วันจันทร์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2557

ศาลให้ฝากขังต่อ 2 ผู้ต้องหาคดีละครเจ้าสาวหมาป่า



ภรณ์ทิพย์
8 ก.ย.2557 ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาฯ ศาลยกคำค้านการขอฝากขัง 2 ผู้ต้องหาคดี 112 จากกรณีละครเวทีเจ้าสาวหมาป่า คือ  น.ส.ภรณ์ทิพย์ (ไม่เปิดเผยนามสกุล) หรือ กอล์ฟ อายุ  26 ปีและ นายปติวัติ (ไม่เปิดเผยนามสกุล) หรือแบงก์ อายุ 24 ปี
โดยในวันนี้เป็นวันครบกำหนดการฝากขังผลัดที่สองและพนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอฝากขังในผลัดที่สาม ในการไต่สวนการคัดค้านการฝากขัง พนักงานสอบสวนชี้แจงความคืบหน้าของคดีว่า ได้สืบพยาน ทำสำนวนการสอบสวน พิมพ์ลายนิ้วมือแล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อย คงเหลือแต่การส่งสำนวนให้ผู้บังคับบัญชาอนุมัติซึ่งกระบวนการดังกล่าวจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ด้าน น.ส.ภาวิณี ชุมศรี ทนายความของสองผู้ต้องขังคัดค้านการขอฝากขังโดยให้เหตุผลว่าการสอบสวนผู้ต้องหาและพยานทั้งหลายแล้วเสร็จแล้ว ประกอบกับเหตุผลด้านภาระครอบครัวและภาระด้านการศึกษาของทั้งสองผู้ต้องขัง จึงไม่สมควรที่จะฝากขังต่อในผลัดที่สาม
ศาลได้พิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ฝากขังต่อ โดยระบุว่า “พิเคราะห์คำร้องขอฝากขัง คำร้อคัดค้านการขอฝากขังครั้งที่ 3 ของผู้ต้องหาและข้อเท็จจริงที่ได้จากการไต่สวนแล้ว เห็นว่า พนักงานสอบสวนยังมีความจำเป็นจะต้องนำสำนวนเข้าสู่การพิจารณาของผู้บังคับบัญชาอยู่ ข้อคัดค้านของผู้ต้องหาจึงฟังไม่ขึ้น เห็นควรให้ยกคำร้องคัดค้านการขอฝากขัง ผลัดที่ 3 ของผู้ต้องหาเสีย กำชับพนักงานสอบสวนให้เร่งรัดการสอบสวนคดีนี้โดยเร็วและศาลจะพิจารณาคำร้องขอฝากขังครั้งต่อไปอย่างเคร่งครัด”
ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนสามารถฝากขังผู้ต้องหาได้ 7 ผลัด ผลัดละ 12 วันโดยต้องยื่นคำร้องต่อศาลใหม่ทุกผลัด
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในการฝากขังครั้งที่แล้วศาลก็ได้กำชับเช่นเดียวกับครั้งนี้ว่าให้พนักงานสอบสวนเร่งรัดการสอบสวนและจะพิจารณาคำร้องขอฝากขังครั้งต่อไปอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ในการไต่สวนคำร้องครั้งนี้ ศาลไม่อนุญาตให้ผู้สังเกตการณ์คดีเข้าไปฝยห้องพิจารณาคดีด้วย เว้นแต่ทนายและญาติจำเลยรวม 4 คนเท่านั้น โดยให้เหตุผลว่าห้องพิจารณาคดีเล็กและคับแคบ ทำให้เพื่อนจำเลยและผู้สังเกตการณ์ราว 15 คนต้องรออยู่ภายนอก ภายหลังการฟังคำสั่งบรรยากาศเป็นไปด้วยความเศร้าสร้อย มารดาของน.ส.ภรณ์ทิพย์ที่เดินทางมาจากต่างจังหวัดถึงกับร่ำไห้ เจ้าหน้าทนำตัวทั้งสองไปขังยังห้องขังศาลอาญาก่อนที่จะนำตัวไปคุมขังยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯและทัณฑสถานหญิงกลางต่อไป 

