การชุมนุมของ กปปส.หรือคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข กว่า 2 เดือนครึ่งที่ผ่านมา ตั้งแต่เวทีสามเสนมาสู่เวทีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน กระทั่งยกระดับสูงสุดชัตดาวน์ กทม.ในวันที่ 13 ม.ค.ที่ผ่านมา กระจายตั้งเวทีปราศรัย 7 จุด 8 เวที
สิ่งสำคัญคือ ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการเวทีและดูแลมวลมหาประชาชนที่เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว
ขณะที่ฝ่ายตรงข้ามก็พยายามโจมตีว่า ยิ่งการชุมนุมลากยาวได้ขนาดนี้ น่าจะมีกลุ่มทุนหนุนหลัง ทำให้ กปปส.เองก็ต้องพยายามทำความกระจ่างเรื่องนี้
เมื่อตรวจสอบข้อมูลจาก กปปส.หนึ่งในแกนนำ ยอมรับว่า ภาระหนักเรื่องค่าใช้จ่ายของเวที ที่เพิ่มขึ้น รวมๆ แล้วสูงถึงหลัก 10 ล้านบาทต่อวัน
ขณะที่ทุนเริ่มต้นที่ สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส.เคยบอกเอาไว้ว่า มีประมาณ 500 ล้านบาท
ในระยะเริ่มต้นเวทีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เขาบอกว่า มีค่าใช้จ่ายประมาณวันละ 4-5 ล้าน แต่ระยะหลัง ได้ขยับขึ้นอีก 1-2 ล้านต่อวัน เพราะจำนวนคนเพิ่มขึ้น และหลังจากชัตดาวน์กรุงเทพฯ กระจายแต่ละเวทีย่อยออกไป คาดว่าค่าใช้จ่ายจะอยู่ประมาณ 1-3 ล้านต่อเวทีต่อวัน
แต่ถึงอย่างไร พวกเขาก็จะไม่ยุบเวทีมารวมกัน ยังคงปักหลักอยู่ทั้ง 7 จุด แม้คนจะน้อยลง ไม่ใช่นั้นรัฐบาลในเชิงยุทธศาสตร์ จะถูกรัฐบาลมองว่าเราถอย ไม่มีน้ำยา
ทั้งนี้ เมื่อตรวจสอบข้อมูลค่าใช้จ่ายของเวที กปปส.ที่ตกราววันละ 5 ล้านบาทต่อวัน เมื่อเริ่มต้นเปิด 8 เวที(ต่อมายุบเวทีแจ้งวัฒนะที่มี 2 เวทีเหลือเวทีเดียว) ปรากฎว่าค่าใช้จ่ายเพิ่มเป็นมากกว่า 10 ล้านบาทต่อวัน มีรายการดังนี้
- 1.ค่าเวที ค่าเครื่องเสียง ถ่ายทอดสด ประมาณ 2-3 ล้านบาทต่อวัน เฉพาะจอ LCD ค่าใช้จ่าย 1 แสนบาทต่อจอต่อวัน
ทั้งนี้ เดิมเวทีหลักราชดำเนินใช้ LCD 14 จอ คิดเป็น 1.4 ล้านบาทต่อวัน เมื่อย้ายมาใช้เวทีปทุมวัน เป็นเวทีหลัก ใช้ 8 จอ ส่วนเวทีอื่นๆ ต้องมีอย่างน้อย 2-3 จอ รวมแล้ว เพิ่มขึ้นอีกกว่า 20 จอ คิดเป็นเงิน 2.8 ล้านบาท/วัน (แต่มีส่วนลดราคา เช่น เช่า 3 วัน ฟรี 1 วัน)
- 2.ค่าอาหาร ประมาณ 1 ล้านบาทต่อวัน
- 3.ค่าเบี้ยเลี้ยงอาสาสมัครรักษาความปลอดภัย และอาสาสมัครอื่นๆ 2,000 คน จ้างแบบเหมาจ่าย ราย 3 วัน คิดเป็นเงินหลายแสนบาทต่อวัน
- 4.ค่าเต้นท์ขนาดใหญ่ 4 หมื่นบาทต่อหลังต่อวัน ค่าใช้จ่ายหลายล้านบาทต่อวัน
- 5.ค่ากิจกรรมอื่นๆ เช่น วงดนตรีที่มาแสดง ค่าตกแต่งเวที หลายแสนบาทต่อวัน
