วันศุกร์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2556

รายงาน: ชำแหละรายงาน กสม. ความตายในอุ้งมือนักสิทธิมนุษยชน


รายงาน: ชำแหละรายงาน กสม. ความตายในอุ้งมือนักสิทธิมนุษยชน

Thu, 2013-08-15 22:55

ปราชญ์ ปัญจคุณาธร

          สรุปความเห็นของ กสม. เกี่ยวกับการกระทำของผู้ชุมนุม นปช. และการกระทำของรัฐบาล/เจ้าหน้าที่รัฐ กับ 8 ข้อวิจารณ์รายงาน กสม. ว่าด้วยการชุมนุม-สลายชุมนุม 53


            สัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้เผยแพร่ "รายงานผลการตรวจสอบเพื่อมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย กรณีการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ระหว่างวันที่ 12-19 พฤษภาคม 2553" ออกมาอย่างเงียบๆ (อ่านรายงานดังกล่าวที่นี่) หลังจากใช้เวลาเขียนรายงานฉบับนี้ถึง 3 ปี. กสม. แบ่งเนื้อหารายงานออกเป็น 8 ประเด็น. ในแต่ละประเด็น กสม. ให้ความเห็นเกี่ยวกับการกระทำของผู้ชุมนุม นปช. และการกระทำของรัฐบาล/เจ้าหน้าที่รัฐ (ยกเว้นในประเด็นแรก ซึ่ง กสม. พูดถึงเฉพาะการกระทำของผู้ชุมนุม) ตารางต่อไปนี้ สรุปความเห็นของ กสม. ในแต่ละประเด็นโดยสังเขป.


ความเห็นของ กสม. เกี่ยวกับ ผู้ชุมนุม
ความเห็นของ กสม. เกี่ยวกับ รัฐบาล/เจ้าหน้าที่รัฐ
1. กรณีสถานการณ์ก่อนวันที่ 7 เมษายน 2553

"ผู้ร่วมชุมนุมส่วนหนึ่งได้เคลื่อนย้ายไปชุมนุมบริเวณสี่แยกราชประสงค์… ส่งผลกระทบต่อธุรกิจสําคัญ  รวมทั้งก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อการประกอบอาชีพและการดํารงชีวิตตาม  ปกติสุขของประชาชนโดยทั่วไป  อันเป็นการใช้เสรีภาพที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น […] โดยเหตุการณ์นี้นํามาซึ่งการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเวลาต่อมา" (หน้า 30)
-
2.1 กรณีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น)ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและสั่งจัดตั้งศูนย์อําานวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2553

"ปรากฏภาพและเสียงการปราศรัยของแกนนํากลุ่ม นปช. ที่มีลักษณะเป็นทํานองยั่วยุ ปลุกระดมผู้ชุมนุมให้ก่อความรุนแรงในบ้านเมืองเรื่อยมา" (หน้า 35)

"มาตรการที่มีผลเป็นการจําากัดสิทธิและเสรีภาพดังกล่าวอยู่ภายใต้ขอบเขตที่กฎหมายให้อํานาจไว้  และเป็นการจํากัดเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนส่วนรวมในระหว่างที่สถานการณ์  บ้านเมืองเกิดความไม่สงบ อันมีเหตุความจําเป็นและเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว" (หน้า 38)
2.2 กรณีที่ศอฉ. สั่งระงับการออกอากาศสถานีโทรทัศน์พีเพิลชาแนล(PTV)

"การปราศรัยของแกนนําานปช. หลายคร้ัง  ที่มีลักษณะเป็นทําานองยั่วยุปลุกระดมผชุมนุมให้ก่อ  ความรุนแรงและความไม่สงบในบ้านเมืองอันเป็นภัยต่อความมั่นคง  ในขณะที่สถานการณ์บ้านเมือง  เกิดความวุ่นวายและเหตุการณ์ไม่สงบอย่างต่อเนื่อง  อันเข้าข่ายเป็นการกระทําให้ปรากฏแก่ประชาชนซึ่งมิใช่เป็นการกระทําภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดความปั่นป่วน  หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในบ้านเมือง" (หน้า 40)
"[การปิด PTV] เป็นการกระทําภายใต้ขอบเขตที่กฎหมายให้อําานาจไว้แล้ว และเป็นการกระทําเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างที่สถานการณ์บ้านเมืองเกิดความไม่สงบ ประกอบกับเมื่อพิจารณาจากเจตนารมณ์ในการใช้มาตรการดังกล่าวแล้วก่อให้เกิดผลต่อประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าผลกระทบที่มีต่อกลุ่มบุคคลที่ถูกจํากัดสิทธิและเสรีภาพ กรณีจึงเป็นการจำเป็นเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว" (หน้า 40)

2.3 กรณีที่ศอฉ. สั่งระงับการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อสิ่งพิมพ์และสื่ออินเทอร์เน็ตบางสื่อ

"มีเว็บไซต์  ที่ถูกปิดก้ันหลายเว็บไซต์  นอกจากมีเนื้อหาที่เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงแล้ว ก็ยังมีเนื้อหาสาระอื่นที่หลากหลายซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูลข่าวสารที่ต้องห้าม" (หน้า 43)

