วันพุธที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ระเบิดหัวลำโพง เจ็บ 2 หลังเขี่ยบุหรี่ลงขวดต้องสงสัย คาดระเบิดปิงปอง




Wed, 2016-05-11 14:21


11 พ.ค. 2559 TNN24 รายงานว่า เมื่อเวลา 11.56 น. เจ้าหน้าที่รับแจ้งมีเหตุระเบิดบริเวณด้านหน้าสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ตรงข้ามร้านอาหาร KFC ร.ต.อ.เดชา เวียงอินทร์ รองสว.(สอบสวน) ส.รฟ.นพวงศ์ฯ กองบังคับการตำรวจรถไฟเดินทางไปตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุพร้อมกับประสานรถพยาบาลและหน่วย EOD ร่วมตรวจที่เกิดเหตุ พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก ผบก.รฟ., วุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผวก.รฟ. พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่การรถไฟ

จากการตรวจที่เกิดเหตุพบว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 นาย คือ ทนง ไม่เศร้า อายุ 25 ปี และ ลมัย อ่วมงามทรัพย์ อายุ 30 ปี นำส่ง รพ. กลาง รายงานดังกล่าวระบุว่า จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่คาดว่าเป็นระเบิดปิงปอง

รายงานถึงสาเหตุเบื้องต้นด้วยว่า ทนงศักดิ์ พงษ์ประเสริฐ รองผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท. กล่าวว่า ได้รับรายงานว่า มีผู้โดยสารชายที่กำลังรอรถโดยสารกำลังสูบบุหรี่แล้วเห็นกล่องเล็กๆ วางอยู่บริเวณด้านหน้าสถานี ไม่รู้เป็นกล่องอะไร เปิดดูพบเป็นขวดเล็กๆ จึงเอาบุหรี่ที่ถืออยู่ในมือไปเขี่ยที่ที่ปากขวด เหมือนเขี่ยบุหรี่ จากนั้นจึงเกิดระเบิดขึ้นมา ทำให้มีผู้บาดเจ็บเป็นชาย 2 คน ดังกล่าว

ปล่อย 'พร้อมพงษ์-เกียรติอุดม' แล้ว หลังได้พักโทษ คดีหมิ่นอดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ


พร้อมพงษ์ เผยหลังได้รับโทษแล้ว 4 ใน 5 ระหว่างอยู่ในเรือนจำ น้ำหนักตัวลดลง ระบุจากนี้จะไม่เคลื่อนไหวทางการเมืองเหตุอยู่ในช่วงพักโทษ โดยจะไปตรวจร่างกายและขอใช้เวลาอยู่กับครอบครัว
11 พ.ค.2559 หลังจาก เมื่อ 31 มี.ค. ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาพักการลงโทษ ที่มี กอบเกียรติ กสิวิวัฒน์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เป็นประธาน ได้มีการพิจารณาพักการลงโทษ พร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ อดีตโฆษกพรรคเพื่อไทย และ เกียรติอุดม เมนะสวัสดิ์ อดีตส.ส.พรรคเพื่อไทย ผู้ต้องขังคดีหมิ่นประมาท วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ ต้องโทษจำคุก 1 ปี ไม่รอลงอาญา
ล่าสุดวันนี้ (11 พ.ค.59) ที่เรือนจำพิเศษ กรุงเทพมหานคร เมื่อเวลา 09.15 น. พร้อมพงษ์ และ เกียรอุดม ได้รับการปล่อยตัวหลังจากได้รับการพักโทษ 1 ใน 5 ตามหลักเกณฑ์พักโทษของนักโทษชั้นดี โดยมีครอบครัวและแกนนำพรรคเพื่อไทยไปรอต้อนรับแล้ว
สำนักข่าวไทย รายงานว่า พร้อมพงศ์ กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณกระทรวงยุติธรรมที่พิจารณาพักโทษ ซึ่งตนและ เกียรติอุดม ได้รับโทษแล้ว 4 ใน 5 การใช้ชีวิตในเรือนจำเหมือนเข้าโรงเรียนประจำ ตนและ เกียรติอุดม ปฏิบัติตามระเบียบ และช่วยงานในเรือนจำ ซึ่งระหว่างอยู่ในเรือนจำ น้ำหนักตัวลดลง หลังจากนี้จะไม่เคลื่อนไหวทางการเมืองเพราะอยู่ในช่วงพักโทษ  จะไปตรวจร่างกายและขอใช้เวลาอยู่กับครอบครัว
สำหรับ พร้อมพงษ์และ เกียรติอุดม ศาลได้มีคำพิพากษาฏีกา เมื่อวันที่ 24 ก.ค.58 ในความผิดฐานหมิ่นประมาทนายวสันต์ อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328 โดยศาลฏีกายืนตามศาลอุทธรณ์ให้จำคุก 1 ปีจำเลยทั้งสอง โดยไม่รอการลงโทษส่งผลให้ทั้ง 2 ถูกนำตัวไปขังที่เรือนจำตั้งแต่วันนั้น