ขณะที่ สุเทพ เทือกสุบรรณ เปิดเผยว่า ทุนที่นำมาใช้ต่อสู้ ได้มาจากการจำนองที่ดินบนเกาะสมุยหมดทุกแปลงแล้ว โดยแปลงแรกจำนองกับพรรคพวกกัน ได้มา 25 ล้านบาท ส่วนแปลงอื่นๆ ที่เป็นของลูกสาวและลูกชาย ก็เอาไปจำนองมาช่วยพ่อ ให้ต่อสู้จนกว่าจะชนะ
คนใกล้ชิด สุเทพ อย่าง เอกนัฎ พร้อมพันธุ์ โฆษก กปปส.ยืนยันว่า กปปส.ไม่มีแหล่งทุนตั้งแต่แรก ไม่มีท่อน้ำเลี้ยงอย่างที่ถูกกล่าวหา แต่กำนันสุเทพมีทุนตั้งต้น ด้วยการเอาที่ดินไปจำนอง เอาเงินออกมาสู้ ซึ่งหลักๆ ที่ กปปส.ยังชุมนุมกันยาวนานได้ ก็เพราะเงินบริจาคจากประชาชน
เอกนัฎ บอกว่าที่ผ่านมา แต่ละวันยอดเงินบริจาคเฉลี่ยวันละ 1-2 ล้านบาท แต่เมื่อถูกดีเอสไอประกาศอายัด 2 บัญชี คือ "ครัวราชดำเนิน" และ "ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม" มีผลให้เงินบริจาคลดลง เหลือประมาณวันละ 5 แสน-1 ล้านบาท
โดยก่อนที่จะดาวกระจายปิด กทม.ยอดเงินบริจาคที่ประชาชนช่วยกันทุกช่องทาง ประมาณ 50 ล้านบาท
ฉะนั้น จึงต้องใช้อย่างประหยัดทุกอย่าง โดยการบริหารจัดการทั้งหมด แกนนำ กปปส.แต่ละคนช่วยกันทำ ไม่มีการจ้างออร์แกไนซ์ แต่ประสานงานเอกทุกอย่าง ตั้งแต่เช่าอุปกรณ์ต่างๆ เองทั้งหมด เพื่อให้ได้ราคาถูก
ส่วนสตาฟฟ์และวิทยากร ก็ขอไม่รับค่าจ้าง จะมีค่าใช้จ่ายเฉพาะทีมรักษาความปลอดภัยเท่านั้น เพราะถือว่าเขาเสี่ยงอันตรายปกป้องมวลชน
โฆษก กปปส.ระบุว่า ในยุทธศาสตร์ชัตดาวน์กรุงเทพฯ เมื่อยุบเวทีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แล้วไปเพิ่มเวทีอื่นๆ 7 จุด 8 เวที ค่าใช้จ่ายแต่ละเวทีนั้น ก็ยังใช้เงินบริจาคของประชาชนเป็นหลัก โดยให้แกนนำแต่ละเวทีบริหารจัดการค่าใช้จ่าย หากไม่พอ ก็จะมีเงินกองกลางของ กปปส.ช่วยเหลือ
แต่ก่อนหน้านี้ ที่ยังปักหลักที่เวทีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเวทีเดียว ค่าใช้จ่ายประมาณ 4-5 ล้านบาทต่อวัน หลักๆ เป็นค่าเวที เครื่องเสียง ค่าอาหาร เบี้ยเลี้ยงอาสาสมัคร เบ็ดเตล็ดอื่นๆ เฉลี่ยรายการละ 1 ล้านบาท
เขาบอกด้วยว่า นอกจากรายจ่ายในกิจกรรมต่างๆ ของเวที กปปส.ก็ยังต้องช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ ทั้งผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ ทั้งฝ่ายมวลชนและตำรวจ (รวม 3 ราย) รายละ 1 ล้านบาท รวมทั้งผู้ได้รับบาดเจ็บ อีกกว่า 20 ราย และผู้ที่ได้รับความเสียหายอื่นๆ เช่น ถูกทุบรถยนต์
โฆษก กปปส.ยืนยันว่า การชุมนุมของมวลมหาประชาชน ขับเคลื่อนมาได้เพราะเงินบริจาค ทุกบาททุกสตางค์ที่ได้มาสำคัญมากต่อ กปปส.ทำให้เราชุมนุมมาได้จนถึงทุกวันนี้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น