วันอังคารที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

4 องค์กรประชาสังคมร้อง 'นิติบัญญัติ' ทบทวนชุด กม.เศรษฐกิจดิจิทัล หวั่นละเมิดสิทธิ-ผูกขาดทรัพยากร

มูลนิธิเพื่ออินเทอร์เน็ตและวัฒนธรรมพลเมือง (เครือข่ายพลเมืองเน็ต) พร้อมด้วยสถาบันพัฒนาสื่อภาคประชาชน มูลนิธิโลกสีเขียว และสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย ยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อ กมธ.รธน. สนช. สปช. เรียกร้องให้ทบทวนชุดร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล หวั่นละเมิดสิทธิประชาชนและเอกชน นำสู่การผูกขาดทรัพยากรและไม่ได้ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลจริง
3 ก.พ. 2558 เมื่อเวลา 10.30 น. ณ อาคารรัฐสภา มูลนิธิเพื่ออินเทอร์เน็ตและวัฒนธรรมพลเมือง (เครือข่ายพลเมืองเน็ต) พร้อมด้วยสถาบันพัฒนาสื่อภาคประชาชน มูลนิธิโลกสีเขียว และสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย ยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อ มณเฑียร บุญตัน กรรมาธิการการสื่อสารมวลชน การวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสารสนเทศ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.) จุมพล รอดคำดี ประธานกรรมาธิการปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ พร้อมด้วย วสันต์ ภัยหลีกลี้ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)  และ สารี อ๋องสมหวัง ประธานคณะกรรมาธิการสมาชิกปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค สภาปฏิรูปแห่งชาติ เพื่อเรียกร้องให้มีการพิจารณา ทบทวน และเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและประชาชนทั่วไปต่อชุดร่างกฎหมาย “เศรษฐกิจดิจิทัล”

สฤณี อาชวานันทกุล ประธานมูลนิธิเพื่ออินเทอร์เน็ตและวัฒนธรรมพลเมือง กล่าวว่า ชุดกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัลที่ออกมาถูกอภิปรายอย่างกว้างขวางถึงแหล่งที่มา เนื้อหาสาระ ประโยชน์และผลกระทบที่น่าจะเกิดขึ้นจากร่างกฎหมายเหล่านี้ จากการพิจารณาแล้วพบว่ากฎหมายบางส่วนอาจจะเป็นประโยชน์แต่ในภาพรวมแล้วอาจละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน และเอกชนในหลายด้าน อีกทั้งยังมีแนวโน้มอันจะนำไปสู่การผูกขาดการเข้าถึงทรัพยากร และมิได้ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลดังที่กล่าวอ้าง ตัวอย่างเช่นการให้อำนาจหน่วยงานและเจ้าหน้าที่อย่างกว้างขวาง ขาดกลไกตรวจสอบอำนาจรัฐ และกลไกคุ้มครองสิทธิที่ชัดเจน จนอาจทำให้เกิดการคุกคามหรือลิดรอนสิทธิเสรีภาพหลายประการ เช่น สิทธิที่จะไม่ถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม สิทธิในชีวิตและร่างกาย สิทธิในเคหสถาน เสรีภาพในการสื่อสารถึงกัน สิทธิในการได้รับการสอบสวนอย่างถูกต้องรวดเร็วเป็นธรรม สิทธิในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชน สิทธิที่จะฟ้องหน่วยงานของรัฐ สิทธิของผู้บริโภค และเสรีภาพในการชุมนุม ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสิทธิเสรีภาพที่ถูกคุ้มครองจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550

จุมพล กล่าวว่า เรื่องที่นำมายื่นนี้อยู่ในกระบวนการการศึกษาเพื่อที่จะนำมาเป็นแนวคิดหรือแนวทางในเรื่องของการปฏิรูปสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสื่อสารสนเทศในอนาคต รวมถึงเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจ ต้องบอกว่าเราได้นำมาพิจารณาแล้ว จึงอยากฝากบอกว่าไม่ต้องกังวล
คำนูณ กล่าวว่า จะนำจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ไปทำสำเนาแจกให้ กมธ. ยกร่างฯทั้ง 36 คนพิจารณาศึกษาต่อไป เพราะเรื่องเสรีภาพเป็นเรื่องใหญ่ ทั้งรัฐธรรมนูญ 2540 และรัฐธรรมนูญ 2550 รวมถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังร่าง มีความมุ่งหมายที่จะขยายสิทธิเสรีภาพของประชาชนด้วยกันทั้งนั้น
สฤณี กล่าวเพิ่มเติมว่า ยังไม่ได้กำหนดแนวทางการเคลื่อนไหวอย่างไรต่อ เพราะได้เรียกร้องให้มีการทบทวนให้มีการศึกษาผลกระทบอย่างรอบคอบ ให้มีการเปิดรับฟังกลไกลความคิดเห็น ต้องรอดูว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นรูปธรรมตรงไหนอย่างไร
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ เครือข่ายพลเมืองเน็ตออกแคมเปญ หยุดชุดกฎหมาย 'ความมั่นคงดิจิทัล' เมื่อวันที่ 22 ม.ค. ผ่านทาง change.org โดยล่าสุด มีผู้ร่วมลงชื่อสนับสนุนแล้ว 20,892 รายแล้ว

