วันพฤหัสบดีที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2556

"นิธิ" แนะเลือกตั้งคือวิธีที่แฟร์ที่สุด


"นิธิ" แนะเลือกตั้งคือวิธีที่แฟร์ที่สุด




         18 ธันวาคม 2556 go6TV - นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ นักคิด นักเขียน และนักประวัติศาสตร์ ให้สัมภาษณ์พิเศษต่อสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองของประเทศไทยในปัจจุบัน มีสาระสำคัญดังนี้

สถานการณ์ที่เป็นอยู่นี้จะยืดเยื้อถึงเมื่อไร

          นายนิธิ กล่าวว่า “หากรัฐบาลสามารถประคองสถานการณ์ไปจนถึงวันเลือกตั้งได้ ซึ่งนับวันการเลือกตั้งมันชัดขึ้นเรื่อยๆ ประเด็นการคัดค้านก็เริ่มมีความหมายน้อยลง เมื่อมันมีความหมายน้อยลง ส่วนหนึ่งของคนในม็อบจะพบว่าไม่มีประโยชน์ อาจรู้ว่าสู้ไปก็ไม่ชนะ หรือจะสำนึกได้ก็ตามแต่ แต่สื่อจะให้ความสำคัญลดลงไปเรื่อยๆ เวทีที่ไม่มีแสงไฟสาดส่อง ก็จะจืดมากขึ้น เมื่อถึง วันเลือกตั้งก็จะยิ่งไร้ความหมาย อารมณ์คนในสังคมจะไหลมาสู่การแข่งกันในการเลือกตั้ง”

รัฐบาล และ กปปส. เปิดเวทีระดมสมองหาทางออก เห็นด้วยหรือไม่

        “เท่าที่เข้าใจ คนที่เข้าไปสู่เวทีปฏิรูปจำนวนหนึ่ง เช่น กลุ่มธุรกิจ 7 องค์กร เป็นพวกแทงกั๊ก คือ จะให้ร่วมกับนายสุเทพก็ไม่กล้า จะขัดขานายสุเทพก็ไม่กล้า ถ้าหากพวกแทงกั๊กเริ่มมองเห็นว่า แนวทางที่นายสุเทพผลักดันไปไม่รอดก็คงจะไม่ร่วมเอง เวทีปฏิรูปที่ตั้งกันในช่วงนี้มันเลอะเทอะ หากถามกลุ่มธุรกิจที่มาร่วมว่าข้อสรุปของกลุ่มคืออะไร ก็ยังไม่รู้ ยุคสมัยที่นักปราชญ์ประชุมกันหลังฉากหาทางออกให้ปัญหาของประเทศ ที่สั่งสมมานานแล้ว โดยไม่สนใจว่าประชาชนคนอื่นคิดอย่างไร มันหมดยุคสมัยไปแล้ว” นายนิธิกล่าว

ควรทำอะไรก่อนระหว่างการปฏิรูปกับการเลือกตั้ง

         “เหตุใดจึงไม่ทำให้การเลือกตั้งเป็นหนึ่งในกระบวนการปฏิรูปในตัวมันเอง การปฏิรูปที่อยู่นอกกระบวนการประชาธิปไตยมันมีไม่ได้และไม่มีด้วย” นายนิธิกล่าว

ประเด็นใดที่ควรหยิบมาพูดคุย อภิปรายในสังคมอย่างเร่งด่วน
          “การผลักดันการปฏิรูปไม่ใช่เรื่องที่มาจัดกันเดี๋ยวนี้ แต่ต้องคืนนโยบายสาธารณะให้คนทั้งประเทศตัดสินใจ ผลักออกไปสู่กระบวนการประชาธิปไตยอย่างการเลือกตั้ง เช่น นาย ก หรือพรรคการเมืองหนึ่งเชื่อว่าควรจำกัดการถือครองที่ดินให้แต่ละคนได้ไม่เกิน 50 ไร่ ต้องไปคิดว่าควรทำอย่างไร จะนำกฎหมายใดมาใช้ อีกพรรคอาจไม่เห็นด้วย มองว่าการทำแบบนี้จะขัดความก้าวหน้าทางเกษตรกรรม ก็ถกเถียงกัน นี่คือกระบวนการปฏิรูป ทำให้เป็นระบอบประชาธิปไตย จะไปปฏิรูปกันหลังฉากไม่ได้ ต้องโยนมันลงไปในสังคม ผ่านกระบวนการทางการเมืองของระบอบประชาธิปไตย ที่มีการถกเถียงกัน ปัญหาแบบนี้มันเกี่ยวกับการปฏิรูปการเมืองอย่างแน่นอนและเป็นไปไม่ได้ที่จะแก้ปัญหาแบบนี้ได้ก่อนวันเลือกตั้ง 2 ก.พ.” นายนิธิกล่าว

