วันศุกร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ฟรีดอมเฮาส์ 2015 เผยรายงานเสรีภาพเน็ต-ไทยคะแนนแย่-ยังอยู่โซน 'ไม่เสรี'


ฟรีดอมเฮาส์เปิดรายงานล่าสุด ชี้เสรีภาพอินเทอร์เน็ตทั่วโลกแย่ลงรวมถึงมีการเปลี่ยนวิธีการจำกัดเสรีภาพจากการปิดกั้นธรรมดามาเป็นการบีบบังคับให้นำเนื้อหาออก ด้านประเทศไทยได้คะแนนแย่ลงกว่าปีที่แล้วและยังอยู่ในระดับ 'ไม่เสรี' จากกรณีกฎหมายหมิ่นฯ และการคุกคามผู้เห็นต่างหลังรัฐประหาร
29 ต.ค. 2558 ฟรีดอมส์เฮาส์ซึ่งเป็นองค์กรภาคเอกชนทำวิจัยด้านประชาธิปไตยและเสรีภาพทางการเมือง เผยแพร่รายงานเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตประจำปี 2558 หรือ "Freedom on the net 2015" ระบุว่าทั่วโลกมีการเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ตมากขึ้น รวมถึงมีการข่มขู่คุกคาม การสอดแนม การบีบบังคับให้บริษัทหรือประชาชนนำเนื้อหาออกจากเว็บไม่อย่างนั้นจะมีการลงโทษ
รายงาน Freedom on the net 2015 ไทยยังคงถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศ "ไม่เสรี" โดยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีเพียงฟิลิปปินส์ที่อยู่ในกลุ่มประเทศ "เสรี" ขณะที่มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย กัมพูชา อยู่ในกลุ่มประเทศ "เสรีบางส่วน" ขณะที่พม่ายังอยู่ในกลุ่มประเทศ "ไม่เสรี" (ที่มา: freedomhouse)
ฟรีดอมส์เฮาส์ ระบุว่าจากการสำรวจ 65 ประเทศ โดยภาพรวมแล้วมีการสั่งลบเนื้อหาจากเว็บไซต์รวมถึงการจับกุมและข่มขู่คุกคามมากขึ้นทั้งในประเด็นที่เกี่ยวกับการเมือง ศาสนา หรือสังคม โดยเฉพาะในประเทศจีน ขณะที่ในประเทศโลกเสรีเองก็มีเรื่องของการพยายามสั่งห้ามเครื่องมือที่ปกป้องความเป็นส่วนตัวมากขึ้น
ในงานแถลงข่าวของฟรีดอมส์เฮาส์ แกดี เอปสไตน์ อดีตหัวหน้าสำนักงานแผนกจีนของนิตยสารดิอิโคโนมิสต์กล่าวว่าประเทศจีนมีความพยายามปิดกั้นสื่อมากขึ้นเช่นการบล็อคเว็บไซต์อย่างกูเกิล การจับกุมตัวนักกิจกรรมอินเทอร์เน็ตที่แสดงความคิดเห็นในหลายประเด็นรวมถึงการทุจริตคอร์รัปชัน
ทางด้านซานจา เคลลี ผู้อำนวยการโครงการ 'เสรีภาพบนอินเทอร์เน็ต' (Freedom on the Net) เปิดเผยว่ารัฐบาลหลายประเทศหันมาใช้วิธีการกดดันประชาชนหรือบริษัทภาคเอกชนมากขึ้นในการบังคับให้ลบหรือนำเนื้อหาออกแทนวิธีการบล็อคหรือการกรองเว็บแบบเดิม
ฟรีดอมส์เฮาส์ระบุอีกว่ามีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมากกว่าร้อยละ 61 อาศัยอยู่ในประเทศที่การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล กองทัพหรือครอบครัวที่ปกครองประเทศอยู่จะถูกปิดกั้นเนื้อหา และมากกว่าร้อยละ 58 ของประเทศเหล่านี้จะมีการจับกุมผู้เผยแพร่เนื้อหาทางอินเทอร์เน็ตที่เกี่ยวกับการเมือง สังคม และประเด็นศาสนา โดยประเด็นที่เสี่ยงต่อการถูกเซ็นเซอร์และถูกลงโทษมากที่สุดคือข่าวความขัดแย้ง ข่าวเรื่องการทุจริตของผู้นำระดับสูงของรัฐหรือหน่วยงานธุรกิจ เว็บไซต์ของกลุ่มต่อต้านรัฐบาล และเนื้อหาเชิงเสียดสีสังคม
จากการสำรวจนับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2557 จนถึงตอนนี้ฟรีดอมเฮาส์ระบุว่าประเทศที่มีเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตแย่ลงอย่างที่ต้องจับตามองคือลิเบีย, ฝรั่งเศส และยูเครนซึ่งกำลังมีความขัดแย้งด้านเขตแดนกับและสงครามโฆษณาชวนเชื่อกับรัสเซีย ส่วนประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเสรีภาพอินเทอร์เน็ตมากขึ้นคือศรีลังกาและแซมเบียที่มีการเปลี่ยนแปลงในระดับรัฐบาลเมื่อไม่นานมานี้ ส่วนในประเทศคิวบาประชาชนมีความสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในราคาที่จ่ายได้เพิ่มมากขึ้นหลังจากปรับสัมพันธ์ทางการทูตกับสหรัฐฯ แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังเข้าถึงอินเทอร์เน็ตไม่ได้

เสรีภาพอินเทอร์เน็ตประเทศไทยยังคงอยู่ในระดับ 'ไม่เสรี'
ในรายงานเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตเกี่ยวกับประเทศไทยฟรีดอมเฮาส์ยังคงจัดให้ประเทศไทยอยู่ในสถานะ "ไม่เสรี" (Not Free) เช่นเดียวกับปี 2557 โดยมีคะแนนแย่ลง 1 คะแนน จาก 62 เป็น 63 คะแนน (ใช้ระบบ คะแนนมากกว่าถือว่าแย่กว่า) ทำให้ไทยอยู่ในระดับแย่กว่าหลายประเทศในภูมิภาคเดียวกันอยางกัมพูชา (48 คะแนน) สิงคโปร์ (41 คะแนน) มาเลเซีย (43 คะแนน) ฟิลิปปินส์ (27 คะแนน) ในขณะที่มีคะแนนเท่ากับพม่า (63 คะแนน)
โดยฟรีดอมเฮาส์ระบุว่าทั้งในปี 2557 และ 2558 หลังเกิดการรัฐประหารประเทศไทยมีการพยายามจับกุมหรือปิดกั้นผู้ที่แสดงความคิดเห็นต่อต้านรัฐบาลเผด็จการรวมถึงมีการดำเนินคดีกรณีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในปี 2558 มีกรณีการใช้ศาลทหารตัดสินลงโทษคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์คือ 56 ปีและ 60 ปี ก่อนจะลดโทษเหลือ 28 และ 30 ปี เนื่องจากให้การรับสารภาพ
นอกจากนี้ฟรีดอมเฮาส์ยังระบุถึงกรณีการเรียกรายงานตัวประชาชนในค่ายทหารราว 400 คนโดยบีบให้เปิดเผยรหัสผ่านโซเชียลมีเดียเพื่อแลกกับการปล่อยตัว นอกจากนี้ยังวิจารณ์เรื่องการร่างกฎหมายของรัฐบาลที่เป็นไปเพื่อลิดรอนเสรีภาพสื่อในโลกออนไลน์และทำลายสิทธิความเป็นส่วนตัวของประชาชน
ถึงแม้ว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประชาชนไทยจะสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้มากขึ้นแต่หลังจากการรัฐประหารครั้งล่าสุดก็มีการประกาศแผนการ 'ซิงเกิล เกตเวย์' ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น 'อินเทอร์เน็ตดิจิตอลเกตเวย์แห่งชาติ' เพื่อควบคุมข้อมูลข่าวสารจากอินเทอร์เน็ตต่างประเทศ ขณะที่ในสภาพการณ์ความเป็นจริงประเทศไทยมีการใช้แบนด์วิดท์หรือปริมาณการรับส่งข้อมูลเพิ่มขึ้นในประเทศร้อยละ 132 และนอกประเทศร้อยละ 195
ในประเด็นเรื่องการปิดกันเนื้อหาทางอินเทอร์เน็ต ฟรีดอมเฮาส์ระบุว่าถึงแม้ประเทศไทยจะมีการปิดกั้นสื่อเว็บไซต์อย่างหนักอยู่แล้วแต่หลังเกิดการรัฐประหารก็มีกระบวนการปิดกั้นที่ง่ายขึ้นและเร็วขึ้น โดยยกตัวอย่างคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ (คสช.) ที่สั่งปิดกั้นและสอดส่องสื่อโดยอ้างว่าเพื่อความสงบเรียบร้อยและความมั่นคง มีกรณีการปิดกั้นเว็บไซต์ต่างๆ เช่น เดลีเมล หรือเว็บไซต์ในประเทศอย่างสำนักข่าวประชาธรรม รวมถึงเว็บไซต์ฮิวแมนไรท์วอทช์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน คณะนิติราษฎร์ และหน้าเว็บล็อกหรือโซเชียลมีเดียส่วนตัวที่มีเนื้อหาต่อต้านคณะรัฐประหาร หรือมีเนื้อหาวิจารณ์สถาบัน
