร์ฯยังได้ยกร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ขึ้นมาด้วย โดยระบุว่าผู้ที่สนับสนุนการแก้ไขสามารถนำไปรณรงค์กับประชาชนและเสนอต่อสภาได้ ซึ่ง “โลกวันนี้” จะนำรายละเอียดร่างกฎหมายมานำเสนอในโอกาสต่อไป* |
ค้านดีเอสไอชงครม.อนุมัติเพิ่มคดีพิเศษ http://www.dailyworldtoday.com/newsblank.php?news_id=10122 ตำรวจขวางดีเอสไอชงคณะรัฐมนตรีเห็นชอบกระทรวงยุติธรรมเพิ่มฐานความผิดคดีพิเศษอีก 24 ประเภท ครอบคลุมการทำผิดเกือบทั้งหมด ระบุทำงานซ้ำซ้อนกับตำรวจ ชี้มีเจ้าหน้าที่น้อยอาจทำไม่รอบคอบและงานล่าช้า การใช้วิธีการพิเศษสืบสวนสอบสวนยังเข้าข่ายละเมิดสิทธิประชาชน รายงานข่าวจากกระทรวงยุติธรรมแจ้งว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 28 มี.ค. นี้กระทรวงจะเสนอให้ที่ประชุมเห็นชอบกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดคดีพิเศษเพิ่มเติมตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อเพิ่มเติมความผิดตามกฎหมายอาญาอีก 24 ประเภทเข้าเป็นคดีพิเศษ เช่น ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์, การซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า, การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว, ประกันชีวิต ประกันวินาศภัย, ค้ามนุษย์ ค้าประเวณี, การสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า, ป่าไม้, ป่าสงวนแห่งชาติ, อุทยานแห่งชาติ, ที่ดิน แร่, ธุรกิจสถาบันการเงิน, ยาเสพติด, วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท, โรงงาน, เครื่องสำอาง, วัตถุอันตราย, ยา เป็นต้น อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่เห็นด้วยกับการเพิ่มฐานความผิดดังกล่าวให้เป็นคดีพิเศษ เพราะเห็นว่าเป็นการทำงานซ้ำซ้อนกับตำรวจ อีกทั้งตำรวจมีผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ความสามารถในการทำคดี การจะยกเรื่องใดเป็นคดีพิเศษควรยึดหลักคดีที่มีความสลับ ซับซ้อนในการทำความผิดแต่ละเรื่อง ซึ่งคณะกรรมการคดีพิเศษมีอำนาจพิจารณาได้อยู่แล้ว ที่สำคัญคือปัจจุบันกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) มีบุคลากรจำกัด การเพิ่มชนิดคดีพิเศษจะทำให้ดีเอสไอมีงานมากขึ้น การทำงานอาจจะเกิดความล่าช้าหรือไม่รอบคอบจนทำให้เกิดความเสีย หายได้ จึงควรยึดหลักที่ว่าเรื่องใดจะเป็นคดีพิเศษให้พิจารณาจากความซับซ้อนของการทำผิดที่ไม่สามารถใช้ประมวลกฎหมายอาญาพิจารณาตามปรกติได้ ต้องใช้วิธีการสอบสวนแนวทางพิเศษ หากไปกำหนดให้คดีความผิดทั่วไปเข้าข่ายเป็นคดีพิเศษทั้งหมดอาจเป็นการละเมิดสิทธิของประชาชนมากเกินไป* |
พท.แฉ2กระทรวงใหญ่งาบทิ้งทวนก่อนยุบสภา http://www.dailyworldtoday.com/newsblank.php?news_id=10121 โฆษกพรรคเพื่อไทยแฉตรวจพบความผิดปรกติในการดำเนินงานของ 2 กระทรวงใหญ่ในช่วงก่อนยุบสภา ระบุไอซีทีเร่งประมูลโครงข่ายโทรศัพท์ 3จีแบบมีเงื่อนงำ ไม่รอฟังผลการตัดสินของศาลปกครอง ตั้งคนของตัวเองเข้ามาเป็นบอร์ดคุมประมูลที่ตั้งราคาสูงถึง 16,920 ล้านบาท ทั้งที่ความจริงมูลค่าโครงการไม่น่าจะเกิน 9,000 ล้านบาทเท่านั้น ขณะที่การโยกย้ายข้าราชการนอกฤดูในกระทรวงมหาดไทยส่อเค้าต่างตอบแทนเมื่อตรวจพบภริยากรรมการ ป.ป.ช. ได้เลื่อนตำแหน่งช่วงเดียวกับที่เริ่มไต่สวนทุจริตจัดซื้อคอมพิวเตอร์ จี้กรรมการ ป.ป.ช. ผู้เป็นสามีลาออกจากประธานอนุกรรมการไต่สวนเพื่อโชว์ความโปร่งใส นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงว่า หลังจากมีความชัดเจนว่านายกรัฐมนตรีจะประกาศยุบสภาช่วงสัปดาห์แรกของเดือน พ.ค. ทำให้ตรวจพบความไม่ปรกติในการบริหารงานของ 2 กระทรวงใหญ่คือ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) และกระทรวงมหาดไทย ที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายดำเนินการแบบทิ้งทวนเพื่อหาผลประโยชน์ “ในส่วนของกระทรวงมหาดไทยตรวจพบว่ามีการโยกย้ายผู้ว่าราชการจังหวัด 12 คน ที่น่าจะเป็นการทำเพื่อเอื้อประโยชน์ในการเลือกตั้ง และการโยกย้ายบางตำแหน่งก็เข้าข่ายเป็นการทำในลักษณะต่างตอบแทนด้วย” นายพร้อมพงศ์กล่าวต่อว่า แม้กระทวงมหาดไทยจะออกมาปฏิเสธเรื่องดังกล่าว แต่มีข้อมูลที่น่าสนใจว่าการโยกย้ายครั้งนี้มีการแต่งตั้งให้ภริยาของกรรมการในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คนหนึ่งขึ้นเป็นรองผู้ว่าราชการจังหวัดในช่วงเดียวกับที่ ป.ป.ช. ออกหนังสือเรียกนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยข้าราชการในสังกัดรวม 8 คน เข้ารับการไต่สวนเรื่องทุจริตประมูลจัดซื้อคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ด้านทะเบียนราษฎรและใช้ทำบัตรประชาชนวงเงิน 3,490 ล้านบาท “บังเอิญเกินไปที่นางวารุณี พงศ์ศิวาภัย ภริยาของนายประศาสตร์ พงศิวาภัย กรรมการ ป.ป.