วันเสาร์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2555


"สัก กอแสงเรือง" รูรั่วบนเขื่อน "ตุลาการภิวัฒน์" สะเทือน
"สัก กอแสงเรือง" รูรั่วบนเขื่อน "ตุลาการภิวัฒน์" สะเทือน
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1648 หน้า 11

             ไม่มีใครนึกว่า "สัก กอแสงเรือง" จะตายน้ำตื้น ด้วยฝีมือของนักขุดคุ้ยคนเก่า นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตวุฒิสมาชิกจากระบบสรรหา

              นายเรืองไกร ยื่นคัดค้านว่าการสรรหามีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 115(9) เนื่องจากไม่พ้นจากผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่เกิน 5 ปี

               นายสักได้รับเลือกตั้งเป็น สว. ครั้งแรก ตามรัฐธรรมนูญปี 2540 เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2543 เข้ารับการแต่งตั้งวันที่ 22 มีนาคม 2543
               ส.ว. มีวาระ 6 ปี
               ดังนั้น นายสัก ต้องครบกำหนดวันที่ 21 มีนาคม 2549
               ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 อดีต ส.ว. ที่ใช้สิทธิ์สมัคร ส.ว.ชุดใหม่ได้ จะต้องพ้นจากสมาชิกภาพแล้ว 5 ปี ซึ่งหมายถึงภายหลังวันที่ 21 มีนาคม 2554

               แต่สภาทนายความกลับเสนอชื่อนายสักเข้าสรรหาในวันที่ 6 มีนาคม 2554 ก่อน 5 ปี ตามข้อบังคับของรัฐธรรมนูญปี 2550

               คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติให้เพิกถอนการสรรหา และเตรียมส่งเรื่องของนายสักให้ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งวินิจฉัย

              "สัก" นั้น เป็นนายกสมาคมทนายความหลายสมัย และเป็นคนหนึ่งที่ต่อสู้กับ "ระบอบทักษิณ" มาโดยตลอด เขาได้รับการแต่งตั้งจาก คมช. ให้เป็นคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ที่พิจารณาคดีของ "ทักษิณ" และพวก
               ดังนั้น การวินิจฉัยผิดพลาดว่าตนเองมีสิทธิได้รับการสรรหา ของ "สัก" ส่งผลอย่างแรงทั้งต่อความน่าเชื่อถือของนายสัก และกลายเป็นประเด็นให้พรรคเพื่อไทยออกมาเล่นงานด้วย "บัญญัติไตรยางศ์" ของ "ความน่าเชื่อถือ"

                เพราะถ้าเรื่องแค่นี้ "สัก" ยังผิดพลาด

                การใช้อำนาจของ คตส. จะ "น่าเชื่อถือ" ได้อย่างไร 


               ผลสะเทือนครั้งนี้จึงใหญ่หลวงนัก 
 
เพราะไม่จำกัดวงแค่นายสัก และ คตส. เท่านั้น หากแต่ยังสะเทือนถึงสภาทนายความ ซึ่งเป็นองค์กรของนักกฎหมาย และสะเทือนถึงคณะกรรมการสรรหา "6 อรหันต์" ซึ่งประกอบด้วย

            1. นายชัช ชลวร ประธานศาลรัฐธรรมนูญ
            2. นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง
            3. นายปราโมทย์ โชติมงคล ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน
            4. นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
            5. นายมนตรี ศรีเอี่ยมสะอาด ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา ซึ่งเป็นผู้ที่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามอบหมาย และ
            6. นายเกษม คมสัตย์ธรรม รองประธานศาลปกครองสูงสุด ซึ่งเป็นผู้ที่ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดมอบหมาย

               กรณี "สัก" จึงกลายเป็น "บ่อน้ำมัน" ให้พรรคเพื่อไทยไล่ถล่มเพื่อทำลาย "ความน่าเชื่อถือ" ของกระบวนการ "ตุลาการภิวัฒน์" เพื่อสร้างความชอบธรรมให้ "ทักษิณ"

               การไล่ล่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในช่วงที่ผ่านมา ดำเนินการผ่าน 2 กระบวนการสำคัญ
               กระบวนการหนึ่ง คือ การรัฐประหารโดยกองทัพ
               กระบวนการหนึ่ง คือ ตุลาการภิวัฒน์

               ล้ม "ทักษิณ" ครั้งแรก ใช้อำนาจจาก "กองทัพ"
               ล้ม "สมัคร สุนทรเวช" และ "สมชาย วงศ์สวัสดิ์" ใช้กระบวนการ
"ตุลาการภิวัฒน์"


               ก่อนการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 "ทักษิณ" ถูกโจมตีอย่างหนักว่าแทรกแซง "องค์กรอิสระ"
               แต่หลังการรัฐประหาร ดูเหมือนว่า "องค์กรอิสระ" จะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการจัดการกับ "ทักษิณ" และพรรคการเมืองของ "ทักษิณ" พร้อมทั้งกระบวนการ "ตุลาการภิวัฒน์"

               แต่สุดท้าย เมื่อเข้าสู่สนามเลือกตั้ง ประชาชนส่วนใหญ่ก็เทคะแนนให้กับพรรคของ "ทักษิณ"
               ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้การจัดการ "ทักษิณ" ยากยิ่งขึ้น

               แม้จะมีสัญญาณปรองดองเกิดขึ้นแล้ว แต่พรรคเพื่อไทย ก็ยังจับตา 2 กลไกเดิมที่เคยเป็นเครื่องมือจัดการกับรัฐบาลพรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชน เพราะเกรงว่าประวัติศาสตร์จะซ้ำรอย

               ในขณะที่ 2 กลไกเดิม ไม่มีการขับเคลื่อน แต่ "กลไกใหม่" กลับขยับ "ผู้ตรวจการแผ่นดิน"

               ผู้ตรวจการแผ่นดิน มี 3 คน คือ 1.นางผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี 2.นายศรีราชา เจริญพานิช กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 50 และ 3.นายประวิช รัตนเพียร อดีตรัฐมนตรีหลายสมัย

               ก้าวแรก ที่ "ผู้ตรวจการแผ่นดิน" ขยับ คือการตั้งคณะที่ปรึกษาเพื่อเสนอแนะในประเด็นที่ควรจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ
               ตั้งขึ้นมาในช่วงที่รัฐบาลยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาตรา 291 เพื่อเปิดทางให้มี ส.ส.ร.จากการเลือกตั้งเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญ

               คณะกรรมการ 10 คน ประกอบด้วย 1.ศ.นรนิติ เศรษฐบุตร 2.ศ.วิษณุ เครืองาม 3.ศ.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ 4.ศ.สุรพล นิติไกรพจน์ 5.ศ.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ 6.ศ.ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ 7.ศ.ศุภชัย เยาวะประภาษ 8. ศ.จรัส สุวรรณมาลา 9.ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล และ10.รศ.กิตติศักดิ์ ปรกติ
               เห็นรายชื่อปั๊บ พรรคเพื่อไทยก็เกิดอาการระแวงทันที เพราะส่วนใหญ่ล้วนแต่เป็น "กลุ่มอำนาจเก่า"

                และยิ่งผู้ตรวจการแผ่นดิน มีมติในเรื่องการแต่งตั้ง นางนลิณี ทวีสิน และ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เป็นรัฐมนตรี ว่ามีปัญหาด้าน "จริยธรรมเบื้องลึก"

                ยิ่งทำให้ "ผู้ตรวจการแผ่นดิน" ถูกจับตามองมากขึ้น ว่าเป็น "กลไก" ใหม่สำหรับภารกิจใหม่ แต่เป้าหมายเดิมหรือเปล่า

                ซึ่งหากเป็นจริง ย่อมหมายความว่าการปรองดองที่มีการส่งสัญญาณขึ้นมานั้นยังไม่ตกผลึก

                เพราะทั้ง 2 ฝ่าย ต่างระแวงซึ่งกันและกัน

                การชุมนุม "คนเสื้อแดง" ที่เขาใหญ่ ก็คือการส่งสัญญาณควันให้อีกฝั่งหนึ่งรู้ว่ากองกำลังมวลชนนั้นยังมีอยู่จริง
                ส่วนการขยับตัวของ "ผู้ตรวจการแผ่นดิน" ก็คือการกระทืบเท้าขู่ของอีกฝั่งหนึ่ง เพื่อให้รู้ว่า "อาวุธ" ของฝ่ายตนนั้นมีพลานุภาพแค่ไหน
                 แต่ "องค์กรอิสระ" หรือ "ตุลาการภิวัฒน์" นั้น ประสิทธิภาพของ "อาวุธ" ชนิดนี้ขึ้นอยู่กับ "ความน่าเชื่อถือ"
                ดังนั้น มติ กกต. ที่เพิกถอนสิทธิ์ของ "สัก" จึงเป็นปรากฏการณ์ที่เหนือความคาดหมาย
                และสั่นคลอน "ความน่าเชื่อถือ" ขององค์กรอิสระ และ "ตุลาการภิวัฒน์" ครั้งใหญ่

                เหมือน "เขื่อน" ขนาดใหญ่ ที่อาจพังทลายได้จาก "รูรั่ว" เล็กๆ
                
และ "สัก" อาจเป็น "รูรั่ว" รูนั้น
http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น