Sat, 2015-04-04 18:04
องค์กรพันธมิตรเพื่อเสรีภาพสื่อในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) ระบุถึงกรณีการใช้คำสั่ง 3/2558 ของคสช. ที่ให้สามารถแต่งตั้งเจ้าหน้าที่โดยให้อำนาจอย่างกว้างขวาง แต่ในกฎกลับไม่มีเกณฑ์มาตรฐานกรณีสื่อ อีกทั้งยังไม่มีระบบตรวจสอบทำให้เจ้าหน้าที่มีโอกาสใช้อำนาจในทางที่ผิดได้
4 เม.ย. 2558 องค์กรพันธมิตรเพื่อเสรีภาพสื่อในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) ระบุในเว็บไซต์ของพวกเขาในกรณีที่ผู้นำเผด็จการไทยประกาศใช้มาตรา 44 จากรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 แทนกฎอัยการศึก โดยระบุว่าตามปกติแล้วการยกเลิกกฎอัยการศึกจะเป้นสัญญาณการกลับเข้าสู่ภาวะปกติอย่างการคืนอำนาจให้พลเรือน แต่ในกรณีล่าสุดของไทยเป็นเพียงแค่การเปลี่ยนจากกฎอัยการศึกไปใช้คำสั่งที่ให้อำนาจอย่างไม่มีขอบเขตแก่ผู้นำเผด็จการทหารเท่านั้น
SEAPA ระบุอีกว่าคําสั่ง คสช. ที่ 3/2558 ที่อนุมัติใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ให้อำนาจในการปฏิบัติการของ คสช. อย่างเต็มที่โดยอ้างเรื่องความสงบ ความมั่นคง หรือเรื่องเศรษฐกิจโดยไม่คำนึงถึงหลัการพื้นฐานทางการบริหาร หลักนิติบัญญัติ และหลักตุลาการ ซึ่งคำสั่งล่าสุดนี้ถือว่าทำให้มีอำนาจกว้างขวางและมีลักษณะคุกคาม โดยยังสามารถสั่งการแบบเดียวกับกฎอัยการศึกได้ในหลายรูปแบบรวมถึงยังห้ามการชุมนุมและมีการใช้อำนาจควบคุมสื่อ
SEAPA ยังแสดงท่าทีสนับสนุนการร่วมออกแถลงการณ์ร่วมของ 4 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนต่อคำสั่งที่ 3/2558 ของคสช. ซึ่งในแถลงการณ์ดังกล่าวระบุว่า "เป็นการให้ดุลพินิจกับเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยอย่างกว้างขวาง หากไม่มีหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขในการปฏิบัติที่ชัดเจน" และมีการแสดงความเป็นห่วงว่าควรมีการใช้อำนาจอย่างรอบคอบไม่กระทบสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชน
อย่างไรก็ตาม SEAPA ระบุเปรียบเทียบว่าคำสั่ง 3/2558 มีลักษณะต่างจากกฎอัยการศึกตรงที่คำสั่งดังกล่าวทำให้มีการนำอำนาจที่ควรสงวนไว้เฉพาะสถานการณ์จำเป็นตามที่ระบุในกฎอัยการศึกมาใช้ในยามสถานการณ์ปกติได้ ทำให้การใช้อำนาจพิเศษของกองทัพซึ่งเป็นการลิดรอนสิทธิ์ของพลเรือนเป็นอันตรายเนื่องจากไม่มีการอ้างความชอบธรรมใดๆ ทั้งสิ้นในการใช้อำนาจเหล่านี้ซึ่งควรจะเป็นอำนาจที่ใช้ในยามสงครามหรือเกิดการจลาจลเท่านั้น นอกจากนี้คำสั่งดังกล่าวยังไม่มีการระบุถึงกำหนดเวลาที่ใช้แบบในกฎอัยการศึกซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องตอบคำถามเรื่องความชอบธรรมต่อประชาคมโลกว่าเหตุใดถึงยังต้องมีการดำเนินการในสถานการณ์ฉุกเฉินอยู่
SEAPA ระบุอีกว่าแต่เดิมการใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกในไทยก็มีปัญหาอยู่แล้วทั้งจากกรณีการเรียกคนรายงานตัวจำนวนมาก การใช้ศาลทหารกับพลเรือน การลักลอบกักขังหน่วงเหนี่ยวประชาชน มีกรณีที่กองทัพถูกกล่าวหาว่าทารุณกรรมผู้ต้องขัง รวมถึงการลิดรอนเสรีภาพสื่อและเสรีภาพในารแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง คำสั่ง 3/2558 ยังขยายอำนาจให้ผู้นำเผด็จการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ทหารเพื่อปฏิบัติการแทนรวมถึงให้ผู้นำเผด็จการทหารและตัวแทนของพวกเขาเท่านั้นที่มีดุลยพินิจในการอนุมัติข้อยกเว้นการสั่งห้ามหรือการลงโทษผู้ปฏิบัติการภายใต้คำสั่ง
