ตั้งแต่การรัฐประหารยึดอำนาจโดย คสช. นำโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 จนถึงวันนี้ มีนักกิจกรรมหนีออกไปจากประเทศไทยประมาณร้อยคนแล้ว จำนวนมากเป็นนักกิจกรรมเสื้อแดง จำนวนมากในนั้นถูก คสช.เรียกรายตัว หลายๆ คนก็ถูกตั้งข้อหามาตรา 112 ยิ่งต้องตัดสินใจหนี เมื่อเห็นศาลทหารพิพากษาลงโทษจำเลยคดีหมิ่่นพระบรมเดชานุภาพอย่างหนัก โดยไม่มีสิทธิอุทธรณ์อีกด้วย อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจทิ้งชีวิตในประเทศไทย ทิ้งการศึกษา ทรัพย์สิน และคนที่พวกเขารัก และเริ่มต้นชีวิตใหม่ในต่างแดนก็ไม่ใช่เรื่องง่าย
เหล่าผู้ลี้ภัยไปยังหลายประเทศ ส่วนใหญ่คือ ประเทศเพื่อนบ้าน ยุโรป และ อเมริกา ฝรั่งเศสเป็นหนึ่งในนั้น ในตอนแรกของซีรียส์ผู้ลี้ภัยในต่างแดน ผู้สื่อข่าวประชาไทเล่าชีวิตของ จรัล ดิษฐาอภิชัย นักกิจกรรมฝ่ายซ้าย แกนนำเสื้อแดง ผู้มีประสบการณ์ด้านกิจกรรมทางการเมืองกว่า 50 ปี นักข่าวประชาไทได้ไปเยี่ยมจรัลที่เมืองเมืองหนึ่งในฝรั่งเศส (จรัลขอไม่ให้เปิดเผยว่า เขาอาศัยอยู่ในเมืองใด เพื่อความปลอดภัย) ในช่วงเดือนเมษายน คุณสามารถชมวิดิโอสัมภาษณ์ได้ด้านล่าง
------------------
“สหายชัย” คือชื่อจัดตั้งของ จรัล ดิษฐาอภิชัย สมัยที่อยู่ในป่าทางภาคเหนือของประเทศไทยระหว่างปี 2519-2526 และยังคงเป็นชื่อที่เขาภูมิใจจนถึงทุกวันนี้
ชีวิตของจรัลนั้นเต็มไปด้วยสีสัน (เป็นสีแดงเสียส่วนใหญ่) นักกิจกรรมวัย 68 ปีผู้นี้เคยถูกจับและขังคุกถึงสามครั้งเพราะกิจกรรมทางการเมือง ครั้งแรก จรัลถูกจับหลังการสังหารหมู่นักศึกษาและประชาชนในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เขาหนีออกจากคุกไปอยู่กับพรรคคอมมิวนิสต์แหงประเทศไทย (พคท.) ที่ป่าในจังหวัดน่าน และได้รับมอบหมายให้ดูแลหน่วย 61 ของ พคท. จรัลได้เพื่อนนักเคลื่อนไหวจำนวนมาก ซึ่งหลายคนกลายเป็นแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ในเวลาต่อมา
หลังจากลัทธิคอมมิวนิสต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เสื่อมความนิยมลง และเมื่อรัฐบาลไทยได้นิรโทษกรรมให้แก่เหล่านักศึกษา สมาชิก พคท. จรัลได้ออกจากป่าในปี 2526 และกลับมาอยู่กรุงเทพฯ รวมแล้วจรัลใช้ชีวิตอยู่ในป่าในเขาถึงเจ็ดปี
