วันจันทร์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ผู้ค้นพบเชื้อ 'เอชไอวี' แจง 'ฮุนเซน' กรณีไม่เชื่อ ปชช. ในพระตะบองเป็นโรคเอดส์

นักไวรัสวิทยาผู้ค้นพบว่าเชื้อเอชไอวีเป็นสาเหตุของโรคเอดส์จนได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ชี้ฮุนเซนน่าจะได้รับข้อมูลผิดๆ หลังจากที่ฮุนเซนพูดถึงกรณีมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีในจังหวัดพระตะบองมากกว่า 100 คน ในเชิงไม่เชื่อว่าจะเป็นโรคเอดส์
ฟรองชัวร์ บาร์เร-ซินุสซิ นักไวรัสวิทยาผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ปี 2551 จากผลงานการค้นพบว่าไวรัสเอชไอวี กล่าวว่านายกรัฐมนตรีฮุนเซนของกัมพูชา "ได้รับข้อมูลผิดๆ" ในคำประกาศของเขากรณีที่มีประชาชนมากกว่า 100 คนในจังหวัดพระตะบอง ('บัตตัมบอง' ในภาษากัมพูชา) ตรวจพบเชื้อไวรัสเอชไอวีเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา
ฮุนเซนกล่าวผ่านสื่อในเชิงไม่เชื่อว่าประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวจะเป็นโรคเอดส์ "แม้ว่าจะมีเชื้อไวรัสแต่มันไม่ใช่เอดส์... คนแก่อายุ 80 จะเป็นโรคเอดส์ได้จริงหรือ และเยาวชนที่ไม่รู้ความอะไรเลยจะติดเอดส์ได้หรือ" ฮุนเซนกล่าว จากคำกล่าวของฮุนเซนทำให้หน่วยงานสาธารณสุขหลายหน่วยงานรวมถึงยูเอ็นเอดส์และสถาบันวิจัยปาสเตอร์ในกัมพูชาระบุว่ามีโอกาสผิดพลาดในการตรวจโรคน้อยมาก
แต่ทางบาร์เร-ซินุสซิ ไม่เข้าใจว่าทำไมฮุนเซนถึงกล่าวเช่นนั้น เธอคาดเดาว่าฮุนเซนอาจจะได้รับข้อมูลผิดๆ ในเรื่องโรคเอดส์ เธอกล่าวอีกว่าในสถานการณ์เช่นนี้กลุ่มผู้นำในกัมพูชาควรเน้นสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนโดยบอกกับประชาชนว่าทางการจะตรวจสอบในเรื่องที่เกิดขึ้นและผู้ติดเชื้อจะได้รับการดูแลรักษาอย่างดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
เอดส์หรือโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องเป็นการที่เชื้อไวรัสเอชไอวีทำให้ผู้ป่วยมีการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง จนทำให้เชื้อโรคอื่นๆ เช่น แบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา ฉวยโอกาสทำให้เกิดโรคอื่นๆ ได้ หรือทำให้เป็นมะเร็งบางชนิดได้ง่ายกว่าคนทั่วไป โดยบาร์เร-ซินุสซิ ค้นพบเชื้อไวรัสนี้ในปี 2526 ในช่วงที่เธอทำงานกับสถาบันปาสเตอร์ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยด้านเชื้อโรคและวัคซีนตั้งอยู่ในฝรั่งเศส ปัจจุบันบาร์เร-ซินุสซิ ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายควบคุมการติดเชื้อเรโทรไวรัสของสถาบันดังกล่าว
เหตุการณ์ระบาดดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงต้นเดือน พ.ย. ที่ผ่านมาในอำเภอสังแก จังหวัดพระตะบองมีชายอายุ 74 ปี คนหนึ่งตรวจพบเชื้อเอชไอวีจึงได้ลองให้หลานสาวและหลานเขยของเขาไปตรวจด้วยก็พบว่ามีเชื้อเอชไอวีเช่นกัน ทำให้มีคนในหมู่บ้านของพวกเขาพากันไปตรวจ โดยจากการเปิดเผยล่าสุดเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาพบว่ามีประชาชนในอำเภอสังแกติดเชื้อมากกว่า 106 คน จากผู้ไปตรวจทั้งหมด 895 คน
มีการสันนิษฐานว่าการระบาดของเชื้อมาจากหมอในพื้นที่ซึ่งอาจจะไม่มีใบอนุญาตใช้เข็มฉีดยาเดิมในการรักษาคนไข้หลายคน ในตอนนี้หมอรายดังกล่าวถูกควบคุมตัวอยู่ในการคุ้มครองของตำรวจ
บาร์เร-ซินุสซิกล่าวว่าควรมีการตรวจสอบสาเหตุของการระบาดให้แน่ชัดโดยเจ้าหน้าที่ทางการเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้คนด่วนสรุปว่าเป็นฝีมือหมอคนดังกล่าว ซึ่งทางการกัมพูชาระบุว่าในตอนนี้องค์กรด้านสาธารณสุขจากต่างชาติอย่างองค์การอนามัยโลก ยูเอ็นเอดส์ ยูนิเซฟ และสถาบันปาสเตอร์ กำลังให้การช่วยทางการเพื่อหาสาเหตุของการระบาด
ทางยูเอ็นเอดส์ประเมินว่ามีคนในกัมพูชาราว 41,000 ถึง 130,000 คน ที่ติดเชื้อเอชไอวี อย่างไรก็ตามยูเอ็นเอดส์ได้ชื่นชมนายกรัฐมนตรีฮุนเซนที่วางงบประมาณราว 3.7 ล้านดอลลาร์เพื่อยับยั้งการแพร่เชื้อเอชไอวี ในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ฮุนเซนยังให้คำมั่นว่าจะหยุดการแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวีในกัมพูชาให้ได้ภายในปี 2563


เรียบเรียงจาก
HUN SEN “MISINFORMED” OVER CAMBODIA’S MASS HIV INFECTION, SAYS FRANÇOISE BARRÉ-SINOUSSI, Southeast Asia Globe, 19-12-2014
http://sea-globe.com/hun-sen-cambodias-mass-hiv-infection-says-francoise-barre-sinoussi-southeast-asia-globe/

'วู้ดดี้' ฟ้องหมิ่นประมาท-พ.ร.บ.คอมฯ ช่างภาพ-ทนาย-จ่าพิชิต


หลังช่างภาพฟ้องวู้ดดี้ละเมิดลิขสิทธิ์ภาพถ่าย ล่าสุด วู้ดดี้ฟ้องกลับช่างภาพ-ทนาย พ่วงจ่าพิชิต ที่แชร์ภาพดังกล่าว ด้วยข้อหาหมิ่นประมาท-พ.ร.บ.คอมฯ
21 ธ.ค. 2557 สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า จากกรณีนายจักริน ภัสสรดิลกเลิศ อาจารย์สอนถ่ายภาพชื่อดัง ได้มอบหมายให้ นายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ทนายความของส่วนตัวยื่นฟ้อง บริษัท วู้ดดี้ เวิลด์ จํากัด จำเลยที่ 1 และนายวุฒิธร มิลินทจินดา หรือ "วู้ดดี้" พิธีกรชื่อดังเจ้าของรายการ "วู้ดดี้เกิดมาคุย" ในความผิดเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ภาพถ่าย "ประตูเมืองขอนแก่น" โดยยื่นฟ้องเป็นคดีอาญาต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ในช่วงปลายเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา และศาลนัดไต่สวนคดีในวันที่ 25 ธ.ค.นี้
ล่าสุด นายรณณรงค์ ทนายความของนายจักริน เปิดเผยว่า ถูกวู้ดดี้ฟ้องร้องดำเนินคดีกลับ โดยฟ้องตนเอง นายจักริน และนายวิทวัส ศิริประชัย (จ่าพิชิต แห่งเพจดราม่าแอดดิก) ในข้อหาหมิ่นประมาทและ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยยื่นฟ้องช่วงก่อนที่จักรินจะขึ้นเบิกความในวันที่ 25 ธ.ค.นี้พอดี สำหรับคดีล่าสุดนี้ ศาลนัดไต่สวนมูลฟ้องวันที่ 23 ก.พ.2558
ด้านจ่าพิชิตโพสต์ผ่านเพจว่า แค่แชร์ภาพของตากล้องแล้วเขียนว่า "ดราม่าครัชดราม่า" ก็ถูกฟ้องด้วยข้อหานำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ มีความผิดตามมาตรา 14  พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ อย่างไรก็ตาม ได้เตรียมทนายไว้แล้ว

คนงานกลุ่มย่านรังสิตฯ ถูกทหารบล็อก อดชูป้ายรณรงค์ขึ้นค่าแรง เผยเตรียมเรียกร้องต่อ

