วันศุกร์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2556

“การเมือง” ในชื่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง

“การเมือง” ในชื่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง

เมื่อเรากล่าวคำว่า “ฉันรักธรรมศาสตร์เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน” เราไม่สามารถแยกแยะได้ใช่หรือไม่ว่า คณะไหนควรจะเป็นคนสอน นิติศาสตร์  รัฐศาสตร์  สายวิทยาศาสตร์หรือ สุขศาสตร์ ? หากแต่น่าจะเป็นภารกิจของทุกคณะในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  เช่นเดียวกับที่เราต้องการจะปลูกฝังคุณลักษณะของบัณฑิตธรรมศาสตร์ให้มี “จิตวิญญาณธรรมศาตร์” เราก็ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะใคร หรือคณะไหน หากแต่ควรเป็นทุกสิ่งทุกอย่างที่กอปรขึ้นเป็นธรรมศาสตร์ได้หล่อหลอมจิตวิญญาณนี้ให้กับชาวธรรมศาตร์
การออกมาคัดค้านการเปลี่ยนชื่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไปเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ด้วยเหตุผลว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่ได้จัดการสอนเฉพาะด้านสังคมศาสตร์อีกต่อไปแล้ว ทำให้คณะอื่นๆ จะรู้สึกถึงการเลือกปฏิบัติ   และ คำว่า “การเมือง” อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด เกิดผลกระทบต่อมหาวิทยาลัยเมื่อมีสถานการณ์ทางการเมือง และทำให้มหาวิทยาลัยอื่นที่เปิดสอนด้านรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์โดดเดี่ยวมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพราะประกาศเป็นมหาวิทยาลัยที่โดดเด่นอยู่เพียงแห่งเดียว
โดยความเห็นส่วนตัวผมคิดว่า ข้อเสนอข้างต้นยกเหตุผลที่จำกัดอยู่กับถ้อยคำของภาษา มองภาษาแบบหยุดนิ่งตายตัวและไม่เชื่อมโยงกับความหมายทางสังคมอยู่มาก
ประการแรก  “การเมือง” ไม่ใช่เรื่องเฉพาะจำกัด แต่ในคณะรัฐศาสตร์ หรือนิติศาสตร์เท่านั้น หากแต่การเมืองเป็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวัน  เป็นเรื่องของคนทุกคนทั้งในฐานะผู้แสดง และผู้ร่วมในสถานการณ์  จะเห็นได้ว่าการออกมาให้ความเห็นต่อสาธารณะในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเมืองของคนธรรมศาสตร์ ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะคณะ   เช่น อาจารย์สมศักดิ์ คณะศิลปศาสตร์ที่เรียกร้องการปฏิรูปสถาบัน    กลุ่มอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ที่ลงชื่อไม่เห็นด้วยกับโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล   อาจารย์ธีรยุทธ บุญมี อดีตอาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ที่เคยออกมาวิจารณ์รัฐบาลเป็นประจำทุกปี  ศิษย์เก่าของคณะวารสารศาสตร์ ที่คัดค้านการใช้สถานที่มหาวิทยาลัยเคลื่อนไหวเกี่ยวกับมาตรา 112  หรือแม้แต่ตอนเหตุการณ์ขับไล่รัฐบาลทักษิณก็มีรายชื่อคณาจารย์คณะแพทย์ศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ร่วมอยู่ด้วย (ดู  การประท้วงขับทักษิณ ชินวัตรออกจากตำแหน่ง http://th.wikipedia.org/wiki) การเมืองในความหมายปัจจุบันถูกทำให้กลายเป็นเรื่องผลประโยชน์ และจำกัดอยู่กับเฉพาะการเมืองในระบบรัฐสภา ทำให้การเมืองเป็นเรื่องสกปรกไม่ควรเข้าไปเกี่ยวข้อง ทำให้เสียภาพลักษณ์ วิธีคิดแบบนี้นอกจากจะทำให้เกิดความเฉยชาทางการเมืองแล้ว ยังลดทอนการทำหน้าที่ของอาจารย์มหาวิทยาลัยเหลือเพียงการสอนตามตัวชี้วัดที่จะได้คะแนนตามเกณฑ์การประกันคุณภาพการศึกษา และเพิกเฉยต่อความเป็นไปของบ้านเมือง
