‘วิษณุ’ ชมเขียนดีกว่า รธน.40–50 ระบุห้ามส่งไลน์- SMS ยั่วยุ ถือว่าผิดกฎหมายถ้าจับได้ก็จับ แต่แสดงความคิดเห็นธรรมดาคงไม่เป็นไร ด้านกกต. โยน รบ.-คสช. พิจารณา แจงหลักการประชามติเหมือนลต.
เมื่อวันที่ 27 ส.ค.ที่ผ่านมา วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนักการเมืองออกมาเรียกร้องให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โหวตคว่ำรัฐธรรมนูญว่า ไม่ใช่ความผิดอะไร ต่อให้ สปช. โหวตไปแล้วก็ยังไม่กล้าชี้ชัดว่าการออกมาเรียกร้องไม่เอาร่างรัฐธรรมนูญของนักการเมืองจะเป็นความผิด เนื่องจากยังไม่เห็นระเบียบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าเขียนไว้อย่างไร ดังนั้น ช่วงนี้จึงเป็นการแสดงความเห็นทั้งฝ่ายที่สนับสนุนและคัดค้าน แต่จะสมควรหรือไม่ขึ้นอยู่กับความพอใจ หากพูดจายั่วยุจนไม่เกิดความแตกแยกร้าวฉานก็ไม่เป็นไร มีหลายคนที่ออกมาพูดในเชิงสร้างสรรค์ เช่น อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ที่ระบุว่า ไม่อยากให้เสียเวลาเถียงกันเรื่องคำปรารภ แต่ขอให้เลือกพิจารณาในเนื้อหา
วิษณุ กล่าวว่า เรื่องการทำประชามติต้องมีการทำความเข้าใจให้กับประชาชน โดย กกต. เป็นเจ้าภาพในการดำเนินการ แต่ที่เป็นปัญหาคือ คนที่ไปจัดกันเองจะทำได้หรือไม่ ขึ้นอยู่ 2 อย่าง คือ พ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ และ ระเบียบว่าด้วยการออกเสียงประชามติ เป็นของใหม่ที่ กกต. มีอำนาจกำหนด คาดว่า จะส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจาณาในเดือน ก.ย. นี้ ระเบียบดังกล่าวจะมีข้อห้ามมากแค่ไหนยังไม่ทราบ แต่จากการหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่สนับสนุนให้มีการปลุกระดม ไม่ว่าจะให้ผ่านหรือไม่ผ่าน เพราะอาจเข้าข่ายผิดคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หากมีการส่งไลน์หรือเอสเอ็มเอสในลักษณะยั่วยุ ปลุกระดม ใช้คำพูดหยาบคาย รุนแรง ข่มขู่ ก้าวร้าว คำตอบคือทำไม่ได้ ผิดกฎหมาย เช่นเดียวกับคลิป ที่ส่งกันอย่างผิดกฎหมายถ้าจับได้ก็จับ แต่ หลักอยู่ที่ว่าอย่าเป็นการปลุกระดมยั่วยุ ให้เกิดความแตกแยกหรือไม่ ถ้าเป็นการแสดงความคิดเห็นธรรมดาคงไม่เป็นไร เช่นการร่วมรายการโทรทัศน์แสดงความเห็นนั้นสามารถทำได้
ชมเขียนดีกว่า รธน.40–50
สำหรับข้อดีข้อเสียของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เมื่อเปรียบเทียบกับฉบับก่อนๆ นายวิษณุ กล่าวว่า ดีกว่าฉบับปี 40 และ 50 อย่างน้อยเราก็ได้เรียนรู้คนที่ตบมือทีหลังดังกว่า รัฐธรรมนูญปี 40 และ 50 เขาก็เขียนไว้ดี แต่พอเกิดปัญหาเคลือบแคลงสงสัยว่าคำนี้แปลว่าอะไร เราก็พบว่ายุ่งยาก วันนี้เขามีบทเรียนก็ทำให้มันชัดขึ้น เวลานี้หากมีปัญหาก็ส่งศาลรัฐธรรมนูญช่วยชี้ขาด แต่ไม่ใช่ถึงขนาดว่าไม่รู้จะเลือกทำอย่างไรดีแล้วให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ อย่างนั้นไม่ใช่ มันเป็นการให้ศาลรัฐธรรมนูญปกครองประเทศ การจะถามนั้นไม่ใช่ประชาชนเพ่นพ่านไปถามเอง ต้องเป็นองค์กรหรือสภา คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นคนถาม ส่วนเรื่องรักษาการก็มีการแก้ไขให้แล้ว ถ้า ครม.ลาออกหมดก็ให้ปลัดกระทรวงรักษาการ เพราะคงไม่ยอมให้ คปป.มารักษาการแน่ ซึ่งเรื่องนี้ก็ดี
กกต. โยนรัฐบาล-คสช. พิจารณา
วันนี้(28 ส.ค.58)บุณยเกียรติ รักชาติเจริญ รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้งกล่าวถึงกรณีที่ วิษณุ ระบุว่า หากมีการส่ง ไลน์ หรือ เอสเอ็มเอส ในลักษณะยั่วยุ ปลุกระดม ใช้คำพูดหยาบคาย รุนแรง ข่มขู่ ก้าวร้าว ในการรณรงค์ร่างรัฐธรรมนูญทำไม่ได้ ผิดกฎหมาย ว่า ที่ประชุมไม่ได้มีการหารือในเรื่องดังกล่าว โดยเรื่องนี้เห็นว่าผู้มีอำนาจ คือ รัฐบาล และ คสช. ต้องไปพิจารณา ว่าจะทำอย่างไร โดยผู้มีอำนาจอาจจะเสนอแก้ไข พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2552 เพื่อเพิ่มความผิดดังกล่าวใน พ.ร.บ. ดังกล่าว หรืออาจจะมีการเสนอให้ออกเป็นกฎหมายพิเศษก็ได้
แจงหลักการประชามติเหมือนลต.
สำหรับหลักเกณฑ์ในการออกเสียงประชามติ บุณยเกียรติ กล่าวว่า จะมีลักษณะเหมือนการเลือกตั้งทั่วไป ส่วนการจัดสรรเวลาในการแสดงความเห็นของฝ่ายที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยผ่านโทรทัศน์และวิทยุ นั้น จะมีลักษณะคล้ายกรณีการนำเสนอนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ ก่อนเลือกตั้ง โดยจะให้ฝ่ายที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย ส่งตัวแทนมาอัดเทปแสดงความเห็นในเวลาเท่ากัน และเผยแพร่ในเวลาที่เท่าๆ กัน
อย่างไรก็ตาม เรื่องที่น่ากังวลสำหรับ กกต. ขณะนี้คือ การออกระเบียบ กกต. เกี่ยวกับการเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญ เพราะ กกต. ต้องเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญ และขณะเดียวกัน ก็ต้องวางตัวเป็นกลาง เพื่อไม่ให้เป็นการสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จึงทำให้เขียนกฎหมายได้ยาก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น