วันอังคารที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2558

รายงาน: ชีวิตนักดนตรีหนุ่มชาวอุบล ก่อน-หลังจองจำ 30 ปีคดี 112


<--break- />
‘โอ๋’ เป็นชายหนุ่มวัยสามสิบเศษ เขาอยู่ในเรือนจำจังหวัดอุบลราชธานีตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีที่แล้ว หลังรัฐประหารไม่นาน รวมเวลาถึงตอนนี้ก็ราว 1 ปีครึ่ง คดีของเขาเกิดขึ้นเงียบๆ จบลงเงียบๆ และชีวิตในเรือนจำของเขาก็ดำเนินไปอย่างเงียบเชียบ
โทษของเขา คือ จำคุก 30 ปี แต่ได้รับการลดโทษลงครึ่งหนึ่งเหลือ 15 ปีเพราะรับสารภาพ
ข้อกล่าวหาคือ การโพสต์เฟซบุ๊ก 9 ข้อความหรือ 9 กรรมที่เข้าข่ายดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายสถาบันกษัตริย์
ต้องหมายเหตุไว้ด้วยว่า คดีนี้ถูกฟ้องทั้งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112   และตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ศาลลงโทษจำเลยทั้งสองส่วน จากที่โดยปกติคดีลักษณะเดียวกัน ศาลจะลงโทษเฉพาะมาตรา 112 ซึ่งเป็นโทษที่หนักกว่า โดยเป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90

โอ๋ ชายหนุ่มผู้รักเพื่อน รักดนตรี

โอ๋ เป็นชายหนุ่มรูปร่างสันทัด ผิวเข้ม ดวงตาเป็นประกาย และบุคลิกสุภาพเรียบร้อย แม่ของเขาบอกว่าอันที่จริงแล้วเขาผิวค่อนข้างขาว แต่การอยู่ในเรือนจำทำให้เขาดูทรุดโทรมและคล้ำไปมาก แม้คดีของเขาจะเกิดขึ้นอย่างเงียบเชียบ เผชิญชะตากรรมเพียงลำพัง แต่เขาก็โชคดีที่ทั้งพ่อและแม่คอยเยี่ยมไม่ขาด แม่ของโอ๋จะเดินทางมาเยี่ยมเป็นประจำแทบทุกวัน จนแทบไม่ได้ทำงาน เธอรับภาระหนักในการเลี้ยงดูหลานเล็กๆ อีกหนึ่งคน ขณะที่พ่อของโอ๋เป็นครูสอนศิลปะในโรงเรียนมัธยมศึกษา และพยายามหาเวลากลางวันที่ไม่มีคาบสอนแวะมาเยี่ยมโอ๋เสมอ
ประวัติของโอ๋นั้นน่าสนใจ ดูเหมือนเขาเป็นเด็กหนุ่มธรรมดา รักเพื่อน รักดนตรี และเริ่มสนใจการเมืองไม่กี่ปีมานี้เอง
ธนสิน พ่อของโอ๋เล่าว่าโอ๋เรียนด้านคอมพิวเตอร์จนเกือบจบปริญญาตรี แต่วิชาสุดท้ายเขาไม่ได้ส่งงาน จากนั้นเขาผันตัวเองมาเรียนจนจบ ปวส.แทน
“เขาเพื่อนเยอะ เรียนเอกคอม ปีสุดท้าย เพื่อนมาทำงานชิ้นจบที่บ้าน โอ๋เก่งคอมก็ช่วยเพื่อนหมด แล้วทั้งห้องก็เรียนจบ ยกเว้นเขา เพราะเขาไม่ได้ทำของตัวเอง ทำไม่ทัน ติดอยู่วิชาเดียว” พ่อเล่า
“แม่เคยถามว่าทำไมก่อนจะทำให้เพื่อนทำไมไม่ทำของตัวเองให้เสร็จก่อน เขารักเพื่อนมาก ส่วนหนึ่งที่โอ๋ติดตรงนี้เพราะเพื่อนด้วย เขารับหมด คอมที่บ้านเป็นแบบฟรีสไตล์เลย ใครจะมาใช้ มาทำงานทำได้หมด” ชวันภัสร์ แม่กล่าว
สิ่งที่โดดเด่นสำหรับเขาอีกประการคือ การเล่นกีตาร์ซึ่งเขาฝึกฝนเองมาตั้งแต่เป็นวัยรุ่น อาจเพราะได้แรงบันดาลใจจากพ่อซึ่งเป็นนักดนตรี เล่นดนตรีได้หลายชนิด เขาเริ่มต้นทำงานหาเงินจากการเล่นดนตรีกลางคืนได้ไม่นานก็เกิดเรื่อง

