Wed, 2015-05-20 16:13
หลังจากวานนี้ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย กล่าวภายหลังการประชุมร่วมระหว่างคณะรัฐมนตรี (ครม.)และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่าที่ประชุมมีมติให้แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557 เพื่อเปิดทางให้มีการทำประชามติในอนาคตโดยเร็วซึ่งจะสามารถดำเนินการได้ภายในเดือน มิ.ย.นี้ ซึ่ง ครม.และคสช.จะเป็นผู้เสนอแก้ไขโดยให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)แก้ไขเพิ่มเติมภายใน15 วัน ทั้งนี้การทำประชามติขึ้นอยู่กับการพิจารณารับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ในวันที่ 6 ส.ค. ด้วย (อ่านรายละเอียด)
วันนี้(20 พ.ค.58) มติชนออนไลน์ รายงานด้วยว่า หากการทำประชามติไม่ผ่านนั้น วิษณุ กล่าวว่า มีคำตอบในเรื่องนี้แต่ยังไม่ตอบในขณะนี้ได้ ซึ่งพอมีแนวทาง 3-4 แนวทาง คือ ใช้กระบวนการเดิมคือตั้ง สปช.และกรรมาธิการฯใหม่ ตั้งกรรมาธิการฯ มาร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยไม่ต้องมี สปช. มอบให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช.เป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญ หรือให้องค์กรใดองค์หนึ่งทำงานร่วมกับคณะรัฐมนตรี ยกรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งพิจารณาปรับปรุง
ทั้งนี้ ยังไม่ได้ตัดสินใจที่จะใช้แนวทางใดแนวทางหนึ่งเนื่องจากทุกข้อมีข้อดี ข้อเสียต่างกัน ซึ่งคณะรัฐมนตรีและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.จะเป็นผู้ตัดสินใจเลือกแนวทางในแนวทางหนึ่ง
‘บวรศักดิ์’ เผยยังไม่เตรียมการประชามติ รอสปช.เห็นชอบร่าง รธน.ก่อน
วันเดียวกัน สำนักข่าวไทย รายงานด้วยว่า บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีที่ประชุม ครม.และ คสช. มีมติจะขยายกรอบเวลาการทำงานของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญจาก 60 วันเป็น 90 วัน ว่า เป็นเพียงข้อเสนอที่ไม่ใช่คำขอของกรรมาธิการยกร่างฯ ซึ่งครม. และคสช.อาจเห็นว่ากรอบเวลาเดิม 60 วันจะฉุกละหุก แต่กรรมาธิการยกร่างฯเห็นว่าเพียงพอสำหรับการทำงาน ทั้งนี้ หากขยายเวลาจริงอาจกระทบต่อโรดแมปที่วางไว้ โดยเฉพาะวันลงมติว่าจะรับหรือไม่รับร่างของ สปช.
“ต้องรอดูร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวอีกครั้ง ส่วนกระแสข่าวที่กรรมาธิการยกร่างฯ จะตัดบางมาตราในร่างรัฐธรรมนูญใหม่นั้นไม่เป็นความจริง เป็นเพียงความเห็นของกรรมาธิการบางส่วน ไม่ใช่มติของที่ประชุม เพราะต้องรอดูคำเสนอแก้ไขที่จะส่งมาวันที่ 25 พฤษภาคมนี้และเชิญผู้เสนอแก้ไขมาชี้แจงต่อกรรมาธิการยกร่างฯ ก่อนจึงจะทราบว่าจะปรับแก้อย่างไร” ประธานกรรมาธิการยกร่างฯ กล่าว
ส่วนการทำประชามติ นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่สามารเตรียมการใด ๆ ไว้ได้ จนกว่ารัฐธรรมนูญร่างสุดท้ายจะผ่านความเห็นชอบจากสปช. อย่างไรก็ตาม ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว ที่รัฐบาลจะเสนอมายัง สนช. จะต้องระบุให้ชัดเจนว่าจะต้องทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ประธานกรรมาธิการยกร่างฯ กล่าวถึงกรณีสมาชิกสปช. บางคนแสดงความคิดเห็นจะคว่ำร่างรัฐธรรมนูญว่า เป็นเอกสิทธิ์ที่จะแสดงความเห็นได้ แต่หากคว่ำร่างจะต้องเริ่มกระบวนการใหม่ทั้งหมด ทั้งการแต่งตั้งสปช. และกรรมาธิการยกร่างฯ โดยบุคคลเดิมจะไม่สามารถกลับมาทำหน้าที่ได้อีก และต้องเสียเวลายกร่างอีกเกือบ 1 ปี
กกต.สมชัย คาดทำประชามติร่างรธน. ม.ค.59
สำนักข่าวไทย รายงานด้วยว่า ที่ โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการ สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง เป็นประธานมอบนโยบายให้กับผู้อำนวยการ กกต.จังหวัดทั่วประเทศ เจ้าหน้าที่ กกต.ในการสัมมนาโครงการพัฒนาฐานข้อมูลและระบบสารสนเทศสนับสนุนการดำเนินงานจัดการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นการระดมความเห็นเพื่อพัฒนาเครื่องมือจัดการความเสี่ยงในการเลือกตั้ง รองรับการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น ขอให้ทุกด้านเตรียมความพร้อมสำหรับการเลือกตั้งตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป ทั้งนี้มีความชัดเจนแล้วว่าต้องมีการทำประชามติ โดยคาดว่าน่าจะเป็นเดือนมกราคม 2559 และการเลือกตั้ง ส.ส. น่าจะเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม และในเดือนตุลาคมเป็นการเลือกตั้ง สว.
“ต้องทำให้สังคมเห็นว่า กกต.มีความพยายามทุ่มเทอย่างเต็มที่ให้เกิดการเลือกตั้ง ทำให้การเลือกตั้งเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ และจัดการเลือกตั้งให้เกิดความน่าเชื่อถือ มีคุณภาพ เป็นมืออาชีพ เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย สุดท้ายพัฒนาเทคโนโลยีรองรับการเลือกตั้งรูปแบบใหม่ที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ คือการลงคะแนนด้วยระบบอิเลคทรอนิกศ์หรือระบบอื่น ซึ่งขณะนี้ กกต.ได้พัฒนาเทคโนโลยีรองรับการเลือกตั้งและอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน เช่น เวบไซต์ลงทะเบียนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในต่างประเทศ แอพพลิเคชั่นดาวเหนือบอกหน่วยเลือกตั้ง และแอพพลิเคชั่นตาสัปปะรด แจ้งเหตุทุจริตเลือกตั้ง ดังนั้นการเปลี่ยนต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม” สมชัย กล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น