วันศุกร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

การก่อรูปของอำนาจที่นำไปสู่ยุคล่าแม่มด



เกริ่นนำ

มีข้อเขียนภาษาไทยหลายชิ้นหยิบยกคำว่า “ล่าแม่มด” ขึ้นมาใช้ ทั้งในรูปแบบงานเขียนทางวิชาการ, กึ่งวิชาการ หรือการแสดงความคิดทั่วไป แต่โดยนัยของบริบทในภาษาไทยมุ่งให้ความหมายเป็น “การกวาดล้างบรรดาผู้ที่คิดเห็นแตกต่าง หรือปฏิบัติตนแปลกแยก” ซึ่งการกวาดล้างนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัย “อำนาจ” แต่นามธรรมที่เรียกว่า “อำนาจ” ไม่ได้ปรากฏขึ้นอย่างลอยๆ หรือเป็นเหตุบังเอิญ หากแต่มีแรงจูงใจและต้องมีการก่อการ จึงจะนำไปสู่การก่อรูป, ประกอบสร้าง, เตรียมการ ท้ายที่สุด กระบวนการแห่งอำนาจย่อมเข้าขั้นสมบูรณ์ในระดับที่กวาดล้างได้ อาจกล่าวว่า เบ็ดเสร็จในระดับหนึ่ง เป็นที่ทราบกันดีว่า ในทุกระบอบการปกครอง “อำนาจ” เป็นสิ่งที่ปรากฏขึ้นและบังคับใช้ ด้วยเหตุผลต่างๆกันไปในแต่ละยุค ที่น่าสนใจคือ อำนาจที่สุกงอมมากพอจนสามารถกวาดล้างบรรดาผู้ที่คิดเห็นแตกต่างหรือปฏิบัติตนแปลกแยก และมีความชอบธรรมในการจับกุมคุมขัง, ทรมาน, ละเมิดความเป็นมนุษย์ในยุคมืด (Dark age) ซึ่งเป็นอีกชื่อหนึ่งของยุคกลาง (Medieval age) มีการก่อรูปของอำนาจอย่างไร? กระบวนการดังกล่าวอ้างอิง หรือ แอบอ้างชุดความคิด หรือเหตุผลอะไรในการพัฒนาอำนาจนั้น?

ใครมีอำนาจสูงสุดในยุคมืด?

คำตอบ คือ สันตะปาปา และในความเข้าใจของศตวรรษที่ 21 สันตะปาปา คือ ผู้นำสูงสุดแต่เพียงพระองค์เดียวของศาสนจักร ซึ่งมีลักษณะเป็นรัฐศาสนา (ในหนังสือสาระสังคมศึกษาฯ สำหรับนักเรียนระดับต่ำกว่าอุดมศึกษา สรุปสั้นๆ ว่า นครรัฐวาติกัน ปกครองด้วยระบอบเผด็จการ) แต่ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษ สันตะปาปา มีอำนาจสูงสุดตั้งแต่แรกหรือไม่ ตอบได้เลยว่า “ไม่มี” เพราะก่อนหน้า คริสตศักราช 445 ตำแหน่งพระสังฆราชแห่งโรม (Bishop of Rome) มิได้มีศักดิ์และสิทธิ์เหนือไปกว่าผู้นำคริสตชนกลุ่มย่อยอื่นๆ อย่างสังฆราชแห่งเมืองคอนสแตนติโนเปิล (Bishop of Constantinople) ซึ่งเป็นผู้นำคริสตชนในเมืองที่เคยเป็นเมืองสำคัญของจักรพรรดิคอนสแตนติน เลยแม้แต่น้อย แต่สังฆราชแห่งโรมในขณะนั้นอ้าง “พระคัมภีร์” (Text) และชี้ว่าความเป็นสังฆราชแห่งโรมนั้น ถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางของการปกครองกลุ่มคริสตชนทั้งมวล เนื่องจาก นักบุญเปโตร (St.Peter) ตายและถูกฝังไว้ที่นี่ และข้อพระคัมภีร์ที่ชี้เรื่องพระเจ้าทรงบัญชาให้ศาสนจักรตั้งอยู่บนศิลา (Petrus หรือ Petro แปลว่า ศิลา) ก็เป็นสิ่งที่คัดง้างได้ยากในบริบทของยุคนั้น (ต่อมาการอ้างว่า เมืองใหญ่ๆ ได้รับเทวลิขิตจากพระเจ้าก่อให้เกิดปัญหามากมายกับสันตะปาปาเอง) และจักรพรรดิวาเลนตีเนียนที่ 3 ทรงคล้อยตามข้ออ้างนี้ จึงประกาศให้สังฆราชทุกองค์ในจักรวรรดิโรมันตะวันตกขึ้นตรงต่อคำสั่งสอนของสังฆราชแห่งโรม [1] หลังจากช่วงเวลาดังกล่าวไม่กี่ปี มีการเผยแพร่เอกสารชุดหนึ่งชื่อ “Donatio Constantini” (การถวายของจักรพรรดิคอนสแตนติน) เพื่อบอกว่า อำนาจอาชญาสิทธิ์ของสังฆราชแห่งโรมนั้นเป็นสิ่งที่มีมาอยู่ก่อนแล้ว ที่สุดแม้จะมีผู้โต้แย้งด้วยวิธีการทางภาษาศาสตร์เพื่อสรุปว่าเอกสารฉบับนี้เป็นของปลอม[2] แต่อำนาจเหนือกษัตริย์กลับยังคงอยู่ และเข้มข้นขึ้นอย่างต่อเนื่องในรูปแบบธรรมกษัตริย์ผู้ซึ่งกษัตริย์นักรบต้องศิโรราบให้

ดังนั้น การก่อรูปของอำนาจในยุคมืดไม่ยากเลยแม้แต่น้อย ขอเพียงมี กองทัพที่เกรียงไกร, พระธรรมคัมภีร์ และกษัตริย์เหนือกษัตริย์ ซึ่งความเหิมเกริมในอำนาจนี้นำไปสู่การฆ่าผู้บริสุทธิ์มากมาย และเป็นเหตุให้เกิดสงครามครูเสด


จากเทวอำนาจสู่การตราไว้เป็นลายลักษณ์อักษร

การตราไว้เป็นลายลักษณ์อักษรเป็นกระบวนการที่สำคัญมากในยุคมืด ดังนั้น สิ่งใดที่ตราไว้เป็นลายลักษณ์อักษร และถูกรับรองแล้วโดยตัวแทนของพระคริสต์บนโลกนี้ สิ่งนั้นย่อมเป็นที่เชื่อถือได้ การยึดโยงเรื่องอักษรเช่นนี้เองเป็นต้นกำเนิดของ “นิติกรรม” (jurisprudentium) ซึ่ง “ตัวอักษร” ในฐานะ “สัญญะ” จะแบ่งคนออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ รู้หนังสือ กับ ไม่รู้หนังสือ และผู้ที่รู้หนังสือ นั่นคือ พวกที่เข้าใจซาบซึ้งในเทวอำนาจ (ส่วนผู้รู้หนังสือที่ไม่ซาบซึ้งในเทวอำนาจ คือ พวกนอกรีต) แน่นอน วัฒนธรรม (ผ่านพิธีกรรมทางศาสนา) ย่อมหล่อหลอมให้พวกเขาเกิดความภาคภูมิใจที่ได้รับใช้ธรรมกษัตริย์ผู้ซึ่งกษัตริย์นักรบต้องศิโรราบ จึงไม่แปลกที่ฝ่ายที่รับใช้ธรรมกษัตริย์ หรือสันตะปาปา จะเกิดความเหิมเกริมว่าเป็น “อภิสิทธิ์ชน” (ชนที่ถูกเลือกสรร) ทั้งที่สถานะของธรรมกษัตริย์หรือผู้นำคริสตชนนั้นเป็นเพียงผู้นำทางจิตวิญญาณเท่านั้น (Spiritual Leader) อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้รับใช้ของทั้งสองฝ่ายสมประโยชน์กัน “ตำแหน่งผู้นำสูงสุดของกษัตริย์นักรบ” ก็ถูกเปลี่ยนมือได้ง่ายๆ ราวกับว่าไม่เคยมีอยู่ ดังจะเห็นได้จาก การปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ของขุนนางตระกูลกาโรลิงเจียน (Carolingian) ที่สันตะปาปาสนับสนุนอย่างเปิดเผย และเมื่อเปแปงในฐานะอำมาตย์ใหญ่ตระกูลกาโรลิงเจียนขึ้นครองราชย์ในปี 751 พระองค์ไม่รีรอที่จะถวายที่ดินส่วนหนึ่งในคาบสมุทรอิตาลีให้สันตะปาปานักบุญสเตเฟนที่ 2 เป็นการตอบแทนศาสนจักร นั่นเป็นครั้งแรกที่ธรรมกษัตริย์ถือครองกรรมสิทธิ์ในผืนแผ่นดินโลกด้วย (ไม่ใช่แต่บนสวรรค์) ซึ่งฝ่ายชนชั้นปกครองและนักบวชได้ผลิตเอกสารมากมายในช่วงเวลานี้ และในหลายฉบับนั้นเป็นการปลอมเอกสารเพื่อโฆษณาชวนเชื่ออย่าง Donatio Constantini ตามที่กล่าวไป ที่น่าสนใจ คือ จำนวนผู้ที่ยังไม่เข้าถึงการศึกษามีอีกมาก (กล่าวกันว่า ยุคมืด คือ ยุคที่เกิดความเสื่อมถอยทางการเรียนรู้ของผู้คนในสังคม) นั่นอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้การก่อรูปของอำนาจผ่านตัวอักษรเป็นไปโดยง่าย เพราะจะเห็นว่า เมื่อมีการก่อตั้งวิถีชีวิตแบบอารามฝ่ายพรตขึ้นในหลายทศวรรษให้หลัง เมื่อมีคนได้รับการศึกษาและมีการสั่งสมความรู้มากขึ้นโดยลำดับ อารามได้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้และที่เก็บตำรับตำรา จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดการตั้งคำถามต่ออำนาจ แม้ว่า จะไม่เป็นการเรียกร้องเสรีภาพโดยสมบูรณ์ แต่อย่างน้อยก็เป็นการตื่นรู้ที่ว่า “ชีวิตที่ดีตามนัยแห่งศาสนา ไม่น่าจะใช่ชีวิตที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำต่ำสูงของฐานะและศักดินา” และในท้ายๆของยุคกลาง หลังศาสนจักรผ่านการล่าแม่มดมาอย่างนองเลือดแล้ว ปี 1517 มาร์ติน ลูเธอร์ นักพรตคณะเอากุสตีเนียน (Augustinian monk) ได้เคลื่อนไหวในฐานะปัญญาชนต่อนโยบายที่ไม่เป็นธรรมของศาสนจักรในขณะนั้นจนนำไปสู่การปฏิรูปทางศาสนา (แม้กระนั้น ลูเธอร์ ก็มิได้หลุดพ้นจากกรอบเรื่องความดีและชั่วแต่อย่างใด เขาสนับสนุนให้รัฐมีอำนาจโดยชอบในการกำจัดคนชั่ว) สิ่งที่น่าจะสรุปได้คือ ช่วงที่เกิดการล่าแม่มดนั้น การสั่งสมองค์ความรู้ยังไม่มากพอที่จะผลิตโลกทัศน์ใหม่ๆให้กับยุคมืด