ควรโยนเรื่องอำนาจศาลรัฐธรรมนูญให้สังคมวิพากษ์ด้วยหรือไม่

           นายนิธิ กล่าวว่า “ควร และที่ผ่านมามีคนโยนมาไม่น้อยแล้ว การที่ศาลรัฐธรรมนูญไปรับคำร้องวินิจฉัย พ.ร.บ.กู้เงิน 2.2 ล้านล้านบาท หรือเรื่องอื่นๆ ทั้งที่ไม่มีอำนาจ ทำให้ทุกอย่างมันช้า อะไรที่เป็นการกระทำของรัฐแล้วศาลรัฐธรรมนูญไม่เกี่ยว ที่ศาลฯเคยให้เหตุผลการยุบพรรคว่าเพื่อให้เกิดความสงบนั้น ขอโทษไม่ใช่หน้าที่คุณ ความสงบเป็นหน้าที่ของคนหลายคน ไม่มีอำนาจจากเทวดาที่ไหนมาสั่งให้สงบได้ ที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญไม่ทำหน้าที่ของตัวเอง เขาให้ทำอย่างหนึ่งไปทำอีกอย่าง การกระทำของฝ่ายบริหาร หรือฝ่ายนิติบัญญัติควรมีการตรวจสอบ แต่ไม่ควรเลอะเทอะแบบนี้ เหตุผลที่มีการวิพากษ์ศาลรัฐธรรมนูญยังจุดไม่ติดในสังคมไทย อาจเพราะเพิ่งโยนกันมาได้ไม่นาน และเสียงของคนจำนวนหนึ่งไม่ถูกฟังมาตั้งแต่ต้น แต่หากนานเข้า เสียงจะถูกฟังมากขึ้นเรื่อยๆ”

ควรมีการเจรจา-ตกลงนอกรอบ ก่อนจะถึงการเลือกตั้งหรือไม่

           “การเลือกตั้งคือการตกลงที่ดีที่สุด แฟร์ที่สุดที่คุณและผมมีส่วนร่วม แต่ที่ผ่านมาเรามองการเลือกตั้งง่ายเกินไป คิดว่าแค่เข้าคูหาหย่อนบัตร แต่ความจริงนับตั้งแต่การหาเสียง ชูนโยบาย ซึ่งสลับซับซ้อนและมีการเจรจาตกลงอยู่ในกระบวนการนั้นเยอะแยะ มากกว่าที่กองทัพมาเปิดเจรจากันตอนนี้ เหตุใดนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงมีสิทธิ์พูดมากกว่าผมหรือคุณ มันเลอะเทอะมาก ที่คิดว่าการเจรจาจะต้องอยู่ในมือคนที่มีอำนาจเท่านั้น อย่าพูดว่าต้องประชุมกันก่อน ทำไมคนพวกนั้นจึงประชุมกันฝ่ายเดียว ทำไมเราและทุกๆคนไม่ได้เข้าประชุมหรือมีส่วนร่วมบ้าง” นายนิธิกล่าว

จะยังมีการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. 2557 หรือไม่

         นายนิธิ กล่าวว่า “หากรัฐบาลอดทนไว้ คิดว่าไปถึงได้ แต่รัฐบาลต้องมีสติ ขันติเพียงพอ เพราะมองไม่เห็นว่ากลุ่มมวลมหาประชาชนจะทำหรือจะยกระดับอะไรได้อีก หัวใจสำคัญ คือ รัฐบาลต้องรักษาให้รัฐทำงานในฐานะที่เป็นรัฐไปจนถึงวันที่ 2 ก.พ. 2557 ขณะนี้นายสุเทพก็เหมือนฉีกรัฐธรรมนูญ แต่ก็ยังไม่กล้าประกาศเป็นทางการว่าฉีกรัฐธรรมนูญ ทหารก็ไม่กล้ายึดอำนาจ หากถึงวันเลือกตั้ง แล้วฝ่ายต้านรัฐบาลยังไม่ยอมรับ ประชาชนยังนอนกันกลางถนนอยู่ ก็ใช้สิทธิการชุมนุมไป ตำรวจเองก็ต้องขอคืนพื้นที่ให้รถใช้ถนนได้ แต่ไม่ควรใช้ความรุนแรงเป็นอันขาด คนอื่นๆก็ควรปกป้องสิทธิในการชุมนุมของคนเหล่านี้ด้วย”

