วันอังคารที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2558

แดเนียล รัสเซล ย้ำไม่มีสวิตซ์เปิดปิดประชาธิปไตยในขั้นตอนเดียว


ผู้ช่วย รมว.ต่างประเทศ สหรัฐ ปาฐกถาที่จุฬาฯ ย้ำความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ 182 ปี ยืนยันไม่เข้าข้างฝ่ายใด แต่ห่วงการปลดผู้นำจากการเลือกตั้งด้วยรัฐประหาร-ถูกกล่าวหาทางอาญา ประชาคมโลกจะรู้สึกว่าเกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง พร้อมเสนอให้ยกเลิกกฎอัยการศึก-เลิกจำกัดเสรีภาพ เชื่อว่าการปฏิรูปที่ครอบคลุมจากทุกภาคส่วนจะนำมาซึ่งประชาธิปไตยที่สะท้อน-ตอบสนองเจตนารมณ์ประชาชนไทย
26 ม.ค. 2557 - ในช่วงการเยือนประเทศไทยระหว่างวันที่ 25-26 ม.ค. ของแดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ในช่วงบ่ายวันนี้ (26 ม.ค.) รัสเซลมีกำหนดปาฐกถาที่สถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร โดยมีนิสิตนักศึกษาโครงการ YSEALI ร่วมฟังปาฐกถาด้วย
โดยตอนหนึ่ง รัสเซล กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและไทย ที่มียาวนานกว่า 182 ปี และระบุว่า "ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับไทยมีขอบเขตกว้างไกลกว่าจำนวนปีที่เราทั้งสองเป็นพันธมิตรกันมา หรือ แม้กระทั่งผลประโยชน์และเจตจำนงที่เรามีร่วมกัน  มิตรภาพของเราซึ่งมีจุดเริ่มต้นนานมาแล้วได้รับการกระชับไมตรีอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา อาทิ ด้วยการที่สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ ทรงพำนักในสหรัฐอเมริกาเพื่อ ศึกษาที่มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จพระราชสมภพในรัฐแมสซาชูเซตส์ และด้วยการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีส่วนในการเกื้อหนุนวัฒนธรรมอเมริกัน"
"มิตรภาพที่กว้างไกลและยั่งยืนของเราได้รับการกระชับสัมพันธ์ด้วยนักเรียนไทยหลายพันคนที่เดินทางไปศึกษาต่อในสหรัฐฯ ทุกปีและชาวอเมริกันที่เข้ามาศึกษาและท่องเที่ยวในไทย  เป็นเวลากว่าสองศตวรรษที่ชาวอเมริกันได้ อาศัยอยู่ในไทยและมีส่วนเกื้อหนุนสังคมไทยในด้านต่างๆ มากมาย เช่นเดียวกับที่ชาวไทยได้มีส่วนในสังคมอเมริกัน"
"ประเทศเราทั้งสองได้ยืนหยัดเคียงคู่กันในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง  เราเป็นพันธมิตรที่สนับสนุนอุดมการณ์ประชาธิปไตยในช่วงความขัดแย้งในคาบสมุทรอินโดจีน  เราได้ต่อสู้กับการแพร่ขยายของการก่อการร้ายในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และเราเป็นประเทศคู่ความร่วมมือที่นำเสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองมาสู่คนไทยและ ภูมิภาคนี้"
รัสเซลกล่าวด้วยว่าไทยและสหรัฐอเมริกา มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าที่ยาวนาน ประเทศไทยเป็นหุ้นส่วนทางการค้าที่ใหญ่อันดับสามของสหัฐ บริษัทอเมริกันจำนวนมากก็มาลงทุนในประเทศไทย ทำให้เกิดการจ้างงานหลายหมื่นตำแหน่ง และนำมาสู่เทคโนโลยีขั้นสูงในประเทศไทย ไม่ใช่แค่ปริมาณ แต่ยังมีคุณภาพด้วย  การดำเนินธุรกิจกับอเมริกาได้เพิ่มศักยภาพและทักษะสำหรับแรงงานไทย ซึ่งเป็นการช่วยประเทศไทยก้าวข้าม "กับดักประเทศรายได้ปานกลาง" และพัฒนาชีวิตของประชาชนทั่วไปให้ดีขึ้น