วิธีการล่าแม่มดและเทวอำนาจ

การปกครองในยุคมืดเน้น “ความเป็นเอกภาพหนึ่งเดียว” นั่นหมายถึง ทุกอย่างต้องมีแบบแผนซึ่งถูกรับรองแล้วแบบแผนเดียว นั่นคือเป็น “จารีต” และใครก็ตามที่คิดหรือปฏิบัติ หรือทำเพิกเฉยต่อ “จารีต” ดังกล่าว ย่อมถูกตั้งข้อสงสัยว่า “นอกรีต” โดยปริยาย แต่ถ้าไม่มีอำนาจมาช่วยขับเคลื่อน คำว่า “จารีต / นอกรีต” ก็เป็นเพียงคำหนึ่งที่บ่งบอกสภาพการเปรียบเทียบให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไรเท่านั้น แต่ในยุคมืดอำนาจทางการเมืองทั้งฝ่ายโลกและฝ่ายศาสนจักรเข้ามาแทรกแซงและจัดการให้ “นอกรีต” เป็นสิ่งร้ายแรง เป็นต้น การตราเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ให้มีโทษถึงชีวิต เช่น ความสุขต้องเป็นไปอย่างที่ถูกกำหนดไว้ในพระคัมภีร์เท่านั้น ถ้าพฤติกรรมใดที่ทำแล้วเกิดสุข แต่สุขดังกล่าวขัดหรือแย้ง หรือเชื่อได้ว่าขัดแย้งกับที่พระคัมภีร์กำหนดไว้ให้ถือว่าเป็น “เรื่องนอกรีต” ตัวอย่างที่มีชื่อเสียงคือ การเปลี่ยนความหมายของรักร่วมเพศ ให้กลายเป็นพฤติกรรมนอกรีตที่ชั่วร้าย โดยอ้างพระคัมภีร์เรื่องเมืองโสดมโกโมราห์ (เป็นที่มาของคำว่า Sodomy) และสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือการลดทอนความเป็นมนุษย์ (Dehumanize) ของผู้ที่เชื่อว่าเป็นพวกนอกรีตให้กลายเป็นเพียงสัตว์ นั่นคือ การกำหนดว่าผู้ที่คิดเห็นแตกต่างจากธรรมรัฐต้องเป็นสัตว์ มีสถานะต่ำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และทางออกที่ดีที่สุด คือ การกวาดล้างสัตว์ในร่างมนุษย์พวกนี้เสีย และ การทำร้ายหรือฆ่าสัตว์ในร่างมนุษย์พวกนี้ไม่ถือว่ามีความผิดบาป ทั้งยังจำเป็นต้องส่งเสริมให้กระทำอย่างกว้างขวางเพื่อความสงบเรียบร้อยของสังคมอีกด้วย ดังนั้น นักบวชหรือชนชั้นปกครองย่อมส่งเสริมการฆ่าเพื่อควบคุมความคิดเห็นที่แตกต่างและอาจจะเป็นภัยต่อรัฐด้วยเหตุนี้ การเผาทำลายตำรานอกรีต เป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงถึงความจริงใจที่จะทำลายองค์ความรู้อื่น โดยไม่แสดงความเสียดายเพราะเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ (แต่ประวัติศาสตร์กลับพบว่ามีการทำสำเนาหนังสือเหล่านั้นไว้ด้วย ที่สุดหนังสือนอกรีตก็ยังคงซ่อนเร้นอยู่ในสังคมต่อไป)

กระบวนการสอบสวนจนนำมาสู่ตำราล่าแม่มด (malleus maleficarum) พัฒนามาจากแนวคิดของนักปรัชญาอย่าง นักบุญโธมัส อากวีนูส (St.Thomas Aquinas) ในงานเขียน Summa Theologica ซึ่งสถาปนาเรื่อง “lex naturalis” (Natural Law) หรือที่รู้จักกันในชื่อ “กฎหมายโดยธรรมชาติ” แต่เพราะกฎหมายโดยธรรมชาตินี้ผูกโยงเข้ากับเรื่องเหนือธรรมชาติอย่าง “พระประสงค์ของพระเจ้า” จึงทำให้ความดีงามคือสิ่งที่พระเจ้าลิขิต และแน่นอน ธรรมรัฐโดยสันตะปาปาย่อมอ้างความเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมขององค์พระผู้เป็นเจ้า ฉะนั้น สิ่งที่สันตะปาปาลิขิตก็ย่อมเป็นสิ่งดีงาม และไม่รู้จักผิดหลงหรือพลาดพลั้ง (papal infallibility) นั่นคือ แนวคิดที่มีนัยทางนิติศาสตร์ที่คุ้มครองสันตะปาปาในฐานะประมุขของรัฐศาสนา มิให้ต้องกลายเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่าดำเนินนโยบายที่ผิดพลาด  แต่ปัญหานี้จัดได้ว่าเป็นปัญหาคลาสสิคในประวัติศาสตร์ยุโรปสมัยกลางเพราะมีการกระทบกระทั่งกันอยู่เสมอระหว่างกษัตริย์นักรบ กับ ธรรมกษัตริย์ เกี่ยวกับเรื่องการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาด บ่อยครั้งเกิดจากความดื้อรั้นและอนุรักษ์นิยมสุดโต่งของสันตะปาปา และนั่นไม่เป็นผลดีกับศาสนจักรในอนาคต ไม่ว่าจะเป็น การล่าแม่มด, การแตกแยกของนิกาย, ผลประโยชน์ในสันตะสำนัก เพราะเห็นได้ชัดแล้วว่า “การยอมรับว่าตนเองเป็นคนบาป” (Confession) เป็นอะไรที่ดีกว่าการประกาศว่าตนเองทรงความดีบริสุทธิ์ผุดผ่อง (Purity) อย่างไรก็ตาม สันตะปาปาหลายพระองค์ในประวัติศาสตร์ได้ใช้อำนาจนี้ล่าแม่มด [3]


บทสรุป

การเถลิงอำนาจขึ้นของสันตะปาปาในฐานะธรรมกษัตริย์ ไม่เคยแยกออกจากกลุ่มอำมาตย์ที่สนับสนุนเพื่อความสมประโยชน์ โดยองค์ประกอบที่ยุคมืดใช้ชำระให้ธรรมกษัตริย์มีความชอบธรรม คือ “พระคัมภีร์” และจะเน้นย้ำถึง “ความเป็นผู้ที่ถูกเลือกสรร”, “คนพิเศษ”, “ตัวแทนอำนาจจากสวรรค์” แต่แล้วด้วยความไม่มั่นคงทางจิตใจ ธรรมกษัตริย์และกษัตริย์นักรบ พร้อมทั้งอำมาตย์ที่ปรึกษา ต้องสร้างเอกสารเท็จขึ้นมาเพื่อชวนเชื่อและกล่อมเกลาประชาชนให้รู้สึกว่า “อำนาจโดยชอบนี้เป็นสิ่งที่ตกทอดมา”, “มองในแง่ไหนก็มีความชอบธรรมทั้งสิ้น” เพราะความที่ประชาชนยังไม่เข้าถึงการศึกษา (ถูกปิดกั้นโอกาสที่จะศึกษา) จึงไม่สามารถที่จะเข้าใจนัยยะซ่อนเร้น หรือวิเคราะห์เรื่องเท็จที่พวกเขายกเอามาหลอกลวงได้ [4]  จึงกลายเป็นว่า ต้องยอมรับและถูกทำให้เชื่องโดยปริยาย แต่โลกใบนี้เวลาเดินไปข้างหน้าเสมอ อย่างไรเสีย องค์ความรู้ก็เกิดการสั่งสมขึ้นมาได้สักวันไม่ว่าจะปิดกั้นอย่างไร สุดท้ายแล้ว การปะทะกันของความคิดเห็นที่แตกต่างก็เกิดขึ้นและจะนำไปสู่การกวาดล้างหรือที่เรียกว่า “การล่าแม่มด” กระนั้นก็ดี จะเห็นว่า แทนที่การล่าแม่มด จะช่วยทำให้อำนาจของธรรมกษัตริย์และกษัตริย์นักรบสถาพรมั่นคง แต่ไม่เลย สิ่งนี้กลับสั่งสมความโกรธแค้นไว้นานนับศตวรรษ ทำให้เกิดปฏิกิริยาสวนโต้ที่ป่าเถื่อนภายหลังพ้นจากยุคมืดไม่กี่ร้อยปี เพราะเมื่อมนุษย์เริ่มศึกษาอะไรมากเข้าแล้ว ก็ย่อมเกิดคำถามที่ว่า “ชีวิตที่ดีตามนัยแห่งศาสนา ไม่น่าจะใช่ชีวิตที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำต่ำสูงของฐานะและศักดินา”มากไปกว่านั้นในศตวรรษที่ 21 ชีวิตที่ดี ไม่จำเป็นต้องตามนัยแห่งศาสนา หรือตามนัยของอริสโตเติลก็ได้ และข้อมูลต่างๆ ที่ใช้ในการถกเถียงกันเพื่อพิสูจน์ว่า “ความสุขของมนุษย์คืออะไร?” ก็อาจจะไม่ใช่อย่างที่เขาชวนเชื่อหลอกลวงกันในยุคมืด และผู้คนในยุคมืดจะเรียกเสรีภาพแห่งความคิดนี้ว่า “กบฏนอกรีต” ควรถือเป็นเรื่องธรรมดาที่เขาจะอยากฆ่าเราให้ตายโดยที่เขาไม่เกิดความรู้สึกผิดอะไร น่าสนใจว่า ใครกันคือสัตว์ในร่างคน? แล้วธรรมรัฐจะเป็นสิ่งที่มีอยู่จริงได้อย่างไร?

