วันอังคารที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

มีผู้พบเห็นแสงอุกกาบาตพาดผ่านท้องฟ้าประเทศไทย - 2 พ.ย. 58


2 พ.ย. 2558 - เมื่อเวลา 20.38 น. คืนนี้ (2 พ.ย.) มีรายงานการพบเหตุอุกกาบาตขนาด "ลูกไฟ" โคจรผ่านท้องฟ้าประเทศไทย โดยในช่วงที่อุกกาบาตเปล่งแสง ปรากฏเป็นแสงสีเขียวสว่างไปทั่วท้องฟ้าเป็นระยะเวลาราว 1-2 วินาที
ภาพดาวตกที่มองเห็นจากกล้องบันทึกภาพของรถยนต์ เมื่อ 2 พ.ย. 2558 (ที่มา: Rama9 - 159/YouTube)

 

วิดีโอที่เผยแพร่ในเพจ YouLike โดยคุณ Moji Mayavi ขณะบันทึกเหตุการณ์ประเพณีรำพาข้าวสาร โดยในช่วงที่อุกกาบาตตกปรากฏเป็นแสงสว่างขึ้นมาในยามกลางคืน (ที่มา: YouLike)

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า อนึ่ง ในวิกิพีเดีย คำว่า อุกกาบาต (Meteor) หรือที่เรียกกันว่า "ดาวตก" (Shooting Star) หมายถึง การพุ่งเข้ามาในชั้นบรรยากาศโลกของ สะเก็ดดาว (Meteoroid) ละอองดาว (micrometeoroid) ดาวหาง (comet) หรือ ดาวเคราะห์น้อย (asteroid) โดยเกิดการเผาไหม้จากการเสียดสีกับอนุภาคของอากาศในชั้นบรรยากาศที่อยู่ระดับสูง และทำให้วัตถุที่เป็นองค์ประกอบของอุกกาบาตเกิดเปล่งแสง และเพียงพอที่จะทำให้เกิดแสงที่มองเห็นได้ โดยอุกกาบาตมักลุกไหม้ในชั้นบรรยากาศช่วงมีโซสเฟียร์ ตั้งแต่ความสูง 76 ถึง 100 กม.
โดยในแต่ละวันมีอุกกาบาตเป็นล้านชิ้นที่พุ่งเข้ามาในชั้นบรรยากาศของโลก แต่สะเก็ดดาวที่ทำให้เกิดอุกกาบาตมีขนาดประมาณเม็ดทรายเท่านั้น บางทีก็เกิดขึ้นในรูปแบบฝนดาวตก เมื่อโลกโคจรผ่านเศษละอองของดาวหาง
ทั้งนี้อุกกาบาตจะเริ่มมองเห็นได้ตั้งแต่ระยะ 75 ถึง 220 กม. จากพื้นผิวโลก และจะเริ่มแตกกระจายเมื่อตกลงมาถึงระยะ 50 ถึง 95 กม. โดยอุกกาบาตตกทั้งช่วงกลางวันและกลางคืน แต่ที่มองเห็นในตอนกลางคืนมากกว่าเป็นเพราะช่วงกลางคืน ความมืดทำให้วัตถุที่มีแสงสว่างน้อยปรากฏเห็นชัด โดยที่แสงที่เกิดจากการลุกไหม้เสียดสีกับอากาศของอุกกาบาตเกิดขึ้นกินเวลาไม่กี่วินาทีเท่านั้น
นอกจากนี้ยังมีปรากฏการณ์ "ลูกไฟ" (fireball) ซึ่งใช้เรียกอุกกาบาตที่มีความสว่างมากกว่าอุกกาบาตทั่วไป โดยสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล (IAU) นิยามว่า "ลูกไฟ" หมายถึงอุกกาบาตที่มีแสงสว่างบนท้องฟ้ากว่าดาวเคราะห์
ขณะที่หากอุกกาบาตแบบลูกไฟ มีความสว่างระดับเดียวกับพระจันทร์เต็มดวง ก็จะเรียกว่า "โบไลด์" (bolide) อย่างเช่น เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2556 มีอุกกาบาตเส้นผ่านศูนย์กลาง 20 เมตร มีมวลราว 12,000 เมตตริกตัน เคลื่อนผ่านท้องฟ้าเหนือเมืองเยกาเตรินเบิร์กและเทือกเขาอูราลในแคว้นเชลยาบินสก์ของรัสเซีย ก่อนเกิดการปะทุขึ้นและมีชิ้นส่วนตกลงในทะเลสาบเมืองเชบากูล สร้างเสียงดังและแรงสั่นสะเทือนทำให้กระจกอาคารแตก และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 1,491 คน และมีอาคารได้รับความเสียหายราว 7,200 แห่ง (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) (ข้อมูลในวิกิพีเดีย)
ทั้งนี้ในปี 2557 สมาคมอุกกาบาตอเมริกัน (American Meteor Society) บันทึกว่ามีผู้เห็นอุกกาบาตแบบ "ลูกไฟ" เกิดขึ้นกว่า 3,751 ครั้ง ขณะที่มีความเป็นไปได้ว่าปีหนึ่งๆ เกิดปรากฏการณ์ "ลูกไฟ" นับ 500,000 ครั้งในแต่ละปี แต่มักเกิดขึ้นโดยไม่มีการบันทึกเนื่องจากไปเกิดในบริเวณที่ไม่มีมนุษย์อาศัย รวมทั้งมหาสมุทร และอีกครึ่งหนึ่งก็ไปเกิดในช่วงกลางวัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น