ศูนย์ทนาย’เพื่อสิทธิฯ พบ 14 รายถูกซ้อม/ทำร้าย/ข่มขู่ ระหว่างถูกกักตัว



อย่งน้อย 14 รายถูกซ้อมทรมาน ทำร้าย และข่มขู่ ระหว่างถูกกักตัว ส่วนใหญ่เป็นการ์ดเสื้อแดง ระหว่างถูกควบคุมตัวในค่ายทหาร 
8 ก.ย. 2557 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ยื่นรายงานสรุปสถานการณ์สิทธิมนุษยชน 100 วัน หลังรัฐประการ ต่อศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย, พบอย่างน้อย 14 กรณี ที่มีการซ้อมทรมาน ทั้งการทำร้ายร่างกายและพูดจาข่มขู่ ชี้ว่า แม้คณะรักษาความสงบแห่งชาติยกเลิกการเรียกรายงานตัวอย่างเป็นทางการผ่านทางโทรทัศน์ แต่ใช้วิธีการเรียกตัวผ่านทางโทรศัพท์ และแม้การชุมนุมทางการเมืองที่เคยเกิดขึ้นทุกอาทิตย์ก็เริ่มหมดไป แต่ประชาชนยังคงถูกจับกุมและดำเนินคดีอย่างต่อเนื่อง
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า สถานการณ์ช่วง 100 วันที่ผ่านมา พบว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ เรียกตัวบุคคลให้ไปรายงานตัวอย่างน้อย 571 คน ประชาชนถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 266 คน อยู่ในกรุงเทพ 107 คน ภาคเหนือ 72 คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 45 คน นอกนั้นกระจายอยู่ในภาคตะวันออก ภาคตะวันตกและภายใต้ โดยผู้ที่เกี่ยวข้องกับเสื้อแดงถูกจับกุมหรือเรียกตัวมากที่สุดคือ 396 คน รองลงมาคือนักวิชาการและนักกิจกรรม 142 คน และประชาชนผู้ชุมนุมโดยสงบ 98 คน
 
ในทางคดีพบว่า มีการดำเนินคดีกับประชาชน อย่างน้อย 87 คดี ถูกดำเนินคดีในศาลทหาร 61 คน ในศาลยุติธรรม 26 คน ในจำนวนนี้แบ่งเป็นคดีเกี่ยวกับการไม่ไปรายงานตัว 10 คดี คดีเกี่ยวกับอาวุธ 42 คดี คดีเกี่ยวกับการชุมนุมโดยสงบ 47 คดี เป็นคดีตามมาตรา 112 จำนวน 14 คดี อื่นๆอีก 10 คดี
 
จากการทำงานของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในการรับเรื่องร้องเรียนหรือทำการตรวจสอบหรือให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย ทั้งที่เป็นคดีและไม่เป็นคดี อย่างน้อยกว่า 80 กรณี พบว่ามีกรณีที่น่าสนใจใน 3 ประเด็น คือเรื่องสิทธิในกระบวนการยุติธรรม สิทธิในชีวิตร่างกาย และเสรีภาพในการแสดงออก
 
ในประเด็นสิทธิในกระบวนการยุติธรรม พบว่า การใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก กักตัวบุคคล 7 คน นำไปสู่กระบวนการที่ไม่ชอบ เช่น ไม่มีซักกรณีเดียวที่มีการเปิดเผยสถานที่คุมขังระหว่างการกักตัว เกือบทุกกรณี ผู้ถูกกักตัวจะถูกปฏิเสธสิทธิในการพบญาติ ปรึกษาทนายความหรือติดต่อกับโลกภายนอก มีอย่างน้อย 2 กรณีที่มีการกักตัวเกิน 7 วัน ในด้านสิทธิการประกันตัว พบว่า คดีที่เกี่ยวกับอาวุธสงครามและคดีความผิดตามมาตรา 112 โดยมากจะไม่ได้รับการประกันตัว ส่วนคดีที่เกี่ยวกับการชุมนุมโดยสงบ การไม่ไปรายงานตัว ศาลจะให้ประกันตัวในเกือบทุกกรณี ในส่วนผลของคำพิพากษา หากเป็นคดีชุมนุม ศาลจะพิพากษาให้ชำระค่าปรับและรอลงอาญา
 