กลับมาใช้ชีวิตคนมืองที่กรุงเทพฯ จรัลทำงานเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์อยู่ไม่นาน ก็ไปปารีสเพื่อร่วมการอบรมเกี่ยวกับการพัฒนาสังคม หลังจากการอบรมสิ้นสุด ด้วยความที่ไม่อยากอยู่ไทยเพราะโดนสันติบาลติดตาม จรัลก็หาทุนการศึกษาเพื่อเรียนในระดับปริญญาโทและเอก จบปริญญาโทด้านประวัติศาสตร์จาก มหาวิทยาลัยปารีสเจ็ด และได้ประกาศนียบัตร DEA (สำเร็จปีแรกของปริญญาเอก) จากมหาวิทยาลัยซอร์บอร์น ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงที่สุดของฝรั่งเศส
ในขณะที่คนไทยที่มีการศึกษาส่วนใหญ่ชอบพูดภาษาไทยผสมกับภาษาอังกฤษ ฝ่ายซ้ายชาวพัทลุงผู้นี้ ผู้ซึ่งผ่านการศึกษาที่ฝรั่งเศส ชอบพูดภาษาไทยผสมกับภาษาฝรั่งเศส
หลังจากอยู่ปารีสห้าปี จรัลก็กลับมากรุงเทพฯ และไปสอนที่มหาวิทยาลัยรังสิต จนได้ตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ ต่อมาในปี 2541 จรัลถูกจับเเป็นครั้งที่สองที่ย่างกุ้ง เพราะไปแจกใบปลิวเพื่อรำลึกเหตุการณ์ 8888 ที่ประชาชนพม่าเดินขบวนเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในวันที่ 8 เดือน 8 ปี ค.ศ. 1988
หลังจากเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยรังสิตนานถึงสิบปี จรัลก็ลาออกเพื่อไปดำรงตำแหน่งกรรมการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนชุดแรกในปี 2543
จรัล ดิษฐาอภิชัย (แฟ้มภาพ)
ชีวิตนักเคลื่อนไหวของจรัลเริ่มต้นอีกครั้ง ในปี 2549 เมื่อรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นถูกโค่นล้มโดยรัฐประหาร จรัลเป็นคนแรกๆ ที่ออกมาแสดงจุดยืนต้านรัฐประหาร และร่วมกับนักการเมือง นักเคลื่อนไหวอีกหายคน เช่น จตุพร พรหมพันธุ์ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และเหวง โตจิราการ ก่อตั้ง แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)
“การเคลื่อนไหว มันเป็นวิถีชีวิตของผม เหมือนศิลปินเวลาได้ยินเสียงปี่เสียงกลอง” จรัลกล่าว ในปี 2550 เขาถูกจับเป็นครั้งที่สามหลังเหตุการณ์ผู้สนับสนุน นปก. บุกบ้านป๋าเปรม
จรัลไม่ใช่ผู้นำที่บทบาทโดดเด่น และไม่ใช่นักปราศรัยที่มีเสน่ห์ดึงดูดผู้ฟัง ไม่มีแฟนคลับเหมือนจตุพร หรือ ณัฐวุฒิ จรัลไม่ปราศรัยวิจารณ์ใครด้วยวาทะเชือดเฉือน เผ็ดร้อน หรือทำให้หัวเราะจนน้ำตาไหล จรัลยังไม่วิจารณ์ฝ่ายของตัวเองออกสาธารณะอีกด้วย เมื่อฉันขอให้จรัลวิจารณ์ทักษิณกับพรรคเพื่อไทย จรัลก็ตอบว่า พวกเราไม่ควรคาดหวังจากทั้งสองสูงเกินไป ทั้งสองได้ทำดีที่สุดแล้ว และพวกเราต่างหาก ที่ควรเข้าใจข้อจำกัดของพวกเขา
