วันอังคารที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

PPTV ชี้แจง กสทช. หลังนำเสนอข่าวเจรจาลับภาคใต้ - โดยถูกเตือน แต่ยังไม่ขัดคำสั่ง คสช.


ภาพเปิดรายงานพิเศษของ PPTV "เจรจาลับ ดับไฟใต้" ออกอากาศเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2558 ก่อนถูก กสทช. เรียกเข้าไปชี้แจงว่าขัดต่อคำสั่ง คสช. และ พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์หรือไม่ (ที่มาของภาพ: PPTV)
        หลัง กสทช. ทำหนังสือเรียกช่อง PPTV ชี้แจงหลังนำเสนอรายงานพิเศษ "เจรจาลับ ดับไฟใต้" ล่าสุด PPTV เข้าชี้แจงแล้ว โดยผลการชี้แจง - กสทช. ไม่ถือว่าขัดคำสั่ง คสช. เรื่องสร้างความแตกแยก แต่เตือนว่าทำข่าวความมั่นคงอย่าลงลึกเรื่องยุทธการของทหาร
       7 ก.ค. 2558 - กรณีที่ กสทช. ทำหนังสือลงวันที่ 26 มิ.ย. 58 ส่งถึงกรรมการผู้จัดการบริษัทบางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด (สถานีโทรทัศน์ PPTV HD) ให้ไปชี้แจงต่อคณะอนุกรรมการกำกับผังรายการ กสทช. กรณีเสนอรายงานพิเศษเรื่อง "เจรจาลับ ดับไฟใต้" ที่ออกอากาศในรายการ "เข้มข่าวค่ำ" วันที่ 23 มิ.ย. 58 โดยในจดหมายมีเนื้อหาว่าข่าวที่ PPTV HD นำเสนออาจทำให้ประชาชนสับสน เข้าใจผิด ก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคม ขัดประกาศ คสช.ฉบับที่ 97/2557, ฉบับที่ 103/2557 และขัดต่อมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551
        ล่าสุดในเฟซบุ๊คของ เสถียร วิริยะพรรณพงศา ผู้้สื่อข่าว PPTV HD ระบุว่าได้เข้าชี้แจง กสทช. แล้วเรียบร้อย โดยข่าว "เจรจาลับ ดับไฟใต้" ดังกล่าวไม่ขัดคำสั่ง คสช. อย่างไรก็ตามคณะอนุกรรมการกำกับผังรายการ กสทช. เตือนเรื่องการทำข่าวความมั่นคงอย่าลงลึกเชิงยุทธการของทหาร
       ต่อกรณีดังกล่าวนั้น ก่อนหน้านี้ PPTV HD แถลงเมื่อวันที่ 3 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยในข่าวพาดหัวว่า "PPTV HD ยันจุดยืนนำเสนอข่าวถูกต้อง เป็นกลาง รอบด้าน หลัง กสทช.เรียกชี้แจง สภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียง (ประเทศไทย) ชี้สื่อทำหน้าที่กำกับดูแลกันเองอยู่แล้ว สุภิญญาห่วง กสทช.ใช้อำนาจเหมาะสมหรือไม่" นำเสนอตอนหนึ่งว่า
"นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ดิจิตอล PPTV HD ให้สัมภาษณ์ว่านโยบายการนำเสนอข่าวของ PPTV HD นั้น ยึดหลัก 5 ประการสำคัญที่ PPTV HD ยึดมั่นมาโดยตลอด ได้แก่"
  • "1.การนำเสนอข่าวจะต้องเป็นกลาง ไม่อิงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และต้องมีการนำเสนอความคิดเห็นอย่างรอบด้าน
  • 2.เนื้อหาในการทำข่าวจะต้องเป็นเนื้อหาที่มีความหลากมิติเพื่อให้ประชาชนคิดตาม แต่ไม่ใช่การชี้นำทางสังคม
  • 3.วิธีการนำเสนอข่าวจะต้องมีความน่าสนใจ โดยมีการใช้กราฟิค และภาพเข้าเสริม
  • 4.มีจริยธรรมตามบทบัญญัติการเป็นสื่อมวลชนที่ดี
  • 5.มีความฉับไว"

