วันอาทิตย์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2554


การแสดงของอำนาจผ่านศีลธรรมการต่อสู้กับพวกคนดีมีศีลธรรม!


       รายงาน(วันสุข)
         จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้ วันสุข
         ปีที่ 6 ฉบับที่ 310 ประจำวัน จันทร์ ที่ 16 พฤษภาคม 2011
         โดย เรืองยศ จันทรคีรี
           
        http://www.dailyworldtoday.com/newsblank.php?news_id=10710

         มิติที่จะพิจารณาปัญหารากเหง้าความขัดแย้งในสังคมไทย แม้จะมาจาก “เหตุอันเดียวกัน” แต่เราก็อาจพูดได้หลายอย่าง ประการหนึ่งซึ่งน่าพิจารณาถึงและมีความน่าสนใจเห็นจะได้แก่ การป่าวประกาศเกี่ยวกับวาทกรรมแห่งศีลธรรมที่ “กลุ่มต่อต้านระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย”  ได้หยิบยก ขึ้นมาเป็นอาวุธเพื่อรักษาอำนาจกับโครงสร้างของการผูกขาดที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดเอาไว้...

ศีลธรรมไม่ว่าจะเป็นในศาสนาใดๆคงเป็นถ้อยคำทางภาษาที่ “สูงส่งและศักดิ์สิทธิ์” อาจเปรียบให้เป็นพระคาถา ซึ่งสามารถสะกดหรือยับยั้งการกล้ำกรายของเหล่าภูตผีปิศาจร้ายอย่างได้ผลชะงัด เพราะเมื่อภาพของศีลธรรมถูกแสดงตนหรือชูหราขึ้นมาจากฝ่ายหนึ่ง ยิ่งตอกย้ำให้สังคมเห็นถึงภาพที่งดงามในความศักดิ์สิทธิ์นั้น นามของศีลธรรมจึงกลายเป็นความชอบธรรมต่อการยอมรับจากสังคมที่ “หิวกระหายความดีและความมีศีลธรรมอันประเสริฐ”


แน่นอนสำหรับอีกฟาก ไม่ว่าจะมีระดับศีลธรรมหรือความดีงามแค่ไหน ถ้าหากเกิดไปขัดแย้งกับกลุ่มที่มีภาพของศีลธรรมดีกว่า ฝ่ายซึ่งภาพพจน์แห่งศีลธรรมไม่หนักแน่นเพียงพอก็มีโอกาสสูงที่จะพ่ายแพ้ต้องยอมจำนน อาจกลายเป็นผู้ไม่ชอบธรรมในความรู้สึกของสังคมที่ขาดศีลธรรมอย่างจริงใจ?
เกริ่นเรื่องนี้เพื่อชี้ให้เห็นถึง “นัยและความหมายของศีลธรรม” คือศีลธรรมที่เป็นภาษากับความหมายในภาคปฏิบัติจริงเป็นความแตกต่าง หากแต่เราไม่มีมาตรวัดทางศีลธรรมเหมือนกับการตรวจวัดความเย็นและความร้อนด้วย



เทอร์โมมิเตอร์ ความจริงเป็นเรื่องเฉพาะตนที่รู้ได้เฉพาะตัวว่าเรานั้นมีศีลธรรมอยู่มากน้อยแค่ไหน? เป็นศีลธรรมจอมปลอมหรือไม่?

โดยแนวทางอธิบายเช่นนี้ศีลธรรมและความดีคงมิใช่ภาษาและวาทกรรม เป็นเรื่องที่ต้องปฏิบัติล้วนๆ ตรงนี้จึงเป็นช่องว่าง เพราะสังคมส่วนใหญ่มักจะใช้มาตรวัดของศีลธรรมด้วยภาพพจน์กับการแสดงออกภายนอกอย่างฉาบฉวย ลืมคำนึงไปถึงข้อเท็จจริงที่คนอสัตย์ก็สามารถแสดงให้สังคมเข้าใจถึงความมีศีลธรรมของตน การแสดงออกทางศีลธรรมให้เห็นด้วยวิธีการต่างๆจึงไม่ได้หมายถึงว่าผู้แสดงคนนั้นๆจะมีศีลธรรมหรือความดีงามอยู่จริง?


ประเด็นตรงนี้ชี้ให้เราเห็นถึงศีลธรรมฉบับจอมปลอมที่อาจได้รับความเคารพ หรือหลงเชื่อจากสังคมได้ สมมุติฐานหนึ่งที่ถูกหยิบยกเข้ามาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อรักษาและช่วงชิงทางอำนาจ เป็นเรื่องซึ่งอำพรางซ่อนเร้นได้อย่างน่ากลัว เห็นจะได้แก่การใช้ศีลธรรมกับศาสนาเข้ามาเป็นเครื่องมือด้านการเมืองและรักษาอำนาจ นี่เป็นต้นตอสำคัญซึ่งเกิดขึ้นในยุโรปยุคกลางที่มีการล่าแม่มด...
บรรดากลุ่มที่ปลุกสร้างวาทกรรม “ความหวาดผวาแม่มด” (The Great Witch Panic) ต่างก็เป็นพวกนักบวชในศาสนาคริสต์ขณะนั้น ซึ่งมีการแสดงออกให้สังคมเห็นถึง “การมีศีลธรรมอันประเสริฐและศักดิ์สิทธิ์” ตัวอย่างเหล่านี้มิได้มีเฉพาะในยุคกลาง ศีลธรรมจึงนอกจากจะเป็นคำสอนหลักที่ให้มนุษยชาติสามารถดำรงคงอยู่กันได้ด้วยความสันติ ยังมีด้านมืดที่ถูกซ่อนเร้นห่อหุ้มด้วยอำนาจ บ่อยครั้งในนามของศีลธรรมย่อมถูกใช้เป็นอาวุธในการประหัตประหารหรือทำลายล้างกันได้อย่างไม่ยากเย็น ในสังคมไทยยุคปัจจุบัน ศีลธรรมและศาสนากับความดีงามในเชิงวาทกรรม รวมทั้งการผลิตซ้ำเหมือนเวทีนิทรรศการทางอำนาจแฝง ก็ถูกใช้เข้ามาเป็นปัจจัยหลักต่อการกำกับถึงทิศทางของผู้คน ให้ตกอยู่ภายใต้การครอบงำของอำนาจซึ่งผูกขาดในทุกบริบท กระทั่งบริบทด้านวัฒนธรรม ความเชื่อ จิตสำนึก


ทฤษฎีการครองอำนาจนำ (Hegemony) ของอันโตนิโอ กรัมชี  สามารถอธิบายถึงนัยเหล่านี้ได้ดี ไม่แปลกอะไรนักที่บ่อยครั้งการสังหารผู้ประท้วงคัดค้านในด้านการเมืองถูกกระทำผ่านพลังอำนาจที่แท้จริงในนามข้ออ้างทาง “อุดมการณ์” (Ideology)


จากแนวคิด Hegemony การที่จะครองอำนาจนำตรึงในสังคมเอาไว้ จึงต้องดัดแปลงเพื่อการปลูกสร้างด้านวาทกรรม เป็นการหล่อหลอมในเชิงอุดมการณ์ ครอบงำทัศนคติและมุมมองที่สำคัญในการมองโลก มองประเทศหรือมองสังคม แม้แต่การมองกลุ่มผู้ใช้อำนาจ ซึ่งความคิดและสัญลักษณ์ต่างๆที่ประกอบขึ้นมาเป็นอุดมการณ์ เพื่อเหตุผลในการคงอยู่ของระบบผูกขาดทั้งอำนาจกับผลประโยชน์ จะสามารถรักษาตัวเองเอาไว้ได้เหนียวแน่น ปิดบังด้านมืดเอาไว้ ก็ต้องกระทำการผลิตซ้ำที่ลึกซึ้งมากกว่า “การชี้นำ” หากเป็นครอบงำ?


“อุดมการณ์” นี่เองจึงเป็นตัวช่วยให้ผู้ปกครองสามารถปกครองพลเมืองของตนได้อย่างราบรื่น หรืออย่างน้อยที่สุดก็เป็นที่ยอมรับของพลเมือง (เป็นการยอมรับด้วยใจไม่ใช่ด้วยการบังคับ/ใช้กำลัง) ดังนั้น นอกเหนือจากการปกครองด้วยอำนาจที่ได้มาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แม้บางครั้งเป็นการใช้กระบวนการทางกฎหมายที่ตัวเองกำหนดขึ้นไปปล้นเพื่อสร้างความชอบธรรมเช่นนั้นขึ้นมา สิ่งที่สำคัญเห็นจะหนีไม่พ้น “ภาพลักษณ์แห่งความดีงามและความมีศีลธรรมชนิดสุดๆ”


หันมาพิจารณาย้อนหาสังคมไทย เราคงต้องยอมรับถึงกระบวนการที่ครอบงำและหล่อหลอมเป็นอุดมการณ์อยู่ในโครงสร้างส่วนบน (Superstructure) ซึ่งประกอบด้วยสถาบันทางการเมือง สถาบันอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับพลเมือง วัฒนธรรม และความเชื่อ ได้ถูกผสมผสานผ่านวาทกรรมจนปลูกฝังเอาไว้อย่างเหนียวแน่นและเต็มไปด้วยความสลับซับซ้อนอย่างยิ่ง เป็นการตรึงอยู่ใน Superstructure ซึ่งสลัดให้หลุดได้ไม่ง่ายนัก


สังคมไทยมีลักษณะพิเศษในกระบวนการ Hegemony ที่อาจลึกซึ้งและวกวนมากกว่าสังคมในประเทศอินเดียด้วยซ้ำไป เป็นถึงขั้นจิตสำนึกที่ยอมจำนนและศิโรราบแบบไม่ต้องการเหตุผล ดำรงไปด้วยความเชื่อเป็นด้านหลัก รวมจนทั้งการจำนนสวามิภักดิ์ต่อวาทกรรมหรืออุดมการณ์ของศีลธรรมกับความดีงามที่อาจไม่ได้มีอยู่จริง เป็นเพียงการแสดงเพื่อให้เห็นภาพของศีลธรรมกับความดีว่ามีอยู่เท่านั้น?


กลุ่มคนกลุ่มหนึ่งจึงใช้กระบวนการด้านประชาสัมพันธ์ในขั้นลึกซึ้งจนถึงวิธีปฏิบัติการด้านจิตวิทยามวลชน บ่อยครั้งยังเป็นระดับ “propaganda” เรายังอาจวิเคราะห์ได้ถึงความเป็นจริงที่ผ่านมาจากอดีตอันยาวนาน ชี้ให้เห็นว่า “สังคมไทยมีระบอบการปกครองแบบอำนาจนิยมบนวิถีของการล้างสมอง” คนไทยจึงมีศึกหลายด้านที่เผชิญหน้าอยู่ ด่านสำคัญของศึกคงได้แก่ “วิธีคิด” เพราะระบบความคิดของสังคมที่ปลูกฝังเอาไว้เฉพาะความเชื่อ จึงถอยห่างออกไปจากเหตุผล ข้อมูลหรือข้อเท็จจริง


เราคงปฏิเสธไม่ได้สำหรับชุดของความคิดและสัญลักษณ์ที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นอุดมการณ์ที่ใช้ในการปกครองสังคมไทย กลายเป็นปัจจัยที่มีพลังและเป็นตัวกำหนดโครงสร้างของสังคมเป็นด้านหลัก  เป็นกระบวนการขัดเกลาคนไทยมาจนตราบกระทั่งทุกวัน?


โดยทรรศนะส่วนตัวของผม เห็นว่าในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมานี้เอง คนไทยจำนวนไม่น้อยมีความฉลาดมากขึ้นที่จะคิดและแยกแยะส่วนผสมอันปนเปรอะในอุดมการณ์ครอบงำทางสังคม ซึ่งเป็นเนื้อในแท้จริงของ “วิถีอำนาจนิยมตามลัทธิการครองความเป็นเจ้า” วลีที่ว่า “ตาสว่างทั้งแผ่นดิน” อาจหยิบมาใช้อธิบายได้ถึงการปลดเปลื้องพันธนาการที่รกรุงรังในการผูกมัดสังคมตรึงตราสังเอาไว้ แรงขับเคลื่อนในฝ่ายประชาธิปไตยกำลังดำเนินมาถึงด่านสุดท้ายในสนามแม่เหล็กของการครอบงำ...การทำความเข้าใจกับศีลธรรมและความจอมปลอมที่ถูกใช้รักษาอำนาจ รวมถึงการมองภาพ “พวกคนดีมีศีลธรรมให้แทงทะลุ” สิ่งเหล่านี้ย่อมเป็นเรื่องสำคัญทั้งสิ้น...


สังคมไทยได้เดินมาถึงจุดสุดท้ายเพื่อกระทำสังคายนาหาคำตอบจากความดีและศีลธรรมที่แท้จริง เพื่อลบล้างศีลธรรมฉบับเดิมแห่งการแสดงที่ผูกอยู่กับอำนาจ โดยใช้ผ้าดำปิดดวงตาผู้คนเอาไว้ทั้งแผ่นดิน?



ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 
ฉบับ 310 วันที่ 14 -20 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 หน้า 15 
คอลัมน์ กรีดกระบี่บนสายธาร โดย เรืองยศ  จันทรคีรี
http://redusala.blogspot.com

วาระซ่อนเร้นปัญหาไทย-กัมพูชา

       
       รายงาน(วันสุข)
         จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้ วันสุข
         ปีที่ 6 ฉบับที่ 310 ประจำวัน จันทร์ ที่ 16 พฤษภาคม 2011
         โดย ถนอมศรี จันทร์ทอง
           http://www.dailyworldtoday.com/newsblank.php?news_id=10709

         มหากาพย์ “ปราสาทพระวิหาร” ระหว่างไทย-กัมพูชากลายเป็นประเด็นร้อนและบานปลายเข้าไปทุกขณะ ล่าสุดแม้เสร็จสิ้นการประชุมผู้นำ 3 ฝ่ายคือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีไทย สมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา โดยมีประธานาธิบดีซูซิโล บัมบัง ยุดโดโยโน ผู้นำอินโดนีเซีย เป็นผู้ประสานงานเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาความขัดแย้ง ระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 18 ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 8 พ.ค. ที่ผ่านมา แต่ท้ายที่สุดก็ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ มิหนำซ้ำกัมพูชาเองกลับประกาศกร้าวและปฏิเสธข้อเสนอของไทยที่ให้ถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่พิพาท ซึ่งเรื่องนี้ ผศ.ดร.พิบูลย์พงศ์ พูนประสิทธิ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอทางออกได้อย่างน่าสนใจ

ผศ.ดร.พิบูลย์พงศ์เห็นว่าปัญหาข้อพิพาทปราสาทพระวิหารระหว่างไทย-กัมพูชานั้น คิดว่ากัมพูชาย่อมไม่อยากให้มีการเจรจาระดับทวิภาคี เพราะรู้ดีว่าจะทำให้เสียเปรียบประเทศไทยจากการที่เป็นประเทศที่มีศักยภาพน้อยกว่า ดังนั้น จึงพยายามทุกวิถีทางที่จะนำเรื่องนี้เข้าสู่ระดับอินเตอร์ เพราะสามารถที่จะล็อบบี้ได้ ทั้งนี้ อย่าลืมว่าจีนซึ่งมีผลประโยชน์ในกัมพูชาต้องสนับสนุนเขา รัสเซียที่เป็นประเทศคอมมิวนิสต์เหมือนกันที่มองไปในทางสอดคล้องกับจีน นอกจากนี้ยังมีประเทศฝรั่งเศส อดีตเจ้าอาณานิคม ซึ่งเป็นเมืองแม่ของกัมพูชามาก่อน
“ประเทศเหล่านี้คือ 3 เสียงในองค์การสหประชาชาติที่อยู่ในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เหลือแค่สหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ดังนั้น ถ้าเรื่องเข้าสู่ระดับนานาชาติถือว่าประเทศไทยอยู่ในภาวะที่เสียเปรียบ”