จุดหักเห สู่ความสนใจทางการเมือง

เมื่อถามย้อนกลับไป ไม่มีใครในบ้านสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับความคิดทางการเมืองของเขาแม้แต่น้อย พ่อยืนยันว่าโอ๋คุยกับพ่อแต่เรื่องดนตรี และไม่เคยพูดเรื่องการเมืองเลย จนบางครั้งก็ต้องอาศัยแซวลูกเพราะอยากรู้ความคิดเขา
“ก่อนนั้นมีคลับคล้ายคลับคลาบ้างว่าเขาสนใจการเมือง ได้ข่าวว่ามีการไฮปาร์กชุมนุมเสื้อเหลืองบ้าง เสื้อแดงบ้าง เขาไปนั่งฟัง พ่อเคยถามแซวเล่นๆ เหมือนกันว่าตกลงโอ๋แดงหรือเหลือง เห็นไปนั่งฟังหมด เขาบอกว่าเขาไปเรียนรู้เฉยๆ  เขาอยากฟัง ไม่ได้ฝักใฝ่ฝ่ายไหน” พ่อกล่าว
ขณะที่โอ๋เล่าผ่านจดหมายว่าเขาไม่ได้สนใจการเมืองมาก่อน แต่เป็นเพราะสาวคนหนึ่งที่โอ๋ให้ความสนใจชวนโอ๋ไปดูคอนเสิร์ต วงดนตรีร็อครุ่นใหญ่ที่จัดในงานชุมนุมของคนเสื้อแดง นั่นเป็นครั้งแรกที่เขาได้สัมผัสกับ “โลกการเมือง”
“ผมตอบตกลงไปเพราะถึงเราจะไม่ใช่คนเสื้อแดงแต่เรามีเสื้อแดงใส่ ก็คงไม่มีใครมาทำอะไรเรา นั่นทำให้ผมได้ไปเวทีเสื้อแดงครั้งแรกแบบกล้าๆ กลัวๆ” โอ๋เขียนเล่า
“ก่อนคอนเสิร์ตจะเริ่มมีการปราศรัยของแกนนำ หนึ่งในนั้นคือ อ.สุรชัย แกพูดด้วยสำเนียงใต้ๆ ของแก ผมก็นั่งฟังไปเรื่อยๆ เนื้อหาที่พูดก็ไม่ได้ยั่วยุให้ก่อความรุนแรงอะไร” โอ๋เล่าพร้อมกล่าวว่าวันนั้นเขาได้ดูคอนเสิร์ตแล้วก็แยกย้ายกลับบ้าน
จากนั้นเขาเริ่มสนใจการเมืองและหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต รวมทั้งเริ่มสนทนากับคนที่เป็นคอการเมือง โดยเริ่มแรกคือการคุยกับคนที่เล่นเกมส์ออนไลน์ด้วยกันแล้วขึ้นข้อความว่า “เบื่อมาร์คว่ะ” หลังจากได้คุยกับเพื่อนคนนั้นเพื่อนก็นำพาเขาไปเจอข้อมูลใต้ดินที่ทำให้เขาตกใจ พร้อมๆ กันนั้นเขาก็เจอสาวที่เขาชอบจริงจังด้วย แต่ไม่นานนักเขาก็อกหักอย่างแรงและทำให้เขาเริ่มเยียวยาบาดแผลด้วยการทำสร้างตัวตนแบบผิดทาง
“เมื่อก่อนผมไม่ใช่คนใจกล้าบ้าบิ่นอะไร แต่เนื่องจากผิดหวังจากความรัก เลยทำอะไรไม่ยั้งคิดขึ้น ผมเพิ่งรู้ในครั้งนี้เองว่าการสูญเสียคนที่รักมันรู้สึกเป็นเช่นไร รู้สึกเหมือนตัวเองไม่มีคุณค่าใดๆ ไม่มีอะไรจะเสียแล้ว เคยเห็นแต่คนอื่นทำอะไรบ้าๆ เวลาอกหัก ไม่นึกว่าจะมาเป็นเอง ผมกล้าทำสิ่งผิดกฎหมายเข้าให้แล้ว แม้จะโดนสาปแช่งจากชาวเน็ตแต่ผมกลับรู้สึกว่าการโดนรุมด่า มันทำให้ลืมเรื่องอกหักได้” โอ๋บรรยาย