เจ้าหน้าที่ทหารบริเวณศูนย์ฟื้นฟูฯ

กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตฯ ถูกทหารบล็อกอดยื่นร้องเรียน รมว.กระทรวงแรงงานโดยตรง วอนขอความช่วยเหลืออดีตลูกจ้างบริษัทลอน-อิสฯ หลังนายจ้างปิดโรงงานหนีไม่จ่ายค่าแรงเกือบปี อดชูป้ายเรียกร้องขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เผยเตรียมณรงค์ต่อเนื่อง
เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงาน จังหวัดปทุมธานี ตัวแทนกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง(กสรก.) ได้เดินทางมายื่นข้อเรียกร้องต่อ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อขอความช่วยเหลือด้านการเงินกับกลุ่มอดีตลูกจ้างบริษัทลอน-อิส แมนนูแฟคเจอริ่งจำกัด เพื่อบรรเทาทุกข์ หลังนายจ้างชาวตุรกีปิดกิจการโดยไม่จ่ายค่าจ้างค้างจ่ายและค่าชดเชยแก่ลูกจ้างจำนวน 105 คน และได้หลบหนีกลับประเทศตุรกีเกือบ 1 ปีแล้ว
นอกจากนี้กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตฯ ยังได้เตรียมชูป้ายรณรงค์เรียกร้องให้มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในพื้นที่ เป็น 421 บาทต่อวัน หลังจากมีการประกาศปรับขึ้นค่าแรงข้าราชการและด้วยสภาวะทางเศรษฐกิจที่ส่งผลให้ค่าครองชีพสูง
อย่างไรก็ตามเนื่องจากมีเจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาควบคุมบริเวณศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานฯ จำนวนมาก ทำให้กลุ่มคนงานดังกล่าวไม่สามารถชูป้ายรณรงค์ได้ รวมทั้งไม่สามารถยื่นหนังสือเรียกร้องต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้โดยตรง โดยมี พ.อ.พัลลภ เฟื่องฟู ซึ่งดูแลสถานการณ์อยู่รอบนอกเป็นผู้รับจดหมาย พร้อมรับปากว่าจะส่งถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานให้แทน
พ.อ.พัลลภ เฟื่องฟู  รับหนังสือแทน
ศรีไพร นนทรีย์ ตัวแทนกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตฯ กล่าวว่า ทหารบริเวณดังกล่าวประมาณ 50 นาย รวมทั้งตำรวจอีก คอยกีดกันไม่ให้ยื่นกับรัฐมนตรีฯ เมื่อขยับตัวไปไหนบริเวณศูนย์ฟื้นฟู ทหารก็จะต้อนคนงานที่จะมียื่นข้อเรียกร้องให้เข้าห้องอย่างเดียว
“เหมือนเปลี่ยนศูนย์ฟื้นฟูฯ เป็นกองร้อยเลย” ศรีไพร กล่าว
ศรีไพร เปิดเผยด้วยว่าทางกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตฯ จะมีการรณรงค์เพื่อเรียกร้องให้มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำต่อไป โดยจะเรียกร้องให้ขึ้นเป็น 421 บาทต่อวัน เนื่องจากค่าครองชีพมีการปรับตัวสูงขึ้น และการปรับเงินเดือนค่าราชการราคาสินค้าก็ปรับขึ้นตามทันที โดยจะมีการยื่นข้อเรียกร้องที่กระทรวง ซึ่งยังไม่มีการกำหนดเวลาที่ชัดเจน และจะทำหนังสือคัดค้านบอร์ดค่าจ้างขั้นต่ำที่เคยระบุว่าจะไม่ขึ้นค่าแรงจนกระทั่งปลายปี 2558
สำหรับการรณรงค์นั้น ศรีไพร กล่าวว่า จะมีการแจกแถลงการณ์ตามหน้าโรงงาน สะพานลอย ในพื้นที่รังสิต ประมาณปลายเดือนนี้ รวมทั้งจัดสัมมนาเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำด้วย 

