วันอาทิตย์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

จากตุลาการภิวัฒน์สู่ตุลาการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ (รัฐประหาร)


              เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมามีการเสวนาในหัวข้อ “จากตุลาการภิวัฒน์สู่ตุลาการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ (รัฐประหาร)” โดยมีวิทยากร ประกอบด้วย
        1. นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ปี 2540
       2.  นายพรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย นักวิชาการด้านนิติศาสตร์
       3.  นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ นักประวัติศาสตร์ และ
      4. นายปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี หนึ่งในผู้ก่อตั้งร้าน Book Re:public เป็นผู้ดำเนินรายการและกล่าวนำการเสวนาว่า

          เป็นหัวข้อที่มีคนสนใจอย่างยิ่งกับบทบาทของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งกลายเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ทำนบแห่งความอดทนของประชาชนที่มีต่อสถาบันตุลาการพังทลายลง ไม่ว่าจะเป็นการรับคำร้องของตัวแทน ส.ว. และ ส.ส. กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 การมีคำสั่งระงับยับยั้งการพิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว ตลอดจนการมีคำวินิจฉัยให้แก้รัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา หรือหากจะแก้ทั้งฉบับก็ให้ลงประชามติ

           ทั้งหมดนำมาสู่คำถามว่าด้วยขอบเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ความจำเป็นในการมีอยู่และอำนาจอธิปไตยยังเป็นของปวงชนชาวไทยหรือไม่ สิ่งเหล่านี้กลายเป็นความคับข้องใจของยุคสมัยที่ต้องการคำตอบและทางออกอย่างเร่งด่วน

           “เหตุที่เรียกว่าเป็นฟางเส้นสุดท้ายเพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ศาลรัฐธรรมนูญแสดงบทบาทที่อาจเรียกได้ว่าไม่ใช่บทบาทในการผดุงความยุติธรรมหรือพิทักษ์ประชาธิปไตย หากแต่เป็นบทบาททางการเมืองที่อาจทำให้เกิดความกังขาอย่างถ้วนทั่ว ศาลรัฐธรรมนูญไทยมีอายุไม่นานนัก แต่เป็นศาลรัฐธรรมนูญที่มีปัญหาและเต็มไปด้วยความขัดแย้ง ต้องเผชิญแรงต่อต้านภายในตั้งแต่เริ่มก่อตั้งในปี 2540 โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาลรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจที่ 4 ของสถาบันหลักในสังคมไทยหรือไม่”

เตรียมการล้มล้างบรรทัดฐานศาลรัฐธรรมนูญชุดก่อน

          นายพนัสกล่าวว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญ  ตัดสินใจเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา คิดว่าเป็นการตัดสินใจที่มีมูลเหตุทางการเมืองและเตรียมการมาแล้วตั้งแต่ต้น เห็นได้จากการรับคำร้องไว้พิจารณาทั้งที่ไม่เข้าข่ายตามมาตรา 68 ว่าการเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 จะเข้าข่ายการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยปรกติศาลยุติธรรมของไทยจะยึดถือบรรทัดฐานที่ศาลได้พิพากษาหรือวินิจฉัยคดีไว้ กรณีนี้มีบรรทัดฐานของศาลรัฐธรรมนูญชุดก่อนไว้ชัดเจน ตอนนั้นมีคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญต่อกรณีที่มีการเสนอให้มีนายกรัฐมนตรีโดยอาศัยมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ หรือที่เรียกว่านายกฯพระราชทาน ซึ่งมีหัวหน้าพรรคท่านหนึ่งออกมาเสนอเรื่องนี้ ก็มีผู้ไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญในขณะนั้นว่าข้อเสนอนี้เป็นการล้มล้างระบอบการปกครอง 

          สุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญก็ยกคำร้องนี้ เพราะวินิจฉัยว่าไม่เข้าข่ายมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญ 2540 และมาตรานี้เป็นต้นกำเนิดนำมาสู่มาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญ 2550 ต่างตรงที่รัฐธรรมนูญ 2550 ทำให้การร้องเรียนต่อศาลรัฐธรรมนูญทำได้ง่ายขึ้น เพียงแค่ทราบเรื่องก็ร้องได้ ขณะที่รัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งผมได้ร่วมร่างในฐานะ ส.ส.ร. จะใช้คำว่า “รู้เห็น” หมายความว่าต้องมีพยานหลักฐานว่าจะมีการล้มล้างจึงจะเข้าข่าย

           การจะร้องเรียนใครตามมาตรา 68 จัดเป็นคำกล่าวหาขั้นอุกฉกรรจ์ เพราะการล้มล้างระบอบการปกครองก็คือกบฏ ซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 โทษสูงสุดคือการประหารชีวิต ฉะนั้นโดยหลักกระบวนการพิจารณาคดีที่ชอบธรรม (Due process of law) ก่อนจะมีการฟ้องร้องต่อศาลซึ่งจะไปกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของผู้ฟ้องร้องนั้นต้องมีการสอบสวนตามกระบวนการ ซึ่งกฎหมายก็เขียนไว้เพื่อให้มีการสอบสวนอย่างรอบคอบ เพื่อเป็นหลักประกันคุ้มครองผู้ที่ถูกกล่าวหา

           อย่างไรก็ตาม ศาลรัฐธรรมนูญปัจจุบันกลับตีความกฎหมายนี้โดยอาศัยการตีความจากตัวหนังสือว่าเป็นสิทธิของผู้ร้องที่จะไปยื่นต่ออัยการสูงสุด หรือจะร้องต่อศาลโดยตรงก็ได้ ซึ่งผมเห็นว่ามีความไม่ชอบมาพากลอย่างยิ่ง เพราะมีเหตุจูงใจทางการเมืองที่เรารู้อยู่ว่าฝ่ายที่ต้องการไม่ให้มีการแก้รัฐธรรมนูญมีทั้งหมด 5 ราย ได้แก่ ส.ส.ฝ่ายค้าน ส.ว.สรรหา และผู้ที่เคยเป็น ส.ว.สรรหา ซึ่งก็คือผู้ที่ได้รับประโยชน์จากรัฐธรรมนูญ 2550 และถ้าไปศึกษาให้ดีจะพบว่าผู้ที่ดำรงตำแหน่งในองค์กรต่างๆ โดยเฉพาะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระต่างๆ ล้วนเป็นผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งและเข้าสู่ตำแหน่งอันเนื่องมาจากการทำรัฐประหาร 2549 ทั้งสิ้น

คำวินิจฉัยเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน ปกป้องฐานอำนาจรัฐประหาร

          นายพนัสกล่าวว่า แน่นอนว่าหากมีการเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ย่อมจะมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างขององค์กรอิสระ รวมถึงศาลรัฐธรรมนูญด้วย ผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆที่แต่งตั้งโดย คมช. ก็จะหลุดออกไปทั้งหมด ซึ่งบุคคลที่มาร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญจึงมีส่วนได้เสีย และสำคัญที่สุดตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็เกิดมาจากการทำรัฐประหาร 2549 ถ้าหากวิเคราะห์ให้ชัดเจนจะเห็นว่าเป็นการต่อสู้เพื่อรักษาอำนาจ โดยเฉพาะอำนาจรัฐประหาร ได้นำมาสถาปนาในรัฐธรรมนูญ 2550 โดยเฉพาะเจตนาของผู้ร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ต้องการให้มีโครงสร้างลักษณะนี้ เพื่อทำให้การปกครองโดยระบอบรัฐสภาและการบริหารคณะรัฐมนตรีมีความอ่อนแอ เพราะจะโดนขนาบด้วยศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระต่างๆเหล่านี้ รวมทั้งศาลปกครอง ผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งทุกคนออกมาสนับสนุนการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ทั้งสิ้น

         สิ่งที่เขาหวังผลคือหากล้มรัฐบาลนี้ได้อาจมีโอกาสมีรัฐบาลที่มาจากกลุ่มอำนาจฝ่ายเดียวกัน กล่าวคือ ให้ศาลรัฐธรรมนูญทำรัฐประหาร ซึ่งผมค่อนข้างมั่นใจว่าที่ไม่เป็นไปแบบนั้นเพราะมีเสียงคัดค้านต่อต้านอย่างรุนแรง ทำให้บรรดาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเกิดความลังเล โดยเฉพาะคนที่เป็นตัวจักรสำคัญของศาลรัฐธรรมนูญคือ คุณจรัญ ภักดีธนากุล ได้ถอนตัวจากการพิจารณา ต่อมาก็มีตุลาการอีก 3 ท่านขอถอนตัว นับเป็นเรื่องประหลาด เพราะปรกติถ้าผู้พิพากษาจะถอนตัวจะไม่มีการลงมติไม่ให้ถอนตัว เพราะเป็นเอกสิทธิและมารยาทของตุลาการแต่ละท่าน


         “ในเมื่อตัวเองรู้สึกว่ามีส่วนได้เสีย หรือไปแสดงอะไรไว้ที่ทำให้เห็นชัดเจนว่าการพิจารณาของตัวเองจะทำให้เกิดความไม่เที่ยงธรรมชอบได้อย่างแท้จริง โดยหลักและมารยาทของตุลาการก็ต้องขอถอนตัวตั้งแต่แรก ไม่ต้องรอให้ใครมาคัดค้าน    อย่างของคุณจรัญต้องถือว่าเป็นการฉีกหน้ากลางศาล แต่คนอื่นทำทีว่าขอถอนตัว แล้วมาลงมติกันว่าไม่ให้มีการถอน อันนี้เหมือนการเล่นละครตบตาชาวบ้านเท่านั้นเอง ดังนั้น พฤติกรรมทั้งหมดที่แสดงออกมา รวมถึงบทบาทและคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2555 ที่มีการสถาปนาตัวเองเป็นผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญ โดยอ้างคำในมาตรา 68 สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญของประชาชนคนไทย ถ้าใครจะมาล้มล้างรัฐธรรมนูญ ถ้าท่านไม่เห็นด้วยก็หมายความว่าท่านมีอำนาจในการตรวจสอบ เพราะฉะนั้นคำวินิจฉัยที่ออกมาจึงพิลึกพิลั่นมาก”


ตุลาการพิทักษ์การรัฐประหาร

            นายพนัสตั้งข้อสังเกตคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า ได้กำหนดประเด็นวินิจฉัยไว้ 4 ประเด็น ในข้อวินิจฉัยที่ 1 ศาลได้เห็นชอบ 7 ต่อ 1 บอกว่ามีอำนาจที่จะรับพิจารณาคำร้องโดยอ้างฐานะความเป็นผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญโดยอิงกับสิทธิของประชาชน จึงมีสิทธิเข้าไปตรวจสอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าจะเป็นการล้มล้างการปกครองหรือไม่ ซึ่งถ้าคนที่ไม่เข้าใจเรื่องกฎหมายลึกซึ้ง หรือมีใจโน้มเอียงอยู่แล้ว จะคิดว่าเป็นเหตุเป็นผลที่ดูดีมาก

            แต่แท้ที่จริงแล้วคือผลประโยชน์ของทุกคน ทั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ยื่นคำร้องทั้งหมด จึงเป็นชื่อของวงคุยในวันนี้ว่า “ตุลาการภิวัตน์” สู่ “ตุลาการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ” แต่อันที่จริงต้องวงเล็บไว้ว่าท่าน “พิทักษ์การรัฐประหาร” มากกว่า เพราะรัฐธรรมนูญ 2550 แท้ที่จริงแล้วคือการรับรองความถูกต้องและชอบด้วยรัฐธรรมนูญของผลพวงและบุคคลที่เข้าไปเกี่ยวข้อง มีส่วนร่วม หรือรับผลประโยชน์ หรือจากการทำรัฐประหาร 2549 นั่นเอง การที่ท่านบอกว่าเป็นผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ขณะที่รัฐธรรมนูญนี้เป็นตัวแทนของอำนาจที่เกิดจากการรัฐประหาร 2549 ดังนั้น ตอนนี้สมควรจะเปลี่ยนชื่อเป็นตุลาการพิทักษ์การรัฐประหารได้