เพราะฉะนั้นหากยังดื้อดึงจะเจรจาแบบ 2 ฝ่ายอีกต่อไป สิ่งที่ออกไปข้างนอกก็จะบ่งบอกว่าประเทศไทยมีอะไรซ่อนเร้นหรือไม่ ทำไมถึงปิดไม่ให้คนรู้ ส่วนกัมพูชาต้องการให้ประเทศอื่นรู้ว่ามีการยิงกัน ขณะที่ไทยบอกว่าไม่ได้เริ่ม แต่ก็ปิดไม่ให้ใครมาสังเกตการณ์ แล้วจะเชื่ออะไรได้ ถึงแม้จะเป็นความจริง วันหนึ่งเราจะถูกแรงกดดันจากต่างประเทศว่าไทยควรยอมให้ประเทศอื่นเข้าไปสังเกตการณ์


ใช่ คุณบอกว่าไม่ได้เริ่ม แต่ผมจะเชื่อคุณได้อย่างไร แน่นอนว่าทหารคุณก็ต้องบอกว่าไม่ได้เริ่ม หนังสือพิมพ์คุณก็ต้องบอกว่าไม่ได้เริ่ม แต่ทำไมไม่ยอมให้คนต่างชาติเข้ามาสังเกตการณ์ ทำไมกัมพูชาจึงยอมให้ต่างชาติเข้าสังเกตการณ์ แล้วเขาบอกว่าไม่ได้เริ่ม ซึ่งเมื่อถึงจุดๆหนึ่งประเทศไทยจะอยู่ตรงนี้ไม่ได้
ตรงนี้ผมคิดว่าเราน่าจะพยายามหาต่างประเทศที่ค่อนข้างสนับสนุนประเทศไทย อาจเป็นอเมริกา แต่อเมริกาก็บอกแล้วว่าไม่อยากเข้ามายุ่ง หรืออาจเป็นฟิลิปปินส์ หรือประเทศอื่นๆที่เราคิดว่าไม่ได้เป็นฝ่ายกัมพูชาเข้ามาเป็นผู้สังเกตการณ์ ถ้าเกิดตรงนั้นจริงๆอย่างน้อยก็จะบอกได้ว่านี่ไงเราให้ประเทศที่สามเข้ามาสังเกตการณ์แล้วนะ แต่เป็นประเทศที่เราไว้ใจมากขึ้น เพราะถ้าเรายังขืนไทยๆๆอย่างเดียว ในสายตาคนไทยเราเข้าใจ แต่ในสายตาต่างประเทศใครจะเข้าใจ


อย่างอเมริกาทำไมเราไม่เชิญเขามาดู ผมคิดว่าถ้าเรามั่นใจว่าไม่ใช่คนเริ่มยิง ทำไมเราไม่เชิญเขาเข้ามาดู เสียงอเมริกาค่อนข้างดัง และค่อนข้างสนิทกับเรา ดีกับเรา ทูตของเขาก็มีสัมพันธไมตรีที่ดีกับเรา ทำไมไม่เชิญทูตให้ไปดูว่าเหตุการณ์เป็นอย่างนี้ เขาคงไม่อยากจะดู แต่อย่างน้อยก็แสดงว่าเราต้องการประเทศที่เป็นกลางมาออบเซิร์ฟตามความเป็นจริง ผมเชื่อว่าอเมริกาจะทำ
แต่ที่ผ่านมาเราไม่เชิญอเมริกามา ทำให้มองว่าเป็นเพราะประเทศไทยกลัวอะไรหรือไม่ มีความขัดแย้งภายในหรือไม่ หรือกลัวความเป็นจริงบางอย่างหรือไม่ ผมคิดว่าตรงนี้ถ้าเราสามารถอธิบายได้และมีประเทศอย่างอเมริกาซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจเข้ามา อย่างน้อยแม้จะไม่เข้ามาเป็นตัวกลาง แต่เข้ามาสังเกตการณ์เล็กน้อยว่าเป็นอย่างที่เราพูด หากทำได้ผมเชื่อว่าจะแก้ปัญหาได้ และประเทศไทยจะกลาย เป็นคนยิงเกมที่ชนะกัมพูชา คือเอาอเมริกาเข้าไปสังเกตการณ์ ไม่ต้องให้อเมริกามาเข้าข้างไทยก็ได้



ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 310 
วันที่ 14 -20 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 หน้า 20 
คอลัมน์ คนการเมือง โดย ถนอมศรี จันทร์ทอง
http://redusala.blogspot.com

ทหารกับความเป็นกลางทางการเมือง
http://www.dailyworldtoday.com/newsblank.php?news_id=10715


       รายงาน(วันสุข)
         จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้ วันสุข
         ปีที่ 6 ฉบับที่ 310 ประจำวัน จันทร์ ที่ 16 พฤษภาคม 2011
         โดย ชายชาติ ชื่นประชา
         สัญญาณการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมาส่อแววว่าจะมีการเลือกตั้งในอนาคต เนื่องจากทั้งรัฐบาลและศาลรัฐธรรมนูญได้ทำตามเงื่อนไขที่ได้ประกาศไว้ต่อสาธารณชน

อย่างไรก็ตาม เมื่อเริ่มจะมีการเลือกตั้งหลายส่วนก็กังวลว่าผู้มีอำนาจแต่ละฝ่ายทำท่าจะใช้กลเม็ดต่างๆให้ชนะการเลือกตั้ง แต่ฝ่ายที่ถืออำนาจตัวจริงกลับไม่แสดงท่าทีที่จะสนับสนุนหรือทำให้การเลือกตั้งมีความยุติธรรม กลับยังหาวิธีการที่จะรักษาอำนาจไว้ด้วยวิธีพิเศษต่างๆ


สัญญาณที่พอจับทางได้ว่ากลุ่มคนเหล่านี้เริ่มต้นมานานแล้วคือ การใช้กรณีชาตินิยมเพื่อปลุกระดมความรักชาติของคนไทย เช่น พยายามทำให้เกิดสงครามย่อยๆกับกัมพูชา ถ้าพิจารณาให้ดีแล้วปัญหาไม่น่าจะเกิดจากกัมพูชาเป็นฝ่ายเริ่มต้น เพราะตัวแปรต่างๆของฝั่งกัมพูชามีลักษณะคงที่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสถานะของสมเด็จฮุน เซน ที่ปกครองบ้านเมืองยาวนานจนแทบจะเป็นเผด็จการไปแล้ว ก็เป็นเรื่องปรกติหรือเป็นที่รับรู้กัน


ในขณะนี้กัมพูชายังไม่ถึงเวลาที่จะเลือกตั้ง จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องหาเรื่องกับประเทศไทยเพื่อสร้างคะแนนนิยม นอกจากนั้นเหตุผลที่จะสนับสนุนให้นายพลฮุน มาเน็ต ลูกชายของสมเด็จฮุน เซน ดำรงตำแหน่งสูงขึ้นก็ไม่เป็นตัวแปรที่มีอิทธิพลที่จะก่อศึกกับไทย เพราะหากคำนวณหรือเปรียบเทียบศักยภาพของกำลังกันแล้วกัมพูชาไม่น่าจะเปิดฉากใช้กำลังทหารกับไทย
เท่ากับว่าตัวแปรฝั่งกัมพูชาไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง จึงสรุปได้ว่าฝ่ายไทยต่างหาก โดยกลุ่มอีลิตพยายามปลุกสำนึกประชาชนด้วยการใช้ข้อพิพาททางทหาร หรือความรุนแรงน้องๆสงคราม เพื่อปลุกระดมความรู้สึกชาตินิยมของคนไทยให้เกิดขึ้น เผื่อจะสามารถดึงเอาเป็นเครื่องมือพิเศษเพื่อต่อยอดและขยายอำนาจให้รัฐบาลคงอยู่ต่อไปโดยไม่ต้องมีการเลือกตั้ง เพราะรู้ว่าเลือกตั้งอย่างไรก็แพ้พรรคคนเสื้อแดง เพราะทำโพลแล้วหลายระดับ รวมถึงข้อเท็จจริงในสังคมที่หลายฝ่ายต่างสังเกตเห็น


ผู้เขียนเคยย้ำว่าฝ่ายอีลิตเคยใช้เครื่องมือนี้มาแล้วแต่ก็ประสบความล้มเหลวซ้ำซาก เพราะประชาชนชาวไทยไม่ว่าจะสีอะไรวันนี้ฉลาดและต่างปฏิเสธสงครามหรือการรบพุ่งกัน เนื่องจากผู้คนอยู่ในระบอบเสรีประชาธิปไตยมานาน มีการรับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างรวดเร็ว และเคยชินกับวิถีชีวิตแบบโลกเสรีแบบทุนนิยม จึงไม่น่าจะตกระกำลำบากทำให้ตัวเองหรือประเทศชาติเข้าสู่วังวนความขัดแย้งรุนแรงระดับสงครามอีก


จำได้ว่าตอนเกิดเหตุการณ์รุนแรง ชาวบ้านในพื้นที่ต่างไม่พอใจ ไม่ว่าจะฝ่ายไหนหรือใครก็ตามที่เป็นตัวการก่อให้เกิดความรุนแรง และยังปฏิเสธการแก้ปัญหาด้วยการใช้กำลัง โลกวันนี้เปลี่ยนไปแล้ว


วลีเด็ดของผู้บัญชาการทหารบกที่กล่าวว่าจะยึดประเทศกัมพูชาเสียก็ได้หากรัฐบาลสั่งมา จึงไม่เกิดผลทางจิตวิทยาอย่างที่คนพูดอยากให้เกิด เพราะไม่ได้สร้างภาพความเป็นฮีโร่เลย แต่กลับสะท้อนความไร้สามัญสำนึกหรือก้าวไม่ทันโลกของคนที่ถือว่าเป็นผู้ใหญ่ของบ้านเมือง ซึ่งคำพูดแต่ละคำอาจจุดไฟความตึงเครียดระหว่างประเทศขึ้นได้


ในยุคของผู้บัญชาการทหารบกคนนี้แหละที่ดูเหมือนทหารจะถอยหลังกลับไปสู่ภาพ ลักษณ์โบราณเดิมๆ ทั้งกรณีไม่รู้กาลเทศะเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศดังกล่าว รวมถึงการส่งสัญญาณหรือไม่ห้ามปรามลูกน้องที่ออกมาตบเท้าแสดงพลัง ซึ่งถูกโลกสากลตีความว่าเป็นการคุกคามสภาวะประชาธิปไตย เพราะในต่างประเทศ ทหารในฐานะเป็นองค์กรไม่มีสิทธิแสดงตนว่าจะเลือกข้างอยู่ฟากฝั่งใดทางการเมือง


การที่เป็นกองกำลังถืออาวุธจึงต้องยืนตรงกลางเท่านั้น ประชาชนต่างหากที่จะตัดสินใจเลือกข้างทางการเมือง ดังนั้น ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร ทหารต้องกลับไปเป็นคนกลางรับใช้ประชาชนในบั้นปลาย


บทบาทของทหารวันนี้จึงหมิ่นเหม่ต่อการสูญเสียความเป็นกลาง และถ้าหากยังดำรงจุดยืนเลือกข้างอยู่เช่นนี้ทหารก็จะเกิดอคติ เมื่อแนวโน้มว่าสังคมฝั่งตรงข้ามกับที่ทหารสนับสนุนมีแววแข็งแกร่งขึ้น จึงกระโดดไปร่วมวงสกัดกั้นและใช้เครื่องมือต่างๆช่วยเหลือฝ่ายที่สนับสนุน เพราะเกรงว่าจะแพ้แล้วจะถูกกวาดล้างหรือสูญเสียผลประโยชน์ จึงยิ่งทำให้ต้องพยายามหาทางรักษาอำนาจเดิมไว้ให้นานที่สุด


เหตุการณ์เช่นนี้แหละทำให้กองทัพเข้าไปเกี่ยวพันกับการเมืองแบบสมัยโบราณอย่างถอนตัวไม่ขึ้น


ครั้งที่แล้วมีความพยายามจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหารจนสำเร็จมาแล้ว ครั้งนี้ยังไม่รู้ว่าผู้มีอำนาจจะใช้ทหารเพื่อรักษาฐานการเมืองในรูปแบบไหนอีก แต่จะใช้เครื่องมือเดิมๆและใช้กำลังทหารปฏิวัติน่าจะพ้นสมัยไปแล้ว เพราะถ้าหากทำก็คงสำเร็จ แต่วันรุ่งขึ้นจะพาประเทศเดินต่อไปอย่างไร ทางที่ดีผู้นำทหารต้องใช้สติปัญญาทบทวนและเลือกทางเดินเพื่อให้บทบาทของกองทัพมีความเป็นสากลและสนับสนุนประชาธิปไตย ปล่อยให้ประชาชนตัดสินใจเลือกทางเดินกันเองดีกว่า


ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 310 

วันที่ 14-20 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 หน้า 10 
คอลัมน์ ทหารใหม่วันนี้ โดย ชายชาติ ชื่นประชา
2011-05-16
http://redusala.blogspot.com


สเต็มเซลล์กับศีลธรรมการตีความของยุคสมัย?
http://www.dailyworldtoday.com/newsblank.php?news_id=10714

       รายงาน(วันสุข)
         จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้ วันสุข
         ปีที่ 6 ฉบับที่ 310 ประจำวัน จันทร์ ที่ 16 พฤษภาคม 2011
         โดย เรียวจันทร์ (ปฏักทอง)
         สเต็มเซลล์ (Stem Cell) หรือเซลล์ต้นกำเนิดที่พร้อมจะเจริญเติบโต แบ่งตัวเองขึ้นมาใหม่ แล้วเปลี่ยนแปลงเพื่อไปทำหน้าที่อย่างอื่นอย่างใด คุณสมบัติเด่นเช่นนี้จึงเป็นปัจจัยที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกให้ความสนใจกันมากขึ้น โดยเฉพาะเป็นเซลล์ซึ่งไม่ได้ทำหน้าที่เฉพาะเจาะจง หากสามารถเปลี่ยนไปเป็นเซลล์ทำหน้าที่เฉพาะเจาะจงได้...

ในการสร้างสเต็มเซลล์สามารถเกิดขึ้นได้มาจากแหล่งหนึ่งแหล่งใด ตั้งแต่เป็นสเต็มเซลล์จากตัวอ่อน จากร่างกาย หรือสเต็มเซลล์ซึ่งได้มาด้วยกระบวนการสร้างเซลล์ให้เข้าคู่กับสารพันธุกรรมของผู้ป่วย โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการปฏิสนธิ?


ในช่วงปี 2503 ถึงประมาณ 2513 นับเป็นยุคแรกเริ่มที่นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสเต็มเซลล์จากร่างกายมนุษย์ โดยใช้เนื้อเยื่อที่โตเต็มวัย แล้วนำสเต็มเซลล์เหล่านั้นไปใช้ทดลองเพื่อรักษาผู้ป่วยเด็กที่เป็นโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องชนิดปฐมภูมิเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2511 ต่อจากนั้นนักวิทยา ศาสตร์เดินหน้าอย่างไม่หยุดยั้งในการทำความเข้าใจ ศึกษาวิจัยเพิ่มเติมองค์ความรู้สำหรับอธิบายถึงคุณสมบัติพื้นฐานของสเต็มเซลล์ ซึ่งเป็นเซลล์ที่สามารถแบ่งตัวเองขึ้นมาใหม่ได้ตลอดเวลาแบบต่อเนื่อง นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาลงลึกในปัจจัยต่างๆที่ควบคุมการแบ่งตัวเองขึ้นมาใหม่ของเซลล์เหล่านั้น


คำตอบประการหนึ่งที่สรุปได้อย่างชัดเจนก็คือ ความเข้าใจในกระบวนการแบ่งตัวของเซลล์ รวมทั้งเซลล์ตัวอ่อนหรือเอ็มบริโอ.และในการแบ่งตัวอันผิดปรกติของเซลล์มะเร็ง ข้อมูลเหล่านี้ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เริ่มเพาะเลี้ยงสเต็มเซลล์ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในห้องปฏิบัติการ เป็นไปตามประสบการณ์ด้านเทคนิคที่พัฒนาขึ้นเรื่อยๆตามลำดับเวลา...