ช. ที่เป็นประธานคณะกรรมการไต่สวนเรื่องทุจริตจัดซื้อคอมพิวเตอร์ ได้รับการเลื่อนตำแหน่งจากหัวหน้าสำนักงานจังหวัดนครปฐมเป็นรองผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ซ้ำยังเป็นการแต่งตั้งโยกย้ายนอกฤดูอีกด้วย” นายพร้อมพงศ์กล่าวและว่า นายประศาสตร์ควรแสดงความบริสุทธิ์ใจด้วยการลาออกจากการเป็นประธานคณะอนุกรรมการไต่สวนเรื่องทุจริตจัดซื้อคอมพิวเตอร์ของกระทรวงมหาดไทย เพื่อไม่ให้เกิดข้อครหาว่าเป็นเรื่องต่างตอบแทน โฆษกพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า ในส่วนของกระทรวงไอซีทีตรวจพบว่ามีการตั้งคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) ใหม่แล้วประมูลโครงข่ายโทรศัพท์ 3จี มูลค่ากว่า 16,290 ล้านบาท “บอร์ดชุดเก่าที่ลาออกไปเพราะเห็นว่าการประมูลเข้าข่ายผิดกฎหมายไม่สามารถทำได้ และเรื่องยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองที่ผู้ประกอบการไปยื่นฟ้องเอาไว้ แต่นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที กลับตั้งนายบุญมาก ศิริเนาวกุล อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เข้าเป็นบอร์ด และเป็นที่คาดกันว่านายบุญมากจะได้เป็นประธานบอร์ดคุมประมูลโครงข่าย 3จี” นายพร้อมพงศ์กล่าวอีกว่า เคยเรียกร้องต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ก่อนหน้านี้แล้วว่าในช่วงที่รอเวลายุบสภารัฐบาลไม่ควรอนุมัติโครงการใหม่หรือเปิดประมูล เพราะจะทำให้มีข้อสงสัยในเรื่องผลประโยชน์ เนื่องจากบริษัทเอกชนที่เชี่ยวชาญเรื่องโครงข่ายโทรศัพท์ให้ข้อมูลกับพรรคเพื่อไทยว่าโครงข่ายนี้มีมูลค่าจริงไม่น่าจะเกิน 9,000 ล้านบาท แต่กลับจะประมูลกันในราคา 16,920 ล้านบาท จึงน่าจะมีความไม่ชอบมาพากลในการดำเนินโครงการอย่างแน่นอน* |
ถล่มลิเบียชอบธรรมหรือรุกราน? http://www.dailyworldtoday.com/newsblank.php?news_id=10152 คำประกาศกร้าวของ พ.อ.มูอัมมาร์ กัดดาฟี ผู้นำลิเบีย ที่เมื่อกลางดึกวันพุธที่ผ่านมา ที่ว่าลิเบียจะไม่ยอมแพ้ต่อกองกำลังต่างชาติที่รุกราน และจะต่อสู้ทุกวิถีทางไม่ว่าจะเป็นสงครามสั้นหรือยาว เป็นสัญญาณล่าสุดว่าผู้นำลิเบียจะไม่มีวันยอมแพ้ง่ายๆ ปฏิบัติการ “โอดิสซีย์ ดอว์น” ของกองกำลังพันธมิตรที่นำโดยสหรัฐ อังกฤษ และฝรั่งเศส เปิดฉากขึ้นเมื่อคืนวันเสาร์ โดยเครื่องบินรบของทั้ง 3 ชาติยิงจรวดโทมาฮอว์คจากเรือบรรทุกเครื่องบินในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน สู่เป้าหมายหลักในกรุงตริโปลีและเมืองเบงกาซี จนสร้างความสูญเสียอย่างหนักต่อชีวิตและทรัพย์สิน ชอบธรรมหรือรุกราน การโจมตีลิเบียซึ่งยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่องเป็นคืนที่ 4 เมื่อวันอังคาร ได้สร้างคำถามขึ้นว่า เป็นไปอย่างชอบธรรมหรือไม่ และชาติตะวันตกคือผู้รุกรานตามที่ พ.อ.กัดดาฟีกล่าวหาใช่หรือไม่ เพราะหากดูจากมติที่ 1973 ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) ที่ประกาศบังคับใช้ “เขตห้ามบิน” เหนือน่านฟ้าลิเบียนั้น มีเป้าหมายเพื่อไม่ให้กองกำลังฝ่ายรัฐบาลลิเบียโจมตีทางอากาศเพื่อปราบปรามฝ่ายต่อต้าน โดยไม่ได้ระบุถึงการใช้มาตรการทางทหารไว้ด้วย แต่ที่ประชุมผู้นำ 22 ชาติซึ่งมีบุคลสำคัญเข้าร่วมคือ ผู้นำฝรั่งเศส ผู้นำอังกฤษ นางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ นายบัน คี-มูน เลขาธิการยูเอ็น นายอัมร์ มุสซา เลขาธิการสันนิบาตอาหรับ (อาหรับลีก) ได้เห็นพ้องต่อการกดดันผู้นำลิเบียมากขึ้นเพื่อบังคับใช้เขตห้ามบิน จากนั้นพันธมิตร 3 ชาติคือ สหรัฐ อังกฤษ และฝรั่งเศส กลับเปิดฉากใช้กำลังทหารอย่างฉับพลัน ซึ่งทำให้ พ.อ.กัดดาฟีประท้วงไปยังยูเอ็นเอสซี พร้อมทั้งเรียกร้องให้ชาติตะวันตกยุติการโจมตีลิเบียทันที ส่วนรัฐบาลลิเบียกล่าวหาว่า เป็นการแทรกแซงกิจการภายในและคุกคามความมั่นคงระหว่างประเทศ แม้แต่นายมุสซาบอกว่า การถล่มลิเบียไปไกลเกินกว่าวัตถุประสงค์หลักของการประกาศเขตห้ามบิน ด้านจีนและรัสเซียตำหนิการใช้กำลังทหาร ขณะที่เยอรมนีตั้งคำถามถึงขอบเขตการใช้กำลังทหาร โดยเห็นพ้องกับอิตาลีว่า การโจมตีของพันธมิตรตะวันตกในช่วง 3 วันมานี้พุ่งเป้าไปที่รถถังและกองกำลังภาคพื้นดินลิเบียด้วย ไม่ได้จัดแค่การใช้เขตห้ามบินเท่านั้น ส่วนที่อังกฤษก็มีความเห็นแตกต่างกัน ในขณะที่นายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน กล่าวว่า มติบังคับใช้เขตห้ามบินจำกัดเฉพาะการเรียกร้องให้หยุดยิงและปกป้องพลเรือนในลิเบีย โดยไม่ได้ให้อำนาจใช้กำลังทหาร แต่นายวิลเลียม เฮก รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ กลับบอกว่า แม้ปฏิบัติการทางทหารมีเป้าหมายเรื่องเขตห้ามบิน แต่อังกฤษก็พร้อมจะปลิดชีพผู้นำลิเบีย ถ้าจำเป็น ด้านประธานาธิบดีบารัค โอบามา ผู้นำสหรัฐ บอกว่า เป้าหมายของสหรัฐในการเข้าร่วมปฏิบัติการทางทหารคือ ทำตามมติยูเอ็นเอสซีไม่ได้หวังจะโค่นอำนาจ พ.อ.กัดดาฟี แต่เขาระบุด้วยว่ามีแนวทางในการทำให้ผู้นำลิเบียก้าวลงจากอำนาจด้วยกลไกอื่นๆเช่นการคว่ำบาตรด้านอาวุธและโดดเดี่ยวเขาจากนาชาติ ส่วนนายโรเบิร์ต เกตส์ รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐ ไม่พอใจที่อังกฤษสนับสนุนการสังหาร พ.อ.กัดดาพี โดยบอกว่าจะทำลายความร่วมมือของนานาชาติที่สนับสนุนการใช้เขตห้ามบิน “กัดดาฟี” พลาด ความผิดพลาดที่เด่นชัดของ พ.อ.กัดดาฟีก็คือ การใช้กำลังทหารทั้งกองกำลังของเขาเองและทหารฝ่ายรัฐบาลในกรุงตริโปลี สังหารกองกำลังฝ่ายต่อต้าน โดยกล่าวหาว่าคนเหล่านั้นเป็นฝ่ายกบฏที่ต้องปราบปราม ซึ่งประเด็นนี้เองทำให้นานาชาติวิจารณ์ว่าเขาเป็นผู้นำที่ “มือเปื้อนเลือด” หลังถูกโจมตีวันแรก พ.อ.กัดดาฟีได้ส่งจดมายถึงนายโอบามา ผ่านทางยูเอ็นเอสซี เรียกร้องให้ยุติมาตรการทางทหาร และหยุดสนับสนุนฝ่ายต่อต้าน โดยพูดแบบเปิดใจว่า เขารักนายโอบามาซึ่งเปรียบเหมือนลูกชายคนหนึ่ง และไม่ต้องการขัดแย้งกับผู้นำสหรัฐ ทั้งยังตั้งคำถามถึงนายโอบามาว่า หากตกอยู่ในสถานการณ์ที่กลุ่มติดอาวุธใช้กำลังเข้ายึดครองเมืองต่างๆ เช่นเดียวกับที่เขาเผชิญอยู่แล้ว จะแก้ปัญหาอย่างไร ขณะที่นายนาดีน ไซดาน ผู้แทนของกองกำลังฝ่ายต่อต้าน พ.