(รายงาน กสม. ไม่ได้กล่าวถึงสื่อสิ่งพิมพ์ แต่อย่างใด)
"มาตรการของรัฐที่มีผลเป็นการระงับการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านสื่ออินเทอร์เน็ตเป็นการใช้อํานาจ ภายใต้ขอบเขตที่กฎหมายให้อําานาจไว้  อย่างไรก็ตามการดําาเนินการตามอํานาจดังกล่าวของรัฐเป็นการจํากัดเสรีภาพในการเสนอข่าวสารหรือแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชนที่เกินความเหมาะสมและเกินกว่ากรณีแห่งความจําเป็น" (หน้า 43)
3. กรณีการชุมนุมและปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับกลุ่ม นปช. เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553

"ผู้ชุมนุมใช้เด็กและสตรีเป็นโล่มนุษย์ ใช้ไม้ปลายแหลม ก้อนอิฐตัวหนอน หนังสติ๊กที่ใช้นอตเป็นลูกกระสุน รวมทั้งมีพยานบุคคลยืนยันว่า ผู้ชุมนุมบางรายมีอาวุธปืนทำการต่อต้านการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐ และยังมีกลุ่มชายชุดดำมีอาวุธที่พร้อมจะใช้ความรุนแรงได้ตลอดเวลาปะปนอยู่กับกลุ่มผู้ชุมนุม อันอาจก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตร่างกายและทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่ทหารและประชาชนทั่วไปได้" (หน้า 47)
"เจ้าหน้าที่ทหาร[...]มีความจําเป็นต้องป้องกันตนเองและผู้อื่นให้พ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงตัว ที่รุนแรงอาจทําให้ถึงแก่ชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บได้ โดยไม่สามารถใช้วิธีป้องกันอย่างอื่นได้" (หน้า 47)
"การกระทํา[ของเจ้าหน้าที่รัฐ]ที่เป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจํานวนมาก  การกระทําของรัฐจึงเป็นการกระทําโดยประมาทและประเมินสถานการณ์ที่ผิดพลาด" (หน้า 48)
"รัฐบาลจึงต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดจากความประมาทน้ัน  ตลอดจนดําเนินการให้ความช่วยเหลือและเยียวยา ตามสมควรแก่ผู้ที่ได้รับความสูญเสีย" (หน้า 48)
4. กรณีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากระเบิดเอ็ม ๗๙ บริเวณแยกศาลาแดง เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2553

"การชุมนุมของกลุ่ม นปช. เป็นการชุมนุมที่ส่งผลทำให้เกิดความรุนแรง การสูญเสียชีวิต บาดเจ็บ  และทรัพย์สินได้รับความเสียหายต่อเนื่องมาโดยตลอด" (หน้า 52)
"การชุมนุมของกลุ่ม นปช. ในเหตุการณ์นี้[...]เป็นการชุมนุมที่เกินกว่าสิทธิและเสรีภาพ ที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองไว้ ถือไม่ได้ว่าเป็นการชุมนุมที่สงบและปราศจากอาวุธ [...] มีการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของบุคคลอื่นที่มิได้เกี่ยวข้องกับการชุมนุม" (หน้า 52-53)
"รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ตํารวจซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในเหตุการณ์  ดังกล่าวละเลยการกระทําาอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน  ซึ่งรัฐบาลควรดําาเนินการปกป้อง  สิทธิของประชาชนทีไม่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมให้มากกว่านี้" (หน้า 53)

5. กรณีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตบริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติเมื่อวันที่ 28เมษายน 2553
"ผลจากการปะทะกันระหว่างกลุ่มนปช. กับเจ้าหน้าที่ทหารในเหตุการณ์ดังกล่าวโดยเฉพาะอย่างยิ่ง  การที่มีเจ้าหน้าที่ทหารเสียชีวิต ๑ นายจากอาวุธปืน  และประชาชนตลอดจนเจ้าหน้าที่ทหาร  จํานวนหนึ่งได้รับบาดเจ็บ จึงถือได้ว่ามีการกระทําอันเป็นการกระทบต่อสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนทั่วไป เจ้าหน้าที่ทหารซึ่งได้รับบาดเจ็บ และผู้เสียชีวิต" (หน้า 56)
"การกระทําของรัฐบาลได้ใช้ดุลยพินิจเพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ และเพื่อรักษาความเรียบร้อยในระหว่างที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน อันเป็นข้อยกเว้นที่จะจํากัดการใช้สิทธิและเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้" (หน้า 55)
6. กรณีการชุมนุมของกลุ่ม นปช.บริเวณรอบโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และการเข้าไปตรวจค้นโรงพยาบาลจฬุาลงกรณ์ เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2553

"กรณีการชุมนุมของกลุ่ม นปช. บริเวณรอบโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และการเข้าไปตรวจค้นโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ […] ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน  และยังเป็นการกระทําที่ควรมีการสืบสวนสอบสวนผู้มีส่วนร่วมในการกระทําดังกล่าวตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญาต่อไป" (หน้า 61)