ตรงจุดนี้เองที่นักวิทยาศาสตร์เล็งเห็นความสำคัญที่จะเอาสเต็มเซลล์เข้ามาใช้ประโยชน์ในด้านการแพทย์ ด้วยวัตถุประสงค์รักษาอาการผู้ป่วยอันสืบเนื่องมาจากเซลล์เนื้อเยื่อ หรืออวัยวะที่เกิดความเสียหายและเสื่อมสภาพลงไป โดยหวังให้สเต็มเซลล์เข้าไปพัฒนากลายเป็นอวัยวะที่ต้องการได้ จากนี้อีกเช่นกันที่มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสเต็มเซลล์อย่างแพร่หลายออกไปเป็นเวลายาวนานกว่า 20 ปี


นักวิทยาศาสตร์ได้ใช้ความพยายามเต็มที่สำหรับการแยกสเต็มเซลล์จากตัวอ่อนของหนู เอามาเลี้ยงในห้องทดลองปฏิบัติการครั้งแล้วครั้งเล่า จนในที่สุดก็ประสบความสำเร็จ สามารถแสดงให้เห็นว่าสเต็มเซลล์ของมนุษย์ที่แยกมาได้และเลี้ยงในห้องปฏิบัติการจนสามารถพัฒนากลายไปเป็นเซลล์ชนิดอื่นได้จริง?


ปี 2541 นักวิทยาศาสตร์ยังสามารถเพาะสเต็มเซลล์ของตัวอ่อนมนุษย์ รวมทั้งเซลล์สืบพันธุ์ แล้วยังสร้างสายพันธุ์ของเซลล์ขึ้นมาได้สำเร็จ จนปี 2544 สเต็มเซลล์ตัวอ่อนได้ถูกนำไปเพาะเป็นเซลล์เม็ดเลือด ตรงนี้ถือเป็นอีกความก้าวหน้าของการวิจัยครั้งสำคัญ


ความก้าวหน้าในงานวิจัยสเต็มเซลล์หรือเซลล์ต้นกำเนิดคงดำเนินไปแบบไม่หยุดยั้ง อีกเหตุการณ์สำคัญได้อุบัติขึ้นคือ เมื่อปี 2547 นักวิทยาศาสตร์ชาวเกาหลีใต้ “วาง วู-ซุค” สามารถโคลนตัวอ่อนมนุษย์ 30 ตัว แล้วใช้เวลาเพียงไม่กี่วันก็พัฒนาตัวอ่อนเหล่านั้นต่อไป อีกปีถัดมาคือปี 2548 นักวิทยาศาสตร์เกาหลีใต้ในกลุ่มทำงานเดิมก็พัฒนาก้าวหน้าจนปรับปรุงและสามารถจับเอาสเต็มเซลล์เข้ากับคนไข้แต่ละรายได้สำเร็จ.. ถึงจุดนี้เรื่องของสเต็มเซลล์ได้ขยายตัวไปสู่การรักษาโรคอื่นๆได้กว้างขวาง ด้วยคุณสมบัติของเซลล์ตัวอ่อน ซึ่งสามารถพัฒนากลายเป็นเซลล์ทำหน้าที่เป็นหลอดเลือด มีการนำไปใช้รักษาโรคที่เกิดจากการอุดตันของหลอดเลือดได้เกือบทุกโรค


ถึงอย่างนั้นก็ตาม ปัจจุบันก็มีข้อสงสัยในวงการวิทยาศาสตร์อยู่อีกหลายประการ เป็นข้อสงสัยเกี่ยวกับกลไกการเปลี่ยนเพื่อไปทำหน้าที่เฉพาะของสเต็มเซลล์ องค์ความรู้ในขณะนี้ยังต้องวิจัยกันต่อไปอีกพอสมควร...ความหมายตรงนี้ก็คือ การรักษาด้วยสเต็มเซลล์น่าจะมีผลข้างเคียงบางประการ จึงมีสิ่งที่ต้องวิจัยเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดองค์ความรู้ที่มีความสมบูรณ์มากกว่านี้...


แหล่งของสเต็มเซลล์จะได้มาจากเนื้อเยื่อและอวัยวะในร่างกายมนุษย์หลายชนิด เป็นต้นว่าสเต็มเซลล์ในระบบเลือดก็จะเป็นวัตถุดิบสำหรับสร้างเซลล์เม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง เกล็ดเลือด นักวิทยาศาสตร์ได้เปลี่ยนความเชื่อใหม่ จากเดิมที่เคยเชื่อว่าบรรดาอวัยวะหรือเนื้อเยื่อใดก็ตามไม่สามารถที่จะเปลี่ยนไปเป็นเซลล์ชนิดอื่นได้ในอวัยวะหรือเนื้อเยื่อต่างชนิดกันนั้น การวิจัยที่ผ่านมาในระยะหลังได้แสดงให้เห็นว่า “สเต็มเซลล์ในเนื้อเยื่อชนิดหนึ่งก็สามารถเปลี่ยนไปเป็นเซลล์ในเนื้อเยื่ออีกชนิดได้ เช่น เซลล์ในระบบเลือดเปลี่ยนไปเป็นเซลล์ประสาทหรือตับได้ เซลล์ในไขกระดูกก็เปลี่ยนเป็นเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจได้”


นักวิทยาศาสตร์อาจหาสเต็มเซลล์ได้จากแหล่งแรกคือร่างกายของมนุษย์เรานั่นเอง เช่น จากระบบเลือด ระบบประสาท สำหรับแหล่งที่สองจะมาจาก “การแท้ง” ส่วนแหล่งที่สามเป็นสเต็มเซลล์ซึ่งมาจากตัวอ่อนของมนุษย์ที่มีอายุไม่กี่วัน เป็นเอ็มบริโอของการปฏิสนธิ เกิดจากไข่ปฏิสนธิกับเซลล์อสุจิ ทั้งภายนอกหรือภายในร่างกาย จากนั้นจะนำไปย้ายฝากจนเกิดเด็กหลอดแก้ว กระบวนการทำโคลนนิ่งก็สามารถจัดการเรื่องนี้ได้ สำหรับการโคลนนิ่งนั้นนักวิทยาศาสตร์จะเอาตัวอ่อนในระยะ “บลาสโตซิสต์” เอาไปพัฒนาเป็นสเต็มเซลล์ในห้องปฏิบัติการได้ทันที!


ปัญหาการใช้ประโยชน์จากสเต็มเซลล์จึงเป็นเรื่องที่ยังถกเถียงกันอยู่ หลายคนเห็นว่าไม่อาจเลี่ยงประเด็นของศีลธรรมไปได้ง่ายๆ วงการวิทยาศาสตร์เรื่องสเต็มเซลล์กำลังเผชิญหน้ากับปัญหาในการกำหนดว่า “ชีวิตเริ่มต้นเมื่อไร?” สิ่งเหล่านี้มีนัยสำคัญทั้งต่อประเด็นด้านวิทยาศาสตร์และศาสนา?


หลายคนเห็นว่าทั้งตัวอ่อนมนุษย์ ทารกในครรภ์มารดาที่คลอดออกมา สิ่งเหล่านี้ล้วนมีชีวิตทั้งสิ้น เพียงแต่จะต่างกันที่อายุ จึงควรได้รับความคุ้มครองภายใต้เงื่อนไขเดียวกัน นี่เป็นความเห็นที่มองว่า “ชีวิตเริ่มต้นขึ้นทันทีเมื่ออสุจิรวมตัวเข้ากับไข่” ดังนั้น ภาพทารกที่เสียชีวิตด้วยการทำแท้งของแม่ย่อมถือเป็นโศกนาฏกรรมอันน่าเศร้าสลดจากพฤติกรรมของมนุษย์...เราคงจะจำกันได้กับคดีศพทารก 2,002  ศพ ซึ่งตกเป็นข่าวและคดีสำคัญเกี่ยวกับวัดไผ่เงินโชตนาราม สภาพเหล่านี้เกิดจากการทำแท้งเถื่อนทั้งสิ้น?


แต่ในการใช้สเต็มเซลล์จากตัวอ่อนคงไม่เกี่ยวกับการทำแท้งเถื่อนหรือทำอย่างถูกกฎหมาย ในทางศาสนาพุทธเห็นจะเป็น “ปาณาติปาตา เวรมณี สิกขาฯ” โดยไม่มีข้อยกเว้นอะไร เรื่องนี้จึงเป็นความขัดแย้งกันอยู่ไม่น้อยระหว่างศีลธรรมกับความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ของมนุษย์ แม้ผู้สนับสนุนการใช้ประโยชน์ในการทำสเต็มเซลล์จากตัวอ่อนจะเห็นว่า “การทิ้งเอ็มบริโอที่เหลือใช้ในคลินิกเจริญพันธุ์ไปเฉยๆ นับเป็นการเสียทรัพยากรโดยเปล่าประโยชน์ เพราะถ้าไม่ใช้ทรัพยากรเหล่านั้นนักวิทยาศาสตร์ก็สามารถนำสเต็มเซลล์มาใส่ในมดลูกได้อยู่ดี


อย่างไรก็ตาม ปฏิกิริยาทางศีลธรรมของสาธารณชนได้ทำให้นักวิทยาศาสตร์พยายามค้นหาสเต็มเซลล์จากแหล่งอื่นเข้ามาทดแทน วิทยาศาสตร์จึงเพิ่มเติมสนับสนุนการวิจัยศึกษาสเต็มเซลล์ทั้งสองชนิดไปพร้อมกัน...


มนุษย์โดยทั่วไปมักต่อต้านและขัดขืนในชะตากรรมสุดท้ายได้แก่ “ความตาย” ปัญหาของสังขารและโรคภัยไข้เจ็บจึงมีการฝากความหวังเอาไว้กับการรักษาด้วยสเต็มเซลล์ที่จะต่อยืดอายุออกไปได้ แต่การรักษาทุกอย่างในขณะที่ผลวิจัยยังไม่ครบสมบูรณ์ย่อมมีผลข้างเคียงได้เช่นกัน บางทีความก้าวหน้าเกี่ยวกับการรักษา หรือฉีดสเต็มเซลล์คงต้องท้าทายกับวิถีแห่งวิบากกรรมตามคำสั่งสอนในทางศาสนา?


ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 310 

วันที่ 14-20 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 หน้า 11 
คอลัมน์ คิดทวนเข็มนาฬิกา โดย เรียวจันทร์  (ปฏักทอง)
2011-05-16
http://redusala.blogspot.com


เรื่องที่‘ไพร่’ต้องไม่ลืม!
 
http://www.dailyworldtoday.com/newsblank.php?news_id=10713
        รายงาน(วันสุข)
         จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้ วันสุข
         ปีที่ 6 ฉบับที่ 310 ประจำวัน จันทร์ ที่ 16 พฤษภาคม 2011
         โดย วิษณุ บุญมารัตน์
         วันนี้มีชาวอำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม เสียโอกาสกู้เงินเพื่อซื้อบ้านหลังแรก ดอกเบี้ย 0% ระยะเวลา 2 ปี ของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เพราะไม่มีสาขาของ ธอส. ที่ธาตุพนม ทำไม ส.ส. จึงไม่ทำหน้าที่นำความเจริญมาสู่ชาวธาตุพนม ทั้งที่ชาวบ้านได้ร้องเรียกผ่านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้มีการตั้งสาขา ธอส. มาตลอด

ชาวธาตุพนมจึงขอฝากความหวังกับ ส.ส.ไพจิต ศรีวรขาน พรรคเพื่อไทย ขอให้ทำหน้าที่นำความเจริญมาสู่ชาวธาตุพนมด้วย เพราะชาวบ้านต้องการสร้างบ้านใหม่เพื่อให้ได้มาตรฐานเท่ากับประเทศสหรัฐอเมริกา
นายกฯอภิสิทธิ์ประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมแล้ว หลังจากนี้แต่ละพรรคการเมืองคงต้องวุ่นวายกับการเตรียมการเลือกตั้งในวันที่ 3 กรกฎาคมนี้


แม้จะมีโพลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนออกมาว่าการเลือกตั้งในครั้งนี้พรรคประชาธิปัตย์เป็นรองพรรคเพื่อไทย แต่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีและเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันว่าพรรคประชาธิปัตย์จะชนะการเลือกตั้งได้เป็นรัฐบาลอีกครั้งแน่นอน


แล้วในที่สุดก็มีผู้มาช่วยยืนยันความน่าจะเป็นไปได้ที่พรรคเพื่อไทยจะได้เสียงสนับสนุนมากกว่า เมื่อนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊คของตน กล่าวถึงการที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ หนึ่งในแกนนำคนเสื้อแดงและครอบครัว ไปรับประทานอาหารที่ร้านอาหารเดียวกันกับตน โดยแสดงความเห็นว่า


“...ทำให้เราอดนึกขำไม่ได้ว่าคนที่เรียกตัวเองว่าไพร่ก็ไม่ได้ใช้ชีวิตแตกต่างไปจากคนที่เขาเรียกว่าเป็นพวกอำมาตย์สักเท่าใดนัก...”


นี่เองจึงเป็นเหตุให้เกิดการโพสต์ข้อความตอบโต้ระหว่างนายณัฐวุฒิกับนายกรณ์ จนกลายเป็นประเด็นที่สังคมนำมาวิพากษ์ถึงความเหมาะสม


แม้นายกรณ์จะออกมาปฏิเสธว่ามิได้ต้องการปลุกปั่นให้สังคมแตกแยก และไม่เคยเห็นว่าสังคมไทยมีความแตกต่างกัน แต่ข้อความที่ปรากฏในเฟซบุ๊คของนางวรกร จาติกวณิช ภรรยาของนายกรณ์ กลับสะท้อนให้เห็นถึงสิ่งที่คิดอยู่ในใจให้สังคมรับรู้ได้อย่างชัดเจน


“ณ ร้านอาหารในซอยทองหล่อคืนนี้ อำมาตย์และอำมาตย์หญิงแชร์เบียร์ไทย 1 ขวด ส่วนไพร่กับภรรยาดื่มไวน์ราคาแพง และมีพยาบาลตามมาดูแลลูก...”
หากเพียงแค่เสนาบดีกระทรวงการคลัง “นึกขำ” ที่ “ไพร่” ไม่ได้ใช้ชีวิตแตกต่างไปจาก “อำมาตย์” เหตุใดจึงต้องลงรายละเอียดถึงเครื่องดื่มที่ “ไพร่” สั่งมาดื่มด้วย


นิทานเรื่องนี้สอนให้นายกรณ์รู้ว่า ห้ามใครห้ามได้ แต่ภรรยาไซร้ อย่าได้พึงหวัง


นายสุเทพในฐานะเลขาธิการพรรคคงต้องกุมขมับอีกหลายครั้งกว่าการเลือกตั้งจะแล้วเสร็จ เพราะก่อนหน้านี้ก็มีเรื่องมารดาของนายศิริโชค โสภา คนสนิทนายกฯอภิสิทธิ์ และหลังจากเรื่องนี้แล้วยังจะมีเรื่องของใครในพรรคอีกเล่า
โลกออนไลน์ในปัจจุบันทำให้คำกล่าวที่ว่า “ถอนหายใจสะเทือนถึงดวงดาว” ดูท่าจะเป็นจริง


เพียงแสดงความคิดเห็นอะไรสักเล็กน้อยก็สามารถรับรู้กันได้แทบจะในทันทีและในวงกว้าง นับเป็นข้อดีประการหนึ่งที่สอนให้คนที่คิดจะเป็นใหญ่เป็นโตพึงกระทำสิ่งใดๆด้วยความระมัดระวังให้จงหนัก คิดถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นให้มาก อย่าใช้อารมณ์เหนือเหตุผล


เหมือนในครั้งนี้เชื่อว่าผู้ที่สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์หลายคนต้องไม่เห็นด้วยกับการโพสต์ข้อความของทั้งนายกรณ์และภริยา ที่แม้จะเป็นหน้าส่วนตัวก็ตาม แต่ได้เปิดเผยให้สาธารณชนรับทราบ เป็นการกระทบไปถึงบุคคลอื่นอย่างชัดเจน ทำให้เรื่องที่ไม่ควรเป็นประเด็นกลายเป็นตัวบั่นทอนความนิยมของพรรคลงไปอย่างไม่น่าเชื่อ