อ้างอิง

[1] Canduci, Alexander, Triumph and Tragedy: The Rise and Fall of Rome’s Immortal Emperors, Pier 9 (2010) หนังสือเล่มนี้อธิบายการก่อรูปของอำนาจธรรมกษัตริย์ภายใต้ความเป็นโรมันได้ดีในระดับหนึ่ง เพื่อจะได้สังเกตลักษณาการของอำนาจทางธรรมและทางโลกที่เข้าสู่พรมแดนของการหาประโยชน์ร่วมกัน

[2] Camporeale, Salvatore I. "Lorenzo Valla's Oratio on the Pseudo-Donation of Constantine: Dissent and Innovation in Early Renaissance Humanism." Journal of the History of Ideas (1996) 57#1 ข้อโต้แย้งของ Lorenzo Valla นักบวชคาทอลิกที่ชี้ว่าเอกสารการถวายของจักรพรรดิคอนสแตนตินเป็นเอกสารเท็จที่เขียนขึ้นในภายหลัง พิสูจน์ด้วยวิธีทางภาษาศาสตร์

[3] Douglas Linder (2005).A Brief  History of Witchcraft Persecutions before Salem.

[4] ธนัชชนม์ ธนาธิป-ปริพัฒน์. (2013) . ชุดคำบอกเล่าในยุคมืด(และ)ของประเทศไทย?

มาตรา ๑๗ ของจอมพลสฤษดิ์ มาตรา ๔๔ ของ พล.อ.ประยุทธ เหมือนกับมาตรา ๑๖ ของนายพลเดอโกลล์ จริงหรือ?



ตามบันทึกของนายสมภพ โหตระกิตย์ เนติบริกรรุ่นแรก กล่าวไว้ว่า พระยาอรรถการีย์นิพนธ์ คือ ผู้ยกร่างธรรมนูญการปกครอง ๒๕๐๒ และมาตรา ๑๗ สมัยสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดยนำตัวแบบมาจากมาตรา ๑๖ ของรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส ๑๙๕๘ สมัยสาธารณรัฐที่ ๕

ล่าสุด นายวิษณุ เครืองาม ได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวเรื่องรัฐธรรมนูญชั่วคราว ๒๕๕๗ มาตรา ๔๔ ไปเชื่อมโยงกับมาตรา ๑๗ ของจอมพลสฤษดิ์ และโยงไปถึงรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส มาตรา ๑๖ อีกครั้ง

ที่จำๆท่องๆพูดๆต่อกันมาว่า มาตรา ๑๗ ของสฤษดิ์ ไปลอกมาจากมาตรา ๑๖ ของนายพลเดอโกลล์ นั้น อาจจะ "ลอก" จริงก็ได้ แต่ "ลอก" มาไม่หมด และไม่เหมือนกันเลย

ความคิดพื้นฐานอาจคล้ายกันเรื่อง "อำนาจเผด็จการ" ในการแก้ไขวิกฤติ แต่ในรายละเอียดแล้ว ต่างกันมาก

ผมขออธิบาย มาตรา ๑๖ ของรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส ดังนี้

ระว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ในเดือนมิถุนายน ๑๙๔๐ ฝรั่งเศสประกาศยอมแพ้เยอรมนี และอนุญาตให้กองทัพนาซีเข้ามายึดครองแผ่นดินฝรั่งเศสได้ จากเหตุการณ์ในครั้งนั้น นายพลชาร์ลส์ เดอโกลล์เห็นว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะความอ่อนแอและไร้เสถียรภาพของรัฐบาล ในยามวิกฤต รัฐบาลกลับปราศจากอำนาจที่เด็ดขาดและเข้มแข็งเพียงพอที่จะรักษาเอกราชของประเทศได้ ด้วยเหตุนี้ เมื่อมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่และประกาศเริ่มต้นสาธารณรัฐที่ ๕ นายพลเดอโกลล์ในฐานะผู้นำการปฏิรูปการเมือง จึงเสนอให้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจพิเศษของผู้นำประเทศในกรณีที่เกิดวิกฤตการณ์ร้ายแรง และในท้ายที่สุดก็กลายเป็นเขาเองที่เป็นประธานาธิบดีเพียงคนเดียวที่นำบทบัญญัตินี้มาใช้

รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐที่ ๕ มาตรา ๑๖ กำหนดให้ประธานาธิบดีมีอำนาจพิเศษในวิกฤตการณ์พิเศษ โดยมีเงื่อนไขการใช้อำนาจซึ่งแบ่งได้ ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ เงื่อนไขทางเนื้อหา และเงื่อนไขทางรูปแบบ

ในส่วนเงื่อนไขทางเนื้อหา ข้อหนึ่ง ต้องเกิดสถานการณ์ที่สถาบันแห่งสาธารณรัฐ เอกราชของชาติ บูรณภาพแห่งอาณาเขตของสาธารณรัฐ หรือการบังคับการตามพันธกรณีระหว่างประเทศถูกคุกคามอย่างร้ายแรงและทันทีทันใด ข้อสอง สถานการณ์ตามข้อหนึ่งนั้น เป็นเหตุให้การดำเนินการตามปกติขององค์กรตามรัฐธรรมนูญต้องหยุดชะงักลง และข้อสาม มาตรการที่ประธานาธิบดีใช้จะต้องดำเนินไปในระยะเวลาจำกัดที่สุดและเป็นไปเฉพาะเท่าที่มีความจำเป็นเพื่อให้การดำเนินการขององค์กรตามรัฐธรรมนูญเป็นไปตามปกติ

ในส่วนเงื่อนไขทางรูปแบบ ข้อหนึ่ง ประธานาธิบดีต้องปรึกษาหารืออย่างเป็นทางการต่อนายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา และคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ก่อนการประกาศใช้อำนาจ เงื่อนไขข้อนี้มีข้อสังเกตว่าความเห็นของนายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา และคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ไม่ได้มีผลผูกมัดประธานาธิบดี ข้อสอง ประธานาธิบดีจะต้องแถลงการณ์การใช้มาตรการดังกล่าวให้ประชาชนทราบ

เมื่อประธานาธิบดีตัดสินใจประกาศใช้อำนาจตามมาตรา ๑๖ ดังกล่าวแล้ว ผลก็คือ อำนาจทุกประการรวมศูนย์อยู่ที่ตัวประธานาธิบดี ประธานาธิบดีมีอำนาจกระทำการใดๆก็ได้เพื่อแก้วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น อีกนัยหนึ่ง คือ เป็น “เผด็จการชั่วคราว” นั่นเอง อย่างไรก็ตามมีข้อยกเว้นอยู่สองประการที่ประธานาธิบดีไม่อาจทำได้ หนึ่ง ประธานาธิบดีไม่อาจยุบสภาได้ นั่นก็หมายความว่า สภาผู้แทนราษฎรยังคงทำหน้าที่ได้ตามปกติทั้งการออกกฎหมายและการควบคุมฝ่ายบริหาร แต่สภาไม่อาจควบคุมมาตรการที่เป็นผลจาการใช้อำนาจตามมาตรา ๑๖ สอง ประธานาธิบดีไม่อาจอ้างมาตรา ๑๖ เพื่อใช้แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะ มาตรา ๑๖ อนุญาตให้ประธานาธิบดีออกมาตรการใดๆก็ได้เพื่อแก้ไขให้องค์กรตามรัฐธรรมนูญกลับมาดำเนินการตามปกติ ซึ่งเราตีความได้โดยปริยายว่าต้องแก้ไของค์กรตามรัฐธรรมนูญและอำนาจในระดับรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้อยู่ในรัฐธรรมนูญในขณะนั้นเท่านั้น จะไปแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ไม่ได้

จนถึงปัจจุบัน ฝรั่งเศสมีการใช้อำนาจตามมาตรา ๑๖ เพียงครั้งเดียวในสมัยประธานาธิบดีชาร์ลส์ เดอโกลล์ เมื่อปี ๑๙๖๑ ต่อกรณีวิกฤตแอลจีเรียซึ่งในขณะนั้นยังเป็นส่วนหนึ่งของฝรั่งเศส การใช้มาตรา ๑๖ ในครั้งนั้น เดอโกลล์ได้ออกมาตรการที่ขัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นจำนวนมาก ดังจะเห็นได้จากการออกคำสั่งจัดตั้งศาลพิเศษในแอลจีเรีย ซึ่งโดยหลักแล้วการจัดตั้งศาลต้องทำโดยกฎหมายระดับรัฐบัญญัติ และการจัดตั้งศาลเพื่อกรณีใดกรณีหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจงย่อมไม่อาจทำได้ นอกจากจะออกมาตรการที่กระทบสิทธิและเสรีภาพเป็นจำนวนมาก การใช้อำนาจตามมาตรา ๑๖ ในกรณีแอลจีเรียยังกินเวลายาวนานถึง ๕ เดือนอีกด้วย

แม้บทบัญญัติในมาตรา ๑๖ จะมีไว้เพื่อป้องกันวิกฤตการณ์ร้ายแรงที่อาจเกิดโดยไม่คาดหมาย แต่หลังจากผ่านการใช้ในกรณีแอลจีเรีย ก็มีเสียงวิจารณ์อยู่มากต่อประเด็นที่อำนาจรวมศูนย์อยู่ที่ประธานาธิบดีมากจนเกินไปถึงขนาดไม่มีองค์กรใดตรวจสอบถ่วงดุล เช่นนี้ย่อมสุ่มเสี่ยงที่ประธานาธิบดีจะประกาศใช้อำนาจตามมาตรา ๑๖ ได้ตามอำเภอใจ จริงอยู่ แม้รัฐธรรมนูญกำหนดให้ประธานาธิบดีต้องหารือกับองค์กรอื่นๆอยู่ แต่ความเห็นขององค์กรอื่นก็ไม่มีผลผูกมัดประธานาธิบดี นอกจากนี้ระยะเวลาการใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา ๑๖ ก็ไม่มีกำหนดไว้ จึงเป็นไปได้ว่าประธานาธิบดีอาจไม่ยกเลิกการประกาศใช้อำนาจพิเศษ ดังที่ประธานาธิบดีเดอโกลล์ได้รับการวิจารณ์จากการใช้มาตรา ๑๖ ในกรณีแอลจีเรียยาวนานถึง ๕ เดือน ทั้งๆที่วิกฤตการณ์เริ่มคลี่คลายลงแล้ว