"รัฐปล่อยให้มีการชุมนุมถึงขั้นก่อให้เกิดความเดือดร้อนทั้งเรื่อง  มลภาวะทางเสียงที่รบกวนผู้ป่วยที่รักษาตัวในโรงพยาบาลด้านที่อยู่ติดกับถนนราชดำริ  การตั้งด่านด้วยยางรถยนต์และไม้ไผ่ปิดกั้นกีดขวางทางเข้า-ออกโรงพยาบาล การตรวจค้นกระเป๋าของผู้ที่จะเดินทางเข้าออกโรงพยาบาล ตลอดจนการเข้าไปใช้พื้นที่ด้านหน้าตึก ภปร. เพื่อชุมนุมในเวลากลางคืนนั้น  จึงถือได้ว่ารัฐปล่อยปละละเลยการกระทําอันเป็นการละเมิดสิทธิมนษุยชนด้วย" (หน้า 60)

7. กรณีการเกิดเหตจุลาจล ปะทะ และทำลายทรพัย์สินของราชการและเอกชน ระหว่างวันที่ 13-19พฤษภาคม 2553
"ผลของการชุมนุมในช่วงระยะเวลาดังกล่าวข้างต้นได้เกิดผลกระทบต่อชีวิตร่างกาย  และการประกอบอาชีพ ตลอดจนทรัพย์สินของบุคคลอื่น ดังนั้น การใช้เสรีภาพในการชุมนุมของกลุ่ม นปช. จึงยังไม่สอดคล้องและเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญ" (หน้า 70)
"การกระทําในการเผาอาคารทรัพย์สินนั้น  ได้แผ่ขยายไปถึง การเผาศาลากลางในหลายจังหวัดในเวลาต่อมา [...] เป็นการกระทําาผิดตามประมวลกฎหมายอาญาฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น วางเพลิงเผาทรัพย์  อันเป็นสถานที่ราชการ  ทําลายทรัพย์สินราชการและทรัพย์สินเอกชน  รวมทั้งลักทรัพย์ของผู้อื่น  การกระทําดังกล่าวจึงเป็นการกระทําที่กระทบต่อสิทธิในทรัพย์สินของบุคคลอื่น อันเป็นการละเมิด สิทธิมนุษยชน" (หน้า 72)


"มีผู้บาดเจ็บ จํานวน ๔๐๔ คน  เสียชีวิต จํานวน ๕๑ คน [...] ยังไม่มี พยานหลักฐานยืนยันได้ว่าผู้ใดฝ่ายใดเป็นผู้ยิงผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บดังกล่าว  และกลุ่มบุคคลผู้ติดอาวุธที่แฝงตัวในกลุ่มผู้ชุมนุมคือใคร [แต่] ผลที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งย่อมเป็นไปได้ว่า อาจเกิดจากการกระทำของฝ่ายเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ใช้อาวุธด้วย รัฐบาลจึงมีหน้าที่รับผิดชอบในการเยียวยาช่วยเหลือแก่ครอบครัวของผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บดังกล่าว" (หน้า 71)

8. กรณีมีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ บริเวณวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร ภายหลังจากแกนนํากลุ่ม นปช.ประกาศยุติการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553

"ไม่มีพยานยืนยันที่ปรากฏชัดว่า ศพของผู้เสียชีวิตบางศพได้เสียชีวิตนอกวัด  บางศพเสียชีวิตหน้าวัด  และบางศพไม่รู้ว่าเสียชีวิตบริเวณใด  แต่ศพทั้ง ๖ ศพได้ถูกเคลื่อนย้ายเข้าไปในวัดภายหลังที่ถูกยิงเสียชีวิตแล้ว" (หน้า 76)
"คงสรุปได้ว่า ถูกยิงในระยะเกินมือเอื้อม ไม่อาจรู้ถึงระยะใดเพียงใด" (หน้า 76)
"มีกลุ่มบุคคลติดอาวุธวิ่งหลบหนี ไปมาและหลบเข้าไปในวัดปทุมวนารามฯ แล้วยิงอาวุธใส่เจ้าหน้าที่  เจ้าหน้าที่จึงมีความจําเป็นต้อง ป้องกันตนเอง" (หน้า 75)
"มาตรการที่รัฐบาลกำหนดปฏิบัติการนั้นเป็นกรณีจำเป็นสมควรตาม กฎหมาย  แต่ในทางปฏิบัติได้เกิดความเสียหายขึ้นแล้ว  และความเสียหายนั้นเกิดจากสถานการณ์ ยิงปะทะที่วุ่นวายระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับผู้ติดอาวุธที่แฝงตัวในที่ชุมนุม  ความเสียหายส่วนหนึ่ง ย่อมอาจเกิดจากการกระทําของเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วย" (หน้า 76)
วิจารณ์รายงาน กสม. ว่าด้วยการชุมนุม-สลายชุมนุม 53

           1. กสม. ไม่เข้าใจความต่างระหว่างการละเมิดสิทธิมนุษยชน กับการละเมิดกฎหมาย

           รายงานของ กสม. แสดงให้เห็นว่า กสม. นั้นไม่เข้าใจเลยว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนกับการละเมิดกฎหมายนั้นเป็นคนละเรื่องกัน การที่บุคคลทำผิดกฎหมายนั้นไม่ได้หมายความว่าเขาละเมิดสิทธิมนุษยชน และการที่บุคคลทำถูกกฏหมายก็ไม่ได้หมายความว่าเขาทำถูกหลักสิทธิมนุษยชน แต่ในหน้า 52-53 กสม. เขียนว่า:

        "การชุมนุม [ของกลุ่ม นปช. ในวันที่ 22 เมษายน 2553] มีการกระทำอันเป็นความผิดกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องหลายประการ ตลอดจนผลของความเดือดร้อนเสียหายที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมในเหตุการณ์นี้ ทำให้ถือได้ว่าการชุมนุมของกลุ่ม นปช. มีการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน" (หน้า 52-53) 

         เราจะเห็นได้ว่า กสม. ยก "การกระทำอันผิดกฎหมาย" ของกลุ่ม นปช. มาอ้างเป็นเหตุผลให้ข้อสรุปที่ว่ากลุ่ม นปช. "ละเมิดสิทธิมนุษยชน" ในความเป็นจริงแล้ว การละเมิดกฎหมายไม่ได้หมายความว่าจะต้องละเมิดสิทธิมนุษยชน

        นอกจากนี้รายงานของ กสม. ซึ่งควรจะตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน กลับใช้เนื้อที่จำนวนมากบรรยายว่าผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่รัฐนั้นละเมิดกฎหมายและรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นที่ไม่เกี่ยวกับสิทธิ มนุษยชนเลย

        รายงานของ กสม. นั้นแบ่งเนื้อหาออกเป็น 8 หัวข้อตามประเด็นการตรวจสอบ. แต่หัวข้อที่ 1 และ 2 นั้นไม่มีคำว่า "สิทธิมนุษยชน" ปรากฏอยู่แม่แต่คำเดียว (ยกเว้นที่ปรากฏอยู่ในวลี "คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน")


            ในหัวข้อแรก ซึ่งเกี่ยวกับการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และการตั้ง ศอฉ. นั้น กสม. ใช้เนื้อที่ทั้งหมดไปกับการให้เหตุผลว่าเหตุใดการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และการตั้ง ศอฉ. 

         จึง "เป็นการใช้อํานาจตามกฎหมายภายใต้ขอบเขตที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้สามารถกระทําได้" โดยที่ไม่ได้พูดถึงแง่มุมด้านสิทธิมนุษยชนแม้แต่น้อยว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นั้นให้สิทธิเจ้าหน้าที่รัฐละเมิดสิทธิมนุษยชนได้โดยไม่ต้องรับผิด ในทำนองเดียวกัน ในประเด็นเรื่องการปิดสถานีโทรทัศน์พิเพิลแชนนัล (PTV) กสม. ก็ใช้เนื้อที่ทั้งหมดให้เหตุผลว่าทำไมการปิด PTV นั้นจึง "เป็นการกระทําภายใต้ขอบเขตที่กฎหมายให้อํานาจไว้" และ "จําเป็น เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว" โดยไม่เอ่ยคำว่า "สิทธิมนุษยชน" แม้แต่ครั้งเดียว.

          2. กสม. ไม่เข้าใจความต่างระหว่างการละเมิดสิทธิมนุษยชน กับหรือการละเมิดเสรีภาพทั่วไป

          รายงานของ กสม. แสดงให้เห็นว่า กสม. ไม่เข้าใจเลยว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้น ต่างจากการสร้างความเดือดร้อนรำคาญ หรือการละเมิดเสรีภาพทั่วไป. กสม. ใช้พื้นที่จำนวนมากในรายงาน บรรยายเกี่ยวกับการสร้างความเดือดร้อนรำคาญและการละเมิดสิทธิเสรีภาพทั่วไป เช่น สิทธิเสรีภาพในการในยานพาหนะ, สิทธิเสรีภาพในการประกอบธุรกิจ และสิทธิในทรัพย์สิน ราวกับว่าการกระทำเหล่านี้เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

          ตัวอย่างเช่น ในหน้า 30 กสม. เขียนว่า: "ผู้ร่วมชุมนุมส่วนหนึ่งได้เคลื่อนย้ายไปชุมนุมบริเวณสี่แยกราชประสงค์ อันเป็นแหล่งธุรกิจที่สําคัญ เป็นการชุมนุมที่มุ่งปิดก้ันกีดขวางเส้นทางคมนาคมและการใช้ยานพาหนะของประชาชนทั่วไป เพราะเส้นทางดังกล่าวเป็นเส้นทางสําคัญในใจกลางกรุงเทพมหานคร ท้ังเป็นการชุมนุมที่ใช้ระยะเวลานานต่อเนื่องกันหลายวันและไม่มีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดที่แน่นอน ส่งผลกระทบต่อธุรกิจสําคัญ รวมทั้งก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อการประกอบอาชีพและการดํารงชีวิตตามปกติสุขของประชาชนโดยทั่วไป" (หน้า 30) ในความเป็นจริง เสรีภาพการใช้ยานพาหนะโดยไม่ถูกกีดขวาง และเสรีภาพในการทำธุรกิจและประกอบอาชีพโดยไม่ถูกขัดขวางโดยการชุมนุม นั้นเป็นเสรีภาพทั่วไป แต่ไม่ใช่สิทธิมนุษยชน

