วันพุธที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ยกฟ้อง ‘สุเทพและพวก’ คดีแจกผ้าขนหนูงานสงกรานต์ หนุนผู้สมัคร อบจ.สุราษฎร์ฯ

ศาลยกฟ้อง ‘สุเทพและพวก’ คดีฝ่าฝืนพ.ร.บ.เลือกตั้ง แจกผ้าขนหนูงานสงกรานต์ ระบุผู้สมัคร อบจ.สุราษฎร์ฯ ไม่ได้อยู่ในงาน จำเลยจึงไม่ได้เกี่ยวข้องที่จะจูงใจให้เลือก และประชาชนส่วนใหญ่เลือกพรรคประชาธิปัตย์อยู่แล้ว แม้จำเลยไม่ได้ลงพื้นที่ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย
30 ธ.ค.2557 พระสุเทพ ปะภากโร หรือสุเทพ เทือกสุบรรณ และประพนธ์ นิลวัชรมณี อดีต ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วยพระสงฆ์จากสวนโมกข์ จำนวน 2 รูป และผู้ติดตาม ได้เข้าห้องพิจารณาคดีที่ 1 ศาลจังหวัดเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อมาฟังคำพิพากษาตัดสินที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้ง 3 ประกอบด้วย สุเทพ เทือกสุบรรณ จำเลยที่ 1 ชุมพล กาญจนะ จำเลยที่ 2 และประพนธ์ นิลวัชรมณี จำเลยที่ 3 ตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา4, 5, 57, 118 ริบผ้าขนหนูของกลาง และสั่งเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งจำเลยทั้ง 3 เป็นระยะเวลา 10 ปี
สำหรับคดีนี้สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2551 ผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำองค์การบริหารจังหวัดสุราษฎร์ธานี ประกาศให้มีการเลือกตั้งนายก.อบจ.สุราษฎร์ธานีและสมาชิก อบจ.สุราษฎร์ธานี รวม 30 เขตเลือกตั้ง ซึ่งอำเภอเกาะสมุยเป็นเขตเลือกตั้ง 1ใน 30 เขตเลือกตั้ง โดยกำหนดเลือกตั้งในวันที่ 20 เมษายน 2551 มี มนตรี เพชรขุ้ม  ลงสมัครนายก.อบจ. หมายเลข 1 ธานี เทือกสุบรรณ ลงสมัครนายก.อบจ.หมายเลข 2 และ สุวพัฒน์ สมหวัง ลงสมัครสมาชิกอบจ.หมายเลข 1 สุริญญา ยืนนาน ลงสมัครสมาชิกอบจ.หมายเลข 2 ในเขตอำเภอเกาะสมุย
ต่อมาเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2551 ทางเทศบาลตำบลเกาะสมุยจัดงานประเพณีสงกรานต์ขึ้น ในงานดังกล่าวทางจำเลยทั้ง 3 ที่ในขณะนั้นมีตำแหน่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุราษฎร์ธานี เขตเลือกตั้งที่ 1 พรรคประชาธิปัตย์ ได้มาร่วมงาน และเฉพาะจำเลยที่ 1 ยังดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรประชาธิปัตย์และพี่ชายของธานี โดยมีสุริญญา ยืนนาน มาร่วมงาน โดยจำเลยทั้ง 3 นำผ้าขนหนูที่ปักอักษรว่า พรรคประชาธิปัตย์ ส.ส.ชุมพล กาญจนะ ส.ส.ประพนธ์ นิลวัชรมณี ส.ส.สุเทพ เทือกสุบรรณ มามอบให้แก่ผู้สูงอายุที่มาร่วมงานประเพณีรดนำดำหัว
เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2551 มนตรี เพชรขุ้ม ผู้สมัครนายก.อบจ. และสุวพัฒน์ สมหวัง ผู้สมัครสมาชิกอบจ.เขตเกาะสมุย ยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งในวันที่ 20 เมษายน 2551 ว่าการที่จำเลยทั้ง 3 และสุริญญา ยืนนาน มาร่วมงานประเพณีสงกรานต์และมอบผ้าขนหนูให้แก่ผู้สูงอายุนั้น ถือว่าเป็นการให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ทรัพย์สิน อันอาจคำนวนเป็นเงินให้กับผู้สูงอายุ เพื่อจูงใจให้ผู้สูงอายุที่มีสิทธิ์เลือกตั้งให้ลงคะแนนเลือกตั้งให้กับนายธานี และสุริญญา ผู้สมัครในนามพรรคประชาธิปัตย์ อีกทั้งจำเลยที่ 1 ยังเป็นพี่ชายของธานีอีกด้วย