ข้อสังเกตของเครือข่ายพลเมืองเน็ตต่อชุดกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล (ที่มาchange.org)
  • ชุดกฎหมายเหล่านี้โดยเนื้อแท้ ไม่ใช่กฎหมาย “เศรษฐกิจดิจิทัล” แต่เป็นชุดกฎหมายความมั่นคง ที่ให้อำนาจอย่างกว้างขวางกับหน่วยงานและพนักงานเจ้าหน้าที่
  • ชุดกฎหมายเหล่านี้ โดยเฉพาะร่างกฎหมาย 8 ฉบับที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในวันที่ 6 ม.ค. 2558 ถูกเสนออย่างเร่งรีบ ไม่อยู่ในวาระประชุมปกติ กระทั่งหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องโดยตรงก็ไม่เคยเห็นร่างมาก่อน จนน่าสงสัยว่าชุดกฎหมายที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนและเศรษฐกิจในวงกว้างเช่นนี้ มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นและพิจารณาละเอียดรอบคอบเพียงพอหรือไม่
  • มีร่างกฎหมายใหม่และแก้ไขเพิ่มเติมอย่างน้อย 5 ฉบับ (ร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์-มั่นคงไซเบอร์-ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์-ปราบปรามสิ่งยั่วยุ-วิธีพิจารณาความอาญา) ที่อนุญาตให้รัฐค้น ยึด อายัด ขอ เข้าถึง และดักรับข้อมูลได้ โดยไม่มีกลไกการพิจารณาตรวจสอบใดๆ จากหน่วยงานตุลาการที่เชื่อถือได้ หรือบางกรณีที่มีก็ไม่ชัดเจนเพียงพอ เป็นการคุกคามเสรีภาพในการแสดงออก สิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว และสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคล และกระทบต่อความเชื่อมั่นในการประกอบธุรกิจด้านข้อมูลข่าวสาร
  • ร่างพ.ร.บ.กสทช.ฉบับใหม่ ทำลายความเป็นองค์กรอิสระของหน่วยงานกำกับกิจการ และฉวยโอกาสดึงคลื่นความถี่กลับมาอยู่ในมือรัฐบาลและกองทัพ เหมือนสมัยก่อนรัฐธรรมนูญปี 2540 ทำลายหลักการที่ว่าคลื่นความถี่เป็นทรัพยากรของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ และทำลายกลไกการแข่งขันเสรีเป็นธรรม
  • กองทุนที่มาจากค่าใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่และค่าธรรมเนียม ถูกเปลี่ยนวัตถุประสงค์ไปจากเดิมเป็นอย่างมาก จากเดิมเป็นกองทุนวิจัยพัฒนาเพื่อประโยชน์สาธารณะ (ส่งเสริมการคุ้มครองผู้บริโภค ส่งเสริมผู้ประกอบกิจการบริการชุมชน ส่งเสริมจริยธรรมการประกอบวิชาชีพ ส่งเสริมการเข้าถึง ส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อของผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส) กลายเป็นกองทุนเพื่อให้รัฐและเอกชนกู้ยืม
  • ร่างพ.ร.บ.กสทช.ฉบับใหม่ ไม่แก้ปัญหาธรรมาภิบาลในการใช้งบประมาณและการใช้อำนาจ ซ้ำยังมีร่างกฎหมายใหม่ในชุดที่จะสร้างหน่วยงานที่มีโครงสร้างงบประมาณและการบริหารที่อาจเกิดปัญหาคล้ายกันขึ้นอีก 3 หน่วยงาน นอกจากนี้ยังไม่ชัดเจนว่าหน่วยงานใหม่เหล่านี้จะมีความรับผิดตามกฎหมายอย่างไร มีกลไกร้องเรียนตรวจสอบได้ทางไหน
  • ร่างกฎหมายทั้งหมดขาดกลไกคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและสิทธิผู้บริโภคที่ชัดเจน อีกทั้งคณะกรรมการชุดต่างๆ ก็ไม่มีการรับประกันสัดส่วนจากผู้แทนด้านสิทธิ -- ที่เห็นชัดที่สุดคือคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ตามร่างพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่ตัดการรับประกันกรรมการด้านสิทธิและผู้บริโภคออกไป 3 ตำแหน่ง และเพิ่มกรรมการด้านความมั่นคงเข้ามา 2 ตำแหน่ง นอกจากนี้ยังใช้สำนักงานเลขานุการร่วมกับคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ซึ่งมีบทบาทหน้าที่ที่อาจขัดแย้งกัน จนทำให้การตรวจสอบถ่วงดุลเป็นไปได้ยาก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น