วันจันทร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2558

ส่องค่ายเด็ก ป.4-ม.3 เรียนรู้ชุมชน หลังพี่ทหารพยายามสกัด อ้างไม่สบายใจ

ค่าย เยาวชนฮักบ้านเจ้าของ ตอน นักสืบลำน้ำฮวยแท้ๆแน๊ว ภาพจากเพจคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม มอส. 

ผ่านไปแล้วสำหรับค่ายเด็กและเยาวชน ภายใต้ชื่อ “เยาวชนฮักบ้านเจ้าของ ตอน นักสืบลำน้ำฮวยแท้ๆแน๊ว"” ซึ่งเป็นกิจกรรมในโครงการพัฒนาคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 28-30 ส.ค. ที่ผ่านมา โดยเป็นค่ายที่มีผู้ร่วมกิจกรรมเป็นเด็กและเยาวชนในพื้นที่ 6 หมู่บ้าน ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย อายุระหว่าง 10-15 ปี หรือ ป.4 ถึง ม.3 และมีพี่เลี้ยงค่าวที่อายุ 15 ปีขึ้นไป เป็นนักเรียน ม.ปลาย ส่วนเครือข่ายคนรุ่นใหม่ฯ เป็นผู้ช่วยกระบวนการและทักษะวิธีการเรียนรู้ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เด็กและเยาวชนในพื้นที่ได้เรียนรู้วิถีชีวิต  ภูมิปัญญา ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในชุมชนที่ตนเองอยู่
แน่นอนก่อนหน้าที่ค่ายเด็กและเยาวชนนี้จะได้เริ่มก็ปรากฏเป็นข่าวเนื่องจาก ตั้งแต่ปลาย มิ.ย.ที่ผ่านมา ทหารค่ายศรีสองรัก ซึ่งเป็นทหารในพื้นที่อ้างไม่สบายใจ เกรงจะเป็นปลุกปั่นเยาวชนต่อต้านอำนาจรัฐ และพยายามเชื่อมโยงกับ 7 ดาวดิน ได้สั่งห้ามจัดค่ายดังกล่าวไป (อ่านรายละเอียด) ทำให้ค่ายดังกล่าวต้องเลื่อนมาจัดช่วงปลาย ส.ค.ดังกล่าว แต่ก็ถูกพยายามสกัดจากเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่โดยให้ขออนุญาตก่อนที่จะจัด พร้อมทั้งมีมาตรการกดดันจนทำให้ต้องย้ายสถานที่จัดและสร้างความกังวลให้กับผู้ปกครองเด็กที่สมัครเข้าร่วมค่ายจนต้องถอนตัวไปหลายราย (อ่านรายละเอียด)
สันทนาการ-เกมส์
ในโอกาสนี้ ประชาไท จึงได้สัมภาษณ์ วศินี บุญที หนึ่งในทีมค่ายเยาวชนฮักบ้านเจ้าของ และเครือข่ายคนรุ่นใหม่ฯ เพื่อสอบถามถึงรายละเอียดของการจัดค่ายดังกล่าวเพิ่มเติม ว่า กระบวนการค่ายที่จัดเรียนรู้ชุมชนของเด็กที่มาร่วมค่ายประมาณ 40 กว่าคน พี่เลี้ยงประมาณ 4 คน และทีมคนรุ่นใหม่อีกประมาณ 10 คน เป็นกระบวนการที่ต้องทำกับเด็ก ไม่มีอะไรซับซ้อน โดยวันแรก มีกิจกรรมสันทนาการ เล่นเกมส์ ทำความรู้จักกัน เป็นหลัก
กิจกรรมสันทนาการ-เกมส์
นักสืบสายน้ำ สายดิน สายลม เรียนรู้สิ่งแวดล้อมรอบตัว
ขณะที่ช่วงบ่ายวันแรก วศินี เล่าว่าจะเป็นกิจกรรมฐานเรียนสิ่งแวดล้อม มี ฐานดิน ฐานน้ำ ฐานอากาศ ฐานลม เป็นต้นสำหรับฐานดินก็จะเรียนรู้สังเกต ดูสี ดูชนิดของดินง่ายๆ เป็นการออกแบบมาเพื่อเรียนรู้สิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวเขา ฐานลม นักสืบสายลมก็จะดูไลเคน ที่เป็นตัวชี้วัดอากาศ ที่เป็นวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐาน ทำให้สามารถได้เรียนรู้ธรรมชาติ

