วันพฤหัสบดีที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2559

กลุ่มลูกชาวบ้าน ม.บูรพา-กลุ่มนิสิตเกษตรฯ-เครือข่ายสลัม 4 ภาค จี้หยุดละเมิดสิทธิ-ปล่อยปชช.ทันที


28 เม.ย.2559 เมื่อเวลา 13.00 น. ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'กลุ่มลูกชาวบ้าน ม.บูรพา บางแสน' ได้เผยแพร่ แถลงการณ์กลุ่มลูกชาวบ้าน กรณีการควบคุมตัวนักกิจกรรมและประชาชน

โดยแถลงการณ์ระบุว่า อันเนื่องจากเหตุการณ์การควบคุมตัวนักกิจกรรมและประชาชนจำนวน 26 คน ในวันที่ 27 เม.ย. ที่ผ่านมา โดยเข้าควบคุมในช่วงเช้าจำนวน 10 คนและช่วงค่ำอีกรวม 16 คน โดยไม่แจ้งข้อหาและสิทธิอันพึงมีให้ผู้ถูกควบคุมตัวทราบ รวมทั้งไม่มีหมายจับหรือหมายค้นในการบุกเข้าควบคุมตัวประชาชนทั้ง 10 คนในช่วงเช้า

กลุ่มลูกชาวบ้าน ขอแถลงการณ์ประณามการกระทำดังกล่าวซึ่งขัดและละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง แม้ว่าในขณะนี้จะมีการปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัวบางแล้วบางส่วนก็ตาม เนื่องด้วยการกระทำในลักษณะเช่นนี้นับเป็นสิ่งที่ละเมิดต่อสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง อีกทั้งขัดต่อหลักการพื้นฐานของกฎหมายอาญาในการคุ้มครองบุคคลผู้บริสุทธิ์อย่างสำคัญ

กลุ่มลูกชาวบ้านขอเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัวทั้งหมดทันที และขอเรียกร้องให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) หยุดพฤติกรรมการคุกคามประชาชน ยกเลิกการใช้อำนาจละเมิดสิทธิเช่นนี้โดยทันที และโดยถาวร เนื่องจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นวงกว้างในปัจจุบันไม่มีเหตุผลชอบธรรมใดๆ รองรับ เผด็จการทหารควรหยุดการกระทำโดยทันทีมิเช่นนั้นจะต้องถูกประณามและมีปฏิกิริยาโต้ตอบจากประชาชนผู้สนับสนุนแนวคิดแบบประชาธิปไตย
 

ขณะที่เพจ 'เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง' รายงานด้วยว่า เมื่อเวลา13.00 น. นิสิตและอาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จัดกิจกรรมยืนเรียกร้อง คสช. ให้ปล่อยตัวประชาชนที่ถูก คสช. ละเมิดสิทธิและถูกจับกุมตัวไปในทันที
 
 
ด้าน กลุ่มเสรีนนทรี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ออกแถลงการณ์กรณีการควบคุมตัวประชาชน โดยระบุว่า จากการที่กลุ่มเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจบุกเข้าควบคุมตัวประชาชน 8 คน ในเขตกรุงเทพมหานคร และอีก 2 คน ในเขตจังหวัดขอนแก่น ในช่วงเช้าของวันที่ 27 เมษายนที่ผ่านมา โดยไม่มีหมายจับ หมายค้น ไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาหรือแจ้งสิทธิใด ๆ อันเป็นหลักปฏิบัติขั้นพื้นฐานในการเข้าควบคุมตัวบุคคลตามกฎหมาย ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดหลักมนุษยธรรมและเป็นการละเมิดสิทธิของประชาชนขั้นร้ายแรง ลุแก่อำนาจและลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
"กลุ่มเสรีนนทรีเราขอประณามการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการจับกุม เนื่องจาก
1. เป็นการกระทำที่อุกอาจและขัดต่อหลักมนุษยธรรม และ 2. เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่พึงมี"

