26 ม.ค. 2558 มีรายงานความคืบหน้าคดีฝ่าฝืนคำสั่งเรียกรายงานตัวของ คสช. 4 กรณี คือ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์นิติศาสตร์ มธ.และสมาชิกกลุ่มนิติราษฎร์, สมบัติ บุญงามอนงค์ นักกิจกรรม, สิรภพ หรือ รุ่งศิลา กวีและบล็อกเกอร์ รวมถึง ณัฐ สัตยาภรณ์พิสุทธิ์ อดีตผู้ต้องขังคดีการเมือง โดย 3 รายแรก ศาลทหารทยอยมีคำสั่งไม่ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความแล้ว เหลืออีกกรณีเดียวคือคดีของจิตรา คชเดช ที่ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเช่นกัน และศาลทหารนัดฟังคำสั่งในวันเดียวกับวันสืบพยานคือ 6 มี.ค.นี้ ส่วนกรณีณัฐเพิ่งได้รับการประกันตัวออกจากเรือนจำหลังต้องอยู่ในเรือนจำนาน 3 วัน
กรณีของวรเจตน์ วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความ ระบุถึงคดีที่วรเจตน์ถูกดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัว คสช. ว่า ศาลทหารยกคำร้องที่วรเจตน์ขอให้ศาลทหารส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประกาศ คสช. ทั้งสองฉบับนั้น ขัดหรือแย้งต่อข้อความตามมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 หรือไม่ ศาลทหารยกคำร้องโดยระบุว่าศาลทหารเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาอรรถคดีตามประกาศของคสช.และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว)2557 ได้บัญญัติให้ความคุ้มครองสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองตามกติการะหว่างประเทศไว้แล้วจึงไม่ขัดต่อบทบัญญัติของพันธะสัญญาระหว่างประเทศตามที่จำเลยอ้างมา ประกอบกับตามรัฐธรรมนูญฯมีบทบัญญัติให้อำนาจเฉพาะศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่ หรือศาลปกครองสูงสุดเท่านั้น ที่จะส่งความเห็นหรือคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดว่าบทบัญญัติใดขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญหรือไม่ จึงไม่มีบทบัญญัติที่ให้อำนาจศาลทหารมีอำนาจหน้าที่ต้องส่งความเห็นหรือคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ ดังนั้น คำร้องของจำเลยจึงตกไป
หลังจากนั้นศาลได้ตรวจพยานหลักฐาน และนัดสืบพยานในวันที่ 26 พ.ค. เวลา 8.30 น. โดยพยานโจทก์มี 7 ปาก พยานจำเลยมี 6 ปาก ทั้งนี้ในการพิจารณาคดีในวันนี้มีเจ้าหน้าที่จากสถานฑูตสหรัฐอเมริกามาเข้าร่วมฟังการพิจารณาคดีด้วย
วิญญัติ กล่าวว่า นี่เป็นคำสั่งแรกๆ ที่ไม่ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งอาจจะเป็นบรรทัดฐานให้กับคดีขัดคำสั่ง คสช.อื่นๆ เช่น คดีจาตุรนต์ ฉายแสง คดีขอนแก่นโมเดล ที่ต้องการให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในประเด็นเดียวกัน
เมื่อถามว่าจะอุทธรณ์หรือไม่ วิญญัติ กล่าวว่า การยื่นอุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณาคดีนั้นจะต้องยื่นพร้อมคำพิพากษาเท่านั้น ซึ่งคดีนี้น่าจะกินเวลานานเป็นปี เพราะนัดสืบพยานนัดละ 1 ปากเท่านั้น ส่วนจะอุทธรณ์ได้หรือไม่ ต้องยื่นที่ศาลทหารสูงสุด โดยส่วนตัวกังวลว่าอาจจะติดข้อกฎหมาย เพราะในช่วงบ้านเมืองไม่ปกติจะมีเพียงศาลเดียว ไม่มีอุทธรณ์หรือฎีกา
สำหรับคดีของสมบัติ หรือ บก.ลายจุด ภาวิณี ชุมศรี ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า คดีที่สมบัติถูกกล่าวหาว่ายุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 นั้น เมื่อวันที่ 23 ม.ค.ที่ผ่านมา ศาลทหารยกคำร้องของนายสมบัติที่ขอให้ศาลทหารส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าการให้พลเรือนขึ้นศาลทหารขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยศาลทหารระบุว่า ศาลทหารไม่มีอำนาจส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และคำสั่ง คสช.นั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 มาตรา 48 แล้ว พร้อมนัดสืบพยานโจทก์ 10 มี.ค. นี้
ส่วนเช้าวันนี้ (26 ม.ค.) มีการสืบพยานที่ศาลแขวง จ.ชลบุรี ในคดีที่ สมบัติ ฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 41/2557 ไม่มารายงานตัวตามกำหนด ตามคำสั่งฉบับที่ 3/2557 ลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 โดยพยานโจทก์ปากแรกเป็นนายทหารที่เข้าจับกุมนายสมบัติ ซึ่งสังกัดอยู่ที่จ.ชลุบรี จากนั้นจะมีการส่งประเด็นไปสืบพยานโจทก์ที่เหลืออีก 4 ปากที่ศาลแขวงดุสิต ในวันที่ 2 มี.ค. เวลา 9.00 น.
สำหรับคดีนี้เป็นคดีในอำนาจของศาลแขวงดุสิต เนื่องจากเป็นการฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ที่เรียกรายงานตัวก่อนวันที่ 25 พ.ค. ซึ่ง คสช. ออกประกาศฯ ฉบับที่ 37/2557 ให้อำนาจพิจารณาคดีต่างๆ อยู่ในอำนาจศาลทหาร
ส่วนอีกกรณีหนึ่งที่เกี่ยวข้องการคำสั่งเรียกรายงานตัว คือ กรณีที่ศาลแขวงดุสิตพิพากษาลงโทษจำคุกณัฐ อดีตผู้ต้องขังคดี 112 ที่พ้นโทษแล้ว ในข้อหาขัดคำสั่ง คสช.ไม่รายงานตัวให้จำคุก 2 เดือน และลงโทษเพิ่มให้จำคุกอีก 20 วันเนื่องจากพบว่าเคยต้องโทษในคดี 112 มาก่อน แต่เนื่องจากจำเลยรับสารภาพจึงลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือ 1 เดือน 10 วัน ล่าสุด วันนี้ศาลให้ประกันตัวแล้วด้วยหลักทรัพย์เงินสด 40,000 บาท (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
กรณีสุดท้ายคือ สิรภพ ผู้ใช้นามแฝง รุ่งศิลา กวีและบล็อกเกอร์ที่ถูกคุมขังมาตั้งแต่ 1 ก.ค.2557 จากคดีมาตรา 112 และถูกแจ้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งคสช. ไม่มารายงานตัว เมื่อวันที่ 22 ม.ค.ศาลทหารนัดสืบพยานปากแรก คดีฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ไม่มารายงานตัว โดยปากแรกคือทหารพระธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม ก่อนการสืบพยาน ศาลทหารได้อ่านคำสั่งยกคำร้องกรณีที่จำเลยขอให้ศาลทหารส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า การนำพลเรือนขึ้นศาลทหารและการให้มีการพิจารณาโดยไม่อุทธรณ์ ฎีกาได้นั้นขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยศาลทหารระบุว่าศาลทหารมีอำนาจพิจารณาคดี และไม่มีอำนาจส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น