วันจันทร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

คัดค้านการสถาปนาอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ


คัดค้านการสถาปนาอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
แถลงการณ์ 'กลุ่มเพื่อนรัฐธรรมนูญ'
คัดค้านการสถาปนาอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ


Mon, 2012-07-16 15:29


กลุ่มเพื่อนรัฐธรรมนูญ


สืบเนื่องจากการที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ใช้อำนาจรับคำร้องคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญตาม ม.68 ที่ผ่านมา และได้มีคำสั่งให้รัฐสภาหยุดกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐสภาได้ผ่านวาระ 2 มาแล้ว ล่าสุดได้มีการไต่สวนและออกคำวินิจฉัย ซึ่งเป็นที่ทราบกันทั่วไปแล้วนั้น

คณะ “กลุ่มเพื่อนรัฐธรรมนูญ” ซึ่งประกอบด้วยอดีตนักกิจกรรม นักเคลื่อนไหวประชาธิปไตยยุคต่างๆ รวมทั้งแพทย์ นักวิชาการ ฯลฯ ได้ติดตามและประเมินสถานการณ์บ้านเมืองมาโดยตลอด นับตั้งแต่เหตุการณ์การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จนถึงปัจจุบัน คณะของเรามีความเป็นห่วงต่อวิกฤตระบอบประชาธิปไตยที่เกิดขึ้น และเห็นภัยคุกคามต่อหลักรัฐธรรมนูญ หลักนิติรัฐ และหลักนิติธรรมของประเทศมาโดยตลอด จึงมีมติคัดค้านบทบาทของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ดังต่อไปนี้



1.คำตัดสินหรือคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญขัดต่อรัฐธรรมนูญตั้งแต่ต้น ไม่ควรยอมรับในทุกมิติ ไม่ว่าจะมีผลลบมากน้อยอย่างไร และควรถือว่าคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 13 กรกฎาคม 2555 ในทุกประเด็นเป็นโมฆะทั้งสิ้น

ทั้งนี้เนื่องจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีอำนาจรับคำร้องในคดีตั้งแต่ต้น แต่ใช้ดุลยพินิจตีความขยายอำนาจตนเองเพื่อรับคำร้องเองไต่สวนเองและวินิจฉัยเอง โดยขัดต่อถ้อยคำและเจตนารมณ์ใน กฏหมายรัฐธรรมนูญ ม.68 อย่างชัดเจน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นเพียงองค์กรที่ถูกจัดตั้งขึ้นโดยมีเพียงอำนาจเท่าที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้เท่านั้น การกระทำของตุลา-การศาลรัฐธรรมนูญจึงเท่ากับเป็นการเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ ขยายอำนาจรุกล้ำเขตอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติของรัฐสภา อันมีที่มาจากอำนาจประชาชนโดยตรง คำสั่งให้หยุดกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คำสั่งหรือคำแนะนำเชิงข่มขู่ให้ลงประชามติก่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับตาม ม. 291 ล้วนไม่อยู่ในอำนาจของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นการใช้อำนาจเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญระบุไว้ทั้งสิ้น

หากรัฐสภาปฏิบัติตามคำสั่งหรือคำวินิจฉัยดังกล่าวข้างต้นจะเป็นการนำอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ ไปซุกอยู่ใต้อำนาจตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และจะเป็นการยอมรับการสถาปนาอำนาจของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่าอยู่เหนือรัฐธรรมนูญและอธิปไตยของปวงชน และในที่สุดเป็นการทำลายหลักการแบ่งแยกอำนาจลงโดยสิ้นเชิง



2.เมื่อประมวลบทบาทของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในอดีตที่ผ่านมา นับตั้งแต่การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เช่น คำตัดสินยุบพรรคการเมือง (ทุกพรรคยกเว้นพรรคประชาธิปัตย์) ตัดสิทธิ์นักการเมือง ล้มรัฐบาลนายก ฯ สมัคร-สมชาย และคำวินิจฉัยครั้งนี้ เราเห็นได้ชัดเจนว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทำหน้าที่เป็นเครื่องมือทางการเมืองของฝ่ายรัฐประหารหรือฝ่ายอำนาจนอกระบบ โดยเชื่อมโยงประสานกับพรรคประชาธิปัตย์ กลุ่มพันธมิตร กลุ่มสยามประชาภิวัตน์ อย่างเป็นระบบและต่อเนื่องมาโดยตลอดระยะเวลา 5-6 ปี โดยมีจุดมุ่งหมายร่วมกันคือ โค่นล้มทำลายรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ปกป้องรัฐธรรมนูญ 2550 อันเป็นมรดกสำคัญของการรัฐประหารในอดีตอย่างสุดกำลัง โดยไม่ยึดหลักกติกาในระบอบประชาธิปไตย ทำลายหลักนิติรัฐ หลักนิติธรรมและความยุติธรรมในสังคม อันเป็นต้นเหตุก่อให้เกิดความแตกแยกอย่างรุนแรงในสังคม


3.ขอเรียกร้องต่อรัฐสภา ประกาศไม่ยอมรับคำสั่งหรือคำวินิจฉัยใด ๆ ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ต้น ยืนหยัดพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ปกป้องอำนาจนิติบัญญัติ อันเป็นอำนาจทางตรงของประชาชน จัดให้มีการประชุมรัฐสภาและลงมติวาระ 3 เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้ง สสร. ทำการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยต่อไป ภายหลังร่างรัฐธรรมนูญของ สสร. แล้วเสร็จ ให้นำร่างดังกล่าว เสนอผ่านการกลั่นกรองโดยคณะกรรมการที่เป็นกลางและเป็นที่ยอมรับของสังคม หลังจากนั้นจัดให้ประชาชนลงประชามติ เพื่อรับรองความชอบธรรมของรัฐธรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง


