เมื่อวันที่ 21 ก.ค.ที่ผ่านมา ไทยโพสต์ รายงานว่า พินิติ รตะนานุกูล เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา และเป็นกรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา(ก.พ.อ.)ได้มีหนังสือลงวันที่ 9 มิ.ย. 58 ถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่องขอแจ้งผลการอุทธรณ์คำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ
หนังสือระบุว่า ตามที่หนังสือที่อ้างถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ส่งเอกสารและพยานหลักฐานไปยังสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา(ก.พ.อ.)กรณีนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ได้อุทธรณ์คำสั่งลงโทษปลดออกจากราชการตามคำสั่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ 356/2558 ลงวันที่ 23 ก.พ. 58 ต่อก.พ.อ.ตามมาตรา 62 แห่งพรบ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาพ.ศ.2547 นั้น
สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาขอเรียนว่า ก.พ.อ.ในการประชุมครั้งที่ 5/2558 เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 58 ได้พิจารณาอุทธรณ์แล้วมีความเห็นดังนี้
1.นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ได้ยื่นเรื่องขอลาไปปฏิบัติงานในประเทศเพื่อเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 57 ถึงวันที่ 31 ก.ค. 58 ต่อมาวันที่ 18 ธ.ค. 57หัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ได้แจ้งให้นายสมศักดิ์ ทราบถึงการพิจารณาอนุมัติการลาดังกล่าวว่าการพิจารณาเป็นไปด้วยความล่าช้าและระยะเวลาได้ล่วงเลยไปถึง 6 เดือนแล้วยังไม่ได้รับการพิจารณาอนุมัติจากมหาวิทยาลัย และแจ้งให้นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล กลับมาปฏิบัติราชการและรับมอบภาระงานสอน แต่นายสมศักดิ์ ไม่กลับมาปฏิบัติราชการตามที่ภาควิชาได้แจ้งดังกล่าว ต่อมาเมื่อคณะศิลปศาสตร์ได้มีบันทึกลงวันที่ 26 ธ.ค. 57 แจ้งให้นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล กลับมาปฏิบัติราชการโดยด่วน นายสมศักดิ์ ก็ยังเพิกเฉยไม่กลับมาปฏิบัติราชการแต่อย่างใด ซึ่งในท้ายที่สุกชด มหาวิทยาลัยได้พิจารณาไม่อนุมัติการลาของนายสมศักดิ์ ดังกล่าว พฤติการณ์จึงถือเป็นการจงใจไม่ปฏฺบัติหน้าที่ราชการตามระเบียบแบบแผนของทางราชการในเรื่องการลาและการปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาซึ่งสั่งในหน้าที่ราชการโดยชอบด้วยกฎหมาย ทำให้มหาวิทยาลัยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยและทรัพย์สินซึ่งเป็นเงินเดือนและสวัสดิการอื่นๆ ที่่มหาวิทยาลัยและคณะศิลปศาสตร์ได้จ่ายให้แก่นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ในระยะเวลาระหว่างนั้น เป็นความผิดวินัยร้ายแรง ตามมาตรา 39 วรรคห้าแห่งพระราชบัญญัติระเบียบราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 และเป็นการละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อในคราวเดียวกันเป็นเวลาเกินกว่าสิบห้าวัน โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรและมีพฤติการณ์อันแสดงถึงความจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการตั้งแต่วันที่ 19 ธ.ค. 57 จนถึงปัจจุบัน ถือเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ตามข้อ 55 (6) ของข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย การอุทธรณ์ และการร้องทุกข์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2555 ด้วย
2.ข้อกล่าวอ้างของนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ที่อ้างว่าถูกข่มขู่ทั้งโดยตรงและโดยอ้อมจากคณะบุคคลซึ่งเข้าแย่งชิงอำนาจการปกครอง ทำให้ไม่สามารถไปปฏิบัติราชการตามปกติ การขอลาไปปฏิบัติงานในประเทศเพื่อเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการดังกล่าวจึงมีเหตุผลสมควรนั้น ไม่ปรากฎพยานหลักฐานสนับสนุนข้อกล่าวอ้างของนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล แต่อย่างใด ข้อกล่าวอ้างดังกล่าวจึงฟังไม่ขึ้น อีกทั้ง การที่นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ขอให้ ก.พ.อ. ทบทวนการใช้ดุลพินิจโดยเห็นว่าการใช้ดุลพินิจของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ไล่ตนออกจากราชการนั้นไม่เหมาะสมนั้น เห็นว่า ด้วยมติคณะรัฐมนตรี ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 36 กำหนดให้การละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อในคราวเดียวกันเป็นเวลาเกินกว่า 15 วัน โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร และไม่กลับมาปฏิบัติราชการอีกเลย เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงซึ่งควรลงโทษไล่ออกจากราชการ แม้จะมีเหตุอันควรปรานีอื่นใดก็ไม่เป็นเหตุลดหย่อนลงเป็นปลดออกจากราชการ ซึ่งส่วนราชการจะต้องปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด ตามมติคณะรัฐมนตรี ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 22 พ.ย. 31
"ดังนั้น การที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ลงโทษไล่นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ออกจากราชการ จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ก.พ.อ. จึงมีมติยกอุทธรณ์ของนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล" หนังสือก.พ.อ.ระบุ
โดยเมื่อวันที่ 16 มี.ค.ที่ผ่านมา สมศักดิ์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก ‘Somsak Jeamteerasakul’ ระบุยื่นหนังสือต่อ รศ.นพ.กำจร ตติยกวี เลขาธิการ คณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ) เพื่ออุทธรณ์คำสั่งไล่ออกของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อ่านรายละเอียด)
สำหรับ คำสั่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ 356/2558 เรื่อง ลงโทษสมศักดิ์ ไล่ออกจากราชการ โดย สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิบการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ลงนามนั้นออกเมื่อ 23 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยระบุเหตุผลเนื่องจากกระทำผิดข้อบังคับมหาวิทยาลัย (อ่านรายละเอียด)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น