วันศุกร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ประยุทธ์เผยที่วีนแตกเพราะสื่อถามซ้ำๆ ชี้ต้องโทษทุกคน ที่ไม่ปลูกฝังหลักการ-เหตุผล

ที่มา เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล

หลังจากเหตุการณ์ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนด้วยอารมณ์ฉุนเฉียวเมื่อ วันที่ 2 ก.พ. 59  ล่าสุดเมื่อวันที่ 4 ก.พ. ที่ผ่านมา MatichonTV ได้เผยแพร่วีดิโอคลิป บางช่วงในระหว่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมสัมมนาการเตรียมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ณ ห้องรอยัลจูบิลี่ อาคารชาเลนเจอร์ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี ได้กล่าวถึงสาเหตุของอารมณ์ฉุนเฉียวนั้นด้วย
 
โดย พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ที่ตนหงุดหงิดมาหลายวัน นั้นเพราะถูกคำถามเดิม 2 ปีมาแล้ว รวมทั้งเวลาสัมภาษณ์นักข่าวก็จะถามซ้ำกัน
 
"ถ้าท่านฟังคำถามที่เขาถามผมจะรู้ว่าผมน่าจะหงุดหงิดได้มากกว่านั้นด้วยซ้ำไป พูดแล้วพูดอีก พูดแล้วพูดอีก อะไรที่มันจะขัดแย้งก็ขอลดลงหน่อย ก็จะถามให้มันขัดแย้งอยู่ได้ นั่นล่ะคือสิ่งที่เป็นปัญหาประเทศเราวันนี้ ผมโทษใครไม่ได้ ต้องโทษพวกเราทุกคน คือเราไม่ได้ปลูกฝังความคิด หรือหลักการและเหตุผล เราปลูกฝังแต่เรื่องประชาธิปไตย เรื่องของสิทธิเสรีภาพอย่างเดียว ซึ่งวันหน้าไม่มีทาง ไม่มีทางอยู่กันได้" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
 
พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวด้วยว่า รอบบ้านเราที่เรามักเปรียบเทียบเขาทำไมเขาถึงทำได้ และเขาเป็นระบอบอะไร ประชาธิปไตยอะไร  เป็นระบอบประชาธิปไตยอย่างเดียวไหม เพราะฉะนั้นเขาถึงทำได้ไง วันนี้ไม่ใช่ประชาธิปไตย แต่ตนก็ยังทำแบบประชาธิปไตยให้มากที่สุดเลย
 
"อย่าเคยชินกับความรุนแรง อย่าเคยชินกับความขัดแย้งจนหาทางออกให้ประเทศไม่เจอ ให้ตัวเองไม่เจอ เพราะชินกับความขัดแย้ง ต้องให้อย่างนี้อย่านั้น ปลุกเร้าไปเรื่อย ไม่มีกฎหมายไหนในโลกหรือรัฐธรรมนูญไหนในโลกยุติความขัดแย้งได้ มีแต่ว่ามันจะดีมากน้อยแค่ไหน ประชาชนจะได้รับประโยชน์แค่ไหน เจ้าหน้าที่จะทำงานได้อย่างไร โดยที่ไม่เกิดความขัดแย้งกับประชาชน นั่นคือกฎหมายที่ดีที่สุด แล้วประชาชนไม่ทำความผิด ลดความขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่ ตำรวจก็ไม่ต้องมีงานทำ นั่งเฉยๆ ความขัดแย้งก็ไม่มี" 
 
"ปัญหาวันนี้โทษกลับมาที่อย่างเดียวไม่ได้ ทุกส่วนเกี่ยวข้องกันทั้งหมด ถ้าทำผิดกฎหมายแล้วไม่ยอมรับ มันก็โทษใครไม่ได้ ไม่เคารพกฎหมายหนีต่างประเทศ ไม่ได้ ต้องกลับมา ใช่ไหมรัฐมนตรี นะ อย่าไปเห็นด้วยกับเรื่องเหล่านี้นะ แค่กฎหมายยังไม่รับ ผมไม่รู้จะว่ายังไง จะอยู่ยังไงอะ" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