4.ขอเรียกร้องให้ประชาชนและองค์กรประชาธิปไตยแสดงจุดยืนพิทักษ์ระบอบประชาธิปไตย ต่อต้านอำนาจตุลาการเหนือรัฐธรรมนูญ โดยการร้องทุกข์ กล่าวโทษ ดำเนินคดีอาญาตามประมวลกฏหมายอาญา ม.157 ต่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ดำเนินการปฏิรูประบบศาลรัฐธรรมนูญ โดยยุบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบัน ตามขั้นตอนกฏหมายรัฐธรรมนูญ และแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก่อตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยขึ้นใหม่ โดยให้ยึดโยงกับประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริง รวมทั้งปฏิรูป ขจัดเครือข่ายอำนาจศาลและองค์กรอื่น ๆ ที่เป็นมรดกจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

คณะของเรา ขอเรียกร้องให้พรรคการเมืองและรัฐสภา ยืนหยัดปกป้องหลักการในระบอบประชาธิปไตย ยึดมั่นในหลักนิติรัฐ ต่อต้านอำนาจนอกรัฐธรรมนูญ ให้หลักนิติธรรมอยู่เหนือความอยุติธรรมโดยไม่คำนึงถึงความอยู่รอดของตนเอง เสียสละต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของประเทศชาติ



ด้วยจิตคารวะ
กลุ่มเพื่อนรัฐธรรมนูญ
15 กรกฎาคม 2555
http://redusala.blogspot.com

ยุบศาล รธน. และจัดตั้ง 'คณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ'


ยุบศาล รธน. และจัดตั้ง 'คณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ'

ข้อเสนอนิติราษฎร์: ยุบศาล รธน. และจัดตั้ง 'คณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ'
Sun, 2012-07-15 16:54




เสนอยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญ ตั้งตุลาการพิทักษ์รัฐธรรมนูญแทน ทำหน้าที่พิทักษ์ประชาธิปไตยและนิติรัฐ รักษาความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ โดยการใช้อำนาจนั้นต้องคำนึงถึงอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย หลักการแบ่งแยกอำนาจ และหลักการประกันสิทธิและเสรีภาพ


15 ก.ค. 2555 นักวิชาการกลุ่ม “นิติราษฎร์” จัดการเสวนาหัวข้อ “การยุบเลิกศาลรัฐธรรมนูญ และการจัดตั้งคณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ” 


              ที่ห้อง LT1 คณะนิติศาสตร์ มธ. โดยมีผู้เข้าร่วมฟังการเสวนาจำนวนมาก ทำให้ต้องขยายการถ่ายทอดไปยังห้อง LT.2


จันทจิรา เอี่ยมมยุรา ได้อ่านเอกสาร อธิาบยว่าคณะนิติราษฎร์เห็นว่าศาลรธน. เป็นองค์กรที่รธน. สร้างขึ้นเพื่อทำหน้าที่รักษาความเป็นกฎหมายสูงสุดของรธน. แต่ศาลรัฐธรรมนูญ ได้ใช้อำนาจไปในทางทีเป็นปรปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ โดยขยายแดนอำนาจของตนออกไปกลายเป็นองค์กรที่อยู่เหนือรัฐสภา ทำลายหลักนิติรัฐ และประชาธิปไตย


เหตุการณ์วันที่ 13 ก.ค. ที่ผ่านมาไม่ใช่เหตุการณ์ครั้งแรก แต่ศาลรธน. ได้ทำลายหลักประชาธิปไตยหลายครั้ง โดยการเพิ่มเติมคำที่ไม่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญเข้าไปในการพิจารณา เช่นกรณีเขาพระวิหาร หรือการพิพากษาให้อดีตนายกรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะเป็นพิธีกรรายการทำอาหาร และล่าสุด ผิดพลาดอย่างชัดแจ้งมีผลขยายอำนจของตนเองเกินกว่าที่รธน. บญญัติให้และมีผลเป็นการยับยั้งการแก้ไขเพิ่มเติมรธน. ซึ่งเป็นอำนาจของรัฐสภา


จากพฤติการณ์ดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าศาลรธน. คณะนี้ได้ทำลายหลักนิติรัฐและประชาธิปไตยโดยสินเชิง วัตถุประสงค์ของรธน. ไม่อาจะบรรลุได้และถูกทำลายไปโดยศาลรธน. นั้นเอง


และการได้มาซึ่งตลก. ในศาลนั้นขาดความเป็นประชาธิปไตยไม่มีการยึดโยงกับประชาชน ซึ่เงป็นสาระสำคัญของศาลรัฐธรรมนูญในประเทศเสรีประชาธิปไตยทั่วโลก


นอกจากนั้นการถอดถอนตัวบุคคลที่เป็นตลก. ก็ทำได้ยาก เพราะต้องใช้คะแนนเสียง 3 ใน 5 ของสมาชิกวุฒิสภาขณะนั้น


โดยเหตุนี้เสนอให้มีการแก้ไขรธน. เพื่อยุบเลิกศาลรธน. และจัดตั้งคณะตลก. พิทักษ์รัฐธรรมนูญขึ้นจนกว่าจะมีการแก้ไขรธน. ฉบับที่สมบูรณ์ที่เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง


แนวทางคือการเสนอชื่อประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 50,000 รายชื่อ เพื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ


ปิยบุตร แสงกนกกุล อธิบายข้อเสนอของนิติราษฎร์ โดย


ประการแรก ให้มีการยกเลิกบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ในหมวด10 ศาล ส่วนที่ 2 ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งย่อมมีผลให้ศาลรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลง และประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง


ประการที่ 2 ให้เพิ่มความในรัฐธรรมนูญเพื่อจัดตั้ง “คณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ” โดยบรรดาอำนาจหน้าที่ต่าง ๆ ที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้เป็นอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ


ประการที่ 3 อำนาจหน้าที่: คณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญมีหน้าที่ 1) พิทักษ์ประชาธิปไตยและนิติรัฐ 2) รักษาความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ 3) โดยการใช้อำนาจนั้นต้องคำนึงถึงอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย หลักการแบ่งแยกอำนาจ และหลักการประกันสิทธิและเสรีภาพ


ประการที่ 4 ที่มาและองค์ประกอบ: คณะตุลาการพิทักษ์รัฐธรรมนูญประกอบด้วยตุลาการ 8 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำนำนำของประธานรัฐสภา โดยมาจากบุคคลซึ่งได้รับเลือกโดยสภาผู้แทนราษฎร 3 คน วุฒิสภา 2 คน และคณะรัฐมนตรี 3 คน


โดยส่วนของสภาผู้แทนฯ นั้นประธานสภาเป็นผู้เสนอ ผู้ได้รับเลือกอย่างน้อย 1 คนต้องเป็นผู้พิพากษาในศาลฎีกาหรือศาลปกครองสูงสุด


สำหรับวุฒิสภา ก็ให้ประธานวุฒิ ผู้ได้รับเลือกอย่างน้อย 1 คนต้องเป็นผู้พิพากษาในศาลฎีกาหรือศาลปกครองสูงสุด ส่วนคณะรมต. ให้นายกเสนอ แล้วที่ประชุมครม. เลือก


ประการที่ 5 คุณสมบัติของผู้เป็นตุลาการพิทักษ์รัฐธรรมนูญและลักษณะต้องห้าม: บุคคลผู้ซึ่งจะได้รับเลือกเป็นตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญต้อง 
  • 1) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด 
  • 2) มีอายุไม่ต่ำกว่าสี่สิบห้าปีบริบูรณ์ในวันที่ได้รับการเสนอชื่อ
  • 3) เป็นผู้เคารพและยึดมั่นหลักการนิติรัฐประชาธิปไตย 4) เป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางรัฐธรรมนูญ


ลักษณะต้องห้าม: 

  • 1) ต้องไม่เคยดำรงตำแหน่งตุลาการรัฐธรรมนูญหรือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่ว่าในรัฐธรรมนูญฉบับใด และ 
  • 2) ต้องไม่เคยดำรงตำแหน่งในองค์กรใดที่ตั้งขึ้นโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พุทธศักราช 2549 หรือโดยประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข



ประการที่ 6 วาระการดำรงตำแหน่ง: ประธานตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญและตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญมีวาระการดำรงตำแหน่ง 7 ปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว


ประการที่ 7 ข้อห้ามระหว่างการดำรงตำแหน่ง: ระหว่างวาระการดำรงตำแหน่ง ประธานตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญและตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญต้องไม่ประกอบอาชีพหรือวิชาชีพประจำอื่นใด


องค์คณะ


ประการที่ 8 องค์คณะและการลงมติ: องค์คณะของตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญในการนั่งพิจารณาและในการทำคำวินิจฉัย ต้องประกอบด้วยตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญไม่น้อยกว่า 5 คน โดยคำวินิจฉัยให้ถือตามเสียงข้างมาก ในกรณีที่มีคะแนนเสียงเท่ากัน ให้คำร้องนั้นตกไป


ประการที่ 9 ผลแห่งคำวินิจฉัย: คำวินิจฉัยของคณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญให้มีผลทั่วไปและเป็นเด็ดขาด ผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และหน่วยงานของรัฐ


ประการที่ 10 วิธีพิจารณา: วิธีพิจารณาของคณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของคณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ


ประการที่ 11 ข้อจำกัดการใช้อำนาจ: ห้ามมิให้คณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญกระทำการใดอันมีผลเป็นการขัดขวางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ


อนึ่ง หากข้อเสนอนี้ถูกนำไปใช้ ตลก. ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ปัจจุบันนี้จะพ้นจากตำแหน่งทันที ส่วนคดีที่คาอยู่ในศาลให้พักไว้ก่อนจนกว่าจะตั้งตุลาการพิทักษ์รธน. เข้าไปใหม่ และต้องตั้งให้เสร็จภายใน 30 วัน


            วรเจตน์ ภาคีรัตน์กล่าวเสริมว่าเหตุผลที่ไม่ให้ตุลาการมีสิทธิเสนอ อยู่บนฐานของการที่ศาลยึดโยงกับประชาชนซึ่งสังคมไทยไม่คุ้นชิน เป็นกระบวนการยุติธรรมในระบบปิด ส่วนข้อเสนอนี้ตระหนักว่าขาดคนที่มาจากศาลไม่ได้ โดยกำหนดว่าอย่างน้อย 2 ใน 8 เป็นหรือเคยเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกาหรือศาลปกครองสูงสุด


          ปิยบุตร กล่าวว่า ศาลรธน. มีอำนาจหน้าที่ได้เท่าที่รธน. กำหนดเท่านั้น จะขยายอำนาจของตนเองจนขึ้นไปอยู่เหนือรธน. เลยไม่ได้ อำนาจหน้าที่ และความเป็นอิสระที่ให้มานั้นเพื่อพิทักษ์รัฐธรรนูญ ไม่ใช่ขยายจนกลายเป็นตัวรัฐธรรมนูญเสียเอง


         ทั้งนี้ วรเจตน์กล่าวฝากไปยังฝ่ายการเมืองว่า ควรต่อสู้ในเชิงหลักการก่อนส่วนการต่อรองกันทางการเมืองนั้นเป็นเรื่องที่ควรพิจารณาทีหลัง และคณะนิติราษฎร์จะไม่มีจดหมายไปถึงใครทั้งสิ้น โดยเชื่อว่าสื่อมวลชนได้สื่อสารในประเด็นนี้สู่สาธารณะแล้ว และนิติราษฎร์ได้ทำหน้าที่ในส่วนของตนคือการเสนอทางวิชาการแล้ว
http://redusala.blogspot.com

สุชาติ นาคบางไซ กับ 3 ปีในกรงขังเผด็จการ



สุชาติ นาคบางไซ กับ 3 ปีในกรงขังเผด็จการ

สุชาติ นาคบางไซ กับ 3 ปีในกรงขังเผด็จการ
15 กรกฎาคม, 2012 - 22:57 | โดย Somyot-Redpower
สมยศ พฤกษาเกษมสุข

สุชาติ นาคบางไซ เป็นนามแฝงของวราวุธ ฐานังกร ประธานกลุ่มวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ เป็นผู้สร้างตำนานของการต่อต้านรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 อันโด่งดัง ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของคนเสื้อแดงในรุ่นบุกเบิก เขาเป็นนักปราศรัย และนักเคลื่อนไหวประชาธิปไตยที่กล้าหาญ เด็ดเดี่ยว จนถูกตำรวจ ออกหมายจับกุมในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพระราชินี เขาหายตัวไปราวปีเศษจึงถูกจับกุม เขารับสารภาพในทันที เพราะรู้อยู่แล้วว่าการต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมในคดีหมิ่นเบื้องสูง ผู้ถูกกล่าวหาทุกคนตกอยู่ในสภาพถูกมัดมือชก เพราะไม่ได้รับสิทธิการประกันตัว และถูกจองจำด้วยความทุกข์ทรมานเป็นเวลายาวนาน เขาถูกศาลตัดสินจำคุกเป็นเวลา 3 ปี กลายมาเป็นนักโทษเต็มขั้นตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2553


วราวุธ ฐานังกร อายุ 54 ปี แต่งงานแล้วมีบุตร 3 คน จบการศึกษาด้านเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่กลับหันมาประกอบอาชีพด้านไอทีในยุคโลกาภิวัตน์ จนเป็นคนหนึ่งที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีการสื่อสาร เขาเป็นผู้ก่อตั้งเว็บบอร์ด Weekend Corner เป็นที่รู้จักกันดีในแวดวงการสื่อสารบนอินเตอร์ชื่อดังหลายแห่ง ดังนั้นเมื่อเกิดการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญของการต่อต้านเผด็จการทหาร เป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น จนในที่สุดนำมาสู่การพบปะพูดคุยกันอย่างเป็นทางการ เป็นที่มาของการก่อตั้งกลุ่มวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการในเดือนพฤศจิกายน 2549

บทบาทของเขาถูกจับตามองเป็นพิเศษในฐานะที่เป็นแกนนำต่อต้านการรัฐประหารอย่างห้าวหาญ ดุเดือด อันเป็นบุคลิกเฉพาะตัวของเขา “สุชาติ นาคบางไซ” กลุ่มวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ ยังมีส่วนสร้างกระแสคลื่นความคิดต่อต้านการรัฐประหารในเว็บบอร์ดการเมืองซื่อดังหลายแห่ง มีการแสดงความคิดเห็นต่อกระแสการเมืองกันอย่างคึกคัก มีชีวิตชีวา มีการตอบโต้วาทะทางความคิดอย่างเผ็ดร้อน ซึ่งเป็นเสมือนภูมิปัญญาของคนรุ่นใหม่ในโลกอินเตอร์เน็ต หรือที่เรียกกันว่า “นักรบไซเบอร์” หลายคนรับรู้ความจริงด้วยข้อมูลมากมายที่ผ่านการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างอิสระ จนสามารถทะลุทะลวงผ่านมายาทางความคิดซึ่งถูกมอมเมา และครอบงำจากกรอบประเพณี จารีตนิยมเก่าแก่คร่ำครึมายาวนาน

กลุ่มวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการมีส่วนร่วมแข็งขันในการก่อตั้งแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และเมื่อแกนนำ นปช.รุ่นแรกจำนวน 9 คนถูกจับกุมคุมขัง หลังจากนำประชาชนบุกบ้านสี่เสาเทเวศร์จนเกิดเหตุการณ์จลาจลเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2550 สุชาติ นาคบางไซ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นแกนนำ นปช.รุ่น 2 ที่มีบทบาทสูงเด่นบนเวทีปราศรัยในเวลานั้น

หลังจากก่อตั้ง นปช. ขึ้นมาแล้วบรรดาสมาชิกกลุ่มวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการกระจายตัวไปตามจุดต่าง ๆ โดยใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ขยายแนวรบทางด้านสื่อสารมวลชนในรูปแบบของวิทยุอินเตอร์เน็ต วิทยุชุมชน สถานีโทรทัศน์ดาวเทียม แต่สำหรับสุชาติ นาคบางไซ ยังคงยืนหยัดในนามของกลุ่มวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการด้วยการจัดเวทีขนาดเล็กทุกวันเสาร์ที่สนามหลวงเป็นการให้ความรู้ในระดับที่ลึกซึ้งกว่าการปราศรัยบนเวทีใหญ่ของ นปช.