สายสืบแฝงตัว คุยนานหลายเดือน

หลังจากเขาสู่เส้นทางสายมืดดำนี้ เขาได้รู้จักคนในอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นมาก รวมถึง “แตงโม” ซึ่งเป็นบุคคลที่นำพาความเปลี่ยนแปลงอย่างถึงที่สุดมาสู่ตัวเขา
“ตอนนั้นผมใช้เฟซบุ๊กปลอม ในข้อมูลจังหวัดผมก็ใส่จังหวัดจริงๆ เพราะคิดว่าแค่รู้จังหวัดจะจับได้ยังไง มีหลายคนแอดเพื่อนมา ใครขอเป็นเพื่อนผมก็รับหมด ไม่ว่าจะมาเพื่อชมหรือด่าก็ตาม หนึ่งในนั้นมี แตงโม ด้วย เราทักทายแบบทั่วไป ไม่มีอะไรผิดสังเกต เธอบอกว่าเป็นคนอุบลเหมือนกันและบ้านอยู่ซอยมอเตอร์ไบค์ ซึ่งต้องเป็นคนท้องถิ่นเท่านั้นถึงจะรู้จักซอยนี้ ผมก็เลยเชื่อว่าเธอเป็นคนอุบลจริงๆ หลังจากคุยกันระยะหนึ่งผมก็ขอเบอร์เธอ เป็นการกระทำที่โง่ที่สุดในชีวิตผมเลยก็ว่าได้ ผมเอาเบอร์ตู้โทรศัพท์โทรไปหาเพื่อฟังว่าเป็นผู้หญิงจริงมั้ย แตงโมพูดลาวได้ด้วยผมยิ่งเชื่อสนิทใจว่าเป็นคนอุบลจริงๆ ต่อมาผมเลยเอาเฟซจริง เบอร์จริง ติดต่อแตงโม” โอ๋ระบุ
เขาบอกว่าที่กล้าไว้ใจแตงโมเพราะเธอเอาคลิปผิดกฎหมายที่เขาลงในเฟซบุ๊กไปแชร์ แม่โอ๋เล่าเพิ่มเติมว่า อันที่จริงโอ๋อาจไม่ได้มาไกลขนาดนี้ หากไม่ได้แรงกระตุ้นจาก “สายลับ” ที่เข้ามาพูดคุยและส่งเสริมให้กระทำผิด
ต่อมาแตงโมนัดเขากินข้าวที่บิ๊กซีมีการโทรศัพท์นัดหมายโดยซักถามให้แน่ใจว่าเขาอยู่บ้านหรือไม่ อยู่กับใคร หลังจากวางสายก็มีบุรุษไปรษณีย์มาถามหาพ่อเขา เมื่อเขาตอบว่าไม่อยู่และกำลังเข้าบ้านก็ถูกเจ้าหน้าที่เข้าชาร์จ
“ตอนนั้นผมยังเป็นห่วงแตงโมอีกแหนะ จนถึงโรงพักถึงได้อ่านเอกสารเห็นข้อความนึงที่จำไม่ลืมว่า “สายลับที่ใช้ชื่อว่า Momay Tangmo” ผมถึงได้รู้ความจริง” โอ๋ระบุ

แม่ของโอ๋ขณะกรอกแบบฟอร์มขอเยี่ยมลูกที่เรือนจำ

เมื่อฝากความหวังที่ คสช.