พท.ขอรัฐบาลหยุดเรียกชาวบ้านเข้าค่าย หลังส่องขุดลอกคลองขององค์การทหารผ่านศึก


11 พ.ค. 2559 ชวลิต วิชยสุทธิ์ รักษาการรองเลขาธิพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า จากกรณีที่แกนนำพรรคเพื่อไทยได้เดินทางลงพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก เพื่อติดตามโครงการขุดลอกคูคลองขององค์การทหารผ่านศึก (อผศ.) เมื่อวันที่ 9 พ.ค. ที่ผ่านมา  ทำให้ นคร มาฉิม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ได้ถูกทหารจากกองทัพภาคที่ 3 เชิญตัวเข้าพบ แต่ นคร ติดภารกิจ จึงได้ขอเลื่อนเข้าพบในวันอาทิตย์ที่ 14  พ.ค. แทน อย่างไรก็ตาม วันนี้ (11 พ.ค.) ทหารได้เชิญตัวนายกและรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลหินลาด ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 6 บ้านหินลาดและประชาชน ที่ร่วมลงพื้นที่กับพรรคเพื่อไทย ไปพบยังกองทัพภาคที่ 3
“ขอเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการเชิญตัวชาวบ้านไปพบยังค่ายทหาร เพราะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการลงพื้นที่ แต่ชาวบ้านมีความเดือนร้อนจากปัญหาภัยแล้ง และอยากเห็นการแก้ปัญหาภัยแล้งอย่างจริงจัง” ชวลิต กล่าว
ชวลิต กล่าวว่า  พรรคเพื่อไทยให้ความร่วมมือกับรัฐบาล ที่จะป้องกันและปราบปรามการทุจริต การลงพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก เพื่อหาหลักฐานและข้อมูล ยื่นต่อสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ( สตง.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ตรวจสอบเรื่องนี้ เพราะเห็นว่าการดำเนินโครงการส่อพิรุธ และปล่อยให้บริษัทเอกชนดำเนินการทั้งที่หมดสัญญาในการจ้าง
ชวลิต กล่าวว่า การขุดลอกดำเนินการโดยบริษัทเอกชน และเครื่องจักรจากเอกชน ไม่ได้ดำเนินการโดย อผศ.ซึ่งผิดเงื่อนไขของคณะกรรมการสิทธิพิเศษ กระทรวงการคลัง ที่มีมติให้ อผศ.ดำเนินการโดยใช้เครื่องจักรและกำลังพลของ อผศ. และจากการตรวจสอบ พบว่ามีการเบิกจ่ายประมาณไปแล้วในหลายจังหวัด จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลระงับสิทธิพิเศษที่ให้ อผศ.เป็นผู้ดำเนินการขุดลอกคูคลอง และให้ใช้งบประมาณปกติในการแก้ปัญหาภัยแล้ง ผ่านกระทรวงมหาดไทย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และกรมทรัพยากรน้ำ
“อย่างไรก็ตาม จากนี้พรรคเพื่อไทยเตรียมจะรวบรวมหลักฐาน และมอบหมายให้ เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ไปยื่นเรื่องให้ สตง. และ ป.ป.ช. เข้ามาตรวจสอบโครงการขุดคลอกคูคลองของ อผศ. ต่อไป” ชวลิต กล่าว