ในนามกลุ่มเสรีนนทรีขอแสดงเจตจำนงดังนี้
1. ขอเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวผู้ที่ถูกจับกุมทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข
2. ยกเลิกมาตรา 44 และคำสั่งที่มีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพในการรวมตัวและเรียกร้องการมีส่วนร่วมของประชาชน
3. ให้ประชาชนแสดงออกถึงสิทธิและเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์และแสดงความคิดเห็นต่อรัฐบาล คสช.และร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยเป็นไปอย่างเสรี
 

ด้านเครือข่ายสลัม 4 ภาค ออกแถลงการณ์ "หยุดจับกุมประชาชนที่เห็นต่าง: ปล่อยตัวคนเห็นต่างทันที" โดยระบุว่า กรณีการควบคุมตัวนักกิจกรรมและประชาชน อันเนื่องจากเหตุการณ์การควบคุมตัวนักกิจกรรมและประชาชนจำนวน 10 คน ในวันที่ 27 เมษายน พ.ศ.2559 ที่ผ่านมา โดยเข้าควบคุมในช่วงเช้าโดยไม่แจ้งข้อหา และสิทธิอันพึงมีให้ผู้ถูกควบคุมตัวทราบ รวมทั้งไม่มีหมายจับหรือหมายค้นในการบุกเข้าควบคุมตัวประชาชนทั้ง 10 คน
"เครือข่ายสลัม 4 ภาค ไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าวซึ่งขัดและละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง อีกทั้งยังขัดต่อหลักการพื้นฐานของกฎหมายอาญาในการคุ้มครองบุคคลผู้บริสุทธิ์อย่างสำคัญ
"เครือข่ายสลัม 4 ภาค ขอเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัวทั้งหมดทันที และขอเรียกร้องให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หยุดพฤติกรรมคุกคาม การใช้อำนาจที่ละเมิดสิทธิ และเสรีภาพของประชาชน โดยทันที เนื่องจากเป็นการกระทำที่ปราศจากเหตุผลและข้ออ้างใดๆ สิ่งที่ คสช. ควรทำ คือเปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้แสดงออกอย่างสร้างสรรค์ มิใช่การปิดกั้นและคุกคามประชาชน เครือข่ายสลัม 4 ภาค จะร่วมปกป้องเสรีภาพของประชาชน พร้อมทั้งติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด"

