สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและองค์กรภาคประชาสังคมจัด เผยทำรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนภายใต้กลไกล UPR เสนอต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เน้นปมคุกคามนักปกป้องสิทธิฯในไทย
23 ก.ย.2558 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) ว่า เมื่อวันที่ 21 ก.ย. ที่ผ่านมา องค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นองค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งในและระหว่างประเทศที่ติดตามสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ได้จัดทำรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ภายใต้กลไก UPR (Universal Periodical Review) เสนอต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council) เพื่อจัดเตรียมข้อมูลการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา โดยรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของภาคประชาสังคมที่ได้เสนอไปนั้น ครอบคลุมประเด็นเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในด้านต่างๆ ได้แก่ สิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม สิทธิในที่ดินและพื้นที่ป่าไม้ สิทธิของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ สิทธิเด็ก สิทธิแรงงาน ปัญหาการบังคับให้บุคคลสูญหาย การป้องกันการทรมานและการเยียวยาผู้เสียหาย การรายงานสถานการณ์ในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ การพิจารณาคดีพลเรือนภายใต้ระบบศาลทหาร สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการชุมนุมสาธารณะ เป็นต้น
การนำเสนอรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในครั้งนี้ได้เสนอผ่านทางเว็ปไซต์ http://uprdoc.ohchr.org ของสำนักข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ โดยการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทยตามกลไก UPR ได้เคยมีการทบทวนภายใต้กลไกดังกล่าวมาแล้วหนึ่งครั้ง เมื่อพ.ศ. 2553 ซึ่งในครั้งนั้นมีประเทศต่างๆกว่า 193 ประเทศเข้าสู่กระบวนการทบทวนภายใต้กลไกดังกล่าวเช่นกัน และจะเสนอต่อที่ประชุมตามกระบวนการ UPR อีกครั้ง ในการประชุมครั้งที่ 25 ระหว่างเดือนเมษายน-เดือนพฤษภาคม 2559 ณ นครเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่http://www.ohchr.org/EN/HRBodies/UPR/Pages/UPRMain.aspx
สำหรับการทบทวนสถานการณ์สิทธิภายใต้กลไก UPR (Universal Periodical Review) เป็นกระบวนการทบทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council) ซึ่งจะจัดขึ้นที่ นครเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ โดยประเทศสมาชิกของสภาสิทธิมนุษยชน (HRC) รวมถึงสำนักข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) จะร่วมกันจัดเวทีการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนดังกล่าวของประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ โดยวัตถุประสงค์ของกลไกดังกล่าว เพื่อส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศสมาชิกผ่านการประสานความร่วมมือของหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชน โดยการจัดทำรายงานจะมีการนำเสนอรายงานส่วนภาครัฐจำนวน 20 หน้า รายงานจากหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติ จำนวน 10 หน้า และรายงานที่ได้รวบรวมจากองค์กรเอกชนต่างๆ โดยทางสำนักข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติจะรวบรวมทั้งหมดเป็นจำนวน 10 หน้า ซึ่งหลักเกณฑ์ในการพิจารณาทางสภาสิทธิมนุษยชน (HRC) และสำนักเลขาของ UPR จะใช้หลักเกณฑ์การพิจารณาตามหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศทุกฉบับตามที่ประเทศสมาชิกนั้นได้เข้าเป็นภาคีในกฎหมายฉบับดังกล่าว รวมถึงส่วนที่ไม่มีข้อผูกพันตามกฎหมายด้วย
ในครั้งนี้ สนส. ในฐานะองค์กรภาคประชาสังคมที่ติดตามและให้การช่วยเหลือแก่ผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ได้จัดทำรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทยในประเด็นสิทธิมนุษยชน กรณีข้อจำกัดในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทยของนักปกป้องเพื่อสิทธิมนุษยชนจากการคุกคามและการละเมิดสิทธิมนุษยชน ในรายงานฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อรายงานสถานการณ์การคุกคาม และการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยมุ่งเน้นไปที่ปัญหาในเชิงระบบที่ก่อให้เกิดอุปสรรค สร้างความลำบาก และละเลยต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมแก่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ถูกคุกคามและละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ซึ่งปัญหาดังกล่าวได้จากข้อมูลรายงานการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายและคดีของสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น