วันอังคารที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2558

เครือข่ายภาคประชาสังคม จี้ สนช. ล้ม 7 รายชื่อ กสม.


4 ส.ค. 2558 เครือข่ายภาคประชาสังคม ออกแถลงการณ์ ขอให้มีการตรวจสอบและไม่รับรองบุคคลที่ได้รับการสรรหาเป็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยแถลงการณ์ได้อ้างถึงหลักการปารีส ซึ่งเป็นหลักการของสหประชาชาติเกี่ยวกับสถานะของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยในตอนหนึ่งระบุว่า “กระบวนการสรรหาต้องมีหลักประกันที่จะทำให้มั่นใจได้ว่า สถาบันจะเป็นผู้แทนที่หลากหลายของพลังทางสังคมหรือภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน” บุคคลผู้เป็นกรรมการสรรหา ไม่ได้เป็นบุคคลในภาคประชาสังคมที่มีความรู้และประสบการณ์เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนแต่ประการใด
ขณะที่กระบวนการให้การสรรหาเองไม่ได้มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน โดยในแถลงการณ์ระบุว่า “คณะกรรมการสรรหาไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนเกี่ยวกับการตรวจสอบคุณสมบัติบุคคลที่มีประสบการณ์ด้านการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นที่ประจักษ์ และการเลือกด้วยการลงคะแนนของกรรมการสรรหาแต่ละบุคคลที่ไม่มีการให้เหตุผล หรืออภิปรายร่วมกันเพื่อตัดสินใจในลักษณะกลุ่ม จึงเป็นการสรรหาที่ไม่สอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาล และไม่สามารถอธิบายหรือตอบคำถามของสาธารณชนได้ว่าบุคคลที่กรรมการสรรหาเลือกมามีคุณสมบัติเป็นไปตามเจตนารมณ์และบทบัญญัติของกฎหมายที่ต้องการ”
พร้อมแสดงความห่วงใยต่อ ภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือเรื่องสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ในสายตานานาประเทศ ทั้งนี้ได้เรียกร้องให้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาไม่ให้ความเห็นชอบกับการ สรรหาบุคคลผู้สมควรเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของคณะกรรมการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญกำหนดบทบัญญัติให้มีองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่หลากหลาย เป็นไปตามหลักการปารีส
แถลงการณ์
เรื่อง ขอให้ตรวจสอบและไม่รับรองบุคคลที่ได้รับการสรรหาเป็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
4 สิงหาคม 2558

           ตามที่คณะกรรรมการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อันประกอบด้วย นายดิเรก  อิงคนินันท์ ประธานศาลฎีกา นายนุรักษ์ มาประณีต ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร  วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร นายเพ็ง เพ็งนิติ บุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาคัดเลือก และนายเฉลิมชัย วสีนนท์ บุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดคัดเลือก ได้เลือกบุคคลผู้สมควรเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจำนวน 7 คน ได้แก่ นางฉัตรสุดา จันทร์ดียิ่ง นายบวร ยสินทร นางประกายรัตน์  ต้นธีรวงศ์ นายวัส ติงสมิตร รองศาสตราจารย์ศุภชัย  ถนอมทรัพย์ นายสุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย นางอังคณา นีละไพจิตร เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2558 นั้น
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) องค์กร และบุคคลข้างท้ายนี้  เห็นว่าการสรรหาบุคคลเป็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไม่เป็นไปตามหลักการปารีส และเจตนารมณ์และบทบัญญัติของกฎหมาย ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
  • 1. โดยหลักการปารีสระบุว่า “กระบวนการสรรหาต้องมีหลักประกันที่จะทำให้มั่นใจได้ว่า สถาบันจะเป็นผู้แทนที่หลากหลายของพลังทางสังคมหรือภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน” แต่องค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กลับไม่มีบุคคลในภาคประชาสังคมที่มีความรู้และประสบการณ์เกี่ยวข้องกับการ คุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนแต่ประการใด
  • 2. กระบวนการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติครั้งนี้ คณะกรรมการสรรหาไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนเกี่ยวกับการตรวจสอบคุณสมบัติบุคคลที่มีประสบการณ์ด้านการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นที่ประจักษ์ และการเลือกด้วยการลงคะแนนของกรรมการสรรหาแต่ละบุคคลที่ไม่มีการให้เหตุผล หรืออภิปรายร่วมกันเพื่อตัดสินใจในลักษณะกลุ่ม จึงเป็นการสรรหาที่ไม่สอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาล และไม่สามารถอธิบายหรือตอบคำถามของสาธารณชนได้ว่าบุคคลที่กรรมการสรรหาเลือกมามีคุณสมบัติเป็นไปตามเจตนารมณ์และบทบัญญัติของกฎหมายที่ต้องการ ได้บุคคลซึ่งมีความรู้หรือประสบการณ์ด้านการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นที่ประจักษ์
  • 3. จากประสบการณ์การสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนชุดที่สองได้แสดงให้เป็นที่ ประจักษ์แจ้งว่าการเลือกบุคคลที่ไม่มีความรู้ หรือประสบการณ์ด้านการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นที่ประจักษ์จะส่งผลเสียหายต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนจนประมาณค่ามิได้ และจะทำให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติถูกลดระดับจากเกรด A เป็นเกรด B โดยสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ  ดังนั้น ผลการสรรหาครั้งนี้จะยิ่งทำให้ความน่าเชื่อถือของนานาชาติต่อการปฏิบัติ หน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดนี้ไม่เป็นที่ยอมรับ และมีแนวโน้มที่จะบังเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนต่อไปอีก

             ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชนและองค์กรร่วมจึงขอเรียกร้องให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาไม่ให้ความเห็นชอบกับการสรรหาบุคคลผู้สมควรเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของคณะกรรมการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญกำหนดบทบัญญัติให้มีองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่หลากหลาย เป็นไปตามหลักการปารีส โดยให้มี ประธานสภาผู้แทนราษฎร อัยการสูงสุด นายกสภาทนายความ ตัวแทนสถาบันอุดมศึกษาของรัฐและเอกชนที่มีการเรียนการสอนด้านสิทธิมนุษยชนศึกษา ตัวแทนภาคประชาสังคมที่ปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของกลุ่มคนด้อยโอกาส และตัวแทนสื่อมวลชน เป็นคณะกรรมการสรรหา ทั้งนี้เพื่อให้ได้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนที่มีความหลากหลายตามหลักการปารีส และกำหนดให้ดำเนินการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาล
รายชื่อองค์กรและบุคคลร่วมลงนาม
  • 1.       สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน(สสส)
  • 2.       มูลนิธิส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
  • 3.       คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน(กป.อพช.)
  • 4.       มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
  • 5.       ศูนย์เผยแพร่และส่งเสริมงานพัฒนา (ผสพ.)
  • 6.       สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน(สนส.)
  • 7.       เครือข่ายประชาชนสีเขียวจังหวัดมหาสารคาม
  • 8.       มูลนิธิพัฒนาชนกลุ่มน้อยและชาติพันธุ์
  • 9.       ศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง(ศปส.) องค์กรสาธารณะประโยชน์ ๗
  • 10.   เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย(คชท.)
  • 11.   เครือข่ายวิจัยและรณรงค์เพื่อสตรี
  • 12.   ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น
  • 13.   มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
  • 14.   มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ
  • 15.   สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ
  • 16.   มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม
  • 17.   คณะทำงานวาระทางสังคม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • 18.   มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ
  • 19.   สมาคมผู้บริโภคสงขลา
  • 20.   เครือข่างองค์กรผู้บริโภคภาคใต้
  • 21.   เครือข่ายหลักประกันสุขภาพประชาชนภาคใต้
  • 22.   กลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน
  • 23.   มูลนิธิเพื่อนหญิง
  • 24.   มูลนิธิเข้าถึงเอดส์
  • 25.   มูลนิธิพัฒนาอีสาน
  • 26.   นายประกาศ  เรืองดิษฐ์
  • 27.   นายสุมิตรชัย หัตถสาร
  • 28.   นายสุรชัย ตรงงาม
  • 29.   นางสาวกาญจนา  แถลงกิจ 
  • 30.   นายประยงค์ ดอกลำไย
  • 31.   นางสาวราณี  หัสสรังสี
  • 32.   เพ็ญโฉม  แซ่ตั้ง  ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ
  • 33.   นายชาญยุทธ  เทพา  มูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น