วิษณุชี้ใช้ม.44 ออกกติกาคุม ‘ประชามติ’ ได้ กรธ.มั่นใจหากปชช.ออกมา80% ร่างรธน.ผ่าน


'มีชัย' ระบุกำลังเอาหูแนบดินฟังข้อเสนอแก้ร่างรธน.อยู่ เผยแม้ยังไม่พิจารณาลดกรอบเวลาทำกม.ประกอบรธน. แต่ก็ต้องสอดคล้องกับโรดแมป โฆษก.มั่นใจ หากปชช.ออกมาประชามติ 80% รธน.ผ่าน พลังเงียบบริสุทธิ์ศึกษาร่างอย่างแท้จริง วิษณุ ชี้ใช้ม.44 ออกกติกาคุม ‘ประชามติ’ ได้
5 ก.พ. 2559 สำนักข่าวไทย รายงานว่า นายมีชัย ฤชุพันธ์ุ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวภายหลังการเป็นประธานสัมมนาสร้างความเข้าใจร่างรัฐธรรมนูญและการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ร่างรัฐธรรมนูญก่อนการลงประชามติให้แก่สภาองค์กรชุมชนว่า ขณะนี้มีองค์กรต่าง ๆ  เข้ามาเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งถ้าจำเป็นจะต้องเพิ่มมาตราก็เพิ่มได้ เพราะยังมีเวลาถึงวันที่  15 ก.พ.นี้
“ถ้าคิดว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ขาดตกบกพร่องก็บอกมา เราพร้อมรับฟัง ตอนนี้กำลังเอาหูแนบดินอยู่ ใครมีอะไรก็ส่งมาได้ ถ้าเรื่องไหนที่เข้าใจผิดเราจะได้ชี้แจง แต่เรื่องไหนเห็นควรแก้ไข หรือเพิ่มมาตรา ถ้าเราทำได้ก็จะทำ” นายมีชัย กล่าว และว่า การลดกรอบเวลาการจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ยังไม่ได้พิจารณา เพราะต้องรอให้ผ่านการทำประชามติก่อน แต่จะต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับโรดแมปด้วย
วิษณุ ชี้ใช้ม.44 ออกกติกาคุม ‘ประชามติ’ ได้
เมื่อวันที่ 4 ก.พ. ที่ผ่านมา คมชัดลึกออนไลน์ รายงานว่า ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี  กล่าวถึงการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมความพร้อมในการทำประชามติในสัปดาห์หน้าว่า กกต.มีหน้าที่ออกกฏระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติ แต่ไม่มีอำนาจในการกำหนดโทษ เพราะเรื่องดังกล่าวต้องออกเป็นกฏหมายโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อกำหนดโทษ เช่น การฉีกบัตร ขัดขวางการออกเสียงประชามติซึ่งต่างจากการเลือกตั้งส.ส. ที่มีพ.ร.บ.การเลือกตั้งรองรับ ซึ่งการกำหนดโทษนั้น หากจะใช้มาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญ ชั่วคราว ก็สามารถใช้ได้ แต่ไม่ใช่การใช้เพื่อไปหักล้างรัฐธรรมนูญมาตราใดมาตราหนึ่งแต่ใช้แทนสิ่งที่จะออกแทนพ.ร.บ. เหมือนที่คสช. เคยทำมาแล้ว
 