รมว.ยุติธรรมยัน ม.112 จำเป็น ชี้ประเทศอื่นไม่มีอารยะไม่มีความนุ่มนวลอย่างที่เราได้รับ


11 พ.ค.2559 พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงการรายงานการทบทวนสิทธิมนุษยชนของประเทศตามกลไก Universal Periodic Review (UPR) ว่า ในวันนี้เวลา 15.00 น. ตามเวลาประเทศไทย ชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย จะรายงานและชี้แจงต่อสมาชิกสหประชาติ (ยูเอ็น) 14 ประเทศ เรื่องการทบทวนสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย รอบที่ 2 ในการประชุมคณะทำงานยูพีอาร์แห่งคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เรื่องนี้เป็นวาระของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนยูเอ็นที่เปิดโอกาสให้เราไปชี้แจงเรื่องดังกล่าวตามวาระของยูเอ็น ที่จริงแล้วไม่ใช่ว่าเราทำรายงานส่งไปแล้ว จะไม่ไปชี้แจง เพราะเราเป็นประเทศสมาชิกในยูเอ็นเราต้องให้ความเคารพองค์กรที่เราเป็นสมาชิกอยู่ด้วย
“เราเชื่อมั่นว่าไม่มีอะไร เราพยายามแก้ไขปัญหาบ้านเมืองของเราบนพื้นฐานของบริบทในกรอบปัญหาของเรา ไปพูดให้เขาฟังว่าทำไมเราต้องทำอย่างนี้ ผมเชื่อว่าทุกประเทศจะมีความเป็นสิทธิมนุษยชนเท่าเทียมกันหมด ด้วยความที่เป็นประเทศที่ไม่เหมือนกัน แต่ว่าอะไรที่จะนำพาบ้านเมืองไปสู่ความสงบเรียบร้อย การปฏิรูปที่จะทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อยได้ ต้องทำแบบนั้นเสียก่อน แต่อาจไม่มีลักษณะความเป็นสากลอยู่ พวกเราทราบกันอยู่ว่าปัญหาก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คืออะไร สิ่งที่รัฐบาล คสช. พยายามจัดระบบให้สงบเรียบร้อยขึ้นมา ก็จำเป็นอยู่บ้างที่ข้อกำหนดกฎเกณฑ์ใช้เฉพาะเราเป็นช่วงระยะเวลาหนึ่ง ไม่ได้ทำตลอดไป หลายประเทศก็ทำกัน ท่านลองไปศึกษากฎหมายของหลายๆ ประเทศดู มันคือความจำเป็นของเฉพาะประเทศนั้นๆ ไม่ใช่หรือ และประเทศนี้ใหญ่พอสมควร ใหญ่มากด้วยซ้ำ” พล.อ.ไพบูลย์กล่าว
พล.อ.ไพบูลย์กล่าวต่อว่า ชาญเชาวน์ไปชี้แจงต่อยูเอ็นว่าอะไรคือเหตุจำเป็นที่จะต้องทำ ไปเล่าความจริง เราไม่สามารถทำให้ประเทศเราพังพินาศลงไปได้ เพราะความไม่สงบเรียบร้อย ใครจะยอมลักษณะอย่างนั้นเล่า แต่เราต้องยอมขัดบ้างอะไรบ้างที่เกี่ยวกับสิทธิพื้นฐาน อันนั้นคือความจำเป็นของเรา แล้วมันไปกระทบคนส่วนใหญ่ที่ไหน มันทำให้คนส่วนใหญ่ในประเทศนี้อยู่ได้ไม่ใช่หรือ จึงอยากให้มองในแง่และเจตนาเหล่านี้ มากกว่าการมองตัวกฎหมายบรรทัดเดียวแล้วบอกว่าเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ เรื่องนี้คือสิ่งที่ปลัดกระทรวงยุติธรรมต้องไปชี้แจง เราคุยกันแล้ว
“เราต้องกล้าไปเผชิญ กล้าไปพูดในสังคมโลก กล้าไปบอกความจริง เราถึงเดินยืดอกเข้าไปเพื่อชี้แจงให้เขารับทราบว่าบ้านเมืองผมจำเป็นต้องทำแบบนี้ เพื่อให้บ้านเมืองดีขึ้น แล้วมันผูกขาดไปชั่วกัปชั่วกัลป์ที่ไหนเล่า ผมไม่ได้ทำให้สังคมโลกเสื่อมเสียอะไร” พล.อ.ไพบูลย์ กล่าว
ต่อกรณีคำถามว่า คสช.ใช้กฎหมายมาตรา 112 ในการจัดการประชาชนที่เห็นต่างในการหมิ่นสถาบัน พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า กฎหมายก็จบในตัวอยู่แล้ว ยอมไม่ได้กับพวกหมิ่นสถาบัน รัฐบาลนี้ไม่ยอม สื่อประเทศไทยต้องไปบอกกับเขาบ้างว่าประเทศไทยมีความสำคัญอย่างไร จึงต้องมีกฎหมายมาตรา 112 เพราะนี่คือประเทศไทย
"ผมถามท่านว่า ท่านเป็นพวกนิยมหมิ่นสถาบันเหรอ เพราะฉะนั้นกฎหมายก็จบในตัวของมันอยู่แล้ว ไม่ต้องมาพูดอะไรกับผมมาก แล้วผมก็ยอมไม่ได้ พวกหมิ่นสถาบัน  นายกฯ ก็บอกแล้วรัฐบาลนี้ไม่ยอม แล้วผมก็ไม่ยอมตั้งแต่เด็กอยู่แล้ว ตั้งแต่เป็นทหารแล้ว"
 
