วันจันทร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ศาลริบอำนาจสถาปนา


ศาลริบอำนาจสถาปนา
ศาลริบอำนาจสถาปนา
Posted: 13 Jul 2012 11:35 PM PDT
(อ้างอิงจากเวบไซท์ประชาไท http://www.prachatai.com)
ใบตองแห้ง

เผยแพร่ครั้งแรกใน http://www.voicetv.co.th/blog/1237.html


          คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันศุกร์ 13 ที่ดูเหมือนว่าจะทำให้วิกฤติคลี่คลาย ความจริงหาใช่ไม่ เพราะกลับกลายเป็นหนังสยองขวัญเรื่องยาว มีผลร้ายกว่าที่คาดกันไว้


         ภาคเอกชนที่เฮ จนหุ้นบวก 17 จุด คงฟังไม่ได้ศัพท์จับไปกระเดียด ฟังแค่ไม่ได้ยุบพรรค ตัดสิทธิ ก็เฮกันแล้ว


คำว่า “ยกคำร้อง” ที่เป็นพาดหัวข่าว แท้จริงเป็นเพียงภาพลวงตา เพราะเนื้อหาสาระ แปลว่ารัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน อาจจะแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้เลย

‘คำแนะนำ’ อย่างนี้ก็มีด้วย

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นที่ 2 บอกว่า “รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้ ได้มาโดยการลงประชามติของประชาชน ก็ควรที่จะให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่า สมควรจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่”

ถามว่านี่เป็นคำวินิจฉัย หรือเป็นความเห็น หรือเป็นข้อเสนอแนะ “ควรที่จะให้”

           “ศาลเห็นว่าควรที่จะให้จำเลยติดคุก 10 ปี” ใครเคยได้ยินคำพิพากษาแบบนี้บ้าง ไม่มีหรอกครับ ถ้าศาลจะสั่งก็ต้องใช้คำว่า “ต้อง” ไม่ใช่ใช้ภาษาแทงกั๊กแบบนี้

           แถมหลังอ่านคำวินิจฉัย โฆษกศาลยังออกมาบอกว่าเป็นข้อเสนอแนะ เป็นความเห็น หากรัฐสภาดำเนินการต่อ ต้องรับผิดชอบเอง

ขณะที่จรัญ ภักดีธนากุล (ผู้เคยให้สัญญาประชาคมไว้ว่า รับร่างรัฐธรรมนูญก่อนค่อยแก้ทีหลัง แก้มาตราเดียวตั้ง สสร.แบบปี 2540 ได้) ก็บอกว่าศาลไม่ได้ห้ามรัฐสภาลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญวาระ 3 แต่หากฝืนลงมติก็อาจผิดมาตรา 68 ใครทำต้องรับผิดชอบเอง

         อ้าว เฮ้ย อย่างนี้ก็มีด้วย แบบนี้ภาษาจิ๊กโก๋แถวบ้านเขาเรียกว่า “วางสนุ้ก” ไม่บอกว่าผิดไม่ผิด แค่ให้คำแนะนำ ลองไปทำดู เดี๋ยวรู้เอง

มันไม่ใช่ “ข้อเสนอแนะ” หรือ “ความเห็น” แต่มันกลายเป็นคำพิพากษาไปเสียแล้ว

         นี่มันแย่ยิ่งกว่าการชี้ขาดลงไปว่า “ห้ามแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ” เพราะถ้าแบบนั้น รัฐสภาก็จะได้เดินหน้า แก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราทันที โดยเริ่มจากแก้บทบัญญัติเกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญก่อน

แต่นี่กลับทำให้พะวักพะวง ไม่รู้จะเริ่มต้นตรงไหนแน่

         แล้วคอยจับตาดูให้ดีนะครับ เพราะยังต้องรอคำวินิจฉัยกลางที่เป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งก็ไม่รู้จะว่าเปลี่ยนแปลงถ้อยคำอีกหรือเปล่า เพราะคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญดิ้นได้ จำไม่ได้หรือ คดีไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์ ตอนแถลงบอกว่าขาดอายุความ แต่พอออกคำวินิจฉัยกลาง บอกว่า 1 เสียงเห็นว่าขาดอายุความ อีก 3 เสียงชี้ว่านายทะเบียนพรรคการเมืองยังไม่ได้ลงความเห็น โผล่มาจากไหนไม่ทราบ