ข้อวิจารณ์ดังกล่าว นำมาซึ่งการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๑๖ เสียใหม่ โดยกำหนดให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญเข้ามามีบทบาทตรวจสอบ ในฐานะเป็นองค์กรพิทักษ์รัฐธรรมนูญ กล่าวคือ ในกรณีมีการประกาศใช้อำนาจตามมาตรา ๑๖ ไป ๓๐ วัน ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ๖๐ คนขึ้นไป หรือสมาชิกวุฒิสภา ๖๐ คนขึ้นไป อาจร้องขอต่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญให้พิจารณาว่า ณ เวลานั้น เงื่อนไขที่ว่าต้องเป็นสถานการณ์ที่สถาบันแห่งสาธารณรัฐ เอกราชของชาติ บูรณภาพแห่งอาณาเขตของสาธารณรัฐ หรือการบังคับการตามพันธกรณีระหว่างประเทศถูกคุกคามอย่างร้ายแรงและทันทีทันใด อันเป็นเหตุให้การดำเนินการตามปกติขององค์กรตามรัฐธรรมนูญต้องหยุดชะงักลง ยังคงดำรงอยู่หรือไม่ คณะตุลาการรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาโดยเร่งด่วน

ในกรณีมีการประกาศใช้อำนาจตามมาตรา ๑๖ เป็นเวลา ๖๐ วันขึ้นไป คณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีสิทธิหยิบยกขึ้นพิจารณาด้วยตนเอง โดยไม่ต้องมีผู้ใดร้องขอ เพื่อตรวจสอบว่า ณ เวลานั้น ยังคงเป็นสถานการณ์ที่สถาบันแห่งสาธารณรัฐ เอกราชของชาติ บูรณภาพแห่งอาณาเขตของสาธารณรัฐ หรือการบังคับการตามพันธกรณีระหว่างประเทศถูกคุกคามอย่างร้ายแรงและทันทีทันใด อันเป็นเหตุให้การดำเนินการตามปกติขององค์กรตามรัฐธรรมนูญต้องหยุดชะงักลง อยู่หรือไม่

นอกจากนี้ ศาลยังเข้ามามีบทบาทในการตรวจสอบการใช้อำนาจตามมาตรา ๑๖ อีกด้วย ศาลปกครองสูงสุดได้วางหลักไว้ในคำพิพากษาในคดี Rubin de servens เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม ๑๙๖๒ รวมสองประเด็น ดังนี้

๑.) การตัดสินใจประกาศใช้อำนาจตามมาตรา ๑๖ ของประธานาธิบดี เป็นการกระทำทางรัฐบาล ซึ่งไม่อยู่ภายใต้การควบคุมขององค์กรตุลาการ ๒.) มาตรการต่างๆที่ใช้ในช่วงเวลาที่ประกาศการใช้อำนาจตามมาตรา ๑๖ อยู่ภายใต้การควบคุมขององค์กรตุลาการ ทั้งนี้แล้วแต่กรณี เช่น มาตรการที่มีสถานะเทียบเท่ากับคำสั่งทางปกครองหรือกฎก็อยู่ภายใต้การควบคุมของศาลปกครอง ในคดีนี้ มาตรการที่ผู้ฟ้องคดีขอให้ศาลปกครองเพิกถอน คือ คำสั่งของประธานาธิบดีที่ให้จัดตั้งศาลทหารพิเศษในแอลจีเรีย ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญมาตรา ๓๔ กำหนดว่าการจัดตั้งศาลต้องทำเป็นพระราชบัญญัติ ดังนั้น คำสั่งที่ให้จัดตั้งศาลในกรณีนี้จึงมีสถานะเทียบเท่าพระราชบัญญัติ ซึ่งศาลปกครองไม่มีอำนาจตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของพระราชบัญญัติ

กล่าวให้ถึงที่สุด ศาลปกครองบอกว่าการประกาศใช้อำนาจพิเศษของประธานาธิบดี ศาลปกครองเข้าไปตรวจสอบไม่ได้ แต่มาตรการต่างๆที่ใช้ในระหว่างสถานการณ์พิเศษ ศาลปกครองย่อมมีอำนาจตรวจสอบ หากมาตรการนั้นมีสถานะเป็นกฎหรือคำสั่งทางปกครอง อนึ่ง ประธานาธิบดีฝรั่งเศสมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนชาวฝรั่งเศส แต่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และพล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา เป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุดจากการใช้กองทัพเข้ายึดอำนาจ เมื่อพิจารณารัฐธรรมนูญฝรั่งเศส มาตรา ๑๖ แล้ว ท่านสามารถพิจารณาได้เองว่าเหมือนกับมาตรา ๑๗ ของจอมพลสฤษดิ์ เหมือนกับมาตรา ๔๔ ของจอมพล เอ้ย พล.อ.ประยุทธ์ จริงหรือ??? 
- See more at: http://blogazine.in.th/blogs/piyabutr-saengkanokkul/post/4932#sthash.ZkjtVUbW.dpuf

