วันอังคารที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

อัลจาซีราเผย คนจนในกัมพูชายังอยากทำงานในไทย เหตุไม่มีทางเลือกมากนัก

ความยากแค้นในชนบทของกัมพูชาผลักดันให้คนจำนวนมากเดินทางจากหมู่บ้านมาทำงานในไทย ที่แม้จะเสี่ยงต่อการถูกกดขี่และอันตรายจากงาน รวมถึงบางครั้งค่าจ้างก็ไม่ดีนัก แต่ก็เป็นช่องทางเดียวที่พวกเขาจะจุนเจือครอบครัวได้ เนื่องจากในกัมพูชายังมีตลาดแรงงานที่เล็กมาก

7 ก.ค. 2557 สำนักข่าวอัลจาซีรารายงานเรื่องสภาพของคนงานชาวกัมพูชาหลังจากที่ต้องอพยพกลับประเทศจากการเป็นแรงงานในประเทศไทยเมื่อช่วงเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมาเพราะกลัวว่าจะถูกปราบปรามจากทางการไทยหลังการรัฐประหาร
มีแรงงานกัมพูชามากกว่า 225,000 คนพากันอพยพกลับประเทศหลังจากมีข่าวลือเรื่องรัฐบาลทหารของไทยออกปราบปรามแรงงานข้ามชาติจำนวนมาก แต่พวกเขาก็บอกว่ายังอยากจะกลับไปทำงานในไทยหลังจากสถานการณ์ทางการเมืองสงบลงแล้ว และมีอีกหลายแสนคนที่ยังคงทำงานอยู่ในไทยท่ามกลางความเสี่ยง
สำนักข่าวอัลจาซีราระบุว่าชาวกัมพูชาจำนวนหนึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้รับการจดทะเบียน แต่ประเทศไทยมีงานจำนวนมากรองรับและทำเงินได้ดีกว่างานในประเทศของพวกเขา ทำให้พวกเขาหวังที่จะได้ทำงานในไทย
"ในกัมพูชาพวกเราไม่มีงานทำ หรือถ้ามีก็ได้เงินมาไม่พอกิน ประชาชนยากจน พวกเขาไม่สามารถหาเลี้ยงครอบครัวได้ทำให้พวกเขาต้องอพยพไปทำงานนอกประเทศเพื่อส่งเงินกลับไปที่บ้าน" ชวน รอท (Chhoun Roth) ผู้ใหญ่บ้านในกัมพูชากล่าวให้สัมภาษณ์ต่ออัลจาซีราตั้งแต่เดือน มี.ค. ที่ผ่านมา
รายงานอัลจาซีราระบุว่าพื้นที่ในเขตชนบทของกัมพูชาเต็มไปด้วยนาข้าวและกระท่อมท่ามกลางถนนลูกรังที่เต็มไปด้วยฝุ่น แต่ในหมู่บ้านทางตะวันออกเฉียงเหนือของกัมพูชาไม่มีคนในวัยทำงานอาศัยอยู่ รอทบอกว่าคนวัยทำงานพากันออกไปทำงานนอกหมู่บ้านปล่อยให้คนรุ่นปู่ย่าคอยเลี้ยงหลาน
ชาวกัมพูชาเห็นว่างานในไทยมีค่าจ้างมากกว่าจึงดึงดูดให้เข้ามาทำงานโดยผู้จ้างวานชาวไทยก็สามารถจ้างด้วยราคาที่ต่ำกว่าจ้างคนไทยด้วยกัน อย่างไรก็ตามการกลับไปทำงานในไทยก็ยังมีความเสี่ยงโดยเฉพาะกับคนที่ไม่มีเอกสารรับรองทำให้ต้องทำงานตามคำสั่งของนายจ้างเท่านั้น ทำให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตไม่ดีนักและมีค่าจ้างต่ำรวมถึงเสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิแรงงาน การใช้แรงานทาส รวมไปถึงอาจจะรุนแรงถึงขั้นการค้ามนุษย์เช่นกรณีที่เคยมีการเปิดโปงเรื่องการใช้แรงงานทาสบนเรือในไทย
รายงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศหรือไอแอลโอระบุอีกว่าคนงานที่ถูกค้ามนุษย์ส่วนใหญ่เป็นผู้อพยพจากประเทศเพื่อนบ้านมาทำงานในไทย พวกเขาถูกบังคับหรือล่อลวงให้เกิดการกดขี่แรงงานและการค้าบริการทางเพศ