 

ส่วน ฐานนักสืบสายน้ำ จะสำรวจลำน้ำฮวยที่อยู่บริเวณนั้น ซึ่งไหลผ่าน 6 หมู่บ้าน และผ่านเหมืองแร่ทองคำด้วย เนื่องจากมีต้นน้ำมาจากภูเขา โดยเด็กๆ สวบบทบาทเป็นนักสืบสายน้ำจะไปตักน้ำมาส่องว่าในน้ำมีอะไร มีสัตว์อะไรอยู่บ้าง และดูว่ามันบ่งชี้วัดคุณภาพน้ำอะไรได้บ้าง
วศินี กล่าวเสริมถึงฐานนักสืบสายน้ำว่า แม้ฐานนี้จะถูกโหวตว่าเป็นที่ชื่นชอมของเด็กที่เข้าร่วมค่าย แต่ก็ไม่มีการลงไปเล่นในน้ำ ขนาดให้ตักน้ำมาเด็กๆ ก็ไม่กล้าตัก เพราะกลัวและไม่ใช้น้ำที่นั่น เนื่องจากมีสารโลหะหนักในน้ำ โดยมีประกาศของสาธารณะสุขเอง
เรียนรู้วิถีชีวิตชุมชน ทำแผนที่ชุมชน รู้บ้านตัวเอง
ส่วนวันที่สองนั้น วศินี เล่าว่าจะเป็นกระบวนการเรียนรู้ชุมชน เรียนรู้วิถีชุมชน ก็จะเป็นเรื่องการลงไปชุมชน ให้น้องๆ แบ่งกลุ่มกันแล้วไปหาว่าในชุมชนมีศิลปวัฒนธรรมอะไรบ้าง ชาวบ้านทำอาชีพอะไร ในชุมชนมีทรัพยากรสิ่งแวดล้อมอะไรบ้าง ภูเขา แม่น้ำ ลำธาร เหมือนรู้จักตัวเอง แล้วก็มีการทำแผนที่ชุมชน เพื่อที่จะให้เขารู้ว่าหมู่บ้านเขานั้นมีอะไรบ้าง
โดยรู้แบบ วศินี อธิบาย ว่า จะเดินแยกย้ายกัน 5 หมู่บ้าน จะไปเจอพ่อๆ แม่ๆ ที่เขาทำทอผ้าไหม ทอผ้าฝ้ายก็มี รวมทั้งทอด้ายเพื่อเอามาทำเป็นถุงย่ามก็มี นอกจากนี้ยังมีการทำความเข้าใจประวัติชุมชนว่าทำไมหมู่บ้านนี้ถึงชื่อนี้ รู้จักและทราบที่มาของชื่อลำธาร ชื่อภูเขา ก็จะมีการบอกเล่าที่มาตำนานของแต่ละชื่อ
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการดูหนังการ์ตูนโทโทโร่เพื่อนรัก(My Neighbor Totoro) ซึ่งพูดถึงสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตามทางเครือข่ายคนรุ่นใหม่ ก็จะมีค่ายเยาวชนในพื้นที่ดังกล่าวอีก ส่วนรายละเอียดนั้นยังไม่ได้มีการกำหนดกัน เนื้อหาก็จะลึกขึ้น ยากขึ้น
ภาพเด็กๆ ร่วมดูการ์ตูน โทโทโร่เพื่อนรัก 
คุกคามมากกว่าอุ่นใจ ทหารนอกเครื่องแบบมาถ่ายรูป
