วันพฤหัสบดีที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2558

เสียงจากภรรยาช่างตัดเสื้อคดี 112 : เข้าคุก รอดคุก และเข้าคุกอีกครั้ง


ระหว่างรอผลคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดี 112 ที่สามีของเธอตกเป็นผู้ต้องหา ภรรยาเฉลียว ญาติมิตร และผู้สังเกตการณ์ทั้งหมดต่างต้องนั่งรออยู่หน้าห้องพิจารณาเนื่องจากศาลอ่านเป็นการลับ ผู้สื่อข่าว ‘ประชาไท’ ใช้เวลานี้พูดคุยกับภรรยาของเฉลียวถึงชีวิตที่ผ่านมา 1 ปีพอดีนับจากศาลชั้นต้นพิพากษา
(สำหรับผลคำพิพากษา ศาลอุทธรณ์ได้เพิ่มโทษโดยแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ลงโทษจำคุก 3 ปีและให้รอการลงโทษ เป็น ลงโทษจำคุก 5 ปีรับสารภาพลดกึ่งหนึ่ง เหลือ 2 ปี 6 เดือน โดยไม่รอการลงโทษ (ไม่รอลงอาญา)  อ่านรายละเอียด)
นี่นับเป็นครั้งที่ 2 ของการฟังคำพิพากษาที่ “ลับเฉพาะ” สำหรับจำเลยและทนายเท่านั้น เพราะตอนที่เขาถูกขังอยู่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เมื่อครบฝากขังเจ้าหน้าที่นำตัวเขามาศาล เขารับสารภาพและเข้าฟังคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ห้องเวรชี้ ใต้ถุนศาลอาญา ซึ่งบุคคลอื่นไม่สามารถเข้าไปได้
ภรรยาของเฉลียวเล่าให้ฟังว่า หลังจากสามีวัย 56 ปีได้รับการปล่อยตัวเพราะศาลชั้นต้นให้รอลงอาญาเมื่อ 1 ก.ย.57 เขาก็ไปบวช 3 เดือนที่วัดแห่งหนึ่ง จากนั้นจึงกลับไปทำร้านตัดเสื้อที่ย่านบางพลัดเหมือนเดิม แต่กิจการดำเนินไปอย่างไม่ค่อยดีนัก เพราะในช่วงที่เฉลียวติดคุก คนทำงานในร้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นญาติพี่น้องกันต่างก็แยกย้ายกลับไปประกอบอาชีพยังภูมิลำเนา ประกอบกับเฉลียวเองก็ยังคงเป็นกังวลตลอดเวลาหลังทราบว่าอัยการอุทธรณ์คดี ทำให้เขาไม่สามารถทำงานได้เต็มที่นัก เธอบอกว่า พวกเขาวางแผนกันไว้ว่า หากเฉลียวรอดพ้นจากคดีนี้ได้จะไปเปิดร้านค้าเล็กๆ แทน
เธอเล่าด้วยว่า ตอนนี้สามีของเธอเปลี่ยนไปหลายอย่าง ในทางความคิด ดูเหมือนเขาไม่ได้สนใจการเมืองแล้ว เพราะหันไปเข้าวัดฟังธรรม แต่ยังคงใช้วิชาคอมพิวเตอร์ที่เรียนด้วยตัวเองอัพโหลดคลิปธรรมะขึ้นยูทูบ
ในทางกายภาพ ภรรยาเล่าว่า เฉลียวผ่ายผอมลงไปมาก แต่ก็พยายามรักษาสุขภาพให้ดีที่สุดและโชคดีที่เขาไม่มีโรคประจำตัว เพราะจากประสบการณ์ในเรือนจำหลายเดือนทำให้รู้ว่าการเจ็บป่วยในเรือนจำเป็นเรื่องลำบากมาก เนื่องจากมีปัญหาการเข้าถึงการรักษาพยาบาล
เมื่อถามว่า กลัวหรือไม่และเฉลียวเคยคิดหนีไหม เธอตอบว่า เฉลียวไม่คิดที่จะหนี เพราะหากหนีก็คงต้องหนีตลอดชีวิต