           นายพนัสกล่าวถึงที่มาของคำว่าตุลาการภิวัฒน์ในเมืองไทย โดยระบุจุดเริ่มต้นจากการที่ศาลรัฐธรรมนูญชุดก่อนมีคำสั่งให้การเลือกตั้งเมื่อปี 2548 เป็นโมฆะ ด้วยเหตุผลที่ กกต. ชุดนายวาสนา เพิ่มลาภ เป็นประธาน ได้เปลี่ยนรูปแบบของคูหาใหม่ อย่างไรก็ดี แนะนำให้กลับไปดูจุดเริ่มต้นของการอภิวัฒน์ในวันที่ 28 เมษายน 2548 ซึ่งในหลวงทรงมีพระราชดำรัสกับตุลาการศาลปกครองและผู้พิพากษาศาลยุติธรรมที่เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณ โดยผลจากพระราชดำรัสคราวนั้นเป็นที่ทราบกันดีว่าศาลรัฐธรรมนูญรับมาว่าเป็นหน้าที่ของศาลที่ต้องจัดการปัญหาของบ้านเมือง

            เมื่อศาลรัฐธรรมนูญรับและตัดสินว่าการเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นโมฆะ ปรากฏว่ายังไม่ชัดเจน ศาลปกครองจึงตามพิพากษาซ้ำว่าเป็นความผิดของ กกต. ชุดดังกล่าว โดยขณะนี้ กกต. กำลังประสบวิบากกรรมจากผลของตุลาการภิวัตน์ คือรอคำตัดสินจากศาลฎีกา ซึ่งทั้ง 2 ศาลที่ผ่านมาก็ตัดสินจำคุก สำหรับการบัญญัติศัพท์นี้ยังไม่มีการระบุอย่างเป็นทางการว่านายธีรยุทธ บุญมี เป็นผู้คิดคำนี้ขึ้นมา ขณะที่คนที่ออกมาให้ความคิดเห็นสนับสนุนและย้ำว่าตุลาการภิวัฒน์ซึ่งเกิดจากอัจฉริยภาพแท้จริงทางกฎหมายของในหลวงคือ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ และนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ซึ่งสามารถอ่านบทความดังกล่าวได้ในเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

   

คำวินิจฉัยทิ้งหลักนิติรัฐ-ประชาธิปไตย

           นายพรสันต์กล่าวว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเหมือนจะเป็นคำวินิจฉัยที่ลดอุณหภูมิทางการเมืองพอสมควร เนื่องจากศาลมีคำวินิจฉัยไปแล้วว่ากระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐสภาไม่ได้เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแน่นอน ทำให้พรรคการเมืองหลายพรรคไม่ถูกยุบตามมาตรา 68 แต่ถ้าพิจารณาคำวินิฉัยให้ดีจะเห็นได้ว่ามีปัญหาในเชิงหลักการ ซึ่งกระทบกับระบบกฎหมายรัฐธรรมนูญของประเทศโดยองค์รวม ส่วนตัวมีความกังวลค่อนข้างมาก เพราะคำวินิจฉัยครั้งนี้จะนำไปสู่ปัญหาทางการเมืองในอนาคต

         เพราะท่ามกลางทิศทางของสังคมที่มีการเรียกร้องให้เป็นประชาธิปไตย ฉะนั้นเมื่อมีการพูดถึงความเป็นประชาธิปไตย หลักการที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เลยคือหลักนิติรัฐ เนื่องจากทั้งคู่มีวัตถุประสงค์เดียวกันในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ เป็นเสาหลักที่ค้ำยันซึ่งกันและกัน ถ้าหลักการใดถูกทำลายไป อีกหลักการหนึ่งจะอยู่ไม่ได้ ถ้าเราพูดถึงประชาธิปไตย เราต้องให้ความสำคัญกับนิติรัฐด้วย

          นิติรัฐคือแนวคิดที่ยึดกฎหมายเป็นใหญ่ ปกครองโดยกฎหมาย ซึ่งกฎหมายในที่นี้หมายถึงรัฐธรรมนูญ ฉะนั้นการกระทำใดๆก็แล้วแต่ต้องยึดรัฐธรรมนูญเป็นหลัก โดยที่ตัวรัฐธรรมนูญมีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมการใช้อำนาจของรัฐ ซึ่งหลายคนอาจคิดว่าหมายถึงอำนาจของรัฐบาล เพราะให้ความรู้สึกโน้มเอียงไปทางฝ่ายบริหาร ความคิดแบบนี้ก็ถูกต้องในส่วนหนึ่ง แต่ในเชิงหลักการของนิติรัฐ หลักเกณฑ์ที่ถูกบรรจุในตัวรัฐธรรมนูญไม่ได้ควบคุมอำนาจของฝ่ายบริหารเพียงอย่างเดียว หากแต่เข้าไปควบคุมอำนาจทั้งหมด หมายความว่าอำนาจรัฐหมายถึง 1.อำนาจในการตราตัวบทกฎหมาย 2.อำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน 3.อำนาจในการพิจารณาคดีความต่างๆ