ฟรีดอมส์เฮาส์ยังรายงานถึงเรื่องการพยายามควบคุมบงการสื่อและเนื้อหาของสื่อทำให้ไม่เกิดมุมมองที่หลากหลายทั้งการพยายามปิดกั้นสื่อ การว่ากล่าวตักเตือนและบีบให้นำเนื้อหาออกแม้กระทั่งกับกรณีวาสนา นาน่วม ที่ทำเสนอเรื่องราวของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หลังรัฐประหารแต่ถูก คสช. สั่งให้ขอโทษและนำบทความออกจากเว็บไซต์บางกอกโพสต์ นอกจากนี้ยังมีการเซ็นเซอร์ตัวเองเช่นกรณีการปลดผังรายการของภิญโญ ไตรสุริยธรรมา จากอมรินทร์ทีวี ในขณะที่ฝ่ายสนับสนุนเผด็จการทหารเองกลับใช้การโจมตีด้วยข้อมูลแบบจัดตั้งเตรียมการไว้ก่อนเพื่อคุกคามฝ่ายที่ต่อต้านเผด็จการทหาร
ในแง่กฎหมายคุ้มครองผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต ฟรีดอมเฮาส์ระบุว่า เดิมทีแล้วรัฐธรรมนูญปี 2550 ของไทยมีมาตราที่ระบุถึงการส่งเสริมเสรีภาพสื่อแบบกว้างๆ แต่รัฐธรรมนูญก็ถูกฉีกทิ้งหลังการรัฐประหารปี 2557 แล้วแทนที่ด้วยรัฐธรรมนูญชั่วคราวของคณะรัฐประหารเอง แต่ฝ่ายรัฐก็ยังคงใช้กฎหมายที่มีอยู่แต่เดิมอย่างกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ปี 2550 หรือพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
ฟรีดอมเฮาส์ระบุถึงการลิดรอนเสรีภาพด้วยการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและกฎหมายคอมพิวเตอร์ ในแง่การหมิ่นประมาทจำนวนมาก รวมถึง 'คดีพงศ์ศักดิ์' 'คดีเครือข่ายบรรพต' 'คดีเจ้าสาวหมาป่า' รวมถึง 'คดีสำนักข่าวภูเก็ตหวาน' ที่ตีพิมพ์บทความเปิดโปงเรื่องที่ทหารเรือไทยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงยา ฟรีดอมเฮาส์วิจารณ์อีกว่าเจ้าหน้าที่อัยการและผู้พิพากษาของไทยไม่มีความเข้าใจความแตกต่างของกฎหมายทั้ง 2 เลย รวมถึงเรื่องที่ไม่เข้าใจว่า "การนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นเท็จ" (false computer information) ที่ระบุใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หมายถึงอาชญากรรมในเชิงเทคนิคอย่างการแฮ็กข้อมูล ไม่ใช่การแสดงความคิดเห็นตามความคิดของตัวเองในโลกออนไลน์
นอกจากคณะรัฐประหารแล้ว ฟรีดอมเฮาส์ยังระบุว่ามีกลุ่มรอยัลลิสต์บางกลุ่มที่ทำการข่มขู่คุกคามประชาชนทั่วไปเช่น "องค์กรเก็บขยะแผ่นดิน" ที่ทำการล่าแม่มดไล่ฟ้องร้องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพผู้ใช้อินเทอร์เน็ตไปทั่ว และ "เครือข่ายเฝ้าระวัง พิทักษ์และปกป้องสถาบันฯ" ที่ทำการฟ้องร้องทอม ดันดี ในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ นอกจากนี้ยังมีการพยายามโจมตีโดยกลุ่มคนทางโซเชียลเน็ตเวิร์ก เช่นกรณีที่มีคนไปรุมคอมเมนต์ประณามเพจข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) หลังได้ข่าวว่า 'ตั้ง อาชีวะ' ได้ลี้ภัยทางการเมืองในนิวซีแลนด์

เรียบเรียงจาก
Privatizing Censorship, Eroding Privacy: Freedom on the Net 2015 New Findings Released, Freedom House, 27-10-2015 https://freedomhouse.org/article/privatizing-censorship-eroding-privacy-freedom-net-2015-new-findings-released
Freedom House: World Internet Freedom Keeps Eroding, Voice of America, 28-10-2015http://www.voanews.com/content/freedom-house-world-internet-freedom-keeps-eroding/3027570.html
รายงาน Freedom on the Net 2015 ของ Freedom House https://freedomhouse.org/report/freedom-net/freedom-net-2015
รายงาน Freedom on the Net 2014-2015 ของ Freedom House กรณีประเทศไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น