วันพฤหัสบดีที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2557

ไม่ร่วมประชุมตามเทียบเชิญทหาร ยันร่างข้อตกลงแก้ปัญหาเหมืองทองฉบับชาวบ้าน




3 ก.ย.2557 ตามที่ พล.ต.วรทัต สุพัฒนานนท์ ผู้บังคับการจังหวัดทหารบกเลย ได้เชิญกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านในพื้นที่โครงการเหมืองทองคำ ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย เข้าร่วมการประชุมวันที่ 4 กันยายน 2557 และผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ได้ส่งหนังสือถึง นายสมัย ภักดิ์มี ประธานสภา อบต.เขาหลวง แจ้งให้เข้าร่วมประชุมในวันดังกล่าว เพื่อจัดทำมาตรการและแนวทางการดำเนินการตามมาตรการที่เป็นรูปธรรมในลักษณะของบันทึกข้อตกลงร่วมกันระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และนำบันทึกข้อตกลงนี้มาใช้เป็นแนวทางในการที่จะลดข้อขัดแย้งและป้องกันแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการทำเหมืองแร่ทองคำที่มีผลต่อประชาชนในพื้นที่ตำบลเขาหลวง
ประชาชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน ได้แสดงจุดยืนต่อกรณีการจัดประชุมดังกล่าว โดยได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า  จากาการประชุมร่วมกันระหว่างชาวบ้าน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อลงนามข้อตกลงการแก้ปัญหาที่จัดมาแล้ว 2 ครั้งแต่ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จเนื่องจากชาวบ้านไม่รับทราบเนื้อหาของข้อตกลง จึงเสนอให้ร่างข้อตกลงใหม่ให้เป็นไปตามที่ชาวบ้านได้ทำประชาคมไว้แล้วเมื่อวันที่ 16 ส.ค.2557 (รายละเอียดอ่านในล้อมกรอบ) และเปิดโอกาสให้ชาวบ้านทั้ง 6 หมู่บ้านได้พิจารณารายละเอียดข้อตกลงอย่างทั่วถึงจากนั้นให้มีการประชาคมคัดเลือกตัวแทนไปลงนามข้อตกลง  ดังรายละเอียดแถลงการณ์ที่ปรากฏด้านล่าง
ทั้งนี้ เหมืองดังกล่าวเป็นโครงการของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ซึ่งได้รับอาชญาบัตรพิเศษในการเข้าสำรวจแร่ในพื้นที่ ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย และพบสินแร่ทองคำที่คุ้มค่าสำหรับการทำเหมือง ต่อมาได้รับประทานบัตรหรือหนังสือรับรองให้ทำเหมืองจากกระทรวงอุตสาหกรรมในเดือนตุลาคม 2545 เป็นเวลา 25 ปี บนพื้นที่ 6 แปลง หรือ1,308 ไร่ ของภูทับฟ้าและภูซำป่าบอน ก่อนจะเปิดดำเนินการทำเหมืองอย่างเป็นทางการในปี 2549
อย่างไรก็ตามการประกอบกิจการดังกล่าวนำมาสู่การร้องเรียนถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านรอบๆ เหมือง 6 หมู่บ้าน คือ บ้านห้วยผุก หมู่ 1 บ้านกกสะทอน หมู่ 2 บ้านนาหนองบง หมู่ 3 บ้านแก่งหิน หมู่ 4 บ้านโนนผาพุงพัฒนา หมู่ 12 และบ้านภูทับฟ้าพัฒนา และเกิดการรวมตัวก่อตั้งกลุ่มชาวบ้านที่คัดค้านโครงการเหมืองภายใต้ชื่อ 'กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด' ในปี 2550 ทำหน้าที่ในการเฝ้าระวังและตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรธรรมชาติบริเวณรอบเหมือง รวมถึงการเฝ้าระวังเตือนภัยเรื่องสุขภาพของคนในชุมชน
แถลงการณ์
การปฏิบัติการของทหาร (คสช.) ในพื้นที่ที่ได้แต่งตั้งคณะกรรมการ 4 ชุด เพื่อแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการทำเหมืองทองคำ ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย และได้จัดทำร่างบันทึกข้อตกลงระหว่าง ผู้ประกอบการเหมืองทองคำ ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองทองคำ 6 หมู่บ้าน และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีการจัดประชุมเพื่อลงนามบันทึกข้อตกลงฯ ในวันที่ 17 สิงหาคม 2557 และในวันที่ 25 สิงหาคม 2557 แต่การจัดประชุมทั้งสองครั้งไม่สามารถลงนามได้ เนื่องจากร่างบันทึกข้อตกลงฯ ดังกล่าวยังไม่ได้มีการเปิดเผยเนื้อหารายละเอียด และยังไม่ได้รับการพิจารณาเห็นชอบจากประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองทองคำ 6 หมู่บ้าน