          “ฉะนั้นหลักนิติรัฐที่ผ่านตัวรัฐธรรมนูญจะเข้าไปควบคุมการใช้อำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ คนทั่วไปจะคิดว่าตัวรัฐธรรมนูญเข้าไปควบคุมกำกับการใช้อำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติและคณะรัฐมนตรีที่ใช้โดยนักการเมือง แต่ในสายตาของกฎหมายจะมองว่าใครก็แล้วแต่ที่ถืออำนาจรัฐ รัฐธรรมนูญต้องควบคุมทั้งหมด เพราะอำนาจรัฐอาจกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ ประเด็นคือว่าวิธีการควบคุมหลักนิติรัฐโดยผ่านรัฐธรรมนูญทำอย่างไร คำตอบคือผ่านหลักการหนึ่งที่เรียกว่าหลักความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หรือหลักความชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งอยู่บนหลักการที่เรียกว่า “ไม่มีกฎหมายไม่มีอำนาจ” หมายความว่าการกระทำใดๆต้องมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายรองรับหรือให้อำนาจ ซึ่งในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญไทยไม่มีมาตราใดที่ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญเข้าไปสำรวจ ตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เมื่อไม่มีการเขียนไว้ย่อมหมายความว่าโดยหลักแล้วศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจ แต่เมื่อศาลใช้อำนาจของตัวเองเข้าไปตรวจสอบจึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและหลักนิติรัฐ”

“ระบบศาลคู่” ห้ามก้าวล่วงขอบเขตอำนาจตามรัฐธรรมนูญ
          นายพรสันต์กล่าวว่า หากไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ เป็นไปได้หรือไม่ที่ศาลจะมีอำนาจในการตรวจสอบ ซึ่งอาจจะมีได้ โดยต้องขึ้นกับระบบของศาลในแต่ละประเทศว่าใช้แบบไหน ซึ่งระบบศาลทั่วโลกมี 2 ระบบคือ ระบบศาลเดี่ยว ซึ่งมีศาลยุติธรรมศาลเดียว มีอำนาจในการวินิจฉัยคดีทุกประเภท เช่น สหรัฐอเมริกา และระบบศาลคู่ ประกอบด้วย ศาลยุติธรรม และศาลเฉพาะหรือศาลชำนาญการพิเศษ ในระบบศาลเดี่ยวมีความเป็นไปได้ แม้ว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดให้ศาลเข้าไปตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพราะไม่มีศาลเฉพาะ แต่ในประเทศไทยใช้ระบบศาลคู่ จึงต้องเป็นคดีเฉพาะจริงๆ โดยที่รัฐธรรมนูญมีการกำหนดไว้ว่าคดีประเภทไหนจะพิจารณาในศาลเฉพาะได้ ดังนั้น เมื่อมองในเชิงหลักการเบื้องต้น หลักนิติรัฐหรือระบบโครงสร้างของศาลจึงยังไม่เห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญของไทยจะมีช่องทางเข้าไปตรวจสอบเรื่องนี้ได้

          อีกประเด็นหนึ่งที่อยากให้คิดทบทวนคือ ทฤษฎีข้อพิพาททางการเมือง เป็นหลักการและเป็นทฤษฎีหนึ่งที่เข้าไปควบคุมอำนาจขององค์กรตุลาการไม่ให้ล้ำเส้นเขตแดนของฝ่ายการเมือง กล่าวคือ ในระบบกฎหมายจะมีการกำหนดอย่างชัดเจนว่าอะไรคือเขตแดนทางการเมืองหรือกิจกรรมทางการเมือง ถ้ามีเรื่องเกิดขึ้นก็ให้ใช้กลไกทางการเมืองเข้าไปตรวจสอบกันเอง กับอีกเขตแดนทางกฎหมายที่จะใช้องค์กรตุลาการหรือตัวระบบกฎหมายเข้าไปตรวจสอบ

มีสิทธิระงับการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เปลี่ยนรูปแบบรัฐและการปกครอง

           นายพรสันต์ย้ำว่า เราต้องพิจารณาถึงกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าเป็นประเด็นข้อพิพาททางการเมืองหรือไม่ สำหรับผมถือว่าเป็นเรื่องทางการเมือง เพราะข้อพิพาททางการเมืองหมายถึงกิจกรรมที่นักการเมืองใช้กัน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบริหารหรือฝ่ายนิติบัญญัติ โดยหลักการฝ่ายนิติบัญญัติมีหน้าที่หรือกิจกรรมทางการเมืองคือ การตราประมวลกฎหมาย การแก้ไขตัวบทกฎหมาย ซึ่งรวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย ศาลจึงไม่สามารถเข้ามาสำรวจตรวจสอบได้

            อย่างไรก็ตาม นักกฎหมายบางท่านมักโต้แย้งกลับมาว่าการที่ศาลเข้ามาตรวจสอบคือเรื่องปรกติ เพราะมีการตราตัวบทกฎหมาย เช่น พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ก่อนประกาศใช้จะมีการตรวจสอบความชอบของรัฐธรรมนูญโดยศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่ใช่เรื่องปรกติ เพราะเราอนุญาตให้ศาลเข้ามาตรวจสอบก็ต่อเมื่อกำลังจะประกาศใช้ จุดที่แตกต่างจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้คือรัฐสภากำลังดำเนินการพิจารณาในวาระที่ 2 กำลังจะไปสู่วาระที่ 3 แต่ปรากฏว่ามีคนไปร้องเรียนแล้วศาลสั่งระงับยับยั้งเอาไว้ ซึ่งจะเห็นว่ากิจกรรมของฝ่ายการเมืองยังไม่เสร็จกระบวนการ

          นักวิชาการด้านกฎหมายรายเดิมสรุปประเด็นว่า การที่ศาลรับคดีไว้โดยอาศัยมาตรา 68 คำถามมีอยู่ว่าถูกต้องตามหลักการหรือไม่ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต้องพิจารณามาตรา 291 ซึ่งเป็นบทบัญญัติเฉพาะที่รัฐธรรมนูญเขียนเอาไว้เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถ้าใช้สามัญสำนึกง่ายๆ การตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญก็ต้องนำมาตราที่พูดถึงการแก้ไขมาพิจารณาเท่านั้น แต่มาตรา 68 ไม่ได้พูดถึง ยิ่งไปกว่านั้นในมาตรา 291 เขียนว่าสามารถเสนอญัตติเพื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ โดยมีข้อห้าม 2 ข้อ ได้แก่ 1.ห้ามแก้ไขเรื่องรูปแบบของรัฐ คือห้ามเสนอเปลี่ยนแปลงเป็นสหพันธรัฐ และ 2.ห้ามเสนอเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครอง

        ดังนั้น หากศาลจะเข้ามาตรวจสอบก็มีเงื่อนไขเพียง 2 ประการนี้เท่านั้น โดยมาตรา 68 และมาตรา 291 เขียนเพื่อใช้ในกรณีที่แตกต่างกัน แต่การยกมาตราที่ไม่ได้เขียนไว้เพื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งมีเจตนารมณ์คนละอย่างมาจับกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จึงทำให้ระบบกฎหมายรัฐธรรมนูญไทยผิดเพี้ยนไป ซึ่งจะส่งผลต่อการใช้อำนาจของสถาบันการเมือง

ตีความผิดกระทบระบบกฎหมายในระยะยาว

          นายพรสันต์กล่าวว่า สมมุติว่ามาตรา 68 เอามาใช้เพื่อตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ ก็ยังผิดขั้นตอนอยู่ดี ซึ่งนายพนัสได้นำเสนอไปแล้วว่าต้องยื่นผ่านอัยการสูงสุดก่อน เจตนารมณ์ของมาตรา 68 คือการป้องกันระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเอาแบบอย่างจากประเทศเยอรมนีมาใช้ การจะใช้มาตรานี้ต้องใช้กับกรณีที่มีความร้ายแรงมาก หรือเป็นข้อกล่าวหาที่รุนแรงมาก เพราะเมื่อตัดสินว่าผิดจะอยู่ในฐานะกบฏตามมาตรา 133 ดังนั้น จึงกำหนดให้มีองค์กรเข้ามาตรวจสอบและคัดกรองก่อน

          ที่สำคัญถ้าปล่อยให้คนมายื่นคำร้องต่อศาลโดยตรง ศาลก็ไม่ต้องทำอะไร เพราะศาลรัฐธรรมนูญมีเพียงชั้นเดียว ไม่สามารถยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาใดๆต่อได้ ซึ่งรัฐธรรมนูญอนุญาตให้ประชาชนมายื่นคำร้องต่อศาลได้โดยตรงเพียงกรณีเดียวเท่านั้นคือ มาตรา 212 ซึ่งถ้าอ่านรายละเอียดจะพบว่าการที่ประชาชนจะมาใช้สิทธิได้ก็ต่อเมื่อไม่สามารถไปใช้สิทธิเรียกร้องกับองค์กรอื่นๆได้แล้ว นี่คือการลดภาระของศาลรัฐธรรมนูญ ฉะนั้นเราจะเห็นว่าเจตนารมณ์ของกฎหมายชัดเจน คือไม่ให้ประชาชนมายื่นโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้

           “เมื่อดูคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ศาลขยายความว่ามาตรา 68 เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถยื่นคำร้องได้ 2 ทางคือ 1.อัยการสูงสุด 2.ยื่นโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ
            ศาลให้เหตุผลในการวินิจฉัยที่ดูประหนึ่งว่าเป็นไปตามหลักการและเป็นการตีความเพื่อขยายสิทธิของประชาชน เพราะถ้าปล่อยให้ยื่นที่อัยการสูงสุดเพียงอย่างเดียวเท่ากับการตัดสิทธิ ดังนั้น ต้องเป็นการตีความเพื่อขยายสิทธิ โดยหลักการก็ใช่ แต่เป็นการตีความที่ผิดบริบท การตีความของศาลแบบนี้ส่งผลให้ระบบกฎหมายรัฐธรรมนูญรวนอย่างน้อย 2 ประการคือ 1.กรณีอัยการกับศาลรัฐธรรมนูญมีความเห็นตรงกันว่าเป็นการล้มล้างหรือไม่ก็ตาม จะเห็นว่า 2 องค์กรนี้ทำงานทับซ้อนของการใช้อำนาจหน้าที่เดียวกัน 2.กรณีที่ 2 องค์กรมีความเห็นแตกต่างกัน ศาลเห็นว่าผิดจริง เป็นการล้มล้างการปกครอง ขณะที่อัยการสูงสุดเห็นว่าไม่มีความผิด ดังนั้น การตีความของศาลรัฐธรรมนูญแบบนี้จะทำให้เกิดความขัดแย้ง” ดร.พรสันต์กล่าวทิ้งท้าย

ศาลรัฐธรรมนูญทำหน้าที่รักษาดุลอำนาจของชนชั้นนำ

           นายนิธิกล่าวว่า นักกฎหมายก็เหมือนนักประวัติศาสตร์ หมอที่มีความสัมพันธ์กับคนในวงการของเขา และมีคนที่เขาต้องไว้หน้าตัวเอง การที่ศาลรัฐธรรมนูญกระทำโดยอ้างมาตรา 68 มาระงับไม่ให้รัฐสภาพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 คนเหล่านี้ก็รู้ว่าไม่ได้เรื่อง และมีหน้าตาที่ต้องรักษาไว้ต่อคนในวงการเดียวกับเขาพอสมควร ถามว่าทำไมถึงทำ คำตอบมีอยู่ว่าเราอย่าไปคิดถึงศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งมีจินตนาการถึงการสร้างองค์กรที่เป็นอิสระให้คานอำนาจกันและกัน แต่ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2550 และสภาวการณ์การเมืองปัจจุบันคือการต่อสู้ของกลุ่มชนชั้นตามจารีตประเพณี ซึ่งรวมคนหลายกลุ่มหลายพวกที่จะรักษาการเปลี่ยนผ่านของสังคมไทย โดยให้มีดุลอำนาจเหนือฝ่ายประชาชนที่อาศัยกลไกการเลือกตั้งมาเป็นผู้มีอำนาจเด็ดขาดหรือมีอำนาจเหนือแต่เพียงผู้เดียว คือฝ่ายชนชั้นนำตามจารีตในกลุ่มต่างๆต้องเจรจาต่อรองกันในทุกเรื่อง ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญกำลังทำหน้าที่รักษาเครือข่ายหรือกลไกอำนาจของกลุ่มชนชั้นนำตามจารีตประเพณีเอาไว้