และจะกลายเป็นแรงปลุกเร้าให้กับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แดงทั้งแผ่นดิน ได้รวมพลังสร้างกระแสไพร่คืนชีพขึ้นมาอีกครั้ง ตอกย้ำความแตกต่างระหว่างชนชั้นที่ไม่เคยมีการกล่าวถึงเกือบ 80 ปีจนถึงเมื่อปีที่แล้วให้คุกรุ่นขึ้นมาอีกครั้ง


นับแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง เรามีนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลที่มาจากพลเรือนหลายราย ที่ได้รับการยกย่องเชิดชูอย่างยิ่งคือ นายปรีดี พนมยงค์ และนายชวน หลีกภัย ทำให้เราเชื่อกันว่าความแตกต่างทางชนชั้นหมดไปจากสังคมไทยแล้ว


การนำมากล่าวถึงอีกครั้งในเวที นปช. แดงทั้งแผ่นดิน เมื่อปีที่ผ่านมาจึงกลายเป็นการรื้อฟื้นความทรงจำในอดีตให้กลับมาอีกครั้ง แม้หลายฝ่ายจะไม่ยอมรับ ด้วยว่าเป็นการสร้างกระแสให้เกิดการแตกแยกในสังคม แต่การออกมากล่าวของเสนาบดีกระทรวงการคลังครั้งนี้กลายเป็นการตอกย้ำว่าความคิดดังกล่าวยังมีอยู่จริง


หากตราบใดที่ความคิดเรื่อง “อำมาตย์-ขุนนาง-ไพร่” ยังไม่หมดไปจากสังคมไทย ความแตกต่างทางชนชั้นก็ยังไม่สามารถขจัดไปได้ และความสามัคคีก็จะไม่เกิดขึ้น จึงไม่มีประโยชน์ที่จะเรียกร้องหาความสมานฉันท์


ดังนั้น ผู้ที่เรียกตนว่าเป็น “ไพร่” พึงจดจำก็คือ ให้รำลึกเสมอว่าตนเป็น “ไพร่” อย่าได้ยกชั้นเทียบ “อำมาตย์” ไม่ว่าจะเป็นการซื้อรถ ซื้อบ้าน ซื้อของตามห้างสรรพสินค้า รับประทานอาหาร การใช้ชีวิตหรือแสวงหาความสุขอื่นใด ต้องแสดงตนว่าเป็นคนยากจน ไม่มีอันจะกินอยู่ตลอดเวลา เพื่อรักษาคอนเซ็ปต์ของความเป็น “ไพร่” ให้ติดตัวตลอดไปแม้จะรวยล้นฟ้าเป็นมหาเศรษฐีติดอันดับโลก


และคนเป็น “ไพร่” จะไม่สามารถเปลี่ยนสถานะเป็น “อำมาตย์” ได้ ไม่ว่าจะอย่างไร


ขณะที่ “อำมาตย์” ก็จะไม่สามารถเปลี่ยนเป็น “ไพร่” ได้เช่นกัน แม้จะตกต่ำปานใดก็ตาม


แม้จะเจ็บแต่ก็ต้องจำและเจียม นายณัฐวุฒิและคนเสื้อแดงทั้งหลายรับทราบด้วย


ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 310 

วันที่ 14-20 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 หน้า 12 
คอลัมน์ หอคอยความคิด โดย วิษณุ บุญมารัตน์
2011-05-16
http://redusala.blogspot.com


‘คนบ้า’เท่านั้นที่สั่งฆ่าประชาชน
http://www.dailyworldtoday.com/newsblank.php?news_id=10716


       ฟังจากปาก
         จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้ วันสุข
         ปีที่ 6 ฉบับที่ 310 ประจำวัน จันทร์ ที่ 16 พฤษภาคม 2011
         โดย วัฒนา อ่อนกำปัง
         ผศ.ดร.จารุพรรณ กุลดิลก อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นักวิชาการรุ่นใหม่ที่กล้าก้าวออกมาถามหาความจริง ทวงความยุติธรรมให้กับคนเสื้อแดงที่ถูกไล่ล่าจากเงื้อมมือกลุ่มอำมาตย์ผ่านทางรัฐบาลเผด็จการ ซึ่งการต่อสู้เพื่อคนเสื้อแดงใกล้ความจริงหรือยัง ตรงนี้มีคำตอบ

1 ปีเหตุการณ์ราชประสงค์


1 ปี ประชาชนไม่ลืมเหตุการณ์การสังหารหมู่ในใจกลางเมืองกรุงเทพฯ ซึ่งฝ่ายรัฐสังหารเสร็จแล้วก็พยายามปกปิดกลบเกลื่อน ยืดเวลาในการสืบหาข้อเท็จจริง ตั้งคณะกรรมการต่างๆมากมาย เพื่อที่จะฟอกขาวให้ตัวเองในการฆาตกรรมประชาชน แต่ประชาชนจำนวนเรือนล้านไม่ลืมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากเห็นแล้วว่าระบอบเผด็จการไม่อยากให้เกิดการเลือกตั้ง ถึงขนาดลงทุนสังหารประชาชน


เพราะฉะนั้นคนที่รักประชาธิปไตย รักประชาชน ต้องให้มีการเลือกตั้ง แต่ตรงกันข้ามกับเผด็จการที่ตั้งใจไว้คือ พยายามไม่ให้เกิดการเลือกตั้ง ไม่คืนอำนาจให้กับประชาชน จึงทำให้เกิดกิจกรรมจนถึงวันนี้ที่จะไม่ให้ลืมเหตุการณ์ในวันนั้น เราจัดกิจกรรมต่อเนื่องมาตลอดจนครบ 365 วัน มีการไปเยี่ยมแกนนำที่ถูกจับกุมคุมขัง มีการทำกิจกรรมทางวิชาการ มีการเผยแพร่และให้ความรู้ในเรื่องกฎหมายมากขึ้น วันนี้คนเสื้อแดงและผู้รักประชาธิปไตยรู้กฎหมายในเรื่องรัฐธรรมนูญ ปัญหารัฐธรรมนูญ ปัญหาของระบบรัฐสภา กระบวนการยุติธรรม และพร้อมแล้วที่จะเข้าสู่การเลือกตั้ง
การตรวจสอบไม่มีอะไรคืบหน้า


การตรวจสอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมี 2 คณะใหญ่ๆที่อยู่ในสภาสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ ที่ทำการตรวจสอบสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย คือ 1.Human Rights Watch หน่วยงานเอ็นจีโอที่ทำงานคู่ขนานไปกับสหประชาชาติ และมีที่นั่งอยู่ในสภาสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติด้วย 2.Asian Human Rights Commission กรรมาธิการสิทธิมนุษยชนเอเชีย ซึ่งดูแลสิทธิมนุษยชนของคนทั้งเอเชีย


2 หน่วยงานนี้พูดตรงกันว่าประเทศไทยมีกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ไม่โปร่งใส มีการปกป้องฝ่ายรัฐซึ่งเป็นฆาตรกรสังหารประชาชนอย่างเลือดเย็น ซึ่งจากรายงานนี้เองทำให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง โกรธมาก แล้วกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติที่เป็นฝ่ายภูมิภาคเอเชีย เสนอให้สหประชาชาติขับกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนไทยออกจากสหประชาชาติ มีจดหมายเป็นเรื่องเป็นราว เพราะไม่ใส่ใจเหตุการณ์สังหารหมู่ที่ราชประสงค์


อ้างว่ามีการติดตามแต่ไม่ได้ส่งรายงาน


ความจริงแล้วกรรมาธิการไทยต้องส่งเรื่องไปที่ Asian Human Rights Commission เพื่อนำเข้าสู่สหประชาชาติใหญ่ แต่ไม่ได้รับ จะไปอ้างว่าทำแล้ว ไหนคือผล จะบอกว่าทำงานไม่เป็นก็ไม่ได้ เมื่อปรากฏเช่นนี้ก็ไม่สมควรที่จะเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชน ซึ่งตอนนี้ไทยมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง จะบอกทำงานไม่เป็นฟังไม่ขึ้น


สำหรับประเทศไทยมีนายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว เป็นประธานใน Human Rights Council คาดว่ามีความเกรงใจในสายสัมพันธ์ที่ยาวนาน ก็ไม่มีการทำหน้าที่เป็นปากเสียงให้กับประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ตรงนี้ต้องถามว่ายังทำหน้าที่เพื่อประชาชนคนไทยอยู่หรือไม่ และตนเองเป็นประธาน เชื่อว่าจะมีเกียรติมีศักดิ์ศรีพอที่จะสละสิทธิ์ถ้าทำหน้าที่ไม่ได้


คดีคนเสื้อแดงติดคุกอย่างเดียว


เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องสองมาตรฐานที่ประเทศไทยโด่งดังมากในแง่กรณีศึกษาไปทั่วโลก ถ้าพิมพ์ไปในกูเกิลเรื่องดับเบิลสแตนดาร์ดก็จะขึ้นว่าไทยแลนด์เต็มไปหมด อันนี้เป็นเรื่องที่น่าอับอายมาก เราจะไม่ให้เกิดขึ้นอีก เสื้อแดงมีความอดทนมากในการที่จะไม่ตอบโต้ด้วยความรุนแรง ยังเชื่อว่าทุกวันนี้ประชาชนจะร่วมรับรู้ เรียนรู้ด้วยกันว่าเกิดอะไรขึ้นในประเทศไทย และจะไม่ทำให้เกิดขึ้นอีกเรื่องสองมาตรฐาน


อย่างน้อยคนที่ถูกจับติดคุกวันนี้โดยปราศจากหลักฐานที่แน่ชัด ความเห็นไม่ชัดเจนระหว่างทหารกับเจ้าหน้าที่ศาลากลาง ในแง่ข้อมูลตัวเลขก็ไม่ตรงกัน ควรที่จะให้สิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน เขาควรได้รับการประกันตัว เพื่อไปตระเตรียมข้อมูลไว้สู้คดีในศาล ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ต้องเคารพให้มาก แต่ก็ไม่ได้รับการประกันตัว เพราะเขาแค่เป็นผู้ที่ถูกกล่าวหา ยังไม่ถูกตัดสิน ทำไมต้องกักขังด้วยในเมื่อเขาไม่ได้หลบหนี ไม่ไปวุ่นวายกับพยานหลักฐาน
รัฐบาลเกลียดคนเสื้อแดง


คนเขาก็เห็นว่ารัฐบาลมีพฤติกรรมเกลียด กลัวกลุ่มคนเสื้อแดงมากเกินไป พฤติกรรมเช่นนี้จึงทำให้เกิดสองมาตรฐานขึ้น ถามว่าทำไมต้องเกลียดและกลัวคนเสื้อแดงมากขนาดนี้ ทั้งๆที่คนเหล่านี้เป็นประชาชนคนไทยเช่นเดียวกับคนอื่นๆ


ศาลอาญาระหว่างประเทศตอบรับอย่างไรบ้าง


ปัจจุบันไอซีซี (ศาลอาญาระหว่างประเทศ) ตอนนี้มีกรณีของลิเบียที่เข้ามาเร่งด่วน จึงทำให้บุคลากรไปทำเรื่องลิเบีย แต่อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องดีที่ประชาชนคนไทยจะได้รับมาตรฐานเดียวกันกับการพิจารณาที่ลิเบีย เพราะเรื่องเข้าสู่ศาลอาญาระหว่างประเทศแล้ว อย่างไรก็ตาม ทางต่างประเทศก็จะยึดถือตัวเอกสารเป็นหลักและจะไม่มีทางปล่อยละเลยไป จะมีการพิจารณาแน่นอนและเราก็จะได้มาตรฐานเดียวกับลิเบีย


บทบาทของนายธาริต


พฤติกรรมที่ผ่านมาของนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ได้แสดงพฤติกรรมซ้ำซากในการที่จะพยายามถอนประกันแกนนำ ขณะนี้รีบเร่งถอนประกันแกนนำจนลืมไปว่าไม่สามารถถอนประกันได้ในคนละตัวบทกฎหมาย คนละกรณี เพราะแกนนำได้รับการประกันตัวในกรณีก่อการร้าย คนที่รู้กฎหมายทั่วโลกรับทราบดีว่าไม่สามารถเอาอีกคดีหนึ่งไปถอนอีกคดีหนึ่งได้ ทำให้เห็นว่ามีเจตจำนงที่ไม่บริสุทธิ์ต่อการดำเนินคดีกับคนเสื้อแดง ไม่รู้ว่ามีเวรกรรมอะไรกับคุณจตุพร (พรหมพันธุ์) หรือเปล่า


คนเสื้อแดงจะได้รับความยุติธรรมที่แท้จริง


ไม่มีทางถ้าอำนาจรัฐยังอยู่ในมือคนที่ใช้อำนาจเกิน พูดภาษาชาวบ้านก็คือบ้าอำนาจ ก็ไม่มีวันที่จะเห็นแสงสว่างของความเป็นธรรม ก็หวังว่าอำนาจควรจะกลับคืนสู่ประชาชน และจะไม่เอาอำนาจไปอยู่ในมือของคนบ้าอีก


รัฐบาลบอกเป็นฝีมือของคนชุดดำ


รัฐบาลพยายามที่จะบิดเบือนหลายข้อมูลเหลือเกินกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น บางครั้งบอกว่าคนที่ตายนั้นเพราะคนชุดดำ หนักเข้าก็ว่าคนที่ตายวิ่งเข้าหากระสุนเอง ตอบกันคนละเรื่องคนละราว นิยายเรื่องคนชุดดำขอให้เลิกซะ บริเวณที่มีทหารอยู่ 80,000 นายจะไม่มีใครรู้เห็นเลยหรือ ไม่มีใครได้เบาะแสคนเสื้อดำเลย ก็เป็นนิยายของชายเสื้อดำที่รัฐบาลเขียนบทมา อยากบอกว่าประชาชนเบื่อที่จะรับฟังแล้ว อยากถามว่ามีอำนาจรัฐอยู่ในมือเต็มที่แล้วทำไมจับคนเสื้อดำไม่ได้ เขาเป็นใครเราก็อยากจะรู้


หลังเลือกตั้งจะมีการพูดถึงตรงนี้หรือไม่


แน่นอน วีรชนที่สูญเสียชีวิต บาดเจ็บ หรือสูญหาย ต้องได้รับการเยียวยา ครอบครัวต้องได้รับการดูแลต่อไปในอนาคต เพราะคนเหล่านี้คือวีรชน เขาเสียชีวิตเพื่อต้องการสร้างประชาธิปไตย ให้คุณค่าเรื่องความเป็นประชาชนของประเทศนี้ ตอกหมุดซะทีว่าต่อไปนี้จะไม่รัฐประหารอีก


มาตรฐานเสื้อแดงต่างกับเสื้อเหลือง


ยิ่งพูดก็ยิ่งช้ำใจว่าคุณค่าความเป็นคนทำไมต้องแตกต่างกันด้วย คนเสื้อแดงเรียกว่าอาสาสมัครที่มาสร้างประชาธิปไตย ถ้าไม่มีคนเหล่านี้รับรองว่าประเทศไทยยังมีรัฐประหารอีกซ้ำซาก และมีรัฐประหารมากที่สุดในโลก และรัฐธรรมนูญมากที่สุดในโลก เป็นเรื่องที่น่าอับอาย


6 ศพในวัดปทุมฯ


เป็นเรื่องที่รัฐบาลโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ออกอาการกลัวและไม่ยอมรับความจริง ถึงกับไล่ให้คณะกรรมการชุดนี้ไปหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีการลอบสังหารประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี้ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐแทน ก็ว่าไปนั่น


เขาว่ามีการยิงจากวัดปทุมฯใส่ทหาร


ก็ว่าไป หลักฐานไม่มีหรอก ลองบอกว่าให้ไปดูที่คณะ คอป. ของนายคณิต ซึ่งได้ข้อสรุปเหมือนกันว่าฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐเป็นฝ่ายที่มีอาวุธ ก็ชัดเจน


