วันเสาร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2556

"สวนดุสิตโพลล์" แนะ "รัฐบาล-ชาวนา" พบกันครึ่งทาง เสนอเพิ่มราคาจำนำและควบคุมการใช้จ่ายเงินให้เข้มงวด!



"สวนดุสิตโพล" เผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,310 คน กรณีรัฐบาลประกาศปรับลดราคารับจำนำข้าวเปลือกปี 56 ลงเหลือ 12,000 บาท/ตัน พร้อมจำกัดวงเงินการรับซื้อข้าวจากเกษตรกรไว้ที่ไม่เกินรายละ 500,000 บาท โดยสำรวจ ระหว่างวันที่19-22 มิถุนายน  2556  สรุปผลดังนี้

ประชาชนเห็นด้วยหรือไม่กับ การปรับลดราคารับจำนำข้าวเปลือกปี 56 ลงเหลือ 12,000บาท/ตัน จาก 15,000 บาท/ตัน และให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 56
ร้อยละ 59.16 ไม่เห็นด้วย เพราะส่งผลกระทบต่อชาวนาซึ่งได้รับความเดือดร้อนโดยตรง เนื่องจากมีการลงทุนซื้อปุ๋ย ซื้อยา ค่าน้ำมันไปแล้ว ชาวนาต้องสูญเสียรายได้ ขาดทุน  ควรแก้ที่ต้นเหตุของปัญหาที่แท้จริงจะดีกว่าไม่ใช่มาแก้ที่ปลายเหตุ ฯลฯ
ร้อยละ 25.19 เห็นด้วย เพราะ ช่วยลดภาระของรัฐบาลที่แบกรับมานาน ราคาที่ตั้งไว้ 15,000 บาทสูงเกินไป ควรอิงกับราคาของตลาด จะได้ ไม่ขาดทุนหรือมีการทุจริตเกิดขึ้นในโครงการ  ฯลฯ
ร้อยละ 15.65 ไม่แน่ใจ เพราะถึงอย่างไรชาวนาก็ยังปลูกข้าวตามปกติ จำนวนข้าวที่เหลือกับข้าวที่กำลังเก็บเกี่ยวรัฐบาลจะดำเนินการอย่างไร ควรศึกษาให้รอบคอบดูต้นทุนการผลิตด้วยว่าชาวนาต้องจ่ายไปเท่าไหร่ และดูสถานการณ์ของเศรษฐกิจโลกด้วย ฯลฯ

ประชาชนเห็นด้วยหรือไม่กับการจำกัดวงเงินการรับซื้อข้าวจากเกษตรกรไว้ที่ไม่เกินรายละ 500,000บาท
ร้อยละ 42.75 เห็นด้วย เพราะ รัฐบาลสามารถควบคุมการใช้เงินได้ โครงการจะได้ดำเนินต่อไป ทั้งรัฐบาลและชาวนาควรจะช่วยเหลือกันคนละครึ่งทาง ฯลฯ
ร้อยละ 35.11 ไม่เห็นด้วย เพราะ เรื่องที่เกิดขึ้นมาจากการบริหารงานที่ผิดพลาดของรัฐบาล ไม่ควรแก้ปัญหาโดยให้ชาวนาต้องได้รับความเดือดร้อน ฯลฯ
ร้อยละ 22.14 ไม่แน่ใจ เพราะ ชาวนาแต่ละรายปลูกข้าวในแต่ละปีมีจำนวนมากน้อยแตกต่างกัน ควรอิงราคาตลาดและดูสถานการณ์ของเศรษฐกิจโลกก่อน  ฯลฯ

ประชาชนคิดว่า ทางออก” ในการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ที่จะไม่ทำให้เหตุการณ์บานปลายไปมากกว่านี้ ควรทำอย่างไร
ร้อยละ 29.96 เร่งดำเนินการกับผู้ที่กระทำความผิด ผู้ที่ทุจริต สวมสิทธิ์  โกงตาชั่ง โกงความชื้น
ร้อยละ 23.82 ควรมีมาตรการรองรับเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการปรับลดครั้งนี้
ร้อยละ 20.94 รัฐบาลต้องลงพื้นที่ด้วยตนเอง ชี้แจงข้อมูล เหตุผลต่างๆให้ชาวนาได้เข้าใจถึงความจำเป็นอย่างละเอียด
ร้อยละ 17.68 ควรลดต้นทุนการผลิต ควบคุมราคาปุ๋ย น้ำมัน พัฒนาแหล่งน้ำแทนจะดีกว่า