อ.กัดดาฟีในยุโรป กล่าวว่า ฝ่ายต่อต้านในประเทศต้องการให้ พ.อ.กัดดาฟีลงจากอำนาจและออกไปจากลิเบีย โดยไม่ต้องการให้เขาถูกสังหาร แต่ฝ่ายต่อต้านต้องการอาวุธเพิ่มขึ้นเพื่อให้ได้รับชัยชนะ และหลังจากนั้นต้องการให้ดำเนินคดี พ.อ.กัดดาฟีโดยศาลระหว่าางประเทศหรือศาลนานาชาติต่ออาชญากรรมที่เขาได้ก่อขึ้น โยนให้นาโต้สานต่อ ด้านองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) พยายามอย่างหนักที่จะผสานความเห็นที่แตกต่างกันระหว่างชาติสมาชิกเกี่ยวกับบทบาททางทหารในการโจมตีลิเบีย โดยฝรั่งเศสยืนยันที่จะให้นาโต้เข้ามารับบทบาทเป็นแกนนำ อังกฤษ อิตาลี และพันธมิตรนาโต้อีกหลายประเทศต้องการให้นาโต้เป็นแกนนำ หลังจากที่สหรัฐ อังกฤษ และฝรั่งเศส ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศและทางทะเลต่อลิเบียโดยลำพังเมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมา นายอแลง จูเป รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส ส่งสัญญาณว่า ต้องการให้นาโต้มีบทบาทสนับสนุนมากกว่าเป็นแกนนำ และมีหลายชาติต้องการให้นาโต้ดึงชาติอาหรับเข้าร่วมด้วย แต่ชาติอาหรับปฏิเสธหากต้องดำเนินการภายใต้ร่มธงนาโต้ ชาติตะวันตกที่ใช้ปฏิบัติการทางทหารกับลิเบียเห็นพ้องเรื่องใช้กองกำลังขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) กับลิเบีย แต่ไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกทั้งหมด และมีความเห็นต่างกันเรื่องผู้ที่จะเป็นแกนนำปฏิบัติการ ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ผู้นำสหรัฐ เห็นพ้องกับนายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน ของอังกฤษ และประธานาธิบดีนิโคลาส์ ซาร์โกซี ของฝรั่งเศส ว่า นาโต้ควรมีบทบาทสำคัญในการเป็นแกนนำในการใช้ปฏิบัติการทางทหาร นาโต้ประกาศจะบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรอาวุธลิเบียและได้สรุปแผนบังคับใช้เขตห้ามบินโดยอาณัติของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) หากจำเป็น แต่ในการประชุมล่าสุด เมื่อวันอังคาร ฝรั่งเศสและตุรกีคัดค้านอีกครั้ง ทำให้ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงที่จะให้นาโต้เป็นแกนนำ โดยฝรั่งเศสเห็นว่านาโต้ซึ่งมีสหรัฐเป็นแกนนำ มีภาพลักษณ์ไม่ดีนักในโลกอาหรับ ส่วนตุรกีเห็นว่าการโจมตีทางอากาศได้เกินขอบเขตของมติยูเอ็นเอสซีแล้ว ด้านอิตาลี ซึ่งเปิดให้ชาติพันธมิตรใช้ฐานทัพในประเทศได้ ชี้ว่า นาโต้ควรเป็นแกนนำปฏิบัติการหรือไม่ก็ไม่ต้องมีบทบาทเลย ชาติตะวันตกกำลังหาทางนำทั้งสมาชิกนาโต้และประเทศนอกนาโต้เข้าร่วมปฏิบัติการ ทั้งยังหวังว่าจะมีชาติอาหรับเข้าร่วมเพิ่มขึ้น แม้สมาชิกนาโต้ทั้ง 28 ชาติเห็นพ้องในประกาศใช้เขตห้ามบิน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะตกลงให้ดำเนินการจริง ขณะนี้มีชาติอาหรับเพียงชาติเดียวคือกาตาร์ที่พร้อมจะสนับสนุน โดยเสนอจะส่งเครื่องบินรบเข้าช่วยในปฏิบัติการเพื่อบังคับใช้เขตห้ามบิน ส่วนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เสนอจะมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้ อย่างไรก็ตาม คำถามเรื่องความชอบธรรมต่อการโจมตีลิเบียยังคงหาข้อสรุปที่ชัดเจนไม่ได้ ตราบใดที่ชาติสมาชิกนาโต้ยังมีความเห็นขัดแย้งกัน เพราะเกี่ยวเนื่องกับเรื่องเขตห้ามบินไปพร้อมกันด้วย โดยสหรัฐคาดว่าจะขยายเขตห้ามบินให้ครอบคลุมพื้นที่เกือบ 1,000 กิโลเมตรโดยรอบกรุงตริโปลี ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 304 วันที่ 26 มีนาคม – 1 เมษายน พ.ศ. 2554 หน้า 23 คอลัมน์ เบื้องหลังโลก โดย คณาภพ ทองมั่ง* |
ไม่มีธรรมที่ใด ไม่มีความสงบที่นั่น http://www.dailyworldtoday.com/newsblank.php?news_id=10148 ผืนแผ่นดินส่วนใหญ่ของคาบสมุทรอารเบียเป็นทะเลทรายที่ร้อนระอุและทุรกันดาร ด้วยลักษณะภูมิประเทศและสภาพอากาศเช่นนี้จึงไม่มีมนุษย์ภายนอกคนใดอยากไปตั้งถิ่นฐานที่นั่น นอกจากนี้ความห่างไกลจากความเจริญทำให้ชาวอาหรับในอดีตถูกชนชาติที่มีอารยธรรมในเวลานั้นอย่างเช่นชาวโรมันไบแซนติน ชาวเปอร์เซีย และชาวยิว มองว่าเป็นชนชาติป่าเถื่อนและโง่เขลา ซึ่งก็เป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ แต่นักประวัติศาสตร์ก็ไม่อาจปฏิเสธความจริงอันมหัศจรรย์ได้เช่นกันว่า นบีมุฮัมมัดสามารถเปลี่ยนแปลงชนชาติอาหรับที่ถูกดูแคลนให้กลายเป็นชนชาติที่สร้างอู่อารยธรรมของโลกภายในเวลา 23 ปีแห่งการปฏิบัติภารกิจนำอิสลามมายังมนุษยชาติผ่านทางชาวอาหรับ ในขณะที่ท่านนบีมุฮัมมัดมีชีวิตอยู่ มัสยิดของท่านถูกสร้างขึ้นอย่างเรียบง่ายจากทรายที่บดอัดแน่นเป็นพื้น มีลำต้นอินทผลัมเป็นเสา ผนังกำแพงทำจากดินผสมเศษไบไม้ใบหญ้าแห้งและหลังคามุงด้วยก้านอินทผลัม แต่มัสยิดแห่งนี้นอกจากจะทำหน้าที่เป็นจุดศูนย์รวมในการสักการะพระเจ้าแล้ว ยังเป็นสถานที่ให้การศึกษาอบรมสาวก สถานที่ต้อนรับอาคันตุกะจากต่างแดน ที่ประชุมปรึกษาหารือ กองบัญชาการรบ ศาลตัดสินข้อพิพาทและสำนักงานบริหารราชการของรัฐอิสลามอีกด้วย จากมัสยิดแห่งนี้เองที่แสงทองของอิสลามได้สาดส่องโลกให้สว่างไสวในเวลาต่อมาและทำให้ชาวอาหรับมุสลิมได้รับอำนาจและความรุ่งเรืองโดยที่ชาวอาหรับและชาวโลกในเวลานั้นยังไม่รู้จักน้ำมัน