ทางออกของประเทศที่คิดว่าเป็นไปได้ที่สุด

         นายนิธิ กล่าวว่า “ในทัศนะผม คือ ประชาธิปไตย หากรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ปกครองประเทศให้ไปสู่การเลือกตั้งได้ และคนไทยเองก็พร้อมจะไปสู่การเลือกตั้ง คนไทยจะเห็นเองว่าทางออกอีกทาง คือ การใช้อำนาจ ความวุ่นวายหรืออันธพาลปั่นป่วนมันไม่เวิร์ก ความแตกแยกขัดแย้งขยายวงกว้างไปถึงกลุ่มนักวิชาการ ไม่รู้จะมองอย่างไรกับนักวิชาการที่เข้าไปสนับสนุนเรื่องเหล่านี้ มันไม่มีใครแฟร์พอที่จะมาถกเถียงกัน อย่างกลุ่มนิติราษฎร์เสนอแล้วเชิญให้นักวิชาการที่เห็นต่างมาถกเถียง แต่ก็ไม่เคยมีใครมา”

อะไรคือเหตุผลให้คนกลุ่มหนึ่งเลือกจะไม่ยึดหลักการ มองว่าการเลือกตั้งไม่แก้ปัญหา หรือไม่ควรยอมรับเสียงข้างมาก
         “ม็อบของสังคมสมัยใหม่ที่มนุษย์ไม่มีพันธะผูกพันไม่ว่าจะกับครอบครัว วัด หรือโรงเรียน คล้ายกับคนที่เข้าไปร่วมม็อบในเบอร์ลิน มอสโก ปักกิ่ง ลอนดอน คือ เป็นคนที่ไม่สนใจการเมือง เช่นเดียวกับคนในยุโรปที่ไปม็อบคือคนที่ไม่เคยไปเลือกตั้งเลย ธรรมชาติของมนุษย์ที่ถูกแบ่งแยกเป็นอณูเล็กๆ ไม่มีอะไรเชื่อมโยง จึงไม่แปลกที่จะมองว่าการเลือกตั้งคือการซื้อเสียง

         ที่ผ่านมา เคยมีงานวิจัยของอาจารย์ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ซึ่งตรงกับผลวิจัยก่อนหน้าว่า การซื้อเสียงมีผลต่อการเลือกตั้งประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น งานวิจัยหลายชิ้นก็ชี้มาตลอดว่าการที่ใครจะเลือกใคร ซับซ้อนกว่าเรื่องเงิน แต่ยังรวมไปถึงว่าเป็นเครือญาติกันหรือไม่ ผู้สมัครมีผลงานหรือเปล่า ไม่ยืนยันว่าม็อบของนายสุเทพ เหมือนในลอนดอน หรือเบอร์ลินหรือไม่ แต่เท่าที่ฟังก็พบว่าคนส่วนใหญ่ที่ไปม็อบคือคนที่ไม่สนใจการเมือง เมื่อคนที่ไม่ผูกพันอะไร เปล่าเปลี่ยว โดดเดี่ยว ขาดความมั่นคง เจอม็อบก็เข้าไปร่วม

         นอกเหนือจากต้องการเป้าหมายทางการเมืองแล้ว มันคือการแสดงออกถึงการไม่มีความสุขในชีวิต สมัยที่มีม็อบมัฆวานของกลุ่มพันธมิตรฯ ก็พบมีการไปสร้างชุมชนใหม่ในม็อบ ไปคุยเรื่องลูก เรื่องผัว พอมีม็อบก็มีชุมชนเกิดขึ้น คนก็วิ่งเข้าหาความผูกพัน นี่เป็นเหตุผลที่มวลมหาประชาชนของนายสุเทพถูกหลอกได้ง่ายมาก สำนักข่าวต่างประเทศบอกว่ามีผู้มาร่วม 1.5 แสน นายสุเทพบอก 5 ล้านก็เชื่อ” นายนิธิกล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น