คดีของโอ๋เกิดขึ้นในเดือนมีนาคม 2555 ตำรวจหลายสิบนายบุกไปจับกุมตัวเขาที่บ้านขณะเขาอยู่บ้านเพียงลำพัง เขารับสารภาพและถูกแจ้งข้อกล่าวหา โชคดีที่ในชั้นสอบสวนเขาได้รับการประกันตัว
“คนที่พยายามจับคนในข้อหานี้เขาก็แค่เพียงเพื่อเอาผลงาน แม้แต่คนที่มาจับลูกชายผม เขาพูดกับผมว่า คุณพ่อผมพูดตรงๆ นะ ผมทำเพื่อผลงาน เขากล้าพูดถึงขนาดว่า รับๆ ไปก่อนเดี๋ยวค่อยไปสู้คดีในชั้นศาล ถ้าเราย้อนเวลาไปพูดได้เราจะบอกว่าถ้าเป็นลูกมึงจะยอมไหมให้รับๆ ไปก่อน รู้ทั้งรู้ว่าคดีนี้รับแล้วไม่มีทางรอด” พ่อของโอ๋กล่าว
ระหว่างประกันตัวโอ๋หยุดทุกอย่างในโลกโซเชียล และมีชีวิตอยู่แบบหลบๆ ซ่อนๆ จนแม่นิยามว่านั่นคือปฐมบทการ “ติดคุก” ของโอ๋และสร้างความทรมานใจให้ทุกคนในบ้าน เขามีภาวะเครียดอย่างหนัก จนกระทั่งตัดสินใจไปบวชที่วัดป่าแห่งหนึ่งและพบว่าชีวิตบรรพชิตเป็นสิ่งที่เขาปรารถนา
“มันเหมือนติดคุกอยู่นอกคุกอยู่แล้วตั้งแต่เกิดคดีมา ต้องเก็บตัว ความที่ไม่เคยแบบนี้ก็กลัวกันหมด เหมือนติดคุกล่วงหน้าแล้ว จะทำอะไรก็กลัว จะเดินทางก็กลัว แล้วความลำบากก็คือเงินทอง ลูกทำอะไรไม่ได้เลย ทำงานอย่างเดิมก็ไม่ได้ จริงๆ อาจทำได้ แต่มันเป็นความรู้สึกว่าทำไม่ได้แล้ว กลายเป็นต้องซับพอร์ตลูกคนหนึ่งเอาไว้ จนสุดท้ายเขาไปบวชเป็นพระ และเป็นพระด้วยหัวใจ ไม่ใช่แค่ห่มผ้าเหลืองไป” แม่เล่า
คดีของเขาไม่มีความเคลื่อนไหว อัยการยังไม่สั่งฟ้อง จนกระทั่งหลังการรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม 2557 โดย คสช. ชื่อของโอ๋ปรากฏในประกาศเรียกรายงานตัว พ่อและแม่ของโอ๋เห็นควรว่า พระโอ๋ควรแสดงความบริสุทธิ์ใจ โดยเฉพาะแม่ที่เห็นว่าทหารจะช่วยจัดการเรื่องราวความผิดพลาดของเด็กหนุ่มที่คึกคะนองได้ และหวังว่าการไม่ต่อสู้อะไรทั้งสิ้นจะนำมาซึ่งโอกาสในการกลับตัว
“ตอนที่ลูกเข้ารายงานตัว ลูกเป็นพระอยู่ แล้วมีคนบอกว่าเห็นชื่อเรียกรายงานตัว ก็ตัดสินใจไปหาลูก ตอนนั้นลูกยอม ไม่มีปฏิกริยาเหมือนตอนแรกที่กลัวแล้วหลบ เขาถามว่าโยมแม่โยมพ่อคิดดีแล้วใช่ไหม แล้วก็พูดตอนขึ้นรถว่า “มานี่มาติดคุกนะ” แต่ความหวังเรามีตลอดว่าทหารเขาจะช่วยเราได้ เขามาแล้วทุกอย่างจะดีขึ้น เขาจะเห็นเจตนาว่าเราออกมารายงานตัว” แม่เล่า
“ทหารเขาก็พูดกับเราดีมากตอนรายงานตัว ตอนนั้นเราก็เข้าข้างเขา เขาบอกว่าลูกมีคดีเก่าแต่เขาจะปล่อย เขาพูดถูกทุกอย่างเขาปล่อย แต่เขาไม่ได้ช่วยเราเลย พอถึงศาลก็ไปตามกระบวนการ แม่อาจจะมองด้วยความโง่เขลาแต่แม่มองตรงจุดนั้นจริงๆ”
“เราหวังพึ่งคสช.จะมาช่วยตรงนี้ เพราะลูกทำไปด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และช่วงนั้นที่ลูกทำมันเป็นกระแสการเมืองด้วย การเมืองตอนนั้นมันร้อนแรงมาก เราคิดว่าเขาคงปรับทัศนคติกับเรา และมองย้อนหลังได้เลยว่าไม่มีอะไรที่เขาไปทำที่เกี่ยวกับตรงนี้เลยนอกจากคดีที่มีมาเท่านั้น แต่พอเอาเข้าจริงมันไม่ใช่”
“ลูกถูกดำเนินคดี และทางเราเองก็ไม่แก้ตัวอะไรเลย ให้ทุกอย่างไปตามกระบวนการ ให้เขาเห็นว่าจะไม่เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีกับใคร หวังที่สุดคือให้คดีจบแบบรอลงอาญา หรือไม่ก็คุมความประพฤติให้ไปรายงานตัวเป็นระยะ ปล่อยคนคนหนึ่งให้กลับสู่ความปกติ ได้เรียนต่อ ได้ทำงาน ดีกว่าเอาเขาไปติดคุก”
“ในวันพิพากษา ผู้พิพากษาคนที่หนึ่งไม่เท่าไร คนที่สองเขาเป็นผู้หญิง เขามีความรู้สึกเหมือนเป็นแม่ ดูเขาสงสารโอ๋ที่สุดเลย เขาไม่ได้พูดอะไรเยอะ เขามีแววตาสะท้อนความเป็นแม่ แต่เขาช่วยอะไรไม่ได้ ได้แต่สงสาร” แม่เล่าพร้อมน้ำตาคลอ
ความหวังของแม่ดูเหมือนจะผิดคาดไปเสียทุกอย่าง และโทษจำคุก 30 ปี ทำให้คนทั้งครอบครัวช็อค
“สิ่งที่ทำใจยากที่สุดก็คือ จริงอยู่ที่คนเป็นพ่อเป็นแม่จะลำเอียงว่าลูกตัวเองไม่ผิด พ่อมองว่าไม่ว่าใคร แม้แต่ลูกเราถ้าทำผิดหรือเป็นคนเลวควรได้รับโทษ แต่บังเอิญว่าโอ๋เป็นคนดีมาตลอด ดีมากๆ เขาเป็นเด็กที่มีความประพฤติดี การเรียนก็ดี ถ้าเป็นเหมือนลูกเพื่อนหลายๆ คนที่ถูกจับด้วยคดียาบ้าง หรือมีเรื่องทะเลาะวิวาท หรือฆ่าคนตาย อันนั้นเราทำใจได้ เพราะลูกผิดจริงๆ แต่บังเอิญลูกเรามันไม่ใช่ แล้วถูกตัดสิน 30 ปี มันรับไม่ได้ เขาเลวขนาดนั้นทำไมไม่ฆ่า เอาไปประหารชีวิตเลย ถ้าคนเรามันเลวขนาดต้องติดคุกถึง 30 ปี รับไม่ได้กับการตัดสินที่รุนแรงขนาดนี้” พ่อกล่าวด้วยเสียงสั่นเครือ