         กสม. เขียนอีกว่า: "การ[ที่ผู้ชุมนุม]ไปเทเลือดที่หน้าพรรคประชาธิปัตย์ ทําเนียบรัฐบาล และบ้านพักนายกรัฐมนตรี เป็นการสร้างความเดือดร้อนให้แก่เจ้าของและผู้ครอบครองสถานที่ และเป็นสัญลักษณ์ที่ก่อให้เกิดความรุนแรง" (หน้า 30) ในความเป็นจริง ไม่มีองค์กรสิทธิมนุษยชนใดถือว่า การเทสิ่งสกปรกใส่หน้าบ้านหรือที่ทำงานผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้นเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน


         ในหน้า 72 กสม. เขียนว่า: "การชุมนุมของกลุ่ม นปช. เป็นการชุมนุมที่มีลักษณะเป็นกระบวนการที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายและไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมืองและเผาทำลายทรัพย์สินของบุคคลอื่น รวมทั้งทรัพย์สินของทางราชการได้รับความเสียหายจำนวนมาก จึงเป็นการกระทำละเมิดสิทธิในทรัพย์สินผู้อื่น ซึ่งรัฐธรรมนูญให้การคุ้มครองไว้ ตามมาตรา ๔๑ และเป็นการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญาฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น วางเพลิงเผาทรัพย์ อันเป็นสถานที่ราชการ ทำลายทรัพย์สินราชการและทรัพย์สินเอกชน รวมทั้งลักทรัพย์ของผู้อื่น การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการกระทำที่กระทบต่อสิทธิในทรัพย์ สินของบุคคลอื่น อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน" (หน้า 72)

        เสรีภาพที่จะไม่ต้องอยู่กับ "ความวุ่นวาย" นั้นไม่ใช่สิทธิมนุษยชน. และเสรีภาพในการไม่ถูกทำลายทรัพย์สิน แม้จะเป็นสิทธิที่ปกติแล้วรัฐให้การคุ้มครอง ก็ไม่ใช่สิทธิมนุษยชนเช่นกัน (หรือหากจะนับเป็นสิทธิมนุษยชน ก็เป็นสิทธิมนุษยชนที่มีความสำคัญต่ำมาก จนนักสิทธิมนุษยชนในโลกส่วนใหญ่ไม่ให้ความสำคัญ)

         3. กสม. จัดลำดับความรุนแรงของการละเมิดสิทธิมนุษยชนผิด

            การละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้นมีหลายรูปแบบ แต่ทั้งองค์กรสิทธิมนุษยชนและคนทั่วไปต่างเห็นพ้องกันว่ารูปแบบที่รุนแรงที่สุดคือการละเมิดต่อชีวิตหรือศักดิ์ศรี ความเป็นมนุษย์ (ได้แก่ การฆ่า, การบังคับเป็นทาส) รองลงมาคือการละเมิดต่อร่างกาย (ได้แก่ การทำให้บาดเจ็บหรือพิการ, การซ้อม ทรมาน) ส่วนการละเมิดต่อทรัพย์สินนั้นโดยปกติมักไม่นับเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือหากจะนับก็ต้องนับว่าอยู่ในระดับความรุนแรงต่ำกว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนแบบอื่นๆ

         แต่รายงานของ กสม. กลับให้ความสนใจเป็นพิเศษกับการละเมิดต่อทรัพย์สิน และให้ความสนใจค่อนข้างน้อยกับการละเมิดต่อชีวิต. การจัดลำดับความสำคัญแบบกลับหัวกลับหางเช่นนี้ อาจเกิดขึ้นจากการที่ กสม. ไม่เข้าใจเรื่องระดับความรุนแรงของการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรืออาจเกิดขึ้นจากการที่ กสม. จงใจให้ความสำคัญกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นพิเศษ และพยายามลดทอนความรุนแรงของการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยอีกกลุ่ม

         ในจำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองช่วง มีนาคม-พฤษภาคม 2553 ประมาณ 100 คนนั้น มีราว 60 คนที่เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมในช่วงวันที่ 13-19 พฤษภาคม 2553 แต่ กสม. กลับใช้พื้นที่พูดถึงเรื่องนี้เพียง 11 หน้าจากรายงานทั้งหมด 92 หน้า ปริมาณพื้นที่นี้ยิ่งดูน้อยลงไปอีกเมื่อเราพิจารณาว่า กสม. ใช้พื้นที่ถึง 6 หน้ากระดาษพูดถึงเหตุการณ์ที่ผู้ชุมนุมบุกเข้าไปตรวจค้นโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งไม่มีผู้เสียชีวิตหรือผู้บาดเจ็บแม้แต่รายเดียว

        นอกจากนี้ การแบ่งหัวข้อรายงานของ กสม. ก็สะท้อนว่า กสม. ต้องการลดทอนน้ำหนักของเหตุการณ์การสลายการชุมนุมในเดือนพฤษภาคมอยู่แล้ว. กสม. แบ่งประเด็นตรวจสอบออกเป็น 8 ประเด็น โดยให้เหตุการณ์สลายการชุมนุมในเดือนพฤษภาคมเป็นเพียงประเด็นหนึ่งในจำนวน 8 ประเด็นเท่านั้น ทั้งๆ ที่ผู้เสียชีวิตกว่าครึ่งมาจากเหตุการณ์นี้


       4. กสม. ละเลยที่จะกล่าวถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นรุนแรงหลายกรณี