            เมื่อกลับมาดูเรื่องชนชั้นนำทางจารีตประเพณี โดยเฉพาะต่อประเด็นเรื่อง Network monarchy หรือสถาบันกษัตริย์เชิงเครือข่าย ที่ Duncan McCargo ได้นำเสนอไว้ในบทความ ซึ่งผมได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนกับผู้เขียนว่าไม่ได้เป็นไปอย่างที่หลายคนเข้าใจว่าสถาบันกษัตริย์เชิงเครือข่ายในประเทศไทยนั้นมีพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์กลางและสั่งให้ผู้คนทำสิ่งต่างๆ กลับพบว่าในเครือข่ายนี้เองต่างประกอบด้วยนายทุน ข้าราชการ นักวิชาการ เป็นต้น ซึ่งต้องมีการแข่งขันกัน หรือขัดแย้งทางผลประโยชน์ระหว่างกันอยู่ตลอดเวลา หรือจะเห็นว่าคนที่เข้าไปอยู่ในเครือข่ายนั้นไม่ได้เห็นแก่ประโยชน์ของพระมหากษัตริย์หรือประโยชน์ของกลุ่มอื่นๆเป็นสำคัญ หากแต่เห็นแก่ประโยชน์ของตัวเองเพื่อที่จะบรรลุผลได้เร็วที่สุดหรือง่ายที่สุด อย่างไรก็ตาม มีประเด็นที่น่าสนใจว่าทำไมเครือข่ายนี้แม้ไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันตลอดเวลา แต่ยังสามารถดำรงอยู่และผลักดันสิ่งต่างๆได้ ดังนั้น ต้องมองความสัมพันธ์ของคนในเครือข่ายนี้ที่มีความยุ่งเหยิงภายใน เพราะถ้ามองว่าทุกคนพร้อมที่จะกราบและทำตามจะเข้าใจสิ่งนี้ไม่ได้

            “ขณะที่ฝ่ายชนชั้นนำตามประเพณีก็พบทิศทางที่น่าตกใจ กล่าวคือ ประเทศไทยกำลังเปลี่ยนผ่านมาสู่การตัดสินใจของคนหน้าแปลกๆ อย่างพวกเสื้อแดงทั้งหลาย หรือคนบ้านนอกที่ไม่เคยอยู่ในวงการเมืองหรือมีส่วนในการตัดสินใจมาก่อน คนธรรมดาอย่างพวกเราต่างหากที่เป็นผู้จัดรัฐบาล กรณีอย่างคุณบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ไม่กล้าตั้งคุณเนวินเป็นรัฐมนตรี ถามว่าใครเป็นคนสั่งคุณบรรหาร คำตอบพวกคือพวกข้าราชการ อาจารย์ในมหาวิทยาลัย หรือคนกลุ่มเดิมที่เป็นคนกำกับรัฐบาล บัดนี้มีคนแปลกหน้าจำนวนมหาศาลที่เข้ามาแล้วอ้างสิทธิของตัวในการลงคะแนนเลือกตั้ง ถามว่าคนชนชั้นนำกลุ่มเดิมจะยอมตามด้วยหรือไม่ คำตอบคือไม่ เพราะเขาต้องการทำให้อำนาจการต่อรองทางการเมืองมีพลัง โดยอาศัยรัฐธรรมนูญปี 2550 ฉะนั้นการกระทำของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ไม่ใช่การกระทำอย่างสุ่มสี่สุ่มห้าหรือทำด้วยความโง่เขลา”

          นายนิธิกล่าวเสริมว่า เคยสงสัยหรือแปลกใจกันไหมว่าตอนที่รัฐบาลเอาร่าง พ.ร.บ.ปรองดองเข้าสภา กลุ่มที่คัดค้านคือกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พรรคประชาธิปัตย์ และกลุ่มที่ถืออำนาจอยู่ในโครงสร้างการเมืองการปกครองที่ไม่เคยออกมาเคลื่อนไหว แต่ชนชั้นนำทางจารีตประเพณีไม่ได้ขยับอะไรเลย ซึ่งต่างกับกรณีการแก้รัฐธรรมนูญ แสดงว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 เป็นเครื่องมือสำคัญยิ่งกว่าการไม่มีทักษิณ หมายความว่าเขาสามารถจัดการและควบคุมทักษิณได้ตราบเท่าที่มีรัฐธรรมนูญฉบับนี้อยู่ในมือ

           อย่างที่ทราบกันว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 เขียนขึ้นโดยตั้งใจให้กลุ่มชนชั้นนำตามจารีตเข้ามาแทรกแซงโดยตลอด ต้องมีวุฒิสภาครึ่งหนึ่งมาจากการแต่งตั้ง ต้องให้อำนาจแก่ตุลาการ ศาลฎีกาจำนวนหนึ่งในการเป็นผู้ตั้งองค์กรอิสระ ต้องมีองค์กรอิสระที่มาจากการแต่งตั้งจำนวนหนึ่งมากพอสมควร ดังนั้น ไม่ว่าใครเป็นรัฐบาลก็จะถูกแวดล้อมด้วยมือและตีนของกลุ่มชนชั้นนำตามจารีตคอยขนาบข้าง ดังนั้น อย่างน้อยในช่วงนี้คงยังแตะรัฐธรรมนูญ 2550 ไม่ได้ ยกเว้นว่าจะต่อรองกันเป็นเรื่องๆ และตราบใดที่ยังอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2550 หากฝ่ายชนชั้นนำไม่เห็นด้วยก็จะไปฟ้องศาลรัฐธรรมนูญในลักษณะเดียวกันนี้อีก