หรือทองคำสีดำที่เป็นเหมือนกับโลหิตของโลกในปัจจุบัน ก่อนท่านนบีมุฮัมมัดเสียชีวิต ท่านได้กล่าวกับบรรดาสาวกของท่านว่า “ขอสาบานด้วยอัลลอฮฺ ฉันไม่กลัวว่าพวกท่านจะจน แต่ฉันกลัวว่าโลกจะอุดมสมบูรณ์สำหรับพวกท่านดังที่มันเคยเป็นมาก่อนกับคนก่อนหน้าพวกท่าน แล้วพวกท่านก็แข่งขันกันเพื่อมันเช่นเดียวกับที่พวกเขาเคยแข่งขันกันเพื่อมัน ดังนั้น มันจึงทำลายพวกท่านเช่นเดียวกับที่มันได้ทำลายพวกเขาเหล่านั้นมาแล้ว” ด้วยความเข้าใจในคำสอนนี้ สาวกผู้ใกล้ชิดสี่คนที่สืบอำนาจการปกครองต่อจากท่าน จึงดำรงชีวิตอย่างสมถะและยึดแนวทางการปกครองตามแบบอย่างของท่าน โดยมองเห็นประโยชน์สุขของผู้อยู่ใต้การปกครองเป็นสรณะ รัฐอิสลามจึงมีความแข็งแกร่งจนอาณาจักรเปอร์เซียทั้งหมดและโรมันตะวันออกส่วนหนึ่งตกอยู่ภายใต้การปกครองของอิสลาม ความมั่งคั่งจากดินแดนต่างๆจึงไหลเข้าสู่นครมะดีนะฮฺไม่ต่างไปจากถนนทุกสายนำความมั่งคั่งเข้าสู่กรุงโรม แต่หลังจากสมัยการปกครองของสาวกผู้ทรงคุณธรรมทั้งสี่สิ้นสุดลง การปกครองที่มีผู้นำตามแบบแผนของอิสลามได้ถูกเปลี่ยนเป็นระบบกษัตริย์ที่ใช้ระบบการสืบสันตติวงศ์ ราชวงศ์ที่ขึ้นมาปกครองยังคงมีความมั่งคั่ง แต่สถานภาพการปกครองของราชวงศ์กลับไม่มีความมั่นคงเพราะการแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์ในหมู่ผู้ต้องการอำนาจ สิ่งที่ท่านนบีมุฮัมมัดกลัวล่วงหน้านั้นเป็นความจริง ความมั่งคั่งทำให้ผู้มีอำนาจปกครองฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย หวงแหนทรัพย์สมบัติและอำนาจ ขณะเดียวกันก็อยากได้สองอย่างนี้เพิ่มมากขึ้น ดังนั้น การกดขี่ขูดรีด การเอารัดเอาเปรียบจึงติดตามมา ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดความเดือดร้อนและการลุกขึ้นต่อต้าน เมื่อคนกลุ่มหนึ่งมีอำนาจและความมั่งคั่ง คนอีกกลุ่มหนึ่งก็อยากได้เช่นกัน เมื่อต่างฝ่ายต่างอยากได้ ความขัดแย้งและการแย่งชิงก็เกิดขึ้น การล่มสลายของอาณาจักรและราชวงศ์ต่างๆทั่วโลกในอดีตล้วนมาจากสาเหตุดังกล่าวทั้งสิ้น คนที่เรียนประวัติศาสตร์เข้าใจถึงความจริงในเรื่องนี้ได้ทุกคน การใช้ชีวิตฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยจากความมั่งคั่งจนเกินขอบเขตของศีลธรรม การคำนึงถึงประโยชน์สุขส่วนตัวและผลประโยชน์ของพวกพ้องมากกว่าประโยชน์สุขของประชาชน ซึ่งผิดไปจากวัตรปฏิบัติของนบีมุฮัมมัดและสาวกรุ่นแรกๆ ทำให้อาณาจักรมุสลิมของราชวงศ์ต่างๆล่มสลายและถูกราชวงศ์อื่นขึ้นมาสลับสับเปลี่ยน อาณาจักรออตโตมานซึ่งเป็นอาณาจักรสุดท้ายของมุสลิมล่มสลายไปก็เพราะสาเหตุดังกล่าวมา อาณาจักรออตโตมานถูกชาติตะวันตกฉีกออกเป็นรัฐชาติต่างๆที่มีการปกครองหลากหลายรูปแบบตั้งแต่ระบบกษัตริย์ สังคมนิยมและประชาธิปไตย แต่แม้จะมีระบบการปกครองใหม่ รัฐเหล่านี้ล้วนมีปัญหาการเมือง เศรษฐกิจและสังคมรุมเร้าเช่นกัน ปัจจุบัน ชาติอาหรับหลายชาติได้รับความมั่งคั่งมากมายมหาศาลจากทรัพยากรน้ำมัน แต่แทนที่ความมั่งคั่งเหล่านี้จะตกไปถึงประชาชนในประเทศ ในทางตรงข้าม ความมั่งคั่งส่วนใหญ่กลับตกอยู่ในมือของชนชั้นผู้ปกครองเพียงไม่กี่คน สภาพเช่นนี้จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประชาชนผู้ยากจนลุกขึ้นมาประท้วงและเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงผู้ปกครองไม่ว่าจะโดยความต้องการของประชาชนเองหรือแรงกระตุ้นจากภายนอก และทำให้ชาติอาหรับได้รับความอัปยศแม้รัฐบาลจะมั่งคั่งและมีกำลังอาวุธมากมายก็ตาม การลุกขึ้นประท้วงรัฐบาลและการก่อจลาจลในตูนิเซียและในอียิปต์ หรือในที่อื่นๆ เป็นบทเรียนให้ผู้ปกครองประเทศอาหรับและมิใช่อาหรับได้รู้ว่า แม้จะมีความมั่งคั่งและมีอำนาจหรือแสนยานุภาพเพียงใด แต่ถ้าประชาชนถูกทอดทิ้งให้ลำบากยากจนและไม่ได้รับความเป็นธรรม ทรัพย์สินและอำนาจก็ไม่สามารถค้ำบัลลังก์การปกครองได้ ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 304 วันที่ 26 มีนาคม – 1 เมษายน พ.ศ. 2554 หน้า 28 คอลัมน์ สันติธรรม โดย บรรจง บินกาซัน* |
พบมันเทศญี่ปุ่นปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี http://www.dailyworldtoday.com /newsblank.php?news_id=10176 อย. สุ่มตรวจตัวอย่างอาหารนำเข้าจากญี่ปุ่นพบมันเทศปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี แต่อยู่ในระดับต่ำที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุภาพ สั่งห้ามนำออกจำหน่ายรอการทำลายทิ้ง คาดอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้าอาจตรวจพบในอาหารทะเลนำเข้า เพราะในน้ำทะเลใกล้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์พบการรั่วไหลในปริมาณเข้มข้น ด้านกรมอุตุฯเปิดข้อมูลใหม่น่าตกใจ ระบุพบแผ่นดินไหวที่มีจุดศูนย์กลางอยู่ในประเทศไทยอย่างน้อย 3 แห่งวันเดียวกับที่เกิดเหตุในพม่า แรงสั่นสะเทือนสูงสุด 4 ริกเตอร์ที่อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน ชี้การสั่นสะเทือนในพม่าทำให้รอยเลื่อนเล็กๆในไทยขยับตัวหลายจุด อาจเกิดขึ้นได้อีกในอนาคตแต่ประชาชนไม่ควรตื่นตระหนก กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯแจ้งคณะรัฐมนตรีมี 22 จังหวัดอยู่ในรอยเลื่อนที่ต้องเฝ้าระวัง นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สุ่มตรวจตัวอย่างอาหารที่นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค. เป็นต้นมา เพื่อหาสารกัมมันตรังสีที่อาจปนเปื้อนมากับอาหารนำเข้า จนถึงวันที่ 27 มี.