ทูตไทยประจำย่างกุ้งแนะ "อย่ามโน" เรื่องพม่า ต้องหาข้อมูล-ไปดูให้เห็นกับตา

คลิป พิษณุ สุวรรณะชฎ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงย่างกุ้ง กล่าวปาฐกถานำในการสัมมนา "ไทย-พม่าศึกษา ในกรอบประชาคมอาเซียน" เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2557 ที่มหาวิทยาลัยนเรศวร
"พิษณุ สุวรรณะชฏ" นำเสนอภาพพม่าปฏิรูป 4 ด้าน เจรจาสันติภาพ-การเมืองสิทธิมนุษยชน-บริหารภาครัฐ-ปฏิรูปเอกชน แนะสังคมไทยต้องไปดูพม่าให้เห็นกับตา เรียนรู้ให้ถึงแก่น และห้ามมโน ทุกฝ่ายต้องปรับวิธีดำเนินความสัมพันธ์กับพม่าอย่างสร้างสรรค์ เพื่อความสำเร็จร่วมกัน
18 ธ.ค. 2557 - ในการสัมมนาวิชาการประจำปี 2557 "ไทย-พม่าศึกษาในกรอบประชาคมอาเซียน" โดยมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ซึ่งจัดระหว่างวันที่ 18 - 19 ธ.ค. ที่อาคารเอกาทศรถ มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก นั้น
000
พิษณุ สุวรรณะชฎ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงย่างกุ้ง กล่าวปาฐกถานำ ในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2557 "ไทย-พม่าศึกษาในกรอบประชาคมอาเซียน" จัดโดยมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ที่มาวิทยาลัยนเรศวร เมื่อ 18 ธ.ค. ที่ผ่านมา
ในวันแรกของการสัมมนา มีปาฐกถานำโดย พิษณุ สุวรรณะชฏ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงย่างกุ้ง โดยทูตพิษณุ ได้กล่าวถึงพัฒนาการด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา หรือประเทศพม่า และแนะนำเรื่องการพัฒนาทัศนคติของสังคมไทยต่อประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะพม่า
โดยทูตเชื่อว่าถ้ามี Mindset ที่ถูกต้องจะมีวิธีคิดที่ถูกต้อง และจะมีโอกาสที่ผู้คนทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนพบปะหารือ ทำให้เข้าอกเข้าใจกันดีขึ้น 
วันนี้สถานการณ์ในพม่าเปลี่ยนแปลงไปอีก การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นทุกวัน รวดเร็ว ล้วนแต่เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นตลอดเวลา ในด้านการเมืองเราก็รู้กันแล้วว่ามีพัฒนาการด้านต่างๆ มาก สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ความเป็นประชาธิปไตย ความปรองดองสมานฉันท์ภายในชาติ ส่วนที่ก้าวหน้าสุดคือเรื่องการเจรจาสันติภาพ สำหรับผมเชื่อว่าการเจรจาระหว่างรัฐบาลกับชนกลุ่มน้อยก้าวข้ามพ้นจุดที่ยากที่สุดไปแล้ว แต่แน่นอนอาจจะมีกระบวนการต่างๆ ที่สะดุดอยู่บ้าง แต่เป็นเรื่องปกติของการเจรจาสันติภาพ แต่ตราบใดที่ยังสามารถรักษาเจตนารมณ์ทางการเมืองเรื่องการนำสันติภาพมาสู่สังคมได้ก็เชื่อได้ว่าการเจรจาสันติภาพจะเดินหน้าต่อไปได้
ทั้งนี้การเจรจาสันติภาพจะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองในพม่า ที่จะมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะในการเลือกตั้งเดือนธันวาคมปีหน้า ตามแผนการที่รัฐบาลและทุกภาคส่วนในพม่าตั้งใจไว้
สิ่งเดียวที่คนในสังคมไทยจะทำได้ดีที่สุดคือต้องให้กำลังใจประเทศเพื่อนบ้าน ให้การสนับสนุนทุกอย่างให้สามารถดำเนินกระบวนการสันติภาพไปด้วยความเรียบร้อย ราบรื่น
ในเรื่องของการปฏิรูปการเมือง ทูตพิษณุเล่าว่า "การเมืองพม่า ยังเป็นการเมืองที่ขับเคลื่อนประเทศได้อย่างรวดเร็ว การเมืองของพม่าไม่ใช่รัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน แต่เป็นการเมืองของกลุ่มคนที่ต้องการปฏิรูปประเทศ และกลุ่มคนที่อาจจะเสียประโยชน์จากการปฏิรูป โชคดีที่ในพม่ากลุ่มคนที่ต้องการให้มีการปฏิรูปประเทศเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น ประธานาธิบดีเต็งเส่งและรัฐบาล นางออง ซาน ซูจีและพรรคเอ็นแอลดี ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน ตุระฉ่วยมาน ซึ่งเป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คู่แข่งสำคัญของประธานาธิบดีเต็งเส่ง ทหารในกองทัพ คนเหล่านี้ต้องการเห็นประเทศมีการปฏิรูป นี่เป็นเหตุผลในการอธิบายว่าทำไมพม่าจึงเปลี่ยนแปลงรวดเร็วในด้านการเมือง"
ในด้านสังคม การเปลี่ยนแปลงในพม่ารวดเร็วมาก สิทธิมนุษยชนในอดีตเป็นปัญหาอย่างมาก ปัจจุบันเป็นประเด็นที่คนให้ความเคารพอย่างมาก คนมีสิทธิมีเสียงมากขึ้น การแสดงออกด้านความคิดเห็นทางการเมืองมีมากขึ้น และสามารถทำได้อย่างเสรี กระบวนการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการแสดงออกด้านความคิดเห็นเข้าสู่รูปรอยที่ดีขึ้น คนมีสิทธิมากขึ้น ขณะที่การบังคับใช้กฎหมายต่างๆ ในเรื่องการละเมิดรุกล้ำสิทธิคนอื่นก็เป็นไปอย่างเข้มงวด เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องของกระบวนการต่างๆ ที่กำลังหมุนไป อย่างรวดเร็ว
คนในพม่ามีโอกาสเข้าถึงโซเชียลมีเดีย 100% ไม่มีการปิดกั้น คนที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ในพม่าร้อยทั้งร้อยมีเฟซบุ๊คหมด สามารถใช้ไวเปอร์ ใช้ไลน์ แน่นอนอาจจะไม่ได้อยู่ในเกณฑ์รวดเร็วเหมือนไทย แต่ต้องถือว่าใช้ได้
"อาจจะมีข้อโต้แย้งว่าจะมีคนสักกี่คนเชียวในพม่าที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ต แน่นอนมีคน 3% เท่านั้นที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต แต่ที่เราจะต้องเข้าใจก็คือ คน 3% ของประชากรพม่าสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ในเวลาไม่ถึง 2 ปี และต้องถามกลับว่าคนกี่เปอร์เซ็นต์ของไทยที่ปัจจุบันเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ และใช้เวลาในการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมายาวนานกว่า 20 ปี"
"ผมคิดว่าถ้าเราตั้งคำถามลักษณะนี้ เราจะเข้าใจพัฒนาการของสังคมในพม่าที่ดีขึ้น" 
เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไม่น่ากังวลอะไรเลย เพราะทุกคนอยากนำพม่าเข้าสู่อ้อมกอด วันนี้พม่าเปิดประเทศกว้างขวาง การเดินทางไปต่างประเทศของผู้นำพม่าทุกระดับ ทุกสาขา เป็นไปอย่างเต็มที่แข็งขัน และสร้างสรรค์ ท่านประธานาธิบดีเต็งเส่งเดินทางไปตลอดเพื่อเชื่อมสันถวไมตรีกับมิตรประเทศ นางออง ซาน ซูจี ก็ช่วยในเรื่องพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
"สิ่งหนึ่งที่เรายังไม่เคยเห็นก็คือเวลาบุคคลสำคัญของพม่าออกไปต่างประเทศ มีใครเคยได้ยินเขาไปพูดจาให้ร้ายกันบ้างไหมครับ ไม่มี ไม่มีใครเคยได้ยินนางออง ซาน ซูจี ไปพูดจาเป็นลบต่อตัวประธานาธิบดีเต็งเส่ง และรัฐบาล แน่นอนไม่มีคำพูดทางลบใดจากปากท่านประธานาธิบดีเต็ง เส่ง จากนางออง ซาน ซูจีเลย"
ความสำเร็จด้านต่างประเทศที่สำคัญที่สุดคือการเป็นประธานอาเซียนของพม่า ซึ่งได้ส่งมอบให้มาเลเซียเป็นประธานอาเซียนต่อไปแล้ว ในบรรดาประเทศอาเซียน 9 ประเทศ ทุกคนทึ่งในขีดความสามารถของพม่า ในการเป็นประธานอาเซียน การประชุมประสบความสำเร็จ ความสำเร็จของพม่าในเรื่องอาเซียนเป็นความมหัศจรรย์ ความสำเร็จในการประชุมอาเซียนของพม่า จะทำให้พม่าสามารถจัดการประชุมนานาชาติในระดับต่างๆ ได้แน่นอน
เรื่องการพัฒนาประเทศของพม่า หลังขั้นแรก มีการพัฒนาการเมือง การเจรจาสันติภาพ ให้มีสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ขั้นสอง มีการปฏิรูปเศรษฐกิจ ปล่อยค่าเงินลอยตัว เริ่มจัดระบบธนาคาร ขั้นสาม การพัฒนาประเทศ การปฏิรูปเรื่องจัดระเบียบบริหารจัดการภาครัฐและเอกชน ขณะนี้เข้าขั้นที่สี่ ปฏิรูปภาคเอกชน ในวันนี้จะเห็นว่าการพัฒนาไปสู่การปฏิรูปประเทศดำเนินไปอย่างขนานใหญ่ ทั่วด้าน ไม่ได้จำกัดเพียงแค่ภาครัฐ แต่ไปสู่ภาคเอกชนแล้ว
ในพม่าขณะนี้เราเริ่มเห็นการควบคุมกิจการ เพื่อให้เอกชนพม่าสามารถมีขีดความสามารถแข่งขันต่างประเทศได้ เช่น พม่าเปิดให้ธนาคารต่างชาติประกอบธุรกิจธนาคาร ตอนนี้มี 9 แห่งแล้ว รวมทั้งธนาคารกรุงเทพ
ตอนหนึ่ง ทูตพิษณุ กล่าวตอนหนึ่งว่า หลายคนอาจจะถามว่าอะไรคือปัจจัยที่ทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจในพม่าเดินไปได้ ถ้าถามผมตอบได้อย่างหนึ่งว่า ศักยภาพสำคัญที่สุดของพม่าไม่ได้อยู่ที่ทรัพยากรธรรมชาติเท่านั้น แต่สิ่งที่มีค่าที่สุดคือ คนพม่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนพม่าที่มีขีดความสามารถในการคิดเชิงเหตุผลที่ดีมาก ซึ่งไม่ได้เกิดจากการศึกษาในระบบ แต่เกิดจากการปฏิบัติทางพุทธศาสนา ทำให้เขามีระบบความคิดทางเหตุผลที่ดีมาก ก็มีคำถามต่อไปว่าประเทศเพื่อนบ้านของพม่าก็เป็นประเทศพุทธ ทำไมคนในสังคมในประเทศเหล่านั้นความคิดเชิงเหตุผลแย่เหลือเกิน
อีกสองส่วนที่อยากเรียนวิงวอนว่า วันนี้เมื่อปรับ Mindset ต่อเรื่องพม่าได้แล้วบางส่วน สิ่งที่สังคมไทยต้องทำต่อ ประการแรก ต้องไปดูพม่าให้เห็นกับตา เรียนรู้ให้ถึงแก่น และห้ามมโน ห้ามมโนเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะกับพม่าห้ามโนเด็ดขาด โดยเฉพาะไปหาว่าเขาต่ำต้อย ไร้วัฒนธรรม ห้ามมโนเด็ดขาด เพราะมันไม่ใช่ข้อเท็จจริง
ประการที่สองคือ สังคมไทย ต้องรับรู้เกี่ยวกับเรื่องความเปลี่ยนแปลงในประเทศเพื่อนบ้านให้ถูกต้อง ต้องตามการเปลี่ยนแปลงให้ทัน วันนี้ผมบอกได้เลยสังคมไทยตามเปลี่ยนแปลงในพม่าไม่ทัน สังคมไทยมีใครบ้างที่ติดตามเรื่องโครงการพัฒนาในพม่าสามแห่ง คือ โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษติละวา จ๊อกผิ่ว และทวาย มีใครรู้รายละเอียดบ้างว่าสามโครงการนี้จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไรในพม่า และจะเกิดผลประโยชน์อย่างไรต่อประเทศไทย
ถ้าเราไม่รู้ข้อเท็จจริง โอกาสที่เราจะผลักดันของเหล่านี้ให้เกิดขึ้นจะยิ่งยาก หลายโครงการจะมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกับประเทศไทยอย่างมาก โดยเฉพาะที่ติละวา และทวาย เราต้องมีความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้ว่า ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงในเชิงพัฒนาแล้ว ผลประโยชน์จะตกกับประเทศในภูมิภาคทั้งหมด โดยเฉพาะประเทศไทย ถ้าเราไม่เข้าใจ เราจะไม่สามารถเดินไปสู่จุดที่มีผลประโยชน์ร่วมกันได้
นอกจากนี้ หลายสิ่งที่ทำกับพม่าในอดีตจะไม่ประสบผล ยกตัวอย่างมหาวิทยาลัยไทยอยากให้ทุนนักศึกษาพม่า ผมเรียนไปว่า ลักษณะการให้ทุนกับพม่าทำงานแบบเดิมไม่ได้แล้ว วันนี้คนทั่วโลกเข้ามาแข่งให้ทุนกับพม่า สถานภาพพม่าเปลี่ยนแปลงไปแล้วอย่างสิ้นเชิง พม่าเป็นคนเลือก
ยกตัวอย่าง ถ้ามหาวิทยาลัยนเรศวรจะให้ทุนนักศึกษาพม่ามาเรียนวิศวกรรม ขณะที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ก็จะให้ทุนนักศึกษาพม่าไปเรียนวิศวกรรมด้วย คิดว่านักเรียนพม่าจะเลือกที่ไหน แน่นอนคำตอบมีอยู่ในใจท่านว่าเราไม่สามารถทำแบบเดิมได้ เช่น ถ้าเราแค่ให้ทุนแบบเดิมเท่านั้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ เราจะได้คนแถวสองหมด และจะไม่มีโอกาสได้คนแถวแรกเลย
วันนี้สิ่งที่สถานทูตทำ หนึ่ง Redifine (จำกัดความใหม่) ทุกอย่าง ในเรื่องการดำเนินความสัมพันธ์กับพม่า สอง Redesign (ออกแบบใหม่) ทุกอย่าง เกี่ยวกับแพ็กเกจการดำเนินความสัมพันธ์กับพม่า
อย่างเช่น ในเรื่องของการปรับแพ็กเกจการให้ทุน โครงการหนึ่งที่เรารู้สึกว่ามีผลมากคือ เราร่วมมือกับบริษัทเอกชน กับมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยลงขันในแง่ยกเว้นค่าเทอมให้ บริษัทเอกชนลงขันออกค่าที่พักตลอดหลักสูตร สถานทูตในนามรัฐบาลไทย ไปช่วยคัดเลือกคน และใช้สถานที่ในการสอบต่างๆ ผลปรากฏว่าเมื่อ Redesign แพ็กเกจและวิธีการให้ทุนแล้ว ได้ผลมาก ทุนเรามีของพ่วงด้วย คือบริษัทเอกชนที่ร่วมงานกับสถานทูตนั้นรับประกันว่า นักเรียนที่ได้ทุนแล้วเมื่อจบแล้วเขารับเข้าทำงานไม่มีเงื่อนไข ทำให้แพ็จเกจของเราดูสวยงามและดีกว่า
ทั้งนี้ผลจากการเปลี่ยนแปลงในพม่า ทำให้วิธีการดำเนินความสัมพันธ์กับพม่าเป็นอย่างเดิมไม่ได้ดังนั้น และมีความจำเป็นที่ทุกภาคส่วนต้องปรับวิธีการดำเนินความสัมพันธ์กับพม่าอย่างสร้างสรรค์
ในช่วงท้าย ทูตพิษณุ ได้แนะนำให้ผู้ที่สนใจเข้าชมเว็บไซต์ของสถานทูต (thaiembassy.org/yangon) โดยผู้สนใจสามารถลงทะเบียนรับจดหมายข่าวรายวันที่บริการข้อมูลทางธุรกิจโดยสถานทูตได้ เพื่อจะเห็นว่าพม่าเคลื่อนตัวไปอย่างไร ทั้งนี้การได้รับข้อมูลจะช่วยปรับ Mindset เพื่อให้เลิกมโนผิดๆ เกี่ยวกับพม่า และมีมุมมองที่ถูกต้องเกี่ยวกับพม่า ตลอดจนติดตามพัฒนาการต่างๆ ในพม่าได้อย่างครบถ้วน เห็นผลประโยชน์บนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกัน สามารถเตรียมพร้อมรับมือสิ่งที่จะเกิดขึ้นในพม่าได้
ทูตพิษณุยังชวนผู้ร่วมประชุม "ไปดูพม่าให้เห็นกับตา" โดยสถานทูตยินดีที่จะให้การสนับสนุนผู้ที่เดินทางไปพม่า
"และสิ่งที่อยากจะวิงวอนคือ ขอให้เลิกมโนเกี่ยวกับพม่า และหันมามองในแง่ข้อเท็จจริง เพื่อให้เกิดความเข้าใจพม่า และปรับตัวเราเองให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดในพม่าได้ ตลอดจนจัดแพ็กเกจที่ดีในการปฏิสัมพันธ์กับพม่าในทุกๆ ด้าน โดยเชื่อว่าความสัมพันธ์ไทย-พม่าจะประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน"