ความคิดที่แหลมคม ก้าวหน้าและการเคลื่อนไหวที่ท้าทาย ดุเดือดของเขาทำให้แกนนำ นปช. ส่วนหนึ่งเห็นว่าเป็นการนำที่สุ่มเสี่ยงเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จัดการชุมนุมยืดเยื้อเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2551 เขานำมวลชนออกไปต่อต้าน จึงถูกกลุ่มพันธมิตรฯ เล่นงานจันหัวร้างข้างแตกไปหลายคน แต่สำหรับสุชาติ นาคบางไซ อัตราเสี่ยงของเขาคือความกล้าหาญ มุ่งมั่น และจริงใจในการเคลื่อนไหวต่อสู้
วันที่ 14 ตุลาคม 2552 เขาขึ้นเวทีปราศรัยซึ่ง นปช. จัดชุมนุมรำลึก 36 ปี 14 ตุลาคม การปราศรัยด้วยความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว เขาจึงถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาดูหมิ่นพระราชินี ตามมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา

ชีวิตการเป็นนักโทษการเมืองตามมาตรา 112 ไม่ต่างจากการเป็นเชลยศึก เพราะไม่มีสิทธิจะโต้แย้ง หรือต่อสู้เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ใด ๆ ทั้งสิ้น เขาจึงตัดสินใจไม่ต่อสู้ในคดีนี้ และใช้ชีวิตการเป็นนักโทษอย่างเงียบ ๆ ในคุกตะราง เขาถูกขังอยู่ห้องหมายเลข 3 แดน 7 ในสภาพที่แออัดแน่นขนัด เขาอดทนกัดฟันอยู่กับความยากลำบากโดยไม่ได้ปริปากบ่น บุคลิกภาพความห้าวหาญจนดูเหมือนจะบ้าบิ่น กลายมาเป็นคนธรรมดา เงียบขรึม เก็บตัว ไม่สุงสิงกับใคร

หลังการตายของอากง นักโทษ 112 สุชาติ นาคบางไซ ถูกย้ายมารวมกันที่แดน 1 ทั้งหมดเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2555 สุชาติ จึงได้ย้ายมาอยู่ห้องขังเดียวกับสมยศ พฤกษาเกษมสุข, เลอพงษ์ (โจ กอร์ดอน), ธันย์ฐวุฒิ เขาจึงมีมีโอกาสพูดคุยกับนักโทษ 112 คนอื่น ๆ อยู่เสมอ

เขาได้ทำงานในฝ่ายควบคุมกลางเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ในหน้าที่พิมพ์เอกสาร และงานธุรการ อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ เขากลายเป็นนักโทษชั้นเยี่ยม จนได้รับพระราชทานอภัยโทษเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2554 เป็นเวลา 9 เดือน ทำให้เหลือเวลาถูกจองจำจนถึงเดือนมกราคม 2556 แต่ถ้าในปี 2555 ในโอกาสวันเฉลิมพระชนม์พรรษา 80 ปีพระราชินี หากรัฐบาลออกพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ เขาจะได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 12 สิงหาคม 2555

สุชาติ นาคบางไซ ได้ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษเป็นรายบุคคลตั้งแต่เดือนมีนาคม 2554 โดยหวังว่าจะได้รับเมตตาให้เขาพ้นโทษได้ แต่เรื่องก็เงียบหายไปอีก แต่พอมาถึงเดือนมิถุนายน 2555 เมื่อเลอพงษ์ ได้รับแจ้งจากสถานทูตอเมริกาว่าการถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษรายบุคคลได้ผ่านพ้นขั้นตอนของกระทรวงยุติธรรมไปยังสำนักพระราชวังแล้ว ทำให้สุชาติ และเลอพงษ์ มีความมั่นใจว่าจะได้รับอิสรภาพก่อนกำหนด เขาดีใจและตื่นเต้นกับวันเวลาแห่งอิสรภาพ

ทั้งสุชาติ และเลอพงษ์ เก็บของใช้ส่วนตัวใส่กระเป๋าพร้อมที่จะได้รับการปล่อยตัว เขาบอกลากับเพื่อนนักโทษ 112 ทุกวัน แต่เวลาผ่านมาหลายสัปดาห์ ไม่มีหมายปล่อยตัวจากสำนักพระราชวังที่ทั้งสองคนเฝ้ารอคอยอยู่ทุกนาทีที่ผ่านไปในแต่ละวัน

เขารอคอยอิสรภาพ เพื่อคืนสู่อ้อมกอดของครอบครัว ญาติ มิตร และแน่นอน กลุ่มคนเสื้อแดงที่ยังไม่ลืมเขาประธานกลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ เขาปรารถนาจะคืนสังเวียนการต่อสู้อีกครั้งทุกเวที

15 มิถุนายน 2555
http://redusala.blogspot.com

เพื่อไทย แถลงข่าว การลงมติวาระ 3 หรือไม่


เพื่อไทย แถลงข่าว การลงมติวาระ 3 หรือไม่


http://redusala.blogspot.com

ศาลริบอำนาจสถาปนา


ศาลริบอำนาจสถาปนา
ศาลริบอำนาจสถาปนา
Posted: 13 Jul 2012 11:35 PM PDT
(อ้างอิงจากเวบไซท์ประชาไท http://www.prachatai.com)
ใบตองแห้ง