ในประเด็นสิทธิในชีวิตและร่างกาย พบว่า ในคดีที่เกี่ยวข้องกับการครอบครองอาวุธสงคราม มีอย่างน้อย 14 กรณี ที่มีการซ้อมทรมาน ทั้งการทำร้ายร่างกายและพูดจาข่มขู่ เพื่อให้ผู้ถูกกักตัวให้การซัดทอดหรือรับสารภาพว่าได้เคยทำการก่อเหตุความไม่สงบในจุดต่างๆ ในช่วงการชุมนุมใหญ่ที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่แล้วผู้ถูกจับกุมหรือกักตัวเป็นคนเสื้อแดง โดยเฉพาะการ์ดเสื้อแดง
 
ในประเด็นเสรีภาพในการแสดงออก ในกรณีตามมาตรา 112 มีการดำเนินคดีอย่างน้อย 14 คดี เกือบทุกคดีเป็นการเร่งรัดหรือรื้อฟื้นคดีเก่าที่เคยมีการแจ้งความไว้ก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ซึ่งเกือบทุกคดีเกิดจากการแสดงออกโดยสันติของประชาชน เช่น การแต่งบทกวี การแสดงละคร ผู้ต้องหาเกือบทุกคดีไม่ได้รับการประกันตัว
 
ข้อห่วงกังวลประการสำคัญ 1. ที่ผ่านมามีอย่างน้อย 2 คดีที่มีการโอนคดีจากศาลยุติธรรมไปที่ศาลทหาร ทั้งสองคดีเป็นคดี 112 และเกี่ยวข้องกับอินเตอร์เน็ต โดยอ้างว่าความผิดยังคงปรากฏต่อเนื่องอยู่ ซึ่งหากใช้หลักเกณฑ์นี้จะทำให้คดีอีกอย่างน้อย 6 คดี โอนไปที่ศาลทหาร ซึ่งยังข้อสงสัยเรื่องความเป็นอิสระและความเชี่ยวชาญของศาล 2. การซ้อมทรมาน ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ได้ปฏิเสธมาตลอดว่ามีกรณีดังกล่าวเกิดขึ้น และมีการดำเนินคดีกับผู้ที่ให้ข่าวว่ามีการซ้อมทรมาน โดยละเลยกระบวนการตรวจสอบค้นหาความจริง
 
แนวโน้มต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เห็นว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติจะไม่มีท่าทีในการยกเลิกกฎอัยการศึก ผู้ที่ถูกจับกุมข้อหาครอบครองอาวุธและ 112 จะไม่ได้รับการประกันตัว  ใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษในการจัดการกับผู้ที่แสดงออกทางการเมือง มีการดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุม และใช้กฎหมายอาญา มาตรา 112 มากขึ้น และอาจมมีการใช้อำนาจพิเศษ ตามมาตรา 44 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ในการดำเนินการต่าง โดยขาดการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจ
 
ข้อเรียกร้องจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น คณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีกระบวนการตรวจสอบค้นหาความจริงในประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ยกเลิกการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก ไม่จับกุมคุมขังบุคคลโดยใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก ไม่นำพลเรือนขึ้นศาลทหาร และยกเลิกการใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร

สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ร้อง สตง.-ปปช.สอบไมค์ทำเนียบแพง