นายวิษณุ กล่าวว่า หากจะกำหนดกติกาเกี่ยวกับการทำประชามติก็สามารถใช้มาตรา 44 นี้ได้ แต่หากว่าไม่สมควรก็สามารถออกพ.ร.ก.หรือพ.ร.บ.ได้เช่นกันทั้งสามส่วนมีศักดิ์ศรีและสถานะเท่ากัน  ส่วนพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2552 นั้น ไม่ได้รองรับการทำประชามติเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ แต่เกี่ยวข้องเช่น ถามความเห็นประชาชน เกี่ยวกับการสร้างเขื่อน เป็นต้น ซึ่งไม่ได้เตรียมการสำหรับกรณีการขัดขวางการทำประชามติ  จึงไม่สามารถใช้แทนกันได้ เนื่องจากยังไม่มีความสมบูรณ์ อย่างไรก็ตามหัวข้อต่างๆ เกี่ยวกับการประชามติ จะมีการหารือในรายละเอียดในสัปดาห์หน้า ซึ่งจะมีการพูดคุยกันอย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นวันออกเสียงประชามติ
 
โฆษก กรธ.มั่นใจ หากปชช.ออกมาประชามติ 80% รธน.ผ่าน พลังเงียบบริสุทธิ์ศึกษาร่างอย่างแท้จริง
 
โพสต์ทูเดย์ รายงานด้วยว่า นายอมร วาณิชวิวัฒน์ โฆษก กรธ. แถลงว่า เรื่องใหญ่ของกรธ. ขณะนี้ ไม่ได้เกี่ยวกับความยุ่งยาก ซับซ้อนของการชี้แจง แต่มีผู้ที่ไม่มีความเข้าใจหรือเข้าใจแต่จงใจบิดเบือนข้อเท็จจริงของร่างรัฐธรรมนูญ เป็นที่มาของการผลิตรายการแกะกล่องรัฐธรรมนูญใหม่ ที่ออกอากาศเป็นประจำทุกวัน
 
"ส่วนกรณีที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย ออกมาระบุว่า ไม่ต้องทำประชามติเพราะเปลืองงบประมาณ เปลืองเวลา นั้น ผมกลับมั่นใจว่าหากผู้ออกมาใช้สิทธิถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติได้ เพราะมั่นใจในพลังเงียบและพลังบริสุทธิ์ที่ศึกษาร่างรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง โดยไม่ฟังเสียงวิจารณ์ที่บิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญ" นายอมรกล่าว

อธิการมธ.ขู่ หากนศ.ทำขบวนล้อการเมือง นอกข้อตกลงร่วมทหาร ปีหน้าอาจเปลี่ยนคณะทำงาน

17.40 น. 3 ก.พ.59 เจ้าหน้าที่ทหารนอกเครื่องแบบเข้าขอหารือกับนักศึกษากลุ่มอิสระล้อการเมือง โดยไม่อนุญาตให้สื่อได้บันทึกภาพ (ที่มาภาพ เพจ กลุ่มอิสระล้อการเมืองแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)

หลังจากเมื่อปีที่ผ่านมา การจัดงานฟุตบอลเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 70 โดยมีขบวนพาเหรดล้อการเมือง ที่มีการเสียดสี คสช.และรัฐบาล ซึ่งการควบคุมของเจ้าหน้าที่อย่างเข้มงวด (อ่านรายละเอียด) ส่งผลต่อขบวนล้อการเมืองในงานฟุตบอลเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 71 ที่จะจัดในวันที่ 13 ก.พ. นี้ โดยเมื่อวันที่ 3 ก.พ.ที่ผ่านมา กลุ่มอิสระล้อการเมืองแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รายงานว่า เมื่อเวลา 17.40 น. เจ้าหน้าที่ทหารนอกเครื่องแบบเข้าขอหารือกับนักศึกษากลุ่มอิสระล้อการเมือง โดยไม่อนุญาตให้สื่อได้บันทึกภาพ
วันนี้ (5 ก.พ.59) มติชนออนไลน์ รายงานด้วยว่า นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ขบวนล้อการเมืองเป็นงานของสมาคมธรรมศาสตร์และองค์การนักศึกษา ไม่ได้เป็นงานของมหาวิทยาลัย แต่เท่าที่ทราบมาได้มีการหารือกันระหว่างนักศึกษาและ คสช.แล้ว อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวยังรู้สึกเป็นห่วง เพราะถึงแม้จะมีข้อตกลงร่วมกันแล้ว แต่วันงานอาจจะมีการทำนอกเหนือข้อตกลงได้ และถ้าเกิดขึ้นก็อาจจะทำให้ปีหน้าต้องเปลี่ยนแปลงทีมงานทำขบวนล้อการเมือง ไม่ให้คนทำงานชุดเก่าเข้าไปทำอีกก็ได้
 