ผบ.ทบ. บอกอย่าบีบให้จับปืนอีก


ไม่มีใครสามารถบังคับให้ใครจับปืนได้ มีแต่คนที่คิดจะจับปืนด้วยตัวเอง คิดจะประหัตประหารประชาชนด้วยตนเอง ตรงนี้ไม่มีใครบีบบังคับได้ถ้าจิตใจเข้มแข็ง กล้าหาญ ไม่มีใครกำหนดบงการให้เรากระทำผิดได้ วันนี้เชื่อว่าทหารหลายท่านได้เห็นประชาชน และเห็นว่า ณ วันนี้กองทัพเสียหายไปมาก ไม่สามารถนำพาให้กองทัพมีเกียรติมีศักดิ์ศรีในระดับสากลได้ ในหลายๆท่านก็เริ่มจะไม่เอาด้วย พอกันทีกับการที่จะนำทหารซึ่งถูกฝึกมาให้ใช้กำจัดอริราชศัตรูมายุ่งกับพลเรือนหรือการเมือง


จะล้มการเลือกตั้งถ้าเพื่อไทยชนะ


อยากบอกว่าไม่กลัวแน่นอน ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคตประชาชนสู้แน่นอน คราวนี้เพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นของประเทศ เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ต้องการให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ เพราะฉะนั้นคนส่วนน้อยที่เชื่อว่ามีอยู่ไม่กี่คนมีพลังไม่พอที่จะทำอะไรร้ายๆ และล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอีกครั้ง


ประเทศไทยหลังการเลือกตั้ง


ประชาชนก็จะเรียนรู้มากขึ้น เป็นเรื่องซึ่งต้องอธิบายว่าเป็นกระบวนการที่ทุกประเทศต้องผ่านกันแล้วทั้งสิ้น เพื่อที่จะให้เห็นปัญหาของบ้านเมืองที่แท้จริง อาจมีการซื้อเสียงก็ต้องพยายามไม่ให้เกิดขึ้น หรือซื้อเสียงไม่สำเร็จ มีการพยายามแทรกแซงจัดตั้งรัฐบาล กระบวนการสังเกตการเลือกตั้ง จะฉายความรู้ตรงนี้ออกมาให้ประชาชนเรียนรู้กันทั้งหมด สิ่งเหล่านี้เมื่อถูกพูดถึง เรียนรู้แล้ว ก็จะรู้ว่าใครเป็นผู้กระทำผิด


คนเสื้อแดงจะก้าวต่อไปอย่างไร


คนเสื้อแดงเห็นตรงกันว่าจะต้องตอกหมุดว่าประชาชนคือคุณค่าสำคัญที่สุดของประเทศชาติ อันนี้คือประสบความสำเร็จขั้นที่ 1 ส่วนขั้นที่ 2 ก็คือ กลับเข้าสู่ระบบการเลือกตั้งอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม ในที่สุดก็จะได้ตัวแทนที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการคัดสรรเข้าไปแก้กฎหมาย เข้าไปแก้รัฐธรรมนูญ ให้สัดส่วนของกฎหมายแสดงถึงความเป็นประชาธิปไตย ขณะที่มวลชนก็จะตื่นตัวรับรู้ หากประเทศไทยพ้นวิกฤตไปได้คนเสื้อแดงก็จะถูกมองเห็นเป็นคนที่มีคุณภาพระดับภูมิภาค และคนจะถามคนเสื้อแดงถึงอนาคตว่าภูมิภาคเอเชียจะก้าวต่อไปอย่างไร


ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 310 

วันที่ 14-20 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 หน้า 18 คอลัมน์ ฟังจากปาก โดย วัฒนา อ่อนกำปัง
2011-05-16
http://redusala.blogspot.com

โต้ลอยแพ‘จตุพร-นิสิต’พท.ยันช่วยสู้คดีเต็มที่


       เรื่องจากปก
         จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้
         ปีที่ 12 ฉบับที่ 3054 ประจำวัน จันทร์ ที่ 16 พฤษภาคม 2011

            http://www.dailyworldtoday.com/newsblank.php?news_id=10674

         แกนนำเพื่อไทยโต้กระแสข่าวลอยแพ “จตุพร-นิสิต” ยืนยันให้ความช่วยเหลือทางคดีตามสิทธิที่มีอยู่อย่างเต็มที่ แต่ต้องแยกระหว่างกระบวนการทางกฎหมายกับการทำกิจกรรมของพรรค อธิบดีกรมราชทัณฑ์แนะหากต้องการออกจากเรือนจำไปยื่นใบสมัคร ส.ส. ญาติหรือทนายความต้องขออนุญาตจากศาลก่อน เผยทั้งสองคนทำใจรับสภาพได้มากขึ้นแม้จะเครียดบ้างแต่น้อยกว่าช่วงแรก

นายชาติชาย สุทธิกลม อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ระบุว่า หากนายจตุพร พรหมพันธุ์ และนายนิสิต สินธุไพร แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แดงทั้งแผ่นดิน ที่ถูกถอนการประกันตัวประสงค์จะออกจากเรือนจำไปยื่นใบสมัคร ส.ส. ต้องทำเรื่องขออนุญาตจากศาล หากศาลอนุญาตจึงสามารถออกไปสมัครได้


“เจ้าหน้าที่พร้อมนำทั้งสองคนไปสมัคร ส.ส. หากว่าได้รับอนุญาตจากศาล โดยจะวางกำลังรักษาความปลอดภัยตามความเหมาะสม ส่วนเรื่องชุดที่จะแต่งไปยื่นใบสมัครก็แล้วแต่ความต้องการของผู้ต้องหา” นายชาติชายกล่าวและว่า กรมราชทัณฑ์มีหน้าที่ทำตามคำสั่งศาล ดังนั้น หากจะออกไปยื่นใบสมัคร ส.ส. ทนายความหรือญาติต้องไปร้องต่อศาลเอง


นายชาติชายเชื่อว่า ขณะนี้นายจตุพรและนายนิสิตปรับตัวให้เข้ากับการใช้ชีวิตในเรือนจำได้แล้ว อาการเครียดน้องลงกว่าช่วงแรก แม้บางครั้งจะยังดูเครียดอยู่บ้างแต่ไม่พบความผิดปรกติ


นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี แกนนำพรรคเพื่อไทย ยืนยันว่า พรรคเพื่อไทยไม่ได้ลอยแพนายจตุพรและนายนิสิต แต่การทำงานของพรรคกับเรื่องคดีความต้องแยกออกจากกัน


“พรรคไม่เคยลอยแพใคร เราให้การช่วยเหลือทุกคนด้านคดีความ โดยจัดหาทนายให้แต่ไม่สามารถช่วยจากผิดให้เป็นถูกได้ เพราะทุกอย่างต้องว่ากันไปตามกระบวนการยุติธรรม กรณีของนายจตุพรและนายนิสิตนั้นต้องแยกเป็น 2 ส่วนคือ เรื่องถูกถอนประกันเป็นคดีก่อการร้ายที่ศาลเห็นว่าทำผิดเงื่อนไข แต่เรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพยังไม่ได้ถูกตั้งข้อกล่าวหา ทุกคดีทั้งสองคนมีสิทธิต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรม”


********************************
http://redusala.blogspot.com


*‘สมยศ’คิดฆ่าตัวตายในเรือนจำ


       เรื่องจากปก
         จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้
         ปีที่ 12 ฉบับที่ 3054 ประจำวัน จันทร์ ที่ 16 พฤษภาคม 2011
           http://www.dailyworldtoday.com/newsblank.php?news_id=10673
         “สมยศ” เผยผ่านทนายความเคยคิดฆ่าตัวตายในเรือนจำช่วงที่เข้ามาอยู่ใหม่ๆ เพราะทำใจไม่ได้ที่ตกเป็นเหยื่อของการทำลายล้างทางการเมืองโดยใช้ข้ออ้างผิดมาตรา 112 แต่ได้รับการปลอบใจจากผู้คุมและกำลังใจจากเพื่อนที่ไปเยี่ยม ทำให้ต้องรักษาชีวิตเพื่อรออิสรภาพ ระบุการที่ศาลไม่ให้ประกันตัวด้วยเหตุผลคดีมีอัตราโทษสูงเกรงว่าจะหลบหนีเท่ากับเป็นการตัดสินความผิดไว้ล่วงหน้า เชื่อถูกจับเพราะเป็นหัวขบวนล่า 10,000 รายชื่อเพื่อยื่นสภาแก้ไขมาตรา 112 หวังจะมีผู้สานต่อจนประสบความสำเร็จ

นายสุวิทย์ ทองนวล ทนายความนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ถ่ายทอดความในใจของนายสมยศที่เปิดเผยผ่านกรงขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยระบุถึงที่มาของการถูกดำเนินคดีว่า ผมเป็นบรรณาธิการบริหารนิตยสาร Voice of Taksin ซึ่งเป็นสื่อกลางทางด้านความคิด การแสดงความคิดเห็น เป็นปากเสียงสำหรับผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรมในสังคมทุกชนชั้น เป็นสื่ออิสระที่เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้แสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่


ถูกตีความผิดมาตรา 112


มีนักเขียนใช้นามแฝงว่า “จิตร พลจันทร์” ได้เขียนบทความส่งมาให้ประจำทุกเดือน ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจึงมีการตีพิมพ์อย่างต่อเนื่องทุกฉบับ ไม่ปรากฏว่ามีปัญหาแง่มุมทางกฎหมายจึงปล่อยให้มีการนำตีพิมพ์อย่างต่อเนื่องเป็นปรกติ จนกระทั่งถึงเดือน ก.พ. และ มี.ค. 2553 บทความของ “จิตร พลจันทร์” บางท่อนถูกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นำมาตีความว่าเข้าข่ายมีความผิดตามมาตรา 112


ข่ายความผิดมาตรา 112 เกินขอบเขต


“ผมนึกไม่ถึงเลยว่ามาตรา 112 จะมีการนำมาตีความ ขยายความจนเกินขอบเขต ผมเคยวิพากษ์วิจารณ์มาตรา 112 อย่างเปิดเผยมาแล้วว่า เป็นกฎหมายที่กลายเป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งและทำลายล้างทางการเมือง บัดนี้มาตรา 112 ได้กลายเป็นอาวุธฆ่าผมในฐานะเหยื่อ แต่คงไม่ใช่รายสุดท้าย มาตรา 112 ชี้ชัดเจนแล้วว่าเป็นเครื่องมือในการลิดรอนสิทธิ เสรีภาพ การแสดงความคิดเห็น การวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมือง ทำให้สังคมไทยตกอยู่ในสภาพมืดมน เงียบงัน และหวาดกลัวเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น สื่อมวลชนทั้งหมดจึงหลีกเลี่ยงจะนำเสนอข่าวหรือความคิดเห็นในประเด็นที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์”


ยันไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับ “ทักษิณ”


นายสมยศระบุว่า การทำหน้าที่สื่อมวลชนด้วยความกล้าหาญของ Voice of Taksin ทำให้ชนชั้นปกครองเกลียดชังและใช้วิธีสารพัดในการทำลาย Voice of Taksin ให้หมดไป ขอยืนยันว่า Voice of Taksin ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับอดีตนายยกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เลย เป็นเพียงชื่อทางการตลาด เพราะชื่อนี้ขายได้ มีคนหลายหมื่นคนติดตามอ่าน มียอดขายดีมากโดยพิมพ์ครั้งละไม่ต่ำกว่า 25,000-30,000 เล่ม


ทำสื่อเสนอความจริงอีกแง่มุม


“สำหรับ พ.ต.ท.ทักษิณผมถือว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมทางการเมือง เราจึงควรนำเสนอความจริงในอีกมุมมองหนึ่งที่แตกต่างไปจากสื่อกระแสหลักทั่วไป อันที่จริงรัฐบาลสั่งปิดนิตยสาร Voice of Taksin ไปแล้วเมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2553 ตำรวจบุกเข้ามาจับตัวผมพร้อมยึดรูปภาพเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อวันที่ 10 เม.ย. กับ 19 พ.ค. 2553 และเอาตัวผมไปขังไว้ที่ค่ายทหารม้าแล้ว ผมเลิกผลิต Voice of Taksin ไปแล้ว คราวนั้นเสียหายถึง 600,000 บาท พอผมหลุดพ้นจากค่ายทหารม้ามาทำนิตยสาร Red Power ทำได้ 5 เล่มก็ถูกสั่งปิดโรงพิมพ์ เจ้าของโรงพิมพ์ต้องเสียหายร่วม 10 ล้านบาท ผมเองก็ไม่สบายใจที่เป็นเหตุทำให้เขาต้องเสียหาย ผมพยายามทำเล่ม 6 ต่อเพื่อที่จะชดเชยช่วยเจ้าของโรงพิมพ์ด้วยสามัญสำนึกและคุณธรรมที่จะต้องช่วยเหลือเขาบ้าง แต่ต่อมาก็ถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เป็นข้อหาร้ายแรงที่สุดถึงขนาดไม่ให้ประกันตัว จึงช่วยอะไรเขาไม่ได้”


ตั้งคำถามทำไมไม่จับกุมก่อนหน้านี้


นายสมยศกล่าวว่า หลังศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ได้เปิดเผยเรื่องผังล้มเจ้าในช่วงการชุมนุมของคนเสื้อแดง ดีเอสไอไปสอบสวนทีมงาน Voice of Taksin หลายคน จนกระทั่งขออนุมัติหมายจับเมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2554 ส่วนตัวไม่ทราบเรื่องหมายจับและใช้ชีวิตปรกติ ทำนิตยสาร Red Power ออกมาหลายฉบับ ยังมีการจัดแถลงข่าวในนามกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย ไปขึ้นเวทีปราศรัยหลายแห่งแต่ไม่ถูกจับกุม กระทั่งวันที่พาคณะท่องเที่ยวชาวไทยไปเที่ยวนครวัด ประเทศกัมพูชา ในวันที่ 30 เม.ย. ที่ผ่านมาจึงถูกจับ
จับที่ชายแดนเพื่อไม่ให้ประกันตัว


“ผมไม่ได้คิดจะหนี เพราะถ้าหนีคงไม่ไปยื่นหนังสือเดินทางกับเจ้าหน้าที่ตรวจหนังสือเดินทางที่ด่านอรัญประเทศ ผมทำธุรกิจท่องเที่ยว พาคนไปนครวัดเป็นประจำทุกเดือน มีการโฆษณาในนิตยสาร Red Power ชัดเจน แต่ดีเอสไอใช้ข้ออ้างว่าจับกุมได้ขณะเดินทางไปต่างประเทศ กำลังจะหลบหนี เป็นเรื่องของการกลั่นแกล้งเพื่อใช้เป็นเหตุผลไม่ให้ประกันตัว”


นายสมยศกล่าวอีกว่า ที่ศาลไม่ให้ประกันตัวด้วยเหตุผลเหมือนกับผู้ต้องหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพรายอื่นคือ คดีมีอัตราโทษสูง เกรงว่าจะหลบหนี ถือว่าเป็นการตัดสินความผิดไว้ล่วงหน้า ซึ่งจะต่อสู้ให้ได้รับอิสรภาพอันพึงมีพึงได้ต่อไป


ทำใจก่อนแล้วสักวันต้องสิ้นอิสรภาพ


นายสมยศกล่าวถึงสภาพความเป็นอยู่ในเรือนจำว่า การสูญเสียอิสรภาพเป็นความทุกข์ทรมานทั้งร่างกายและจิตใจ ผมเป็นเพียงเหยื่อของระบบการเมือง การปกครองที่เลวร้าย เป็นเผด็จการ แม้ก่อนหน้านี่จะทำใจไว้แล้วว่ามีโอกาสต้องเข้ามาอยู่ในเรือนจำเพราะถูกกล่าวหาหลายคดีจากการต่อสู้ทางการเมือง เพื่อให้ได้สังคมที่ดีกว่าเดิม สังคมที่มีความเสมอภาคเท่าเทียม สังคมที่มีสิทธิเสรีภาพและเป็นประชาธิปไตย การถูกคุมขังทำให้เสียโอกาสในการทำมาหากินและต่อสู้เพื่อส่วนรวม


