วันจันทร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2558

8 องค์กรสิทธิค้านใช้ม.44 ชี้แย่ยิ่งกว่าอัยการศึก


กรณี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ระบุว่า กำลังพิจารณานำมาตรา 44 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาบังคับใช้แทนพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 ซึ่งประกาศใช้ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2557 จนปัจจุบัน 
ล่าสุด (30 มี.ค. 2558) องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน 8 องค์กรออกแถลงการณ์คัดค้านการบังคับใช้ มาตรา 44 รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 เรียกร้องให้ พลเอกประยุทธ์ ทบทวนการบังคับใช้มาตราดังกล่าว เนื่องจากมาตราดังกล่าวนั้นขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจ หลักนิติรัฐ และขัดต่อพันธกรณีด้วยสิทธิมนุษยชน  ซึ่งจะนำมาซึ่งขาดการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจรัฐ และอาจก่อให้เกิดการใช้อำนาจโดยอำเภอใจ และส่งผลประชาชนขาดหลักประกันต่อสิทธิเสรีภาพอย่างร้ายแรงยิ่งไปกว่าการประกาศใช้กฎอัยการศึก และไม่อาจบรรลุเจตนารมณ์ตามที่ประชาคมโลกเรียกร้องให้ยกเลิกกฎอัยการศึกได้
อนึ่ง องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ประกอบด้วย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, ศูนย์ข้อมูลชุมชน, มูลนิธิผสานวัฒนธรรม, สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.), มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา, มูลนิธิส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน, สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) และ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
 
มาตรา 44 รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557
ในกรณีที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเห็นเป็นการจําเป็นเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปในด้านต่างๆ การส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ หรือเพื่อป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทําอันเป็นการบ่อนทําลายความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติ ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร ให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีอํานาจสั่งการ ระงับยับยั้ง หรือกระทําการใดๆ ได้ ไม่ว่าการกระทํานั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ และให้ถือว่าคําสั่งหรือการกระทํา รวมทั้งการปฏิบัติตามคําสั่งดังกล่าว เป็นคําสั่ง หรือการกระทํา หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้และเป็นที่สุด ทั้งนี้ เมื่อได้ดําเนินการดังกล่าวแล้ว ให้รายงานประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติและนายกรัฐมนตรีทราบโดยเร็ว

แถลงการณ์คัดค้านการบังคับใช้ มาตรา 44 รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557
เผยแพร่วันที่ 30 มีนาคม 2558
ตามที่ปรากฏข่าวในวันที่ 27 มีนาคม 2558 ว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา  กำลังพิจารณานำมาตรา 44 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาบังคับใช้แทนพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พระพุทธศักราช 2457 นั้น องค์กรสิทธิมนุษยชนตามรายชื่อข้างท้ายนี้ขอแสดงความห่วงกังวลถึงแนวคิดดังกล่าวต่อไปนี้
1. การเรียกร้องให้ยกเลิกประกาศใช้กฎอัยการศึกของหลายองค์กรตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานั้น เพื่อให้เกิดการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและสิทธิเสรีภาพของประชาชนไม่ให้เกิดการละเมิด เนื่องจากพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พระพุทธศักราช 2457 ได้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารอย่างกว้างขวางในการค้น การยึด การเกณฑ์ การห้าม การควบคุมตัวบุคคลได้ไม่เกิน 7 วัน ตามมาตรา 15 ทวิ และทำให้การพิจารณาคดีในศาลทหารไม่สามารถอุทธรณ์หรือฎีกาได้ ซึ่งได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนตลอดมา
2. หากมีการประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกโดยนำมาตรา 44 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) มาบังคับใช้ แทนพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พระพุทธศักราช 2457 ก็ไม่อาจถือเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าวตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา แต่จะยิ่งทำให้ประชาชนขาดหลักประกันด้านสิทธิและเสรีภาพมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมาตราดังกล่าวได้ให้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแก่หัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติเหนือฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ โดยให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำ รวมทั้งการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว นั้นชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญและเป็นที่สุด ซึ่งหมายความว่า การกระทำหรือคำสั่ง รวมถึงการปฏิบัติการตามคำสั่งดังกล่าวนั้นไม่อาจถูกตรวจสอบโดยองค์กรใดได้เลยแม้กระทั้งองค์กรตุลาการ อาจก่อให้เกิดการใช้อำนาจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และหากเกิดความเสียหายขึ้นจากการกระทำดังกล่าวประชาชนก็ไม่อาจได้รับการเยียวยา และไม่นำไปสู่การลงโทษผู้กระทำความผิด (Impunity)
3. โดยที่การยกเลิกกฎอัยการศึกนั้น เป็นไปเพื่อคุ้มครองและปกป้องสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และประเทศมีกฎหมายที่ให้อำนาจในการควบคุมดุแลความสงบเรียบร้อยอยู่แล้วโดยไม่จำเป็นต้องใช้กฎอัยการศึกหรือมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราว
องค์กรสิทธิมนุษยชนตามรายชื่อข้างท้ายจึงขอเรียกร้องให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ทบทวนการบังคับใช้มาตราดังกล่าว เนื่องจากมาตราดังกล่าวนั้นขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจ หลักนิติรัฐ และขัดต่อพันธกรณีด้วยสิทธิมนุษยชน  ซึ่งจะนำมาซึ่งขาดการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจรัฐ และอาจก่อให้เกิดการใช้อำนาจโดยอำเภอใจ และส่งผลประชาชนขาดหลักประกันต่อสิทธิเสรีภาพอย่างร้ายแรงยิ่งไปกว่าการประกาศใช้กฎอัยการศึก และไม่อาจบรรลุเจตนารมณ์ตามที่ประชาคมโลกเรียกร้องให้ยกเลิกกฎอัยการศึกได้
ด้วยความเคารพต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
ศูนย์ข้อมูลชุมชน
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)
มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา
มูลนิธิส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น