วันอาทิตย์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

อภิสิทธิ์ท้าพร้อมเปิดทางหรือไม่-ให้ประเทศมีนายกฯ คนกลาง


Sun, 2014-05-11 18:17

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ยกตัวอย่าง พฤษภา 35-อิตาลี 54 มีนายกฯ แต่งตั้งเพื่อแก้วิกฤติ หากพรรคการเมืองทั้งหลายยินยอมพร้อมใจ "นายกฯ คนกลาง" เป็นคำตอบดีที่สุด เพื่อเดินหน้าประเทศ-รักษาประชาธิปไตย พร้อมท้า "นักเลือกตั้ง" เปิดทางให้ประเทศ หรือจะอ้าง "ประชาธิปไตย" บังหน้า
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แถลงข่าวเมื่อวันที่ 3 พ.ค. ที่โรงแรมสุโกศล (ที่มา: เพจ Abhisit Vejjajiva/แฟ้มภาพ)
           11 พ.ค. 2557 - วันนี้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์บทความ "วีรบุรุษประชาธิปไตยกับนายกฯ จากการเลือกตั้ง" ลงในเพจของเขา โดยชี้ว่ามีความจำเป็นในการมีนายกรัฐมนตรีที่มาจากแต่งตั้งในช่วงวิกฤต โดยมีรายละเอียดบทความดังนี้
000
วีรบุรุษประชาธิปไตยกับนายกฯ จากการเลือกตั้ง
           ในขณะที่หลายฝ่ายเริ่มมองเห็นทางออกของประเทศว่าน่าจะต้องมีรัฐบาลเฉพาะกาลหรือนายกฯคนกลาง เสียงคัดค้านจากฝ่ายรัฐบาลและ นปช.จะตอบโต้ว่านายกฯ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งไม่เป็นประชาธิปไตย
ทำให้ผมนึกถึงเหตุการณ์ในอดีตทั้งในประเทศและในต่างประเทศ
         เหตุการณ์แรก คือวันที่คนไทยออกมาต่อสู้ให้นายกฯ มาจากการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2535 หลังจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ และพลเอกสุจินดา ลาออกจากนายกรัฐมนตรี ระหว่างมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้นายกฯมาจากการเลือกตั้งเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเคยเป็นผู้สนับสนุนพลเอกสุจินดา ก็หันมาสนับสนุนพลอากาศเอกสมบุญ ระหงษ์ ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง ให้เป็นนายกรัฐมนตรีท่ามกลางเสียงคัดค้านจากประชาชนที่ออกมาต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย
         วันนั้น ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้ผ่าทางตัน ด้วยการทูลเกล้าเสนอชื่อนายอานันท์ ปันยารชุน ซึ่งไม่ได้เป็น ส.ส.ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เข้ามาสะสางปัญหาจากเหตุการณ์ความไม่สงบและยุบสภาเมื่อรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมมีผลบังคับใช้
         วิกฤติจึงคลี่คลายลง ดร.อาทิตย์ได้รับการขนานนามว่าเป็น "วีรบุรุษประชาธิปไตย" ท่ามกลางกระแสเรียกร้องให้นายกฯ มาจากการเลือกตั้ง ทั้งๆ ที่ท่านเสนอชื่อบุคคลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง
มาดูอิตาลี เมื่อปี พ.ศ. 2554 บ้าง
          ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจและความวุ่นวายทางการเมือง หลังจากนายเบอร์ลุสโคนีลาออก ประธานาธิบดีอิตาลีได้แต่งตั้งนายมาริโอ มอนติ ซึ่งไม่ได้เป็น ส.ส. มาเป็นนายกรัฐมนตรี
         ต่อมาหลังจากหารือกับพรรคการเมืองทุกพรรค นายมอนติได้แต่งตั้งครม.ที่ปลอดนักการเมืองมาคลี่คลายปัญหาต่างๆ แล้วจึงลาออกและมีการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรในปี พ.ศ. 2556
ไม่มีใครบอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่เป็นประชาธิปไตย
          ยกทั้งสองเหตุการณ์นี้ขึ้นมาไม่ได้หักล้างหลักการว่า ในระบอบประชาธิปไตย นายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง
ผมยังสนับสนุนหลักการดังกล่าวไม่เปลี่ยนแปลง
          แต่ต้องการจะชี้ให้เห็นว่า ในสถานการณ์วิกฤติ เพื่อมาคลี่คลายสถานการณ์ในระยะเวลาสั้นๆ หรือเมื่อพรรคการเมืองทั้งหลายยินยอมพร้อมใจ นายกฯ คนกลางอาจเป็นคำตอบที่ดีที่สุด เพื่อเดินหน้าประเทศและรักษาประชาธิปไตยได้ นำบ้านเมืองไปสู่การเลือกตั้งที่เรียบร้อย ให้ประชาชนมั่นใจว่าคนที่มาจากการเลือกตั้งจะนำพาประเทศไปสู่ความสงบ ทำงานให้ประชาชน ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของระบอบประชาธิปไตยเหมือนกัน
  • วันนี้จึงต้องถามนักเลือกตั้งไทยว่า
  • พร้อมจะเปิดทางให้ประเทศหรือไม่
  • หรือจะอ้างประชาธิปไตยบังหน้ารักษาอำนาจตัวเองต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น