ค. ที่ผ่านมาทำการสุ่มตรวจตัวอย่างอาหารไปแล้ว 94 ตัวอย่าง แยกเป็นปลาสด 65 ตัวอย่าง หอย 6 ตัวอย่าง กุ้ง 4 ตัวอย่าง ปลาหมึก 6 ตัวอย่าง สาหร่าย 1 ตัวอย่าง มันเทศ 3 ตัวอย่าง แอปเปิ้ล 1 ตัวอย่าง สตรอว์เบอร์รี่ 4 ตัวอย่าง ลูกพลับแห้ง 1 ตัวอย่าง แป้งสาลี 2 ตัวอย่าง และผักกาดดอง 1 ตัวอย่าง ยังไม่เกินค่ามาตรฐานที่กำหนด “จากการสุ่มตรวจพบว่ามันเทศ 1 ตัวอย่างปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี (ไอโอดีน 131) แต่ยังไม่เกินค่ามาตรฐานที่จะเป็นอันตราย โดยพบอยู่ในระดับ 15.25 เบคเคอเรลต่อ 1 กิโลกรัม ขณะที่ค่ามาตรฐานตามที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้คือ 100 เบคเคอเรลต่อ 1 กิโลกรัม อย่างไรก็ตาม อย. ได้สั่งระงับการกระจายสินค้าดังกล่าวแล้ว” สั่งระงับกระจายสินค้ารอทำลายทิ้ง นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการ อย. กล่าวว่า ตัวอย่างมันเทศที่พบสารกัมมันตรังสีนำเข้ามาจากจังหวัดอิบารากิ บนเกาะฮอนชู ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงที่การทางการญี่ปุ่นได้ประกาศเตือนเอาไว้แล้ว โดยสินค้าล็อตเดียวกันที่นำเข้ามามีน้ำหนักรวม 75 กิโลกรัม หลังตรวจพบได้สั่งระงับการกระจายสินค้าไปแล้ว จากนี้จะเร่งหารือกับสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติเพื่อหาวิทำลายทิ้งต่อไป ช่วงที่รอการทำลายจะดูว่าสารไอโอดีน 131 ในตัวอย่างที่ตรวจพบจะลดลงตามธรรมชาติหรือไม่ เพราะตามปรกติแล้วจะต้องลดลงครึ่งหนึ่งทุกๆ 8 วัน อย่างไรก็ตามจะต้องทำลายทิ้ง ไม่อนุญาตให้จำหน่ายแม้จะมีปริมาณน้อยไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพก็ตาม อีก 2 สัปดาห์อาจตรวจพบในปลา ส่วนกรณีที่มีปริมาณสารกัมมันตรังสีเจือปนในน้ำทะเลปริมาณเข้มข้นที่ญี่ปุ่นจะมีผลต่อการนำเข้าอาหารทะเลหรือไม่นั้น เลขาธิการ อย. กล่าวว่า โดยหลักการแล้วสารกัมมันตรังสีจะกระจายได้ดีมาก แต่การปนเปื้อนส่วนมากจะพบกับสัตว์น้ำที่อยู่ชายฝั่งมากกว่าพวกที่อยู่ในน้ำลึก “อาหารทะเลที่ไทยนำเข้าจากญี่ปุ่นส่วนมากเป็นปลาซาบะและปลาแมคเคอเรล ซึ่ง อย. มีการสุ่มตรวจอยู่แล้วและยังไม่พบการปนเปื้อน จึงไม่ควรวิตกกังวล หากจะมีการปนเปื้อนมากับปลาน่าจะอีกประมาณ 2 สัปดาห์ข้างหน้าไปจนถึง 1 เดือน” ตรวจพบแผ่นดินไหวในไทย 3 จุด ด้านเหตุแผ่นดินไหวในประเทศพม่าที่มีแรงสั่นสะเทือนมาถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 24 มี.ค. ที่ผ่านมามีข้อมูลใหม่ที่ทำให้คนไทยต้องตกใจ เมื่อกลุ่มงานแผ่นดินไหว ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ ตรวจพบว่าหลังแผ่นดินไหวในพม่าแล้วเกิดแผ่นไหวตามมาอีกหลายครั้ง ซึ่งคนไทยเชื่อว่าเป็นอาฟเตอร์ช็อกจากพม่า แต่ความจริงแล้วเป็นการเกิดแผ่นดินไหวที่มีศูนย์กลางอยู่ในประเทศไทยอย่างน้อย 3 จุดที่ตรวจพบในขณะนี้ แรงสุด 4 ริกเตอร์ที่จังหวัดน่าน ทั้งนี้ จากการเปิดเผยของนายอดิศร ฟุ้งขจร หัวหน้ากลุ่มงานแผ่นดินไหว ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ ในฐานะรองโฆษกกรมอุตุนิยมวิทยา ที่ระบุว่าขณะนี้พบศูนย์กลางแผ่นดินไหวในไทยอย่างน้อย 3 จุดที่เกิดขึ้นหลังจากแผ่นดินไหวในพม่า จุดแรกเกิดขึ้นในเวลา 21.17 น. วันที่ 24 มี.ค. มีแรงสั่นสะเทือนขนาด 4 ริกเตอร์ ศูนย์กลางอยู่ที่อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน เกิดจากการเคลื่อนตัวของกลุ่มรอยเลื่อนปัว จุดที่ 2 เกิดเวลา 22.09 น. ขนาด 3 ริกเตอร์ มีศูนย์กลางอยู่ที่อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เกิดจากการเคลื่อนตัวของกลุ่มรอยเลื่อนแม่จัน และจุดที่ 3 เวลา 22.15 น. ขนาด 3.4 ริกเตอร์ มีจุดศูนย์กลางที่อำเภอแม่สาย เกิดจากการเคลื่อนตัวของกลุ่มรอยเลื่อนแม่จัน ทั้งหมดเกิดขึ้นหลังจากเกิดแผ่นดินไหวในพม่าแล้วประมาณ 1 ชั่วโมง จึงทำให้เข้าใจผิดในตอนแรกที่คิดว่าเป็นอาฟเตอร์ช็อกจากพม่า แรงสั่นจากพม่าเขย่ารอยเลื่อนในไทย “ขณะนี้กำลังเร่งตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังอย่างละเอียด เพราะเชื่อว่าหลังเกิดแผ่นดินไหวในพม่าแล้วจะมีผลทำให้รอยเลื่อนเล็กๆในประเทศไทยเคลื่อนตัวและเป็นศูนย์กลางแผ่นดินไหวได้อีกหลายจุด” นายอดิศรกล่าวอีกว่า การเปิดเผยข้อมูลครั้งนี้เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่รับทราบข้อเท็จจริงจะได้ไม่ประมาท แต่ไม่ควรตื่นตระหนก ควรเปิดรับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับวิธีการเอาตัวรอดและการป้องกันทรัพย์สินจากเหตุแผ่นดินไหวที่อาจเกิดขึ้นในวันข้างหน้า “มาร์ค” สั่งหาทางป้องกันแผ่นดินไหว ที่ทำเนียบรัฐบาล นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี มอบให้นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติ เช่น กระทรวงมหาดไทย ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กรุงเทพมหานคร นักวิชาการ ในสัปดาห์หน้า เพื่อหาแนวทางการรองรับสถานการณ์หากมีแผ่นดินไหวเกิดขึ้น “สิ่งที่นายกรัฐมนตรีต้องการคือเรื่องการแจ้งเตือนที่ต้องทำได้รวดเร็วและครบถ้วน นอกจากนี้ยังสั่งการให้ไปตรวจสอบอาคารเก่าและอาคารสร้างใหม่ เพื่อหาแนวทางป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นร่วมกันเจ้าของอาคาร” 13 รอยเลื่อนพาดผ่าน 22 จังหวัด นายปณิธานกล่าวว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้รายงานให้ที่ประชุมทราบถึงพื้นที่รอยเลื่อนที่ยังมีพลังในประเทศไทย ซึ่งมีทั้งหมด 13 รอยเลื่อน คลุมพื้นที่ 22 จังหวัดที่ต้องเฝ้าระวังการเปิดแผ่นดินไหว สำหรับพื้นที่ต้องเฝ้าระวังประกอบด้วย 1.