‘พระสุเทพ’ เบิกความคดีฮิโรยูกิฯ 10 เมษา ไล่ Timeline ระบุออกคำสั่งให้ จนท.ใช้อาวุธป้องกันตนเองหลังชุดดำโจมตี

 ‘ฮิโรยูกิ-วสันต์-ทศชัย’

พระสุเทพ เบิกความไต่สวนการตาย ‘ฮิโรยูกิ’ 10 เม.ย.53 ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ระบุออกคำสั่งให้จนท. ใช้อาวุธป้องกันตนเองหลังชุดดำโจมตี ยันพยายามแก้ไขสถานการณ์ด้วยสันติวิธี เพื่อรักษานิติรัฐ แต่นปช. ขยายพื้นที่การชุมนุมสร้างปัญหาจราจรอย่างมาก นัดฟังคำสั่ง 30 เม.ย. 2558
วานนี้ (19 ธ.ค. 2553) ศาลอาญากรุงเทพใต้มีนัดสืบพยาน สุเทพ เทือกสุบรรณ หรือ พระสุเทพปภากโรพยานปากสุดท้ายของไต่สวนชันสูตรพลิกศพของฮิโรยูกิ มูราโมโต้ ช่างภาพสำนักข่าวรอยเตอร์ ชาวญี่ปุ่น ผู้ตายที่ 1 วสันต์ ภู่ทอง ผู้ชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ผู้ตายที่ 2 และทศชัย เมฆงามฟ้า ผู้ชุมนุม นปช. ผู้ตายที่ 3 จากการถูกยิงเสียชีวิตในคืนวันที่ 10 เม.ย. 2553 จากปฏิบัติการขอคืนพื้นที่การชุมนุม นปช. ของทหารบนถนนดินสอ บริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา โดยเป็นการสืบผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์
พระสุเทพ เบิกความว่าเมื่อปี 2553 ขณะนั้นตนได้ดำรงตำแหน่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ตนได้เท้าความไปก่อนเกิดการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ในช่วงมี.ค.-พ.ค. ปี 2553 ว่า ตั้งแต่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากการลงมติเลือกของสภาผู้แทนราษฎร ใน 15 ธ.ค. 2551 ก็ถูกกลุ่ม นปช. ประท้วงต่อต้าน ซึ่งได้ก่อเหตุรุนแรงถึงขั้นปิดล้อมรัฐสภาและต่อมา 10-12 เม.ย. ปี 2552 ก็มีการไปชุมนุมปิดล้อม โรงแรมรอยัลคลิฟบีช รีสอร์ท พัทยา จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นสถานที่จัดการประชุมอาเซียนซัมมิทจนต้องยกเลิกการประชุมไป
จากนั้น นปช.ยังได้ยึดกรุงเทพมหานครโดยการปิดถนนตามแยกต่างๆ และก่อเหตุเอารถโดยสารประจำทาง รถแท็กซี่ มาเผา รัฐบาลจึงต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งในวันที่ประกาศ กลุ่มผู้ชุมนุม นปช. ยังได้เข้าปิดล้อมกระทรวงมหาดไทย ซึ่งรัฐบาลใช้เป็นสถานที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และได้พยายามเข้าทำร้ายตนและอภิสิทธิ์ แต่เนื่องจากอยู่ในรถประจำตำแหน่ง ซึ่งเป็นรถกันกระสุนจึงไม่ได้รับอันตราย แต่ นิพนธ์ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรีและสุธรรม ลิ้มสุวรรณเกษม รองเลาขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้ถูกทำร้ายบาดเจ็บสาหัสรวมถึงเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำตัวนายกรัฐมนตรีและผู้ชุมนุมยังได้ยึดอาวุธไปและนำไปแสดงบนเวที นปช. ที่ข้างทำเนียบรัฐบาลอีกด้วย
รัฐบาลจึงได้ใช้กำลังเจ้าหน้าที่เข้าคลี่คลายสถานการณ์จน นปช. ยอมยกเลิกการชุมนุมและส่งผู้ชุมนุมกลับภูมิลำเนาในวันที่ 14 เม.ย. 2552 โดยในเหตุการณ์ไม่ได้มีผู้ชุมนุมเสียชีวิต แต่มีชาวบ้านในชุมชนนางเลิ้งเสียชีวิต 2 รายจากการถูกอาวุธปืนยิงโดยผู้ชุมนุม นปช. หลังจากนั้นแกนนำได้ประกาศให้ประชาชนเข้าใจผิดว่ารัฐบบาลได้สั่งฆ่าประชาชนเสียชีวิตหลายร้อยคนแล้วทหารนำศพไปทิ้งและซ่อนไว้เพื่อสร้างความเกลียดชังต่อรัฐบาล และมีการปลุกระดมต่างๆ ผ่านทางโทรทัศน์ดาวเทียมและวิทยุชุมชน
ต่อมาในปี 2553 วันที่ 26 ก.พ. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินยึดทรัพย์อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร แกนนำกลุุ่ม นปช. ก็ได้ประกาศชุมนุมใหญ่ที่กรุงเทพฯ ทันที โดยในระหว่างวันที่ 9-11 มี.ค. ได้ประกาศระดมพลทางภาคเหนือและอีสานให้นำรถที่ใช้ในการเกษตรเข้ามาปิดล้อมกรุงเทพฯ
พระสุเทพเบิกความว่า ได้เสนอนายกรัฐมนตรีให้มีการตั้งคณะกรรมการติดตามสถานการณ์ และให้ประกาศใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติในวันที่ 9 มี.ค. เห็นชอบให้ประกาศพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันส่งผลกระทบต่อการรักษาความมั่นคงภายใน ในพื้นที่กรุงเทพฯ บางอำเภอของนนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ นครปฐม ฉะเชิงเทรา อยุธยา และให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร(กอ.รมน.)รับผิดชอบป้องกัน ระงับยับยั้งเหตุร้าย โดยนายกฯ ได้มอบหมายให้ตนเป็นผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย(ผอ.ศอ.รส.) โดยได้ออกประกาศและข้อกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตาม พรบ.ความมั่นคง บังคับใช้เป็นห้วงเวลา 4 ห้วงเวลา ห้วงแรก 11-23 มี.ค. ห้วงที่สอง 24-30 มี.ค. ห้วงที่สาม 31 มี.ค. - 7 เม.ย. ห้วงที่สี่ 8 – 20 เม.ย. โดย ศอ.รส.ได้ประกาศว่าการปฏิบัติจะเป็นไปตามกฎหมาย สิทธิมนุษยชน และเป็นไปตามหลักสากล ควบคุมการชุมนุมจากเบาไปหาหนัก
ช่วงดังกล่าว นปช. ได้มีการก่อเหตุร้ายแรงขนานไปกับการตั้งเวทีปราศรัย ในวันที่ 15 มี.ค. มีการยกกำลังไปที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ และยิงเอ็ม 79 เข้าไป ทำให้ทหารได้รับบาดเจ็บ 3 นาย วันที่ 16 มี.ค. ไปเทเลือดที่หน้าทำเนียบรัฐบาลและหน้าที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ และวันเดียวกันได้มีการยิงเอ้ม 79 ยิงบ้านประชาชนที่ซอยลาดพร้าวซึ่งสันนิษฐานว่าตั้งใจยิงบ้านของอักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุด
20 มี.ค. มีการขว้างระเบิดเอ็ม 67 ใส่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และยิงจรวดอาร์พีจีใส่กระทรวงกลาโหมแต่ภายหลังได้ตามจับกุมตัวได้โดยได้สารภาพว่าถูกจ้างมาให้ยิงใส่วัดพระแก้ว 23 มี.ค. รัฐบาลได้จัดประชุม ครม.กันที่กระทรวงสาธารณสุข นปช. ได้ยิงเอ็ม 79 ใส่ 2 นัด
26 มี.ค. มีการขว้างระเบิดเอ็ม 67 เข้าไปที่สำนักงานอัยการสูงสุด 27 มี.ค. มีการยิงปืนเอเค-47 ใส่ธนาคารกรุงเทพ สาขาดอกคำใต้ จ.พะเยา, ขว้างระเบิดเอ็ม67 ใส่สถานีโทรศัน์ช่อง 5 พญาไท และ เอ็ม 79 ใส่สถานีโทรทัศน์เอ็นบีทีทำให้มีผู้บาดเจ็บ 3 คน 28 มี.ค. ยิงเอ็ม 79 เข้าไปที่กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของ ศอ.รส.เป็นจำนวน 2 นัด ทำให้ทหารได้รับบาดเจ็บ 4 นาย บาดเจ็บสาหัส 1 นาย และมีการขว้างระเบิด ชเอ็ม 67 เข้าไปที่บ้นของบรรหาร ศิลปอาชา ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 1 คน
ซึ่งรัฐบาลก็ได้พยายามใช้สันติวิธีในการแก้ไขปัญหา มีการจัดเจรจาระหว่างแกนนำผู้ชุมนุมประกอบด้วย วีระ มุสิกพงษ์ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ จตุพร พรหมพันธุ์ และเหวง โตจิราการ กับฝ่ายรัฐบาลซึ่งมีอภิสิธิ์เป็นหัวหน้าคณะเจรจา โดยการเจรจาครั้งนี้ได้ถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ทั้ง 2 วัน แต่เห็นได้ชัดว่าแกนนำผู้ชุมนุมที่เข้าร่วมการเจรจาไม่สามารถตัดสินใจเองได้ต้องรอให้ทักษิณออกคำสั่งจึงทำให้การเจรจาไม่ประสบผลสำเร็จ ภายหลังการเจรจาทาง นปช. ก็ได้ก่อเหตุรุนแรงต่อไปเช่นตัวอย่างที่ได้กล่าวไป
จนกระทั่งวันที่ 7 เม.ย. นปช. นำโดยอริสมันต์ พงษ์เรืองรองได้บุกไปที่รัฐสภาซึ่งกำลังมีการประชุมอยู่ และพังประตูรัฐสภาเข้าไปตามล่าจับกุมตัวตนและอภิสิทธิ์ ทำร้ายเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของนายกรัฐมนตรีและยึดอาวุธทั้งปืนพก 9 มม. และเอ็ม 16 ไป ทำให้การประชุมต้องยกเลิก และตนต้องขึ้นเฮลิคอปเตอร์หนีออกไป
จากเหตุการดังกล่าวในตอนค่ำวันเดียวกันโดยความเห็นชอบของ ครม. นายกรัฐมนตรีได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพฯ และบางอำเภอในจังหวัดดังต่อไปนี้ได้แก่ นนทบุรี, สมุทรปราการ ปทุมธานี, นครปฐม และอยุธยา ซึ่งรัฐบาลก็ได้ประกาศชี้แจงเหตุผลและความจำเป็นที่ต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ
หลังจากประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว ได้ตั้ง ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.) โดยนายกฯได้แต่งตั้งให้ตนเป็น ผอ.ศอฉ. และเป็นหัวหน้าควบคุมปฏิบัติการ และออกประกาศการโอนอำนาจของรัฐมนตรีให้นายกฯ และให้ตนใช้อำนาจตามประกาศนี้แทนนายกรัฐมนตรีและได้ออกข้อห้ามตามความในพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 หลายข้อ เช่น ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน หรือยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ห้ามนำเสนอข่าวที่จะทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือเข้าใจผิด ส่งผลต่อความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดี, ห้ามใช้เส้นทางคมนาคม หรือห้ามเข้าหรือใช้อาคาร และให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ในการจับกุมตัวผู้กระทำความผิด
ศอฉ. ดำเนินการในรูปแบบของคณะกรรมการ โดยมีทั้งหมด 27 คน ประกอบด้วยหัวหน้างานส่วนราชการต่างๆ ข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ พนักงานอัยการสูงสุด กฤษฎีกา อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)ปลัดกระทรวงต่างๆ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทั้งสามเหล่าทัพ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
ในฐานะผอ.ศอฉ.และผู้กำกับการปฏิบัติการได้ออกคำสั่งปฏิบัติการ ฉบับที่ 1/2553 ศอฉ. ลงวันที่ 7 เม.ย. ซึ่งมีสาระสำคัญเกี่ยวกับวิธีการใช้กำลังควบคุมฝูงชนและได้กำหนดวิธีการเอาไว้อย่างชัดเจนโดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิบัติในการใช้กำลังทางกายภาพโดยได้จัดทำภาคผนวก ค. ว่าด้วกฎการใช้กำลังประกอบคำสั่ง 1/2553 เป็นการเฉพาะ
จากนั้นก็ได้พยายามแก้ไขสถานการณ์ด้วยสันติวิธี มีการส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงไปเจรจากับแกนนำเพื่อไม่ให้ประชาชนเดือดร้อนในการใช้รถใช้ถนนของประชาชน เมื่อฝ่าย นปช. ได้ขยายพื้นที่การชุมนุมจากเดิมที่ตั้งเวทีที่สะพานผ่านฟ้าตั้งแต่ 14 มี.ค. เป็นต้นมาจนถึง 3 เม.ย. ได้ไปตั้งเวทีใหม่ที่แยกราชประสงค์อีกที่หนึ่งจึงทำให้เกิดปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯ อย่างมาก
พระสุเทพ เบิความด้วยว่า ได้ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งขอให้พิจารณามีคำสั่งให้ณัฐวุฒิและจตุพรซึ่งเป็นแกนนำยกเลิกการกระทำที่ทำให้ประชาชนกรงุเทพฯเดือดร้อน ซึ่งศาลแพ่งก็ได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 5 เม.ย. ว่าการชุมนุมของ นปช. ไม่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐบาลสามารถบังคับใช้อำนาจตามกฎหมายที่มีอยู่แล้ว แม้ว่าจะมีคำสั่งออกมาดังกล่าวแต่ นปช. ก็ยังไม่ยกเลิกการชุมนุมควบคู่ไปกับการก่อเหตุร้ายต่อไป
ในวันที่ 9 เม.ย. ศอฉ. ได้ส่งกำลังเจ้าหน้าที่ของศอฉ. ซึ่งประกอบด้วยตำรวจและทหารไปยังสถานีดาวเทียมไทยคมที่ลาดปลาเค้า เนื่องจากต้องการระงับการส่งสัญญาณการถ่ายทอดของสถานีโทรทัศน์ People Channel หรือ PTV ศอฉ.ได้มีคำสั่งให้ระงับการออกอากาศแล้ว แต่กลุ่ม นปช. ได้ระดมคนไปกดดันบังคับให้สถานีดาวเทียมไทยคมเชื่อมต่อสัญญาณออกอากาศใหม่ ทางศอฉ. จึงจำเป็นต้องจัดกำลังเจ้าหน้าที่เข้าไปควบคุมรักษาความปลอดภัยของสถานีดาวเทียมและเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปตามประกาศของ ศอฉ. ซึ่งเป็นการรักษาไว้ซึ่งอำนาจนิติรัฐ
ปรากฎว่าตั้งแต่ 10.00 น. นปช.เกือบ 20,000 คน นำโดยณัฐวุฒิ ได้บุกไปที่ไทยคม 2 ไล่ทุบตีทำร้ายเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ได้พยายามหลีกเลี่ยงการปะทะ ยอมถอนกำลังออกจากสถานีดาวเทียม โดยเจ้าหน้าที่ถูกทำร้ายบาดเจ็บเป็นจำนวนมากและได้ยึดอาวุธยุทโธปกรณ์ไปจำนวนหนึ่งด้วยและต่อสัญญาณ PTV ใหม่ ซึ่งได้ทำระหว่างที่มีการทำร้ายและยึดอาวุธเจ้าหน้าที่
ต่อมาในวันที่ 10 เม.ย. ศอฉ.ได้สั่งเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจและพลเรือนสนธิกำลังกันขอคืนพื้นที่การจราจรถนนราชดำเนินในส่วนเชื่อมต่อสะพานพระราม 8 และสะพานพระปิ่นเกล้า เพราะว่าเมื่อ นปช. ได้ย้ายเวทีไปที่ราชประสงค์แต่ยังคงยึดถนนราชดำเนินทั้งสายเอาไว้ทำให้ประชาชนฝั่งกรุงเทพฯและฝั่งธนบุรีสัญจรไปมาด้วยความยากลำบาก ศอฉ. จึงจำเป็นต้องขอคืนพื้นที่บางส่วนของถนนราชดำเนินส่วนเชื่อมต่อสะพานพระราม 8 และสะพานพระปิ่นเกล้าเพื่อให้การจราจรคล่องตัวเป็นไปโดยสะดวก โดยไม่ได้เจตนาที่จะเข้าไปยึดหรือรื้อเวทีสะพานผ่านฟ้าลีลาศแต่อย่างใด
การปฏิบัติการเริ่มตั้งแต่ 13.00 น.เศษ ก็ได้มีการผลักดันกันระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุม นปช. ซึ่งมีภาพถ่ายที่เห็นได้ชัดที่สะพานมัฆวานรังสรรค์และสะพานชมัยมรุเชฐ โดยไม่ได้มีเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้น
18.00 น. ศอฉ. จึงได้มีคำสั่งการทางวิทยุให้ทุกหน่วยหยุดปฏิบัติการเนื่องจากเห็นว่าเข้าสุ่ห้วงเวลากลางคืนแล้ว และให้รักษาแนวในขณะนั้น คำสั่งดังกล่าวลงวันที่ 10 เม.ย. เวลา 18.15 น. ปรากฎว่าหลังจากนั้นได้มีกองกำลังของฝ่าย นปช. ใช้ความรุนแรงโดยใช้อาวุธยิงเจ้าหน้าที่และปิดล้อมด้านหลังของเจ้าหน้าที่ ศอฉ. จึงได้ออกคำสั่งให้ถอนตัวออกจากพื้นที่ปฏิบัติการตั้งแต่เวลา 20.20 น. เป็นต้นไป แต่ว่าได้มีกองกำลังติดอาวุธซึ่งสื่อมวลชนเรียกว่ากองกำลังชายชุดดำ ใช้อาวุธสงครามทั้งเอ็ม 16 อาก้า เครื่องยิงระเบิดเอ็ม 79 ระเบิดขว้างสังหารเอ็ม 67 ยิงใส่เจ้าหน้าที่และประชาชนทั่วไป ทำให้เจ้าหน้าที่เสียชีวิต 5 นาย ได้แก่ พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม ส.อ.อนุพนธ์ ส.ท.อนุพงษ์ ส.ท.ภูริวัฒน์ และพลทหารสิงหา นอกจากนั้นยังีมเจ้าหน้าที่บาดเจ็บ 800 กว่านาย ในจำนวนนี้มี พล.ต.วลิต โรจนภักดี ผู้บัญชาการ กองพลที่ 2 รักษาพระองค์ถูกยิงขาหักทั้ง 2 ข้าง และมีนายทหารอีกจำนวนมากที่ได้รับบาดเจ็บสาหัส มีพลเรือนเสียชีวิต 20 คน และบาดเจ้บอีกจำนวนมาก
จนกระทั่ง 23.00 น. การเจรจาระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ ศอฉ. และแกนนำของฝ่าย นปช. ได้ตกลงที่จะยุติการเผชิญหน้าด้วยกำลัง ศอฉ. จึงสั่งถอนกำลังเจ้าหน้าที่ทั้งหมดออกจากพื้นที่
ในการสั่งการขอคืนพื้นที่จราจรได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ใช้เฉพาะโล่ กระบอง รถฉีดน้ำ แก๊ซน้ำตาชนิดขว้าง และปืนลูกซองที่ใช้กระสุนยาง อนุญาตให้แต่ละหน่วยมีปืนเล็กยาวประจำกายเอ็ม 16 ไม่เกินหน่วยละ 2 นาย แต่ผู้ใช้ต้องเป็นหัวหน้าหน่วยเท่านั้นและใช้ในกรณีป้องกันชีวิตของเจ้าหน้าที่และประชาชน และมีภาพแสดงการใช้อุปกรณ์ควบคุมฝูงชนของเจ้าหน้าที่ ขณะเคลื่อนกำลังก็มีการชี้แจงให้ประชาชนและผู้ชุมนุมทราบโดยใช้เครื่องขยายเสียงไปตลอดเส้นทาง และมีภาพของทหารตั้งโล่และกระบองเพื่อป้องกันตนเอง ขณะที่ฝ่ายผู้ชุมนุมเริ่มโจมตี และมีเจ้าหน้าที่ประกาศให้ผู้ชุมนุมเข้าใจถึงการใช้ 7 ขั้นตอนจากเบาไปหาหนัก และมีภาพของเจา้หน้าที่ทหารนำปืนลูกซองสำหรับยิงกระสุนยางแทรกมาในแนวทหารหลังจากถูกผู้ชุมนุม นปช. ทำร้ายอย่างหนัก
ในคำสั่งปฏิบัติการนั้นได้กำหนดขั้นตอนการตัดสินใจในการสั่งงานเอาไว้ชัดเจนว่า ผู้บัญชาการเหตุการณ์ในพื้นที่สามารถสั่งการตัดสินใจตามสถานการณ์ได้ ถ้าหากจะต้องใช้แก๊ซน้ำตาหรือปืนลูกซองกระสุนยางต้องทำการขออนุญาตกับทาง ศอฉ. ก่อน แต่ในเหตุการณ์วันนั้นเกิดขึ้นเร็วมากจึงไม่ได้มีการขออนุญาตมาทาง ศอฉ.
การขออนุญาตการใช้อาวุธปืนและกระสุนปืนจริงเกิดขึ้นเมื่อถูกโจมตีด้วยอาวุธสงครามจากกองกำลังชายชุดดำแล้วมีเจ้าหน้าที่เสียชีวิตแล้ว 5 นาย บาดเจ็บเป็นจำนวนมาก เจ้าหน้าที่จึงขออนญาตใช้อาวุธเพื่อป้องกันตนเองและประชาชนในขณะที่มีการถอนกำลังและลำเลียงผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาล จึงได้มีการขออนุญาตจาก ศอฉ. และได้อนุญาตตามหลักฐานเอกสาร กห. 0407.45/59 ซึ่งเป็นคำสั่งที่อนุมัติไปทางวิทยุในเวลา 20.30 น. ลงวันที่ 10 เม.ย.2553
