วันอังคารที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

สมาชิกรัฐสภา 312 คน ประกาศไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ

สมาชิกรัฐสภา 312 คน ประกาศไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ
                 ส.ส. - ส.ว. 312 คนแถลงคัดค้านและไม่ยอมรับอำนาจศาล รธน. ระบุการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจของรัฐสภา และการรับคำร้องของศาล รธน. เป็นการก้าวล่วงอำนาจนิติบัญญัติ


            19 พ.ย. 2556 - สำนักข่าวแห่งชาติ รายงานวันนี้  (19 พ.ย.) ว่า สมาชิกรัฐสภา ประกอบด้วย ส.ส. และ ส.ว. ที่ร่วมลงชื่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว. 312 คน นำโดยนายอำนวย คลังผา ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล และนายกฤช อาทิตย์ แก้ว ส.ว.กำแพงเพชร แถลงข่าว "คัดค้านและไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ" ที่เตรียมวินิจฉัยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มา ส.ว.ขัดมาตรา 68 เข้าข่ายล้มล้างการปกครองหรือไม่เนื่องจากเชื่อมั่นว่า สมาชิกรัฐสภาทำหน้าที่อย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นอำนาจของสมาชิกรัฐสภาที่สามารถทำได้ ตามมาตรา 291 โดยไม่มีข้อบัญญัติของกฏหมาย ให้อำนาจศาลวินิจฉัย ซึ่งเห็นว่า การรับคำร้องไว้วินิจฉัย เป็นการก้าวล่วงการทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ และกังวลว่า อาจมีการขยายอำนาจให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต และอาจกลายเป็นปัญหาให้บ้านเมืองเกิดความวุ่นวาย
          ทั้งนี้ หากศาลวินิจฉัยทางหนึ่งทางใด จะไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัย แต่จะยังไม่แสดงท่าทีอื่นใด รวมถึงการยื่นถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญด้วย
         สำหรับแถลงการณ์สมาชิกรัฐสภา "เรื่อง แจ้งเหตุผลการปฏิเสธและไม่ยอมรับอำนาจการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญกรณีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ" มีใจความระบุว่า
         ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติรับคำร้องเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไว้พิจารณาหลายคดีด้วยกัน ซึ่งสมาชิกรัฐสภาอันประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา ผู้ถูกร้องได้ปฏิเสธและไม่รยอมรับอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในการรับคดีไว้พิจารณาดังกล่าว โดยไม่เข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนุญอันเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปนั้น
ข้าพเจ้าทั้งหลายในนามของผู้แทนปวงชนชาวไทย ขอแถลงการณ์มายังพี่น้องประชขาชนที่เคารพทุกท่าน เพื่อชี้แจงเหตุผลแห่งการไม่ยอมรับอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ดังนี้
  1. การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา โดยที่รัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญที่จะเข้าไปตรวจสอบการดำเนินการดังกล่าวได้ ซึ่งแตกต่างจากการตราพระราชบัญญัติทั่วไป
  2. การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะเป็น มาตร 190 การแก้ไขที่มาของ ส.ว. หรือเกี่ยวกับการยุบพรรคการเมืองตาม มาตรา 23/ ไม่อยู่ในข้อห้ามของการแก้ไขเพิ่มเติมตามรัฐธรรมนจูญมาตรา 291 วรรคสอง รัฐสภาย่อมสามารถดำเนินการได้ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญก็เคยวินิจฉัยไว้แล้วว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา เป็นอำนาจของรัฐสภาที่สามารถดำเนินการได้
  3. การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มิใช่การใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญอันจะอยู่ในบังคับ มาตรา 68 วรรคแรก ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะเข้าไปตรวจสอบและวินิจฉัยได้ แต่เป็นเรื่องของการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาพและสมาชิกรัฐสภาตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้อำนาจไว้
  4. ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับคำร้องในกรณีที่มีผู้ยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ เนื่องจากตาม มาตรา 68 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ ผู้ทราบผลการกระทำจะต้องยื่นเรื่องต่ออัยการสูงสุดให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน
  5. การที่ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าตนเองมีอำนาจรับคำร้องได้โดยตรงนั้น เป็นการทำลายหลักการและสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคสอง ที่กำหนดให้อัยการสูงสุดเป็นผู้ยื่นคำร้อง กรณีจึงถือว่าศาลรัฐธรรมนูญกระทำการอันเป็นขัดต่อรัฐธรรมนูญเสียเอง และส่งผลกระทบต่อการใช้อำนาจหน้าที่ของอัยการสูงสุด

       นอกจากนี้การตีความขยายเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญเช่นนี้ ถือเป็นการใช้อำนาจตุลาการล่วงล้ำ แทรกแซงการใช้อำนาจหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ อันนับเป็นอันตรายอย่างร้ายแรงต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
       ดังนั้น หากยอมรับอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ จะทำให้ศาลรัฐธรรมนูญขยายเขตอำนาจของตนเองเรื่อยไป อันมีผลเท่ากับศาลรัฐธรรมนูญบัญญัติรัฐธรรมนูญขึ้นเอง
       ดัวยเหตุดังกล่าว สมาชิกรัฐสภาจึงไม่ยอมรับอำนาจการพิจารณาวินิจฉัยคดีของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องที่เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้  จึงแถลงมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน สมาชิกรัฐสภา 18 พฤศจิกายน 2556

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น