แต่ชาวกัมพูชาก็ยังยอมเสี่ยงกับสิ่งเหล่านี้ รอทซึ่งอยู่ในหมู่บ้านนับตั้งแต่การล่มสลายของเขมรแดงในปี 2522 พยายามดิ้นรนกับความเปลี่ยนแปลงจากการที่มีคนออกจากหมู่บ้านไปทำงานในประเทศไทยทุกปี เขาพยายามเรียกร้องให้รัฐบาลส่งเสริมให้มีงานมากขึ้นในกัมพูชาโดยเฉพาะในจังหวัดเสียมเรียบ แต่รอทก็บอกว่าในหมู่บ้านของเขาทั้งหมด 1,018 คน มี 263 คน ที่ไปทำงานในไทยรวมถึงลูกของเขาเองด้วย
รอทกล่าวอีกว่าคนที่ไปทำงานในไทยส่วนใหญ่ประสบความสำเร็จในแง่การหาเลี้ยงครอบครัวได้ แต่ก็ยังมีอีกร้อยละ 20 ที่ไม่ประสบความสำเร็จเพราะนายจ้างโกงพวกเขา ไม่ยอมจ่ายค่าจ้าง มีอีกจำนวนน้อยที่ถูกกดขี่หรือถึงขั้นเสียชีวิต
เช่นกรณีของวา ซัว หญิงอายุ 67 ปี เริ่มร้องไห้ขณะพูดถึงลูกชายอายุ 39 ปีของเธอที่เสียชีวิตเนื่องจากตกจากอาคารก่อสร้างที่เขาทำงานอยู่เมื่อปีที่แล้ว เขาทำงานในไทยเป็นเวลา 10 ปี ซัวเล่าว่าก่อนหน้านี้พวกเขาได้แต่ทำนา ไม่มีใครข้ามฝั่งไปไทยเพราะมีการสู้รบที่ชายแดน แต่พอลูกๆ ของเธอโตขึ้นชายแดนก็เปิด คนที่หางานทำในประเทศไม่ได้ก็เดินทางไปไทย
ซัวซึ่งอยู่ในหมู่บ้านมากว่า 30 ปีแล้ว ยังได้เล่าถึงสภาพชีวิตที่ผู้คนในหมู่บ้านพากันไปทำงานในไทยทำให้หมู่บ้านเงียบเหงา มีแต่คนแก่อยู่อาศัย แม้แต่หลานสาวของเธอก็เรียกเธอว่าแม่ และเมื่อแม่จริงๆ ของหลานสาวกลับมาเยี่ยม หลานสาวเธอก็ไม่ยอมตามไป
แม้ไม่อาจระบุตัวเลขคนงานชาวกัมพูชาในไทยอย่างชัดเจนได้ แต่รัฐบาลกัมพูชาก็เคยประเมินว่าน่าจะมีชาวกัมพูชาทำงานในไทยราว 450,000 คนโดยไม่มีเอกสาร มีเพียง 90,000 คนที่ทำงานอย่างถูกกฎหมาย
โดยในความเป็นจริงแล้วมีคนงานหลายคนไม่มีทรัพย์สินมากพอที่จะสามารถทำงานในไทยผ่านช่องทางถูกกฎหมาย จากการประเมินของไอแอลโอพบว่าพวกเขาต้องมีค่าใช้จ่ายอย่างน้อย 700 ดอลลาร์ (ราว 22,000 บาท) ในการส่งตัวไปทำงานที่ไทยอย่างถูกกฎหมาย เทียบกับการลักลอบส่งตัวเข้าไทยซึ่งใช้เงินแค่ 100 ดอลลาร์ (ราว 3,200 บาท) และไม่ต้องรอนาน
คนยากจนในกัมพูชาไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากเข้ามาทำงานในไทยเพราะตลาดแรงงานในกัมพูชาอ่อนแอ แม้ว่าสำหรับบางครอบครัวแล้วต่อให้เข้ามาทำงานในไทยก็ยังอยู่อย่างขัดสน เช่นกรณีของเย ริน ชาวนาที่ขายข้าวต้มข้างทางเป็นงานเสริมยังมีรายได้ไม่พอใช้ ลูกของเธอ 4 ใน 5 คนเดินทางไปกลับประเทศไทยเพื่อไปทำงาน แต่ก็ยังได้เงินกลับบ้านโดยเฉลี่ยแค่ราวคนละ 800-1,200 ดอลลาร์ต่อปี (ราว 26,000-39,000 บาท) ซึ่งถือว่ายังไม่พอเลี้ยงครอบครัวทั้งหมด
มีคนหนึ่งในครอบครัวของรินที่ชื่อฤทธิ์ป่วยจนต้องกลับไปอยู่ที่บ้าน ลูกของเขาจำเป็นต้องกลับไปอยู่ด้วยเพราะเป็นเด็กอายุ 14 ปีที่อายุยังไม่ถึงเกณฑ์ใช้แรงงาน ฤทธิ์บอกว่าตัวเขาเองก็ต้องการข้ามฝั่งกลับไปทำงานในไทย แม้ว่าใจจริงเขาเองอยากอยู่ในเสียมเรียบแต่เพราะที่นั่นเขาไม่มีงานทำ


เรียบเรียงจาก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น