ตอนหนึ่ง รัสเซล กล่าวถึงสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทยว่า "น่าเสียดายว่าความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับไทยต้องเผชิญกับอุปสรรคและยังได้รับผลกระทบจากรัฐประหารโดยกองทัพเมื่อแปดเดือนก่อน ซึ่งได้ปลดรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งภายใต้ระบอบประชาธิปไตย"
"เมื่อเช้านี้ ผมได้พูดคุยกับอดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ อดีตนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศธนะศักดิ์  ผมหารือกับทั้งสามท่านเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองของไทยในปัจจุบัน  ทุกฝ่ายกล่าวถึงความสำคัญของการปรองดองและการดำเนินการสู่อนาคตที่เป็นประชาธิปไตยของประเทศไทย"
"ผมเข้าใจดีว่าประเด็นนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง จึงขอยกประเด็นนี้ขึ้นมาด้วยความนอบน้อมและความเคารพต่อประชาชนชาวไทย  สหรัฐฯ ไม่เข้าข้างฝ่ายใดในการเมืองไทย  เราเชื่อว่า ประชาชนชาวไทยคือผู้กำหนดความชอบธรรมของกระบวนการทางการเมืองและกระบวนการทางทางกฎหมายของตน  ทว่า สหรัฐฯ ยังคงกังวลเกี่ยวกับการจำกัดเสรีภาพอย่างมีนัยสำคัญนับตั้งแต่รัฐประหาร อันรวมถึงข้อจำกัดด้านการพูดและการชุมนุม"
รัสเซล กล่าวด้วยว่า สหรัฐฯ ยังมีความกังวลเป็นพิเศษในประเด็นที่ว่า กระบวนการทางการเมืองนี้ไม่ได้เป็นตัวแทนทุกภาคส่วนของสังคมไทย "ผมขอย้ำอีกครั้งว่า สหรัฐฯ ไม่ได้กำลังบงการเส้นทางการเมืองที่ไทยควรดำเนินตามเพื่อกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยหรือกำลังเลือกข้างในการเมืองไทย แต่กระบวนการที่ครอบคลุมทุกภาคส่วนนั้นจะส่งเสริมการปรองดองทางการเมือง ซึ่งสำคัญต่อความมั่นคงในระยะยาว  กระบวนการในวงแคบที่เป็นอีกทางเลือกหนึ่งนั้นเสี่ยงต่อการปล่อยให้คนไทยจำนวนมากรู้สึกถูกกีดกันจากระบบการเมือง"
"นี่คือเหตุผลที่สหรัฐฯ ยังคงมุ่งสนับสนุนกระบวนการทางการเมืองที่ครอบคลุมในวงกว้างกว่า ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนของสังคมได้รู้สึกว่า กระบวนการดังกล่าวเป็นตัวแทนของตนด้วย"
"นอกจากนี้ มุมมองความเข้าใจเรื่องความเป็นธรรมก็เป็นสิ่งสำคัญ  ผมขอกล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า เมื่อผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งถูกปลดออกจากตำแหน่ง ถูกถอดถอนโดยผู้มีอำนาจที่ก่อรัฐประหาร และตกเป็นเป้าด้วยข้อหาอาญาในขณะที่กระบวนการและสถาบันพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตยต้องหยุดชะงักลง  ประชาคมโลกจึงเกิดความรู้สึกว่า ขั้นตอนเหล่านี้อาจเกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง"
