วันศุกร์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2558

แอมเนสตี้ชี้คำสั่ง 'แทนที่' อัยการศึกเป็นการต่อใบอนุญาตละเมิดสิทธิมนุษยชน



Fri, 2015-04-03 17:37
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวในวันนี้ว่า การประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกในประเทศไทย และการประกาศใช้มาตรการใหม่แทนที่ เป็นการกระทำที่ไม่มีความจริงใจ เพื่อรักษาอำนาจของกองทัพ

3 เม.ย. 2558 ริชาร์ด เบนเน็ตต์ (Richard Bennett) ผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดว่าการประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกของนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ควรเป็นเรื่องน่ายินดี แต่กลับเป็นการกระทำเพื่อมอบอำนาจให้ตนเองและเจ้าหน้าที่ทหารของเขาอย่างกว้างขวาง เพื่อละเมิดสิทธิที่จะมีอิสรภาพ และเสรีภาพในการแสดงความเห็น การสมาคม และการชุมนุมอย่างสงบอย่างต่อเนื่อง

“ประชาคมนานาชาติต้องไม่ถูกหลอกโดยการกระทำที่ขาดความจริงใจ เพื่อรักษาอำนาจของกองทัพ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความพยายามที่จะคลุมม่านเพื่อปิดบังความตั้งใจที่จะใช้กำลังทหารเพื่อปราบปรามผู้มีความเห็นต่างจากรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง”

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้ยกเลิกคำสั่งใหม่นี้ และให้ฟื้นฟูหลักนิติธรรมและการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญซึ่งถูกบั่นทอนลงอย่างมากหลังการทำรัฐประหารในปี 2557

ในคำสั่งใหม่ดังกล่าว พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาให้อำนาจตนเองในการแต่งตั้งข้าราชการทหารเป็น “เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย” ซึ่งจะมีอำนาจในทางปฏิบัติทั้งหมดเช่นเดียวกับที่เจ้าหน้าที่กองทัพได้รับตามกฎอัยการศึก อำนาจตามคำสั่งใหม่นี้รวมถึง

- การเอาผิดทางอาญาอย่างหนักกับกรณี “การรวมตัวทางการเมือง” แม้จะเป็นการรวมตัวโดยสงบของบุคคลห้าคนหรือมากกว่าขึ้นไป

- ให้อำนาจควบคุมตัวบุคคลโดยไม่ต้องมีหมายจับ ไม่ต้องตั้งข้อหา และไม่ได้รับการไต่สวนจากศาล โดยให้คุมตัวไปไว้ในสถานที่ที่ไม่เป็นทางการได้นานถึงเจ็ดวัน จากนั้นยังกำหนดเงื่อนไขการปล่อยตัวได้

- อำนาจในการค้นอาคารบ้านเรือนโดยไม่ต้องมีหมายค้น

- อำนาจในการห้ามเผยแพร่สิ่งพิมพ์ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นข้อความจากทวิตเตอร์จนถึงหนังสือ ในกรณีที่ถูกพิจารณาว่าอาจ “ทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว” หรือเกิด “ความเข้าใจผิดจนกระทบต่อความมั่นคงของชาติหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน ”

- คงการไต่สวนพลเรือนในศาลทหารต่อไปสำหรับกรณี “ความผิดเรื่องความมั่นคง” รวมทั้งคดีที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกอย่างสันติ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น