          นอกจาก กสม. จะพยายามลดทอนความรุนแรงของการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเจ้าหน้าที่รัฐแล้ว กสม. ก็ยังเลือกที่จะไม่พิจารณากรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นรุนแรงในหลายกรณี โดยกล่าวข้ามกรณีเหล่านี้ไปเลยด้วย. และน่าสนใจว่ากรณีที่ กสม. เลือกไม่พิจารณาเหล่านี้นั้น เป็นกรณีที่ผู้ชุมนุมเสียชีวิตทั้งสิ้น

          ตัวอย่างเช่น เหตุการณ์ความรุนแรงวันที่ 10 เม.ย. 2553 นั้นมีผู้เสียชีวิต 27 คน ในจำนวนนี้เป็นทหารเพียง 5 คน และผู้บาดเจ็บส่วนใหญ่ก็เป็นผู้ชุมนุม แต่รายงานของ กสม. ส่วนที่พูดถึงเหตุการณ์นี้ (ความยาว 6 หน้่า) กลับใช้พื้นที่เกือบทั้งหมดกล่าวถึงการเสียชีวิตและบาดเจ็บของทหาร แล้วกล่าวถึงการตายของผู้ชุมนุมเพียงประโยคเดียวเท่านั้น คือ: "ส่วนกรณีการเสียชีวิตของกลุ่ม นปช. ขณะนี้กรณีดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนตามกระบวนการยุติธรรมแล้วจึงไม่จําเป็นต้องวินิจฉัยในประเด็นนี้". แต่น่าสนใจว่า กรณีอื่นๆ ที่คดีอยู่ในขั้นตอนกระบวนการยุติธรรม แต่มีเจ้าหน้าที่รัฐเป็นเหยื่อนั้น กสม. กลับอธิบายในรายงานอย่างละเอียด เช่น กรณีของนายเจ็มส์ สิงห์สิทธิ์ ผู้ต้องหายิงระเบิด M79 ที่ศาลาแดง เป็นต้น


          ในทำนองเดียวกัน รายงานของ กสม. ส่วนที่ว่าด้วยเหตุการณ์การสลายการชุมนุมช่วงวันที่ 13-19 พฤษภาคมนั้น แทบไม่กล่าวถึงการตายของผู้ชุมนุมที่เสียชีวิตราว 60 คนเลย กสม. กล่าวถึงการบาดเจ็บและผู้เสียชีวิตแบบรวมๆ ว่า "ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจาก สถานการณ์การชุมนุมของกลุ่ม นปช. ระหว่างวันที่ 13-19 พฤษภาคม 2553 มีผู้บาดเจ็บจำนวน 404 คน เสียชีวิตจํานวน 51 คน". (ตัวเลขนี้เป็นตัวเลขเก่าของศูนย์เอราวัณ ข้อมูลใหม่ของ ศปช. ระบุว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 59 คน ทราบชื่อแล้ว 58 คน.) กสม. ไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการเสียชีวิตของเหยื่อเหล่านี้แม้แต่รายเดียว

          หากพิจารณาเฉพาะกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เป็นการละเมิดต่อชีวิต เราจะพบว่า กสม. ละเลยกรณีเหล่านี้ไปถึง 81 กรณี (กล่าวคือ กรณีผู้เสียชีวิตในวันที่ 10 เมษายน ที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ 22 กรณี และผู้เสียชีวิตระหว่างวันที่ 13-19 พฤษภาคม อีก 59 กรณี)


          5. กสม. ละเลยข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องบางประการ

          นอกจาก กสม. จะละเลยที่จะพิจารณาการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นรุนแรงหลายกรณีแล้ว กสม. ยังละเลยที่จะเอ่ยถึงข้อเท็จจริงสำคัญบางประการ ที่เป็นตัวบ่งชี้ถึงความรุนแรงของการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเจ้าหน้าที่รัฐด้วย

        ตัวอย่างเช่น ความจริงที่ว่าพลเรือนที่เสียชีวิตในวันที่ 10 เมษายนและระหว่างวันที่ 13-19 พฤษภาคมนั้น ส่วนใหญ่ถูกยิงที่ศีรษะหรือจุดสำคัญในลำตัวด้านบนด้วยกระสุนนัดเดียว ข้อเท็จจริงที่ว่าพลเรือนที่เสียชีวิตในการปะทะกับเจ้าหน้าที่นั้น เกือบทั้งหมดไม่ได้ใส่ชุดดำและไม่มีอาวุธในมือ ข้อเท็จจริงทีว่่าทหารมีการใช้พลซุ่มยิงระยะไกล และข้อเท็จจริงที่ว่าทหารใช้กระสุนจริงไปกว่า 117,000 นัด และในจำนวนนี้เป็นกระสุนปืนซุ่มยิง (สไนเปอร์) กว่า 2,500 นัด (คิดจากจำนวนกระสุนที่เบิกไปใช้ ลบกับจำนวนกระสุนที่ส่งคืนหลังสลายการชุมนุม)

         ข้อเท็จจริงเหล่านี้ล้วนเป็นตัวบ่งชี้สำคัญของความรุนแรงของการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ กสม. กลับไม่นำมาพิจารณาหรือกล่าวถึงในรายงานแม้แต่น้อย ทั้งๆ ที่เป็นข้อเท็จจริงที่ทั้ง คอป. ศปช. และสื่อมวลชน ต่างเผยแพร่อย่างกว้างขวาง


