9 มี.ค.2558 ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือไอลอว์ กล่าวว่า ในวันนี้นายปิยะ (สงวนนามสกุล) อาชีพโปรแกรมเมอร์ ผู้ต้องหาในคดีความผิดมาตรา 112 ถูกนำตัวจากเรือนจำมาศาลอาญาเป็นครั้งแรกเพื่อสอบคำให้การ ตรวจพยานหลักฐาน ในเบื้องต้นปิยะให้การปฏิเสธพร้อมแถลงต่อศาลว่าคดีนี้เป็นการฟ้องผิดตัวเนื่องจากในคำฟ้องและเอกสารท้ายคำฟ้องระบุถึงผู้ใช้เฟซบุ๊คชื่อพงศธร บันทอน แต่เขาชื่อปิยะ ไม่ใช่พงศธร ศาลจดในรายงานกระบวนพิจารณาและให้เลื่อนไปนัดพร้อมวันที่ 25 พ.ค. 2558 เวลา 13.30 น.
ทั้งนี้ ปิยะถูกจับกุมตั้งแต่วันที่ 11 ธ.ค.2557 และถูกควบคุมตัวยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 13 ธ.ค.2557 จนกระทั่งอัยการส่งฟ้องคดีในวันที่ 6 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยระบุว่าจำเลยเป็นผู้โพสต์เฟซบุ๊คจำนวน 1 ข้อความเมื่อเดือนกรกฎาคม 2557 โดยมีเนื้อหาดูหมิ่น หมิ่นประมาท และแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อันเป็นความผิดตามมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา และมาตรา 14(3)(5) ของพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ที่ผ่านมาเขาไม่ได้ยื่นประกันตัวเนื่องจากครอบครัวไม่มีหลักทรัพย์เพียงพอ
ยิ่งชีพกล่าวด้วยว่าในคดีนี้อัยการได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้พิจารณาคดีนี้เป็นการลับเพื่อป้องกันความลับอันเกี่ยวกับความปลอดภัยและความมั่นคงของประเทศไม่ให้ล่วงรู้ถึงประชาชน เนื่องจากคดีนี้มีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพสักการะของประชาชนและการเปิดเผยข้อเท็จจริงต่อประชาชนในระหว่างการพิจารณาคดีเป็นการกระทำที่ไม่บังควร อาจกระทบกระเทือนต่อสถาบันอันเป็นที่เคารพสักการะของประชาชนได้
เมื่อถามว่าคดี 112 ที่ผ่านมาเมื่อมีการพิจารณาลับในศาลอาญา เป็นการยื่นคำร้องขอจากอัยการหรือไม่ ยิ่งชีพกล่าวว่า หากดูจากคดีที่เขาเป็นทนายความและศาลมีคำสั่งให้พิจารณาลับ เช่น คดีของทะเนช จะพบว่าเป็นการพิจารณาลับโดยศาล ไม่เห็นคำร้องของอัยการในสำนวนแต่อย่างใด คดีของคนขายหนังสือกงจักรปีศาจก็เช่นเดียวกัน ที่ผ่านมาศาลมักจะสั่งพิจารณาลับเมื่อสอบคำให้การจำเลยแล้วพบว่าจำเลยประสงค์สู้คดีในส่วนเนื้อหา แต่กรณีนี้อัยการยื่นคำร้องดังกล่าวมาพร้อมคำฟ้องเลยโดยยังไม่ทันสอบคำให้การจำเลย ทำให้เห็นว่ามีเจตนาอันเข้มแข็งในการพิจารณาลับให้ได้
เมื่อถามว่า คดีนี้สั่งฟ้องในศาลอาญาเนื่องจากกระทำความผิดก่อน คสช.จะมีคำสั่งให้คดี 112 ขึ้นศาลทหาร แต่ก็มีอีกหลายคดีที่จำเลยถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดก่อนคำสั่งคสช.เช่นกัน แต่กลับต้องไปขึ้นศาลทหาร ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ยิ่งชีพกล่าวว่า เขาตั้งข้อสังเกตว่ามีอยู่ 4 กรณีที่ถูกเลือกแล้วว่าต้องไปศาลทหารแม้ว่าจะกระทำความผิดก่อนคำสั่ง คสช. นั่นคือ คดีของสิรภพ, ทอม ดันดี, ณัฐ และคฑาวุธ คาดว่าเป็นเพราะทั้ง 4 คนเป็นบุคคลหลักที่ผลิตเนื้อหาออกสู่สังคม เช่น เขียนบทความ เขียนบทกวี กล่าวปราศรัย ทำเว็บข่าว จัดรายการวิทยุ ในขณะที่กรณีอื่นๆ ที่มีลักษณะใกล้เคียงกันแต่เป็นเพียงผู้ใช้อินเตอร์เน็ตทั่วไปจึงถูกฟ้องในศาลอาญา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น