"เขาเข้าใจหรือเปล่า สื่ออย่างพวกคุณก็ต้องไปบอกเขาบ้างสิ เขียนบ้างสิว่าประเทศไทย มีอะไร มีความสำคัญอย่างไรถึงต้องมีกฎหมายฉบับนี้ เขามีเหมือนเรามีไหม เขามีเหมือนเรามีหรือเปล่าเล่า หะ เขามี 70 ปีเหมือนเราไหม เขามี 7 รอบเหมือนเราไหม ไม่มีหรอกครับ เขาไม่มีอารยะ เขาไม่มีความละเอียดอ่อน เขาไม่มีความนุ่มนวลอย่างที่เราได้รับหรอกครับ ไปบอกเขาด้วย" พล.อ.ไพบูลย์ กล่าว
 
พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวกับสื่อมวลชนด้วยว่า ต้องบอกแบบนี้ไป ต้องมีกฎหมายปกป้องผู้นำของเขาเหมือนกัน
 
"ผมก็ต้องมีกฎหมายปกป้องพรเจ้าอยู่หัวผม จะมีอะไร มีอะไร ไม่กล้าพูดหรอ อายเขาเหรอ ไม่อายหรอก ผมไม่ได้อายเรื่องนี้ ทำความดีต้องไปอายอะไร สถาบันเรา ประเทศเรา นี่คือประเทศไทย ก็ต้องมีกฎหมายฉบับนี้อยู่ ทำไม ไม่ต้องการ แล้วคุณจะถามผมทำไม ถามผมก็ตอบแบบนี้ชั่วกัปชั่วกัลป์ผมก็ตอบแบบนี้ ผมจะตอบแบบนี้ทุกครั้งที่คุณถามแบบนี้ จำไว้ อัดเทปแล้วไปเขียนแบบเดิม" พล.อ.ไพบูลย์ กล่าว

