วันพฤหัสบดีที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2558

กรุงเทพโพลล์เผย 1 ปี 'ประยุทธ์' นักเศรษฐศาสตร์ให้คะแนน '5.32 เต็ม 10' ผลงานเศรษฐกิจ


27 ส.ค. 2558 ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ หรือ กรุงเทพโพลล์ เผยแพร่ผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ เรื่อง “ประเมินผลงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ (ครบ 1 ปี)” โดยระบุว่า เนื่องด้วยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ปฏิบัติงานครบ 1 ปี กรุงเทพโพลล์ ร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ จึงได้ดำเนินการสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำ  27  แห่ง จำนวน 59 คน เรื่อง  “ประเมินผลงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ (ครบ 1 ปี)” โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่  17 – 25 สิงหาคม 2558 ที่ผ่านมา พบว่า นักเศรษฐศาสตร์ประเมินผลงานการบริหารเศรษฐกิจในภาพรวมของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาโดยให้คะแนน 5.32  คะแนน (จากเต็ม 10)  ลดลงจากการสำรวจครั้งก่อนที่ได้ 5.62 คะแนน แต่ยังอยู่ในระดับที่สูงกว่ารัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ (ได้ 4.08 คะแนน)  และสูงกว่ารัฐบาลนายอภิสิทธิ์ (ได้ 5.12 คะแนน)  โดยการประเมินครั้งนี้  รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ได้คะแนนมากที่สุดในด้านการบริหารจัดการค่าเงินบาท/เสถียรภาพค่าเงินบาท (5.98 คะแนน)  และได้คะแนนน้อยที่สุดในด้านการเติบโตของเศรษฐกิจในภาพรวม (GDP) (4.57 คะแนน) 
 
สำหรับการประเมินผลงานนายกรัฐมนตรีโดยภาพรวม พบว่า  พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา  ได้คะแนน 6.42 คะแนน (จากเต็ม 10) ลดลงจากการสำรวจครั้งก่อนที่ได้ 6.62 คะแนน  
 
ในส่วนของผลงานรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ พบว่า กอบกาญจน์  วัฒนวรางกูร  รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เป็นรัฐมนตรีที่ได้คะแนนสูงสุด 6.12 คะแนน และเป็นรัฐมนตรีเพียงคนเดียวในทีมเศรษฐกิจที่คะแนนเพิ่มขึ้นจากการสำรวจครั้งก่อนที่ได้ 5.83 คะแนน ขณะที่มีรัฐมนตรีที่ได้คะแนนน้อยกว่าครึ่งจำนวน 4 คนได้แก่ พล.อ.อ.ประจิน  จั่นตอง  รมว.คมนาคม (ได้ 4.91 คะแนน) พล.อ. สุรศักดิ์  กาญจนรัตน์  รมว.แรงงาน (ได้ 4.80 คะแนน) ปีติพงศ์  พี่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ (ได้ 4.64 คะแนน) ขณะที่ พล.อ. ฉัตรชัย  สาริกัลป์ยะ  รมว.พาณิชย์ (ได้ 4.52 คะแนน) ได้คะแนนต่ำสุด
 
สำหรับ ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย นักเศรษฐศาสตร์ประเมินให้คะแนนผลงานสูงสุดเท่ากับ 7.05 คะแนน ซึ่งปรับลดลงจากครั้งก่อนหน้าที่ได้ 7.54 
 
รายละเอียดในการสำรวจ
 
วัตถุประสงค์
1.     เพื่อสะท้อนความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ที่มีต่อผลงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล
2.     เพื่อเป็นข้อมูลสะท้อนให้รัฐบาลได้รับทราบและนำไปใช้ประกอบการบริหารงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล 
กลุ่มตัวอย่าง
เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่สำเร็จการศึกษาทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโทในสาขาเศรษฐศาสตร์ (กรณีสำเร็จการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์เฉพาะปริญญาตรี หรือปริญญาโท หรือปริญญาเอก  อย่างใดอย่างหนึ่งจะต้องมีประสบการณ์ในการทำงานด้านวิเคราะห์/วิจัย/หรืองานที่เกี่ยวข้องที่ต้องใช้ความรู้ความสามารถด้านเศรษฐศาสตร์อย่างน้อย 5 ปีจนถึงปัจจุบัน) ที่ทำงานอยู่ในหน่วยงานด้านการวิเคราะห์  วิจัยเศรษฐกิจระดับชั้นนำของประเทศ จำนวน 27  แห่ง  ได้แก่  ธนาคารแห่งประเทศไทย  สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง  สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม  สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร  สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์  สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI)  มูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง  ศูนย์วิจัยกสิกรไทย  สำนักงานคณะกรรมการกำกับการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์  ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงไทย  ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย  ธนาคารธนชาต ธนาคารกรุงศรีอยุธยา  ธนาคารไทยพาณิชย์  บริษัทหลักทรัพย์ภัทร บริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน  บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกรุงไทย  บริษัททิพยประกันชีวิต คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการและสารสนเทศศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร  สำนักวิชาเศรษฐศาสตร์และนโยบายสาธารณะมหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ  คณะวิทยาการจัดการมหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะพัฒนาการเศรษฐกิจสถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ และคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยกรุงเทพ   
วิธีการรวบรวมข้อมูล
การสำรวจนี้เป็นการวิจัยโดยการเลือกตัวอย่างประชากรโดยไม่อาศัยหลักความน่าจะเป็น (Non-probability sampling) แต่ละหน่วยตัวอย่างที่จะได้รับการเลือก จึงเป็นการเลือกตัวอย่างประชากรแบบเจาะจง (Purposive sampling) และดำเนินการรวบรวมข้อมูลโดยการส่งแบบสอบถามออนไลน์ไปยังนักเศรษฐศาสตร์ในหน่วยงานชั้นนำภายในระยะเวลาที่กำหนด
ระยะเวลาในการเก็บข้อมูล           :  17 – 25 สิงหาคม 2558
วันที่เผยแพร่ผลสำรวจ                 :  27 สิงหาคม 2558

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น