ทั้งนี้ได้กำหนดการใช้อาวุธด้วยว่า 1. ใช้ยิงเมื่อปรากฎภัยคุกคามอย่างชัดเจนหรือกลุ่มติดอาวุธคุกคามต่อชีวิตเจ้าหน้าที่หรือประชาชน 2. การใช้อาวุธให้ใช้โดยสมควรแก่เหตุไม่มุ่งประสงค์ต่อชีวิตของเป้าหมาย ให้เล็งส่วนล่างของร่างกายตั้งแต่เข่าลงมา เเพื่อยับยั้งกลุ่มติดอาวุธที่คุกคามเจ้าหน้าที่และประชาชน ไม่ใช้อาวุธต่อเป้าหมายที่เป็นผู้หญิงและเด็ก
ในการประชุมหรือการออกคำสั่งของ ศอฉ. ไม่มีนายกรัฐมนตรีเข้าร่วมด้วย มีตนที่เป็นผู้สั่งการกับเจ้าหน้าที่และคณะกรรมการ ศอฉ. อื่น และไม่ได้รายงานระเอียดลงไปในแต่ละคำสั่ง เพียงแต่รายงานว่ามีเจ้าหน้าที่หรือพลเรือนเสียชีวิตและบาดเจ็บกี่คน
พระสุเทพ เบิกความด้วยว่า ไม่ทราบรายละเอียดว่าใครเสียชีวิตอย่างไรบ้างนอกจากกรณีของฮิโรยูกิจากรายงานของพล.ท.อัมพร จารุจินดา ว่าฮิโรยูกิไม่ได้เสียชีวิตจากกระสุนปืนเอ็ม 16 แต่เสียชีิวิตจากกระสุนปืนขนาด 7.62 มม. ซึ่งเป็นกระสุนปืนอาก้า แต่ปืนรุ่นนี้ไม่มีใช้ในหน่วยทหาร
การซักถามของทนายต่อสุเทพเริ่มขึ้นในการสืบพยานช่วงบ่าย โดย พระสุเทพ อธิบายถึงการที่มอบอำนาจของนายกรัฐมนตรีว่า เป็นการออกคำสั่งแต่งตั้งผู้อำนวยการและกรรมการ ศอฉ. ตาม พรก.ฉุกเฉิน และมอบอำนาจหน้าที่ที่โอนจากรัฐมนตรีมาให้กับนายกฯ จากนั้นนายกฯ จึงมอบให้ตนซึ่งเป็นผู้อำนวยการและผู้กำกับการปฏิบัติการใช้อำนาจดังกล่าวอีกที
พระสุเทพ เบิกความว่า ในวันที่ 10 เม.ย. ได้ออกคำสั่งในฐานะ ผอ.ศอฉ.ให้เจ้าหน้าที่ ตำรวจ ทหาร และพลเรือนร่วมกันเข้าขอคืนพื้นที่เพื่อแก้ไขสถานการณ์จราจรบนถนนราชดำเนิน ซึ่งในคำสั่งแต่งตั้งส่วนหนึ่งของคำสั่งให้ข้าราชการ ทหารตำรวจ พลเรือนปฏิบัติหน้าที่ภายใต้การบังคับบัญชาของหัวหน้าผู้รับผิดชอบแก้ไขสถานการณืฉุกเฉิน ต่อมาคำสั่งพิเศษที่ 2/2553 นายกฯ ได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้ตนเป็นผอ.ศอฉ. และหัวหน้าผู้รับผิดชอบและผู้กำกับการปฏิบัติการในเขตท้องที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งตนก็ดำรงตำแหน่ง และมีอำนาจในการสั่งการและเป็นผู้ลงนามในคำสั่งให้ทหารตำรวจเข้าปฏิบัติการขอคืนพื้นที่
ในวันที่ 10 เม.ย. การขอคืนพื้นที่ถนนราชดำเนินโดยมีการส่งกำลังเจ้าหน้าที่ผ่านถ.ตะนาวและดินสอ ผ่านสะพานวันชาติ ดงันั้นกำลังทหารก็ต้องยึดพื้นที่ตั้งแต่บริเวณเชิงสะพานวันชาติไปตามถ.ดินสอจนถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
ทนายได้ถามว่าในการประชุมดูแลและการกำกับการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ ศอฉ.และนายกฯ ร่วมอยู่ด้วยตลอดเวลาใช่หรือไม่ พระสุเทพได้ตอบว่าในการประชุมมีตนและคณะกรรมการทั้งหมดอยู่ในที่ประชุมแต่นายกฯ ไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วยแต่ว่าบางครั้งนายกฯก็ได้แวะเข้าไปในที่ประชุมเพื่อสอบถามสถานการณ์ราว 1-2 ครั้ง ซึ่งคณะกรรมการได้อยู๋ในห้องประชุมตั้งแต่เช้าวันที่ 10 จนถึงราวเที่ยงคืนของวันเดียวกัน ซึ่งได้มีการถอนกำลังออกจากพื้นที่หมดแล้วถึงเลิกการประชุม
การติดตามการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ทหารจะมีการรายงานเป็นระยะแก่คณะกรรมการและในที่ประชุมมีโทรทัศน์รับการถ่ายทอดภาพเหตุการณ์บางจุดจากสื่อมวลชนระหว่างที่มีการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่
การปฏิบัติการขอคืนพื้นที่ของเจ้าหน้าที่เป็นเรื่องของฝ่ายยุทธการแล้วก็รายงานตรงขอตนซึ่งเป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบ แต่นายกฯ ไม่ได้มีหน้าที่รับผิดชอบ
ทนายได้ถามสุเทพว่าทราบถึงเรื่องที่มีการปะทะบนถ.ราชดำเนิน บริเวณหน้ากระทรวงศึกษาธิการระหว่างผู้ชุมนุมและทหารในช่วงบ่ายวันที่ 10 เม.ย. จนมีเหตุเจ้าหน้าที่ทหารยิงผู้ชุมนุมเสียชีวิตไป 1 รายหรือไม่ พระสุเทพ ตอบว่าเหตุการณ์นี้เห็นภาพจากโทรทัศน์ชัดเจนว่าตั้งแต่บริเวณตั้งแต่หน้ากระทรวงศึกษาธิการ สะพานมัฆวานฯ จนถึงสี่แยก จปร. ตลอดบ่ายมีการผลักดันไปมาระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุมไม่มีการยิงกันปรากฎ กรณีผู้เสียชีวิตที่หน้ากระทรวงศึกษาธิการทราบเมื่อเหตุการณ์ผ่านไปแล้ว 2-3 วัน และตนไม่เห็นว่ามีข่าวชายถูกยิงเสียชีวิต 1 ราย ที่หน้ากระทรวงศึกษาธิการ
ในการปฏิบัติการขอคืนพื้นที่ใช้กำลังทหารเป็นหลัก แต่มีกำลังของตำรวจประกอบอยู่ด้วย และมีการกำหนดให้สนธิกำลังกันทั้ง 3 เหล่าทัพ กองบัญชาการตำรวจแห่งชาติและกองกำลังพลเรือนที่ขอมาช่วยปฏิบัติงานใน ศอฉ. ให้ทำงานร่วมกัน ในการออกคำสั่งได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ใช้อุปกรณ์ควบคุมฝูงชน โล่กระบอง รถฉีดน้ำ แก๊ซน้ำตาชนิดขว้างและปืนลูกซองกระสุนยาง โดยอนุญาตให้แต่ละหน่วยมีเอ็ม 16 แต่ในส่วนของรถลำเลียงพล ตนทราบว่าเมื่อกำลังพลเคลื่อนย้ายมาก็ต้องเอารถลำเลียงพลซึ่งมีอาวุธปืนประจำรถติดอยู่มาด้วย แต่ไม่ได้มีคำสั่งให้นำรถลำเลียงพลดังกล่าวมาใช้ในการขอคืนพื้นที่
ในการขอคืนพื้นที่บนถ.ดินสอ ช่วงกลางวันจนถึงก่อนเย็นฝ่ายเจ้าหน้าที่ยึดพื้นที่ถนนดินสอหน้าโรงเรียนสตรีวิทยาจนถึงสะพานวันชาติส่วนฝั่งผู้ชุมนุมอยู่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยการขอคืนพื้นที่นั้นเนื่องจากผู้ชุมนุมได้ยึดถ.ราชดำเนินตลอดสายตั้งแต่สนามหลวงถึงลานพระบรมรูปทรงม้า แต่เมื่อผู้ชุมนุมที่แยกราชประสงค์อีกแห่ง จึงเห็นว่าควรคืนถนนราชดำเนินบางส่วนให้ประชาชนได้ใช้และให้ไปรวมตัวอยู่ที่เวทีสะพานผ่านฟ้าเท่านั้นไม่ใช้ยึดถ.ราชดำเนินทั้งหมด
ในการขอคืนพื้นที่ได้ใช้วิธีการผลักดันโดยใช้รถกระจายเสียงประกาศให้ไปรวมตัวกันที่สะพานผ่านฟ้าและคืนพื้นผิวการจราจรที่เหลือเพื่อรองรับการจราจรจากสะพานพระราม 8 และพระปิ่นเกล้า การใช้โล่กระบองใช้เมื่อมีการประชาชนไม่ยอมไปแล้วแกนนำปลุกระดมให้มาสู้กับทหารมีการผลักดันกัน
ทนายได้ถามว่ามีการใช้เฮลิคอปเตอร์โปรยแก๊ซน้ำตาในพื้นที่หน้าถ.ดินสอด้วยใช่หรือไม่ พระสุเทพ ตอบว่าได้สั่งให้ใช้เฮลิคอปเตอร์โปรยใบปลิวเพื่อให้ประชาชนหยุดทำร้ายเจ้าหน้าที่ แต่เมื่อประชาชนใช้ความรุนแรงขึ้นเจ้าหน้าที่บนเฮลิคอปเตอร์จึงได้ใช้แก๊ซน้ำตาหย่อนลงไปเพื่อให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่แยกห่างออกจากกัน ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้มีการขออนุญาตแล้วและตนก็ได้อนุญาต ก่อนมีการใช้แก๊ซน้ำตาโปรยลงมาจากเฮลิคอปเตอร์ก็ได้ใช้รถฉีดน้ำใส่ผู้ชุมนุมหลายครั้งในวันนั้นแล้ว
หน่วยพลเรือนที่ร่วมสนธิกำลังปฏิบัติการคือ เทศกิจของกรุงเทพฯ ราว 1,000 กว่านาย เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองของจังหวัดนนทบุรี แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้อาวุธปืนและกระสุนจริง มีเพียงเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจเท่านั้นที่สามารถใช้อาวุธและกระสุนจริงตามเงื่อนไขที่ได้รับอนุญาตไว้เท่านั้น
ทนายได้ถามว่าตามหลักสากลได้ห้ามสลายการชุมนุมหรือปฏิบัติการใดๆ กับผู้ชุมนุมตอนกลางคืนใช่หรือไม่ พระสุเทพ ตอบว่าในเวลา 18.15 ได้มีการออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่หยุดปฏิบัติการและรักษาแนวพื้นที่ตั้งอยู่ในเวลานั้น
ทนายถามว่าในคำสั่ง 0407.45/59 นั้นได้มีการอนุญาตให้ใช้อาวุธปืนและกระสุนจริงด้วยใช่หรือไม่ พระสุเทพ ตอบว่าในวันนั้นได้มีการออกคำสั่งขึ้นตามสถานการณ์ เช่น ใน 18.15 ได้มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่หยุดปฏิบัติการ แต่เมื่อมีกองกำลังชายชุดดำใช้อาวุธสงครามทำร้าย เจ้าหน้าที่ไม่สามารถตอบโต้ได้เพราะกองกำลังชายชุดดำได้ใช้ผู้ชุมนุมเป็นโล่มนุษย์จึงได้สั่งให้ถอนกำลังออกเวลา 20.20 น. แต่เมื่อถอนกำลังออกแล้วเจ้าหน้าที่ยังถูกโอบล้อมและถูกโจมตีด้วยอาวุธปืน จึงออกคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ใช้อาวุธเพื่อป้องกันตนเองได้ในเวลา 20.30 น. หลังจากที่มีเจ้าหน้าที่ทั้ง 5 นาย และมีประชาชนเสียชีวิตแล้ว