"นี่คือเหตุผลที่สหรัฐฯ หวังว่าจะได้เห็นกระบวนการที่เสริมสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนไทยต่อรัฐบาลและสถาบันตุลาการของตน รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นต่อนานาประเทศว่า ประเทศไทยกำลังเดินหน้าสู่ระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคงและทุกฝ่ายมีส่วนร่วมด้วย"
"การยกเลิกกฎอัยการศึกทั่วประเทศและยกเลิกข้อจำกัดเสรีภาพในการพูดและการชุมนุมคือก้าวสำคัญอันเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการปฏิรูปที่ครอบคลุมทุกภาคส่วนอย่างแท้จริงซึ่งจะสะท้อนความหลากหลายของความคิดเห็นภายในประเทศ  สหรัฐฯ หวังว่า ผลลัพธ์ของกระบวนการนี้จะนำมาซึ่งสถาบันที่มั่นคงและเป็นประชาธิปไตยที่สะท้อนและตอบสนองต่อเจตนารมณ์ของประชาชนชาวไทย"
ในตอนท้าย รัสเซล กล่าวว่า "สารที่ผมได้สื่อถึงบุคคลที่ผมเข้าพบในวันนี้ ถึงทุกท่าน และถึงประชาชนชาวไทยทุกคนนั้นเป็นสารเดียวกัน นั่นคือ ประเทศไทยเป็นเพื่อนและพันธมิตรสำคัญของสหรัฐฯ  เรามีประวัติศาสตร์ความร่วมมือกันมายาวนานในหลากหลายประเด็น ที่ไม่เพียงสำคัญกับทั้งสองประเทศเท่านั้น แต่ยังสำคัญต่อภูมิภาคนี้ตลอดจนอีกฟากหนึ่งของโลก  สหรัฐฯ มีความห่วงใยอย่างยิ่งต่อสายสัมพันธ์นี้ รวมทั้งต่อมิตรภาพระหว่างเรากับประชาชนทุกคนของประเทศอันแสนวิเศษนี้ สหรัฐฯ มีความห่วงใยอย่างยิ่งเกี่ยวกับโอกาสที่จะนำไปสู่ความสำเร็จของประเทศไทย ขอให้ทุกท่านประสบแต่สิ่งดีงามครับ"
ทั้งนี้เว็บไซต์สถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เผยแพร่บทปาฐกถาของรัสเซลด้วย (อ่านเพิ่มเติม)
ในช่วงตอบคำถาม แดเนียล รัสเซล กล่าวว่า "ผมมาประเทศไทยในฐานะตัวแทนของรัฐบาล เพื่อมาฟังผู้นำทางการเมือง และภาคประชาชน เพื่อที่จะพูดถึงมุมมองของเรา และความหวังของเราต่อประเทศไทย ฉันได้พูดกับ รมว.ต่างประเทศ และผู้นำทางการเมือง สหรัฐอเมริกามีความสนใจอย่างมากต่อประเทศไทย ประเทศไทยมีความสำคัญมากต่อการเติบโตของภูมิภาค เราเชื่อว่า การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของพลเมือง และการจำกัด สิทธิสากลอย่างเช่น เสรีภาพในการแสดงความเห็น และเสรีภาพในการชุมนุม จะไม่นำไปสู่ความมั่นคงในระยะยาว เราเชื่อว่า การเริ่มยกเลิกกฎอัยการศึก เพื่อเปิดให้มีการแสดงความเห็นอย่างสงบ ให้ประชาชนมีส่วนร่วม และมีความไว้วางใจในสถาบันการเมืองและตุลาการ"
"มันไม่มีสวิตซ์เปิดปิดสำหรับประชาธิปไตย ในขั้นตอนเดียว ประชาธิปไตยคือการให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแข็งขัน ในการตัดสินใจและออกแบบอนาคตของประเทศของพวกเขาเอง มันเป็นงานยาก แต่พวกเราก็พยายามเสมอมาเพื่อที่จะทำให้ระบบนี้ดีขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีระบบไหนดีสมบูรณ์ แม้แต่ระบบที่เรามีอยู่ในสหรัฐฯ การผลักดันให้เกิดความยุติธรรม ความโปร่งใส ความเท่าเทียม มันไม่ได้มาจากหนังสือเรียน มันมาจากหัวใจของผู้คน และความยึดมั่นว่า พวกเขาสามารถมีระบบที่ดีขึ้นสำหรับครอบครัวและลูกหลานของพวกเขา ผมเองเชื่อว่า การต่อสู้เพื่อความยุติธรรมและประชาธิปไตยนั้นต้องทำอย่างต่อเนื่อง หยุดไม่ได้ มันมีอุปสรรคและการถอยหลัง"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น