8 ก.ย.2557 เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ส่งหนังสือร้องเรียนให้ตรวจสอบกระบวนการจัดซื้อจัดหาไมโครโฟนและปรับปรุงภูมิทัศน์ทำเนียบรัฐบาลต่อผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ด้าน ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ย้ำไม่มีการทุจริตอย่างแน่นอน
ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า สมาคมฯ ได้ส่งจดหมายด่วนถึงผู้ว่า  สตง. และ ปปช. เพื่อให้ไต่สวนและตรวจสอบกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างการปรับปรุงภูมิทัศน์และตกแต่งอาคารทำเนียบรัฐบาลภายใต้งบประมาณ 252 ล้านบาท โดยมี ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้บริหารสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ
ศรีสุวรรณกล่าวว่า การปรับปรุงภูมิทัศน์และตกแต่งอาคารทำเนียบรัฐบาลนั้นดำเนินการเร่งรีบจนเกินเหตุ โดยเฉพาะการจัดหาระบบเครื่องเสียงและไมโครโฟนในห้องประชุมคณะรัฐมนตรีและห้องประชุมต่างๆ โดยว่าจ้างให้บริษัทเอกชนมาดำเนินการซึ่งราคาตัวละกว่า 145,000 บาท ถือว่าแพงเกินเหตุ ทั้งๆ ที่ราคาโฆษณาขายในท้องตลาดในโซเชียลมีเดียของบริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์ตั้งราคาขายเพียง 6 หมื่นบาทเศษ
ศรีสุวรรณ กล่าวต่อไปว่า การจัดซื้อไมโครโฟนในขณะนี้นอกจากจะยังไม่มีความจำเป็น เนื่องจากเครื่องเสียงและไมโครโฟนที่มีอยู่เดิมยังใช้งานได้อยู่ จึงเป็นการขัดต่อหลักความพอเพียงและความประหยัดที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.และนายกรัฐมนตรี พูดมาโดยตลอด ทั้งยังเป็นการดำเนินการที่ขัดต่อหมวด 2 แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ประกอบมาตรา 103/7 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2550  (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 และเรื่องดังกล่าวจะถือว่าเป็นความผิดสำเร็จทันทีที่คณะรัฐมนตรีได้ใช้เครื่องเสียงและไมโครโฟนดังกล่าวในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 9 กันยายนนี้  ทางสมาคมฯ จึงต้องร้องเรียนให้ สตง.และ ปปช.ตรวจสอบและเอาผิดบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาลงโทษตามกฎหมาย
เว็บไซต์ข่าวสดออนไลน์ รายงานว่า วันนี้ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบรัฐบาล ถึงการตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และไมโครโฟนห้องประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) 501 ตึกบัญชาการ 1 ที่มีราคาสูง
ม.ล.ปนัดดา กล่าวว่า รายละเอียดเรื่องเทคโนโลยีภายในห้องประชุม ครม.นั้น ทางอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นผู้ดูแลและยังไม่ได้ลงนามในสัญญาจัดซื้อตามที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกต เพราะกรมโยธาฯ คงจะดูความเหมาะสม ทั้งนี้เชื่อว่าเมื่อทุกอย่างเรียบร้อย ทางอธิบดีกรมโยธาฯ จะมีคำชี้แจงให้รับทราบโดยเร็วต่อไป เพราะหากปล่อยไว้นานจะกลายเป็นประเด็นทางการเมืองและทำให้เกิดความไม่เข้าใจ
“ใครจะไปกล้าทุจริตคดโกง เพราะคนเกรงใจนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ห้องทั้งหลายที่ผมพาคณะสื่อบางแขนงไปชมนั้น อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ที่มีทุกอาคารในทำเนียบฯ ทุกภาคส่วนที่ใช้ต้องใช้การได้ดี ได้มาโปร่งใส อยู่ได้นาน และบริษัทที่เข้ามาดูแลพูดกับอธิบดีกรมโยธาฯ ก็บอกว่าเป็นเกียรติที่ได้มาดูแลพื้นที่ที่สำคัญของชาติและเป็นมรดกของแผ่นดิน ไม่มีใครทุจริตคดโกง ผมมองว่านอกจากพระบรมมหาราชวังและวัดพระแก้วแล้ว ก็มีที่ทำเนียบฯ ที่จะเป็นความภาคภูมิใจให้ลูกหลาน ดังนั้นข้าราชการไม่กล้าที่จะทำอะไรที่ดูหมิ่นตนเองหรือทำให้เกิดการฉ้อราษฎร์บังหลวง จึงไม่อยากให้โยงเรื่องนี้มาเป็นเรื่องการเมือง” ม.ล.ปนัดดา กล่าว
ม.ล.ปนัดดา กล่าวด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับปัญหาการคอร์รัปชั่นเป็นอันดับแรก เพราะปัญหาที่ผ่านมาคือการใช้จ่ายสุดโต่ง ซึ่งหากประหยัดได้ 30 เปอร์เซ็นต์จะเกิดความเจริญขึ้นอย่างมาก การตรวจสอบของสื่อก็เป็นการช่วยสะท้อนการทำงาน ทั้งนี้ได้มีการเผยแพร่รายละเอียดของการใช้งบประมาณซ่อมแซมทำเนียบฯ ไปบ้างแล้วว่าต่ำกว่าที่กำหนดไว้ตั้งแต่แรกและจะให้สื่อมวลชนได้ดูอย่างแน่นอน เพราะไม่ใช่เรื่องที่เป็นความลับ และขอย้ำว่าการซ่อมแซมทำเนียบฯ ครั้งนี้ไม่มีการทุจริตอย่างแน่นอน