ขยายเขตกินแดนซ้ำ

        คุณวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ ตั้งข้อสังเกตไว้แต่แรกว่าการตั้งประเด็นของศาลไม่ชอบมาพากล คือตั้งไว้ 4 ประเด็น ได้แก่


  • 1.ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับคำร้องตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่
  • 2.การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 สามารถแก้ไขเพิ่มเติมทั้งฉบับได้หรือไม่
  • 3.การกระทำของผู้ถูกร้องเป็นการล้มล้างการปกครองฯ ตามมาตรา 68 หรือไม่
  • 4.มีความผิดต้องยุบพรรคตัดสิทธิหรือไม่


          เพราะอันที่จริงประเด็นของคดีมีเพียงว่า ศาลมีอำนาจรับคำร้องตามมาตรา 68 หรือไม่ และการกระทำของผู้ถูกร้องผิดตามมาตรา 68 หรือไม่ แต่นี่ศาลกลับขยายประเด็นมาตีความมาตรา 291 ทั้งที่ไม่ใช่ประเด็นของคดี และไม่อยู่ในอำนาจศาล

         มิพักต้องพูดถึงว่า การอ้างอำนาจรับคำร้องตามมาตรา 68 นั้นก็เป็นการใช้อำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ เกินกว่าที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจอยู่แล้ว

พอก้าวล่วงมาใช้อำนาจตีความมาตรา 291 โดยที่ไม่เกี่ยวกับประเด็นของคดี ศาลจึงใช้คำว่า “ความเห็น” “ข้อเสนอแนะ” เพราะรู้อยู่แก่ใจว่ามาตรา 291 ไม่มีตรงไหนห้ามแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ศาลไม่กล้าวินิจฉัยว่า “ห้ามแก้ทั้งฉบับ” เพราะจะขัดรัฐธรรมนูญเสียเอง จึงเลี่ยงไปออกความเห็น แต่ก็สำทับด้วยคำขู่ เมริงลองไม่ทำตามดูสิ เดี๋ยวจะรู้สึก

ม.68 ใช้ได้ทุกเมื่อ

         คำวินิจฉัยของศาลในประเด็นที่ 1 ศาลมีอำนาจรับคำร้องตามมาตรา 68 ไม่ได้เป็นที่น่าแปลกใจ ก็เอาข้างถูมาซะขนาดนี้แล้ว จะให้บอกว่าไม่มีอำนาจได้อย่างไร

         แต่นัยสำคัญในคำวินิจฉัยครั้งนี้คือ ศาลได้เอาเท้าแช่น้ำไว้ พร้อมจะใช้มาตรา 68 ขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ทุกเมื่อ หากมีผู้ร้อง ซึ่งก็คือพรรคแมลงสาบหรือพันธมารนั่นเอง

ดูคำวินิจฉัยที่ซ่อนไว้ในประเด็นที่ 3 ก็จะเห็น

          “อย่างไรก็ตาม หากสภาร่างรัฐธรรมนูญได้ร่างรัฐธรรมนูญที่มีลักษณะเปลี่ยนแปลงการปกครองในระบอบประชาธิปไตย หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขบทบัญญัติในหมวดว่าด้วยพระมหากษัตริย์แล้ว ทั้งประธานรัฐสภาและสภาฯ ก็มีอำนาจยับยั้งร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอันตกไปได้

          รวมทั้งหากบุคคลใดทราบว่ามีการกระทำเพื่อล้มล้างระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ตามรัฐธรรมนูญนี้ ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวก็ยังมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริง และยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวในทุกช่วงทุกเหตุการณ์ ที่บุคคลนั้นทราบ ตามที่มาตรา 68 ยังมีผลบังคับใช้”

         นี่แปลว่าต่อให้แก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา แมลงสาบกับพันธมารนึกอยากร้องสกัดขัดขวางเมื่อไหร่ก็ร้องได้ “ทุกช่วงทุกเหตุการณ์”