เผยแพร่ครั้งแรกใน http://www.voicetv.co.th/blog/1237.html


          คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันศุกร์ 13 ที่ดูเหมือนว่าจะทำให้วิกฤติคลี่คลาย ความจริงหาใช่ไม่ เพราะกลับกลายเป็นหนังสยองขวัญเรื่องยาว มีผลร้ายกว่าที่คาดกันไว้


         ภาคเอกชนที่เฮ จนหุ้นบวก 17 จุด คงฟังไม่ได้ศัพท์จับไปกระเดียด ฟังแค่ไม่ได้ยุบพรรค ตัดสิทธิ ก็เฮกันแล้ว


คำว่า “ยกคำร้อง” ที่เป็นพาดหัวข่าว แท้จริงเป็นเพียงภาพลวงตา เพราะเนื้อหาสาระ แปลว่ารัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน อาจจะแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้เลย

‘คำแนะนำ’ อย่างนี้ก็มีด้วย

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นที่ 2 บอกว่า “รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้ ได้มาโดยการลงประชามติของประชาชน ก็ควรที่จะให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่า สมควรจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่”

ถามว่านี่เป็นคำวินิจฉัย หรือเป็นความเห็น หรือเป็นข้อเสนอแนะ “ควรที่จะให้”

           “ศาลเห็นว่าควรที่จะให้จำเลยติดคุก 10 ปี” ใครเคยได้ยินคำพิพากษาแบบนี้บ้าง ไม่มีหรอกครับ ถ้าศาลจะสั่งก็ต้องใช้คำว่า “ต้อง” ไม่ใช่ใช้ภาษาแทงกั๊กแบบนี้

           แถมหลังอ่านคำวินิจฉัย โฆษกศาลยังออกมาบอกว่าเป็นข้อเสนอแนะ เป็นความเห็น หากรัฐสภาดำเนินการต่อ ต้องรับผิดชอบเอง

ขณะที่จรัญ ภักดีธนากุล (ผู้เคยให้สัญญาประชาคมไว้ว่า รับร่างรัฐธรรมนูญก่อนค่อยแก้ทีหลัง แก้มาตราเดียวตั้ง สสร.แบบปี 2540 ได้) ก็บอกว่าศาลไม่ได้ห้ามรัฐสภาลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญวาระ 3 แต่หากฝืนลงมติก็อาจผิดมาตรา 68 ใครทำต้องรับผิดชอบเอง

         อ้าว เฮ้ย อย่างนี้ก็มีด้วย แบบนี้ภาษาจิ๊กโก๋แถวบ้านเขาเรียกว่า “วางสนุ้ก” ไม่บอกว่าผิดไม่ผิด แค่ให้คำแนะนำ ลองไปทำดู เดี๋ยวรู้เอง

มันไม่ใช่ “ข้อเสนอแนะ” หรือ “ความเห็น” แต่มันกลายเป็นคำพิพากษาไปเสียแล้ว

         นี่มันแย่ยิ่งกว่าการชี้ขาดลงไปว่า “ห้ามแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ” เพราะถ้าแบบนั้น รัฐสภาก็จะได้เดินหน้า แก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราทันที โดยเริ่มจากแก้บทบัญญัติเกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญก่อน

แต่นี่กลับทำให้พะวักพะวง ไม่รู้จะเริ่มต้นตรงไหนแน่

         แล้วคอยจับตาดูให้ดีนะครับ เพราะยังต้องรอคำวินิจฉัยกลางที่เป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งก็ไม่รู้จะว่าเปลี่ยนแปลงถ้อยคำอีกหรือเปล่า เพราะคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญดิ้นได้ จำไม่ได้หรือ คดีไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์ ตอนแถลงบอกว่าขาดอายุความ แต่พอออกคำวินิจฉัยกลาง บอกว่า 1 เสียงเห็นว่าขาดอายุความ อีก 3 เสียงชี้ว่านายทะเบียนพรรคการเมืองยังไม่ได้ลงความเห็น โผล่มาจากไหนไม่ทราบ

ขยายเขตกินแดนซ้ำ

        คุณวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ ตั้งข้อสังเกตไว้แต่แรกว่าการตั้งประเด็นของศาลไม่ชอบมาพากล คือตั้งไว้ 4 ประเด็น ได้แก่


  • 1.ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับคำร้องตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่
  • 2.การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 สามารถแก้ไขเพิ่มเติมทั้งฉบับได้หรือไม่
  • 3.การกระทำของผู้ถูกร้องเป็นการล้มล้างการปกครองฯ ตามมาตรา 68 หรือไม่
  • 4.มีความผิดต้องยุบพรรคตัดสิทธิหรือไม่


          เพราะอันที่จริงประเด็นของคดีมีเพียงว่า ศาลมีอำนาจรับคำร้องตามมาตรา 68 หรือไม่ และการกระทำของผู้ถูกร้องผิดตามมาตรา 68 หรือไม่ แต่นี่ศาลกลับขยายประเด็นมาตีความมาตรา 291 ทั้งที่ไม่ใช่ประเด็นของคดี และไม่อยู่ในอำนาจศาล

         มิพักต้องพูดถึงว่า การอ้างอำนาจรับคำร้องตามมาตรา 68 นั้นก็เป็นการใช้อำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ เกินกว่าที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจอยู่แล้ว