ต่อมาทางกกต.จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีความเห็นว่าการกระทำของจำเลยทั้ง 3 เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนตามพรบ.เลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น พ.ศ.2545 ต่อมาศาลอุทรณ์ภาค 8 มีคำสั่งให้เพิ่งถอนสิทธิ์การเลือกตั้งสุริญญา ยืนนาน เป็นเวลา 5 ปี และให้มีการเลือกตั้งนายก.อบจ.และสมาชิกอบจ.เขตเกาะสมุยใหม่ ซึ่งคดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยประการเดียวว่า การกระทำของจำเลยทั้ง 3 มีความผิดตามฟ้องหรือไม่เฉพาะส่วนที่จำเลยทั้ง3 มาร่วมงานประเพณีสงกรานต์ซึ่งอยู่ในช่วงที่มีการเลือกตั้งนั้น
จากข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงน่าเชื่อว่าการที่จำเลยทั้ง 3 มอบของที่ระลึกให้แก่ผู้สูงอายุนั้นน่าจะไม่มีความเกี่ยวข้องกับสุริญญา ส่วนการที่จำเลยทั้ง3มอบผ้าขนหนูให้แก่ผู้สูงอายุที่มีการปักข้อความว่าพรรคประชาธิปัตย์และจำเลยที่ 1 สวมเสื้อที่มีตราสัญลักษณ์พรรคประชาธิปัตน์ที่อาจจะสื่อความหมายในทำนองว่าให้สนับสนุนสุริญญาผู้สมัครในนามพรรคประชาธิปัตย์นั้นทางอนุกรรมการสืบสวนสอบสวน กกต.สุราษฎร์ธานี เบิกความตอบโจทก์ว่าการที่สุริญญา ยืนนาน ลงสมัครสมาชิกอบจ.สุราษฎร์ธานี เขตอำเภอเกาะสมุยนั้น นายสุริญญา ไม่มีหนังสือรับรองจากพรรคประชาธิปัตย์ และทางปลัดอบจ.สุราษฎร์ธานี ก็ได้รับแจ้งว่านายสุริญญา ก็ไม่ได้ลงสมัครในนามพรรคประชาธิปัตย์ ประกอบกับจำเลยที่ 1 ลงสมัครรับเลือกตั้งทางการเมืองเป็นเวลา 30 ปี จำเลยที่ 1 ก็สวมเสื้อที่มีข้อความ หรือสัญลักษณ์ของพรรคประชาธิปัตย์อยู่แล้ว
และตามที่บุคคลทั้งสามได้มาร่วมงานประเพณีวันสงกรานต์ที่จัดขึ้นโดยเทศบาลตำบลเกาะสมุยในขณะนั้น ศาลจังหวัดเกาะสมุย เห็นควรให้ยกฟ้อง เนื่องจาก สุเทพ เทือกสุบรรณ ประพนธ์ นิลวัชรมณี และชุมพล กาญจนะ ได้เข้าร่วมงานประเพณีสงกรานต์ที่จัดขึ้นโดยเทศบาลตำบลเกาะสมุย จากการเชิญเข้าร่วมงานรดน้ำ และได้มอบผ้าขนหนูให้แก่ผู้สูงอายุนั้นพบว่า ธานี เทือกสุบรรณ ที่ลงสมัครในตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี และสุริญญา ยืนนาน ผู้ลงสมัครสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี เขตอำเภอเกาะสมุย ไม่ได้อยู่ในพิธีในขณะนั้น เนื่องจากได้เดินทางไปร่วมงานประเพณีสงกรานต์ที่บ้านใต้ ตำบลแม่น้ำ อำเภอเกาะสมุย ทำให้การเข้าร่วมงานประเพณีสงกรานต์ของทั้ง 3 คน ไม่ได้เกี่ยวข้องที่จะเป็นการจูงใจให้ผู้สูงอายุเลือก สุริญญา ยืนนาน และธานี เทือกสุบรรณ บุคคลทั้งสองแต่อย่างใด เพราะประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ได้จัดให้มีการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี และสมาชิกองค์บริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งผลการเลือกตั้งประชาชนส่วนใหญ่เลือกพรรคประชาธิปัตย์ ถึงแม้สุเทพ เทือกสุบรรณ ประพนธ์ นิลวัชรมณี และชุมพล กาญจนะ ถึงแม้บุคคลทั้ง 3 ไม่ได้ลงพื้นที่ก็ตาม คะแนนการเลือกพรรคประชาธิปัตย์ก็ยังนำคู่แข่งในทุกเขตเลือกตั้ง จึงเห็นควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้แก่จำเลยทั้ง 3 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227/2 ส่วนผ้าขนหนูของกลางไม่ใช่ทรัพย์สินของกลางที่จำเลยได้ใช้กระทำความผิด จึงมีคำสั่งให้คืนของกลางแก่เจ้าของ ศาลจังหวัดเกาะสมุย จึงมีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้ง 3 คน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น