พ่อของโอ๋โพสต์เล่าเรื่องลูกชาย
ในด้านของอดีตพระใหม่หมาด เขาเองก็ถูกกดดันตั้งแต่ยังไม่ได้ฟังคำพิพากษาด้วยซ้ำ ระหว่างที่พ้นจากค่ายทหารและตำรวจรับตัวต่อไปฝากขังในคดี 112 ที่ศาลอุบลราชธานี เขาก็ได้ลิ้มรสความกดดันตั้งแต่ก้าวแรก
“เมื่อผมไปถึงศาลรอฟังคำส่งประกันตัว เจ้าหน้าที่ของศาลคนหนึ่งได้เรียกผมไปหาและพูดว่า “นี่น้องพี่มีอะไรจะแนะนำนะ” “อะไรครับพี่” “ถ้าน้องไม่รัก...ง่ายๆ เลยน้องก็ไปอยู่เขมรโน่น ไม่ต้องอยู่ในประเทศไทยหรอก” นี่เป็นคำแนะนำแรกที่ผมได้จากเจ้าหน้าที่ จากนั้นเขาก็พูดต่อว่า “น้องคิดว่าน้องจะได้ประกันตัวเหรอ พี่ว่าไม่หรอก รู้มั้ยคนในเรือนจำเค้ารักกันทั้งนั้น ถ้าเค้ารู้ว่าน้องมาคดีนี้น้องจะต้องโดนรุมตีแน่ๆ” พอเขาพูดเสร็จผมก็กลับไปนั่งรอฟังคำสั่งด้วยความกลัว ....เมื่อผู้พิพากษามาก็ดูเข้มเครียดแล้วพูดว่า “คดีของคุณเป็นคดีหมิ่นประมาท แต่คุณหมิ่นสิ่งที่ไม่ควรจะหมิ่น” แล้วศาลก็ไม่อนุญาตให้ผมประกันตัวจริงๆ อย่างที่เจ้าหน้าที่คนนั้นว่า” โอ๋ระบุ
“หลังจากที่ตัดสินคดีแล้ว จากนั้นสองสัปดาห์ผมถูกย้ายไปแดน 3 แดนนี้เป็นแดนที่คนอยู่เยอะมาก นอนหงายไม่ได้ ต้องนอนตะแคง เหยียดขาก็ไม่ได้ แถมยังมีมดแดงไฟอยู่ในห้องอีกต่างหาก ผมโดนกัดทุกคืนเลย อากาศก็ร้อนอบอ้าว ต้องนอนด้วยความทรมาน” โอ๋เล่า