พอก้าวล่วงมาใช้อำนาจตีความมาตรา 291 โดยที่ไม่เกี่ยวกับประเด็นของคดี ศาลจึงใช้คำว่า “ความเห็น” “ข้อเสนอแนะ” เพราะรู้อยู่แก่ใจว่ามาตรา 291 ไม่มีตรงไหนห้ามแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ศาลไม่กล้าวินิจฉัยว่า “ห้ามแก้ทั้งฉบับ” เพราะจะขัดรัฐธรรมนูญเสียเอง จึงเลี่ยงไปออกความเห็น แต่ก็สำทับด้วยคำขู่ เมริงลองไม่ทำตามดูสิ เดี๋ยวจะรู้สึก

ม.68 ใช้ได้ทุกเมื่อ

         คำวินิจฉัยของศาลในประเด็นที่ 1 ศาลมีอำนาจรับคำร้องตามมาตรา 68 ไม่ได้เป็นที่น่าแปลกใจ ก็เอาข้างถูมาซะขนาดนี้แล้ว จะให้บอกว่าไม่มีอำนาจได้อย่างไร

         แต่นัยสำคัญในคำวินิจฉัยครั้งนี้คือ ศาลได้เอาเท้าแช่น้ำไว้ พร้อมจะใช้มาตรา 68 ขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ทุกเมื่อ หากมีผู้ร้อง ซึ่งก็คือพรรคแมลงสาบหรือพันธมารนั่นเอง

ดูคำวินิจฉัยที่ซ่อนไว้ในประเด็นที่ 3 ก็จะเห็น

          “อย่างไรก็ตาม หากสภาร่างรัฐธรรมนูญได้ร่างรัฐธรรมนูญที่มีลักษณะเปลี่ยนแปลงการปกครองในระบอบประชาธิปไตย หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขบทบัญญัติในหมวดว่าด้วยพระมหากษัตริย์แล้ว ทั้งประธานรัฐสภาและสภาฯ ก็มีอำนาจยับยั้งร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอันตกไปได้

          รวมทั้งหากบุคคลใดทราบว่ามีการกระทำเพื่อล้มล้างระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ตามรัฐธรรมนูญนี้ ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวก็ยังมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริง และยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวในทุกช่วงทุกเหตุการณ์ ที่บุคคลนั้นทราบ ตามที่มาตรา 68 ยังมีผลบังคับใช้”

         นี่แปลว่าต่อให้แก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา แมลงสาบกับพันธมารนึกอยากร้องสกัดขัดขวางเมื่อไหร่ก็ร้องได้ “ทุกช่วงทุกเหตุการณ์”

          นี่แปลว่าอะไร แปลว่าจากข้อกล่าวหาตลก ไร้สาระ แม้ศาลยกคำร้อง แต่ศาลก็ได้สถาปนาอำนาจตัวเองไว้เหนือรัฐธรรมนูญ เหนือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พร้อมจะใช้อำนาจตามมาตรา 68 ระงับยับยั้งหรือวินิจฉัยว่ารัฐบาลและรัฐสภามีความผิด ตัดสิทธิ ยุบพรรค ได้ทุกเมื่อ

          วิกฤติที่คิดว่าคลี่คลายแล้วจึงไม่ใช่หรอกครับ แต่กลายเป็นวางสนุ้กไว้ พร้อมสยองขวัญได้ทุกวัน ไม่จำกัดเฉพาะศุกร์ 13

         เอ้า สมมติรัฐบาล รัฐสภา ใช้มาตรา 291 เสนอแก้ไขรายมาตรา เฉพาะบทบัญญัติว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญ พวกแมลงสาบพันธมารก็จะไปร้องว่าส่อเจตนาล้มล้างระบอบฯ โค่นล้มศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นเสาหลักปักป้องรัฐธรรมนูญมรดกรัฐประหาร เราก็จะได้มาลุ้นระทึก เตรียมพร้อมรบราฆ่าฟันกันอีก ซึ่งก็ไม่แน่เหมือนกัน ถ้ารัฐบาลบริหารไปเกิดภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่ เสถียรภาพไม่มั่นคง มีฐานมวลชนน้อยลง ก็อาจโป๊ะเชะ ล้มทั้งยวง

         เผลอๆ ประชาชน 5 หมื่นคนไปเข้าชื่อกัน ตามที่จรัญ ภักดีธนากุล ให้สัญญาประชาคมไว้ อาจจะได้ติดคุกระนาว

         ที่น่ากังขายังได้แก่ถ้อยคำที่ใช้ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ตามรัฐธรรมนูญนี้” ต้องรอดูคำวินิจฉัยที่เป็นลายลักษณ์อักษรอีกที ว่าจะเอามาเขียนติดกันไหม เพราะถ้าเขียนติดกันก็เท่ากับตีความอย่างคำนูณ สิทธิสมาน ที่อ้างว่าระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2550 เท่านั้น ใครจะมาเปลี่ยนแปลงองค์กรอิสระ อำนาจ องค์ประกอบ ที่มา จะปรับโครงสร้างของรัฐธรรมนูญไม่ได้เลย

         ถ้าเป็นอย่างนั้นก็อุบาทว์ละครับ แปลว่าอำนาจอธิปไตยของปวงชนไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้เลย ต้องใช้รัฐธรรมนูญรัฐประหาร ผลงานของจรัญ ภักดีธนากุล ที่บอกให้ชาวบ้านรับไปก่อน แก้ทีหลัง ไปชั่วกัลปาวสาน


มั่ว ‘อำนาจสถาปนา’