          นี่แปลว่าอะไร แปลว่าจากข้อกล่าวหาตลก ไร้สาระ แม้ศาลยกคำร้อง แต่ศาลก็ได้สถาปนาอำนาจตัวเองไว้เหนือรัฐธรรมนูญ เหนือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พร้อมจะใช้อำนาจตามมาตรา 68 ระงับยับยั้งหรือวินิจฉัยว่ารัฐบาลและรัฐสภามีความผิด ตัดสิทธิ ยุบพรรค ได้ทุกเมื่อ

          วิกฤติที่คิดว่าคลี่คลายแล้วจึงไม่ใช่หรอกครับ แต่กลายเป็นวางสนุ้กไว้ พร้อมสยองขวัญได้ทุกวัน ไม่จำกัดเฉพาะศุกร์ 13

         เอ้า สมมติรัฐบาล รัฐสภา ใช้มาตรา 291 เสนอแก้ไขรายมาตรา เฉพาะบทบัญญัติว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญ พวกแมลงสาบพันธมารก็จะไปร้องว่าส่อเจตนาล้มล้างระบอบฯ โค่นล้มศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นเสาหลักปักป้องรัฐธรรมนูญมรดกรัฐประหาร เราก็จะได้มาลุ้นระทึก เตรียมพร้อมรบราฆ่าฟันกันอีก ซึ่งก็ไม่แน่เหมือนกัน ถ้ารัฐบาลบริหารไปเกิดภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่ เสถียรภาพไม่มั่นคง มีฐานมวลชนน้อยลง ก็อาจโป๊ะเชะ ล้มทั้งยวง

         เผลอๆ ประชาชน 5 หมื่นคนไปเข้าชื่อกัน ตามที่จรัญ ภักดีธนากุล ให้สัญญาประชาคมไว้ อาจจะได้ติดคุกระนาว

         ที่น่ากังขายังได้แก่ถ้อยคำที่ใช้ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ตามรัฐธรรมนูญนี้” ต้องรอดูคำวินิจฉัยที่เป็นลายลักษณ์อักษรอีกที ว่าจะเอามาเขียนติดกันไหม เพราะถ้าเขียนติดกันก็เท่ากับตีความอย่างคำนูณ สิทธิสมาน ที่อ้างว่าระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2550 เท่านั้น ใครจะมาเปลี่ยนแปลงองค์กรอิสระ อำนาจ องค์ประกอบ ที่มา จะปรับโครงสร้างของรัฐธรรมนูญไม่ได้เลย

         ถ้าเป็นอย่างนั้นก็อุบาทว์ละครับ แปลว่าอำนาจอธิปไตยของปวงชนไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้เลย ต้องใช้รัฐธรรมนูญรัฐประหาร ผลงานของจรัญ ภักดีธนากุล ที่บอกให้ชาวบ้านรับไปก่อน แก้ทีหลัง ไปชั่วกัลปาวสาน


มั่ว ‘อำนาจสถาปนา’

            คำวินิจฉัยในประเด็นที่ 2 ที่พูดถึงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ เป็นส่วนที่ชาวบ้านฟังแล้วงงงวยที่สุด ก็ทำไมจะไม่เป็นอย่างนั้นในเมื่อตรรกะขัดกันเอง อย่างที่คุณวีรพัฒน์บอกว่าแก้ทั้งฉบับต้องถามประชาชนก่อน แต่แก้ทีละมาตรา ไม่ต้องถามประชาชน ฉะนั้นถ้าจะแก้ทีละมาตรา หมด 300 มาตรา สภาทำได้ ไม่ต้องถามประชาชน? เป็นตรรกะที่ผิดเพี้ยนมาก เอาคำหรูเช่น "อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ" มาอ้าง ก็ไม่ได้ช่วยให้มีตรรกะแต่อย่างใด

            มันผิดเพี้ยนตั้งแต่ศาลรับคำร้องตามมาตรา 68 แล้วครับ ไม่ใช่แค่เรื่องกระบวนการว่าต้องผ่านอัยการสูงสุดก่อน แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจของรัฐสภา เป็นอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจไปก้าวล่วง เพราะศาลรัฐธรรมนูญเองก็ต้องอยู่ใต้รัฐธรรมนูญอีกทีหนึ่ง

