วันเสาร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ชัยชนะด้านวาทกรรม 14 ตุลา ของขบวนประชาธิปไตย

ชัยชนะด้านวาทกรรม 14 ตุลา ของขบวนประชาธิปไตย

          งานรำลึกเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ในแต่ละปีจะจัดโดยมูลนิธิ 14 ตุลา และมีคณะญาติวีรชน 14 ตุลา เข้าร่วม แต่ในหลายปีมานี้ บุคคลหลายคนในมูลนิธิ 14 ตุลา มีบทบาทอย่างสำคัญในการสนับสนุนเผด็จการอย่างคงเส้นคงวา ตั้งแต่สนับสนุนการเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในการโค่นล้มรัฐบาลพรรคไทยรักไทย สนับสนุนรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เข้าร่วมสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร เข้ามาเป็นสมาชิกวุฒิสภาแต่งตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญ 2550 และสนับสนุนพันธมิตรเสื้อเหลืองในการโค่นล้มรัฐบาลพรรคพลังประชาชน จนทุกวันนี้ก็ยังเคลื่อนไหวอย่างแข็งขันเพื่อโค่นล้มรัฐบาลพรรคเพื่อไทย คนพวกนี้อยู่กับมูลนิธิ 14 ตุลามายาวนาน ผูกขาดการจัดงานรำลึกเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ใช้สถานะไปแสวงหาผลประโยชน์และตำแหน่งทางการเมืองที่พวกเผด็จการโยนให้ เป็นกาฝากที่เกาะกินญาติวีรชนมานานหลายปี

          จึงไม่น่าแปลกใจว่า ในหลายปีมานี้ งานรำลึก 14 ตุลาที่จัดโดยมูลนิธิ 14 ตุลา จึงแทบไม่มีคนเดือนตุลาฯที่ต่อต้านรัฐประหาร 2549 เข้าร่วมเลย รวมทั้งมวลชนคนเสื้อแดงก็ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมและไม่ให้ความสนใจแต่อย่างใด จนทำให้งานรำลึกในแต่ละปีซบเซาลงไปเรื่อย ๆ และเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 กลับกลายเป็นสัญลักษณ์ของการทรยศต่อประชาธิปไตย หันไปรับใช้เผด็จการและสนับสนุนรัฐประหาร

           แต่ในปี 2556 นี้ ฝ่ายประชาธิปไตยมีความเข้มแข็งขึ้นจนสามารถเข้ามาช่วงชิงงานรำลึกเหตุการณ์ 14 ตุลา โดยจัดแยกต่างหาก คณะญาติวีรชนตัดสินใจปลดแอกตนเอง หันมาเข้าร่วม ปรากฏว่า การจัดงานประสบความสำเร็จอย่างสูง มีผู้คนเข้าร่วมมากกว่าทุกปี มวลชนคนเสื้อแดงให้ความสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปาฐกถาของเสกสรรค์ ประเสริฐกุลและจาตุรนต์ ฉายแสง ที่สามารถช่วงชิงพื้นที่ความสนใจในสื่อมวลชนกระแสหลักได้แทบทั้งหมด

         คำปาฐกถาของเสกสรรค์ ประเสริฐกุลครั้งนี้ นับเป็นปาฐกถาประวัติศาสตร์ ซึ่งมาล่าช้ามาก จนเกือบจะสายเกินไปในการกอบกู้สัญลักษณ์ 14 ตุลา ปาฐกถานี้ก็คือคุณูปการสุดท้ายที่เสกสรรค์มอบให้แก่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และเหล่าบรรดาผู้ที่บาดเจ็บและเสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนั้น กอบกู้มิให้เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ต้องจมหายไปในกระแสธารประวัติศาสตร์ของฝ่ายเผด็จการด้วยน้ำมือของคนเดือนตุลาที่สนับสนุนรัฐประหารในปัจจุบัน

           แน่นอนว่า เรายังอาจวิจารณ์บทบาทและท่าทีของเสกสรรค์ในหลายปีที่ผ่านมานี้ได้ว่า เอื้อต่อการต่อต้านรัฐประหารและการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยสักเพียงใด รวมทั้งเนื้อหาของปาฐกถาหลายประเด็นก็สามารถนำมาถกเถียงกันได้ เช่น การนำเอาเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มาเชื่อมต่อโดยตรงกับขบวนประชาธิปไตยของ “คนชั้นกลางใหม่” ในปัจจุบัน การเน้นประเด็น “ความเหลื่อมล้ำทางสังคม” มาเป็นส่วนหนึ่งโดยตรงภายในวาทกรรม 14 ตุลา เป็นต้น แต่โดยภาพรวมแล้ว ปาฐกถาของเสกสรรค์ในครั้งนี้ ได้สร้างผลสะเทือนอย่างสำคัญในหมู่คนเดือนตุลาทั้งสองฝ่าย ต่อประชาชนที่เข้าร่วมเหตุการณ์ในครั้งนั้น ต่อความรับรู้ของประชาชนทั่วไป ต่อวิกฤตการเมืองปัจจุบัน และเป็นบทสรุปสำคัญเกี่ยวกับเหตุการณ์ 14 ตุลา ที่จะตกทอดไปสู่ชนรุ่นต่อ ๆ ไป ปาฐกถาครั้งนี้ของเสกสรรค์ ประเสริฐกุลจึงเป็นคุณต่อประชาธิปไตย แต่เป็นโทษต่อเผด็จการ

