วันพฤหัสบดีที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

'อภิสิทธิ์' เสนอสูตร รธน. ฉบับใหม่ พร้อมยันยังรักกันดี กับ 'อลงกรณ์'

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนก่อนเข้าให้ควาามคิดเห็น
ต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2557 (ภาพจาก : ข่าวรัฐสภา)
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แนะ กมธ.ยกร่าง อยากเห็นรธน. ที่ยั้งยืน ก้าวหน้า และจัดการปัญหาการใช้อำนาจโดยมิชอบ พร้อมกล่าวถึงการลาออกของ 'อลงกรณ์' ว่าเป็นสิทธิส่วนบุคคล ไม่ได้มีปัญหากับพรรค ยืนยันว่ายังรักกันดี
27 พ.ย. 2557 - ที่รัฐสภา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เดินทางมาเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต่อคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ ตาามที่ทางกมธ. ยกร่าง รธน. ได้เปิดช่องทางให้พรรคการเมืองและกลุ่มเคลือนไหวทางการเมืองได้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยอภิสิทธิ์ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนก่อนเข้าให้ข้อมูล ว่าการเข้าให้ข้อมูลครั้งนี้ถือเป็นความเห็นส่วนตัวไม่ผูกพันกับพรรคประชาธิปัตย์ โดยสิ่งที่ต้องการเห็นคือ รัฐธรรมนูญที่นำไปสู่การปฏิรูปที่ยั่งยืน ดังนั้นจะเสนอใน 3 ประเด็นหลัก คือ 1.ทำอย่างไรให้ รธน.มีความยั่งยืน ซึ่งต้องเริ่มต้นจากการทำประชามติ 2.รธน.ไทยไม่ควรถอยหลัง ไม่ควรมีการลดทอนสิทธิ เสรีภาพหรือการมีส่วนร่วมของประชาชน ประชาชนควรมีสิทธิในการเลือกผู้บริหารประเทศและกำหนดทิศทางประเทศ 3.รธน.ต้องแก้ปัญหาหลักของระบบการเมืองที่ผ่านมา ทั้งปัญหาทุจริตคอรัปชั่น การใช้อำนาจโดยมิชอบของฝ่ายการเมือง เพิ่มกลไกการตรวจสอบถ่วงดุล ลดอำนาจรัฐเพิ่มอำนาจประชาชน
พร้อมกันนี้จะให้ความเห็นต่อแนวคิดต่างๆ ที่มีผู้เสนอต่อ กมธ.ยกร่างฯ เพราะตนมองว่า บางแนวคิดเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด อาทิ จะเลือกตั้งอย่างไร เราควรมองว่าจะป้องกันไม่ให้คนที่ได้รับเลือกตั้งเข้าไปทำการทุจริต คอรัปชั่นได้อย่างไรมากกว่า และเห็นว่า ควรมีการทำประชามติ เพื่อป้องกันข้อโต้แย้งจนอาจทำให้เสียเวลายกร่าง รธน.กันใหม่
อภิสิทธิ์์กล่าวด้วยว่าการตรวจสอบที่ผ่านมาไม่ได้ผลและเป็นที่มาของวิกฤตการเมือง ระบบรัฐสภา รัฐบาลต้องมีเสียงข้างมาก พรรคการเมืองต้องเป็นสถาบันที่เข้มแข็งแต่เมื่อพรรคการเมืองและนักการเมืองมีอำนาจ จะต้องถูกตรวจสอบ รับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น การตรวจสอบ การถ่วงดุล ความรับผิดชอบ ต้องทันต่อเหตุการณ์ เพื่อไม่ก่อให้เกิดวิกฤตการเมือง ส่วนประเด็นที่มาของนายกรัฐมนตรี เห็นว่า ควรมาจากการเลือกตั้ง ขณะที่ ที่มาของ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มองว่า วิธีการได้มาไม่ควรเหมือนกับฐานการได้มาซึ่ง ส.ส. เพราะการเข้ามาทำหน้าที่แตกต่างกัน 
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ควรผ่อนปรนการประกาศใช้กฎอัยการศึกหรือไม่ อภิสิทธิ์กล่าวว่า ควรผ่อนปรน เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลาย และหากผ่อนปรนแล้วเกิดปัญหาขึ้นก็สามารถประกาศใช้เป็นบางพื้นที่ได้ ซึ่งเป็นหน้าที่ของ คสช.ที่จะชั่งน้ำหนักระหว่างการจำกัดเสรีภาพ กับการเสียโอกาสที่จะรับฟังความเห็นของประชาชนว่าส่วนใดมีความคุ้มค่ากว่ากัน
ขณะเดียวกันอภิสิทธิ์ได้กล่าวถึงกรณีการลาออกของนายอลงกรณ์ พลบุตร ว่าการกระทำดังกล่าวถือเป็นสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งนายอลงกรณ์ให้เหตุผลว่า การลาออกก็เพื่อการทำหน้าที่สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้อย่างอิสระและเป็นกลาง ซึ่งถือว่าตรงกับจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีแนวคิดไม่ส่งสมาชิกพรรคเข้าร่วมเป็น สปช. เพราะถ้าสังกัดพรรคก็จะถูกมองในอีกแง่มุมหนึ่ง แต่ยืนยันว่าไม่ได้มีปัญหาต่อกันและยังรักกันดี ส่วนที่ว่าหลังจากที่นายอลงกรณ์ พ้นจากการทำหน้าที่ สปช. แล้วจะเข้าร่วมสังกัดพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า ขอให้เป็นการตัดสินใจของนายอลงกรณ์เอง

เรียงเรียงจาก : ข่าวรัฐสภา
เอกสารประกอบการให้ความเห็นต่อคณะกรรมรัฐธรรมนูญ
ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น