เคยคิดฆ่าตัวตายในเรือนจำ


“2-3 วันแรกในเรือนจำผมเศร้าหมอง กลางคืนนอนร้องไห้ กลางวันผมกินข้าวพร้อมน้ำตาอยู่หลายมื้อ ผมคิดจะฆ่าตัวตายในคุก เจ้าหน้าที่ในคุกคอยปลอบใจให้ข้อคิดหลายอย่าง กว่าจะสงบสติอารมณ์ได้ก็หลายวันในการปรับตัว และต้องทำจิตใจให้สงบหนักแน่นเพื่อรักษาชีวิตให้ยืนยาวต่อไป ผมมีโอกาสเจอคุณสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 เหมือนกัน ได้ช่วยเตือนสติให้รักษาชีวิตและรักษาลมหายใจไว้เพื่อรอคอยวันที่จะได้รับอิสรภาพ” นายสมยศกล่าวและว่า ทุกวันนี้ใช้ชีวิตเพื่อรอคอยวันจันทร์ถึงวันศุกร์ เพราะมีโอกาสได้พบญาติ ซึ่งทั้งหมดคือคนที่ร่วมต่อสู้อยู่เคียงบ่าเคียงไหล่ในการต่อต้านรัฐประหารและต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคม แม้ว่าได้พบหน้ากันผ่านกระจกหนาทึบ ได้คุยกันไม่กี่คำด้วยเวลาเพียง 20 นาที (11.00-11.20 น.) ก็ตาม แต่ทำให้มีชีวิตอยู่ได้เพื่อรอคอยอิสรภาพ หากไม่มี 20 นาทีพบญาติมิตรคงเหี่ยวเฉาหมดหวังในชีวิต และอาจฆ่าตัวตายได้


หวังมีคนสานต่อล่าหมื่นชื่อแก้ ม.112


นายสมยศแสดงความหวังว่า การสูญเสียอิสรภาพของผมและอีกหลายคนในข้อหาต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จะเป็นประกายไฟของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่แท้จริง และเพื่อความเป็นธรรมในสังคม หวังว่าประชาชนจะเข้าชื่อให้ได้ 10,000 ชื่อขึ้นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 163 เพื่อขอให้รัฐสภาแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 นี้คือการต่อสู้อย่างสันติวิธีที่ดีที่สุดในขณะนี้


“ผมเชื่อว่าผู้ที่สั่งจับกุมคงโกรธแค้นและไม่พอใจที่ผมเป็นหัวขบวนนำล่ารายชื่อให้แก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มาตรา112”


************************
http://redusala.blogspot.com

คำถามต่อความเป็นมนุษย์เสียงเต้น‘ความจริง’ในสังคมไทย


       รายงาน(วันสุข)
         จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้ วันสุข
         ปีที่ 6 ฉบับที่ 310 ประจำวัน จันทร์ ที่ 16 พฤษภาคม 2011
         โดย ทีมข่าวการเมือง
           http://www.dailyworldtoday.com/newsblank.php?news_id=10718
         นายชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเมธีวิจัยอาวุโส สกว. ปาฐกถาเปิดงานเสนอเอกสารข้อเท็จจริงกรณีเหตุรุนแรงเดือนพฤษภาคม 2553 และเปิดนิทรรศการหัวข้อ “คำถามต่อความเป็นมนุษย์” ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา วันที่ 8 พฤษภาคม 2554
ในตอนท้ายของหนังสือ ความรุนแรงซ่อน/หาสังคมไทย (กรุงเทพฯ : มติชน, 2551) ข้าพเจ้าเคยเขียนว่า


“อดีตประธานาธิบดีของเฮติ Leslie Manigat ซึ่งได้อำนาจจากฝ่ายของดูวาลิเอร์เคยกล่าวถึงความรุนแรงทางการเมืองในเฮติว่า “เปลื้องร่างทางสังคม (เฮติ) จนเปลือยเปล่า” (“strips bare the social body”) และช่วยให้ได้เห็นการทำงานของสังคมที่แท้จริงซึ่งซ่อนอยู่ ความรุนแรงทางการเมืองเช่นที่เกิดในสังคมไทยทำให้ผู้คนพรั่นพรึง แต่ก็ตรึงพวกเขาไว้ ทำให้รู้สึกพลุ่งพล่านดาลเดือด จนแทบจะทำอย่างอื่นใดไม่ได้นอกจากนั่งมอง แต่ในเวลาเดียวกัน ขณะที่ความรุนแรงเปลื้องร่างของสังคมจนเปลือยเปล่าก็เป็นโอกาสที่ทรงค่าที่จะ “ใช้เครื่องฟังหัวใจทาบกับผิวหนังที่เปล่าเปลือยและฟังเสียงเต้นของความเป็นจริงใต้นั้น” ด้วยเหตุนี้หากประสงค์จะเข้าใจสังคม ตระหนักถึงรากเหง้าแห่งความไม่เป็นธรรม เห็นร่องรอยโครงสร้างอำนาจในสังคม ก็ควรต้องศึกษาในห้วงขณะที่เกิดความรุนแรงขึ้น”


ข้าพเจ้าเห็นว่างานของ ดร.บัณฑิต จันทร์โรจน์กิจ ร่วมกับกลุ่ม “มรสุมชายขอบ” ที่กลายมาเป็นนิทรรศการในวันนี้ เป็นความพยายามที่จะรวบรวมเรียบเรียงปะติดปะต่อความขัดแย้งที่ถึงตาย ซึ่งเกิดขึ้นกลางเมืองเมื่อหนึ่งปีที่ผ่านมา พวกเขาอาศัยข่าวจากหนังสือพิมพ์รายวันมาประมวลเหตุการณ์ข้อเท็จจริงเบื้องต้นตามลำดับเวลา จากนั้นก็บันทึกการเสียชีวิตและบาดเจ็บของคนทุกฝ่ายตามเวลาที่เกิดขึ้น จัดวางกรณีคนเจ็บคนตายไว้ในแผ่นที่ซึ่งแสดงที่ตั้งและจุดปะทะจนเกิดความรุนแรง ถัดไปก็แสดงสถิติผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากกรณีดังกล่าว เพื่อพยายามแสดงให้เห็นทั้งสถานภาพของผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ สุดท้ายยังแสดงให้เห็นแผนภูมิของสถิติบาดแผลของเหยื่อความรุนแรง เพื่อให้พอประมาณเป้าหมายในการใช้ความรุนแรงได้บ้าง


อาจกล่าวได้ว่าทั้งหมดนี้เป็นความพยายามของคนกลุ่มเล็กๆที่ใช้ข้อมูลและเรื่องราวเป็นเสมือน “เครื่องฟังหัวใจกับผิวหนังที่เปลือยเปล่า” ของสังคมไทย และกำลังช่วยให้เราได้ยิน “เสียงเต้นของความเป็นจริง” ได้นั้น
แต่ปัญหามีอยู่ว่า “ความจริง” (truth) และ “ความเป็นจริง” (reality) เต้นเป็นเสียงอย่างไรในบริบทความขัดแย้งชนิดถึงตายเช่นที่ได้กร่อนกินสังคมไทยในช่วงเวลาขวบปีที่ผ่านมา?


การจัดการ “ความจริง” : อินโดนีเซีย ตุลาคม 2508-มีนาคม 2509
เกิดเหตุรุนแรงครั้งใหญ่เมื่อรัฐบาลอินโดนีเซียในขณะนั้นตอบโต้พรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย (PKI) ที่จะทำรัฐประหารเปลี่ยนรัฐบาล การฆ่ากันครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตทั่วประเทศราว 500,000 คน (ตัวเลขต่ำที่สุดอยู่ที่ 100,000 และสูงสุดคือ 2 ล้านคน) ไม่รวมผู้คนอีกนับแสนที่ต้องถูกจับกุมคุมขัง ทรมาน โดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรมด้วยน้ำมือรัฐ : สมบัติ จันทรวงศ์ เขียนอภิปรายปัญหาเกี่ยวกับ “การจัดการความจริง” ในกรณีนี้ไว้ว่า


“เป็นที่เข้าใจได้ไม่ยากนักว่ากลุ่มผู้นำทางการเมืองที่มีสายสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับกองทัพย่อมไม่อยากพูดถึงความรุนแรงในระดับ “มหาศาล” ที่เกิดขึ้นพร้อมๆกับการก้าวสู่อำนาจของตน กระนั้นก็ดี แม้ระบอบการปกครองของซูฮาร์โตไม่เคยพยายามจะปฏิเสธว่าการประหัตประหารได้เกิดขึ้นจริง แต่เอกสารทางราชการหรือเอกสารกึ่งราชการของอินโดนีเซียก็จงใจละเลยที่จะพูดถึงการประหัตประหารโดยสิ้นเชิง และความรู้สึกโดยทั่วไปก็คือเรื่องนี้ไม่อาจนำมาถกเถียงอภิปรายกันอย่างเปิดเผยได้


นอกจากงานเขียนในรูปของนิยายและเรื่องสั้นของนักเขียนอินโดนีเซียแล้ว จึงอาจกล่าวได้ว่าชาวอินโดนีเซียทั่วๆไปปฏิเสธที่จะเขียนหรือพูดถึงเหตุการณ์อันร้ายแรงนี้อย่างเปิดเผย เช่น การที่นักวิจัยต่างชาติพบว่าสตรีอินโดนีเซียผู้หนึ่งตอบคำถามว่าสถานการณ์ในช่วงเวลาดังกล่าว “ปรกติ เป็นปรกติดี” ทั้งๆที่สามีของนางถูกฆ่าเพราะเป็นสมาชิกพรรค PKI เป็นต้น เพราะฉะนั้นในขณะที่ในแง่หนึ่งนั้นอาจกล่าวได้ว่าแม้ “ทุกคน” รู้ดีว่าเกิดอะไรขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 1965-66 หรืออย่างน้อยที่สุดผู้คนในแต่ละชุมชนล้วนรู้ดีว่าเกิดอะไรขึ้นเฉพาะในชุมชนของตน แต่กว่า 30 ปีของการที่ผู้เห็นเหตุการณ์เหล่านี้ต้องนิ่งเงียบ กว่า 30 ปีที่เรื่อง “บอกเล่า” อย่างนี้ไม่มีโอกาสได้รับการบอกเล่าซ้ำ ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องของครอบครัวหรือของชุมชน ทำให้ “ความทรงจำ” เหล่านี้อาจลบเลือนไปเองโดยธรรมชาติได้มาก สำหรับสังคมที่ชาวบ้านในชุมชนยังคงมีวัฒนธรรมแบบมุขปาฐะอยู่มาก ความเป็นไปได้ในเรื่องนี้ย่อมมีผลกระทบรุนแรงต่อการรักษาความจำของ “ความจริง” ไว้


ด้วยเหตุผลนี้เองจึงไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใดที่ “คำอธิบาย” ภาพรวมของความจริงที่เกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1965 จากหลักฐานที่หลงเหลืออยู่ที่เป็นที่ยอมรับกันจะมีได้หลายชุด เช่น การให้น้ำหนักแก่บทบาทของฝ่ายทหารที่นำโดยนายพลซูฮาร์โตและพันธมิตรของตน โดยเฉพาะในการลอบสังหารทางการเมืองที่กระทำแก่คู่แข่งทางการเมืองคือพรรค PKI ทั้งนี้ ไม่ว่าซูฮาร์โตจะมีส่วนรู้เห็นในการสนับสนุนให้เกิดการรัฐประหารในวันที่ 30 กันยายน ค.ศ. 1965 หรือไม่ก็ตาม อย่างไรก็ดี จำนวนผู้เสียชีวิตที่สูงมาก และความกว้างขวางของการมีส่วนร่วมของมวลชนในขบวนการประหัตประหารดังกล่าว โดยไม่ต้องพิจารณาถึงบทบาทของกองทัพอินโดนีเซีย ทำให้เกิดคำอธิบายด้วยว่าการแบ่งขั้วทางการเมืองในอินโดนีเซียเมื่อปี ค.ศ. 1965 นั้นเด็ดขาดสูงสุดอยู่แล้ว
ฉะนั้นการฆ่าฟันผู้คนจำนวนมหาศาลที่เกิดขึ้นจึงเป็นการสะท้อนถึงความกดดันอันรุนแรงที่บีบคั้นสังคมจนรับไม่ได้ ถึงขนาดปะทุออกมาในรูปของความรุนแรงชั่วคราวทางจิตวิทยาของมวลชน มากกว่าที่จะเกิดจากการกระทำของใครคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะ ในขณะเดียวกันก็มีคำอธิบายที่อาจแยกออกไปได้อีกว่าการประหัตประหารกันครั้งใหญ่นี้ หลักๆแล้วเป็นผลมาจากการเร่งเร้าความเป็นปฏิปักษ์อันล้ำลึกและสลับซับซ้อนในระดับท้องถิ่นที่สืบเนื่องมาจากการขยายฐานทางการเมืองของพลพรรค PKI ภายใต้สถานการณ์การเมืองที่กดดันทุกฝ่ายอย่างสูงยิ่ง ในช่วงระบอบประชาธิปไตยแบบชี้นำ (Guided Democracy) ของประธานาธิบดีซูการ์โน เมื่อเกิดเหตุการณ์ “รัฐประหาร” และ “การตอบโต้รัฐประหาร” ขึ้นเมื่อวันที่ 30 กันยายน ค.ศ. 1965 สถานการณ์ก็สุกงอมเกินพอที่จะเกิดความรุนแรงขึ้น ท้ายที่สุดยังมีคำอธิบายว่าวัฒนธรรมของอินโดนีเซียเป็นวัฒนธรรมแห่งความรุนแรงที่รัฐเองมีบทบาทในการยอมรับ และแม้แต่สร้างวัฒนธรรมนักเลงหัวไม้ที่ใช้วิธีการนอกกฎหมาย การลักขโมย หรือแม้แต่การฆาตกรรมให้เกิดขึ้น ตราบเท่าที่เป็นประโยชน์ในทางการเมือง


แต่ในขณะที่นักวิชาการอาจถกเถียงกันได้มากมายว่าอะไรเกิดขึ้น “จริงๆ” ในเหตุการณ์ 1965-66 เช่น บ้างก็ว่าพลพรรค PKI เป็นผู้คิดและริเริ่มการรัฐประหารด้วยการสังหาร 6 นายพลของกองทัพ บ้างก็ว่าการ “รัฐประหาร” เป็นผลมาจากการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจกันภายในกองทัพเอง หรือบ้างก็ว่านายพลซูฮาร์โตเป็นผู้นำการรัฐประหาร หรืออย่างน้อยที่สุดก็บิดเบือนและใช้ประโยชน์จากการที่กลุ่มนายพลถูกฆ่า บ้างก็ว่าประธานาธิบดีซูการ์โนอนุญาตหรือสนับสนุนให้นายทหารที่ไม่พอใจดำเนินการต่อนายพลเหล่านั้น และบ้างก็ว่าการปฏิบัติงานลับของต่างประเทศมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ด้วยในความพยายามที่จะขจัดประธานาธิบดีซูการ์โน ซึ่งมีทีท่าว่าฝักใฝ่ฝ่ายซ้ายออกไปจากบทบาทผู้นำอินโดนีเซีย และจากบทบาทผู้นำในกลุ่มโลกที่สาม


สำหรับทางการอินโดนีเซียแล้ว ความจริงที่เป็น “ทางราชการ” มีอยู่หนึ่งเดียว เพราะฉะนั้นหลังเหตุการณ์ดังกล่าวรัฐบาลอินโดนีเซียจึงแสดงออกผ่านช่องทางต่างๆ รวมถึงในหลักสูตรการเรียนการศึกษาว่า PKI เท่านั้นที่ต้องรับผิดชอบในการฆ่าเหล่านายพล เพราะฉะนั้นจึงเป็นกลุ่มพลังที่ทรยศต่อชาติ และควรที่จะถูกขจัดออกไปจากทุกระดับของสังคม จะเห็นได้ว่าการควบคุมวาทกรรมภายในสังคมอย่างเคร่งครัด รวมถึงการที่หน่วยงานด้านความมั่นคงมีการปฏิบัติต่อผู้ที่มีทรรศนะตรงกันข้ามอย่างรุนแรง ทำให้บรรยากาศของภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์กลายเป็นสิ่งที่ระบบการปกครองของซูฮาร์โตสามารถนำไป “สร้าง” เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของตนได้เสมอ แม้เมื่อล่วงเข้ามาในทศวรรษ ค.ศ. 1990 มีข้อเขียนของชาวอินโดนีเซียประเภทบันทึกความจำส่วนตัวว่าด้วยเหตุการณ์เมื่อ ค.ศ. 1965 ออกมาบ้าง แต่หนังสือเหล่านี้ล้วนถูกห้ามเผยแพร่โดยทางการ ในขณะที่รัฐบาลอินโดนีเซียก็ออก “หนังสือปกขาว” ของทางการที่ยืนยันว่าหน่วยปฏิบัติการลับของ PKI คือผู้มีบทบาทหลักในการก่อให้เกิดเหตุการณ์ ค.ศ. 1965 ขึ้น


ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งได้แก่ สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนายพลซูฮาร์โตพ้นจากอำนาจทางการเมืองไปแล้ว เพราะปรากฏว่าแม้งานเขียนเกี่ยวกับเหตุการณ์ ค.ศ. 1965 ที่ขัดแย้งกับ “ความจริง” หรือ “ประวัติศาสตร์” ของทางราชการจะตีพิมพ์ได้ แต่ความพยายามของประธานาธิบดีอับดูร์เราะห์มาน วาฮิด ซึ่งขึ้นเป็นประธานาธิบดีเมื่อปี ค.ศ. 1997 ที่จะยกเลิกกฎหมายห้ามลัทธิมาร์กซ์-เลนิน กลับถูกต่อต้านอย่างรุนแรงจากเกือบจะทุกส่วนของสังคม ถึงขนาดนำไปสู่การคุกคามว่าจะมีการใช้กำลังกับกลุ่มที่เรียกร้องสิทธิให้กับเหยื่อในกรณี ค.ศ. 1965 ด้วยซ้ำ รวมถึงความคิดที่จะจัดตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อความจริงและการปรองดองแห่งชาติ (Komisi Independent Pencari Kebenaran untuk Rekonsiliasi National) ซึ่งถูกกำหนดให้หาความจริงเมื่อปี ค.ศ. 1965 ก็ไม่สามารถเป็นรูปเป็นร่างขึ้นได้ ปฏิกิริยาเช่นว่านี้อาจอธิบายได้ว่าเป็นเพราะเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อปี ค.ศ. 1965 นั้นอาจยิ่งใหญ่เกินไปในแง่ของเหยื่อผู้ถูกกระทำและผู้กระทำ และอาจส่งผลกระทบต่อผู้มีอิทธิพลในปัจจุบันอีกจำนวนมากที่อาจได้รับผลกระทบจากการเปิดเผย “ความจริง” รวมถึงความรู้สึกผิดร่วมกันของสังคมที่มีแรงจูงใจอยากให้ปิดบังความจริงนี้อีกต่อไป
ล่าสุดคือความพยายามที่จะออกกฎหมายจัดตั้งคณะกรรมการว่าด้วยความจริงและการปรองดอง (Truth and Reconciliation Commission) ซึ่งในทางปฏิบัติแม้คลอดเป็นกฎหมายได้จริงๆก็ยังจะต้องประสบกับปัญหาว่าจะดำเนินการอย่างไรในเมื่อผู้มีชีวิตรอดเหลืออยู่ พยานรู้เห็นเหตุการณ์จำนวนมากจะอยู่ในวัยชราหรือเสียชีวิตไปแล้ว ที่สำคัญไม่แพ้กันได้แก่ การที่คนเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่เต็มใจที่จะพูดถึงประสบการณ์ส่วนตัวของตน เพราะอย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่า “ความเงียบ” คือชีวิตส่วนนี้ที่รัฐบาลเดิมเคยบีบบังคับให้คนเหล่านี้ต้องดำรงมาก่อน และแม้เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงตัวผู้นำรัฐบาลไปแล้ว แต่กระแสต่อต้านคอมมิวนิสต์ ซึ่งแน่นอนว่ายังโยงใยถึงเหตุการณ์ ค.ศ. 1965 ก็ยังคงดำรงอยู่ สำหรับผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ ความเป็นปฏิปักษ์และความกลัวที่มีต่ออดีตจึงยังคงมีอยู่ แม้ว่าจะด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน


สำหรับฝ่ายผู้มีอำนาจนั้น การจัดการกับ “ความจริง” มีได้หลายรูปแบบ เช่น ในขณะที่โดยทั่วๆไปแล้วความทรงจำของผู้เป็นเหยื่อน่าจะเป็นการคุกคามต่อการนำเสนอภาพของความรุนแรงที่พึงปรารถนาของผู้ซึ่งมีอำนาจ แต่การที่รัฐบาลซูฮาร์โตไม่ปฏิเสธว่าเกิดความรุนแรงขึ้นและพยายามทำให้ประชาชนชาวอินโดนีเซียเข้าใจหรือเชื่อว่าความรุนแรงในระดับที่เกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1965 อาจเกิดขึ้นอีกเมื่อไรก็ได้นั้น กลับเป็นการเสริมอำนาจของตนทางอ้อมที่มีประสิทธิภาพมาก เพราะ “ความทรงจำ” ว่าทหารเคยทำอะไรแก่ประชาชน และชาวอินโดนีเซียเองสามารถทำอะไรต่อกันและกันเองได้นี้เองที่เป็นเครื่องเตือนความจำว่าอินโดนีเซียจำเป็นต้องมีรัฐบาลที่มั่นคง และว่ากันว่าความกลัวว่าการโค่นล้มรัฐบาลของซูฮาร์โตจะนำไปสู่สถานการณ์ความรุนแรงเช่นว่านี้เองที่ทำให้กระบวนการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ในที่สุดแล้วซูฮาร์โตต้องหลุดพ้นจากอำนาจไปในปี ค.ศ. 1998 นั้นล่าช้าไปพอสมควร ในแง่หนึ่งนั้นวิธีจัดการกับ “ความจริง” ของระบอบซูฮาร์โตในเรื่องนี้ไม่ได้แตกต่างอะไรนักจากคำเตือนของนักประวัติศาสตร์อินโดนีเซียว่าความพยายามค้นหาความจริงที่เกี่ยวกับเหตุการณ์เมื่อ ค.ศ. 1965 จะ “เปิดบาดแผลของชาติและสนับสนุนให้เกิดการแก้แค้น” ขึ้นมาอีก


แต่ “ความจริง” ที่เป็นประเด็นปัญหาเป็นสิ่งที่ต้องถูก “จัดการ” ในแง่ของการที่อาจถูก “ปกปิด” “บิดเบือน” “สร้างใหม่” และแน่นอนว่าย่อมถูก “แสวงหา” ได้ ในกรณีเหตุการณ์เมื่อปี ค.ศ. 1965 ของอินโดนีเซียคือความจริงประเภทไหน”
ปัญหา “ความจริง”


เมื่อพระเยซูถูกจับและถูกนำตัวไปพบไพเลต ขุนนางโรมัน ก่อนที่จะถูกตัดสินให้ตรึงกางเขนนั้น ไพเลตถามพระองค์ว่าตกลงพระองค์เป็นกษัตริย์ของชาวยิวหรือมิใช่ พระเยซูตอบว่า “เป็นท่านเองที่กล่าวว่าเราคือกษัตริย์ เราถือกำเนิดมาเพื่อการนี้ มายังโลกนี้เพื่อการนี้ เพื่อเป็นพยานต่อความจริง และทุกผู้คนที่อยู่ข้างความจริงก็ฟังเสียงเรา” ไพเลตจึงถามว่า “ความจริงหรือ? (ความจริง) คืออะไร?” (John 18 : 37-38)


คำถามของไพเลตสำคัญ เพราะในทางหนึ่งคำถามนี้เกี่ยวข้องกับปัญหาความเป็นกลางในทางการเมือง กล่าวคือ การที่ผู้แทนอาณาจักรโรมันถามเช่นนี้ได้ในสภาพการณ์ทางการเมืองปาเลสไตน์ยุคนั้น แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่พระเยซูอ้างว่าเป็น “ความจริง” นั้นอาณาจักรโรมันไม่สนใจถือสาแต่อย่างใด ในอีกแง่หนึ่งคำถามของไพเลตสำคัญเพราะคำถามดังกล่าวมิได้เกี่ยวกับ “ความจริง” (about truth) ที่ว่าพระเยซูเป็นอะไรกันแน่ แต่เป็นคำถามว่า “ความจริง” นั้นเองคืออะไร เป็นการตั้งคำถามต่อการดำรงอยู่ของ “ความจริง” ซึ่งเป็นไปได้จากมุมมองของผู้มีความสงสัยอย่างแทบไร้ขอบเขต อาจเพราะเช่นนี้เอง Nietzsche จึงถือว่าคำถามของไพเลต (Pontius Pilate) นี้เป็นเพียงคำถามเดียวเท่านั้นที่มีคุณค่าอยู่บ้างในพระคัมภีร์ไบเบิลทั้งเล่ม


Adrent เริ่มต้นจากการถือว่ายุคสมัยใหม่เชื่อว่า “ความจริง” เป็นสิ่งที่ไม่ได้เป็นอยู่เองหรือมิได้ถูกค้นพบ หากเป็นสิ่งที่ถูกผลิต (producted) โดยน้ำมือมนุษย์ (human mind) และแยก “ความจริง” ออกเป็น 2 ชนิดคือ “ความจริง” ทางคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือปรัชญา ซึ่งจัดว่าเป็น “ความจริงเชิงเหตุเชิงผล” (rational truth) ส่วน “ความจริง” อีกแบบหนึ่งเป็น “ความจริงเชิงข้อเท็จจริง” (factual truth)


ในอดีต “ความจริงเชิงเหตุเชิงผล” เป็นปัญหาต่อสังคมตลอดมา เช่น ความจริงทางวิทยาศาสตร์บอกว่าโลกมิได้เป็นศูนย์กลางของจักรวาล น่าจะเป็นปัญหาต่อสังคมภายใต้กรอบพระศาสนจักรที่เห็นว่าการที่จักรวาลมีโลกเป็นศูนย์กลางสอดรับกับความเชื่อทางศาสนามากกว่า ดังนั้น คนอย่างกาลิเลโอจึงต้องถูกสอบสวน หรือในคติทางปรัชญาการเมืองอย่างเพลโต คนพูดความจริงให้ตรวจสอบหลักฐานของสังคมการเมืองอย่างโสเครตีสก็จะมีภัยถึงชีวิต หรือฮอบส์ ผู้เขียน Leviathan อันลือชื่อเองก็ถูกคุกคาม หนังสือของเขาถูกเผาทำลาย


Arendt อธิบายว่าความขัดแย้งในสมัยนั้นเป็นความขัดแย้งระหว่าง “ความจริง” ของนักปรัชญาประเภทหนึ่งกับวิถีชีวิตของผู้คนพลเมืองสามัญอีกฝ่ายหนึ่ง วิถีของประชาชนเป็นวิถีที่แปรเปลี่ยน เพราะ “ความเห็น” ของผู้คนเปลี่ยนแปลงได้ วิถีของนักปรัชญาเป็นความพยายามแสวงหา “ความจริง” ที่ไม่เปลี่ยนแปลง เพื่อสร้างหลักการที่จะทำให้กิจการของมนุษย์คือการเมืองมีเสถียรภาพ


ในแง่นี้สิ่งที่อยู่ตรงข้ามกับ “ความจริง” ทางปรัชญาจึงมิใช่ “ความเท็จ” แต่คือ “ความเห็น” (opinion) ยิ่งกว่าอย่างอื่น แม้ความขัดแย้งประเภทนี้จะดำรงอยู่เรื่อยมา ไม่ว่าจะในความคิดของเพลโต ค้านท์ หรือสปิโนซ่า แต่ที่น่าสนใจคือ Arendt ชี้ให้เห็นว่าในสมัยนี้การปะทะกันระหว่าง “ความจริง” ของนักปรัชญากับความเห็นในตลาด (เช่น ในกรณีของโสเครตีส) ได้เลือนหายไปสิ้นแล้ว ในแง่หนึ่งเพราะการแยกศาสนจักรออกจากอาณาจักร ดังนั้น “ความจริง” อันสูงส่งทางศาสนาเช่นที่ถือกันในประเทศยุโรปก็มิได้ถูกหนุนหลังอยู่ด้วยพลังอาวุธของอาณาจักร และเพราะดูเหมือนในโลกวิชาการฝรั่งยุคปัจจุบันแทบจะไม่มีความเห็นทางปรัชญาใดที่ศักดิ์สิทธิ์โดดเด่นถึงขั้นไม่อาจโต้แย้งได้อีก


กล่าวอีกอย่างหนึ่ง “ความจริงเชิงเหตุผล” (rational truth) มิใช่ปัญหาต่อสังคมการเมือง โดยเฉพาะในสังคมที่ยอมรับสิทธิในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เพราะขณะนี้ “ความจริงเชิงเหตุผล” นานาชนิด แม้จะขัดแย้งแตกต่างกันก็ดำรงอยู่ด้วยกันได้ แต่ที่ดูเหมือนจะยอมกันไม่ได้ในสังคมสมัยใหม่กลับเป็น “ความจริงเชิงข้อเท็จจริง” (factual truth) มากกว่า หมายความว่าในปรากฏการณ์ใดปรากฏการณ์หนึ่ง สังคมมนุษย์ดูจะพยายามแสวงหา “ความจริง” เกี่ยวกับปรากฏการณ์นั้น “ที่ถูกต้อง” เพียงอย่างเดียว “ความจริงเชิงข้อเท็จจริง” ที่ขัดแย้งต้องถูกทำให้ตกไปด้วยกระบวนการพิสูจน์ทราบผ่านการใช้อำนาจนานาชนิดที่ดำรงอยู่ในสังคมตัดสิน เช่นในปัจจุบันแม้หลายสังคมจะอนุญาตให้ “ความจริงเชิงเหตุผล” (หรือเชิงปรัชญา) อย่างเช่นความเชื่อว่ามีหรือไม่มีพระเป็นเจ้า ความเชื่อว่าโลกกลมหรือโลกแบนดำรงอยู่ด้วยกันได้ (ในต่างประเทศ การรวมกลุ่มของผู้คนเป็นสมาคมคนเชื่อว่าโลกแบนก็มีให้เห็น) แต่ “ความจริงเชิงข้อเท็จจริง” อย่างเช่น ใครสังหารนายทหารที่สี่แยกคอกวัว ใครยิงผู้ชุมนุม และใครเริ่มต้นเผาราชประสงค์เมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว กลับเป็นปัญหาของสังคมการเมืองที่ต้องหาวิธีต่างๆจัดการจนตกไปให้จงได้
Arendt อธิบายว่าที่เป็นเช่นนี้เพราะ “ความจริงเชิงข้อเท็จจริง” เกี่ยวข้องกับผู้คนมากหลาย ทั้งเหตุการณ์และสภาพแวดล้อมที่เขาเหล่านั้นมีส่วน อีกทั้งเป็นสิ่งที่ปรากฏขึ้นผ่านพยานหลักฐานและการยืนยันให้การของพยาน “ความจริง” แบบนี้ดำรงอยู่ตราบเท่าที่ถูกพูดออกมาในที่สาธารณะ แม้จะเป็นเรื่องส่วนตัวก็ตาม ด้วยเหตุนี้ “ความจริงเชิงข้อเท็จจริง” จึงเป็นเรื่องทางการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และก่อให้เกิดข้อขัดแย้งได้โดยเฉพาะเมื่อ “ความจริงเชิงข้อเท็จจริง” ดังกล่าวไปขัดหรือไปสร้างเงื่อนไขที่ทำให้บางฝ่ายเสียประโยชน์ (เช่นการที่ความรุนแรงเกิดขึ้นเป็นหรือไม่เป็นฝีมือของ “คนชุดดำ” ย่อมมีผลต่ออำนาจหน้าที่ของหน่วยราชการบางหน่วย ต่างจากการที่ความรุนแรงเป็นหรือไม่เป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐ) แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าเห็นจะเป็นธรรมชาติของ “ความจริงเชิงข้อเท็จจริง” นั้นเอง