อย่างไรก็ตาม ลักษณะเด่นของจรัลคือ การเป็นนักเคื่อนไหวที่ยึดมั่นในอุดมการณ์ปฏิวัติ ไม่วอกแวก และทำงานอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะอยู่ในภาวะกระแสต่ำหรือสูง ลักษณะประนีประนอมของจรัลอาจทำให้พูดได้ว่า จรัลนั้นเป็น ‘นักจัดตั้ง’ ที่มองข้ามปัญหาและความแตกต่างเพื่อเป้าประสงค์ระยะยาว ซึ่งคือ การปฏิวัติสังคมการเมืองไทยอย่างแท้จริง
จรัลปราศรัยบนเวทีนปก. ในสมัยที่สีแดงยังไม่เป็นสีประจำการเคลื่อนไหว ภาพจากบล็อก OK Nation กฤษณะ ไชยรัตน์
หลังการรัฐประหารวันที่ 22 พ.ค. 57 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกคำสั่งเรียกจรัลให้มารายงานตัวในวันที่ 23 พ.ค. 57 จรัลไม่ไปรายงานตัว ตำรวจจึงออกหมายจับในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ในวันที่ 16 มิ.ย. 57 ตำรวจยังได้ออกหมายจับจรัลในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชนุภาพ ในฐานะที่จรัลเป็นประธานการจัดงานครบรอบ 40 ปี 14 ตุลา ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมีการแสดงละครเรื่อง “เจ้าสาวหมาป่า” ซึ่งก่อนหน้านี้ “กอล์ฟ” และ “แบงค์” ศิลปินสองคนถูกตัดสินลงโทษจำคุกสองปี เพราะละครเรื่องนี้อีกด้วย
จรัลหนีออกจากประเทศไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้านเมื่อวันที่ 27 พ.ค. 57 และบินไปฝรั่งเศสในเดือน มิ.ย.เมื่อพูดถึงการตัดสินใจลี้ภัย สำหรับหลายคนคงเป็นภาวะฉุกละหุก ที่ต้องตัดสินใจอย่างเร่งด่วนโดยมีอิสรภาพของตนเองเป็นเดิมพัน แต่นี่ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นกับจรัล นี่ไม่ใช่การลี้ภัยแบบฉุกละหุก เพราะจรัลได้ตระเตรียมตัวเองเพื่อการลี้ภัยครั้งนี้มาตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2549 แล้ว
ฟังดูเวอร์? จรัลเล่าให้ฉันฟังว่า เขาได้เล็งเห็นแล้ว ว่าสักวันหนึ่ง ขบวนการประชาธิปไตยจะต้องถูก “เล่นงาน” อีกไม่ช้าก็เร็ว จรัลจึงทำวิซ่าหลายๆ ประเทศเอาไว้ และต่ออายุเรื่อยมา เพื่อที่จะหนีออกนอกประเทศได้สะดวก หลังการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงปี 2553 จรัลก็หนีไปฝรั่งเศสมาแล้วครั้งหนึ่ง และกลับมาหลังจากเหตุการณ์สงบลง
จรัลไม่ใช่นักต่อสู้แบบโรแมนติก จรัลยึดหลักว่า เขาจะต้องไม่ถูกจับติดคุก หมดยุคแล้ว สำหรับความคิดที่ว่า ผู้นำถูกจับ แล้วประชาชนจะลุกฮือ ในทางตรงกันข้าม เขาต้องรักษาอิสรภาพเอาไว้ เพื่อที่จะต่อสู้ไปเรื่อยๆ จรัลบอกกับฉัน