          “ไม่ว่าจะเป็นคุณทักษิณหรือเชื้อสายของทักษิณ หรือใครก็ตามที่เป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่รัฐบาลในค่ายทหารหรือกองทัพ รัฐบาลมีฐานความชอบธรรมคือคะแนนเสียงของประชาชนที่เป็นอิสระจากชนชั้นนำตามตารีต ซึ่งพร้อมจะแข็งข้อได้เสมอ ฉะนั้นไม่ใช่ว่าเขา (ชนชั้นนำ) จะกลัวหรือเพ่งเล็งคุณทักษิณอย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปัตย์ หรือถ้าประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยมากกว่านี้เขาก็กลัว แต่เผอิญว่ายังไม่เป็นเลยไม่กลัว ด้วยเหตุนี้จึงคิดว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 มีไว้เพื่อกำกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง”

รัฐประหารโดยศาล

           นายนิธิกล่าวว่า หากมองคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในแง่ดีคืออย่างน้อยที่สุดเขาไม่ได้ใช้วิธีการรัฐประหารด้วยวิธีที่เคยทำมาแล้ว ซึ่งการทำรัฐประหารในเมืองไทยต้องใช้กำลังอย่างน้อย 3 ส่วนคือ ม็อบ กองทัพ และพระบรมราชานุญาต

        1.พบว่าปัญหาในเวลานี้คือสร้างม็อบที่มีพลังแบบเมื่อก่อนไม่ได้ เช่น เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ถูกผลักออกไปจากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กำลังพันธมิตรฯก็ลดน้อยลง จึงปลุกเรื่องเขมร เรื่องพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งไม่สำเร็จสักเรื่อง เมื่อไม่มีมวลชนมากพอสนับสนุน ดังนั้น จึงทำรัฐประหารด้วยกำลังทหารไม่ได้


         2.กองทัพ ต้องเข้าใจว่ากองทัพเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นนำทางจารีต ขณะเดียวกันก็ต้องการความเป็นอิสระเหมือนศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งประสบความสำเร็จในการออก พ.ร.บ.กลาโหมในสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นั่นหมายความตอนนี้ไม่มีใครสามารถเข้าไปแทรกแซงการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงได้อีกนอกจากกองทัพด้วยกันเอง และตอนนี้กองทัพพอใจกับอำนาจอิสระของตนเองอย่างมาก นอกจากนี้ยังต้องการงบประมาณเพิ่มขึ้นตามคำขอทุกปี ซึ่งจะเห็นว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยไม่ได้ปฏิบัติอะไรต่อกองทัพที่มีความแตกต่างจากรัฐบาลประชาธิปัตย์ เมื่อกองทัพร้องขออะไรมาก็ให้หมดทุกอย่าง ดังนั้น ตราบเท่าที่มีรัฐธรรมนูญปี 2550 กองทัพไว้วางใจได้ว่าจะได้สิ่งที่ต้องการจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีความคุ้มที่จะเอารถถังออกมายึดอำนาจ

         “อย่ามองว่ากองทัพเป็นเครื่องมือของคนใดคนหนึ่ง เพราะเขาก็เป็นเครื่องมือของตัวเอง และย่อมทำอะไรเพื่อประโยชน์ของตัวเองก่อนคนที่จะใช้เครื่องมือ ตั้งแต่คุณยิ่งลักษณ์เป็นนายกฯคิดว่าความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับรัฐบาลราบรื่นและดีขึ้นตลอดเวลา”

          3.การรัฐประหารตั้งแต่หลัง 14 ตุลาคมเป็นต้นมาต้องได้รับพระบรมราชานุญาต ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความหลังจากการยึดอำนาจแล้วต้องได้ approval (พระบรมราชานุญาต) เช่น การเปิดโอกาสให้เข้าเฝ้าฯ ดังนั้น ทั้ง 3 ส่วนถ้าไม่ได้รับการร่วมมือตั้งแต่ต้น การทำรัฐประหารด้วยกำลังของกองทัพจะไม่เกิดขึ้น ซึ่งยังไม่ใช่จังหวะของช่วงนี้ จึงจำเป็นต้องระงับการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 โดยวิธีอื่น ซึ่งไม่รู้ว่าใครสั่งการใคร แต่ทิศทางต้องไปแบบนี้

          “รัฐธรรมนูญปี 2550 เป็นรัฐธรรมนูญที่สร้างสมดุลทางการเมืองที่กล่าวไปแล้วที่ปลอดภัย และเขาคิดว่ายุติธรรมพอสมควร เมื่อคุณมีอำนาจมากขึ้นก็เข้ามาเลือกตั้ง แต่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต้องอยู่ในการกำกับบ้าง ไม่ได้ปล่อยให้อิสระ ดังนั้น ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมีความซับซ้อนมากกว่าความผิดถูกทางกฎหมายและความหน้าด้านของคนไม่กี่คน”

           อย่างไรก็ดี เชื่อว่ามีประชาชนจำนวนมากกว่าคนเสื้อแดงและไม่ได้เลือกพรรคเพื่อไทยที่ต้องการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่กระนั้นคนกลุ่มนี้ยังไม่สามารถเป็นผู้นำในการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ เนื่องจากไม่มีเครื่องมือ เช่น พรรคการเมือง และการเคลื่อนไหวของประชาชนที่อาจารย์พนัสอธิบายว่าตัวศาลเองก็เปลี่ยนใจหลังจากเห็นการเคลื่อนไหวของประชาชนจำนวนมาก แต่การเคลื่อนไหวอย่างเดียวแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้