ศาลทหารไม่ให้ประกันตัว ‘ณัฏฐิกา-หฤษฏ์’ เหตุเกรงหลบหนี


ศาลทหารอนุมัติฝากขัง ‘ณัฏฐิกา-หฤษฏ์’ 2 ผู้ต้องหาคดี 112 พร้อมไม่อนุญาตให้ประกันตัว เหตุเกรงผู้ต้องหาหลบหนี และเข้ายุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน
10 พ.ค. 2559 เวลา 15.30 น. วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความของ ณัฏฐิกา วรธัยวิชญ์ และหฤษฏ์ มหาทน 2 แอดมินเพจเฟสบุ๊ก “เรารักพลเอกประยุทธ์” ซึ่งถูกตั้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ได้ระบุว่า ศาลทหารอนุมัติให้ฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 2 คน และไม่อนุญาติให้ประกันตัว โดยศาลเห็นว่าเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง ประกอบกับพนักงานสอบสวนคัดค้านการปล่อยตัว หากปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาทั้ง 2 คน อาจจะมีพฤติกรรมหลบหนี หรือเข้ายุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อให้เกิดเหตุภัยอันตรายประการอื่น ซึ่งจะเป็นอุปสรรค หรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของพนักงานสอบสวนได้ ในชั้นนี้จึงไม่อนุญาตให้ประกันตัว  
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ณัฏฐิกา และ หฤษฏ์ ถูกตั้งข้อกล่าวหาหลังจากที่ถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ทหารเมื่อวันที่ 27 เม.ย.2559 และต่อมาในวันที่ 28 เม.ย. เจ้าหน้าที่ทหารได้นำตัวผู้ต้องหาทั้งหมดมาส่งตัวให้กับกองปราบปราม และได้แถลงข่าวการจับกุม โดยระบุว่า จากผลการสอบสวนเจ้าหน้าที่ตั้งข้อกล่าวหากับ ณัฏฐิกา และ หฤษฏ์ เพิ่มตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หลังจากตรวจสอบพบว่าทั้งสองคนมีการคุยกันในกล่องข้อความส่วนตัว ซึ่งมีลักษณะเข้าข่ายการหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งนี้ผู้ต้องหาทั้งสองคนให้การปฎิเสธข้อกล่าวหา
โดยก่อนหน้านี้ ณัฏฐิกา และ หฤษฏ์ ถูกฝากขังเป็นเวลา 12 วัน ตามหมายจับของศาลทหาร ในฐานความผิดตาประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และ ฐานความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยคดีดังกล่าวมีผู้ถูกกล่าวหา และถูกควบคุมตัวทั้งหมด 8 ราย ล่าสุดเมื่อวันที่ 10 พ.ค. ศาลทหารได้อนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหาทั้ง 8 ราย แต่หลังจากเรือนจำปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้งหมด เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าอายัดตัว ณัฏฐิกา และ หฤษฏ์ โดยทันทีเพื่อนำตัวมาที่กองปราบปราม ก่อนจะนำตัวมาศาลทหารเพื่อขออนุมัติฝากขังในวันนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า ในวันแถลงข่าวการจับกุม(28 เม.ย. 2559) ผู้สื่อข่าวได้ถามว่า ณัฏฐิกา และ หฤษฏ์ มีความสนิทสนมกันมากน้อยแค่ไหน โดยหฤษฏ์ ตอบว่า ตนรู้จักกับ ณัฏฐิกา เพียงแค่ในเฟซบุ๊ก ไม่ได้รู้จักสนิทสนมเป็นการส่วนตัว ทั้งนี้ หฤษฎ์ ได้บอกกับเพื่อน และญาติที่เดินทางไปเยียมที่เรือนจำ ในช่วงที่เขาถูกฝากขังผลัดแรกในดคี 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ว่า ตนไม่ทราบว่าเจ้าหน้าที่เข้าถึงกล่องเข้าความในเฟซบุ๊กของตัวเองได้อย่างไร เนื่องจากตนเองไม่เคยให้รหัสผ่านกับเจ้าหน้าที่ พร้อมตั้งข้อสังเกตุว่า อาจเป็นการเข้าถือข้อมูลโดยมิชอบ