Arendt อธิบายว่าการกล่าวว่า “เยอรมันบุกเบลเยียมในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1914” สำหรับคนที่เชื่อว่าเกิดเหตุเยอรมันบุกเบลเยียมเป็นข้อความที่ไม่เกี่ยวข้องกับการที่คนอื่นจะเห็นพ้องต้องด้วย โดยอาศัยการโต้แย้งให้ความเห็นเพื่อยอมรับ “ความจริง” ข้อนี้ เพราะสำหรับฝ่ายที่เห็นว่าข้อความดังกล่าว “จริง” ก็มักไม่ขึ้นต่อปัญหาว่ามีผู้เห็นด้วยกับ “ความจริงเชิงข้อเท็จจริง” ดังกล่าวมากน้อยเพียงไร การชักจูงชักชวนไปในทางใดๆมักไม่เป็นผล ยิ่งกว่านั้นในขณะที่ความเห็นซึ่งต่างกัน หรือ “ความจริงเชิงเหตุผล” อาจเป็นสิ่งที่โต้เถียง ประนีประนอม หรือปฏิเสธได้ “ความจริงเชิงข้อเท็จจริง” ที่บางฝ่ายไม่พึงประสงค์เป็นสิ่งที่ดื้อดึงไม่ยอมหนีหายไปไหน บางครั้งเมื่อเอาชนะกันด้วย “ความจริงเชิงข้อเท็จจริง” (factual truth) ไม่ได้ก็จะถูกโต้ด้วย “ความเท็จอย่างซึ่งหน้า” (plain lies) ในแง่นี้ “ความจริง” มิได้มีธรรมชาติของการชักชวน (persuasive) หากแต่มีธรรมชาติในทางครอบงำบังคับ (coercive) เธอจึงสรุปว่า “ความจริง” มีคุณลักษณ์เป็นเผด็จการ (despotic)


ด้วยเหตุนี้ที่ทรราชทั้งหลายเกลียดชัง “ความจริง” และคนพูด “ความจริง” ไม่ใช่เพราะคนพูด “ความจริง” ทำสิ่งที่แตกต่างจากทรราชโดยสิ้นเชิง แต่เพราะทรราชรู้สึกว่ากำลังเผชิญกับคู่แข่งขันในสนามแห่งความเชื่อถือของผู้คนที่ตนเคยเป็นฝ่ายผูกขาดตลอดมา


งานเขียนของ Arendt ในปี 1961 มีหลายสิ่งชวนให้คิดถึงความเห็นของ Michel Foucault โดยเฉพาะที่ปรากฏในบทสัมภาษณ์ที่สำคัญยิ่งของเขาเมื่อปี 1977 คือ “Truth and Power” Foucault กล่าวเป็นประโยคสุดท้ายในการให้สัมภาษณ์ครั้งนั้นว่า “กล่าวโดยสรุป ปัญหาทางการเมือง (ที่สำคัญเพียงอย่างเดียว) ไม่ใช่ความผิดพลาด มายา รูปการณ์จิตสำนึกที่แปลกแยก หรืออุดมการณ์ แต่คือ “ความจริง” นั่นเอง”


ดูเหมือนว่าใน 2 ปีสุดท้ายก่อนที่เขาจะเสียชีวิตในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1984 Faucault สนใจสอนแต่เรื่องที่เกี่ยวกับ “ความจริง” คือในปี 1983 เขาสอนวิชาชื่อ “การบอกความจริง” (The Practice of Parrhesia) ที่ College de France เนื้อหาวิชาว่าด้วย “การบอกความจริง” จากแง่มุมทางการเมือง เช่น การพูด “ความจริง” ต่อหน้าเจ้าผู้ปกครอง ทั้งที่การกระทำดังกล่าวจะก่อภัยถึงชีวิตแก่ผู้พูด


ในฤดูใบไม้ร่วงของปีเดียวกัน เขาไปสอนวิชาชื่อ “วาทกรรมและสัจจะ : การทำให้การบอกความจริงเป็นปัญหาที่ยังไม่ลงตัว” (Discourse and Truth: The Problematization of Parrhesia) ที่มหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย เบิร์คเลย์ วิชาสุดท้ายที่เขาสอน ณ College de France ก็ใช้หัวข้อบรรยายเช่นในปีก่อนหน้า แต่เน้นที่ “การบอกความจริง” ในฐานะคุณค่าทางศีลธรรม เช่น การยอมรับ “ความจริง” แม้ว่าจะเสื่อมเสียต่อภาพพจน์ของตนก็ตาม โดย Foucault แบ่งวิถีแห่งการ “บอกความจริง” ออกเป็น 4 ทางคือ วิถีแห่งศาสดา (prophet) ผู้มิได้เสนอ “ความจริง” ในนามตนเอง แต่ในฐานะ “ตัวกลาง” ระหว่าง “ผู้พูดที่แท้จริง” (เช่น พระเป็นเจ้า) กับมนุษย์, วิถีแห่งปราชญ์ (sage) เป็นการนำเสนอ “ความจริง” เกี่ยวกับชีวิตตัวตนของโลกนี้ ในนามของตนเองในฐานะผู้มีปัญญาญาณ, วิถีแห่งครู-นักเทคนิค (teacher-technician) ในฐานะผู้ครอบครองทักษะบางอย่างที่ถ่ายทอดต่อศิษย์ได้ และวิถีแห่ง “ผู้บอกความจริง” (parrhesiast) เมื่อผู้บอก “ความจริง” เป็นตัวกลางระหว่าง “ความจริง” ที่ค้นพบและผู้รับฟัง “ความจริง” การบอก “ความจริง” สำหรับคนเหล่านี้มิใช่สิ่งที่จะเลือกได้ดังวิถีแห่งปราชญ์ แต่เป็นพันธะที่ต้องทำ “ความจริง” ให้ปรากฏ ในเรื่องที่เมื่อบอกไปแล้วอาจทำให้สังคมรวดร้าวแบ่งแยก แต่ที่สุดก็จะเข้มแข็งขึ้น


กล่าวโดยสรุป “ความจริง” เป็นปัญหาสำคัญในความคิดของ Foucault ตลอดมา เพียงแต่ว่าในวิชาที่เขาสอนก่อนเสียชีวิต เขาโยงปัญหา “ความจริง” เข้ากับท่าทีในการ “บอกความจริง” ซึ่งมีเป้าประสงค์จะ “ช่วย” ให้ผู้ที่ได้รับฟัง “ความจริง” เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นผ่านการรู้ตัวว่าตนเป็นใคร และจะเป็นมนุษย์ที่ดีที่สุดได้อย่างไร ในแง่นี้การ “บอกความจริง” จึงเป็นไปในแง่ที่ส่งเสริมให้ “ใส่ใจอาทร” ต่อตัวตน (the care of the self) ของมนุษย์นั่นเอง ส่วนในระยะแรกความสำคัญของปัญหา “ความจริง” ในความคิดของ Foucault อยู่ที่กระบวนการที่อำนาจผลิต “ความจริง” ยิ่งกว่าอื่น


ปัญหาสำคัญที่ได้จากการคิดตาม Foucault คงไม่ใช่เป้าประสงค์ทางปรัชญาในการ “บอกความจริง” แต่เป็นคำถามว่ากระบวนการที่ “ความจริง” ถูกบอกในสังคมการเมืองเป็นอย่างไรมากกว่า เพราะเมื่อ “ความจริง” เป็นสิ่งที่ถูกผลิต (produced) ก็แปลว่า “ความจริง” มิได้อยู่นอกเหนือหรือไร้อำนาจ...“ความจริง” มิใช่รางวัลของวิญญาณเสรี หรือ (เป็นดัง) เด็กน้อยที่ถูกกักไว้ในความโดดเดี่ยวไม่รู้จบ หรือเป็นอภิสิทธิ์ของพวกที่ประสบความสำเร็จในการปลดปล่อยตนเอง “ความจริง” เป็นสมบัติของโลกนี้ (thing of this world) ถูกผลิตขึ้นด้วยข้อกำหนดจำกัด (constraints) หลากรูปหลายแบบ”


เพราะ “โลกนี้” แปรเปลี่ยนและขึ้นต่อเงื่อนไขเฉพาะหลายอย่าง การถือว่า “ความจริง” เป็น “สมบัติของโลกนี้” หมายความว่า “ความจริง” เป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ในทางสังคม ขึ้นต่อสภาพเฉพาะในแต่ละสังคม Foucault ยังคิดอีกว่าทุกๆสังคมมีสิ่งที่เรียกว่า “ระบอบแห่งความจริง” ซึ่งอาศัยองค์ประกอบสำคัญ 2 ส่วน เรียกส่วนแรกว่า “การเมืองทั่วไป” แห่ง “ความจริง” ซึ่งประกอบด้วย ชนิดของวาทกรรม (discourse) ที่ยอมรับกันว่าจริงแท้กลไกต่างๆในสังคมที่ช่วยให้ผู้คนแยกข้อความ “จริง” ออกจากข้อความ “เท็จ” และวิธีการที่ “ความจริง” และ “ความเท็จ” เหล่านั้นถูกควบคุมจัดการ เทคนิคกระบวนวิธีในการสร้างคุณค่าให้กับการได้มาซึ่ง “ความจริง” และสถานภาพของบุคคลที่ถือกันว่าเป็นผู้พูด “ความจริง”


ส่วนที่ 2 คือ “เศรษฐศาสตร์การเมือง” แห่ง “ความจริง” ซึ่งประกอบด้วย สถาบันที่ผลิต “ความจริง” ผลิตและส่งผ่านกลไกทางการเมืองและเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างมหาวิทยาลัย กองทัพ การเขียน และสื่อมวลชน สิ่งที่ผลิตขึ้นดังกล่าวถูกกำหนดโดยอุปสงค์ทางเศรษฐกิจและอำนาจทางการเมือง เมื่อผลิตออกมาแล้วก็กลายเป็นวัตถุที่ถูกบริโภคด้วยวิธีการหลากหลายผ่านกลไกทางการศึกษาและข้อมูล และที่สุดก็กลายเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันทางการเมืองและเผชิญหน้ากันทางสังคม


Foucault ชี้ให้เห็นว่า “ความจริง” นั้นถูกผลิตขึ้นในสังคมด้วยน้ำมือมนุษย์ผ่านสถาบันต่างๆ ด้วยเหตุนี้ “ความจริง” จึงผูกโยงอยู่กับอำนาจ ทั้งด้วยกระบวนวิธีที่ “ความจริง” ถูกใช้ (หรือถูกจัดการ) เพื่อวางเกณฑ์ควบคุมให้ชีวิตของผู้คนอยู่ใน “สภาพปรกติ” และด้วยวิธีที่ “ความจริง” อ้างความเป็นนิรันดร์ไม่แปรเปลี่ยนของตน โดยฉวยใช้สาขาวิชาการ (discipline) กับความรู้ต่างๆ เพื่อแสดงให้เห็นว่า “ความจริง” นั้นๆแท้แน่นอนมาแต่เก่าก่อนอย่างไร ดังนั้น หมายความว่าปัญหาไม่น่าจะอยู่ที่การค้นหาว่า “ความจริง” อันใดจริงแท้แน่นอนที่สุด เพราะ “ความจริง” ต่างๆก็ล้วนถูกผลิตขึ้นมาด้วยกันทั้งนั้น โจทย์จึงอยู่ที่ “ความจริง” แต่ละอย่างหรือแต่ละรูปลักษณ์ถูกผลิตขึ้นมาอย่างไร ยิ่งกว่านั้นปัญหามิได้อยู่ที่ข้อต่างระหว่าง “ความจริง” กับ “ความเท็จ” แต่อยู่ที่ในสังคมมนุษย์มี “ความจริง” หลายรูป “ความจริง” รูปหนึ่งอาจ “จริงกว่า” “ความจริง” อีกรูปหนึ่ง แต่พลังของ “ความจริง” ดังกล่าวขึ้นต่อประสิทธิภาพในการผลิต “ความจริง” นั้นๆ หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่าขึ้นต่อความสามารถในการจัดการ “ความจริง” ของสถาบันต่างๆที่ทำหน้าที่ผลิตความจริงนั้นๆ และ “ระบอบแห่ง ‘ความจริง’” ที่กำกับสังคมนั้นๆอยู่


นอกจากนั้นถ้าสถาบันที่ทำหน้าที่ผลิต “ความจริง” เหล่านี้เป็นสถาบันสาธารณะที่ส่งผลกระทบต่อสังคมได้กว้างขวาง อย่างสถาบันวิชาการ สื่อมวลชน หรือสถาบันทางกฎหมายอย่างศาล ความสัมพันธ์ระหว่าง “ความจริง” กับอำนาจก็จะยิ่งเข้มข้น เพราะสถาบันสาธารณะเหล่านี้ได้สิทธิอำนาจ (authority) มาจากความสามารถที่จะพูด “ความจริง” ในบางสถานการณ์ เช่น คำฟ้องของโจทก์ คำแก้ข้อกล่าวหาของจำเลย และที่สุดคำตัดสินของศาลว่าผู้ต้องหากระทำผิดหรือบริสุทธิ์จะกลายเป็น “ความจริง” ต่างๆเกี่ยวกับคดีและชีวิตของผู้เกี่ยวข้องกับคดีนั้นๆ หรือข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ก็จะมีสถานะของ “ความจริง” ในสายตาของสาธารณชน ยิ่งในยามที่ยืนยันหลักฐานผ่านแหล่งข่าวที่เป็นทางการได้ “ความจริง” เช่นนั้นในบางสังคมอย่างสังคมไทยก็อาจมีประสิทธิภาพในการเพิ่มความเชื่อถือยิ่งขึ้นในกระบวนการจัดการ “ความจริง” เกี่ยวกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยได้


การทำงานต่อ?


แทบทุกครั้งที่เกิดเหตุรุนแรงที่กลางเมืองจนมีผู้คนบาดเจ็บล้มตาย มักพบว่ามีผู้เกี่ยวข้องกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นหลากหลายทั้งในแง่ตัวละคร โครงสร้างและวัฒนธรรม ขณะเดียวกันความรุนแรงที่บังเกิดก็ประกอบขึ้นจาก “ความเป็นจริง” หลายชั้น ซึ่งมาจากสาเหตุที่สลับซับซ้อน ผสานกับเหตุผลรองรับหลายประเภท


ด้วยเหตุนี้ข้าพเจ้าเคยตั้งคำถามว่า เมื่อ “หา” ความรุนแรงที่ “ซ่อน” อยู่จนพบแล้วควรทำเช่นไร เมื่อได้เห็นร่างของสังคมไทยที่รุนแรงสลับซับซ้อนไม่เรียบง่าย สงบเย็นอย่างที่เคยเข้าใจมาแต่ก่อน แล้ว “เรา” ยังจะอยู่กับสังคมไทยอย่างไร และที่สำคัญยิ่งกว่านั้นเมื่อเห็น “ร่าง” แห่งความรุนแรงที่ “ซ่อน” อยู่แล้วยังมีพลังอำนาจพอที่จะยกโทษให้ทั้งสังคมไทยและตนเองได้หรือไม่? จะทำอย่างไรกับโลกเช่นนี้ได้? จะจดจำอดีตที่เจ็บปวดโดยไม่ขมขื่นได้อย่างไร?
บางทีบทกวีสักบทอาจช่วยชี้ได้ว่าควรคิดอย่างไรกับโลกเช่นนี้ คุรุเทพ รพินทรนาถ ฐากูร รจนาไว้ในบทกวี “นกเถื่อน” ว่า


“Power said to the world,
‘You are mine.’
The world kept it prisoner on her throne.
Love said to the world, ‘I am thine.’
The world gave it the freedom of her house.”
“อำนาจกล่าวแก่โลกว่า ‘เจ้าเป็นของข้าฯ’
โลกจึงคุมขังอำนาจไว้บนบัลลังก์ของพระนาง
รักกล่าวแก่โลกว่า ‘ข้าฯเป็นของท่าน’
โลกจึงประทานอิสระแห่งราชวังของพระนางให้กับรัก”




ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 310 

วันที่ 14-20 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 หน้า 5-8 
คอลัมน์ ข่าวไร้พรมแดน โดย ทีมข่าวการเมือง
2011-05-16
http://redusala.blogspot.com