           นี่เป็นชัยชนะเด็ดขาดด้านวาทกรรม 14 ตุลา โดยฝ่ายประชาธิปไตย และทำให้คนเดือนตุลากลุ่มที่รับใช้เผด็จการไม่สามารถผูกขาดสัญลักษณ์ 14 ตุลาแต่ฝ่ายเดียวได้อีกต่อไป อีกทั้งยังเป็นหลักหมายสำคัญถึงชัยชนะของฝ่ายประชาธิปไตยในการต่อสู้ทางวาทกรรมทั้งหมดอีกด้วย

          ขบวนประชาธิปไตยเสื้อแดงสามารถช่วงชิงสัญลักษณ์วันที่ 24 มิถุนา มาได้ไม่ยากนัก เพราะฝ่ายจารีตนิยมไม่ต้องการให้มีการจดจำวันดังกล่าว ขณะที่คนเดือนตุลาที่รับใช้เผด็จการและพวกพันธมิตรเสื้อเหลืองซึ่งเป็นพวกนิยมกษัตริย์ก็ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากสัญลักษณ์ 24 มิถุนาได้

           ขบวนประชาธิปไตยเสื้อแดงช่วงชิงสัญลักษณ์เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มาได้ตั้งแต่ปีแรก ๆ หลังรัฐประหาร 2549 เพราะมวลชนคนเสื้อแดงมีอารมณ์ความรู้สึกร่วมกับเหตุการณ์นั้นมากเป็นพิเศษ ทั้งในแง่เหยื่อนิสิตนักศึกษาที่ถูกเข่นฆ่าในวันนั้นเหมือนที่คนเสื้อแดงประสบในวันนี้ แต่ยังรวมไปถึงผู้วางแผนก่อการสังหารหมู่ในครั้งนั้นก็คือคนกลุ่มเดียวกับที่วางแผนรัฐประหาร 2549 นั่นเอง ซึ่งประเด็นหลังก็เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้คนเดือนตุลาที่รับใช้เผด็จการและพันธมิตรเสื้อเหลืองไม่เต็มใจที่จะจดจำเหตุการณ์นี้และพยายามทำเป็นลืม

           ชัยชนะของฝ่ายประชาธิปไตยในการช่วงชิงสัญลักษณ์ 14 ตุลา ในปีนี้จึงมีความหมายพิเศษเป็นชัยชนะของฝ่ายประชาธิปไตยในด้านวาทกรรมทั้งหมดอีกด้วย ธงแดงที่อยู่ในมือของฝ่ายประชาชนในวันนี้คือธงประชาธิปไตย ที่รวมเอากระแสประชาธิปไตยนับแต่ 2475 จนถึงปัจจุบันไว้ด้วยกัน เป็นธงแดงแห่งประชาธิปไตยที่ถูกชูให้สูงเด่น เป็นสัญลักษณ์หนึ่งเดียวของการต่อสู้เพื่อเอาชนะเผด็จการ

           ฝ่ายเผด็จการจึงประสบความพ่ายแพ้ทางวาทกรรมไปแล้วอย่างเด็ดขาด พวกเขาไม่อาจที่จะอ้างเอา “ประชาธิปไตย” มาเคลือบคลุมจุดมุ่งหมายที่แท้จริงและสร้างความชอบธรรมให้กับการเคลื่อนไหวของพวกเขาได้อีกต่อไป พวกเขาเหลือไว้แต่เนื้อในที่เป็นเผด็จการ ต่อต้านประชาธิปไตยเสรีนิยม ได้แต่ท่องซ้ำวาทกรรม “นักการเมืองโกง” “เผด็จการรัฐสภา” “คุณธรรมจริยธรรมและคนดี” สิ่งที่พวกเขาเรียกร้องอย่างเปิดเผยไม่มียางอายอีกต่อไปคือ ให้ตุลาการและทหารทำการโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ยกเลิกระบอบรัฐสภาและการเลือกตั้ง แทนที่ด้วยระบอบเผด็จการเต็มรูป

แต่การเคลื่อนไหวของคนพวกนี้ก็อยู่ในสภาพกระเสือกกระสนรอวันล่มสลาย เพราะการพ่ายแพ้ทางวาทกรรมคือจุดเริ่มต้นของความพ่ายแพ้ทางการเมืองที่จะตามมานั่นเอง
หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน “โลกวันนี้วันสุข”
25 ตุลาคม 2556

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น