            คำวินิจฉัยในประเด็นที่ 2 ที่พูดถึงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ เป็นส่วนที่ชาวบ้านฟังแล้วงงงวยที่สุด ก็ทำไมจะไม่เป็นอย่างนั้นในเมื่อตรรกะขัดกันเอง อย่างที่คุณวีรพัฒน์บอกว่าแก้ทั้งฉบับต้องถามประชาชนก่อน แต่แก้ทีละมาตรา ไม่ต้องถามประชาชน ฉะนั้นถ้าจะแก้ทีละมาตรา หมด 300 มาตรา สภาทำได้ ไม่ต้องถามประชาชน? เป็นตรรกะที่ผิดเพี้ยนมาก เอาคำหรูเช่น "อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ" มาอ้าง ก็ไม่ได้ช่วยให้มีตรรกะแต่อย่างใด

            มันผิดเพี้ยนตั้งแต่ศาลรับคำร้องตามมาตรา 68 แล้วครับ ไม่ใช่แค่เรื่องกระบวนการว่าต้องผ่านอัยการสูงสุดก่อน แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจของรัฐสภา เป็นอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจไปก้าวล่วง เพราะศาลรัฐธรรมนูญเองก็ต้องอยู่ใต้รัฐธรรมนูญอีกทีหนึ่ง

             ที่จริงนิติราษฎร์เป็นผู้ใช้คำนี้ก่อน แต่ศาลรัฐธรรมนูญกลับฉวยมาอธิบายเสียจนกลายเป็นว่ารัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้ ต้องผ่านการลงประชามติ

             ประเด็นนี้ให้ดูคำอธิบายของจรัญ ภักดีธนากุล จะง่ายกว่า จรัญอ้างว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับไม่ถูกต้องตามมาตรา 291 (ฉะนั้นที่ตัวเองพูดไว้ก็ไม่ถูกต้อง)

             “เนื่องจากรัฐสภาต้องเป็นผู้แก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยตนเอง จะมอบให้องค์กรอื่นที่ไม่ใช่องค์กรของรัฐสภา เป็นผู้ดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือยกเลิกไม่ได้ เพราะอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของปวงชนชาวไทยเป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริงใช่ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง การจะทำโดยสร้างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมาก็ต้องถามประชาชน เพื่อให้ได้รับฉันทานุมัติของประชาชนก่อน”

             นี่ก๊อปมาจากผู้จัดการ ASTV ขอบอกว่าจรัญไม่มั่วก็เข้าใจผิดอย่างร้ายแรง คล้ายๆ กับที่วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ อ้างว่ารัฐสภาขายขาดไม่รับคืน โยนกลองไปให้ สสร.แก้

             รัฐสภาไม่ได้มอบอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญให้กับ สสร.ไปเลยนะครับ รัฐสภาเพียงแต่มอบหมายให้ สสร.ไปยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยระหว่างนั้น อำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ยังอยู่กับรัฐสภาตามมาตรา 291 เดิม ซึ่งก็ยังใช้อยู่ ยังไม่ได้ยกเลิกไปไหน ระหว่างที่ สสร.ร่างรัฐธรรมนูญ สมมติมีความจำเป็นเร่งด่วนต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราใด รัฐสภาก็ยังแก้ไขได้ ยังมีอำนาจ ฉะนั้นที่บอกว่ามอบให้องค์กรอื่นที่ไม่ใช่องค์กรของรัฐสภาเป็นผู้ดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงไม่ถูกต้อง

            รัฐสภาเองนั่นแหละ คือผู้ดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพียงแต่มอบหมายให้ สสร.เป็นผู้ยกร่าง แล้วก็ไม่ใช่ว่าร่างเสร็จใช้ได้เลย สสร.ไม่ได้เป็นผู้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ ไม่ได้เป็นผู้ใช้อำนาจยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 ประชามติของประชาชนต่างหาก ที่เป็นผู้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550

           อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญจึงยังเป็นของปวงชนชาวไทย ไม่ได้สูญหายไปไหนเลย ไม่ได้ไปอยู่กับ สสร.(ถึงแม้ สสร.มาจากการเลือกตั้ง) รัฐสภาดำเนินการให้มี สสร.เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาเปรียบเทียบ ระหว่างยกร่างนั้นรัฐธรรมนูญ 2550 ก็ยังอยู่ ไม่ได้มีใครมาฉีก ยกร่างเสร็จจึงให้ประชาชนลงประชามติ ว่าจะเอารัฐธรรมนูญ 2550 ไว้หรือเลือกรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นี่ต่างหากคือฉันทานุมัติของประชาชน ซึ่งไม่จำเป็นต้องถามก่อน

          เพราะถ้าถามก่อน ก็ไม่ควรถามเพียงว่าแก้หรือไม่แก้ แต่เราควรจะถามว่า ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 เสียดีไหม ซึ่งก็มีคำถามอีกว่าอ้าว ยกเลิกแล้วจะใช้อะไร จะกลับไปใช้รัฐธรรมนูญ 2540 ก็ไม่ได้ วุ่นวายไปหมด

         อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญยังเป็นของปวงชนชาวไทย แต่ตอนนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้ก้าวล่วงเข้ามาบังคับกะเกณฑ์อยู่เหนืออำนาจนั้นเสียแล้ว ตามคำร้องของผู้ที่พ่ายแพ้การเลือกตั้ง กลัวการเลือกตั้ง และกลัวการลงประชามติ หรือกลัวอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญของปวงชนนั่นเอง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล
คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
http://redusala.blogspot.com

ฟ้องโลกด้วยภาพ


ฟ้องโลก ด้วยภาพ















http://redusala.blogspot.com