จอม เพชรประดับ: น่าเศร้าใจอย่างยิ่งต่อสมาคมนักข่าวไทย



ขณะที่หลายฝ่าย กำลังวิพากษ์วิจารณ์ รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวของ คสช. ที่ห่วงกันว่า จะทำให้ ประเทศไทย ถอยหลังไปสู่การปกครองแบบเผด็จการทหารยาวนานอีกหลายสิบปีและประเทศไทย อาจจะเป็นตัวอุปสรรคต่อการพัฒนาในภูมิภาคอาเซี่ยน
แต่สิ่งที่ผมติดใจ และให้ความสนใจเป็นพิเศษคือ แถลงการณ์ฉบับหนึ่ง ที่ออกโดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ลงวันที่ 23 กรกฎาคม  2557  ซึ่งได้อ่านผ่านเว็บไซด์ประชาไท
เป็นแถลงการณ์อันเป็นท่าที ของ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ที่ได้แสดงความวิตกกังวล เป็นห่วงเป็นใยอย่างยิ่ง ต่อคำตัดสินของศาลเมียนม่าร์ ในเขตมะเกว สั่งจำคุกนักข่าว 4 คนที่ลักลอบเข้าไปหาข่าวเกี่ยวกับการผลิตอาวุธเคมีในเขตหวงห้ามของทหารของพม่า
บางช่วงบางตอนของแถลงการณ์ดังกล่าวระบุว่า “เป็นเรื่องน่าเศร้า และถือเป็นความถดถอยในเรื่องสิทธิและเสรีภาพสื่อมวลชนในพม่าอย่างรุนแรง…เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ สะท้อนถึงความถดถอยของเสรีภาพสื่อมวลชนในเมียนมาร์ซึ่งยังคงอ่อนไหวอยู่ และสร้างความหวดกลัวว่า เมียนมาร์ จะกลับไปมีการเซ็นเซอร์สื่ออย่างเข้มงวดอีกครั้ง” แถลงการณ์ระบุ
ตอนท้ายของแถลงการณ์ฉบับนี้สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ยังแสดงความเห็นใจต่อเพื่อนสื่อมวลชนในเมียนม่าร์ อีกทั้ง ยังขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการต่อสู้กับการปฎิบัติที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และหวังที่จะเห็นทางออกที่ดีที่สุดที่จะส่งเสริม และปกป้องเสรีภาพของสื่อในเมียนมาร์
หลังจากอ่านเนื้อหาสาระของแถลงการณ์ดังกล่าวแล้ว  ทำให้เกิดความรู้สึกขึ้นมากมาย  ทั้งรู้สึกดี และมีคำถามรวมทั้งรู้สึกละอายใจอยู่ลึก ๆ ด้วยเหมือนกัน
รู้สึกแรกก็คือ การออกแถลงการณ์ดังกล่าว เป็นเรื่องที่น่าชื่นชมเพราะเป็นการแสดงออกถึงการไม่เห็นด้วย กับการที่เพื่อนร่วมวิชาชีพถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพอย่างรุนแรง  เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่ สมาคมวิชาชีพฯ จะต้องออกมาแสดงการคัดค้าน หรือ ไม่เห็นด้วย กับการละเมิด หรือการปิดกั้นการทำหน้าที่ตามหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อ เพื่อยืนยันในหลักของสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนด้วยกัน
แต่ความรู้สึกที่รบกวนจิตใจอย่างยิ่ง และเป็นคำถามใหญ่ เมื่ออ่านแถลงการณ์ฉบับนี้ นั่นก็คือ  สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ไทย ไม่ได้รู้สึกอ่อนไหว หรือ หวาดกลัวต่อ สถานการณ์การละเมิดสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนไทยในเวลานี้บ้างเลยหรือ  สิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนไทย อยู่ในสภาะที่ถดถอยอย่างรุนแรงด้วยเหมือนกันไม่ใช่หรือ
ไม่เฉพาะสิทธิเสรีภาพของสื่อไทยเท่านั้น ที่จะถูกละเมิด หรือถูกทำลายจากเผด็จการทหาร คสช.  แม้แต่ ประชาชนคนไทยเวลานี้ ก็ถูกปิดกั้นสิทธิเสรีภาพการรับรู้ข้อมูลข่าวสารไปด้วยพร้อมทั้งยังถูกริดรอน สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก หรือความคิดเห็นทางการเมืองอย่างตรงไปตรงมาด้วยเช่นกัน
อย่างนี้แล้ว สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ไม่ขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการต่อสู้กับปฎิบัติการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และหาทางออกเพื่อร่วมกันปกป้องสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนไทยด้วยกันเองบ้างหรือ
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ไทย มองไม่เห็นภาวะแห่งความถดถอยของการริดรอน และการละเมิดสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนไทย รวมทั้งประชาชนคนไทย ที่นับวันจะรุนแรงมากขึ้นนี้เลยหรืออย่างไร
มีนักข่าว นักหนังสือพิมพ์ไทย  จำนวนไม่น้อย ที่ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพในขณะที่ปฎิบัติหน้าที่อยู่ ณ เวลานี้ แม้ว่าบางคนอาจจะไม่ได้เป็นสมาชิกของสมาคมฯก็ตาม แต่พวกเขาอยู่ในสภาวะที่มีความเสี่ยงอย่างยิ่ง
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ไทย ได้ช่วยเหลือ หรือทำอะไรให้พวกเขาเหล่านั้นเกิดความมั่นใจ และรู้สึกปลอดภัยในการปฎิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาบ้างแล้วหรือยัง
ไม่ว่าจะเป็น นักข่าวประชาไท  บก.นิตยสารฟ้าเดียวกัน นักข่าวเนชั่น อย่างคุณประวิตร โรจนพฤกษ์  และอีกหลายต่อหลายคน ในหลายสำนักข่าว ที่ถูก คสช. ข่มขู่ คุกคามให้เกิดความกลัว ทั้งการเรียกไปรายงานตัว สั่งให้ยุติการทำหน้าที่ในลักษณะต่าง ๆ ที่อ้างว่า จะเป็นการยุยงให้เกิดความขัดแย้ง แตกแยก  หรือแม้แต่การปิดสถานีโทรทัศน์ สำนักข่าว หรือ สื่อต่าง ๆ ที่คัดค้าน หรือ เห็นต่าง กับ เผด็จการทหาร
ถ้าจะยกตัวอย่างให้ใกล้เคียงกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับ 4 นักข่าวชาวเมียนมาร์ มากที่สุด นั่นก็คือ กรณีของ คุณสมยศ พฤษาเกษมสุข ที่ศาลไทยตัดสินสั่งจำคุก เป็นเวลาถึง 15 ปี ในข้อหาหมิ่นสถาบัน โดยไม่มีการสอบสวน และไม่ยอมให้ประกันตัว
ความถดถอยที่กลายเป็นวิกฤติแห่งการละเมิดสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนไทยในลักษณะนี้ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ทำไมถึงเพิกเฉย กับเพื่อนร่วมวิชาชีพที่เป็นคนไทยด้วยกันเอง
หรือมองว่า เป็นสื่อมวลชนคนละพวกกับสื่อที่สังกัดอยู่ในสมาคมวิชาชีพ  หรือคิดว่าเป็นสื่อที่รับใช้กลุ่มการเมือง เป็นทาสของกลุ่มอำนาจใหม่ที่กำลังทำสงครามอยู่กับกลุ่มอำนาจเก่า  หรือเป็นสื่อที่ใช้เสรีภาพอย่างไร้ความรับผิดชอบ เพราะนำเสนอข้อมูล ข้อเท็จจริง ที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งยั่วยุให้เกิดความรุนแรงตามการกล่าวอ้างของเผด็จการทหาร คสช
จุดยืนของ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย อยู่ตรงไหนกับการต่อสู้ ระหว่างกลุ่มประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตย กับ กลุ่มอำนาจเก่าที่กำลังจะรื้อฟื้นอำนาจเผด็จการขึ้นมาอีกครั้ง
ระหว่างสื่อมวลชนที่กำลังเรียกร้องประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพให้ประชาชนคนไทย  กับสื่อมวลชนที่รับใช้เผด็จการ  สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ไทย จะเลือกสนับสนุนหรือปกป้องฝ่ายใด หรือยังคงอาศัย กลุ่มอำนาจเผด็จการเก่า เป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็กคอยคุ้มกันให้สถานภาพของตัวเองและของสมาคมวิชาชีพดำรงอยู่ต่อไปได้
เป็นไปได้อย่างไร ที่สมาคมวิชาชีพสื่อมวลชนไทย ถึงไม่ได้รู้สึกหวั่นไหว ในบรรยากาศแห่งความหวาดกลัว ซึ่งปกคลุมอยู่ทั่วประเทศไทยในเวลานี้  แม้กระทั่ง สิทธิเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ การตรวจสอบอำนาจรัฐ ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของสื่อมวลชนเอง กลับถูกยอมให้ละเมิดได้อย่างไม่ขัดขืน  อย่างนี้แล้วจะหาญกล้าที่จะประกาศว่า มีเสรีภาพบนความรับผิดชอบต่อการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนได้อย่างไร
กว่า 2 เดือนที่ผ่านมา สังคมไทย ยังไม่เห็นความกล้าหาญและจริงจังของ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ที่แสดงออกถึงการต่อต้านหรือการคัดค้าน เผด็จการทหารอย่างเป็นรูปธรรม ทำได้เพียงแค่การออกแถลงการณ์แสดงความห่วงใยและมีท่วงทำนองที่รับได้กับการทำรัฐประหารเสียด้วยซ้ำ และแม้แต่การยอมที่จะรอมชอมยอมความกัน
สื่อมวลชนของเมียนม่าร์เสียด้วยซ้ำ ที่แสดงออกในเชิงสัญญลักษณ์เพื่อต่อสู้กับอำนาจเผด็จการทหารอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม
ด้วยการวางอุปกรณ์การประกอบวิชาชีพสื่อกองไว้กับพื้น พร้อมกับนั่งปิดหูปิดตา ปิดปากตัวเอง เพื่อบอกให้โลกรู้ว่า ไม่เห็นด้วยกับอำนาจเผด็จการ  และพวกเขาก็ยังคงปฎิบัติหน้าที่ในภาวะแห่งการปิดกั้นและถูกริดรอนสิทธิเสรีภาพต่อไป ซึ่งก็ไม่แตกต่างกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับสื่อมวลชนไทยเวลานี้
ดังนั้นการที่ สมาคมวิชาชีพสื่อมวลชนไทย แสดงท่าทีรอมยอมอ่อนข้อให้กับ อำนาจเผด็จการทหารที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จล้นฟ้า และกำลังใช้อำนาจที่ได้มาอย่างไม่ชอบธรรมนั้นนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแก้ไขกฎกติกาการปกครองประเทศครั้งสำคัญเช่นนี้ ถือเป็นสัญญาณอันตรายอย่างยิ่งที่จะเกิดขึ้นกับสังคมไทยในอนาคต
ในฐานะที่เป็นสื่อมวลชนคนหนึ่ง นับเป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจอย่างยิ่งหากหายนะที่กำลังจะเกิดขึ้นกับประเทศชาติในอนาคต  ส่วนหนึ่งมาจากน้ำมือ และความไม่รับผิดชอบของสื่อมวลชนที่หลอกตัวเองว่ามีเสรีภาพ
ถึงตอนนั้น ก็คงจะได้เห็นแถลงการณ์ของ สมาคมนักข่าวและนักหนังสือพิมพ์ของเมียร์ม่า ที่แสดงความวิตกกังวลและห่วงใยอย่างยิ่งต่อภาวะถดถอยของการละเมิดสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนในประเทศไทย  และคงจะได้เห็นน้ำใจอันงดงามของเพื่อนร่วมวิชาชีพชาวเมียนม่าร์ ที่อาสาจะเป็นส่วนหนึ่งในการต่อสู้กับปฎิบัติการที่ไม่เป็นประชาธิปไตยในประเทศไทย
ถึงเวลานั้น ผมขอเป็นคนแรก ที่จะกล่าวขอบคุณ สมาคมวิชาชีพสื่อมวลชนเมียร์ม่าไว้ล่วงหน้า

เผยพบกระบวนการฟอกน้ำมันประกอบอาหารมือ 2 ก๊อบปี้ยี่ห้อวางขายตลาดนัด ไซต์ก่อสร้างคนงาน


เผยพบกระบวนการฟอกน้ำมันประกอบอาหารมือ 2 ก๊อบปี้ยี่ห้อวางขายตลาดนัด ไซต์ก่อสร้างคนงาน แถมนำไปผสมอาหารสัตว์ส่งผลให้สารก่อโรคเข้าสู่วงจรอาหารมนุษย์ ชี้ ก่อ “โรคมะเร็ง – ความดันสูง” เตรียมผลักดันกฎหมายให้พ่อค้ารับซื้อน้ำมันเก่าต้องขึ้นทะเบียน อึ้ง พบเครื่องจักรฟอกน้ำมันเก่าจัดโชว์สินค้าอล่างฉ่าง
 
25 ก.ค. 2557 ที่อิมแพ็คเมืองทองธานี ในงานประชุมวิชาการมหกรรมอาหารและสุขภาพ วิถีไท ครั้งที่ 1 ภายใต้แคมเปญ “กินเปลี่ยนโลก:บทบาทอาหารกับสุขภาพ สังคมและสิ่งแวดล้อม” จัดโดย มูลนิธิสุขภาพไทย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิชีววิถี มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ มูลนิธิเกษตรยั่งยืน (ประเทศไทย) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายความมั่นคงทางอาหารและสุขภาพวิถีไทย โดย ภภ. วรวิทย์ กิตติวงศ์สุนทร ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 8 อุดรธานี กล่าวในการเสวนาประสบการณ์ทำงานเรื่องอาหารปลอดภัยของแต่ละประเทศ ว่าตนได้เฝ้าระวังเรื่องการใช้น้ำมันทอดซ้ำเพราะจะมีปัญหาว่าพบสารก่อมะเร็ง (พาร์) หากสูดดมจะส่งผลให้เกิดมะเร็งปอดสูง และหากรับประทานจะก่อให้เกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหารและมะเร็งลำไส้ใหญ่ และสารที่ก่อให้เกิดภาวะความดันในเลือดสูง (โพลา) เกินค่ามาตรฐานสากลที่กำหนดอยู่ที่ 25% โดยในส่วนของประเทศไทยมีการใช้น้ำมันเพื่อการบริโภคจำนวน 1.2 ล้านตัน น้ำมันที่เหลือจะถูกนำไปผลิตไบโอดีเซล
 
สิ่งที่น่ากังวลขณะนี้คือพบว่ากระบวนการลักลอบซื้อน้ำมันเก่าหรือเรียกว่าน้ำมันขยะเหล่านี้ไปฟอกให้แต่ก็มีจำนวนหนึ่งที่มีการลักลอบไปฟอกให้ใสเหมือนกับน้ำมันใหม่ แล้วบรรจุหีบห่อสวยงาม บางครั้งพบว่าลอกเลียนแบบตราสัญลักษณ์ของน้ำมันพืชที่ได้รับความนิยมในท้องตลาด แต่ซึ่งในความเป็นจริงสารก่อโรคทั้ง 2 ยังคงอยู่ในปริมาณเท่าเดิม ที่น่ากลัว คือเมื่อ 2 ปีก่อนตนพบว่ามีการออกบูธจัดแสดงเครื่องมือในการฟอกน้ำมันเก่าที่ศูนย์การประชุมไบเทค บางนา เป็นการเสนอขายอย่างโจ่งแจ้ง จากเดิมที่พบการโฆษณาขายผ่านเว็บไซต์ของจีนเท่านั้น ที่สำคัญอุปกรณ์ดังกล่าวเป็นเครื่องจักรที่ยังไม่มีกฎหมายควบคุมเอาผิดได้


 
“เนื่องจากน้ำมันผ่านการฟอกจนใสเหมือนน้ำมันใหม่ทำให้สังเกตได้ยากดังนั้นขอให้ประชาชนเลือกซื้อน้ำมันจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ ส่วนน้ำมันเก่า แถมยังตียี่ห้อปลอมนั้นส่วนใหญ่จะขายตามตลาดนัด แถวไซต์งานก่อสร้าง ส่วนราคาขายจะอยู่ที่ประมาณ 35-37 บาท ขณะนี้ที่ของจริงจะขายอยู่ที่ประมาณ 40 บาทขึ้นไป” ภภ. วรวิทย์ กล่าว
 
