|
ส.ว.-ป.ช.ป.ยื่นศาลรธน.ระงับแก้ที่มา ส.ว.
ส.ว.- ป.ช.ป.ยื่นศาลรัฐธรรมนูญสั่งประธานสภาระงับการโหวดวาระ 3 ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง ระบุ มีผลประโยชน์ทับซ้อน และ ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้(17 ก.ย.) เวลา 13.30 น. พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา นายคำนูณ สิทธิสมาน และนายสุรจิต ชิรเวทย์ ส.ว. สุมทรสงคราม ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งระงับการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ให้ส.ว. 200 คนมาจากการเลือกตั้ง และให้ยุบ 6 พรรคร่วมรัฐบาลที่ส.ส.ในสังกัดร่วมลงชื่อเห็นชอบกับการแก้ไข และสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารของ 6 พรรคร่วมรัฐบาลเป็นเวลา 5 ปี พร้อมขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวฉุกเฉินสั่งประธานรัฐสภา และเลขาธิการรัฐสภาให้ระงับการประชุมรัฐสภา เพื่อพิจารณาลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 โดยการยื่นคำร้องครั้งนี้ได้นำเอกสารที่เป็นคำแนะนำของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายที่มีนายคณิต ณ นคร เป็นประธาน ซึ่งระบุว่า กระบวนการนี้เป็นการทำลายการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจรัฐ มาเสนอต่อศาลด้วย
พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม
สมชาย แสวงการ
คำนูญ สิทธิสมาน
สุรจิต ชิรเวทย์
พล.อ.สมเจตน์ ให้เหตุผลที่ต้องมายื่นคำร้องเนื่องจากเห็นว่ากระบวนการแก้ไข รัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของส.ว.ของรัฐสภาไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวบรัด ตัดตอน ที่สำคัญการแก้ไขคุณสมบัติของผู้ที่จะมาเป็นส.ว.โดยไม่ห้ามการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง การเป็นสามี ภรรยา กับส.ส. หรือการไม่จำกัดวาระการดำรงตำแหน่ง ทำให้วุฒิสภามีฐานทางการเมืองเหมือนกับส.ส. ขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ต้องการให้วุฒิสภาเป็นองค์กรตรวจสอบ ถ่วงดุล อำนาจรัฐ จึงถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการปกครอง และเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68
ต่อมาเมื่อเวลา 14.00 น. นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา ในฐานะทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ได้เข้ายื่นคำร้องจำนวน 47 หน้าขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในประเด็นเดียวกัน โดยให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งระงับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของส.ว. แต่ไม่ได้ขอให้สั่งยุบ 6 พรรคร่วมรัฐบาลและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรค
วิรัตน์ กัลยาศิริ
นายวิรัตน์ กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว.ประเด็นแก้ไขที่เห็นว่าร้ายแรง ก็คือการให้ส.ว.สรรหาไม่ต้องลาออกมาลงสมัครรับเลือกตั้ง หากลงแล้วไม่ได้รับเลือกตั้งก็กลับมาเป็นส.ว.สรรหาต่อไปได้ การให้ส.ว.เลือกตั้งสามารถเป็นสมาชิกพรรคการเมืองได้ เป็นสามี ภรรรยา ของส.ส. ได้ ตรงนี้จะทำให้การเป็นองค์กรตรวจสอบถ่วงดุลถุกทำลาย
จึงอยากให้มีส.ว.สรรหาต่อไป ถ้าจะมาจากการเลือกตั้งก็ต้องมาจากสาขาวิชาชีพต่างๆ เช่น แพทย์ ทนายความ เอ็นจีโอ ซึ่งถ้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้สำเร็จ ผลที่จะตามมา ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง คณะกรรมการป.ป.ช จะหายไป เราเข้าใจดีว่ารัฐสภามีอำนาจเต็มที่จะยกร่างกฎหมายแต่ต้องเป็นไปตามกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญ 50 และเมื่อทำอย่างไรแล้วก็ต้องไม่ปิดกั้นองค์กรอื่นในการตรวจสอบ
|
|
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น