แอมเนสตี้ร้องปล่อยตัวผู้แสดงความเห็นทางเฟซบุ๊กถูกรัฐบาลทหารไทยคุมตัว



28 เม.ย. 2559 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดเผยว่า การที่ผู้แสดงความเห็นทางเฟซบุ๊กอย่างน้อย 10 คนถูกควบคุมตัวและตั้งข้อหาเมื่อวันที่ 27 เม.ย. ที่ผ่านมา โดยใช้อำนาจอย่างกว้างขวางตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) การกระทำดังกล่าวแสดงเจตจำนงอย่างชัดเจนที่จะปิดกั้นการอภิปรายถกเถียงก่อนจะถึงการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ
โดยทั้ง 10 คนถูกจับกุมหลังแสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมาย ซึ่งรัฐบาลทหารของไทยพยายามประกาศใช้รัฐธรรมนูญดังกล่าวให้ได้  สำหรับผู้ใช้งานเฟซบุ๊กซึ่งถูกตั้งข้อหาตามกฎหมายดังกล่าวอาจได้รับโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท
โจเซฟ เบเนดิกต์ (Josef Benedict) ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า ถ้าประชาชนทั่วไปไม่สามารถแสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กได้ เนื่องจากอาจถูกลงโทษจำคุกถึง 10 ปี และเสียค่าปรับที่สูงลิบลิ่วแล้ว. จะมีความหวังได้อย่างไรว่าจะมีการอภิปรายถกเถียงอย่างเปิดเผยและตรงไปตรงมาเกี่ยวกับร่างรัฐูธรรมนูญที่จัดทำโดยรัฐบาลทหาร
“รัฐบาลทหารของไทยต้องยกเลิกข้อกล่าวหาทั้งหมดที่มีต่อผู้แสดงความเห็นเหล่านั้นโดยทันที และปล่อยตัวพวกเขาอย่างไม่มีเงื่อนไข รัฐบาลไม่มีหน้าที่ตัดสินว่าสิ่งใดที่สามารถพูดได้หรือไม่สามารถพูดได้เกี่ยวกับการทำประชามติ ควรปล่อยให้ประชาชนเป็นผู้ใช้วิจารณญาณทางการเมืองตัดสินใจด้วยตนเอง” โจเซฟ เบเนดิกต์ กล่าว
รัฐบาลทหารของไทยเสนอให้มีการลงมติร่างรัฐธรรมนูญในการทำประชามติที่จะมีขึ้นในวันที่ 7 ส.ค.นี้ แต่ในช่วงก่อนหน้านั้น ทางการได้เพิ่มการปราบปรามสิทธิมนุษยชนที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก เกือบทุกวันมีผู้ถูกจับกุมและถูกลงโทษแม้เพียงแค่การตั้งข้อสังเกตแบบพื้นฐานเกี่ยวกับเหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้น
สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้งขู่ว่าเขาต้องการจะ “เชือดไก่ให้ลิงดู” สำหรับคนที่แสดงความเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญซึ่งไม่เป็นที่เห็นชอบของทางการ โดยบอกว่ามีผู้แสดงความเห็นซึ่งใช้ “ภาษาที่หยาบคายและก้าวร้าว” แต่ให้เหตุผลว่าทางการจะยอมรับการอภิปรายถกเถียงในลักษณะ “ที่เป็นวิชาการประกอบด้วยตรรกะและเหตุผล” ได้
“คณะกรรมการการเลือกตั้งอ้างว่าต้องการการถกเถียงด้วยข้อมูล แต่แนวทางที่รัฐบาลดำเนินการอยู่เพื่อปราบปรามเสียงที่เห็นต่างสะท้อนให้เห็นว่าทางการไม่มีความอดทนพอที่จะรับฟังความเห็นที่แตกต่างไปจากตนได้” โจเซฟ เบเนดิกต์ กล่าว

'สถาบันสิทธิฯ มหิดล' ชี้คุณกำลังขัดกับรธน.ของตัวเอง เหตุคุกคามคนบอกรับ/ไม่รับร่างรธน.


ภาพ เมื่อวันที่ 25 เม.ย. ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้ายึดเอกสาร 7 เหตุผลไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ของกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ NDM และเตรียมเชิญตัว เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิฯ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งกำลังถือเอกสารดังกล่าวอยู่ ไปยัง สน.ปทุมวัน โดยแจ้งว่า ต้องการพูดคุยด้วย แต่เมื่อผู้สื่อข่าว และผู้ร่วมงาน เข้าไปดูเหตุการณ์ เจ้าหน้าที่ได้เปลี่ยนใจจากการขอเชิญตัว เป็นขอนามบัตรแทน เพื่อที่จะติดต่อเพื่อเรียกไปคุยวันอื่น

สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล แถลงสนับสนุนการแสดงความคิดเห็นที่หลากหลายต่อร่างรธน.เพื่อการออกเสียงประชามติที่เสรี-เป็นธรรม เตือนคสช. รัฐบาลและกกต. กำลังขัดรธน. ม.4 ของคสช. รวมทั้ง พ.ร.บ.ประชามติเสียเอง ที่เขียนให้ความคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก
28 เม.ย.2559 จากเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารพยายามขอให้ เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษาซึ่งทำหน้าที่วิทยากรในเวทีถกแถลงร่างรัฐธรรมนูญครั้งที่ 2 หัวข้อ “คำถามพ่วงมีนัยอย่างไร” ณ ห้องประชุมมาลัย หุวะนันท์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 25 เม.ย. ทีผ่านมา ไปยังสถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน เพื่อชี้แจงกรณีการเผยแพร่เอกสาร “7 เหตุผล ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 7 สิงหา 59 ประชามติเพื่ออนาคต” โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้แจ้งความผิดใด ๆ แต่เมื่อผู้สื่อข่าว และผู้ร่วมงาน เข้าไปดูเหตุการณ์ เจ้าหน้าที่ได้เปลี่ยนใจจากการขอเชิญตัว เป็นขอนามบัตรแทน เพื่อที่จะติดต่อเพื่อเรียกไปคุยวันอื่น นั้น (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)
ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 เม.ย.ที่ผ่านมา สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะองค์กรร่วมจัดงานและหน่วยงานต้นสังกัดของ เบญจรัตน์ ขอชี้แจงและเรียกร้องต่อรัฐบาล คณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคณะกรรมการการเลือกตั้ง ดังต่อไปนี้
1. สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษายืนยันการสนับสนุนระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะการมีพื้นที่แลกเปลี่ยนและถกแถลงความเห็นที่แตกต่างหลากหลาย อันจะนำมาซึ่งการเรียนรู้ร่วมกันของคนในสังคม การสร้างคุณค่าร่วมกัน และการแสวงหาแนวทางการอยู่ร่วมกันได้ในความแตกต่างเหล่านั้น

2. การแสดงออกถึงการเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญเป็นสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาตรา 4 ซึ่งให้ความคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ประเทศไทยเป็นภาคีซึ่งรับรองสิทธิขั้นพื้นฐานในการแสดงออกของปวงชน และตามมาตรา 7 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 ซึ่งบัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงโดยสุจริตและไม่ขัดต่อกฎหมาย”

3. พฤติกรรมของผู้แทนรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการในการออกคำสั่ง จับกุม และข่มขู่ผู้ซึ่งแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตและเปิดเผย เป็นพฤติกรรมที่ขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ที่มุ่งสร้างความสามัคคี สกัดการใช้กำลัง และยังขัดกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ประเทศไทยเป็นภาคี อีกทั้ง การไม่รับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างอาจนำมาซึ่งความขัดแย้ง ซึ่งขัดกับเจตนารมณ์และนโยบายของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่มุ่งยุติความขัดแย้งของคนในชาติ

4. ถ้ารัฐบาล คณะรักษาความสงบแห่งชาติ คณะกรรมการการเลือกตั้ง และองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญเห็นว่า บุคคลและ/หรือองค์กรใดมีพฤติกรรมที่แสดงให้เห็นว่ากระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 จำเป็นต้องชี้แจงให้ชัดเจนว่า บุคคลและ/หรือองค์กรนั้นกระทำผิดกฎหมายฉบับใด ในมาตราใด ด้วยเหตุผลใด และต้องเป็นการชี้แจงโดยเปิดเผยต่อสาธารณะ

5. การแจกเอกสารหรือการแถลงข่าวว่ารับหรือไม่รับ และการเชิญชวนให้รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งกระทำโดยสุภาพและสุจริตใจตามมาตรา 7 ที่อ้างถึงข้างต้น น่าจะกระทำได้เพราะไม่ถูกห้ามโดยมาตรา 61 วรรคสองของพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 ที่บัญญัติว่า “ผู้ใดดําเนินการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือในช่องทางอื่นใด ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง ให้ถือว่าผู้นั้นกระทําการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย”

6. ผู้ที่บังคับใช้กฎหมายและผู้ที่อยู่ในกระบวนการทางกฎหมายพึงตีความพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 โดยเฉพาะมาตรา 61 ในทางที่เอื้อไม่ใช่ในทางที่ลิดรอนสิทธิการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ทั้งนี้ โดยสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อให้การออกเสียงประชามติเป็นไปอย่างเสรีและเป็นธรรม สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ขอยืนยันสิทธิขั้นพื้นฐานในการแสดงออก และขอเรียกร้องต่อรัฐบาล คณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคณะกรรมการการเลือกตั้ง และองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ให้เคารพสิทธิขั้นพื้นฐานของปวงชนชาวไทยในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญและการออกเสียงประชามติโดยสุจริตใจ