'ธรรมศาสตร์เสรีฯ' แจงข้อเท็จจริงกรณี “ไม่ได้สอนเด็กวัด”

8 ก.ย.2557 จากกรณีมีข้อโต้แย้งระหว่างอาจารย์วิชา TU 130 ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับนักศึกษากลุ่มหนึ่ง เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD) ออกแถลงการณ์ "ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณี “ไม่ได้สอนเด็กวัด” ในวิชาสหวิทยาการวิทยาศาสตร์ (TU130)" รายละเอียดมีดังนี้
 
แถลงการณ์กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD)
เรื่อง ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณี “ไม่ได้สอนเด็กวัด” ในวิชาสหวิทยาการวิทยาศาสตร์ (TU130)
สืบเนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าว ได้มีการทำกิจกรรมประท้วงโดยการติดป้ายที่โถงอาคารเรียนรวมสังคมศาสตร์ (SC) ส่วนคลิปวิดีโอที่บันทึกเหตุการณ์ก็ถูกเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งในเวลาต่อมาได้เกิดการโต้แย้งว่า ป้ายที่ติดประท้วงนั้นไม่ได้เขียนข้อความคำพูดของอาจารย์อย่างถูกต้อง และคลิปวิดีโอที่ถูกเผยแพร่นั้นมีการดูดเสียงที่นักศึกษาพูดคำหยาบคายออกไป อีกทั้งมีการเผยแพร่เทปเสียงในช่วงที่อาจารย์ได้อธิบายคำพูดของตัวเองเพิ่มมาอีกด้วย จึงเกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ
กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD) มีความเห็นว่าการจะหาข้อสรุปของความขัดแย้งได้นั้นจำเป็นจะต้องมีข้อเท็จจริงที่ชัดเจนไว้สำหรับการอ้างอิงด้วย ซึ่ง LLTD เห็นว่าในเวลานี้พยานหลักฐานเท่าที่ปรากฏสู่สาธารณะอันได้แก่คลิปวิดีโอและเทปเสียงนั้นยังไม่ได้ให้ข้อมูลของเหตุการณ์อย่างครบถ้วน LLTD จึงขอชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ผ่านคำให้การของนักศึกษาผู้ถ่ายคลิปเหตุการณ์ในวันนั้น ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกของ LLTD ด้วยเช่นกัน (ต่อจากนี้จะขอเรียกว่า N) โดยจะบอกเล่าสิ่งที่ได้เห็นร่วมกับนักศึกษาคนอื่นในห้องอีกหลายร้อยชีวิตตั้งแต่ต้นจนจบ