เพื่อให้การแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการทำเหมืองทองคำยึดหลักสิทธิส่วนบุคคลของประชาชนทุกคนที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย แห่งรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 การจัดทำร่างบันทึกข้อตกลงฯ และการลงนามบันทึกข้อตกลงฯ จะต้องเป็นที่ยอมรับของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองทองคำทั้ง 6 หมู่บ้าน โดยมีขั้นตอนการดำเนินการดังต่อไปนี้
1. การจัดทำร่างบันทึกข้อตกลงฯ ที่หน่วยงานราชการได้ทำขึ้น จะต้องเป็นไปตามรายละเอียด ขั้นตอน และเงื่อนไข ในเอกสารประชาคมของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองทองคำ 6 หมู่บ้าน เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2557 ที่ประชาชนทั้ง 6 หมู่บ้าน ได้ลงมติเห็นชอบแล้ว (ดังเอกสารที่แนบมานี้) และจะต้องเปิดเผยเนื้อหารายละเอียดร่างบันทึกข้อตกลงฯ ดังกล่าวให้ประชาชนทั้ง 6 หมู่บ้านได้พิจารณาอย่างทั่วถึง
หากปรากฏข้อเท็จจริงว่า เนื้อหาในบันทึกข้องตกลงฯ ไม่ตรงตามเอกสารประชาคมฯ ดังที่กล่าวในข้างต้น ให้ถือว่าบันทึกข้อตกลงฯ ดังกล่าวมิชอบ และไม่ถือว่าเป็นเอกสารที่สามารถนำมาเป็นแนวปฏิบัติได้ ในกรณีที่หน่วยงานราชการใดนำบันทึกข้อตกลงฯ ที่ไม่สอดคล้องกับเอกสารประชาคมฯ ไปใช้ในการกระทำการใดๆ ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง และเป็นการใช้อำนาจในทางปกครองที่มิชอบ
2. การลงนามบันทึกข้อตกลงฯ จะต้องมีความถูกต้องและชอบธรรม โดยยึดหลักสิทธิของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองทองคำ 6 หมู่บ้าน
ดังนั้น กระบวนการในการลงนามบันทึกข้อตกลงฯ จะต้องมีการจัดประชาคม 6 หมู่บ้าน เพื่อคัดเลือกตัวแทนจากประชาชน 6 หมู่บ้าน  เป็นผู้พิจารณาเนื้อหาในร่างบันทึกข้อตกลงที่หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องได้จัดทำขึ้นแทนประชาชนผู้ได้รับผลกระทบทั้ง 6 หมู่บ้าน
เมื่อตัวแทนที่ได้รับคัดเลือกจากประชาชน 6 หมู่บ้าน ได้พิจารณาร่างบันทึกข้อตกลงฯ แล้ว จะต้องมีการจัดประชาคม 6 หมู่บ้าน เพื่อให้ประชาชนทั้ง6 หมู่บ้าน เห็นชอบร่างบันทึกข้อตกลงฯ
ในขั้นตอนสุดท้าย จะต้องมีการจัดประชาคม 6 หมู่บ้าน เพื่อคัดเลือกตัวแทนจากประชาชน 6 หมู่บ้าน  เป็นผู้ลงนามในบันทึกข้อตกลงฯ แทนประชาชนผู้ได้รับผลกระทบทั้ง 6 หมู่บ้าน
หากผู้ใหญ่บ้าน 6 หมู่บ้าน หรือข้าราชการในท้องถิ่น ซึ่งไม่ถือว่าเป็นตัวแทนของประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองทองคำ เป็นผู้ลงนามในบันทึกข้อตกลงฯ ถือว่าเป็นการใช้อำนาจในทางปกครองที่มิชอบ  
และหากมีการใช้อำนาจในทางปกครองที่มิชอบไม่ว่ากรณีใด ประชาชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน จะนำคดีขึ้นสู่ศาล
แถลงโดยตัวแทน กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน
วันที่ 3 กันยายน 2557

มติประชาคม 6 หมู่บ้าน เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2557
1. ให้มีการปิดเหมือง โดยจัดทำสัญญาขึ้นเป็นสัญญาลายลักษณ์อักษร ระหว่าง บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ตัวแทนชาวบ้าน 6 หมู่บ้าน ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในจังหวัดเลย ร่วมลงนามใน “สัญญาการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากเหมืองคำ ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย” เพื่อกำหนดเป็นหลักฐานว่า