สองสามเดือนแรกของการมาถึงฝรั่งเศส จรัลต้องจัดเตรียมเอกสาร เดินทางไปพบปะเจ้าหน้าที่ ทำการสัมภาษณ์ ผ่านขั้นตอนยุ่งยาก ก่อนจะได้สถานะผู้ลี้ภัยในเดือน พ.ย. 2557 จรัลบอกว่า เขาเป็นคนไทยคนที่สองที่ได้สถานะนี้ ซึ่งคนแรกคือ ปรีดี พนมยงค์ หลังจากได้สถานะ จรัลก็มีสิทธิได้รับประกันสังคม ส่วนลดในการใช้ขนส่งมวลชน และขอที่อยู่อาศัยได้ เป็นต้น
จรัลแปะรูปนักโทษมาตรา 112 ที่อนุสาวรีย์สาธารณรัฐ ที่ จตุรัสสาธารณรัฐ ปารีส วันที่ 22 พ.ค. 58 ภาพโดย ดิน บัวแดง
จรัลปรับตัวกับชีวิตที่ฝรั่งเศสได้อย่างรวดเร็ว นอกจากใช้เวลาส่วนหนึ่งในปรับปรุงหนังสือเกี่ยวกับการปฏิวัติฝรั่งเศสซึ่งจรัลเขียนและตีพิมพ์ไว้นานมาแล้ว เพื่อจะตีพิมพ์ฉบับใหม่ จรัลยังทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานขององค์กรเสรีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในยุโรปอีกด้วย และยังเป็นผู้มีเครือข่ายกว้างขวางที่คอยประสานระหว่างคนเสื้อแดง และผู้รักประชาธิปไตยในยุโรป
ที่ฝรั่งเศส จรัลจัดการพบปะสังสรรค์เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่าง คนเสื้อแดง นักกิจกรรม และนักศึกษา ฝ่ายประชาธิปไตยอยู่เสมอๆ ส่วนใหญ่คนเสื้อแดงที่นั่นเป็นคนอีสาน เป็นเจ้าของร้านอาหาร และกิจการต่างๆ พวกเขารักชอบจรัล และไม่ลังเลเมื่อจรัลขอให้ช่วยจัดงานเลี้ยงอาหารให้ และเมื่อมีคนจากประเทศไทยมาเยี่ยมเหล่าผู้ลี้ภัยในฝรั่งเศส จรัลก็จะช่วยติดต่อประสานคนเสื้อแดงที่นั่นที่มีน้ำใจ ยินดีให้พวกเขามาพักฟรีๆ ฉันได้ไปกินข้าวกับเหล่าคนเสื้อแดง ซึ่งหลายคนก็เป็นผู้อ่านประชาไท อยู่หลายมื้อ จนกลายเป็นว่า ฉันกินส้มตำปลาร้าทุกวัน และยังได้ลองกินไข่มดแดงเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ฝรั่งเศสอีกด้วย
จรัลกล่าวว่า ชีวิตของเขาตอนนี้ อยู่ในโหมดเดียวกันกับตอนที่เขาต่อสู้กับพคท. อย่างไรก็ตาม แทนที่จะจับปืน และใช้ชีวิตอย่างยากลำบากในป่า ตอนนี้จรัลอยู่ในเมืองอันสะดวกสบาย และเปลี่ยนมาจับเมาส์ คีย์บอร์ด และสมาร์ทโฟนแทน เพื่อสื่อสารกับโลกเกี่ยวกับปัญหาที่ประเทศไทยเผชิญ ในวัย 68 ปี ถือได้ว่าจรัล "ไฮเทค" ไม่น้อยเลย
จรัล (ที่สามจากซ้าย) ร่วมชุมนุมในวาระครบรอบหนึ่งปี รัฐประหาร 22 พ.ค. ที่จตุรัสสาธารณรัฐ ปารีส 22 พ.ค. 58 ภาพโดย ดิน บัวแดง