คาบเรียนที่เกิดเหตุเป็นคาบเรียนช่วงบ่ายวันพฤหัสบดี โดยเริ่มคาบในเวลา 13.00 น. และมีการแจกกระดาษคำตอบ (ที่ต้องใช้ตอบคำถามท้ายคาบ) ภายในเวลา 13.00-13.20 น. เท่านั้น ในขณะที่นักศึกษาหลายคนเรียนเสร็จเวลา 12.30 น. และเรียนอยู่ที่อาคาร SC ซึ่งอยู่ห่างจากห้องที่เรียน TU130 มาก (รวมทั้ง N ด้วย) นักศึกษาบางคนจึงมาต่อแถวรับกระดาษคำตอบ มาจองที่นั่งไว้ก่อนแล้วจึงออกไปทานอาหาร บางคนก็นั่งรอให้โรงอาหารมีคนน้อยจึงค่อยไป นักศึกษากลุ่มที่เดินออกจากห้องก็ต้องเดินสวนกับกลุ่มที่เดินเข้ามาบริเวณประตูทางเข้าออกซึ่งเปิดเพียงทางเดียว (และยังเป็นจุดแจกกระดาษคำตอบอีกด้วย) จึงเกิดความชุลมุนขึ้น
อาจารย์ซึ่งอยู่ในห้องนั้นเองก็ตะโกนออกมาว่า “หุบปาก” นักศึกษาก็เงียบเสียงไป แล้วอาจารย์จึงเริ่มสอน แต่เมื่อมีนักศึกษาเข้ามาเพิ่มก็เริ่มมีเสียงดังขึ้นอีก อาจารย์ก็ตะโกนว่าหุบปากอีกครั้ง แล้วกล่าวว่าจะออกข้อสอบให้เซคชั่นนี้ยากๆ
จากนั้นมีนักศึกษาชายกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งเข้ามา แล้วไปนั่งรวมกันบริเวณทางเดินขึ้นลงฝั่งริมสุด อาจารย์จึงตะโกนต่อว่านักศึกษากลุ่มนั้นว่า “ไปนั่งที่พื้นทำไม ที่นั่งข้างหน้ามีทำไมไม่นั่ง (จริงๆ ที่นั่งตรงนั้นถูกจองไว้แล้ว) ที่นี่มหาวิทยาลัยไม่ใช่โรงเรียนชนบท ไม่ใช่โรงเรียนวัด” เริ่มมีเสียงนักศึกษาตอบกลับว่า “โรงเรียนวัดแล้วไงวะ กูจบโรงเรียนวัดมา”
อาจารย์ด่าต่อไปว่า “มหาวิทยาลัยนี้มันเฮงซวยมากใช่มั้ย ถึงไม่ยอมนั่งถึงนั่งที่พื้นกัน” (ซึ่งตอนนั้นที่นั่งเต็มจริงๆ) นักศึกษาก็โห่กลับ บอกว่าใช่ จากตรงช่วงนี้ N ก็เริ่มถ่ายคลิป [1]
ในคลิปจะได้ยินอาจารย์กล่าวว่า “ไม่ได้สอนเด็กวัด” ซึ่งไม่ตรงกับในป้ายติดประท้วงที่เขียนว่า “ไม่สอนเด็กวัด” จนกลายเป็นประเด็นโจมตีว่านักศึกษาจงใจตัดคำออกเพื่อหวังผลในการสร้างกระแส ในข้อนี้เนื่องจาก LLTD ไม่ได้เป็นผู้ติดป้ายดังกล่าวจึงไม่สามารถชี้แจงได้ว่าเป็นความตั้งใจหรือว่าผิดพลาด
และคลิปที่ได้อ้างอิงไว้นี้เป็นคลิปที่ N อัปโหลดลงใน Youtube ในวันเดียวกันนั้นเอง ซึ่งในคลิปจะปรากฏถ้อยคำที่นักศึกษาสบถออกมาว่า “ไอ้เหี้ย” อยู่ด้วย LLTD จึงขอชี้แจงในข้อนี้ว่า N ไม่ได้เป็นผู้ที่ดูดเสียงในคลิปออกไป และไม่ได้จงใจปกปิดคลิปที่ไม่ได้ดูดเสียง
หลังจากคลิปจบ อาจารย์จึงเริ่มสงบสติอารมณ์ หันไปคุยกับผู้หญิงผมสั้นหยิกคนหนึ่ง (ไม่ทราบว่าเป็นใคร) ที่ข้างเวที แล้วจึงมากล่าวอธิบายการกระทำของตัวเองด้วยน้ำเสียงสงบไม่เกรี้ยวกราด ดังที่ปรากฏในเทปเสียงนั่นเอง[2]
จึงเรียนมาเพื่อทราบและโปรดพิจารณา
กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD)
8 กันยายน 2557

ช่อง 3 ฟ้อง กสทช.สุภิญญา พ.ร.บ.คอมฯ-หมิ่นประมาท-ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ



8 ก.ย.2557 รายการเรื่องเล่าเช้านี้ ทวีตข่าวระบุว่า ทีมทนาย บ.บางกอกเอนเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด หรือช่อง 3 เข้ายื่นหนังสือแจ้งการยื่นฟ้องคดี กสท. 3 คน ประกอบด้วย สุภิญญา กลางณรงค์ 3 ข้อหาคือ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หมิ่นประมาท และ กระทำผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ส่วนนายธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ และ พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ ฟ้องในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
โดยนายสมบัติ ลีลาพตะ รองเลขาฯ กสทช. เป็นผู้รับหนังสือ และกล่าวว่าจะนำเรื่องนี้เข้าสู่การประชุมบอร์ด กสท. ในเช้าวันนี้ เพื่อประกอบการพิจารณากรณีของช่อง 3 อะนาล็อก
ทวิตเตอร์ของรายการเรื่องเล่าเช้านี้ ระบุด้วยว่า ทีมทนายของช่อง 3 ยืนยันว่า การฟ้องร้องไม่ได้มีมูลเหตุจากความขัดแย้งระหว่าง กสท.และช่อง 3 แต่เป็นการยื่นฟ้องเพื่อรักษาสิทธิตามกฎหมายเท่านั้น
 
วันเดียวกัน ตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภค เครือข่ายสื่อครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ ร่วมมอบดอกไม้และให้กำลังใจ แก่ 3 กสท. ที่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี โดย สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวสั้นๆ ว่า การยื่นดอกไม้วันนี้เพื่อต้องการให้กำลังใจกับการทำหน้าที่ขององค์กรกำกับดูแลที่ปกป้องผลประโยชน์ผู้บริโภค ซึ่งเราในฐานะลูกค้าช่อง 3 ไม่อยากให้ช่อง 3 ฟ้อง กสท.ทั้ง 3 คน และอยากให้ช่อง 3 ทำเหมือนช่อง 7 น่าจะทำให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์ด้วย

วิจัยพบ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ถูกใช้ผิดเจตนารมณ์
ก่อนหน้านี้ ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ออกรายงาน"พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(1) ยาแรงผิดขนานสำหรับการหมิ่นประมาทออนไลน์" โดยระบุว่า จุดประสงค์แรกเริ่มของการออกกฎหมายมาตรานี้ เพื่อป้องกันและปราบปรามการปลอมแปลงข้อมูลคอมพิวเตอร์ เช่น การปลอมหน้าเว็บไซต์ให้ผู้ใช้เข้าใจผิดเพื่อขโมยข้อมูลของผู้ใช้ หรือที่เรียกว่า Phishing แต่จากสถิติกลับพบว่ามาตรา 14(1) ถูกนำมาใช้ดำเนินคดีกับเรื่องการหมิ่นประมาทเป็นส่วนมาก ทำให้เกิดคำถามว่า การบังคับใช้มาตรา 14(1) กับการหมิ่นประมาทในโลกออนไลน์ เป็นการบังคับใช้กฎหมายที่ถูกต้องตามเจตนารมณ์แล้วหรือไม่
โดยศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ ระบุว่า ผลกระทบของการใช้มาตรา 14(1) ในฐานความผิดหมิ่นประมาท ประกอบด้วย

1. เป็นการบังคับใช้กฎหมายที่ซ้ำซ้อน เนื่องจากความผิดฐานหมิ่นประมาทมีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญาอยู่แล้ว แม้จะเป็นการกระทำบนอินเทอร์เน็ต ก็มีความผิดหมิ่นฐานประมาทโดยการโฆษณาอยู่แล้ว ทำให้เกิดความสับสนในการตีความการบังคับใช้กฎหมาย และทำให้คดีความรกโรงรกศาล

2. อัตราโทษที่สูง ความผิดตามมาตรา 14(1) มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท ขณะที่ความผิดฐานหมิ่นประมาทมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท ความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณามีอัตราโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท เมื่อนำพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) มาใช้ฟ้องร้องในประเด็นการหมิ่นประมาทจึงทำให้จำเลยต้องแบกรับอัตราโทษที่หนักขึ้น

3. ยอมความไม่ได้ คดีหมิ่นประมาทเป็นความผิดต่อส่วนตัว คดีจำนวนไม่น้อยเมื่อขึ้นสู่ชั้นศาลแล้วสามารถตกลงชดใช้ค่าเสียหาย หรือกล่าวขอโทษกัน ก็ทำให้คดีความจบกันไปได้ แต่ความผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) ไม่ใช่ความผิดที่ยอมความได้ แม้ผู้เสียหายกับจำเลยตกลงกันได้จนคดีหมิ่นประมาทจบลงแล้ว ความผิดตามมาตรา 14(1) ก็ยังต้องดำเนินคดีต่อไป ส่งผลกระทบต่อตัวจำเลยและทำให้คดีรกโรงรกศาลโดยไม่จำเป็น

4. ไม่มีหลักเรื่องความสุจริตหรือประโยชน์สาธารณะ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 329-330 การหมิ่นประมาทที่กระทำไปโดยการติชมด้วยความสุจริต หรือการวิพากษ์วิจารณ์ที่เป็นประโยชน์สาธารณะ เป็นเหตุยกเว้นความผิดและยกเว้นโทษได้ แต่ความผิดตามมาตรา 14(1) แม้เป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะก็ตาม ก็ไม่สามารถอ้างเหตุเหล่านี้ขึ้นต่อสู้คดีได้

5. คุกคามเสรีภาพสื่อ เนื่องจากปัจจุบันมีสื่อออนไลน์เกิดขึ้นมาก แม้แต่สื่อกระแสหลักก็พัฒนาช่องทางออนไลน์ให้เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการสื่อสาร เมื่อมีคดีความหมิ่นประมาทเกิดขึ้น มาตรา 14(1) ก็มักถูกฟ้องพ่วงเข้าไปด้วย ซึ่งเพิ่มภาระของสื่อหรือผู้ถูกกล่าวหาในการสู้คดี และปัจจุบันแนวโน้มการฟ้องร้องสื่อ ด้วยมาตรา 14(1) ก็มีสูงขึ้น กระทบต่อการบรรยากาศการใช้เสรีภาพในสังคม

ที่มา: ทวิตเตอร์ @MorningNewsTV3 123456ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ iLaw

ศาลอาญานัดตรวจพยาน "พันธมิตรฯ" ปิดสนามบิน


8 ก.ย. 2557 สปริงนิวส์ รายงานว่า นายสุวัฒน์ อภัยภักดิ์ ทนายความกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้เดินทางมายังศาลอาญา รัชดา หลังจากศาลนัดตรวจพยานหลักฐานในคดีที่ พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญาเก้า เป็นโจทก์ฟ้อง พล.ต.จำลอง ศรีเอง กับพวกจำนวน 9 คน เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันก่อการร้าย เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อกฎหมายแผ่นดิน หรือ รัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจ หรือใช้กำลังข่มขืนใจ หรือใช้กำลังประทุษร้าย หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน มั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง จากกรณีที่พวกจำเลยได้นำมวลชนบุกเข้าไปในสนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิเมื่อปี 2551 
 
ทั้งนี้ วันนี้ (8 ก.ย. 57) นายสุวัฒน์เดินทางมาร่วมตรวจเอกสารหลักฐานระหว่างอัยการกับทนาย ซึ่งตัวจำเลยนั้นไม่จำเป็นต้องมาศาล พร้อมยื่นคำร้องต่อศาลให้จำหน่ายคดีเฉพาะของนายสุทธิ อัชฌาศัย นักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมจังหวัดระยอง ที่ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 16 ก.ค. ที่ผ่านมา ออกจากสาระบบด้วย