ภภ. วรวิทย์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังพบว่ามีการนำเอาน้ำมันขยะเหล่านี้ไปผสมเป็นอาหารสัตว์ ทำให้สารโพลา และพาร์กลับเข้ามาอยู่ในวงจรอาหารของมนุษย์อีกรอบโดยที่ไม่มีการควบคุมดูแล ในขณะที่สหภาพยุโรป (EU) ประกาศห้ามใช้น้ำมันเก่ามาปรุงเป็นอาหารสัตว์เด็ดขาดตั้งแต่ปี 2547 ดังนั้นขณะนี้จึงพยายามผลักดันให้มีการแก้กฎหมายให้บุคคลที่ต้องการใช้ประโยชน์จากน้ำมันเก่าต้องไปขึ้นทะเบียนตามกฎหมายเพื่อให้สามารถระบุตัวตน และสามารถตรวจสอบติดตามที่มา ที่ไปของน้ำมันเก่า ป้องกันการนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์  อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สมัชชาสุขภาพแห่งชาติให้การรับรองแล้วว่าเรื่องน้ำมันเก่าเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไข และต้องผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติ จัดการให้มีหน่วยงานเข้ามาดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง ให้ความรู้กับประชาชนถึงอันตรายจากการใช้น้ำมันทอดซ้ำให้ได้ อย่างล่าสุดขณะนี้ได้มีการร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกว่า 100 แห่ง ในการนำเอาน้ำมันใช้แล้วไปทำเป็นน้ำมันดีเซลล์ รวมถึงโรงงานอุตสาหกรรมบางแห่งที่ใช้น้ำมันดีเซลล์จากน้ำมันใช้แล้วทำให้สามารถประหยัดเงินได้กว่าล้านบาท จึงเป็นเรื่องที่น่าจะผลักดันต่อ

 
ด้านนางลิซ ฟาม องค์กรผู้บริโภคเวียดนาม (CUTS International) กล่าวว่า ที่ประเทศเวียดนามมีปัญหาเรื่องของคุณภาพอาหารมาก โดยเฉพาะร้านค้าข้างถนนที่มีอยู่กว่า 400,000 ร้าน ซึ่งผู้ประกอบกิจการร้านอาหารไม่ค่อยมีจรรยาบรรณเท่าไหร่ มีการลักลอบใส่สารต้องห้ามในอาหาร เช่น สารฟอกขาวในเส้นก๋วยเตี๋ยวที่พบมากกว่า 80% โดยสารดังกล่าวจะก่อให้เกิดโรคมะเร็งในอนาคต อีกทั้งยังพบการปรุงอาหารที่ไม่ได้มาตรฐานอีกหลายอย่างทำให้ประชาชนเป็นโรคที่มาจากอาหารจำนวนมาก โดย 6 เดือนแรกของปี 2557 พบผู้ป่วยเป็นโรคท้องเสียกว่า 2,400  ราย บางรายรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต แต่รัฐบาลพยายามปกปิดเรื่องเอาไว้ ล่าสุดขณะนี้รัฐบาลของประเทศเวียดนามได้ อนุญาตให้มีการปลูกพืชตัดต่อพันธุกรรมได้ (GMO) ซึ่งเรื่องนี้ประชาชนยังไม่ทราบจึงยังไม่มีการเคลื่อนไหวต่อต้านนโยบาย 
 
“เรามีกฎหมายความปลอดภัยด้านอาหาร และมาตรฐานของชาติ แต่ไม่มีการควบคุมอย่างจริงจัง ถ้าพบผิดกฎหมายค่อยมาดู ดังนั้นจึงไม่มีอะไรมาป้องกันเราได้ อย่างไรก็ตาม สินค้าทางการเกษตรที่มีปัญหามาในประเทศเวียดนามขณะนี้คือสินค้าที่นำเข้าจากประเทศจีน ซึ่งพบว่าสารตกค้างมากกว่า 3-4 เท่าของมาตรฐานที่ยอมรับในเวียดนาม" นางลิซ กล่าว 

ประกาศ คสช. ให้สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติสิ้นสุดลง


เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2557 ที่ผ่านมาคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้เผยแพร่ประกาศฉบับที่ 107/2557 เรื่องให้สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติสิ้นสุดลง โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
 
ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 107/2557

เรื่องให้สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติสิ้นสุดลง
 
                 ตามที่สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งได้มาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และพระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ.2543 ได้ครบวาระลงแล้ว ตั้งแต่ พ.ศ.2556 แม้จะมีการดำเนินการ เพื่อให้ได้มาซึ่งสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ชุดใหม่ แต่ก็ไม่อาจจะดำเนินการโดยเรียบร้อยได้ เพราะมีข้อขัดแย้งกันมาก จนมีคดีฟ้องร้องในศาลต่อเรื่องกัน มากกว่า 70 คดี สมาชิกที่ปฏิบัติหน้าที่ในขณะนี้ ล้วนเป็นสมาชิกซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระ แต่ต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าสมาชิกซึ่งได้รับเลือกขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ ดังนั้น หากปล่อยใหเหตุการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้ ก็จะเกิดความไม่สงบเรียบร้อย และไม่อาจดำเนินการให้ลุล่วงได้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีประกาศ ดังต่อไปนี้
 
  • ข้อ 1 ให้สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ในวันก่อนวันที่ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับนี้ใช้บังคับสิ้นสุดลง และให้การดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติยุติลง จนกว่าบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หรือ กฎหมายอื่นใดที่จะกำหนดไว้เป็นประการอื่น
  • ข้อ 2 กรณีที่บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกำหนดให้สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติเป็นผู้พิจารณา หรือ ให้ความเห็นชอบในเรื่องใด ให้บทบัญญัติว่าด้วยส่วนดังกล่าว เป็นอันงดใช้บังคับ
  • ข้อ 3 ให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของสำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ยังคงปฏิบัติหน้าต่อไป ซึ่งนายกรัฐมนตรี อาจมอบหมายให้ไปช่วยปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานอื่นตามกำหนดให้
  •  
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 21 กรกฎาคม 2557
 
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

กสทช. สั่งปรับ เอไอเอส-ดีแทค 1.8 และ 1.5 แสนบาทต่อวัน ฐานคิดค่าบริการ 2G เกิน 99 สต.


         
25 ก.ค.2557 จากกรณี กสทช. มีประกาศ เรื่อง อัตราขั้นสูงของค่าบริการโทรคมนาคมสำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเสียงภายในประเทศ พ.ศ. 2555 ที่กำหนดอัตราขั้นสูงไว้ไม่เกิน 99 สต./นาที โดยบังคับเฉพาะเจ้าใหญ่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (AIS) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (DTAC) แต่ตลอดเวลาสองปีที่ผ่านมาพบว่าทั้งสองบริษัยังคงฝ่าฝืน โดยมีการเรียกเก็บอัตราค่าบริการสูงเกินกว่าอัตราที่กำหนด
ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้กำหนดอัตราค่าปรับผู้ประกอบกิจการทั้งสองรายวันละกว่า 3 แสนบาท หากยังคงมีการฝ่าฝืน โดยให้มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นไป
ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน กล่าวว่า กรณีนี้เป็นความพยายามของ กสทช. ที่จะบังคับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ทั้งสองรายที่จะต้องกำหนดอัตราค่าบริการของบริการประเภทเสียงในระบบ 2G ไว้ที่กรอบไม่เกิน 99 สตางค์ต่อนาที ซึ่งมีการออกประกาศบังคับไว้ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2555 โดยสาระสำคัญของประกาศกำหนดให้รายการส่งเสริมการขายบริการประเภทเสียงที่ออกใหม่ต้องไม่เกิน 99 สต. ส่วนรายการส่งเสริมการขายเดิมที่มีการใช้อยู่ก่อนแล้ว ให้ใช้ได้จนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2555 เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ภายหลังสิ้นปี 2555 สำนักงาน กสทช. ยังคงตรวจพบว่ามีรายการส่งเสริมการขายที่เรียกเก็บค่าบริการเกินอัตราที่กำหนดถึง 99 รายการ แบ่งเป็นรายการส่งเสริมการขายของ AIS จำนวน 66 รายการ และ DTAC จำนวน 33 รายการ ซึ่งต่อมาสำนักงาน กสทช. ก็ได้ทำหนังสือแจ้งทั้งสองบริษัทให้ปฏิบัติตามประกาศ แต่ก็ได้รับคำชี้แจงว่า บางรายการที่ยังไม่สามารถระงับได้ในทันที เนื่องจากมีกลุ่มลูกค้าเดิมยังใช้บริการอยู่
กระทั่งต้นปี 2557 สำนักงาน กสทช. ก็ได้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาศึกษาและกำหนดจำนวนค่าปรับทางปกครอง เพื่อกำหนดอัตราค่าปรับกรณีที่บริษัท AIS และ DTAC ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามประกาศ หลังจากนั้นสำนักงาน กสทช. ก็ได้ทำหนังสือลงวันที่ 25 เมษายน 2557 แจ้งเตือนทั้งสองบริษัทอีกครั้ง โดยได้มีการกำหนดค่าปรับทางปกครองให้ทราบหากไม่ปฏิบัติตามคำสั่งภายในระยะเวลาที่กำหนด คือวันที่ 16 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นไป แต่ปรากฏว่าทั้งสองบริษัทต่างยังทำการฝ่าฝืนต่อไป ดังนั้นล่าสุดนี้ สำนักงาน กสทช. โดยเลขาธิการฐากร ตัณฑสิทธิ์ จึงได้มีหนังสือด่วนที่สุดลงวันที่ 17 กรกฎาคม 2557 ให้บริษัท AIS ชำระค่าปรับในอัตราวันละ 186,669 บาท ส่วนบริษัท DTAC ชำระค่าปรับในอัตราวันละ 157,947 บาท
“ที่ผ่านมาบริษัทไม่ทำตาม โดยมีการคิดค่าบริการเกินอัตราขั้นสูงที่กำหนดมาโดยตลอด ซึ่งจากการที่สำนักงาน กสทช. ตรวจรายการส่งเสริมการขายก็พบ และยังมีกรณีที่ผู้ใช้บริการร้องเรียนเข้ามาอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งที่ประชุม กทค. พิจารณาแล้วก็บอกว่าบริษัททำผิด ต้องคืนเงินที่คิดเกินให้ผู้ร้องเรียน เป็นการเยียวยาเฉพาะกรณีไป การสั่งปรับเพื่อบังคับให้บริษัททำให้ถูกต้องจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะจะส่งผลคุ้มครองผู้บริโภคในภาพรวมมากกว่า อย่างไรก็ตาม คงต้องติดตามให้มีการปรับกันจริงๆ ด้วย แต่เราไม่ได้อยากได้เงิน เพียงแต่อยากให้เกิดสภาพการบังคับเพื่อให้บริษัทยอมปฏิบัติให้ถูกต้อง” นายประวิทย์กล่าว
กสทช. ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชนยังฝากคำแนะนำถึงผู้บริโภคด้วยว่า “หากพบว่ายังคงถูกคิดค่าบริการเกินก็สามารถโต้แย้งบริษัทได้ทันที เพราะเท่ากับเรื่องนี้ชี้ชัดแล้วว่าบริษัททำเช่นนั้นไม่ได้ เป็นการผิดกฎหมาย หรือหากโต้แย้งไม่เป็นผลก็สามารถร้องเรียนเข้ามาที่สำนักงาน กสทช. ได้”