เชียงใหม่ 12 อำเภอ 2.เชียงราย 11 อำเภอ 3.แพร่ 7 อำเภอ 4.แม่ฮ่องสอน 5 อำเภอ 5.กำแพงเพชร 3 อำเภอ 6.ตาก 7 อำเภอ 8.น่าน 6 อำเภอ 9.พะเยา 1 อำเภอ 10.พิษณุโลก 2 อำเภอ 11.ลำปาง 5 อำเภอ 12.ลำพูน 3 อำเภอ 13.อุตรดิตถ์ 4 อำเภอ 14.กระบี่ 1 อำเภอ 15.ชุมพร 4 อำเภอ 15.พังงา 5 อำเภอ 16.ระนอง 5 อำเภอ 17.สุราษฎร์ธานี 9 อำเภอ 18.กาญจนบุรี 7 อำเภอ 19.ประจวบคีรีขันธ์ 4 อำเภอ 20.สุพรรณบุรี 1 อำเภอ 21.นครพนม 3 อำเภอ 22.หนองคาย 2 อำเภอ รวม 308 ตำบล 1,406 หมู่บ้าน นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี เห็นด้วยที่จะยกเรื่องภัยพิบัติต่างๆที่เกิดขึ้นในขณะนี้เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อจัดตั้งศูนย์รวมในการให้คำแนะนำและช่วยเหลือประชาชน เพราะปัญหาภัยพิบัติไม่สามารถทราบได้ล่วงหน้า |
รอ1ปีคดีไม่คืบหน้าทนายนปช.จ่อฟ้องคนสั่งสลายเสื้อแดง http://www.dailyworldtoday.com/newsblank.php?news_id=10175 ทีมทนาย นปช. หารือเตรียมยื่นฟ้องผู้เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงโดยตรงต่อศาล หลังแจ้งความไว้ใกล้ครบ 1 ปี แต่คดีไม่มีความคืบหน้า นอกจากนี้ยังพิจารณายื่นฟ้อง “กษิต” หลัง ผบ.ตร. สั่งไม่ฟ้องข้อหาก่อการร้ายในคดีชุมนุมยึดสนามบิน “ธาริต” ชักท้อยื่นประกันตัวแกนนำ นปช. ระบุขึ้นเวทีปราศรัยที่เขาใหญ่ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ ความพยายามถอนประกันแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แดงทั้งแผ่นดิน ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ดูจะลดน้อยลงไปเมื่อนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ ระบุว่า ได้ตรวจสอบการปราศรัยของแกนนำที่เขาใหญ่เมื่อวันที่ 26 มี.ค. ที่ผ่านมาแล้ว ไม่พบอะไรเป็นกรณีพิเศษ ส่วนที่เคยยื่นถอนประกันก่อนหน้านี้แล้วอัยการไม่เห็นด้วยถือเป็นดุลยพินิจของอัยการ นายคารม พลทะกลาง ทนายความ นปช. กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นหนึ่งในผู้แจ้งความให้ดำเนินคดีกับนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่ร่วมชุมนุมยึดสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมือง จะเดินทางไปสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อสอบถามเหตุผลจาก พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ว่ามีเหตุผลอะไรจึงไม่สั่งฟ้องนายกษิตในข้อหาก่อการร้าย และจะสอบถามด้วยว่าหากจะยื่นฟ้องนายกษิตข้อหาก่อการร้ายโดยตรงต่อศาลด้วยตัวเองสามารถทำได้หรือไม่ ส่วนคดีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งตำรวจ ทหาร ทำร้ายประชาชนในช่วงสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อเดือน เม.ย.-พ.ค. ปีที่แล้ว ซึ่งผ่านมาจะครบ 1 ปี แต่ไม่มีความคืบหน้าของคดีนั้น นายคารมกล่าวว่า ทีมทนายกำลังหารือกันว่าจะยื่นฟ้องผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงต่อศาลเพื่อให้รับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเอง |
หมิ่นเบื้องสูงท่วมศาลสถิติน่าตกใจหลังคมช.ปฏิวัติฟ้องเพิ่ม13,000% http://www.dailyworldtoday.com/newsblank.php?news_id=10177 คณะนิติราษฎร์ฯเปิดเผยข้อมูลน่าตกใจเกี่ยวกับคดีหมิ่นเบื้องสูงช่วงปี 2535-2547 มีคดีฟ้องร้องไม่ถึง 10 คดี เฉลี่ยปีละ 0.8 คดี แต่หลังปี 2548-2552 กลับมีสถิติส่งฟ้องคดีต่อศาลสูงถึง 547 คดี เฉลี่ยปีละ 109 คดี ใช้เวลาเพียง 4-5 ปีปริมาณคดีพุ่งถึง 13,000% นอกจากนี้ยังพบการใช้มาตรา 112 ผูกโยงกับความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์อีกหลายคดี และใช้ข้ออ้างมาตรา 112 ปิดเว็บเพจไปแล้วกว่า 60,000 เว็บ สอดคล้องกับข้อสังเกตถูกใช้เป็นเครื่องมือทำลายกันทางการเมือง “วรเจตน์” ย้ำบทลงโทษขัดหลักการประชาธิปไตย ไม่สมเหตุสมผล จำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุง ชี้ยังมีปัญหาเรื่องทัศนคติด้านการปกครองของผู้ที่มีอำนาจเกี่ยวข้องกับคดี การอภิปรายเรื่อง “กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ที่จัดโดยคณะนิติราษฎร์ นิติศาสตร์เพื่อราษฎร เมื่อวันที่อาทิตย์ที่ 27 มี.ค. ที่ผ่านมา ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีนักวิชาการในคณะนิติราษฎร์ฯ 4 คนร่วมแสดงความคิดเห็น ประกอบด้วย รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ นายธีระ สุธีวรางกูร น.ส.สาวตรี สุขศรี และนายปิยะบุตร กนกแสงกุล ท่ามกลางความสนใจของประชาชนทั่วไป กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แดงทั้งแผ่นดินหรือคนเสื้อแดง รวมทั้งนักศึกษาที่เข้าร่วมฟังการอภิปรายจำนวนมาก รธน. ให้สถานะพิเศษตำแหน่งเดียว รศ.ดร.