งานประจำวันของจรัลคือ การส่งอีเมลอัพเดทสถานการณ์การเมืองและสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย และพบปะกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลในยุโรป รวมถึงองค์กรภาคประชาสังคม องค์กรนานาชาติต่างๆ ล็อบบี้ให้องค์กรเหล่านี้แสดงท่าทีหรือมีมาตรการเกี่ยวกับประเทศไทย
จรัลยังทำหน้าที่แบบไม่เป็นทางการในการประสานกับคนเสื้อแดง และนักกิจกรรม นักศึกษาไทย ในการจัดการเดินขบวน หรือ ประท้วง ประเด็นเกี่ยวกับประเทศไทยอยู่อย่างสม่ำเสมออีกด้วย และยังเข้าร่วมการเดินขบวนต่างๆ ที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศส เช่น การเดินขบวนเพื่อเฉลิมฉลองวันแรงงานสากล การชุมนุมครั้งล่าสุดที่จรัลร่วมจัด คืองานครบรอบหนึ่งปีรัฐประหารในวันที่ 22 พ.ค. 58 จรัลและคนไทยและฝรั่งเศสอีกประมาณสิบคนได้ไปรวมตัวกันที่จตุรัสสาธารณรัฐ ที่ปารีส จตุรัสเดียวกันกับที่ชาวฝรั่งเศสเดินขบวนหลังการสังหารกองบรรณาธิการนิตยสารชาร์ลี เอบโด
“ที่รู้สึกอยู่บ้าง คือ เรายังทำงานไม่เต็มที่ ยังทำงานต่างประเทศไม่ได้เต็มที่ เพราะที่ต่างประเทศ เขาไม่ได้สนใจประเทศไทยมาก” จรัลกล่าว และบ่นว่า มันเป็นการยากที่จะให้ต่างประเทศมาสนใจและออกแอคชั่นเกี่ยวกับไทย เพราะเมื่อเทียบกับอีกหลายๆ ประเทศแล้ว สถานการณ์ในไทยยังถือว่าไม่รุนแรงเท่าไหร่ นอกจากนี้ ประเทศต่างๆ ก็ไม่ได้ยึดถืออุดมการณ์การเมืองเป็นสิ่งสำคัญเหมือนสมัยสงครามเย็นแล้ว หากแต่เป็นผลประโยชน์ทางการค้า การเมือง การทหาร อย่างไรก็ตาม จรัลบอกว่า เขาก็ยังต้องคอยให้ข้อมูล กับประชาคมโลกต่อไป เพื่อให้ปัญหาของประเทศไทยไม่ถูกลืม
เมื่อถามว่า ความขัดแย้งทางการเมืงไทยจะจบอย่างไร จรัลว่า นี่จะเป็น “การต่อสู้ครั้งสุดท้าย” ในชีวิตของคนแก่อายุ 68 ปีคนนี้แล้ว แต่นี่จะไม่ใช่การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ครั้งสุดท้ายของประเทศไทย เพราะเรายังต้องต่อสู้ไปเรื่อยๆ
จรัล เล่าถึงสถานการณ์การเมืองในไทยให้นักศึกษาฝรั่งเศสที่มาสังเกตการณ์การชุมนุม ที่ จตุรัสสาธารณรัฐ ปารีส 22 พ.ค. 58 ภาพโดย ดิน บัวแดง
“ในเพลง แองเตอร์นาซิอองนาล ร้องว่า “นี่เป็นการต่อสู้ครั้งสุดท้าย” ในความเป็นจริง มันไม่จริงและไม่มีหรอก มีแต่การต่อสู้ไปเรื่อยๆ เพื่อยกระดับ พัฒนา สิ่งที่มีอยู่ให้ดียิ่งขึ้น”
จรัลเชื่อว่า การรัฐประหารปี 2557 เกิดขึ้นเพื่อยับยั้งแนวโน้มการวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ หรือที่ฝ่ายรักสถาบันมักเรียกว่า “ขบวนการล้มเจ้า” “เพราะถ้ายังมีกระแสนี้อยู่ ถ้าเกิดเปลี่ยนรัชการขึ้นมา เขาอาจควบคุมสถานการณ์ไม่ได้ มันเป็นเรื่องน่ากลัวสำหรับฝ่ายกษัตริย์นิยม” จรัล กล่าว