หัวหน้า คสช.ตีกลับแผนปฏิรูปราคาพลังงาน


หัวหน้า คสช.ตีกลับแผนปฏิรูปราคาพลังงาน ขณะที่ทีมเศรษฐกิจเตรียมเปิดรับฟังความเห็นเดือน ส.ค.นี้ ก่อนเสนอหัวหน้า คสช.พิจารณาอีกครั้ง
 
25 ก.ค. 2557 สำนักข่าวไทยรายงานว่า พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ได้ส่งเรื่องการปฏิรูปราคาพลังงานกลับมาให้ทบทวน เนื่องจากเป็นห่วงเรื่องการทำความเข้าใจกับประชาชนที่เนื้อหาเสนอไปให้นั้นยังไม่มีความชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องการผลิตและจัดหาจากในและต่างประเทศ ดังนั้น ทางทีมเศรษฐกิจจะจัดเสวนารับฟังความเห็นจากประชาชนในเดือนสิงหาคมนี้ โดยจะเปิดให้สื่อเข้ารับฟังและสรุปโดยเร็ว ก่อนนำเสนอหัวหน้า คสช.พิจารณา จึงยังไม่สามารถกำหนดได้ว่า การปรับโครงสร้างราคาพลังงานจะเสร็จเมื่อใด
 
“สิ่งที่จะพิจารณาก่อนเป็นอันดับแรก คือ โครงสร้างราคาก๊าซหุงต้มและน้ำมัน ที่จะมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างให้เหมาะสม ซึ่งจะพิจารณาเรื่องราคา อัตราภาษี กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และการอุดหนุนข้ามประเภทที่ผู้ใช้น้ำมันจ่ายเงินเข้ากองทุนฯ แต่เงินกองทุนฯ ต้องไปอุดหนุนราคาแอลพีจี ส่วนเรื่องสัมปทานปิโตรเลียมนั้น คงจะนำเสนอเข้าสู่สภาปฏิรูปแห่งชาติที่กำลังจะมีการจัดตั้งขึ้น โดยยืนยันจะดูแลให้เหมาะสมและเป็นธรรม” พล.อ.อ.ประจิน กล่าว