         6. กสม. คาดเดาแรงจูงใจในการกระทำผิดของแต่ละฝ่ายเอาเอง อย่างไร้หลักฐานและมีอคติ

         ในขณะที่ กสม. หลีกเลี่ยงที่จะกล่าวถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงโดยเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ในกรณีที่ กสม. จำเป็นต้องกล่าวถึง กสม. ก็กล่าวถึงโดยคาดเดาเจตนาของเจ้าหน้าที่รัฐเหล่านั้นอย่างมองโลกแง่ดีอย่างยิ่ง ในทางตรงกันข้าม เมื่อ กสม. กล่าวถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยผู้ชุมนุมหรือผู้ต้องหาที่ กสม. เชื่อว่าอยู่ฝ่ายผู้ชุมนุม กสม. กลับมองเห็นเจตนาร้ายของคนเหล่านั้นได้อย่างง่ายดาย

         ตัวอย่างเช่น ในการบรรยายถึงการปะทะระหว่างทหารกับผู้ชุมนุมและ "กองกำลังไม่ทราบฝ่าย (ชายชุดดำ)" นั้น กสม. กล่าวว่าทหารต้องใช้อาวุธจริงยิงใส่ผู้ชุมนุมเพราะ "เจ้าหน้าที่ทหาร[...]มีความจําเป็นต้องป้องกันตนเองและผู้อื่นให้พ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงตัว ที่รุนแรงอาจทําให้ถึงแก่ชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บได้ โดยไม่สามารถใช้วิธีป้องกันอย่างอื่นได้" (หน้า 47)

         กสม. ยังคาดเดาเจตนาของทหารที่ยิงผู้ชุมนุมอย่างมองโลกในแง่ดีว่า เป็น "การกระทําโดยประมาท" (หน้า 48) ในทางตรงกันข้าม กสม. เชื่อว่าเจ้าหน้าที่ทหารที่เสียชีวิตในวันที่ 10 เม.ย. นั้นเสียชิวิตจากการ "วางแผนเพื่อฆาตกรรมเจ้าหน้าที่ทหาร" (หน้า 50) และคาดโทษผู้กระทำผิดไว้เสร็จสรรพว่า "กระทําผิดอาญาฐานฆ่าคนตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน"


          7. รายงาน กสม. เต็มไปด้วย "ความจริงครึ่งเดียว"

            รายงานของ กสม. เต็มไปด้วยความจริงครึ่งเดียว ที่มุ่งลดทอนบทบาทของเจ้าหน้าที่รัฐในการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเสนอภาพความรุนแรงโดยเจ้าหน้าที่รัฐว่าเป็นความรุนแรงระหว่างสองฝ่ายที่ตอบโต้กัน ความจริงครึ่งเดียวเหล่านี้ หากพิจารณาโดยเคร่งครัดแล้วถือว่าเป็นเท็จ

           ตัวอย่างเช่น ในหน้า 4 กสม. บรรยายว่า: "กลุ่ม นปช. ได้ขยายพื้นที่การชุมนุมจากบริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ถนนราชดําเนิน ไปยังสี่แยกราชประสงค์และพื้นที่โดยรอบ นอกจากนั้นยังได้มีการเคลื่อนการ ชุมนุมไปยังพื้นที่อื่นๆ ของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ทําให้เกิดความวุ่นวาย สถานการณ์เริ่มรุนแรงมากขึ้น ทําให้มีการบาดเจ็บและสูญเสียชีวิตใน หลายกรณี เช่น กรณีเหตุการณ์วันที่ 10 เมษายน 2553 บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สี่แยกคอกวัวและพื้นที่โดยรอบ กรณีความรุนแรงที่แยกศาลาแดง ถนนสีลม เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2553 กรณีความรุนแรงที่อนุสรณ์สถานแห่งชาติ ถนนวิภาวดีรังสิต เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2553 และกรณีกลุ่ม นปช. บุกเข้าตรวจค้นโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2553 เป็นต้น"

         คำบรรยายนี้สื่อว่า การที่ นปช. ขยายพื้นที่ชุมนุมไปยังแยกราช ประสงค์นั้นทำให้ "สถานการณ์รุนแรงมากขึ้น" อันทำให้เกิด "การบาดเจ็บและสูญเสียชีวิต" ในเหตุการณ์ต่างๆ ในเดือนเมษายน 2553 ในแง่หนึ่ง คำบรรยายนี้ก็จริงอยู่ เพราะความรุนแรงจะเกิดขึ้นไม่ได้หาก นปช. ไม่ชุมนุมตั้งแต่แรก. แต่การสังหารหมู่นักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ก็เกิดขึ้นไม่ได้เช่นกันหากนักศึกษาไม่ชุมนุมกันในมหาวิทยาลัย และเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ก็คงเกิดขึ้นไม่ได้หากประชาชนไม่ชุมนุมตั้งแต่แรก ข้อบกพร่องสำคัญของคำบรรยายของ กสม. คือ มันละเลยที่จะพูดถึงบทบาทของคู่ขัดแย้งอีกฝ่ายหนึ่ง ในการทำให้เกิด "การบาดเจ็บและสูญเสียชีวิต" นั่นคือ บทบาทของกองกำลังของรัฐและมวลชนฝ่ายตรงข้าม ดังนั้น แม้ว่าคำบรรยายของ กสม. จะจริงหากตีความแบบหลวมๆ แต่หากตีความแบบเคร่งครัดแล้วก็ถือว่าเป็นเท็จ