ประสบการณ์พูดคุยกับ ‘เฉลียว’ ขณะถูกคุมขังในชั้นสอบสวน เมื่อปี 2557

(ส่วนหนึ่งในบทความของวิจักขณ์ พานิช http://www.prachatai.com/journal/2014/06/54149)
เฉลียวเป็นชายร่างเล็กผิวคล้ำ เขาปรากฏตัวในชุดนักโทษสีน้ำตาล สภาพห้องเยี่ยมที่เราเข้าไปนั้นไม่ค่อยสมบูรณ์เท่าไหร่ โทรศัพท์ที่ใช้สื่อสารระหว่างภายในกับภายนอกไม่ทำงาน ทำให้ต่างฝ่ายต่างต้องคอยย่อตัวเก้ๆ กังๆ ตะโกนผ่านช่องเล็กๆ ย้ำคำถามคำตอบกันไปมาแบบไม่สะดวกนัก
เฉลียวประกอบอาชีพเป็นช่างตัดสูท ตัดกางเกง แถวสะพานซังฮี้ เป็นประชาชนที่มีความสนใจการเมือง เขาชอบฟังรายการวิทยุของดีเจเสื้อแดงคนหนึ่ง ซึ่งดูจะมีเนื้อหาวิเคราะห์การเมืองที่ค่อนข้างล่อแหลมตรงไปตรงมา เขาชื่นชอบจนถึงกับโหลดคลิปรายการเหล่านั้นมาเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ ทั้งยังอัพโหลดขึ้น 4shared ให้ใครที่สนใจสามารถโหลดเอาไปฟังก็ได้ เมื่อถามว่าดีเจ…เป็นใคร เอาคลิปมาจากไหน เฉลียวตอบว่า "หาไม่ยากเลยครับ ใน google ก็มี"
หลังจากถูกคสช. เรียกรายงานตัว เฉลียวถูกสอบสวนอย่างหนัก เพราะถูกตั้งข้อสงสัยว่าตัวเขานั่นแหละคือดีเจเสื้อแดงคนนั้น
…เฉลียวยืนยันว่าเป็นแค่แฟนที่ติดตามรายการ แต่แล้วเขาก็ถูกตั้งข้อหา ทำผิดกฎหมายอาญามาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
เฉลียวดูเป็นชาวบ้านซื่อๆ ธรรมดาผู้ยอมรับชะตากรรมของตัวเอง เขาตัดสินใจรับสารภาพตั้งแต่ในชั้นสอบสวน ตอนนี้รอขึ้นศาล ฟังคำตัดสิน และเตรียมยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ ตามลำดับ
"ผมแค่สนใจการเมืองเท่านั้นเอง ผมรับสารภาพเรื่อง upload คลิปบนอินเตอร์เน็ต แต่โทษที่ได้รับมันรุนแรงเกินไป …ตอนนี้ก็ทำใจแล้วว่าคงต้องอยู่ในนี้ไปอีกพักใหญ่"

ไทม์ไลน์คดี

1 มิ.ย.2557 ปรากฏรายชื่อของเฉลียว และบุคคลอื่นๆ อีกหลายคน ในคำสั่งเรียกรายงานตัวของ คสช. ที่ 44/2557
3 มิ.ย.2557 เฉลียวเดินทางไปรายงารตัวที่หอประชุมทหารบก เทเวศวร์ เขาถูกคุมตัว 7 วัน มีรายงานว่าเฉลียวถูกสอบสวนถึง 3 รอบ รวมทั้งสอบสวนผ่านเครื่องจับเท็จอีก 2 รอบด้วยกัน ในขณะที่ผู้ถูกเรียกเข้ารายงานตัวคนอื่นๆถูกสอบสวนเพียง 1 รอบเท่านั้น
10 มิ.ย.2557 เฉลียวถูกแจ้งข้อกล่าวหาความผิดตามมาตรา 112 จากกรณีอัพโหลดคลิป ‘บรรพต’ ขึ้น 4shareจำนวนมาก เขารับสารภาพ ตำรวจขออำนาจศาลฝากขัง 7 ผัด (84 วัน) เขาถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ
1 ก.ย.2557 เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์นำตัวเฉลียวมาศาล ศาลอ่านคำพิพากษาที่ห้องเวรชี้ ลงโทษจำคุก 3 ปี รับสารภาพลดกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 1 ปี 6 เดือนและให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี
3 ก.ย.2558 ศาลอุทธรณ์แก้คำพิพากษา เป็น ลงโทษจำคุก 5 ปี รับสารภาพลดกึ่งหนึ่ง เหลือ 2 ปี 6 เดือนและไม่รอการลงโทษ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น