ทั้งนี้ SEAPA ยังระบุถึงปัญหาของคำสั่ง 3/2558 ในระดับรายละเอียด โดยยกตัวอย่าง 8 ข้อดังนี้
- 1.) ในข้อที่ 2 ของคำสั่งซึ่งระบุถึงการแต่งตั้ง "เจ้าหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย" มีปัญหาตรงที่พลเรือนไม่สามารถระบุได้ว่าใครที่เป็นเจ้าหน้าที่ของกองทัพที่ได้รับการแต่งตั้ง และมีกลไกอะไรที่จะป้องกันไม่ให้พวกเขาใช้อำนาจไปในทางที่ผิด
- 2.) ในข้อที่ 3 ของคำสั่งว่าด้วยการนิยามขอบเขตการกระทำความผิดภายใต้ข้อกำหนดของพวกเขาไม่มีการระบุหน้าที่ของตำรวจอย่างชัดเจน (รวมถึงในมาตราที่ 8) ในการปฏิบัติการสืบสวนและดำเนินคดีให้เหมาะสม
- 3.) ในข้อที่ 4 ของคำสั่งว่าด้วยการนิยามอำนาจของเจ้าหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย ก็ไม่มีการระบุว่าศาลมีบทบาทอย่างไรในกระบวนการมอบอำนาจเหล่านี้ รวมถึงไม่มีกลไกการตรวจสอบเจ้าหน้าที่เพื่อป้องกันไม่ให้พวกเขาใช้อำนาจไปในทางที่ผิด
- 4.) ในข้อที่ 5 ของคำสั่ง เกี่ยวกับการปิดกั้นสื่อที่มีเนื้อหาบางอย่าง ไม่มีเกณฑ์มาตรฐานกำหนดว่าเนื้อหาของสื่อแบบใดที่ "สร้างความหวาดกลัว" หรือ "บิดเบือนข้อมูลข่าวสารทําให้เกิดความเข้าใจผิด" ถ้าหากข้อมูลที่เผยแพร่เป็นข้อมูลจริงที่มีหลักฐาน ข้อมูลจริงนี้จะได้รับความคุ้มครองไม่ถูกปิดกั้นด้วยใช่หรือไม่
- 5.) ในข้อที่ 6 ของคำสั่ง ว่าด้วยการเรียกตัวหรือกุมขังผู้ต้องสงสัย ทำไมต้องมีการกุมขังไว้ในที่อื่นที่ไม่ใช้สถานีตำรวจ ทัณฑสถาน หรือเรือนจํา ซึ่งเป็นที่กุมขังตามกระบวนการปกติ
- 6.) ในข้อที่ 9 และ 10 ของคำสั่ง ซึ่งระบุถึงโทษของผู้ฝ่าฝืนคำสั่ง มีศาลหรือที่ประชุมทางกฎหมาย (legal forum) แหล่งใดที่รับผิดชอบในการตัดสินความผิดและตัดสินลงโทษการละเมิดคำสั่งเหล่านี้
- 7.) ในข้อที่ 12 ของคำสั่ง ระบุถึงการห้ามชุมนุมทางการเมือง ถ้าหากว่าการประกาศใช้คำสั่งเป็นไปเพื่อต้องการยกเลิกกฎอัยการศึก เหตุใดถึงยังคงสั่งห้ามกิจกรรมเหล่านี้และมีเกณฑ์มาตรฐานใดที่ใช้พิจารณาให้อนุญาตการชุมนุม
- 8.) ในข้อที่ 13 และ 14 ของคำสั่ง ซึ่งอ้างว่าการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย "ไม่อยู่ในบังคับกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง" และระบุว่าเป็น "กระทําการไปตามอํานาจหน้าที่โดยสุจริต" แต่ไม่มีกลไกการตรวจสอบใดถ้าเกิดกรณีที่พวกเขาใช้อำนาจไปในทางที่ผิด
SEAPA ระบุอีกว่ามีคำถามที่สำคัญที่สุดที่อยากจะถามเผด็จการทหารในไทยตอนนี้คือ ทำไมการให้อำนาจอย่างกว้างขวางมีความจำเป็นในตอนนี้ ทั้งในแง่ที่ว่ามันเป็นการโต้ตอบที่เหมาะสมกับสิ่งที่เป็นภัยต่อความสงบเรียบร้อยในสังคมตอนนี้จริงหรือ รวมถึงในแง่ที่ว่าทำไมคำสั่งเหล่านี้ถึงมอบอำนาจให้กับบุคคลคนเดียว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น