1.1 บริษัท ทุ่งคำ จำกัด จะไม่ดำเนินการใดๆ ในการประกอบกิจการเหมืองแร่ หากไม่ได้รับการยินยอมจากชาวบ้านทั้งหมดในพื้นที่ที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป (บรรลุนิติภาวะ)
1.2 ให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกันพื้นที่ที่เป็น “แหล่งน้ำซับซึม” อันเป็นต้นน้ำที่สำคัญต่อระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม และเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญในด้านการเกษตร และการอุปโภค-บริโภค ของชาวบ้าน 6 หมู่บ้าน และในจังหวัดเลย เพื่อเป็นพื้นที่สงวนหวงห้าม โดยมิให้ใช้ประโยชน์อื่นใดในที่ดินดังกล่าว
1.3 ให้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 โดยส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจะต้องทำการศึกษาสาเหตุของการปนเปื้อนโลหะหนักในพื้นที่เหมืองแร่และพื้นที่โดยรอบเหมืองแร่ 6 หมู่บ้าน จนกว่าจะได้ข้อสรุปการปนเปื้อน ผลประเมินความคุ้มค่าของฐานทรัพยากรธรรมชาติ ค่าภาคหลวงแร่ กับวิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบเศรษฐกิจพอเพียงของประชาชน และผลการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ หรือ HIA โดยให้นักวิชาการที่ชาวบ้านมีส่วนในการคัดเลือกเป็นผู้ทำการศึกษาตามหลักการของกระบวนการมีส่วนร่วม
1.4 ให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ EHIA ขึ้นมาใหม่ หากจะอนุญาตให้ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด หรือ ผู้ประกอบการรายอื่น เปิดการดำเนินกิจการเหมืองแร่ โดยการจัดทำรายงานฯ ต้องไม่ให้ผู้ประกอบการที่มีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง
2. เงื่อนไขในการขนแร่ ของ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ออกนอกพื้นที่
2.1 ให้ถอนฟ้องคดีความ 7 คดี ที่ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ได้ฟ้องร้อง-กล่าวโทษเอาผิดกับชาวบ้าน 33 ราย
2.2  ให้ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด รื้อถอนและขนย้ายเครื่องจักรออกนอกพื้นที่แปลงประทานบัตร
2.3 ส.ป.ก.จังหวัดเลย ต้องไม่ต่อใบอนุญาตให้ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด เข้าใช้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน จำนวน 369 ไร่ 3 งาน 17 ตารางวา เพื่อใช้ในกิจการเหมืองแร่ทองคำ ที่หมดอายุลง และให้นำที่ดินดังกล่าวมอบให้ชาวบ้านทั้ง 6 หมู่บ้าน จัดทำเป็นป่าชุมชน โดยให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจัดงบประมาณสนับสนุนการจัดทำป่าชุมชนให้กับชาวบ้านทั้ง 6 หมู่บ้าน โดยมีคณะกรรมการจาก 6 หมู่บ้าน เป็นผู้ดำเนินการ
2.4 ทสจ.จังหวัดเลย ต้องไม่ต่อใบอนุญาตให้ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด เข้าใช้ที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าโคกภูเหล็ก จำนวน 608 ไร่ 3 งาน 34 ตารางวา และที่ดินในเขตป่าตามมาตรา 4(1) จำนวน 312 ไร่ 2 งาน 13 ตารางวา เพื่อใช้ในกิจการเหมืองแร่ทองคำ ที่หมดอายุลง และให้นำที่ดิน ในเขตป่าตามมาตรา 4(1) จำนวน 312 ไร่ 2 งาน 13 ตารางวา มอบให้ชาวบ้านทั้ง 6 หมู่บ้าน จัดทำเป็นป่าชุมชน โดยให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจัดงบประมาณสนับสนุนการจัดทำป่าชุมชนให้กับชาวบ้านทั้ง 6 หมู่บ้าน โดยมีคณะกรรมการจาก 6 หมู่บ้าน เป็นผู้ดำเนินการ
2.5 อบต.เขาหลวง ต้องไม่อนุญาตให้ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด เข้าใช้ที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าโคกภูเหล็ก