          คำบรรยายที่ยกมาข้างต้น เป็นตัวอย่างของกรณีที่ กสม. พยายามลดรูปความรุนแรงที่ฝ่ายรัฐมีส่วนสำคัญ ให้เหลือเป็นความรุนแรงที่ก่อโดยผู้ชุมนุมเพียงฝ่ายเดียว แต่ก็ยังมีกรณีที่ กสม. พยายามพูดถึงความรุนแรงของฝ่ายรัฐ แบบรวมๆ ให้ผู้อ่านเข้าใจว่าเป็นความรุนแรงระหว่างสองฝ่ายด้วย

         ตัวอย่างเช่น ในรายงานหน้า 56 กสม. เขียนว่า: "ผลจากการปะทะกันระหว่างกลุ่มนปช. กับเจ้าหน้าที่ทหารในเหตุการณ์ดังกล่าวโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่มีเจ้าหน้าที่ทหารเสียชีวิต 1 นายจากอาวุธปืน และประชาชนตลอดจนเจ้าหน้าที่ทหาร จํานวนหนึ่งได้รับบาดเจ็บ จึงถือได้ว่ามีการกระทําอันเป็นการกระทบต่อสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนทั่วไป เจ้าหน้าที่ทหารซึ่งได้รับบาดเจ็บ และผู้เสียชีวิต"


         ถ้อยคำนี้สื่อว่า ผู้ชุมนุมมีส่วนทำให้ "มีเจ้าหน้าที่ทหารเสียชีวิต 1 นายจากอาวุธปืน" และสื่อว่าผู้ชุมนุม "กระทำการอันเป็นการกระทบต่อสิทธิมนุษยชน" แต่ในความเป็นจริง ทหารหนึ่งรายที่เสียชีวิตนั้นคือ พลทหารณรงค์ฤทธิ์ สาละ ซึ่งศาลอาญาได้วินิจฉัยแล้วมีคำสั่งมาแล้วว่าเสียชีวิตจากอาวุธของทหารด้วยกันเอง บางคนอาจสงสัยว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่ กสม. อาจเขียนรายงานโดยไม่ได้อ่านคำวินิจฉัยของศาล? คำตอบคือ คงเป็นไปไม่ได้ เพราะ กสม. ก็มีเขียนถึงคำสั่งศาลนี้อยู่ด้วยในหัวข้อเดียวกัน ดังนั้น กสม. ก็ย่อมรับรู้คำสั่งศาลอยู่แล้ว

         8. รายงานของ กสม. ใช้ศัพท์ที่ออกแบบมาเพื่อบิดเบือนสาระสำคัญของเหตุการณ์

        รายานของ กสม. ใช้ภาษากำกวมที่สื่อความหมายให้ผู้อ่านเข้าใจผิด และศัพท์ที่ออกมาแบบมาเพื่อบิดเบือนสาระสำคัญของเหตุการณ์ อยู่ตลอดทั้งฉบับ

        กสม. รับเอาศัพท์เลี่ยง (euphemisms) ของ ศอฉ. และรัฐบาลขณะนั้นมาใช้ด้วย. รายงานของ กสม. ใช้คำว่า "กระชับพื้นที่" 9 ครั้ง และใช้คำว่า "ขอคืนพื้นที่" หรือ "ขอพื้นที่คืน" 8 ครั้ง


        นอกจากนี้ กสม. ยังออกแบบถ้อยคำที่บิดเบือนสาระสำคัญของเหตุการณ์ ขึ้นมาเองด้วย ตัวอย่างเช่น เหตุการณ์การสลายการชุมนุมระหว่างวันที่ 13-19 พฤษภาคมนั้น มีสาระสำคัญคือการสังหารคนราว 60 คน โดยเกือบทั้งหมดเป็นผู้ชุมนุมที่ถูกส่องยิงจุดสำคัญ และไม่มีอาวุธในมือขณะเสียชีวิต (ในมุมมองด้านสิทธิมนุษยชน การดูว่า "สาระสำคัญ" ของเหตุการณ์คืออะไร ต้องดูจากว่าในเหตุการณ์นั้น มีเหตุการณ์ย่อยใดที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนรุนแรงที่สุด) แต่ กสม. กลับเรียกการสลายการชุมนุมนี้ว่า "กรณีการเกิดเหตุจลาจล ปะทะ และทำลายทรัพย์สินของราชการและเอกชน ระหว่างวันที่ 13-19 พฤษภาคม 2553"  ถ้อยคำนี้สื่อว่าสาระสำคัญของเหตุการณ์คือการที่ผู้ชุมนุมก่อจลาจล ต่อสู้เจ้าหน้าที่ และทำลายทรัพย์สิน (คำว่า "ปะทะ" นั้นสื่อว่าเป็นการเข้าชนกันของ คนสองกลุ่มซึ่งมีกำลังเท่าๆ กัน ซึ่งต่างจากการ "สลาย" หรือ "ปราบ" ที่มีฝ่ายหนึ่งรุก อีกฝ่ายหนึ่งรับ โดยที่ฝ่ายรุกมีกำลังเหนือกว่า)


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น