         "เมื่อทางคณะอนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหารายการ สำนักงาน กสทช.ได้ส่งหนังสือมาที่ PPTV HD ดังกล่าว ในฐานะที่เป็นผู้อำนวยการสถานีฯ ได้วิเคราะห์ และมีการหารือกับกองบรรณาธิการข่าวถึงเนื้อหาข่าวที่มีการนำเสนอ และที่ผ่านมาก็ไม่มีทั้งฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายรัฐบาล สมาคมนักข่าว และสภาวิชาชีพสื่อมวลชนต่างๆ มาบอกว่าเป็นการนำเสนอข่าวที่ผิด หรือมีเนื้อหากระทบต่อความมั่นคงแต่อย่างใด จึงคิดว่าข่าวนี้มีลักษณะการนำเสนอข่าวที่ถูกต้องแล้ว เพราะเป็นการนำเสนอข้อมูลทั้ง 2 ด้านไม่ได้อิงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และเนื้อหาของข่าวที่นำเสนอในรายการ "เข้มข่าวค่ำ" ก็เป็นเนื้อหาที่พูดถึงเรื่องสันติวิธี โดยไม่ได้ว่าใคร ซึ่งเป็นการนำเสนอข่าวอย่างถูกต้องตามหลักของการสื่อสารมวลชนที่ดี"
       "นายเขมทัตต์ กล่าวต่อว่า เมื่อพิจารณาดูแล้วว่าเป็นข่าวที่นำเสนออย่างถูกต้อง วานนี้ (2 ก.ค.58) จึงได้เข้าไปปรึกษาหารือกับสภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียง (ประเทศไทย) ซึ่งทางสภาวิชาชีพฯ ได้ให้คำแนะนำว่า กรรมการฯ ได้พิจารณาแล้ว มีความสอดคล้องกับหลักกฎหมายที่ให้สื่อกำกับดูแลกันเอง จึงรับเรื่องไว้ และหาก กสทช.จะเรียกชี้แจง ทางกรรมการสภาวิชาชีพฯ จะขอเข้าร่วมการชี้แจงดังกล่าวด้วย เนื่องจากสถานีโทรทัศน์ต่างๆ ต่างก็เป็นสมาชิกของสภาวิชาชีพฯ ทั้งนี้เมื่อสภาวิชาชีพฯ รับเรื่องนี้ไว้พิจารณาแล้ว ก็จะนำกรณีของสถานีโทรทัศน์ PPTV HD เข้าไปหารือกันในสภาวิชาชีพฯ ด้วย"
       นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวกับ PPTVHD ถึงความเหมาะสมในการเรียกเข้าชี้แจงว่า โดยหลักการแล้วควรให้สื่อดูแลกำกับกันเองก่อน หากเป็นเรื่องของความเป็นกลาง และจริยธรรม ส่วนกรณีของ Thai PBS หรือ PPTVHD ก็ควรในฝ่ายนโยบายเป็นผู้ดูแลกำกับ
       ทั้งนี้หากถามว่ากรณีที่เกิดขึ้นขัดต่อหลักกฎหมายหรือไม่ก็ไม่ขัด เนื่องจาก กสทช. เป็นผู้ดูแล หากได้รับเรื่องร้องเรียน แต่ทว่าขณะนี้สิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ในสถานการณ์ไม่ปกติ โดยผู้ร้องเรียนมาจากฝ่ายความมั่นคง จึงทำให้ต้องพิจารณา แต่ กสทช. ก็ควรทบทวนตนเองว่าใช้อำนาจเกินกว่าเหตุ หรือเหมาะสมหรือไม่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น