เพื่อที่ประเทศไทยจะเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง จรัลกล่าวว่า การปฏิวัติเท่านั้น คือคำตอบ
เนื่องจากจรัลถูกตั้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพด้วย เขายิ่งไม่หวังจะกลับไทย “ผมอยู่ที่ไหนก็ได้” จรัลว่า อย่างไรก็ตาม “มีแค่อย่างเดียว ที่ผมคิดถึงในไทย คือ ภรรยาผม”
จรัลกับอั้มไปร่วมเดินขบวนวันแรงงานที่กรุงปารีส 1 พ.ค. 2558 ป้ายของจรัล (ที่สองจากซ้าย) เขียนว่า "SOS โปรดช่วยคนงานในประเทศไทยจากเผด็จการทหาร" ส่วนป้ายของอั้ม (ขวาสุด) เขียนว่า "ปล่อย สมยศ พฤกษาเกษมสุข และนักโทษข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ"
ในคืนสุดท้ายที่ฝรั่งเศส จรัลพาฉันไปที่บาร์ฝ่ายซ้าย และเล่าให้ฉันฟังเกี่ยวกับชีวิตซ้ายๆ ในป่า เหมือนกับคนแก่เล่าเรื่องอดีตให้เด็กฟัง
ฉันถามจรัลว่า ทำไมเขาถึงดูมีความสุขในยามลี้ภัยเช่นนี้ จรัลว่า ก็เพราะเขาอุทิศชีวิตให้กับการปฏิวัติไปแล้ว “ความสุขของนักต่อสู้ อยู่ที่ได้ต่อสู้ ที่ได้ทำประโชน์เพื่อคนอื่น ไม่ได้มาจาก วัตถุ หรือการบริโภค หากอยู่ที่การได้ต่อสู้ ยิ่งถ้าต่อสู้สำเร็จชนะ ยิ่งมีความสุข” จรัลว่า ตอนอยู่ป่า พวกสหายนักศึกษาชอบถามว่า หลังต่อสู้เสร็จ "สหายชัยจะไปทำอะไรต่อ" สหายชัยในวัย 30 ต้นๆ ตอบว่า “ผมก็จะไปปฏิวัติประเทศอื่นต่อ” แต่ดูเหมือนสหายชัยจะติดกับดักการปฏิวัติในไทยมา 40 ปีแล้ว
พูดมาถึงตรงนี้แล้ว คงเดาไม่ยากว่า ช่วงเวลาที่จรัลมีความสุขที่สุดในชีวิต คือเมื่อจรัลต่อสู้กับพคท. ในป่า
แต่ประเทศไทยนั้นเปลี่ยนแปลงการปกครองมากว่า 83 ปีแล้ว การต่อสู้ครั้งนี้จะยาวนานไปถึงไหนกัน เมื่อไหร่ประเทศไทยจะเป็นประชาธิปไตยจริงๆ เสียที เห็นความใจเย็นและอดทนในการต่อสู้ของจรัลแล้ว วัยรุ่นใจร้อนอย่างฉันจึงถามขึ้นมาว่า ทำไมจรัลจึงดูไม่หมดกำลังใจ หรือไม่หมดหวังในการต่อสู้บ้างเลย
“อย่างแรก การต่อสู้มีทั้งแพ้และชนะ มันเป็นสัจธรรมของการต่อสู้ โชคร้ายเราแพ้อยู่เรื่อยๆ สอง ตอนผมอยู่ป่า พวกสหายนักศึกษามักถามว่า “สหายชัยทำไมดูมีความสุข ไม่ทุกข์ ไม่คิดถึงบ้าน ไม่คิดถึงพ่อแม่หรอ” ผมโดนถามอยู่เรื่อย ผมบอกวา ผมเชื่อมั่นในอุดมการณ์ปฏิวติ เชื่อมั่นต่อพรรค ผมจึงไม่ไขว้เขว แม้ว่ากระแสจะต่ำหรือเพลี่ยงพล้ำ สอง ต้องอย่านับวันนับคืน” สหายชัย กล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น