คำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แจงระบบถอดถอนใหม่ไม่ขัด รธน.ชั่วคราวมาตรา 35(4) เพราะสุดท้ายจะไปสู่การตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิตเช่นเดียวกัน แต่จะรับข้อสังเกตต่างๆ ไปพิจารณา
10 ม.ค. 2558 สำนักข่าวไทยรายงานว่านายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ยืนยันว่า การตัดสิทธิการเมือง 5 ปี ในการลงมติโดยรัฐสภา ในระบบการถอดถอนตัดสิทธิแบบใหม่ ตามที่กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเสนอ จะไม่ขัด มาตรา 35 (4) ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ที่กำหนดกรอบให้คนที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองห้ามดำรงตำแหน่งการเมืองตลอดชีวิต ตามที่ผู้ตั้งข้อสังเกต
นายคำนูณ กล่าวว่า ช่องทางการดำเนินการเอาผิดกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มีอยู่เดิมตามรัฐธรรมนูญปี 2550 มีด้วยกัน 2 ช่องทาง คือ ระบบการถอดถอนจากตำแหน่ง ตามมาตรา 270 และการดำเนินคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามมาตรา 275
นายคำนูณ กล่าวว่า ในส่วนของการถอดถอนออกจากตำแหน่ง ตามรูปแบบของมาตรา 270 เป็นการถอดถอนโดยเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 ของสมาชิกวุฒิสภา กรรมาธิการฯ จะปรับลดสัดส่วนให้เป็นเสียงข้างมากของสมาชิก 2 สภาร่วมกัน หากยังอยู่ในตำแหน่ง ก็จะถูกถอดถอนจากตำแหน่ง และตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี แต่หากพ้นจากตำแหน่งแล้ว เช่น ลาออก ยุบสภา ก็จะถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปีอย่างเดียว และหากเสียงถอดถอนไม่เกินกึ่งหนึ่ง รายชื่อผู้ถูกยื่นให้ถอดถอนหรือตัดสิทธิดังกล่าว ก็จะเข้าสู่ Impeachment List เพื่อให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งโหวตในคราวเลือกตั้งอีกครั้งว่า จะตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิตหรือไม่
“ที่ต้องแยกเป็นการถอดถอน และการตัดสิทธิก็เพื่อเรียกชื่อแตกต่างกันให้ชัดเจนไปเลย เพื่อไม่ให้ผู้ถูกกล่าวหาคนใดมาตะแบงแกล้งไม่ฉลาดได้อีกว่าไม่มีตำแหน่งเหลือ แล้วจะมาถอดถอนอีกได้อย่างไร” นายคำนูณ กล่าว
นายคำนูญ กล่าวอีกว่า มาตรา 35(4) ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 จะเห็นผลจากการเปลี่ยนแปลงในการดำเนินคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือ งตามมาตรา 275 ของรัฐธรรมนูญ ปี 2550 โดยคณะกรรมาธิการยกร่างฯ จะปรับแก้จากโทษที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาให้ตัดสิทธิได้เพียง 5 ปี เป็นการตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต
“จะเห็นได้ว่าช่องทางทั้ง 2 ระบบ ท้ายที่สุดก็จะมีกลไกที่นำไปสู่การตัดสิทธิตลอดชีวิตได้เหมือนกัน จึงไม่เป็นการขัดต่อมาตรา 35(4) แห่งรัฐธรรมนูญปี 2557 ฉบับชั่วคราวแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการจะขอรับข้อสังเกตว่า ในระบบการถอดถอน อาจมีนักการเมืองยอมให้เกิดการตัดสิทธิโดยรัฐสภาเพียง 5 ปี เพื่อหนีการถูกประชาชนโหวตตัดสิทธิตลอดชีวิตหรือไม่ ไปพิจารณาอีกที” นายคำนูณ กล่าว กล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น