จิตเภท ทางออกที่ไม่สวยงาม

ยิ่งไปกว่านั้น เขาถูกส่งตัวไปรักษาอาการจิตเภทเพราะอาการเครียดที่มีตั้งแต่ตอนโดนขังระหว่างพิจารณาคดี ช่วงนั้นตำรวจส่งเขาไปตรวจที่โรงพยาบาลศรีมหาโพธิ์ จิตแพทย์เริ่มต้นถามเขาว่า “รู้ตัวไหมที่ทำมันผิดกฎหมาย”
“ตอนนั้นผมกลัว และตอบคำถามมั่วไปหมด แพทย์ถามผมว่าโดนจับยังไง ผมตอบแพทย์ไปตามเอกสารตำรวจที่ผมเห็นว่า “เขาใช้สายลับมาจับผม” แพทย์หัวเราะ แล้วถามผมว่า “สายลับ CIA ใช่มั้ย”” โอ๋เล่าและว่าวันนั้นเขาได้ยามาชุดใหญ่แต่ก็ไม่เคยกินเลยสักเม็ด จนกระทั่งติดคุกจริงๆ เขาถูกส่งตัวไปรักษาอีก
“แพทย์ถามว่า สายลับ CIA ยังตามผมอีกมั้ย, หูแว่ว ภาพหลอนมั้ย, ท้อแท้ใจ อยากฆ่าตัวตายมั้ย ทุกคำถามผมตอบครับๆ อย่างเดียวเลยเผื่อว่ามีอาการทางจิตจะได้รอดจากคดี มันทำให้ที่เรือนจำผมทั้งกินและฉีดยา ตอนแรกก็ไม่ได้ผิดปกติอะไร แต่พอเริ่มกินยาและฉีดยา ผมเริ่มเดินตัวแข็งจนคนอื่นเรียกว่าโรโบคอป เวลานั่งอยู่เฉยๆ ก็อยากส่ายหัว ผมก็นั่งส่ายหัวไปเรื่อยๆ ตอนนอนก็เขย่าแขนตลอดเวลา ผมทำทุกอย่างช้าไปหมดโดยไม่รู้ตัวแต่ที่รู้เพราะคนอื่นบอก ผมกินยาและฉีดยาอยู่เกือบปี ตอนที่อยู่แดนสามมีคนมาสอบถามว่าตอนอยู่ข้างนอกเป็นไหม ผมบอกว่าเป็นหลังจากกินและฉีดยา เขาจึงแนะนำให้ลองเลิกกินยาดู ผมตัดสินใจเลิกกินยาแต่ก็ยังได้ฉีดยาเดือนละเข็มอีกประมาณ 3 เดือน หลังจากนั้นอาการผิดปกติต่างๆ ของผมก็ค่อยๆ หายไปทีละอย่าง ทุกวันนี้ผมอยู่โดยไม่เครียด ไม่วิตกกังวลอะไร ผมได้แต่คิดว่าไม่น่าใช้วิถีทางนี้เลย เข็ดแล้ว” โอ๋ระบุ