2.6 ให้ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ขนแร่ออกนอกพื้นที่ เฉพาะแร่แต่งแล้ว จำนวน 1,942.54 ตัน
2.7 บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ขนแร่ ต้องขนแร่โดยปฏิบัติตามกฎหมาย พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510 ระเบียบที่ประกาศโดยส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง พ.ร.บ.ทางหลวง และระเบียบชุมชนว่าด้วยการใช้ถนนชุมชนและการควบคุมน้ำหนักบรรทุก
2.8 การขนแร่ของ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ออกนอกพื้นที่ จะต้องมีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการขนแร่ ภายใน 15 วัน หลังจากมีการลงนามในสัญญาฯ นี้ คณะกรรมการประกอบด้วย ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ตัวแทนที่ได้รับการคัดเลือกจากชาวบ้าน ในอัตราส่วนที่เท่ากัน โดยให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจัดงบประมาณในการดำเนินงานของคณะกรรมการดังกล่าว
2.9 การขนแร่ของ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ออกนอกพื้นที่ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจะต้องแจ้งวันและเวลาในการขนแร่ แก่คณะกรรมการตรวจสอบการขนแร่ ก่อนการขนแร่ 15 วัน และให้ทำการขนแร่ได้ในเวลากลางวันเท่านั้น
2.10 หากการขนแร่ของ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด มีการทำผิดกฎหมายหรือระเบียบใดๆ ก็ตาม ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจะต้องฟ้องร้องดำเนินคดีกับ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด และข้าราชการที่ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ให้ถึงที่สุด
2.11 ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ EHIA ขึ้นมาใหม่ หากจะอนุญาตให้ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด และผู้ประกอบการอื่นๆ ประกอบโลหกรรม โดยการจัดทำรายงานฯ ต้องไม่ให้ผู้ประกอบการที่มีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง
3. เงื่อนไขในการฟื้นฟูผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ ให้ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) จัดตั้งคณะกรรมการในการศึกษา จัดทำแผน และดำเนินการฟื้นฟูระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการฯ ประกอบด้วย ตัวแทนของชาวบ้าน 6 หมู่บ้าน นักวิชาการจากสาขาที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชน นักวิชาการด้านกฎหมาย ที่ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการเสนอชื่อ คัดเลือก แต่งตั้ง โดยนำงบประมาณในการดำเนินการมาจาก กองทุนประกันความเสี่ยง และกองทุนฟื้นฟูพื้นที่ภายหลังการทำเหมืองแร่ โดยต้องไม่ให้ผู้ประกอบการที่มีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง
โดยขั้นตอนการดำเนินการ ตามมติความต้องการของชาวบ้าน 6 หมู่บ้าน ในครั้งนี้ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในจังหวัดเลย จะต้องปฏิบัติตามขั้นตอน ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1. หลังจากการปิดเหมือง โดยจัดทำสัญญาการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากเหมืองคำ ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ตำรวจ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด และตัวแทนชาวบ้าน ลงนามในสัญญาฯ เพื่อเป็นหลักฐานให้เป็นที่เรียบร้อย
ขั้นตอนที่ 2. ให้บริษัท ทุ่งคำ จำกัด และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามข้อตกลงในสัญญาฯ ให้แล้วเสร็จ และรายงานต่อ คณะกรรมการตรวจสอบการขนแร่ ตามข้อ 2.8 ก่อนจะมีการขนแร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น