“ถึงแม้จะมีการคุยกันแล้ว แต่ขบวนก็ยังมีการเสียดสีกันเหมือนเดิม เพราะเป็นรูปแบบของขบวนล้อการเมืองอยู่แล้ว แต่ก็มีข้อตกลงที่คุยกันแล้วว่าห้ามใช้คำหยาบ ห้ามเอ่ยชื่อคน และหลายข้อที่ได้คุยกันไว้” นายสมคิดกล่าว
 
ด้าน นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เป็นเรื่องธรรมดาที่นักศึกษาจะมีการล้อการเมืองเพราะทำมาทุกรัฐบาล และ คสช. ควรใจกว้าง โดยพื้นฐานเป็นเรื่องปกติธรรมดา ที่คนหนุ่มสาวคิดอย่างไรเขาก็จะแสดงออกมา โดยเฉพาะการเรียกร้องประชาธิปไตย ทุกประเทศ จะเห็นคนหนุ่มสาวเป็นแนวหน้า ประเทศไทยก็เช่นกัน หากไม่มีเหตุการณ์ 14 ตุลา ซึ่งมีนักศึกษาเป็นแกนนำ ประเทศไทยก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง การแสดงออกทางการเมืองคือส่วนหนึ่งของการเรียนรู้และรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เพียงแต่การแสดงออกต้องไม่ไปละเมิดสิทธิของคนอื่น

คกก.นักนิติศาสตร์สากล เรียกร้องยกเลิกดำเนินคดีอาญาทนายกลุ่ม NDM

จนท.ตร.นำแผงกั้นล้อม-ใช้กระดาษติดเทปกาวแปะรอบประตูรถทนาย
(ที่มาภาพ: ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน)

คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) เรียกร้องยกเลิกการดำเนินคดีอาญากับทนายกลุ่ม NDM หลังตำรวจส่งหมายเรียกรับทราบข้อกล่าวหา แจ้งความเท็จ-ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งจพนง. โดยก่อนหน้านี้ ทนายปฏิเสธไม่ให้ตำรวจค้นรถ-แจ้งความกรณีตำรวจยึดรถเอาไว้
5 ก.พ. 2559 คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (The International Commission of Jurists - ICJ) ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลไทยยกเลิกการดำเนินคดีอาญากับศิริกาญจน์ เจริญศิริ ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน ทันที
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2559 ศิริกาญจน์ เจริญศิริ ได้รับหมายเรียกสองหมายให้เข้ามารายงานตัวกับสถานีตำรวจชนะสงครามในวันที่  9  กุมภาพันธ์ เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาในคดีอาญา ได้แก่ ข้อหาแจ้งความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญา และไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน โดยข้อหาดังกล่าวอาจส่งผลให้ได้รับโทษจำคุกนานถึงสองปี
“เป็นที่ชัดเจนว่าข้อหาต่อนางสาวศิริกาญจน์ เจริญศิริ นั้นเชื่อมโยงมาจากความพยายามของเธอที่จะคุ้มครองสิทธิทางกฎหมาย และสิทธิมนุษยชนของลูกความซึ่งเป็นนักศึกษา ทั้งนี้ นักศึกษาไม่ควรที่จะถูกจับกุมหรือดำเนินคดีอาญาด้วยเหตุที่มาจากการใช้เสรีภาพในการแสดงออกและชุมนุมโดยสงบมาแต่แรกแล้ว”  แมทท์ พอลลาร์ด (Matt Pollard) หัวหน้าศูนย์ความเป็นอิสระของผู้พิพากษา และทนายความของคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากลกล่าว
“การดำเนินคดีกับนางสาวศิริกาญจน์ เจริญศิริ ที่เกี่ยวโยงมาจากความพยายามของเธอในการปกป้องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องที่รับไม่ได้โดยสิ้นเชิง และจะยังผลให้ประเทศไทยละเมิดพันธกรณีระหว่างประเทศมากขึ้นไปอีก” เขากล่าวเสริม
แถลงการณ์ระบุว่า ถึงแม้ว่าในหมายเรียกจะมิได้ระบุโดยละเอียดถึงเหตุผลที่ให้มารายงานตัว แต่เนื่องจากในหมายเรียกระบุชื่อผู้กล่าวหา คือ พ.ต.อ.สุริยา จำนงโชค ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการสอบสวนกรณี  14 นักศึกษา ข้อหาดังกล่าวน่าจะเกี่ยวเนื่องมาจากการพฤติการณ์แวดล้อมที่ ศิริกาญจน์ เจริญศิริ ได้ให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่ นักศึกษา 14 รายที่ถูกจับกุมในวันที่ 26  มิถุนายน 2558 ภายหลังการชุมนุมโดยสงบเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย และขอให้ยุติการปกครองโดยทหาร
สำหรับ ศิริกาญจน์ เจริญศิริ เป็นทนายความของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่บุคคลจำนวนมาก รวมถึงนักกิจกรรม และนักต่อสู้ด้านสิทธิมนุษยชน ภายหลังการปกครองโดยทหารซึ่งได้เริ่มขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2557
ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากลเคยได้แสดงความกังวลกับกรณีที่รัฐบาลไทยมุ่งจัดการ ศิริกาญจน์ เจริญศิริเป็นกรณีเฉพาะ ในเหตุการณ์เมื่อวันที่ 2  กรกฎาคม 2558 ภายหลังที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติข่มขู่ว่าจะดำเนินคดีกับเธอ โดยได้ประกาศให้สาธารณะรับทราบว่า ทางสำนักตำรวจแห่งชาติอยู่ในระหว่างการพิจารณาแจ้งข้อกล่าวหาในคดีอาญา โดยได้มีการเดินทางไปที่บ้านของศิริกาญจน์ เพื่อสอบถามสมาชิกในครอบครัว จะเห็นได้ว่า ภัยและการคุกคามดังกล่าวเป็นการตอบโต้กับเหตุการณ์ที่ศิริกาญจน์ เจริญศิริ ไม่ยินยอมให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาค้นรถยนต์ของตน ภายหลังจากที่นักศึกษาขึ้นศาล อีกประการหนึ่งคือเหตุที่ศิริกาญจน์ แจ้งความกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการยึดรถยนต์ของตนเอาไว้
ทั้งนี้ คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากลได้นำแจ้งกรณีของศิริกาญจน์ ให้ผู้แทนรายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติด้านความเป็นอิสระของผู้พิพากษาและทนายความ และผู้แทนรายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติด้านสถานการณ์ของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยในเดือนพฤษภาคม 2559 คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติจะทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ซึ่งเป็นการใช้กลไกการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (Universal Periodic Review) ของทุกประเทศสมาชิก
"ก่อนที่องค์การสหประชาชาติจะได้ทบทวนสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยในเดือนพฤษภาคมนี้ และเพื่อที่รัฐบาลไทยจะไม่ดำเนินการขัดแย้งกับ ‘โรดแมป’ ที่วางไว้เพื่อนำไปสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตย เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลไทยต้องเคารพสิทธิมนุษยชนที่ยิ่งเพิ่มขึ้นในทุกวัน” แมทท์ได้กล่าวเสริม