ชีวิตในกรงของโอ๋ ชีวิตนอกกรงของครอบครัว

แม่ของโอ๋เล่าว่าในช่วงแรกๆ ที่โอ๋ถูกจำคุกและมีอาการไม่ค่อยดี ครอบครัวก็เรียกได้ว่า “พังทลาย” จนเวลาผ่านมาปีกว่าจึงสามารถตั้งหลักได้และสามารถเล่าเรื่องราวได้
“ถ้าใครสักคนมาอยู่ในจุดตรงนี้แล้วจะรู้เลยว่า ทุกอย่าง ค่าใช้จ่าย เวลา ความรู้สึก จนกระทั่งชีวิตกว่าจะรอดมาได้จนมานั่งพูดให้ฟังอยู่นี้เพราะมันผ่านมาแล้ว แต่ตอนนั้นมันแทบจะตายกันทั้งบ้าน วินาทีเดียวที่มันไม่เหลืออะไรแล้ว แม้แต่ทุกวันนี้ ถามว่าน้ำตามันมีไหม มันก็ยังมี แต่ก็กลืนเข้าไป” แม่กล่าว
แม่และโดยเฉพาะพ่อเริ่มติดตามการเมืองจากที่เห็นว่าเป็นเรื่องไกลตัว เริ่มเล่นเฟซบุ๊กเพื่อศึกษาว่าโลกในนั้นเป็นอย่างไร ทำไมจึงนำพาลูกไปสู่โทษทัณฑ์ขนาดนั้นได้ จนกระทั่งพวกเขาเริ่มเข้าใจและมั่นใจจึงกล้าที่จะเปิดเผยตัวเอง กล้าเผชิญสิ่งที่เกิดขึ้น กล้าบอกเพื่อนที่ทำงานว่าลูกชายโดนคดีอะไร กล้าสื่อสารกับโลกภายนอก
ความหวังของแม่ยังคงอยู่ในขั้นตอนสุดท้ายคือการขอพระราชทานอภัยโทษ
“แม่ไม่เคยคิดว่าเขาจะติดถึงสิบปีเลย เข้าสู่กระบวนการแล้วเราคงจะสามารถเขียนขอความเมตตาได้ และแม่หวังพลังบุญให้กับลูก” เธอกล่าวทั้งน้ำตา
“แม่หวังพลังบุญ แต่พ่อหวังความถูกต้องของกฎหมาย หวังว่าเราจะมีประชาธิปไตยเต็มรูป ซึ่งอานิสสงส์ก็คือแม้แต่มาตรา 112 ก็ควรได้รับการแก้ไขด้วยจากการปฏิรูป จากการเมืองที่มันเป็นประชาธิปไตย” พ่อกล่าว
“แต่ก่อนพ่อไม่สนใจการเมืองเลย แต่พอลูกถูกจับ มีเพื่อนคนหนึ่งให้กำลังใจว่า โชคร้ายที่ลูกถูกจับคดีการเมือง แต่ในวิกฤตนั้นทำให้พ่อตาสว่างเกี่ยวกับเรื่องการเมืองและคดีนี้ด้วย ทุกวันนี้พ่อยังยืนหยัดว่ามาตรา 112 ควรได้รับการแก้ไขบทลงโทษ การละเมิดสิทธินั้นมันมีจริง การคุ้มครองผู้นำหรือประมุขของประเทศที่ไหนก็มี แต่บทลงโทษมันรุนแรงเกินไป คิดดูตัดสิน 30 ปีฆ่าคนตายยังไม่หนักขนาดนี้ จะกี่กรรมก็แล้วแต่ก็ควรรวมเป็นกรรมเดียว ไม่ได้เข้าข้างว่าลูกตัวเองถูก ลูกก็ทำไม่ถูกที่ไปทำแบบนั้นแต่บทลงโทษในคดีนี้ก็ต้องได้รับการแก้ไขเหมือนกัน ก็หวังแค่นั้น ควรได้รับโทษที่เบากว่านี้ อย่างน้อยที่สุดก็ควรเป็นสากล” พ่อกล่าว
สำหรับโอ๋ เขาได้ย้ายไปช่วยดูแลคนแก่อยู่แดนคนชรา ไปช่วยงานที่เรือนพยาบาล เขาพยายามใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นด้วยการปล่อยวาง พ่อของเขาบอกว่าโอ๋รักกีตาร์มากๆ และไม่เคยห่างจากมันเลย
“ผมคงไม่ได้เล่นกีตาร์อีกนาน ตอนนี้นิ้วก็แข็งไปหมดแล้ว......แต่ไม่เป็นไร เจ้าหน้าที่บอกจะให้ผมไปช่วยงานคอมพิวเตอร์ กรอกข้อมูลนั่นนี่ แค่นี้ผมก็มีความสุขแล้ว” โอ๋กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น