คนเสื้อแดงขาดอำนาจต่อรองกับพรรคเพื่อไทย

         สำหรับความเป็นไปได้ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญในอนาคตนั้น นายนิธิกล่าวว่า คิดว่าเป็นความยากที่ต้องอาศัยขั้นตอนอย่างมาก มีเอ็นจีโอกลุ่มหนึ่งเคยคิดว่าต้องตั้งพรรคการเมืองของตัวเอง ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะพรรคการเมืองไม่สามารถเกิดขึ้นด้วยอุดมการณ์เพียงอย่างเดียว คำถามต่อไปคือคนเสื้อแดงจะจัดองค์กรของตัวเองในลักษณะที่จะเข้าไปต่อรองกับพรรคการเมืองได้หรือไม่ คิดว่าไม่ได้เช่นกัน จากงานวิจัยของนายปิ่นแก้วพบว่าแกนนำของกลุ่มเสื้อแดงที่ฝางมีบางคนเชื่อมโยงถึงแกนนำระดับส่วนกลาง ฉะนั้นจึงมีองค์กรย่อยๆของเสื้อแดงที่ไม่ได้เชื่อมโยงกันเอง ซึ่งหมายความว่าเป็นการให้อำนาจกับคนที่อยู่แกนกลาง

        “ไม่ได้หมายความคนเหล่านั้นเป็นคนไม่ดี ผมไม่รู้ แต่แกนกลางเหล่านี้มีผลประโยชน์ส่วนตัวที่ต้องรักษา และไม่สามารถตอบสนองทุกอย่างของเสื้อแดงได้ ขณะเดียวกันเสื้อแดงแต่ละกลุ่มก็เล็กเกินที่จะบังคับแกนนำตรงกลางได้ เมื่อเป็นเช่นนี้กลไกการควบคุมพรรค หรือการจัดองค์กรในลักษณะแบบนี้ทำให้เสื้อแดงไม่มีอำนาจต่อรองในการดำเนินนโยบายของพรรคหรือแม้กระทั่งกลุ่มอย่างเพียงพอ ได้แต่สวมเสื้อแดงออกไปตามที่แกนนำระดับประเทศเรียกร้องเท่านั้น”


         นายนิธิกล่าวว่า ลองนึกเปรียบเทียบการชุมนุมไม่ว่าจะเป็นเสื้อเหลือง เสื้อแดง กับสมัชชาคนจน เป็นคนละเรื่อง ซึ่งสมัชชาคนจนเป็นองค์กรระดับแนวราบ จะมี “พ่อครัว” ซึ่งเป็นแกนนำกลุ่มย่อยเหล่านี้มาประชุมกันทุกวัน เพื่อตัดสินใจว่าจะทำอะไรต่อไป ถามว่าการเข้าไปจัดการเปลี่ยนองค์กรเหล่านี้เพื่อต่อรองเชิงนโยบายในระดับที่ใหญ่กว่า ไม่ว่าจะเป็นระดับของเสื้อแดง หรือพรรคการเมืองที่เสื้อแดงสนับสนุนก็ตาม คิดว่าในอนาคตอันใกล้ยังทำไม่ได้ แต่มีสิ่งหนึ่งที่พอจะทำได้คือเสื้อแดงทั้งประเทศเรียกร้องสิ่งเดียวกันคือต้องการ primary vote

primary vote ดึงอำนาจคืนมาจากพรรคการเมือง

           “คุณทักษิณเคยสัญญาในช่วงปลายการดำรงตำแหน่งว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไปจะให้มีการเลือกตั้งล่วงหน้าสำหรับพรรคไทยรักไทยทั้งหมด ซึ่งคิดว่าเป็นเรื่องดี ถ้าพรรคเพื่อไทยจะได้รับการหนุนจากเสื้อแดงต่อไปต้องยอมให้ประชาชนเป็นผู้เลือกผู้สมัครในแต่ละเขตเอง เพราะฉะนั้นถ้ามีเป้าหมายเดียวกันในการเล่นการเมือง อย่าคิดเรื่องการตั้งพรรคการเมืองหรือจัดองค์กรที่จะคุมพรรคการเมืองได้ ต้องขอขั้นแรกให้พรรคเพื่อไทยยอมจัดเลือกตั้งล่วงหน้าในหมู่สมาชิกพรรคที่จะส่งใครในแต่ละเขตเข้าสมัคร ส.ส. ก่อน เพียงแค่นี้จะพบว่าอำนาจในการควบคุม ส.ส. จะกลับมาอยู่ในมือของเราอย่างชัดเจน”

            นายนิธิกล่าวทิ้งท้ายว่า ทรรศนะส่วนตัวมองว่าการอภิปรายเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญในสภาเป็นเรื่องปาหี่ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล น่าประหลาดใจเมื่อช่วงแรกที่รองประธานรัฐสภามาทำหน้าที่ประธานก็มี ส.ส.ประชาธิปัตย์เสนอญัตติว่าเราพูดกันได้แต่ห้ามมีการโหวต แล้วสมาชิกพรรคเพื่อไทยทั้งหมดก็นั่งเฉยๆ ไม่มีใครลุกขึ้นค้าน จากนั้นก็เล่นปาหี่ต่อต้านคัดค้านอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญแล้วก็โหวตแพ้ ซึ่งก็รู้ตัวตั้งแต่ต้นว่าหายไป 13 เสียง ดังนั้น ทั้งหมดคือการเตรียมการเพื่อเล่นละครให้คนดูเท่านั้นเอง แต่ควรจะสบายใจได้ อย่างน้อยเมื่อทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านต้องเล่นละคร แสดงว่าประชาชนยังมีกำลังพอสมควรที่จะควบคุมได้ในภายหลัง

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 8 ฉบับ 370 วันที่ 28 กรกฎาคม – 3 สิงหาคม พ.ศ. 2555
หน้า 5-8 คอลัมน์ ข่าวไร้พรมแดน โดย ประชาธรรม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น