             ที่จริงนิติราษฎร์เป็นผู้ใช้คำนี้ก่อน แต่ศาลรัฐธรรมนูญกลับฉวยมาอธิบายเสียจนกลายเป็นว่ารัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้ ต้องผ่านการลงประชามติ

             ประเด็นนี้ให้ดูคำอธิบายของจรัญ ภักดีธนากุล จะง่ายกว่า จรัญอ้างว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับไม่ถูกต้องตามมาตรา 291 (ฉะนั้นที่ตัวเองพูดไว้ก็ไม่ถูกต้อง)

             “เนื่องจากรัฐสภาต้องเป็นผู้แก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยตนเอง จะมอบให้องค์กรอื่นที่ไม่ใช่องค์กรของรัฐสภา เป็นผู้ดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือยกเลิกไม่ได้ เพราะอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของปวงชนชาวไทยเป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริงใช่ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง การจะทำโดยสร้างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมาก็ต้องถามประชาชน เพื่อให้ได้รับฉันทานุมัติของประชาชนก่อน”

             นี่ก๊อปมาจากผู้จัดการ ASTV ขอบอกว่าจรัญไม่มั่วก็เข้าใจผิดอย่างร้ายแรง คล้ายๆ กับที่วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ อ้างว่ารัฐสภาขายขาดไม่รับคืน โยนกลองไปให้ สสร.แก้

             รัฐสภาไม่ได้มอบอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญให้กับ สสร.ไปเลยนะครับ รัฐสภาเพียงแต่มอบหมายให้ สสร.ไปยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยระหว่างนั้น อำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ยังอยู่กับรัฐสภาตามมาตรา 291 เดิม ซึ่งก็ยังใช้อยู่ ยังไม่ได้ยกเลิกไปไหน ระหว่างที่ สสร.ร่างรัฐธรรมนูญ สมมติมีความจำเป็นเร่งด่วนต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราใด รัฐสภาก็ยังแก้ไขได้ ยังมีอำนาจ ฉะนั้นที่บอกว่ามอบให้องค์กรอื่นที่ไม่ใช่องค์กรของรัฐสภาเป็นผู้ดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงไม่ถูกต้อง

            รัฐสภาเองนั่นแหละ คือผู้ดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพียงแต่มอบหมายให้ สสร.เป็นผู้ยกร่าง แล้วก็ไม่ใช่ว่าร่างเสร็จใช้ได้เลย สสร.ไม่ได้เป็นผู้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ ไม่ได้เป็นผู้ใช้อำนาจยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 ประชามติของประชาชนต่างหาก ที่เป็นผู้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550

           อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญจึงยังเป็นของปวงชนชาวไทย ไม่ได้สูญหายไปไหนเลย ไม่ได้ไปอยู่กับ สสร.(ถึงแม้ สสร.มาจากการเลือกตั้ง) รัฐสภาดำเนินการให้มี สสร.เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาเปรียบเทียบ ระหว่างยกร่างนั้นรัฐธรรมนูญ 2550 ก็ยังอยู่ ไม่ได้มีใครมาฉีก ยกร่างเสร็จจึงให้ประชาชนลงประชามติ ว่าจะเอารัฐธรรมนูญ 2550 ไว้หรือเลือกรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นี่ต่างหากคือฉันทานุมัติของประชาชน ซึ่งไม่จำเป็นต้องถามก่อน

          เพราะถ้าถามก่อน ก็ไม่ควรถามเพียงว่าแก้หรือไม่แก้ แต่เราควรจะถามว่า ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 เสียดีไหม ซึ่งก็มีคำถามอีกว่าอ้าว ยกเลิกแล้วจะใช้อะไร จะกลับไปใช้รัฐธรรมนูญ 2540 ก็ไม่ได้ วุ่นวายไปหมด

         อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญยังเป็นของปวงชนชาวไทย แต่ตอนนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้ก้าวล่วงเข้ามาบังคับกะเกณฑ์อยู่เหนืออำนาจนั้นเสียแล้ว ตามคำร้องของผู้ที่พ่ายแพ้การเลือกตั้ง กลัวการเลือกตั้ง และกลัวการลงประชามติ หรือกลัวอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญของปวงชนนั่นเอง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล
คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น