แถลงผลจับตา 3 ปี กสทช. เสียงสะท้อนและข้อเสนอในการปรับปรุง


21 ก.ค. 2557 โครงการวิเคราะห์และติดตามร่างกฎหมาย (Thai Law Watch) ร่วมกับโครงการติดตามนโยบายสื่อและโทรคมนาคม (NBTC Policy Watch) จัดแถลงรายงานวิเคราะห์บทบัญญัติว่าด้วยธรรมาภิบาลใน พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 และข้อเสนอในการปรับปรุง
ในเวทีเดียวกันนี้ ยังมีการเสวนา '3 ปี กสทช.: ความฝัน ความเป็นจริง และการปฏิรูปกฎกติกา' โดยมี นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรคมนาคม, ผศ.ดร.ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ กสทช. ด้านกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์, ผศ.ดร.พิรงรอง รามสูต คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, และประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ร่วมอภิปราย ผศ.ปกป้อง จันวิทย์ ดำเนินรายการ ณ ห้องประชุม 101 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ นักวิจัยประจำโครงการ NBTC Policy Watch เปิดเผยถึงรายงานวิเคราะห์บทบัญญัติฯ ว่า พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ มีข้อกำหนดด้านธรรมาภิบาลที่ดีระดับหนึ่ง เช่น กำหนดให้เปิดเผยข้อมูลสำคัญภายในระยะเวลาที่กำหนด เปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ รวมถึงสร้างกลไกตรวจสอบจากทั้งภายในและภายนอกองค์กร
ทว่าจากการดำเนินงานที่ผ่านมาของ กสทช. แสดงให้เห็นถึงช่องโหว่จากการตีความ บังคับใช้ และการออกแบบเชิงโครงสร้างที่ส่งผลกระทบต่อระบบธรรมาภิบาล อาทิ การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารล่าช้าหรือไม่เผยแพร่เลย การกำหนดนโยบายผ่านอนุกรรมการที่คัดเลือกจากระบบโควต้ามากกว่าคุณสมบัติ การรับฟังความคิดเห็นขาดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง กลไกจัดการเรื่องร้องเรียนเป็นไปอย่างล่าช้า การใช้งบประมาณที่ขาดประสิทธิภาพและความโปร่งใส เป็นต้น
นักวิจัยประจำโครงการ NBTC Policy Watch กล่าวว่า ปัญหาธรรมาภิบาลของ กสทช. จากการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง และเปรียบเทียบกับกฎหมายที่คล้ายคลึงกัน สามารถจำแนกได้ 5 ประเด็นหลัก พร้อมเสนอข้อเสนอแนะ ดังนี้
1. ด้านการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร กสทช. และสำนักงาน กสทช. ไม่เปิดเผยข้อมูลตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย หรือเปิดเผยไม่ทันตามเวลาที่กำหนด เช่น รายงานการประชุม ผลการศึกษาที่ว่าจ้างหน่วยงานภายนอกให้จัดทำ
ดังนั้น กฎหมายควรกำหนดระยะเวลาในการเผยแพร่ข้อมูลสำคัญให้ชัดเจน พร้อมทั้งเพิ่มบทลงโทษในกรณีที่ไม่ปฏิบัติตาม โดยถือเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามมาตรา 157 ในประมวลกฎหมายอาญา และบัญญัติให้ กสทช. และสำนักงาน กสทช. เป็นหน่วยงานอิสระใน พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540
2. ด้านการกำหนดนโยบาย ที่ผ่านมาใช้ระบบโควต้าในการแต่งตั้งอนุกรรมการเพื่อเสนอความเห็นเชิงนโยบาย ในกรณีนี้ กฎหมายควรกำหนดให้ กสทช. คำนึงถึงความรู้ความเชี่ยวชาญ และเปิดเผยคุณสมบัติของคณะอนุกรรมการ นอกจากนี้ กสทช. ยังได้จ้างหน่วยงานภายนอกผลิตงานศึกษาจำนวนมาก แต่กลับไม่มีการอ้างอิงงานศึกษาในกระบวนการกำหนดนโยบายเท่าที่ควร ดังนั้น ควรให้กฎหมายกำหนดให้ กสทช. ต้องทำการศึกษาวิจัย และศึกษาผลกระทบจากการกำกับดูแล (Regulatory impact assessment) เพื่อใช้อ้างอิงในการตัดสินใจ รวมถึงต้องเผยแพร่ผลการศึกษาก่อนกระบวนการรับฟังความคิดเห็น
3. ด้านการรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภค กสทช. ไม่สามารถจัดการเรื่องร้องเรียนให้เสร็จภายใน 30 วัน ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย การจัดการยังมีลักษณะตัดสินเป็นกรณี ขาดการยกระดับเรื่องร้องเรียนให้มีการบังคับใช้เป็นการทั่วไป รวมถึงอนุกรรมการด้านผู้บริโภคตั้งตามระบบโควต้า
ควรกำหนดให้มีการตั้งสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม กิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ เป็นหน่วยงานอิสระแทนอนุกรรมการด้านผู้บริโภค ทำหน้าที่รับและจัดการเรื่องร้องเรียนที่ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา พร้อมนำเสนอคำตัดสินและความเห็นให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการต่อ เสนอเรื่องร้องเรียนที่มีการตัดสินเป็นมาตรฐานแล้วและควรถูกบังคับใช้เป็นการทั่วไปให้ กสทช. เพื่อพัฒนาเป็นประกาศ และถือเป็นผู้เสียหายที่สามารถฟ้องร้อง หรือยื่นให้มีการสอบสวนไปยังองค์กรตรวจสอบภายนอกแทนผู้บริโภคได้ รวมทั้งควรจัดตั้งคณะกรรมการด้านเนื้อหา (Content Board) ที่เป็นอิสระ สำหรับพิจารณาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับเนื้อหา และจัดทำประกาศกำกับดูแลเนื้อหาและผังรายการให้ กสทช.
ทั้งนี้ ที่มาของหน่วยงานทั้งสองควรให้องค์กรภายนอกที่เกี่ยวข้องเป็นผู้คัดเลือกกรรมการ เช่น องค์กรอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคตามรัฐธรรมนูญ หรือหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคอื่น ๆ เป็นผู้สรรหาคณะกรรมการด้านผู้บริโภค ด้านสมามคมวิชาชีพ มูลนิธิด้านการพัฒนาเด็ก ตัวแทนจากคณะนิเทศศาสตร์ เป็นผู้สรรหาคณะกรรมการด้านเนื้อหา เป็นต้น ขณะที่ที่มาของรายได้ต้องเป็นอิสระจากการควบคุมของ กสทช. โดยอาจใช้เงินจัดสรรที่กำหนดไว้ล่วงหน้าแทน
4. ด้านการใช้งบประมาณ หนึ่งในปัญหาหลักของ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ คือ การให้อำนาจสำนักงาน กสทช. ในการจัดทำงบประมาณประจำปี และให้ กสทช. มีอำนาจในการอนุมัติงบ ซึ่งทั้งสองฝ่ายทำงานเป็นเนื้อเดียวกันมากกว่าตรวจสอบกัน
ดังนั้น กฎหมายควรปรับแก้ให้งบประมาณต้องผ่านกระบวนการตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ ผ่านการตรวจสอบและอนุมัติจากรัฐสภา และให้องค์กรภายนอกที่ชำนาญการด้านงบประมาณตรวจสอบให้ความเห็นการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ควรปรับลดที่มาของรายได้ของ กสทช. ไม่ให้มากเกินไป เช่น ลดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการจาก 2% เหลือไม่เกิน 1% และให้รายได้จากค่าธรรมเนียมเลขหมายส่งเข้าคลังโดยตรง เนื่องจากสำนักงาน กสทช. มีแนวโน้มตั้งงบประมาณใกล้เคียงกับรายได้ โดยขาดการตรวจสอบประสิทธิภาพการใช้งบประมาณ
5. ด้านกลไกการตรวจสอบจากภายในและภายนอก ที่ผ่านมาปัญาที่เกิดขึ้น คือ การตีความสถานะของ กสทช. ทำให้ขอบเขตอำนาจขององค์กรตรวจสอบคลอบคลุมไปไม่ถึง การออกแบบกฎหมายให้สิทธิ์ กสทช. มีอิทธิพลต่อการทำงานขององค์กรตรวจสอบ เช่น มีอำนาจในการจัดสรรงบประมาณหรือแต่งตั้งกรรมการ เป็นต้น
กฎหมายควรแก้ไขให้ ครม. เป็นผู้ออก พ.ร.ก.กำหนดรายได้และค่าใช้จ่ายของคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน (กตป.) แทนการจัดสรรงบประมาณโดย กสทช. และกำหนดให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มีอำนาจเปิดเผยรายงานการตรวจสอบบัญชีโดยตรง รวมถึงกำหนดให้ กสทช. และสำนักงาน กสทช. เป็นเจ้าพนักงานภายใต้อำนาจในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน และให้ผู้ตรวจการแผ่นดินมีอำนาจสอบสวน และเป็นหน่วยงานยื่นฟ้องแทนผู้ได้รับผลกระทบได้
ส่วนการประมูลคลื่นความถี่ นักวิจัย NBTC Policy Watch เห็นว่า ในกิจการโทรคมนาคมวิธีการประมูลน่าจะเป็นวิธีที่โปร่งใส สะท้อนราคาตลาด ส่วนในกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์อาจต้องเลือกใช้วิธีตามธรรมชาติของแต่ละสื่อ เช่น กลุ่มธุรกิจใช้วิธีประมูล ส่วนกลุ่มสื่อสาธารณะใช้วิธีประกวดคุณสมบัติ เป็นต้น
เมื่อถูกถามถึงบทบาทของ NBTC Policy Watch วรพจน์ กล่าวว่า NBTC Policy Watch จะยังคงทำหน้าที่วิพากษ์วิจารณ์นโยบายที่เกี่ยวข้อง เช่น ประกาศ คสช. เลื่อนประมูลคลื่น 1800 MHz และ 900 MHz ออกไป โดยวิพากษ์ในเชิงผลกระทบที่เกิดขึ้น
"การเลื่อนประมูลคลื่นความถี่ออกไป ทำให้ระบบโทรคมนาคมไม่เปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบใบอนุญาต ซึ่งก็เป็นปัญหาหนึ่ง คลื่น 1800 MHz มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง นำมาให้บริการ 4G ได้ ต้องล่าช้าออกไปจะก่อให้เกิดความเสียหายแค่ไหน และเมื่อไหร่ประเทศไทยถึงจะได้เปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบใหม่ ส่วนนี้น่าจะเป็นระดับที่วิพากษ์วิจารณ์ได้" นักวิจัย NBTC Policy Watch กล่าว
ขณะที่ นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา แสดงความเห็นว่า การแก้กฎหมายไม่ใช่เครื่องมือเดียวในการปฏิรูป แต่จะต้องอาศัยการลงมือทำอย่างจริงจัง เปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมและวางระบบที่ดี สามารถกำจัดคนที่ไม่ทำงานหรือฉ้อฉลออกไปได้ง่าย รวมถึงวางระบบตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจให้มีประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม
ทั้งนี้ กระบวนการแก้ไขกฎหมายจะต้องมีธรรมาภิบาล และไม่สามารถหลีกเลี่ยงการมีส่วนร่วมทางสังคมได้ถ้าต้องการให้คนไทยได้ประโชน์จากกฎหมาย ควรรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายอย่างเปิดกว้าง ไม่ผูกขาดหรือกีดกันกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม นพ.ประวิทย์เห็นด้วยกับข้อเสนอของ NBTC Policy Watch ที่จะให้มีคณะกรรมการตรวจสอบที่เป็นอิสระ แต่ต้องไม่ละเลยเรื่องการถ่วงดุลอำนาจ กสทช. แต่ละคนมีสิทธิให้ความเห็นต่อสาธารณะ และควรลดขนาดองค์กรให้เล็กลง เน้นประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น
นพ.ประวิทย์ ย้ำว่า ในสถานการณ์ปัจจุบัน การปฎิรูปต้องอาศัยความคงเส้นคงวาในการให้ความเห็นที่สำคัญจากทุกฝ่าย ถ้าให้ความเห็นที่ถูกต้อง จะสามารถขับเคลื่อนประเทศได้ถูกทาง
ส่วนความเห็นต่อการประมูลคลื่นความถี่ กสทช. ด้านกิจการโทรคมนาคม กล่าวว่า การประมูลเป็นวิธีการจัดสรรคลื่นความถี่ที่ดีที่สุด ไม่ใช่วิธีที่ได้รายได้สูงสุด แต่เป็นวิธีจัดสรรคลื่นให้แก่ผู้ที่ใช้คลื่นได้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยผู้ที่ประมูลคลื่นได้ควรต้องเป็นผู้ดำเนินการเอง และเร่งวางโครงข่ายให้ครอบคลุม
ด้าน ผศ.ดร.ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ กสทช. ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ กล่าวว่า กระบวนการสรรหา กสทช. ก็มีความสำคัญเช่นกัน กสทช. ควรต้องเป็นผู้มีควารู้ความเชี่ยวชาญ คิดวิเคราะห์ในเชิงปรัชญา เข้าใจถึงปัญหาและผลกระทบเป็นอย่างดี รวมถึงมีกระบวนการคัดบุคคลที่ก่อให้เกิดปัญหาออกจากองค์ด้วย ส่วนการตรวจสอบ ควรให้องค์กรอิสระหรือสถาบันการศึกษาที่ไม่มีความขัดแย้งด้านผลประโยชน์เป็นผู้ตรวจสอบ
กสทช. ด้านกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ แสดงความเห็นเรื่องการประมูลคลื่นความถี่ว่า การประมูลเหมาะที่จะใช้กับกลุ่มธุรกิจ เพื่อให้ได้ผู้เล่นที่มีความพร้อมมากที่สุด ถ้าหากใช้ระบบประกวดคุณสมบัติจำเป็นต้องระวังเรื่องความโปร่งใส และการกำกับดูแลที่อ่อนแอ ระบบประกวดคุณสมบัติจึงเหมาะที่จะนำไปใช้กับช่องทีวีสาธารณะมากกว่า
ด้านประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ เห็นว่า การแก้กฎหมายไม่ใช่ทางแก้ปัญหา เพราะกฎหมายมักจะแพ้คนหน้าด้าน กสทช. ก็เป็นองค์ที่มีความซับซ้อน กรรมการทั้ง 11 คนต่างก็เป็นตัวแทนของกลุ่มผลประโยชน์ ซึ่งการทำงานในรูปแบบกรรมการในประเทศไทยมักจะล้มเหลว เพราะมีผลประโยชน์ส่วนตัวมาเกี่ยวข้อง
นอกจากนี้การตรวจสอบควบคุมหลายชั้น ทำให้มุ่งความสนใจอยู่แค่ กสทช. ปฏิบัติตามระเบียบหรือไม่ ซึ่งอาจละเลยเนื้อหางานว่าเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากน้อยเพียงใด
ปัญหาของ กสทช. ยังรวมถึงคณะกรรมการที่ควรทำงานสอดคล้องกันกลับมีความขัดแย้งกัน ดังนั้น ในเรื่องที่มีความสอดคล้องกันอาจตั้งให้อยู่ในความดูแลของคณะกรรมการชุดเดียว และการจัดสรรเงินกองทุนของ กสทช. ขาดความโปร่งใส โดยเฉพาะกรณีลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2014 จำนวน 427 ล้านบาท
กระบวนการร้องเรียนที่ต้องให้ผู้เสียหายเป็นผู้ร้องโดยตรง เป็นอีกประเด็นที่ควรแก้ไข เพราะบางเรื่องเกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะ กสทช. ควรเข้ามาดูแลโดยไม่จำเป็นต้องมีผู้ร้อง ส่วนข้อร้องเรียนด้านเนื้อหาควรส่งให้สมาคมวิชาชีพเป็นผู้พิจารณา
ขณะที่ ผศ.ดร.พิรงรอง รามสูต ตั้งข้อสังเกตว่า งบประมาณของ กสทช. สามารถบริหารจัดการได้เบ็ดเสร็จ องค์กรตรวจสอบเองก็ยังต้องอาศัยทรัพยากรขององค์กรที่ถูกตรวจสอบ ส่วนงบประชาสัมพันธ์ ใช้วิธีกลบข่าวร้ายขยายข่าวดี เน้นสร้างภาพลักษณ์เป็นหลัก แต่ยังไม่ได้เน้นสื่อสารเพื่อทำความเข้าใจ เช่นเดียวกับการใช้งบประมาณจำนวนมาก ว่าจ้างให้หน่วยงานภายนอกทำการศึกษาวิจัย แต่กลับไม่ได้รับการเผยแพร่ ประการสำคัญคือขาดการศึกษาผลกระทบอันเกิดจากกฎหมายหรือประกาศที่ออกโดย กสทช.
นอกจากนี้ กสทช. ยังขาดนวัตรกรรมในการกำกับดูแล ที่ใช้อยู่ปัจจุบันเป็นแนวทางตั้งแต่ปี 2535 มีลักษณะของการกำกับดูแลแบบทหารซึ่งแทนที่ กสทช. จะต้องคอยทำหน้าที่ควบคุมในทุกกระบวนการ ควรออกเป็นเงื่อนไขในการให้ใบอนุญาตตั้งแต่ต้น เพื่อป้องกันปัญหาผู้ประกอบการตีความผิดวัตถุประสงค์
ทั้งนี้ ผศ.ดร.พิรงรอง มองว่า ปัญหาด้านความโปร่งใส หรือความขัดแย้งระหว่างอนุกรรมการที่ข่ายงานทับซ้อนกัน เป็นผลมาจากลักษณะส่วนบุคคลที่ส่งผลต่อการทำหน้าที่ภายในองค์กร รวมถึงประเทศไทยไม่เคยมีนโยบายทางการสื่อสารมาก่อน ซึ่งนโยบายนี้ควรเกิดจากการสังเคราะห์ร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง