อนาคตของ 6 ตุลา 2519 | |||||||||||||
อนาคตของ 6 ตุลา 2519
1. 6 ตุลา ยังมีอนาคต? หัวข้อที่ได้รับมอบหมายให้นำเสนอในวาระ 32 ปี 6 ตุลา ในปี 2551 นี้ ทำให้ผมรู้สึกประหลาดใจอย่างทันทีเมื่อได้รับการทาบทามให้มาเป็นผู้นำเสนอหลัก โดยความรู้สึกนั้นมีเป็น 2 แนวทางด้วยกัน ความรู้สึกแรก คือการที่ฝ่ายคณะกรรมการจัดงาน 6 ตุลา คิดหัวข้อ "อนาคตของ 6 ตุลา 2519" ขึ้นมานั้น ในฐานะที่ผมศึกษามาทางด้านประวัติศาสตร์ ก็คิดในแง่บวกว่าฝ่ายคณะกรรมการจัดงานประสงค์ที่จะประเมินสถานะทางประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์ 6 ตุลา เพื่อที่จะประมวลและกำหนดแนวทางในการดำเนินงานต่อไปในแผน 5 ปี หรือ 10 ปีของกลุ่มคนรุ่น 6 ตุลา แต่เมื่อหวนรำลึกว่า คนรุ่น 6 ตุลานี้ต่างเป็นนักวางแผนยุทธศาสตร์และยุทธวิธีที่ชำนาญการอย่างยิ่ง แม้กระทั่งในวงการธุรกิจการค้าและการเมืองก็สามารถบรรลุความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยม ดังนั้น กลุ่มคนรุ่น 6 ตุลา นี้ก็ย่อมมีความสามารถอย่างยิ่งที่จะประเมินสถานะของ 6 ตุลาด้วยพวกเขาเอง ในสภาพการณ์ของสังคมไทยในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี ดังจะเห็นได้จากความสำเร็จตามที่มุ่งหวังในรอบทศวรรษที่ผ่านมาที่สามารถผลักดัน "อนุสรณ์สถาน" ในรูปประติมากรรม "6 ตุลา 2519" ให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของประติมากรรมชุดกำแพงประวัติศาสตร์ของธรรมศาสตร์ที่บริเวณหน้าหอประชุมใหญ่ (อดิศร พวงชมภู, "25 ปี 6 ตุลาของอะไร," ใน 25 ปี 6 ตุลา ในบริบทสังคมไทย, สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ บรรณาธิการ (กรุงเทพฯ: สนพ. 6 ตุลา รำลึก, 2546), หน้า 82-85.) และสามารถที่จะประกาศ "พิธีกรรมรำลึก" ผ่านข่าวสารในหน้าหนึ่งของสื่อหนังสือพิมพ์ได้ทุกปี ความรู้สึกที่สองและแรงกว่า คือ เกิดปัญหาบางประการทั้งทางความคิดและความเชื่อในกลุ่มคนรุ่น 6 ตุลาในบริบทของสังคมการเมืองปัจจุบัน อันส่งผลให้เกิดความหวั่นไหวต่ออนาคตของสถานทางประวัติศาสตร์ 6 ตุลา แม้ว่าโดยข้อเท็จจริง 6 ตุลา นั้นเป็นเรื่องทางประวัติศาสตร์ ที่ไม่ว่าอย่างไรมันก็ต้องเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ชาติไทยอยู่วันยังค่ำ ไม่ว่าจะมีกลุ่มคนรุ่น 6 ตุลาอยู่หรือไม่ก็ตาม แต่ในด้านกลับกัน ประวัติศาสตร์ 6 ตุลา ก็อาจจะค่อยๆ สาบสูญ เสื่อมทรามไปจากความรับรู้ของคนรุ่นในอนาคต หรืออาจมีความทรงจำต่อประวัติศาสตร์6 ตุลา ที่บิดเบี้ยวได้มากยิ่งๆ ขึ้นไปได้ หากไม่มี"เจ้าภาพ" ที่เข้มแข็งพอ และหรือยังไม่อาจสร้างฐาน "ความรู้" และแรงจูงใจที่จะแสวงหาความรู้นี้ได้มากพอสำหรับคนรุ่นต่อไป บทบาทของบุคคลต่างๆ ในการเมืองไทยในวันนี้ อันเป็นยุค "หลังทักษิณ?-หลังขิงแก่?" ได้สะท้อนภาพให้เห็นที่อาจเป็นเสมือน "การล้างไพ่" ของคู่ตรงข้ามทางความเชื่ออุดมการณ์ของบุคคลที่มีส่วนข้องเกี่ยวกับ 6 ตุลา 2519 ดังปรากฏในคอลัมน์ "เรียงคนมาเป็นข่าว" โดย "วิหคเหินฟ้า" ที่ว่า อีก 2 วันจะถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2551 พล.ต.จำลอง ศรีเมือง-สมศักดิ์ โกศัยสุข-พิภพ ธงไชย 3 แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ยืนอยู่ฝั่งเดียวกันใน "ทำเนียบรัฐบาล" ประกาศหลักการ "การเมืองไทย" ที่เป็น "การสรรหา"มากกว่า "เลือกตั้ง" แต่ถ้าย้อนเวลากลับไป 32 ปี 6 ตุลาคม 2519 วันสังหารพิราบในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เชื่อไหมว่าวันนั้น "พล.ต.จำลอง" ยืนอยู่ฝั่งเดียวกับสมัคร สุนทรเวช คือ "ฝ่ายปราบ" ส่วน "พิภพ-สมศักดิ์" อยู่ฝั่ง"ผู้ถูกปราบ" เช่นเดียวกับ สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี-จาตุรนต์ ฉายแสง (วิหคเหินฟ้า, "เรียงคนมาเป็นข่าว," มติชน 4 ตุลาคม 2551: 4.) ตัวอย่างข้างต้นนี้ย่อมสะท้อนภาพได้อย่างดีว่า คนกลุ่มรุ่น 6 ตุลา ต่างก็สามารถเป็น "นักการเมืองที่ดี" ตามมาตรฐานของโลกการเมืองไทยที่เคยเป็นมา ทั้งเนื้อหาของ 6 ตุลา ที่เคยมุ่งหมายว่าจะเป็นเครื่องรั้งเหนี่ยวความรุนแรงในระดับต่างๆ ที่รัฐจะทำกับประชาชนไทยของตนให้ลดน้อยถอยลง กลับเป็นว่าในสถานการณ์ปัจจุบัน คนรุ่นนี้หลายคนกลับเป็นผู้ร่วมกระทำและร่วมชมความรุนแรงในหลากระดับด้วยตนเอง เหมือนภาพของเด็กน้อยผู้ยืนยิ้มที่ดูการทุบตีซากศพที่แขวนที่ต้นมะขามในครั้งนั้น นี้คือความรู้สึกที่สองที่ผมมีอยู่ และคำถามที่ตามมาอย่างชวนสงสัยคือ 6 ตุลา ยังมีอนาคตด้วยหรือ? 2. ช่องทางรับรู้เรื่อง 6 ตุลา ผมเริ่มตั้งคำถามว่า หากผมปรารถนาที่จะค้นคว้าหาข้อมูลเรื่อง 6 ตุลา ผมจะสามารถหาข้อมูลเหล่านี้ผ่านโลก WWW ได้มากน้อยเพียงใด ทั้งนี้ เวลาคนในสังคมกล่าวถึงเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์การเมือง มักจะกล่าวถึง 3 เหตุการณ์อย่างเป็นชุดเดียวกัน คือ เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 และเหตุการณ์พฤษภา 2535 ดังนั้น การศึกษาในที่นี้จะเป็นการพิจารณาแบบเปรียบเทียบ 6 ตุลา กับอีกสองเหตุการณ์ดังกล่าวไปอย่างพร้อมๆ กัน การสืบค้นข้อมูลจาก Google ให้ผลดังนี้
จากผลข้อมูล พบความน่าสนใจอย่างยิ่งว่า ฐานข้อมูลเรื่องของ 6 ตุลา มีมากเป็นอันดับที่ 1 คือ 7,540,000 รายการ ทั้งนี้ ก่อนเริ่มสืบค้น ผมเดาไว้เบื้องต้นว่าจำนวนรายการที่มากเป็นอันดับแรกน่าจะคือเรื่อง 14 ตุลา เพราะในวาระ 30 ปีครบรอบ 14 ตุลาเมื่อปี 2546 นั้น เหตุการณ์นี้ได้รับการสถาปนาโดยมติคณะรัฐมนตรี ประกาศยกย่องให้เป็น "วันประชาธิปไตย"ทั้งมีกิจกรรมต่างๆ มากมาย และยังมีอนุสรณ์สถานที่สี่แยกคอกวัวบนถนนราชดำเนินเป็นของตนเอง ซึ่งน่าจะทำให้รายงานและกิจกรรมต่างๆ พรั่งพรูเป็นฐานข้อมูลใน WWW นับแต่นั้นมา แต่กลับเป็นว่าเรื่องของ 6 ตุลา กลับมีมากกว่าเรื่องของ 14 ตุลา ถึง 2.23 ล้านรายการ และมากกว่าเรื่องของพฤษภา 35 ถึง 4.84 ล้านรายการ ดังนั้น อาจตั้งเป็นข้อสังเกตเบื้องต้นได้ว่า สังคมไทยให้ความใส่ใจต่อเรื่องของ 6 ตุลา เป็นอย่างยิ่ง ในแง่นี้ น่าจะแสดงให้เห็นว่า 6 ตุลา มีอนาคตในสถานะทางประวัติศาสตร์สังคมไทยอย่างแน่นอน 3. ความรู้เรื่อง 6 ตุลาของสังคมจากข้อมูลการสัมภาษณ์ วัตถุประสงค์ของการเก็บข้อมูลสัมภาษณ์ 3 เหตุการณ์นี้ ก็เพื่อที่จะได้ทราบว่า 1) ใน 3 เหตุการณ์นี้ เหตุการณ์ใดเป็นที่รับรู้มากกว่ากัน และ 2) ผู้ถูกสัมภาษณ์ได้ให้คำอธิบายหรือให้ความหมายของแต่ละเหตุการณ์ว่าอย่างไร โดยส่วนใหญ่จะให้ทีมงานจัดเก็บข้อมูลทำการสอบถามผู้ถูกสัมภาษณ์ แล้วจดตามคำบอก เพราะไม่ประสงค์ที่จะให้ผู้ถูกสัมภาษณ์รู้สึกว่าตนกำลังทำข้อสอบอัตนัย (ที่มีความกดดันสูง) ทั้งจะทำให้ผู้ตอบคำถามมีเวลาที่จะคิดค้นภาษาและพรรณนาความมากเกินไป รวมทั้งให้ทีมงานแจ้งให้ผู้ถูกสัมภาษณ์ว่าสามารถตอบว่า "ไม่รู้" ได้ เพราะ "ไม่รู้" ก็คือคำตอบเช่นกัน หลังจากได้แบบสอบถามมาแล้ว ผมในฐานะผู้ศึกษาจะนำข้อมูลมาให้คะแนนในแบบอาจารย์ผู้จัดสอบ โดยจัดออกเป็น 4 ระดับ คือ ระดับ 1 = ไม่รู้, ระดับ 2 = รู้บ้าง, ระดับ 3 = รู้ดี, ระดับ 4 = รู้ดีที่สุด ผลการประมวลข้อมูลสัมภาษณ์ รวมทั้งสิ้น 136 คน มีดังนี้ 3.1 นักศึกษาปริญญาตรี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 33 คน (100%) เหตุการณ์ 6 ตุลา และพฤษภา 35 มีจำนวนระดับไม่รู้เท่ากัน คือ 45.45% โดย 14 ตุลา มีระดับความรู้ดีที่สุด คิดเป็น 27.27% ส่วนเรื่องของ 6 ตุลา มีระดับความรู้ดีที่สุดน้อยที่สุด คือ 12.12% น่าจะตั้งข้อสรุปเบื้องต้นได้ว่า นักศึกษาปริญญาตรี มธ. รับรู้เรื่องของ 14 ตุลา เป็นอันดับที่ 1 ถัดมาเป็นเรื่องของพฤษภา 35 โดยมีเรื่องของ 6 ตุลา เป็นอันดับท้ายสุด 3.2 นักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 21 คน เหตุการณ์ 6 ตุลา มีจำนวนระดับไม่รู้สูงสุด คือ 52.38% โดยพฤษภา 35 มีระดับความรู้ดีที่สุด คิดเป็น 57.14% ส่วนเรื่องของ 6 ตุลา มีระดับความรู้ดีที่สุดน้อยที่สุด คือ 28.57% น่าจะตั้งข้อสรุปเบื้องต้นได้ว่า นักศึกษาปริญญาโท มธ. รับรู้เรื่องของพฤษภา 35 เป็นอันดับที่ 1 ถัดมาเป็นเรื่องของ 14 ตุลา โดยมีเรื่องของ 6 ตุลา เป็นอันดับท้ายสุด 3.3 นักศึกษาปริญญาตรี มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ 10 คน เหตุการณ์ 6 ตุลา มีจำนวนระดับไม่รู้สูงสุด คือ 40% โดยพฤษภา 35 มีระดับความรู้ดีที่สุด คิดเป็น 50% ส่วนเรื่องของ 6 ตุลา มีระดับความรู้ดีที่สุดน้อยที่สุด คือ 20.00% น่าจะตั้งข้อสรุปเบื้องต้นได้ว่า นักศึกษาปริญญาตรี ม.ศิลปากร รับรู้เรื่องของพฤษภา 35 เป็นอันดับที่ 1 ถัดมาเป็นเรื่องของ 14 ตุลา (ที่จริงก็อยู่ในระดับใกล้เคียงกับเรื่องของพฤษภา 35 อย่างมาก) โดยมีเรื่องของ 6 ตุลา เป็นอันดับท้ายสุด 3.4 นักศึกษาปริญญาตรี มหาวิทยาลัยรังสิต 33 คน เหตุการณ์ 6 ตุลา มีจำนวนระดับไม่รู้มากที่สุด คือ 81.81% โดย 14 ตุลา มีระดับความรู้ดีที่สุด คิดเป็น 60.60% ส่วนเรื่องของ 6 ตุลา มีระดับความรู้ดีที่สุดน้อยที่สุด คือ 9.09% น่าจะตั้งข้อสรุปเบื้องต้นได้ว่า นักศึกษาปริญญาตรี ม.รังสิต รับรู้เรื่องของ 14 ตุลา เป็นอันดับที่ 1 ถัดมาเป็นเรื่องของพฤษภา 35 โดยมีเรื่องของ 6 ตุลา เป็นอันดับท้ายสุด 3.5 บุคคลต่างๆ ที่ทำงานใน หรือเดินผ่านมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 19 คน เหตุการณ์ 6 ตุลา มีจำนวนระดับไม่รู้มากที่สุด คือ 36.84% โดยเรื่องของ 14 ตุลา และ 6 ตุลา มีระดับความรู้ดีที่สุดเท่ากัน คิดเป็น 47.36% ส่วนเรื่องของพฤษภา 35 มีระดับความรู้ดีที่สุดน้อยที่สุด คือ 36.84% น่าจะตั้งข้อสรุปเบื้องต้นได้ว่า สำหรับบุคคลกลุ่มนี้ รับรู้เรื่องของ 14 ตุลา เป็นอันดับที่ 1 ถัดมาเป็นเรื่องของพฤษภา 35 โดยมีเรื่องของ 6 ตุลา เป็นอันดับท้ายสุด (เมื่อรวมจำนวนช้องที่ 2-3-4) 3.6 บุคคลทั่วไป 20 คน เหตุการณ์ 6 ตุลา มีจำนวนระดับไม่รู้มากที่สุด คือ 75% โดย 14 ตุลา มีระดับความรู้ดีที่สุด คิดเป็น 20% ส่วนเรื่องของ 6 ตุลา มีระดับความรู้ดีที่สุดน้อยที่สุด คือ 10% น่าจะตั้งข้อสรุปเบื้องต้นได้ว่า บุคคลทั่วไปรับรู้เรื่องของ 14 ตุลา เป็นอันดับที่ 1 ถัดมาเป็นเรื่องของพฤษภา 35 โดยมีเรื่องของ 6 ตุลา เป็นอันดับท้ายสุด 4. อนาคตของ 6 ตุลา 2519 การประมวลผลข้อมูลสัมภาษณ์ ได้แสดงทิศทางตรงกันข้ามกับการประมวลผลข้อมูลจากโลก WWW ที่ใช้ Google เป็นเครื่องมือ ซึ่งอาจแปลความได้ว่า การมีปริมาณรายการใน WWW มากที่สุดของเรื่อง 6 ตุลา นั้น อาจเพราะ "คนกลุ่ม 6 ตุลา" ได้ดำเนินการค้นคว้า สืบค้น เขียน และเผยแพร่ข้อมูลของเหตุการณ์นี้เอง มากกว่าที่จะมี "คนนอก" กลุ่ม 6 ตุลาเข้ามาร่วมเขียนหรือค้นคว้า ดังนั้น ช่องทางที่จะรับรู้เรื่องของ 6 ตุลา ในสภาพปัจจุบันนั้นกล่าวได้ว่า"เปิดกว้าง" แต่ความรู้หรือความใส่ใจในเรื่องของ 6 ตุลา ที่มีระดับต่ำสุด ทั้งในลำดับที่และจากปริมาณความไม่รู้ในการประมวลผลสัมภาษณ์ ย่อมชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า สถานะทางประวัติศาสตร์ 6 ตุลา ในสังคมไทย ยังต้องการทำงานในทิศทางการ "ส่ง" "สาระ" 6 ตุลา เข้าสู่กลุ่ม "เป้าหมาย" ด้วยวิธีการที่หลากหลาย เหมือนเช่นเรื่องของ 14 ตุลาที่สามารถเข้าสู่โรงเรียนมัธยมทั้งในแบบเรียนและกิจกรรมด้านประชาธิปไตย หรือได้รับการตอกย้ำและวิเคราะห์ในระดับมหาวิทยาลัย เช่นในรายวิชาการเมืองการปกครองไทย วิวัฒนาการทางการเมืองไทย ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย ฯลฯ หรือการอบรมครูอาจารย์นิสิตนักศึกษาเรื่องระบอบประชาธิปไตยไทย ฯลฯ มากกว่าที่จะพอใจว่า "คนกลุ่ม 6 ตุลา" ได้ทำอะไรไปมากแล้ว เพียงแต่หวังรอคอยว่าจะมี "ใคร" หรือคนรุ่นต่อไปเดินเข้ามาค้นหาความจริงบ้าง ซึ่งในแนวทางดังกล่าวนี้ ชะตากรรมของประวัติศาสตร์ 6 ตุลา ก็อาจจะถูกทำให้หลงลืมไปอีกนานหลายทศวรรษ (หลังจากที่ต้องใช้เวลากว่า 2 ทศวรรษหลังเหตุการณ์บากบั่นสร้างสถานะทางประวัติศาสตร์) อาจเหมือนเช่นชะตากรรมของคณะราษฎรและการปฏิวัติ 2475 หรือยิ่งไปกว่านั้น ภายใต้บริบทความรุนแรงในสังคมไทยที่ปรากฏขึ้นทุกระดับ ทั้งความรุนแรงโดยรัฐ ความรุนแรงโดยกลุ่มเชื้อชาติและศาสนา ความรุนแรงโดย "ม็อบประชาชน" 6 ตุลาก็อาจไม่ได้ถูกพิจารณาว่าเป็น "บทเรียน" ที่ทรงคุณค่าของสังคมไทย หรืออาจไม่ดึงความสนใจจากคนไทยได้อีกต่อไป นอกเหนือจากความพยายาม "แกล้งลืม" ของสังคมและชนชั้นนำแล้วก็ตาม และครานั้น 6 ตุลาก็อาจจะค่อยๆ ถูกทำให้ลืมเลือนหรือลดความสำคัญลงไปตลอดกาล ข้อมูลสัมภาษณ์เกี่ยวกับ 3 เหตุการณ์ (14 ตุลา 2516, 6 ตุลา 2519, พฤษภา 2535) หมายเหตุ: 1. การระบุอายุ ชั้นปี และคณะของนักศึกษาปริญญาตรีและปริญญาโทของทั้ง 3 มหาวิทยาลัยนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะได้ใช้เป็นฐานข้อมูลในการวิเคราะห์ถึงลักษณะทั่วไปและลักษณะเฉพาะของความรู้และการรับรู้ของ 3 เหตุการณ์โดยเปรียบเทียบเป็นสำคัญ หามีเจตนาอื่นใดทั้งสิ้น 2. ข้อมูลสัมภาษณ์นักศึกษาปริญญาตรีและโทของ มธ. ท่าพระจันทร์(ไม่มีการเก็บข้อมูลจากนักศึกษา มธ. ศูนย์รังสิต) และ ม.ศิลปากร และบุคคลทั่วไปที่ทำงานหรือเดินผ่าน มธ. ท่าพระจันทร์ เป็นความช่วยเหลืออย่างแข็งขันของนักศึกษาปี 1 โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มธ. ได้แก่ นายอลงกรณ์ ผิวขำ นายวรกร นิปกากร นายมัธธาณะ รอดยิ้ม นายวิทวัช เนตรแสนสัก นายขจรศักดิ์ สิริพัฒนกรชัย และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง นาย ณ พงศ์ มาลิหอม 3. ข้อมูลสัมภาษณ์นักศึกษาปริญญาตรี ม.รังสิต และบุคคลทั่วไป เป็นความช่วยเหลือของนักศึกษาจากหลากคณะที่มาลงเรียนวิชา SOC113 การเมืองการปกครองไทย ของภาควิชาสังคมศาสตร์ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ภาค 1/2551 ที่สอนโดยผู้เขียน จำนวน 90 คน ซึ่งทำให้มีข้อมูลสัมภาษณ์นักศึกษา ม.รังสิต และบุคคลทั่วไป ประเภทละ 900 ตัวอย่าง ในที่นี้นำเสนอบางส่วนแบบสุ่มตัวอย่าง 4. การเก็บข้อมูลสัมภาษณ์ในสถาบันการศึกษาทั้ง 3 แห่งนี้ วางอยู่บนพื้นฐานความเป็นไปได้ภายใต้ระยะเวลาอันจำกัดของผู้เขียน และกำลังความช่วยเหลืออย่างเต็มใจของนักศึกษา เพื่อสร้างเค้าโครงความรับรู้ต่อ 3 เหตุการณ์อย่างคร่าวๆ อันที่จริงหากสามารถจัดเก็บข้อมูลสัมภาษณ์จากทุกสถาบันระดับอุดมศึกษา ทั้งนักศึกษา อาจารย์ และเจ้าหน้าที่ น่าจะเป็นฐานข้อมูลของการประเมินสถานะทางประวัติศาสตร์ของ 3 เหตุการณ์ในสังคมการเมืองไทยได้ อันจะช่วยให้เกิดการวางแผนและกระตุ้นเพื่อพัฒนาการศึกษาด้านสังคมประชาธิปไตยในสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ต่อไป ผศ. ดร. ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต | |||||||||||||
http://redusala.blogspot.com |
ดาวน์โหลดคลิ๊ปคนเสื้อแดง
วันอังคารที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2555
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น