วันพุธที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ทำไมหลายประเทศถึงยังใช้เครื่องตรวจระเบิดปลอมจากฝีมือนักต้มตุ๋น



จากกรณีที่คนร้ายในปากีสถานสามารถฝ่าระบบรักษาความปลอดภัยเข้าไปในสนามบินจินนาห์ได้พร้อมอาวุธต่างๆ รวมถึงระเบิด สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นมาจากการใช้เครื่องตรวจวัตถุระเบิดปลอมจากนักต้มตุ๋น แม้ว่าจะมีการพิสูจน์ให้เห็นถึงการหลอกลวงนี้แล้ว แต่เหตุใดหน่วยงานหลายแห่งในโลกถึงยังยืนยันจะใช้ของเก๊

เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. ที่ผ่านมา ในเว็บบล็อกของ ลีโอ เบเนดิกตัส นักเขียนอิสระที่เขียนให้สำนักข่าวเดอะการ์เดียน ระบุว่า มีกองทัพหลายประเทศที่ยังคงใช้เครื่องตรวจระเบิดปลอม รวมถึงประเทศไทยด้วย
ลีโอ กล่าวถึงความล้มเหลวในการตรวจอาวุธและระเบิดของกลุ่มก่อการร้าย 10 คนที่สามารถฝ่าการรักษาความปลอดภัยเข้าไปในสนามบินจินนาห์พร้อมอาวุธปืน ระเบิด และเครื่องยิงจรวด เข้าไปก่อความวุ่นวายได้ ซึ่งความผิดพลาดส่วนหนึ่งมาจากการที่หน่วยงานรักษาความปลอดภัยของปากีสถานใช้เครื่องตรวจระเบิดของปลอมจากนักต้มตุ้นชาวอังกฤษที่ชื่อจิม แมคคอร์มิค
แมคคอร์มิค เป็นผู้ขายสิ่งที่อ้างว่าเป็นเครื่องมือตรวจระเบิดชื่อ ADE 651 และรุ่นอื่นๆ ที่มีดีไซน์ต่างกัน ซึ่งจริงๆ แล้วมันเป็นแค่การเอาเสาสัญญาณวิทยุมาติดกับที่จับพลาสติก มีการอ้างว่าถ้าหาก "ผู้ที่ได้รับการฝึกฝนเป็นอย่างดี" นำมาใช้จะสามารถตรวจจับระเบิดได้เพียงแค่เหวี่ยงมันเข้าหาวัตถุที่ต้องการตรวจสอบ โดย "ผู้ที่ได้รับการฝึกฝน" ที่ว่านั้นต้องสามารถตรวจจับ "คลึ่นความถี่ในระดับโมเลกุล" ของระเบิดได้
ลีโอ ระบุว่าคุณสมบัติที่กล่าวอ้างทั้งหมดนั้นเป็นเรื่องหลอกลวง และเกิดขึ้นเนื่องจากการเคลื่อนไหวในระดับจิตใต้สำนึกของผู้ใช้ทำให้รู้สึกว่าเครื่องมือทำงานได้ คล้ายกับปรากฏการณ์ใช้แท่งเหล็กหรืออุปกรณ์อื่นๆ ค้นหาแหล่งน้ำที่เรียกว่า 'ดาวซิ่ง' แต่พวกต้มตุ้นอย่างแมคคอมมิคหรือแกรี่ โบลตัน ก็ยังสามารถส่งออกเครื่องตรวจระเบิดเก๊นับพันพวกนี้ให้กับลูกค้าหลายรายทั่วโลกอย่างในอิรักและปากีสถาน นอกจากนี้ยังมีกรณีเครื่องตรวจระเบิดปลอมชื่อ GT200 ถูกนำมาใช้ในทางภาคใต้ของประเทศไทย
หน่วยงานความมั่นคงหลายแห่งกลับยังเชื่อมั่นในเครื่องมือปลอมเหล่านี้ซึ่งเป็นผลจากปรากฏการณ์ 'ดาวซิ่ง' ดังที่กล่าวไว้ ในปี 2553 หลังจากมีการเปิดโปงเรื่องการหลอกลวงของแมคคอร์มิคแล้วแต่หน่วยงานของสนามบินในปากีสถานก็ยังยืนยันว่าจะใช้เครื่องมือรูปแบบเดียวกันแต่มีดีไซน์ของพวกเขาเอง
อีกประเทศหนึ่งที่มีปัญหาด้านความมั่นคงอย่างอิรักก็เคยเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของแมคคอร์มิค และพวกเขาก็ยังคงใช้เครื่องมือพวกนี้อยู่แม้จะเคยมีการเตือนเรื่องการต้มตุ๋นก่อนหน้านี้แล้ว โดยที่สำนักข่าวนิวยอร์กไทม์ได้เข้าพบผู้บัญชาการหน่วยงานวัตถุระเบิดของอิรักเพื่อเสนอหลักฐานว่าเครื่องมือ ADE 651 เป็นของหลอกลวง แต่ผู้บัญชาการที่ชื่อ จีฮัด อัลจาบิรี ก็ยืนยันว่ามันใช้ได้จริง โดยอ้างว่า "ไม่ว่ามันจะเป็นวิทยาศาสตร์หรือเวทมนตร์ ผมสนใจแค่ว่ามันตรวจสอบระเบิดได้หรือไม่เท่านั้นเอง"
ต่อมาในปี 2554 อัลจาบีรีก็ถูกฟ้องร้องและถูกจับกุมข้อหารับสินบนจากแมคคอร์มิค และถึงกระนั้นก็ตามยังคงมีการใช้ ADE 651 ในอิรักอยู่จนถึงเมื่อเดือน ต.ค. 2556 อีกทั้งยังมีรายงานว่าในกรุงเบรุต ประเทศเลบานอน มีการใช้เครื่องมือ ADE 651 อย่างแพร่หลาย
แต่ดูเหมือนความดื้อดึงและความเชื่อมั่นในของเก๊ยังคงมีอยู่ไม่เสื่อมคลายไม่ว่าจะมีหลักฐานพิสูจน์มากเพียงใดก็ตาม เช่นที่พนักงานสืบสวนสตีฟ แม็ปป์ ที่ทำการสืบสวนเรื่องการต้มตุ๋นของแมคคอร์มิคกล่าวว่าในประเทศเคนยาพวกเขารู้เรื่องการต้มตุ๋นแต่ยังคงยืนยันว่าเครื่องมือของแมคคอร์มิคใช้งานได้จริง

เรียบเรียงจาก
Why are countries still using the fake bomb detectors sold by a convicted British conman?, The Guardian, 09-06-2014
http://www.theguardian.com/world/shortcuts/2014/jun/09/fake-bomb-detectors-british-conman-pakistan-karachi-airport

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น