วรเจตน์กล่าวว่า จากการตรวจสอบปัญหาของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 พบปัญหาการคุ้มครองบุคคลในตำแหน่งต่างๆ ซึ่งบทบัญญัติมาตราดังกล่าวกำหนดไว้ 4 ตำแหน่งคือ พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เมื่อพิจารณาจากรัฐธรรมนูญแล้วจะเห็นว่าตำแหน่งซึ่งเป็นองค์กรของรัฐที่รัฐธรรมนูญกำหนดสถานะไว้เป็นพิเศษนั้นมีตำแหน่งเดียวคือพระมหากษัตริย์ ในทางรัฐธรรมนูญนั้นอยู่ในฐานะที่ทรงเป็นประมุขของรัฐ ไม่มีเหตุผลรองรับคุ้มครองคนอื่น “การบัญญัติคุ้มครองพระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ไว้เท่ากับประมุขของรัฐทั้งๆที่บุคคลในตำแหน่งดังกล่าวไม่ใช่ประมุขของรัฐ และได้รับความคุ้มครองตามหลักทั่วไปอยู่แล้ว ย่อมหาเหตุผลรองรับได้ยาก หากในทางฝ่ายนิติบัญญัติต้องการคุ้มครองเกียรติของบุคคลในตำแหน่งพระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ยิ่งไปกว่าบุคคลธรรมดาจะต้องอธิบายให้เห็นเหตุผลความจำเป็น และการจะกำหนดอัตราโทษให้เท่ากับบทบัญญัติที่คุ้มครองเกียรติของบุคคลในตำแหน่งพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นประมุขของรัฐไม่ได้” บทลงโทษขาดความชอบธรรม รศ.ดร.วรเจตน์กล่าวว่า ปัญหาอัตราโทษพบว่าปัจจุบันโทษในความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯลฯคือจำคุก 3-15 ปี โทษดังกล่าวเป็นโทษที่ได้รับการกำหนดขึ้นโดยขาดความชอบธรรมในทางประชาธิปไตย เพราะเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาโดยคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ลงวันที่ 23 ต.ค. 2519 หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 เมื่อเปรียบเทียบกับความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามพระราชกำหนดลักษณะหมิ่นประมาทด้วยการพูดฤาเขียนถ้อยคำเท็จออกโฆษณาการ ร.ศ. 118 มาตรา 4 อันเป็นกฎหมายที่บัญญัติในสมัยรัชกาลที่ 5 แล้ว พบว่าโทษหมิ่นประมาทพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งดำรงสยามรัฐมณฑลคือ โทษจำคุกไม่เกินกว่า 3 ปี ฤาให้ปรับเป็นเงินไม่เกินกว่า 1,500 บาท ฤาทั้งจำคุกและปรับด้วย สมัยก่อนยังกำหนดโทษต่ำกว่า “ความไม่สมเหตุสมผลของอัตราโทษตามมาตรา 112 คือในขณะที่โทษหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่เป็นโทษจำคุกนั้น กฎหมายกำหนดไว้ไม่เกิน 3 ปี โดยไม่กำหนดโทษขั้นต่ำไว้ หมายความว่าศาลจะลงโทษผู้กระทำความผิดน้อยเพียงใดก็ได้ แต่โทษหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยกลับกำหนดไว้สูงสุดถึง 15 ปี โดยกำหนดโทษขั้นต่ำไว้ด้วยว่าต้องจำคุกไม่ต่ำกว่า 3 ปี มีข้อสังเกตด้วยว่าในคราวประกาศใช้ประมวลกฎหมายอาญาเมื่อ พ.ศ. 2500 นั้น โทษตามมาตรา 112 คือโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และไม่มีการกำหนดโทษขั้นต่ำไว้ กล่าวได้ว่าอัตราโทษที่กำหนดไว้ในกฎหมายปัจจุบันขาดความสอดคล้องกับหลักความพอสมควรแก่เหตุอย่างสิ้นเชิง” ไม่มีข้อยกเว้นแสดงความเห็นสุจริต |
หลังอภิปรายน่าจะมีอะไร?คำถาม‘มีและไม่มีเลือกตั้ง’ | |||
มาถึงวันนี้คงมีการถกกันเป็นพิเศษ พิเศษในแง่ที่ว่าประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งจริงหรือไม่? ค่อนข้างแปลกที่หัวข้อนี้กลายเป็นวาระได้ แม้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพิ่งจะแถลงเสร็จสิ้นหมาดๆว่าจะยุบสภา ทั้งยังกำหนดไว้ในเดือนพฤษภาคม 2554 ซึ่งหมายถึงการจัดการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายนหรือต้นกรกฎาคม? ข้อสังเกตของกลุ่มที่เชื่อครึ่งและไม่เชื่อครึ่ง ฟังดูแล้วก็มีเหตุผลไม่น้อย ตั้งแต่มองว่าเหตุใดนายอภิสิทธิ์จึงช่างพร่ำพูดเกี่ยวกับการยุบสภาค่อนข้างจะถี่ยิบเสียจนเกินไป? อาการตรงนี้เองเป็นสิ่งน่าผิดสังเกต เพราะก่อนหน้านี้มีเหตุการณ์ครั้งแล้วครั้งเล่าซึ่งคนเขาเรียกร้องให้ “ยุบสภา” แต่นายอภิสิทธิ์ก็บ่ายเบี่ยงแถลงเป็นเหตุผลและข้ออ้างได้สารพัด ครั้นมาถึงยามนี้ดูเหมือนไม่ได้มีใครเรียกร้องเช่นนั้น แล้วเหตุใดถึงกระเหี้ยนกระหือรืออยากยุบสภาให้เร็วที่สุด! ข้อสังเกตเช่นนี้ทำให้เป็นเรื่องยากเหมือนกันที่จะเชื่อว่านายอภิสิทธิ์กำลังหมายถึงสิ่งที่ต้องการจริงๆกับคำพูดของเขา โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยคนนี้เต็มไปด้วยประวัติการณ์ของการใช้คำพูดที่พลิกไปพลิกมาอยู่ตลอดเวลา จนเกิดปัญหาระหว่างการพูดจริงกับการพูดเท็จ กลายเป็นเรื่องซึ่งแยกออกจากกันได้ยากนัก? ข้อสังเกตเกี่ยวกับ “พิรุธ” ในการยุบสภามีหลายประเด็นที่เรียงตัวให้เราต้องพิจารณาถึงความไม่เป็นปรกติเหล่านั้น? เริ่มจากพื้นฐานของการกำหนดเงื่อนเวลาเพื่อจัดการเลือกตั้งคงมีอยู่ 3 ลักษณะด้วยกัน ทางเลือกแรกคือการยุบสภาทันทีทันใด จากนั้นจัดให้มีการเลือกตั้งในเดือนเมษายน หากแต่เงื่อนเวลาตรงนี้ฝ่ายกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เห็นว่า “คงจะไม่ทัน” เงื่อนเวลาข้อที่สอง ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งภายหลังแก้กฎหมายลูกเสร็จสิ้นเสียก่อน...เงื่อนไขเวลาแบบสุดท้ายคือให้มีการยุบสภาในช่วงเวลาที่ใกล้หมดวาระอายุของรัฐบาล... แล้วสุดท้ายทั้งนายอภิสิทธิ์กับ กกต. ก็เห็นพ้องในเบื้องต้นสำหรับการจัดการเลือกตั้งในเดือนมิถุนายน...