วันศุกร์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ร้องกองปราบดำเนินคดีทูตสหรัฐฯ หลังวิจารณ์โทษที่หนักของ ม.112


จากกรณีเมื่อวันที่ 26 พ.ย. ที่ผ่านมา นายกลิน ที. เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย ได้แสดงความคิดเห็นต่อสถานการณ์ที่การดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพุ่งสูงขึ้น ภายใต้ปกครองของคณะรัฐประหาร ณ เวทีเสวนาที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศในกรุงเทพฯ โดยนายกลิน ที. เดวีส์ ย้ำว่ารัฐบาลสหรัฐฯ มีความเคารพอย่างยิ่งและรู้สึกชื่นชมพระมหากษัตริย์ไทย แต่ก็กล่าวถึงสิทธิการแสดงความคิดเห็นว่า “เราเชื่อว่าไม่ควรมีใครควรถูกจำคุกต่อการแสดงมุมมองอย่างสันติ และเราสนับสนุนอย่างหนักแน่นต่อความสามารถของบุคคลหรือองค์กรอิสระใดๆ ในการค้นคว้าวิจัยและรายงานประเด็นสำคัญๆ โดยปราศจากความกลัวว่าจะถูกแก้แค้น” (อ่านรายละเอียด)
ล่าสุด (3 ธ.ค.58) ASTV ผู้จัดการออนไลน์สยามรัฐ และกรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงานตรงกันว่า  ที่กองปราบปราม เมื่อเวลา 15.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสนธิยา สวัสดี ตัวแทนสมาพันธ์ตรวจสอบรัฐไทย (สปท.) เดินทางเข้าพบ พ.ต.อ.ณษ เศวตเลข รอง ผบก.ป. เพื่อยื่นหนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษต่อนายกลิน ทาวน์เซนด์ เดวีส์ เอกอัคราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย กรณีออกมาแสดงความคิดเห็นในเชิงวิจารณ์ถึงบทลงโทษจำคุกแก่ผู้หมิ่นประมาทสถาบันฯ ตามมาตรา 112 ในงานเสวนาสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 25 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยนายสนธิยานำเอาบทความที่นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง โพสต์ลงเฟซบุ๊กส่วนตัววิพากษ์วิจารณ์การกระทำของเอกอัคราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทยมาให้พนักงานสอบสวนไว้ใช้เป็นหลักฐานประกอบคำพิจารณา
ทั้งนี้ หนังสือดังกล่าวที่นายสนธิยานำมามอบให้ระบุว่า ต้องการให้พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามถอดเทปถ้อยคำที่นายกลินได้ปราศรัยภายในงานเสวนาดังกล่าว และตรวจสอบพฤติการณ์ของผู้จัดงานดังกล่าวว่ามีจุดประสงค์แอบแฝงหรือไม่ หากพบว่าเข้าข่ายหมิ่นประมาทมาตรา 112 ก็ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีต่อไป
เบื้องต้น พ.ต.อ.ณษได้รับเรื่องดังกล่าวไว้ก่อนสั่งการให้พนักงานสอบสวน กก.1บก.ป.เร่งดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมกับนำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อผู้บังคับบัญชาพิจารณาสั่งการต่อไป
อภิสิทธิ์ เสียดายทูตสหรัฐฯยังติดกรอบความคิดตะวันตก หวังกลับไปทบทวนเข้าใจความละเอียดอ่อน
มติชนออนไลน์ รายงานด้วยว่า วันเดียวกัน (3 ธ.ค.58) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่นายกลิน ที. เดวีส์ ที่แสดงความกังวลเกี่ยวกับมาตรา 112 ว่า  ตนเสียดาย เพราะตอนที่นายกลิน เดวีส์ มารับตำแหน่งใหม่ๆ ดูเหมือนทุกอย่างจะราบรื่น ดีขึ้นจากสภาพความรู้สึกที่เคยมีปัญหาในบางส่วนกันมาก่อน ซึ่งคำตอบหรือการนำเสนอของเอกอัครราชทูตตนมองว่าไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะในกรอบความคิดของตะวันตกยังมีการพูดแบบนี้อยู่มาก เพียงแต่เสียดาย เพราะบุคคลที่มาดำรงตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูต น่าจะต้องทราบดีอยู่แล้วว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน  โดยเฉพาะพูดในเชิงนามธรรม หรือการนำข้อเท็จจริงบางจุดยกขึ้นมาพูด จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เพราะเอกอัครราชทูตมีสถานะการทำงานในการกระชับหรือเชื่อมความสัมพันธ์ให้ดี ไม่ใช่ไปหยิบเอาประเด็นที่เป็นข้อขัดแย้งขึ้นมา
นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ตนหวังว่านายกลิน เดวีส์ จะไปทบทวนและไปศึกษาดูให้ดีว่าเรื่องนี้มีปัญหาอย่างไร อย่าสรุปแบบที่ออกมาพูด เพราะอาจจะสุ่มเสี่ยงต่อการที่จะตกเป็นเหยื่อในประเด็นทางการเมือง  อย่างไรก็ตาม มุมมองเรื่องกระบวนการยุติธรรมหรือกฎหมายนั้น ก็ต้องระมัดระวัง ต้องศึกษากันให้ดี แต่ถ้าหากเป็นห่วงเป็นใยกันจริงๆ ก็มาปรึกษาหารือกันภายในในฐานะทูตฯได้ ซึ่งในวันที่ 9 ธันวาคม นายกลิน เดวีส์ ก็จะเดินทางมาพบตนโดยจะมีการพูดคุยกันในเรื่องนี้ด้วย เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันให้ความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศเป็นไปด้วยดีอะไรที่เป็นประโยชน์ต้องร่วมกันผลักดัน ส่วนอะไรที่อาจเข้าใจไม่ตรงกันก็ต้องพยายามทำความเข้าใจโดยอยู่พื้นฐานของการเคารพซึ่งกันและกัน
พิภพ ชี้ รธน.ชั่วคราว คสช. เองก็รับรองสิทธิตามพันธกรณีระหว่างประเทศ สอดคล้องกับทูตสหรัฐฯพูด
พิภพ อุดมอิทธิพงศ์ นักแปล โพสต่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ‘Pipob Udomittipong’ ในลักษณะสาธารณะ ว่า กรณีที่ เดวีส์พูดว่าไม่ควรมีใครติดคุกเนื่องจากการแสดงความเห็นอย่างสงบ นั้นสอดคล้องกับปฏิญญาสากล กติกาสากลระหว่างประเทศ UDHR, ICCPR ซึ่งเรียกว่า “right to freedom of expression” การใช้เสรีภาพในการแสดงความเห็น มีที่ไหนบอกให้ติดคุก ไปอ่านรัฐธรรมนูญอเมริกาเลย มันเป็นสิทธิใน First Amendment เลย เขาด่าประธานาธิบดีเขาทุกวัน มีใครติดคุก พร้อมอธิบายว่ากรณีนาย Johnny Logan Spencer ที่มีการเผยแพร่อยู่ในโซเชียลเน็ตเวิร์กนั้นที่ติดคุกเพราะขู่ฆ่าโอบามา
พิภพ ยังกล่าวด้วยว่า รัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ คสช. ร่างขึ้นมาใช้ตอนนี้ ก็รับรอง “สิทธิ เสรีภาพ...ตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว” ส่วนที่เขาวิจารณ์ว่าโทษจำคุกของกฎหมายหมิ่นเบื้องสูงของเรา “มันยาวและรุนแรงแบบไม่เคยเป็นมาก่อน” “lengthy and unprecedented”
พิภพ กล่าวว่า สรุปแล้วที่ทูตสหรัฐฯ เขาพูด ถูกต้องตามหลักกติกาสากลและกฎหมายในประเทศตัวเอง แถมยังถูกต้องตามข้อเท็จจริงอีก
พัฒนาการการเพิ่มโทษของ ม.112
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การเพิ่มโทษในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นี้ ถูกแก้ไขหลังเหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันที่ 6 ต.ค. 2519 จากนั้นมีการรัฐประหารและต่อมาได้ออกคำสั่งให้แก้ไขประมวลกฎหมายดังกล่าวเป็นเพื่อเพิ่มโทษและมีการกำหนดโทษขั้นต่ำดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ว่า “มาตรา 112 ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี”
โดยที่ก่อนหน้านั้นมีโทษที่ต่ำกว่าที่เป็นอยู่ ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีพระราชกำหนดลักษณะหมิ่นประมาทด้วยการพูดหรือเขียนถ้อยคำเท็จออกโฆษณาการ รศ. 118 มาตรา 4 ซึ่งระบุโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับเป็นเงินไม่เกิน 1,500 บาท หรือทั้งจำและปรับ ต่อมาได้มีการจัดทำประมวลกฎหมายอาญาขึ้น ชื่อ "กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127" มาตรา 98 ระบุโทษไม่เกิน 7 ปี (ไม่มีอัตราโทษขั้นต่ำ) และปรับไม่เกิน 5,000 บาทด้วย หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในปี 2500 ได้จัดทำประมวลกฎหมายขึ้นใหม่ ชื่อ "ประมวลกฎหมายอาญา" ในมาตรา 112 กำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี (ไม่มีโทษปรับ) และล่าสุดที่มีการแก้ภายหลังเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 จนกระทั่งมีการกำหนดโทษขั้นต่ำและเพิ่มโทษดังที่เป็นอยู่
ล่าสุดมีผู้ถูกดำเนินคดีจากการโพสต์ในเฟซบุ๊กและถูกตัดสินว่ามีเนื้อหาที่ผิดตามกฎหมายมาตรานี้ ถูกตัดสินจำคุก 60 ปี (6 กรรม, สารภาพลดโทษเหลือ 30 ปี อ่านรายละเอียด) และ คุก 56 ปี (7 กรรม, สารภาพลดโทษเหลือ 28 ปี อ่านรายละเอียด)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น