วันจันทร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

สมัชชาคนจน ถามรัฐบาลทำอะไรอยู่ ชาวนาไม่มีน้ำใช้ แต่สนามกอล์ฟใช้น้ำได้เต็มที่


20 ก.ค. 2558 เมื่อวานนี้ สมัชชาคนจน ได้ออกแถลงการณ์ต่อกรณีการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล ในช่วงภัยแล้ง โดยมติคณะมนตรีเมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2558 ได้เห็นชอบให้มีการลดปริมาณการปล่อยน้ำใน 4 เขื่อนหลักในลุ่มน้ำเจ้าพระยา พร้อมขอความร่วมมือเกษตรกรงดสูบน้ำ เพื่อใช้ในภาคการเกษตรกรเพื่อให้มีน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค พร้อมกันนั้นปรากฎภาพเจ้าหน้าที่ทหารออกลาดตะเวนห้ามไม่ให้ชาวนาสูบน้ำเข้านา โดยชาวนาที่ไม่ทำตามกลับถูกประณามว่า ไม่รักชาติ เห็นแก่ตัว และไม้สียสละ ขณะที่นิคมอุตสาหกรรม สนามกอล์ฟ และห้างสรรพสินค้า ยังสามารถใช้น้ำได้อย่างเต็มที่
สมัชชาคนจน ได้เสนอให้รัฐบาล จัดตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น โดยมีองค์ประกอบจากผู้ที่มีส่วนได้เสียส่วนเสียในบริหารจัดการน้ำ เข้ามาดูแลมาตราการการใช้น้ำอย่างเป็นธรรม โดยแถลงการณ์มีรายละเอียดดังนี้
00000
แถลงการณ์สมัชชาคนจน
ต้องจัดการน้ำอย่างเป็นธรรม
เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ลดปริมาณการปล่อยน้ำใน 4 เขื่อนหลักในลุ่มเจ้าพระยา และขอความร่วมมือเกษตรกรงดสูบน้ำเพื่อใช้ในภาคการเกษตรเพื่อให้มีน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภค โดยอ้างสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทยว่า ทำให้มีปริมาณน้ำน้อย จึงต้องการเก็บน้ำไว้ใช้สำหรับการอุปโภคบริโภค พร้อมกับปรากฏภาพเจ้าหน้าที่ทหารออกลาดตระเวนห้ามชาวนาสูบน้ำเข้านา ยิ่งไปกว่านั้น ชาวนาที่ไม่ทำตามคำขอของรัฐบาลกลับถูกกล่าวหาว่า เป็นคนไม่รักชาติ เห็นแก่ตัว ไม่เสียสละ
สมัชชาคนจนเห็นว่า ปัญหาวิกฤตน้ำในประเทศไทยขณะนี้ เกิดจากความไม่เป็นธรรมในการจัดการน้ำของรัฐบาล โดยเฉพาะการที่รัฐบาลห้ามสูบน้ำเพื่อใช้ในภาคการเกษตรและใช้กองกำลังเจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปควบคุมไม่ให้ชาวนาสูบน้ำเข้านา แต่กลับปล่อยให้นิคมอุตสาหกรรม โรงงานอุตสาหกรรม สนามกอล์ฟ อาบอบนวด โรงแรม และห้างสรรพสินค้า สามารถใช้น้ำได้อย่างเต็มที่เท่าที่ต้องการโดยมีมาตรการใดๆ เข้ามาควบคุมดูแล หรือมีคำสั่งห้ามใดๆ ขณะที่ชาวนามีสิทธิแค่เพียงนั่งเบิกตาดูต้นข้าวที่พวกเขาปลูกค่อยๆ เหี่ยวแห้งตายลงเพราะขาดน้ำ และค่อยแบกความเสี่ยงกับหนี้สินกองโตที่จะตามมา ทั้งที่ยังไม่ชัดเจนว่ารัฐบาลจะมีมาตรการจัดการน้ำและมาตรการรองรับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการบริหารงานรัฐบาลต่อเกษตรกรอย่างไร สิ่งเหล่าล้วนแล้วแต่เป็นหลักฐานยืนยันความไม่เป็นธรรมในการจัดการน้ำของรัฐบาลทั้งสิ้น
ดังนั้นสมัชชาคนจนขอเรียกร้องยุติการให้เกษตรกรเป็นผู้แบกรับภาระความเสี่ยง โดยการจัดสรรปันส่วนน้ำอย่างเป็นธรรม เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคมบนพื้นฐานที่ทุกคนเท่ากัน เช่น
1. กำหนดมาตรการใช้น้ำในทุกระดับ เช่น 1) กำหนดมาตรการใช้น้ำในระดับครัวเรือน เช่น กำหนดเวลาในการปล่อยน้ำประปา 2) กำหนดมาตรการใช้ในในภาคการเกษตร เช่น สามารถสูบน้ำได้สัปดาห์ละ 4 วัน งดสูบน้ำ 3 วัน 3) กำหนดมาตรการใช้น้ำของภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ หรือธุรกิจอื่นๆ เช่น ในหนึ่งสัปดาห์สามารถรดน้ำสนามกอล์ฟได้ 4 วัน
2. ให้มีแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น โดยมีองค์ประกอบจากผู้ที่มีส่วนได้เสียส่วนเสียในบริหารจัดการน้ำ เข้ามารับผิดชอบดูแลการบริหารจัดการตามมาตรการดังกล่าว ประชาธิปไตยที่กินได้ การเมืองที่เห็นหัวคนจน
สมัชชาคนจน 19 กรกฎาคม 2558

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น