ประการที่สอง ชื่อ ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ชื่อ และความหมายของถ้อยคำที่ใช้ประกอบกันเป็นรูประโยค แต่ชื่อหมายถึงเอกลัษณ์ ที่ต่างจากมหาวิทยาลัยอื่น เป็นความเหมือนกันในความแตกต่างของคนธรรมศาสตร์  ชื่อจึงเป็นระบบสัญญะที่เมื่อเอ่ยชื่อแล้วทำให้เห็นภาพเสมือนของเรื่องราวมากมายที่มีประวัติศาสตร์ มีรากเหง้าของความคิด วัฒนธรรม บุคลิกลักษณะของคนที่รวมกันเป็นประชาคมธรรมศาสตร์ ฉะนั้นความหมายของชื่อจึงไม่ได้ประกอบสร้างขึ้นจากถ้อยคำ หากแต่มีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวโยงสืบเนื่อง กับความทรงจำร่วมกันของสังคม ทั้งความสัมพันธ์ของคนในธรรมศาสตร์ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลา  6 ตุลา  เหตุการณ์เดือนพฤษภา 35 และ53 ทั้งปรีดี ป๋วย สัญญา  หรือแม้แต่อธิการบดีอีกหลายคนของธรรมศาสตร์ทั้งอดีตและปัจจุบัน กระทั่งถึง “คณะราษฏร์”  “คณะนิติราษฏร์”   “สมศักดิ์ เจียม” เหล่านี้มันเชื่อมโยงกับความทรงจำร่วมที่มีต่อประวัติศาสตร์ของคำว่า “การเมือง” ของคนธรรมศาสตร์ และกลายเป็นบุคคลิกเฉพาะของมหาวิทยาลัยที่ยืนอยู่เคียงข้างประชาชนในเหตุการณ์ทางการเมือง ซึ่งกำลังค่อยๆ เสื่อมถอยลงในปัจจุบัน
ประการที่สาม  การผลิตสร้าง ความเป็นธรรมศาสตร์ หรือจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากเราไม่รื้อฟื้น กระตุ้นเตือน “ความทรงจำร่วมกัน”  ให้เกิดต่อสถานที่  ต่อแบบแผนการประพฤติปฏิบัติของคนในธรรมศาตร์  ตลอดจนซึมซับเข้าไปในการเรียนการสอน ของอาจารย์- นักศึกษาธรรมศาสตร์  ความทรงจำร่วมกันจะเกิดขึ้นได้เมื่อมันผูกโยงเข้ากับระบบสัญลักษณ์ ที่ผลิตสร้างความหมายผ่านการกระทำของคนในธรรมศาสตร์ ถ้าระบบสัญลัษณ์เหล่านี้ถูกทำลายลงไปเรื่อย ๆ ความเป็นธรรมศาสตร์ หรือจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ ย่อมสูญสลาย การสูญสลายนี้ไม่ได้หมายถึงสัญลักษณ์ความเป็นธรรมศาตร์สูญสลาย แต่มันหมายถึง จิตวิญญาณ ที่มันมีความทรงจำร่วมกัน  ดังคำกล่าวของ เปลื้อง วรรณศรีที่ว่า  “หากขาดโดมเจ้าพระยา ท่าพระจันทร์ ก็เหมือนขาดสัญลักษณ์พิทักษ์ธรรม”  ด้วยเหตุนี้  จึงต้องตัดคำว่าการเมืองออกจากชื่อมหาวิทยาลัย ในสมัยเผด็จการทหาร หรือแม้แต่  เพลงประจำมหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ทำนองมอญดูดาว)ที่มีเนื้อความว่า   "ไทยจะเฟื่อง ไทยจะรุ่งเรือง ก็เพราะการเมืองดี"  ก็ถูกแทนที่ด้วย เพลงพระราชนิพนธ์ยูงทอง  การกลับมาใช้ชื่อมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากต่อการสร้าง สำนึกร่วมกันของคนในธรรมศาสตร์ สืบทอดผลิตซ้ำอุดมการณ์ของคณะราษฏร์ ของผู้ประศาสน์การ ปรีดี พนมยงค์ให้สังคมรับรู้
เหตุผลของการคัดค้านการเปลี่ยนชื่อมหาวิทยาลัยเป็น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ของกลุ่มที่เรียกตนเองว่า “ผู้แทนประชาคม มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์”  จึงลดทอน และเปลี่ยนความหมายของคำว่า “การเมือง” ซึ่งเดิมเป็นการเมืองที่ยึดโยงอยู่กับประชาชน  ยึดโยงอยู่กับคนเล็กคนน้อยในสังคม  อันเป็นเอกลักษณ์ของมหาวิทยาลัย ให้เหลือเพียงการเมืองในระบบภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้ง และทำให้ความหมายของมหาวิทยาลัยเป็นเพียงสถาบันที่ทำหน้าที่สอน ผลิตงานวิชาการ ที่มีลักษณะแข็งทื่อตายตัว เกาะกุมอยู่กับความหมายองค์กร สถาบัน และภาพลักษณ์ที่ตื้นขืนภายใต้ความขลาดกลัวผลกระทบอันอาจจะเกิดขึ้นจากคำว่า “การเมือง” 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น