ทนายถามว่าในการออกคำสั่งให้ใช้อาวุธปืนและกระสุนจริงเพื่อป้องกันตนเองได้นั้นต้องยิงตั้งแต่ระดับพื้นถึงระดับเข่าใช่หรือไม่ พระสุเทพ ตอบว่าในคำสั่ง 1/2553 ได้มีการออกคำสั่งไว้เช่นนั้น แต่คำสั่งเฉพาะเหตุการณ์ของวันที่ 10 เม.ย. นั้นได้มีการออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ใช้อาวุธเพื่อป้องกันตนเองและประชาชนบริสุทธิ์ได้โดยมีหลัการ 2 ข้อ คือ 1. ใช้เมื่อเห็นภัยคุกคามชัดเจน หรือเมื่อกลุ่มติดอาวุธมีท่าทีคุกคามต่อเจ้าหน้าที่หรือประชาชน 2. ใช้ให้สมควรแก่เหตุไม่ประสงค์ต่อชีวิตของเป้าหมาย
ทนายถามสุเทพต่อว่าในวันนั้นทราบข่าวว่ามีนักข่าวถูกยิงที่หน้าอกที่ขั้วหัวใจด้วยกระสุนนัดเดียวในขณะนั้นนักข่าวกำลังถือกล้องถ่ายทำข่าวหน้าโรงเรียนสตรีวิทยาหรือไม่ พระสุเทพ ตอบว่าทราบข่าวว่ามีนักข่าวญี่ปุ่นถูกยิงเสียชีวิต แต่ข่าวไม่ได้มีรายงานถึงรายละเอียด ทนายได้ถามว่าพระสุเทพไม่เคยสั่งให้ทหารใช้อาวุธปืนยิงผู้ชุมนุมใช่หรือไม่  พระสุเทพ ตอบว่าไม่เคยมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้ชุมนุม
จากนั้นทนายถามว่าอภิสิทธิ์ ในฐานะนายกฯ ไม่เคยสอบถามว่าเหตุการณ์ตายเกิดเพราะใครอย่างไร และไม่เคยบอกห้ามให้เจ้าหน้าที่ใช้อาวุธปืนและกระสุนจริงใช่หรือไม่ พระสุเทพ ตอบว่าหลังเกิดเหตุการณ์วันที่ 10 เม.ย. ได้ให้ดีเอสไอสอบสวนหาสาเหตุการตายของผู้เสียชีวิตทุกราย ทนายถามต่อว่าในวันที่ 10 ตั้งแต่ช่วงบ่ายถึงเย็น อภิสิทธิ์ไม่ได้อยู่ในที่ประชุมด้วยและไม่ได้สอบถามถึงเหตุการณ์เมื่อมีข่าวการยิงและเสียชีวิตของประชาชนและทหารกับสุเทพหรือคณะกรรมการ ศอฉ. เลยใช่หรือไม่ พระสุเทพตอบว่าเมื่ออภิสิทธิ์ได้สอบถามถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตนเป็นผู้รายงานให้อภิสิทธิ์ทราบเองว่าในการขอคืนพื้นที่เกิดเหตุการณ์อะไรบ้างและมีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ และการสั่งถอนกำลังในเวลา 23.00 น.
ทนายถามต่อว่าอภิสิทธิ์ไม่ได้สั่งการใดๆ หรือมีการสั่งห้ามใช้อาวุธใช่หรือไม่ พระสุเทพ ตอบว่าไม่ได้สั่งเพราะตนสั่งไปก่อนแล้วว่าห้ามใช้อาวุธกับผู้ชุมนุม แต่ให้ใช้กับกองกำลังติดอาวุธที่ทำร้ายเจ้าหน้าที่และประชาชนเท่านั้น
ทนายถามต่อว่าในคืนนั้นก่อนที่นายฮิโรยูกิจะถูกยิงเสียชีวิตได้มีการยิงผู้ชุมนุมที่ถือธงชาติและไม่มีอาวุธเข้าที่ศีรษะก่อนแล้วใช่หรือไม่ พระสุเทพตอบว่าไม่ได้มีการรายงานใครถูกยิงก่อนหลังเนื่องจากเหตุการณ์ยังชุลมุนอยู่ เพียงแต่มีรายงานว่ามีทหารและประชาชนถูกยิงกี่รายและเสียชีวิตกี่ราย แม้กระทั่งชื่อผู้เสียชีวิตก็ยังไม่ได้มีการรายงานในคืนนั้น และข่าวการเสียชีวิตทั้ง 3 ในทันทีทั้งในและต่างประเทศตนได้เห็นในภายหลัง ซึ่งที่ตนเห็นทั้งฮิโรยูกิซึ่งเป็นช่างภาพและวสันต์ที่ถือธงชาติทั้งสองคนไม่ได้ถืออาวุธ
ทนายได้นำภาพถ่ายทหารที่ถืออาวุธปืนในสำนวนให้สุเทพดูแล้วถามว่าทหารหลายนายที่ถืออาวุธทั้งหมดในภาพไม่ได้เป็นระดับหัวหน้าหน่วยใช่หรือไม่ และมีภาพทหารกำลังใช้อาวุธปืนยิงรวมถึงมีภาพทหารบนรถลำเลียงพลด้วย พระสุเทพ ตอบว่าไม่ทราบว่าภาพดังกล่าวถูกถ่ายที่ไหนและเมื่อไหร่ เพราะตัวตนเองอยู่ที่ ศอฉ. จึงไม่สามารถระบุได้
ทนายถามว่าทราบถึงรายงานข่าวว่ามีการเก็บกระสุนปืนจริงและปลอกกระสุนใช้แล้วจากถนนดินสอนำมาแถลงข่าวด้วย พระสุเทพตอบว่าไม่ทราบ ทนายถามต่อว่าทราบถึงมีเจ้าหน้าที่ทหารใช้อาวุธปืนและกระสุนจริงยิงใส่ผู้ชุมนุมหรือไม่ พระสุเทพ ตอบว่าไม่ทราบ แต่ทราบว่ามีกองกำลังชายชุดดำใช้อาวุธปืนยิงและขว้างระเบิดใส่เจ้าหน้าที่ทหาร ทนายถามอีกว่าทหารได้ใช้อาวุธปืนและกระสุนจริงยิงโต้ตอบกองกำลังดังกล่าวหรือไม่ พระสุเทพ ตอบว่า ได้รับรายงานว่าทหารไม่สามารถยิงโต้ตอบได้เพราะใช้ผู้ชุมนุมเป็นโล่มนุษย์ แต่ได้ใช้อาวุธปืนและกระสุนปืนจริงในตอนที่ถอนกำลัง ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ก็ได้มีการขออนุญาตใช้อาวุธปืนมาที่ตน แต่จะยิงไปทางไหนบ้างตนไม่ทราบ
ทนายถามว่ามีรายงานหรือไม่ว่ามีการเบิกกระสุนปืนจริง ระเบิดเอ็ม 79 และระเบิดขว้างเอ็ม 67จากรมสรรพาวุธไปด้วย พระสุเทพ ตอบว่ามีคำสั่งห้ามเด็ดขาดห้ามใช้อาวุธสงครามอย่างอื่นนอกจากอาวุธปืนประจำตัวทหารเท่านั้น ไม่มีระเบิดเอ็ม 67 และเอ็ม 79 และตนไม่ทราบว่ามีการเบิกกระสุนหรือไม่ เพราะไม่จำเป็นต้องมีการรายงานมาที่ตนว่าได้เบิกกระสุนไปกี่นัด ซึ่งตนแค่สั่งการในเรื่องหลักการเท่านั้นว่าต้องใช้อาวุธในกรณีไหนบ้างเท่านั้น
ทนายถามว่าหลังเหตุการณ์สลายการชุมนุม เม.ย.-พ.ค. 2553 แล้วได้มีการสั่งการให้ตำรวจและดีเอสไอสืบสวนสอบสวนใช่หรือไม่ พระสุเทพ ตอบว่าใช่และมีการสรุปสำนวนส่งฟ้องศาลมีผู้ต้องหา 19 คน ปัจจุบันอยู่ในระหว่างพิจารณาคดีของศาล ทนายถามอีกว่าเคยทราบรายงานการตรวจพิสูจน์สถานที่เกิดเหตุของตำรวจที่พบร่องรอยกระสุนปืนตามต้นไม้ เสาไฟฟ้าผนังปูนของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่มีทิศการยิงมาจากสะพานวันชาติที่ทหารอยู่ พระสุเทพ ตอบว่าไม่เคยเห็นรายงานดังกล่าว และไม่ทราบถึงผลการตรวจสถานที่เกิดเหตุ
ทนายถามสุเทพเกี่ยวกับรายงานที่ใช้อ้างในตอนให้การและให้ไว้กับพนักงานสอบสวนถึงชายชุดดำที่อยู่ในรถตู้ มีแต่เพียงภาพถ่ายรถตู้แต่ไม่ได้มองเห็นว่ามีชายชุดดำในรถตู้หรือไม่ ใช่หรือไม่ พระสุเทพ ตอบว่าภาพเหล่านี้เป็นเอกสารที่ได้จากดีเอสไอซึ่งได้รวบรวมการสอบสวนปรากฎเป็นสำนวน และได้งข้อหาก่อการร้ายกับผู้ต้องหา 26 คน ซึ่งตนได้อ้างตามการสอบสวนของดีเอสไอทุกอย่าง รวมทั้งภาพรถตู้ที่ถูกบันทึกด้วยกล้องวงจรปิดที่แยกสี่กั๊กในคืนวันที่ 10 เม.ย. ในเวลา 20.00 น. เศษ ภาพรถตู้มี 4 ภาพทั้งภาพตอนขาเข้าและขาออก และมีอีก 1 ภาพเป็นภาพที่มีคนใช้เครื่องยิงระเบิดเอ็ม 79 อยู่ข้างรถตู้ สวมหมวกปิดหน้าและมีผ้าผูกแขนสีแดง ซึ่งดีเอสไอระบุว่าเป็นกองกำลังชายชุดดำที่ยิงเจ้าหน้าที่และประชาชนในวันนั้น แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าในภาพถ่ายรถตู้นั้นคนในรถเป็นใคร ซึ่งดีเอสไอรายงานแก่ตนว่าเวลา 20.19น. เป็นภาพถ่ายรถตู้ขับเข้าไป และ21.00 น.เป็นเวลาที่รถตู้ขับกลับออกไป ส่วนรถตู้ขับไปส่งที่ใดบ้างนั้นไม่มีรายงาน
ทนายถามว่าเจ้าหนา้ที่ทหารถูกชายชุดดำยิงตอนเวลาเท่าใด พระสุเทพ ตอบว่าได้รับรายงานว่าเกิดเหตุในเวลาราว 2 ทุ่ม แต่ก่อนหน้านั้นก็มีการยิงใส่เจ้าหน้าที่อยู่ตลอด ซึ่งก็ได้มีการอนุญาตใช้อาวุธตอนราว 2 ทุ่มเศษ
ทนายถามต่อว่าหลังเหตุการณ์ยังมีการชุมนุมต่อใช่หรือไม่ แล้วทหารได้กลับที่ตั้ง พระสุเทพ ตอบว่าราว 23.00น. แกนนำได้ประกาศให้ยุติการใช้กำลังต่อเจ้าหน้าที่ทหาร ทหารจึงได้ถอนกำลังกลับที่ตั้ง
ทนายถามว่าพระสุเทพเกี่ยวกับจำนวนกระสุนจริงที่ใช้ จำนวนกองกำลังและมีหน่วยใดบางในปฏิบัติการ และจำนวนผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์นี้หรือไม่ พระสุเทพ ตอบว่าไม่ได้รับรายงานและไม่ได้มีการสั่งให้รายงาน ในส่วนของจำนวนผู้เสียชีวิตตนได้รับรายงานในวันรุ่งขึ้นจากกระทรวงสาธารณสุข
ทนายถามว่าไม่เคยมีการรายงานเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับทางการญี่ปุ่นใช่หรือไม่ พระสุเทพ ตอบว่าเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย เคยเข้าพบอภิสิทธิ์ และตนเพื่อขอให้สืบสวนหาตัวผู้ยิงนายฮิโรยูกิ แต่ไม่เคยชี้แจงให้ทราบว่าใครเป็นผู้ยิงฮิโรยูกิ เพราะคดียังอยู่ระหว่างการสอบสวน ในสมัยที่พยานอยู่ในคณะรัฐบาล ดีเอสไอได้ทำการสอบสวนว่าวันที่ 10 เม.ย. มีการเสียชีวิตใดบ้างทั้งที่เกิดจากผู้ก่อการร้ายชายชุดดำ และเจ้าหน้าที่ ซึ่งเคยเร่งรัดให้ดีเอสไอสืบสวนสอบสวน แต่ปัจจุบันยังไม่ได้รับรายงานที่สมบูรณ์
เมื่อการสืบพยานเสร็จสิ้นศาลได้นัดฟังคำสั่งไต่สวนชันสูตรพลิกศพของผู้เสียชีวิตทั้ง 3 คน ในวันที่ 30 เม.ย. 2558 โดยศาลให้เหตุผลว่าช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค. ศาลมีคดีที่ต้องพิจารณาเป็นจำนวนมากและในคดีนี้มีข้อเท็จจริงที่ต้องพิจารณาเป็นจำนวนมาก

'วีระกานต์' ไม่เห็นด้วยเลือกนายกโดยตรง ชี้ต้องไม่นิรโทษกรรมแกนนำ-ผู้สั่งการ



"วีระกานต์ มุสิกพงศ์" อดีตประธาน นปช. แสดงความเห็นต่อกรรมาธิการยกร่าง รธน. ระบุไม่เห็นด้วยกับการเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรง ชี้ถ้าจะให้ประชาชนยอมรับต้องทำประชามติรัฐธรรมนูญ เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรม แต่ควรจะนิรโทษเฉพาะประชาชน และผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ ที่ไม่ใช่แกนนำ หรือผู้สั่งการ
 
เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2557 ที่ผ่านมาเว็บไซต์สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา รายงานว่า พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยถึงกรณีที่ นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้เข้าให้ข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญว่านายวีระกานต์ ไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีโดยตรง รวมถึงประเด็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่ไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง เพราะที่ผ่านมาเห็นว่า ส.ส. ที่ไม่ได้สังกัดพรรคจะไม่มีจุดยืนในการทำงาน และจะไม่สามารถเสนอกฎหมายเข้าสู่สภาได้ นอกจากนี้ นายวีระกาต์ ยังให้ความเห็นในเรื่องอำนาจการบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระหว่างองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ซึ่งอยากให้มีความชัดเจนในการแบ่งอำนาจหน้าที่ ส่วนด้านศาลและกระบวนการยุติธรรม เห็นว่าควรนำบุคคลภายนอกมาเป็นส่วนหนึ่งในคณะกรรมการตุลาการ ส่วนการปฏิรูปองค์กรอิสระ ก็อยากให้ได้มีการตรวจสอบองค์กรอิสระด้วย เนื่องจากมีความเป็นอิสระมากเกินไป
 
ขณะที่ด้านการปฏิรูป นายวีระกานต์ ระบุว่า ส่วนตัวก็มีหลายความคิดเห็นที่สอดคล้องกับพรรคเพื่อไทยที่ได้เคยเสนอไว้แล้ว เช่น การส่งเสริมประเทศไทยให้มีประชาธิปไตยที่แท้จริง การสร้างความสมานฉันท์และการขจัดการทุจริตคอรัปชั่น ทั้งนี้ มองว่าเมื่อร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ก็ควรเสนอทำประชามติ เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากประชาชนทั้งประเทศ พร้อมทั้งไม่เห็นด้วยในการเปลี่ยนแปลงอำนาจรัฐที่อยู่นอกเหนือประชาธิปไตย และอยากเห็นการนำหลักธรรมะมาใช้ในการปกครองประเทศ นอกจากนี้ยังเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรม แต่ควรจะนิรโทษเฉพาะประชาชน และผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ ที่ไม่ใช่แกนนำ หรือผู้สั่งการ
 
พล.อ.เลิศรัตน์ ยังเปิดเผยอีกว่า ในวันที่ 22-26 ธันวาคมนี้ คณะกรรมาธิการยกร่างร่างรัฐธรรมนูญจะประชุมเพื่อวางกรอบและแนวทางการยกร่างรัฐธรรมนูญจากทุกฝ่ายที่เสนอมา ก่อนที่จะลงรายละเอียดเป็นรายมาตราในช่วงต้นเดือนมกราคมต่อไป