วศินี เล่าว่า หลังจากที่เจ้าหน้าที่ทหารพยายามสกัดก่อนทำค่ายนั้น พอลงไปทำกิจกรรมก็ไม่มีอะไร แต่วันสุดท้ายของค่าย(30 ส.ค.58) ซึ่งมีการลงพื้นที่โดยแบ่งน้องเป็นกลุ่มๆ ลงไปแต่ละชุมชน เพื่อเรียนรู้ชุมชนเรียนรู้ภูมิปัญญาและทรัพยากรสิ่งแวดล้อมต่างๆ ของชุมนุม โดยระหว่างทางที่เดินก็มีรถกระบะขับมาโดยมีเจ้าหน้าที่ทหารนอกเครื่องแบบถ่ายภาพเด็ก พี่เลี้ยงและทีมงานค่ายด้วย และสอบถามกับชาวบ้านก็ยืนยันว่าเป็นทหารชุดที่อยู่ที่ผาหนุ่มผาสาวใกล้พื้นที่ จากนั้นเมื่อกลับมาที่วัด ชาวบ้านก็แจ้งว่ามีทหารมาคุยกับเจ้าอาวาสที่วัด พร้อมทั้งพยายามเดินเข้าไปศาลาที่ทำค่ายอยู่ แต่มีชาวบ้านคอยขวางไม่ให้เข้าจึงไม่สามารถเข้ามายังศาลาได้
การที่เจ้าหน้าที่มาถ่ายรูปและพยายามมาดูค่ายในวัดนั้น สังคมบางส่วนอาจมองว่าเป็นการสร้างความอุ่นใจที่มีฝ่ายความมั่นคงมาดูแล แต่สำหรับ วศินี มองว่า ความจริงแล้วพื้นที่ไม่ได้มีความรุนแรงอะไร ถ้าเขารู้การข่าวมีประสิทธิภาพว่าจะเกิดความรุนแรง หากเขารู้ขนาดนั้นก็ควรที่จะจัดการกับคนที่จะใช้ความรุนแรง ไม่ใช่มาทำแบบนี้กับพวกเรา หรือเข้ามาคุยกันตรงๆ กับเราก็ได้ ไม่ใช่มาแบบนอกเครื่องอย่างนี้
“แค่จัดค่ายมันจะมีความรุนแรงอะไร” วศินี ตั้งคำถาม
จากเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่พยามเข้ามาแทรกแซงการทำกิจกรรมที่เกิดขึ้นนี้ วศินี บอกว่า รู้สึกว่ามันตลก ไม่รู้ว่าเขาจะกลัวเรามาทำไม ไม่เข้าใจว่ากลัวทำไม ทำไมต้องกลัว
ภาพเด็กนำเสนอแผนที่ชุมชนที่กลุ่มพวกเขาไปทำในค่าย
ยันชี้แจงชัดเจนตั้งแต่ ปลาย มิ.ย. ไม่เข้าใจค่ายเด็กต้องขออนุญาต
วศินี ยืนยันว่าครั้งแรกเมื่อปลาย มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่โดนเลื่อนจัดได้ ก็ลงไปและมีการคุยกันที่โรงเรียนบ้านห้วยผุก ที่มีทั้ง ผอ.โรงเรียน ผู้ใหญ่บ้าน สันติบาล ทหาร ก็มีการคุยและแจ้งชัดแล้วว่าเรามาทำอะไร จะมีเนื้อหาอะไรบ้าง
“เราไม่เข้าใจว่าทำไมการจัดค่ายเยาวชนต้องขออนุญาตฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายปกครอง” วศินี กล่าว
วศินี ตั้งคำถามกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ว่า มันมากเกินไปหรือไม่กับแค่ค่ายเยาวชนที่ก็ทำกันมานานแล้ว มีการทำค่ายในลักษณะนี้เพื่อให้เยาวชนได้เรียนรู้ชุมชนอยู่หลายพื้นที่เป็นปกติอยู่แล้ว ทำไมตอนนั้นไม่ต้องขออนุญาต แต่ตอนนี้กลับต้องขออนุญาต
“ขนาดไหนที่เรียกเป็นภัยต่อความมั่นคง” วศินี ตั้งคำถามทิ้งท้าย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น