ร้อยละ 07.60 เร่งหาตลาดเพื่อระบายข้าวที่ยังมีอยู่ให้หมดไป ก่อนที่ข้าวจะเน่าและขาดทุนมากกว่านี้  

"ยิ่งลักษณ์" ย้ำโครงการรับจำนำข้าว ประชาชนได้ประโยชน์


นางสาวยิ่งลักษณ์ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กับนายธีรัตถ์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชนว่า ตั้งแต่ที่รัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศเมื่อสองปีก่อน ต้องการที่จะแก้ปัญหาเรื่องของความยากจนของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะเกษตรกรอย่างไร ดังนั้นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลคือการเข้าไปพยุงราคาสินค้าหรือราคาข้าวให้ดีขึ้น จึงเป็นที่มาของโครงการรับจำนำข้าวที่เป็นนโยบายเร่งด่วนในปีแรก
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า หลายฝ่ายอาจมองว่าโครงการรับนำจำข้าวขาดทุน แต่จริง ๆ แล้วต้องเรียกว่าเป็นการจัดสรรงบประมาณในการดูแลช่วยเหลือเพื่อคุณภาพชีวิตของชาวนา เช่นเดียวกันกับผู้ใช้แรงงานที่เรามีการปรับเรื่องของรายได้ขั้นต่ำ 300 บาท ซึ่งเงินทุกบาททุกสตางค์จะใช้ไปในการหมุนเวียนระบบเศรษฐกิจมากขึ้น และได้ภาษีกลับคืนกลับมาสู่ระบบ พร้อมๆ กับทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตมากขึ้น
อย่างไรก็ตามการปรับลดเงื่อนไขการรับจำนำข้าวนั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เป็นการนำเสนอจากคณะกรรมการข้าวแห่งชาติ ประกอบกับรัฐบาลที่ต้องรักษาสมดุล และทำให้ราคาสะท้อนราคาตลาดโลก เพราะที่ผ่านมาจากการคำนวณของโครงการรับนำจำข้าว รัฐบาลยึดในราคาตลาดโลกระดับหนึ่ง แต่เมื่อผ่านไปปีกว่าราคาตลาดโลก ไม่ได้ปรับขึ้นอย่างที่คิด ประกอบกับค่าเงินบาทที่แข็งทำให้การขายข้าวทำได้ยาก และประเทศเพื่อนบ้านก็มีปริมาณข้าวที่มากขึ้นด้วยในระบบ จึงต้องปรับลดลงราคาลงมาบ้าง ขณะเดียวกัน ถ้าราคาตลาดโลกสูงขึ้นเราก็ปรับราคาสูงขึ้นเพื่อให้ยืดหยุ่นตามกลไกการตลาด นอกจากนี้เราต้องรักษาวินัยการเงิน การคลังเพื่อทำให้เศรษฐกิจของเราเติบโตอย่างยั่งยืนเพื่อให้นักลงทุนมั่นใจกับการดำเนินงานของรัฐบาล นอกจากนี้นายกรัฐมนตรียังกล่าวด้วยว่าการแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรในระยะยาว คือการปฏิรูปเน้นเกษตรโซนนิ่ง ด้วยการปรับว่าพื้นที่ไหนจะเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมในการเพาะปลูกอะไร เพื่อให้ได้ผลผลิตที่สูงสุด
นายลักษณ์ วจนานวัช กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธกส. ยืนยันว่าในช่วงเวลา 2 ปีของโครงการรับจำนำข้าวทาง ธกส. ได้โอนเงินโดยตรงเข้าบัญชีชาวนาแล้วกว่า 4 ล้านรายคิดเป็นมูลค่ากว่า 628,947 ล้านบาท โดยเกษตรกรถึง 97.8% เห็นว่าโครงการมีส่วนช่วยลดภาระหนี้สินทั้งในและนอกระบบ 93.7% บอกว่าพอใจต่อโครงการ และ 85.4% บอกว่าทำให้มีเงินฝากมากขึ้น
กรรมการผู้จัดการ ธกส.กล่าวอีกด้วยว่าโครงการรับจำนำข้าวที่ผ่านมาไม่กระทบฐานะทางการเงินของทางธนาคารเพราะดำเนินการตามกรอบที่ได้วางเอาไว้ ที่สำคัญกลับทำให้หนี้สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ของธนาคารลดลงจากระดับ 6.57% ในปี 2554 เหลือเพียง 3.95% ในปี 2556 ขณะที่ยอดเงินฝากของธนาคารเพิ่มขึ้นถึง 71.32% จากระดับ 146,358 ล้านบาทในปี 2554 มาเป็น 250,740 ล้านบาทในปัจจุบัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น