เมื่อมองจากเงื่อนไขของกฎหมายจึงเป็นไปได้ตั้งแต่วันที่ 26 มิถุนายน ไปจนไม่เกิน 3 กรกฎาคม 2554? ตรงนี้เกิดคำถามเหมือนกันว่าช่วงเวลานี้จะแก้ไขกฎหมายลูกได้ทันหรือเปล่า? กกต. ให้คำตอบว่า “จะเสนอกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรในช่วงเวลาของเดือนมีนาคมที่เหลือ” แต่ถ้าหากไม่ทันการแล้วมีความจำเป็นจริงๆที่จะต้องเลือกตั้ง คงต้องออกระเบียบตามมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ.. . เรื่องของมาตรา 7 ตามรัฐธรรมนูญ นับเป็นประเด็นที่น่าคิดว่าจะเป็นระเบียบอย่างไรของ กกต. อันนี้เป็นข้อพิจารณาที่คนรู้กฎหมายอาจคาดไม่ได้สำหรับการตีความในอนาคตของตุลาการทั้งหลาย ซึ่งเป็นไปได้ที่ระเบียบตามมาตรา 7 มีโอกาสกลายเป็น “กับดัก” ที่อาจถูกงัดมาใช้เมื่อทราบผลการเลือกตั้งซึ่งบังเอิญไม่เป็นไปตามธง ธงดังกล่าวกับระเบียบ ถ้าหาก กกต. จะออกมาเป็นเช่นนั้น ได้ถูก “บางฝ่าย” ตั้งเป็นข้อสังเกตเอาไว้ ซึ่งอาจมีผลเป็นปัญหาที่สามารถ “พลิกผลของการเลือกตั้ง” แม้กระทั่งลงท้ายแล้วสำหรับการเลือกตั้งที่ “เพื่อไทย” กลายเป็นพรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุดจะต้องผิดหวังได้...เป็นไปเพราะการตีความของคณะตุลาการภิวัฒน์ ท่านสามารถเล็งเห็นได้ถึงสารพัดการกระทำที่ผิดกฎหมายเลือกตั้ง แม้แต่การผิดหรือกระทำมิชอบโดย กกต. ทุกอย่างในประเทศนี้คงเป็นไปได้เสียแทบทั้งนั้น! ข้างต้นนั้นเรากล่าวถึงเงื่อนไขและเวลาถ้าจะเกิดการเลือกตั้งขึ้นมา แล้วก็ไม่รู้เหมือนกันถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นทั้ง “ก่อน-ระหว่าง-หลัง” การเลือกตั้งจะมีปรากฏการณ์ที่แปลกประหลาดหรือเปล่า โดยเฉพาะถ้าพรรคการเมืองในโอวาทของผู้บงการพ่ายแพ้ รับรองย่อมมีโอกาสสูงที่จะเกิดปรากฏการณ์อันแปลกประหลาด เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่สามารถคาดหมายกันได้ล่วงหน้า เพียงแต่ต้องเล็งให้ออกว่าหมากแต้มหรือหวยจะมีผลปรากฏออกมาอย่างไรเท่านั้นเอง? แน่นอนทีเดียวสำหรับการประกาศยุบสภาของนายอภิสิทธิ์ “คงมีเหตุผลเบื้องลึก” ซึ่งต้องเป็นแรงผลักดันที่ไม่ปรกติอย่างชัดเจน คนในพรรคประชาธิปัตย์เองก็เปิดเผยถึงสถานการณ์ความไม่ปรกติในช่วงเวลานี้ อาจต้องจับตามองเป็นพิเศษตั้งแต่ภายหลังเหตุการณ์อภิปรายไม่ไว้วางใจและถอดถอนรัฐมนตรีจบสิ้นลงไปแล้ว ในการวิเคราะห์ถึงสถานการณ์ที่ไม่ปรกติ เริ่มจากการวิเคราะห์จำแนกให้เห็นกลุ่มอำนาจที่เคลื่อนไหวอยู่ในสังคมปัจจุบัน โดยกลุ่มแรกสนับสนุนแนวคิดในการคืนอำนาจให้กับประชาชน กลุ่มที่สอง “ไม่ต้องการให้ยุบสภา” แต่อยากให้รัฐบาลดิ้นรนเพื่ออยู่จนครบวาระ สำหรับกลุ่มแนวความคิดที่สาม “ไม่ต้องการให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น” กลุ่มแนวคิดที่สามนี้ยังแยกย่อยความเห็นต่างในด้านยุทธวิธีอีกต่างหาก คือมีกลุ่มที่เรียกร้องให้เกิดการปฏิวัติรัฐประหารเพื่อล้างบางนักการเมืองและพรรคการเมืองที่มีอยู่ในระบบให้หมดเกลี้ยง (กลุ่มแนวคิดนี้อาจตั้งข้อสังเกตให้สอดคล้องได้กับแนวทางการเคลื่อนไหวของม็อบเสื้อเหลือง) ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นการวิเคราะห์และเปิดเผยของนายเทพไท เสนพงศ์ เห็นว่าเป็นกลุ่มที่จะล่อให้มีการปฏิวัติ จากนั้นก็จะมีการต่อต้านโดยใช้พลังมวลชน เพราะอยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างในเชิงระบอบ...ข้อนี้คงต้องไปประเมินกระแสข่าวและการวิเคราะห์ในแบบเทพไทดูเอาเองว่าเชื่อถือกันได้ขนาดไหน? เนื่องจากรายการวิเคราะห์หลายครั้งของ “เต๊บไต” มักหนีไม่พ้นการครอบหมวกให้กับพรรคเพื่อไทยและขบวนการของคนเสื้อแดง? อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สามารถฟันธงได้อย่างแน่นอนเห็นจะเป็นทรรศนะและความคิดของกลุ่มอิทธิพลในอำนาจบงการเบื้องหลังที่อยากผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในบ้านเมือง “ย่อมจะมีแตกแยกเป็นหลายกลุ่ม” นี่เป็นข้อมูลซึ่งน่าจะยืนยันได้ถึง “การมีปัญหาเรื่องเอกภาพทางความคิด” เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วน่าจะทำให้เชื่อได้ว่า “ชนชั้นนำและกลุ่มที่อยากกระทำรัฐประหาร” เห็นจะมีปัญหาปวดเศียรเวียนเกล้าอยู่ในตัวเองค่อนข้างมาก... โดยสมมุติฐานเช่นนี้จึงทำให้การผลักดันด้วยวิธีรุนแรง เช่น การผลักดันให้เกิดการปฏิวัติรัฐประหารเห็นจะไม่ใช่เรื่องอะไรที่คิดได้อย่างใจ...เป็นไปในทำนองคุณมีสิทธิที่จะคิด มีสิทธิที่จะฝันหรือหวัง หากแต่หนทางปฏิบัตินั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง? มีหลายคนที่เห็นด้วยกับการประกาศยุบสภาของนายอภิสิทธิ์น่าจะ “มีสิ่งซ่อนเร้นอยู่” เป็นไปได้ตั้งแต่ประกาศให้เป็นกันชนป้องกันรัฐประหารหรือหนีการรัฐประหาร กระทั่งอาจเป็น “ทางลวง” เพื่อให้สาธารณชนหลงเชื่อว่าจะมีการเลือกตั้ง แล้วเมื่อถึงที่สุดภายใต้ทฤษฎีสมคบคิดคงมีความพยายามที่จะแทรกแผนอื่นๆเข้ามา “เพื่อไม่ให้มีการเลือกตั้ง” บางคนอ่านเกมถึงการสร้างความรุนแรงซึ่งก็สร้างกันไม่ยากนัก จากนั้นก็ใช้บิดเป็นเงื่อนไขอื่นสำหรับแก้ปัญหา เป็นการสร้างข้ออ้างที่ชอบธรรมจนจำเป็นต้องเลื่อนระยะเวลาของการเลือกตั้งออกไปอีก... เทคนิคและสูตรเช่นนี้เป็นเรื่องถนัดของนายอภิสิทธิ์อยู่แล้ว แต่เมื่อเอามาใช้ในเที่ยวนี้ไม่รู้ยังจะได้ผลอีกหรือไม่ ประการสำคัญนั้น “คลื่นแทรกเหนือประชาธิปัตย์” ก็มีอยู่และพร้อมจะเข้าแทรกได้ตลอดเวลา โรคแทรกซ้อนตรงนี้บอกได้ยากเหมือนกัน “มันคืออะไรและใช้เทคนิคอย่างไร?” แม้นายอภิสิทธิ์จะไม่พึงใจก็พูดไม่ออกเหมือนกัน? ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 304 วันที่ 26 มีนาคม – 1 เมษายน พ.ศ. 2554 หน้า 11 คอลัมน์ คิดทวนเข็มนาฬิกา โดย บาเรือน จันทรขินะ |
dailyworldtoday.com
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)